‘จงตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา’
‘จงตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา’
“ถ้าเจ้าทั้งหลายตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา เจ้าก็เป็นสาวกแท้ของเรา.”—โยฮัน 8:31, ล.ม.
1. (ก) เมื่อพระเยซูเสด็จกลับสู่สวรรค์ พระองค์ได้ละอะไรไว้บนแผ่นดินโลก? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
เมื่อพระเยซูคริสต์ ผู้ก่อตั้งศาสนาคริสเตียน เสด็จกลับสู่สวรรค์ สิ่งที่พระองค์ละไว้บนแผ่นดินโลกไม่ใช่หนังสือที่พระองค์ทรงนิพนธ์, อนุสาวรีย์ที่พระองค์ทรงสร้าง, หรือทรัพย์สมบัติที่พระองค์ได้สะสมไว้. สิ่งที่พระองค์ได้ละไว้จริง ๆ ก็คือสาวกและข้อเรียกร้องที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการเป็นสาวก. ที่จริง ในกิตติคุณของโยฮัน เราพบว่าพระเยซูกล่าวถึงข้อเรียกร้องสำคัญสามประการซึ่งใครก็ตามที่ต้องการเป็นสาวกของพระองค์ต้องบรรลุ. ข้อเรียกร้องเหล่านี้คืออะไร? เราจะทำอะไรได้เพื่อบรรลุข้อเรียกร้องดังกล่าว? และเราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าเราเองบรรลุข้อเรียกร้องในการเป็นสาวกของพระคริสต์ในทุกวันนี้? *
2. อะไรคือข้อเรียกร้องสำคัญประการหนึ่งในการเป็นสาวก ตามที่บันทึกไว้ในกิตติคุณของโยฮัน?
2 ประมาณหกเดือนก่อนการสิ้นพระชนม์ พระเยซูเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเลมและประกาศแก่ฝูงชนที่มาร่วมชุมนุมกันที่นั่นเพื่อฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยที่นานหนึ่งสัปดาห์. ผลคือ เมื่อถึงช่วงกลางของเทศกาล มี “หลายคนในหมู่ประชาชนนั้นได้เชื่อถือในพระองค์.” พระเยซูยังคงประกาศต่อไป และด้วยเหตุนั้น เมื่อถึงวันสุดท้ายของเทศกาล “คนเป็นอันมากจึงเชื่อถือในพระองค์.” (โยฮัน 7:10, 14, 31, 37; 8:30) ในตอนนั้นเอง พระเยซูมุ่งความสนใจไปยังผู้เชื่อถือใหม่ และกล่าวถึงข้อเรียกร้องสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นสาวกของพระองค์ ดังที่อัครสาวกโยฮันบันทึกไว้ว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายตั้งมั่นคง อยู่ในคำของเรา เจ้าก็เป็นสาวกแท้ของเรา.”—โยฮัน 8:31, ล.ม.
3. คุณลักษณะอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะ “ตั้งมั่นคงอยู่ในคำของ [พระเยซู]”?
3 ด้วยถ้อยคำเหล่านั้น พระเยซูไม่ได้กล่าวเป็นนัยว่าผู้เชื่อถือใหม่เหล่านี้มีความเชื่อไม่มากพอ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่จะได้เป็นสาวกแท้ของพระองค์อยู่ต่อหน้าพวกเขา—ถ้าพวกเขาตั้งมั่นคงอยู่ในคำของพระองค์และแสดงความอดทน. พวกเขาได้รับคำของพระองค์ไปแล้ว แต่บัดนี้พวกเขาจำเป็นต้องตั้งมั่นอยู่ในคำนั้นต่อ ๆ ไป. (โยฮัน 4:34; เฮ็บราย 3:14) อันที่จริง พระเยซูถือว่าความอดทนเป็นคุณลักษณะที่สำคัญสำหรับเหล่าสาวกของพระองค์ จนถึงกับทรงกระตุ้นย้ำถึงสองครั้งว่า “จงตามเราต่อ ๆ ไป” ในโอกาสที่พระองค์สนทนาเป็นครั้งสุดท้ายกับเหล่าอัครสาวกตามที่บันทึกไว้ในกิตติคุณของโยฮัน. (โยฮัน 21:19, 22, ล.ม.) คริสเตียนยุคแรกหลายคนได้ทำอย่างนั้นทีเดียว. (2 โยฮัน 4) อะไรได้ช่วยพวกเขาให้อดทน?
4. อะไรทำให้คริสเตียนยุคแรกสามารถอดทนได้?
4 อัครสาวกโยฮัน สาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระคริสต์เป็นเวลาราวเจ็ดสิบปีได้ชี้ถึงปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง. ท่านกล่าวชมเชยเหล่าคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ว่า “ท่านทั้งหลายมีกำลังมาก, และพระคำของพระเจ้าดำรงอยู่ในท่านทั้งหลาย. และท่านได้ชัยชนะแก่มารนั้น.” สาวกเหล่านั้นของพระคริสต์ได้อดทน หรือได้ตั้งมั่นคงอยู่ในพระคำของพระเจ้า เพราะพระคำของพระเจ้าดำรงอยู่ในพวกเขา. พวกเขามีความหยั่งรู้ค่าจากใจจริงต่อพระคำของพระเจ้า. (1 โยฮัน 2:14, 24) ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เพื่อจะ “อดทนจนถึงที่สุด” เราจำต้องทำให้แน่ใจว่าพระคำของพระเจ้าดำรงอยู่ในเรา. (มัดธาย 24:13, ล.ม.) เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? อุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่พระเยซูเล่าจะให้คำตอบ.
“ได้ยินพระคำ”
5. (ก) ดินชนิดใดบ้างที่พระเยซูกล่าวถึงในอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งของพระองค์? (ข) เมล็ดพืชและดินในอุทาหรณ์ของพระเยซูหมายถึงอะไร?
5 พระเยซูเล่าอุทาหรณ์เรื่องผู้หว่านพืช และเรื่องนี้มีบันทึกไว้ในกิตติคุณของมัดธาย, มาระโก, และลูกา. (มัดธาย 13:1-9, 18-23; มาระโก 4:1-9, 14-20; ลูกา 8:4-8, 11-15) เมื่ออ่านเรื่องเหล่านั้น คุณจะสังเกตเห็นว่าส่วนสำคัญของอุทาหรณ์นี้คือที่ว่าเมล็ดพืชชนิดเดียวกันตกบนดินชนิดต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ต่างกัน. ดินชนิดแรกเป็นดินแข็ง, ดินชนิดที่สองเป็นดินตื้น, และดินชนิดที่สามมีต้นหนามขึ้นปกคลุม. ดินชนิดที่สี่ ไม่เหมือนกับดินสามชนิดก่อน คือเป็นดิน “ดี.” ตามที่พระเยซูอธิบาย เมล็ดพืชได้แก่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่พบในพระคำของพระเจ้า และดินหมายถึงผู้คนที่มีสภาพหัวใจแตกต่างกัน. ถึงแม้ผู้คนที่มีการให้ภาพว่าเป็นดินชนิดต่าง ๆ นั้นมีบางสิ่งที่เหมือนกัน แต่ผู้คนที่เป็นเสมือนดินดีนั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาต่างจากดินอีกสามชนิด.
6. (ก) ดินชนิดที่สี่ในอุทาหรณ์ของพระเยซูต่างจากดินอีกสามชนิดอย่างไร และนั่นหมายความเช่นไร? (ข) อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะสำแดงความอดทนในฐานะสาวกของพระคริสต์?
ลูกา 8:12-15 (ล.ม.) แสดงว่าทั้งสี่กรณี ผู้คน “ได้ยินพระคำ.” อย่างไรก็ตาม คนที่มี “หัวใจ . . . ดี” ไม่ได้พอใจแค่ “ได้ยินพระคำ.” พวกเขา “จดจำไว้และเกิดผลด้วยความเพียร.” ดินดี ซึ่งมีเนื้อดินอ่อนและหน้าดินลึก ทำให้เมล็ดพืชหยั่งรากได้ลึก และผลก็คือ ทำให้เมล็ดงอกเจริญขึ้นและเกิดผล. (ลูกา 8:8) คล้ายกัน คนที่มีหัวใจดีนั้นเข้าใจ, หยั่งรู้ค่า, และรับเอาพระคำของพระเจ้าไว้ในหัวใจ. (โรม 10:10; 2 ติโมเธียว 2:7) พระคำของพระเจ้าดำรงอยู่ในพวกเขา. ผลก็คือ พวกเขาเกิดผลด้วยความเพียร. ด้วยเหตุนี้ การหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งจากใจจริงต่อพระคำของพระเจ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะสำแดงความอดทนในฐานะสาวกของพระคริสต์. (1 ติโมเธียว 4:15) แต่เราจะพัฒนาความหยั่งรู้ค่าจากใจจริงเช่นนั้นต่อพระคำของพระเจ้าได้อย่างไร?
6 เรื่องราวที่สภาพหัวใจและการคิดรำพึงอย่างจริงจัง
7. การกระทำอะไรที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับหัวใจที่ดี?
7 ขอให้สังเกตว่าการกระทำอะไรที่คัมภีร์ไบเบิลเชื่อมโยงหลายต่อหลายครั้งเข้ากับหัวใจที่ดี. “ใจของคนชอบธรรมตรึกตรอง ก่อนแล้วจึงตอบ.” (สุภาษิต 15:28) “ข้าแต่พระยะโฮวา . . . ขอให้วาจาที่ออกมาจากปากกับความคิด [“การคิดรำพึง,” ล.ม.] ในใจของข้าพเจ้าเป็นที่ชอบต่อพระเนตรของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 19:14) “ความตริตรอง ในใจของข้าพเจ้าจะเป็นที่เข้าใจ.”—บทเพลงสรรเสริญ 49:3.
8. (ก) เมื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิล อะไรที่เราควรเลี่ยงและอะไรที่เราควรทำ? (ข) เราได้รับผลประโยชน์อะไรจากการคิดรำพึงพร้อมด้วยการอธิษฐานในพระคำของพระเจ้า? (ดูกรอบ “ตั้งมั่นคงอยู่ในความจริง” ด้วย.)
8 เช่นเดียวกับผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้ เราก็เช่นกัน จำต้องคิดรำพึงด้วยความหยั่งรู้ค่าพร้อมด้วยการอธิษฐานเรื่องพระคำของพระเจ้าและพระราชกิจของพระองค์. เมื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก เราไม่ควรทำตัวเหมือนกับนักท่องเที่ยวที่รีบเร่งเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ถ่ายภาพทุกอย่างแต่ไม่ได้ชื่นชมกับทัศนียภาพอย่างแท้จริง. ในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แทนที่จะเร่งรีบ เราต้องการหยุดและใช้เวลากับข้อคัมภีร์ที่ศึกษานั้น ซึ่งประหนึ่งว่าเป็นการชื่นชมกับทัศนียภาพ. * ขณะที่เราไตร่ตรองอย่างเงียบ ๆ ในสิ่งที่เราอ่าน พระคำของพระเจ้าส่งผลกระทบต่อหัวใจของเรา, กระทบอารมณ์ความรู้สึกของเรา, และนวดปั้นความคิดเรา. นอกจากนี้ พระคำของพระเจ้ายังสนับสนุนเราให้เผยความ รู้สึกในใจต่อพระเจ้าโดยคำทูลอธิษฐาน. ผลคือเราจะมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากยิ่งขึ้น และความรักที่เรามีต่อพระเจ้าจะกระตุ้นเราให้ติดตามพระเยซูเรื่อยไปแม้จะเผชิญสภาพการณ์ที่ยากลำบาก. (มัดธาย 10:22) เห็นได้ชัด การคิดรำพึงพระคำของพระเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญถ้าเราต้องการรักษาความซื่อสัตย์ภักดีจนถึงที่สุด.—ลูกา 21:19.
9. เราจะทำให้แน่ใจได้โดยวิธีใดว่าหัวใจของเราพร้อมรับพระคำของพระเจ้าเสมอ?
9 อุทาหรณ์ของพระเยซูยังแสดงด้วยว่ามีอุปสรรคต่าง ๆ ที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของเมล็ดแห่งพระคำของพระเจ้า. ดังนั้น เพื่อจะเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป เราควร (1) รู้ว่าดินไม่ดีชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในอุทาหรณ์นั้นหมายถึงอุปสรรคชนิดใดบ้าง และ (2) ดำเนินการแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงอุปสรรคเหล่านั้น. โดยวิธีนี้ เราทำให้แน่ใจว่าหัวใจของเราจะพร้อมรับเมล็ดแห่งราชอาณาจักรและจะเกิดผลอยู่เสมอ.
“ตกอยู่ริมหนทาง”—การพะวงหมกมุ่น
10. จงพรรณนาและอธิบายความหมายของดินชนิดแรกในอุทาหรณ์ของพระเยซู.
10 ดินชนิดแรกที่เมล็ดพืชตกลงไปคือดิน “ริมหนทาง” ที่ซึ่งเมล็ด “ถูกเหยียบย่ำ.” (ลูกา 8:5) ดินริมหนทางที่ผ่านเข้าทุ่งนาเป็นดินแข็งเนื้อแน่นเพราะผู้คนเหยียบย่ำไปมาบนทางนั้น. (มาระโก 2:23) ในทำนองเดียวกัน คนที่ปล่อยให้กิจธุระต่าง ๆ ของโลกเรียกร้องเอาเวลาและกำลังไปจากเขาอย่างไม่สมควร อาจพบว่าตัวเองมีธุระยุ่งเกินไปจนไม่ได้พัฒนาความหยั่งรู้ค่าจากใจจริงต่อพระคำของพระเจ้า. พวกเขาได้ยินพระคำ แต่เนื่องจากไม่ได้คิดรำพึงในสิ่งที่ได้ยินนั้น หัวใจของพวกเขาจึงอยู่ในสภาพที่ไม่ตอบสนอง. ยังไม่ทันที่พวกเขาจะได้พัฒนาความรักต่อพระคำ “มารมาชิงเอาพระวจนะจากใจของเขา, เพื่อไม่ให้เขาเชื่อและรอดได้.” (ลูกา 8:12) จะป้องกันสภาพเช่นนี้ได้ไหม?
11. เราจะป้องกันสภาพหัวใจของเราไม่ให้เป็นเหมือนดินแข็งได้อย่างไร?
ลูกา 12:13-15) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น จงทำให้แน่ใจว่าคุณได้จัดเวลาสำหรับการคิดรำพึงถึง “สิ่งที่สำคัญกว่า” ในชีวิต.—ฟิลิปปอย 1:9-11, ล.ม.
11 มีหลายสิ่งที่จะทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจกลายเป็นเหมือนดินริมหนทางที่ไม่เกิดผล. ดินที่ถูกเหยียบย่ำและแข็งอาจกลายเป็นดินอ่อนและเกิดผลได้หากมีการไถพลิกหน้าดินและเปลี่ยนเส้นทางสัญจรเสีย. ในทำนองเดียวกัน การจัดเวลาสำหรับการศึกษาและคิดรำพึงในพระคำของพระเจ้าจะทำให้หัวใจของเรากลายเป็นเหมือนดินดีที่เกิดผล. กุญแจสำคัญคืออย่ามีธุระยุ่งมากเกินไปกับกิจวัตรประจำวันในชีวิต. (“ตกที่หิน”—การมีความกลัว
12. อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้พืชที่งอกขึ้นเหี่ยวแห้งไปในดินชนิดที่สองตามที่กล่าวในอุทาหรณ์ของพระเยซู?
12 เมื่อเมล็ดพืชตกลงบนดินชนิดที่สอง มันไม่ได้อยู่แค่บนผิวดินเหมือนอย่างในกรณีแรก. เมล็ดนี้งอกรากและโตขึ้น. แต่เมื่อแดดออก พืชที่งอกขึ้นนั้นถูกความร้อนจากแสงอาทิตย์แผดเผาและเหี่ยวแห้งไป. อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตรายละเอียดที่สำคัญตรงนี้. สาเหตุจริง ๆ ที่ทำให้พืชที่งอกขึ้นนั้นเหี่ยวแห้งไม่ใช่ความร้อน. จะว่าไปแล้ว พืชที่งอกในดินดีก็ถูกแดดเช่นกัน แต่มันไม่เหี่ยวแห้ง—ที่จริง มันเจริญงอกงาม. อะไรทำให้แตกต่างกัน? พระเยซูอธิบายว่า พืชที่งอกขึ้นแล้วเหี่ยวแห้งไป “เพราะไม่มีดินลึก” และ “ที่ไม่ชื้น.” (มัดธาย 13:5, 6; ลูกา 8:6) “หิน” ซึ่งในที่นี้หมายถึงชั้นหินที่อยู่ใต้ผิวดินทำให้พืชไม่อาจหยั่งรากลึกลงไปพอที่จะได้ความชื้นและยึดเกาะกับดินเพื่อพยุงลำต้นให้มั่นคง. พืชที่งอกขึ้นเหี่ยวแห้งไปเพราะหน้าดินไม่ลึกพอ.
13. ผู้คนชนิดใดที่เป็นเหมือนดินตื้น และอะไรคือสาเหตุลึก ๆ ที่ทำให้พวกเขาเป็นเช่นนั้น?
13 อุทาหรณ์ส่วนนี้กล่าวถึงคนที่ “รับพระวจนะนั้นด้วยความยินดี” และติดตามพระเยซูด้วยใจแรงกล้า “แต่ชั่วคราว.” (ลูกา 8:13) เมื่อถูกแดดอันร้อนแรงแห่ง “การข่มเหงหรือการประทุษร้ายต่าง ๆ” แผดเผา พวกเขากลัวจนสูญเสียความยินดีและความเข้มแข็งและเลิกติดตามพระคริสต์. (มัดธาย 13:21) อย่างไรก็ตาม สาเหตุลึก ๆ ที่ที่ทำให้พวกเขากลัว ไม่ใช่การต่อต้าน. ที่จริง สาวกของพระคริสต์จำนวนมากมายนับไม่ถ้วนอดทนการข่มเหงและการต่อต้านสารพัดรูปแบบ แต่ยังรักษาความซื่อสัตย์ไว้ได้. (2 โกรินโธ 2:4; 7:5) สาเหตุที่แท้จริงที่บางคนกลัวและทิ้งความจริงไปคือสภาพหัวใจที่เปรียบเหมือนหินกีดกันพวกเขาไว้จากการคิดรำพึงอย่างลึกซึ้งเพียงพอในสิ่งที่เสริมสร้างและสิ่งต่าง ๆ ทางฝ่ายวิญญาณ. ผลคือ ความหยั่งรู้ค่าที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้นต่อพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์นั้นเป็นแต่เพียงผิวเผินและเปราะบางเกินกว่าจะทนทานการต่อต้านได้. เราจะป้องกันไม่ให้เกิดผลดังกล่าวได้อย่างไร?
14. คนเราควรทำเช่นไรเพื่อป้องกันไม่ให้สภาพหัวใจของตนกลายเป็นเหมือนดินตื้น?
14 แต่ละคนต้องทำให้แน่ใจว่าไม่มีอุปสรรคใดที่เปรียบเหมือนหินอยู่ในหัวใจของตน เช่น ความรู้สึกขมขื่นที่ฝังลึก, ความเห็นแก่ตัวที่แฝงเร้น, หรือความรู้สึกขุ่นเคืองคล้าย ๆ กันนั้นที่ปิดซ่อนไว้ในหัวใจเขา. หากอุปสรรคเช่นนั้นมีอยู่แล้ว พลังแห่งพระคำของพระเจ้าจะสามารถขจัดออกไปได้. (ยิระมะยา 23:29; เอเฟโซ 4:22; เฮ็บราย 4:12) จากนั้น การคิดรำพึงพร้อมด้วยการอธิษฐานจะกระตุ้นให้ “การปลูกฝังพระคำ” ลึกเข้าไปในหัวใจ. (ยาโกโบ 1:21, ล.ม.) การทำเช่นนี้จะทำให้ได้รับกำลังเข้มแข็งเพื่อรับมือกับช่วงเวลาที่ท้อแท้ใจและมีความกล้าหาญในการรักษาความซื่อสัตย์แม้เผชิญความยากลำบาก.
“ตกที่กลางหนาม”—การมีหัวใจที่แบ่งแยก
15. (ก) ทำไมดินชนิดที่สามในอุทาหรณ์ของพระเยซูจึงสมควรได้รับความสนใจจากเราเป็นพิเศษ? (ข) ในที่สุด เกิดอะไรขึ้นกับดินชนิดที่สาม และเพราะเหตุใด?
15 ดินชนิดที่สาม คือดินที่มีต้นหนามนั้น สมควรได้รับความสนใจจากเราเป็นพิเศษ ลูกา 8:7.
เพราะดินชนิดนี้คล้ายกับดินดีในบางแง่. เช่นเดียวกับดินดี เมล็ดงอกรากและเติบโตขึ้นได้ในดินที่มีต้นหนามนั้น. ในช่วงต้น ๆ การเจริญเติบโตของต้นอ่อนของเมล็ดที่หว่านในดินสองชนิดนี้ไม่ต่างกัน. อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป มีสภาพการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของพืชในที่สุด. ไม่เหมือนดินดี ดินชนิดนี้มีต้นหนามขึ้นปกคลุม. เมื่อต้นอ่อนของเมล็ดที่หว่านนั้นโผล่ขึ้นจากดิน มันต้องแข่งขันกับต้น ‘หนามที่งอกขึ้นมาด้วย.’ ต้นหนามกับพืชนั้นแย่งสารอาหาร, แสงแดด, และพื้นที่กันอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุด ต้นหนามก็สูงบดบังและ “ปกคลุม” พืชนั้น.—16. (ก) ผู้คนแบบไหนเป็นเหมือนดินที่มีต้นหนาม? (ข) ตามเรื่องราวที่บันทึกไว้ในกิตติคุณทั้งสามนั้น หนามหมายถึงอะไร?—โปรดดูเชิงอรรถ.
16 ผู้คนชนิดใดที่เป็นเหมือนดินที่มีต้นหนาม? พระเยซูอธิบายดังนี้: “ส่วนที่ตกกลางหนามนั้นได้แก่ผู้ที่ได้ยิน แต่เนื่องจากถูกชักนำไปด้วยความกระวนกระวายและความมั่งคั่งและความสนุกสนานของชีวิตนี้ จึงถูกปิดคลุมไว้มิดและไม่ทำให้อะไรเสร็จสมบูรณ์.” (ลูกา 8:14, ล.ม.) เช่นเดียวกับที่เมล็ดของผู้หว่านกับหนามเติบโตไปพร้อมกันในดินนั้น บางคนพยายามที่จะรับเอาพระคำของพระเจ้ากับ “ความสนุกสนานของชีวิตนี้” ไปพร้อม ๆ กัน. ความจริงแห่งพระคำของพระเจ้าถูกหว่านลงในหัวใจของพวกเขา แต่ต้องแข่งขันกับการติดตามสิ่งอื่น ๆ ที่แย่งความสนใจของพวกเขาไป. หัวใจโดยนัยของพวกเขามีการแบ่งแยก. (ลูกา 9:57-62) นี่ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาพอสำหรับไตร่ตรองพระคำของพระเจ้าอย่างมีความหมายพร้อมด้วยการอธิษฐาน. เนื่องจากไม่ได้รับเอาพระคำของพระเจ้าไว้ในหัวใจอย่างเต็มที่ พวกเขาจึงขาดความหยั่งรู้ค่าจากใจจริงซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะอดทนได้. ความสนใจฝ่ายวิญญาณของพวกเขาถูกบดบังด้วยกิจกรรมฝ่ายโลกทีละเล็กทีละน้อยจนถึงขั้นที่ “ถูกปิดคลุมไว้มิด.” * ช่างเป็นบั้นปลายที่น่าเศร้าจริง ๆ สำหรับคนที่ไม่ได้รักพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ!—มัดธาย 6:24; 22:37.
17. เราต้องตัดสินใจเลือกเรื่องอะไรบ้างในชีวิตเพื่อจะไม่ถูกหนามโดยนัยตามที่กล่าวในอุทาหรณ์ของพระเยซูปิดคลุม?
17 โดยการให้เรื่องฝ่ายวิญญาณมีความสำคัญกว่าการคิดคำนึงในเรื่องฝ่ายวัตถุ เราจะไม่ถูกปิดคลุมด้วยความทุกข์กังวลและความสนุกสนานของโลกนี้. (มัดธาย 6:31-33; ลูกา 21:34-36) เราไม่ควรละเลยการอ่านพระคัมภีร์และการใคร่ครวญในสิ่งที่เราอ่าน. เราจะมีเวลามากขึ้นสำหรับการคิดรำพึงอย่างที่มีสมาธิพร้อมด้วยการอธิษฐาน ถ้าเราทำชีวิตของเราให้เรียบง่ายมากเท่าที่เป็นไปได้. (1 ติโมเธียว 6:6-8) ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ทำเช่นนั้น—ผู้ซึ่งเปรียบเหมือนกับได้ถอนเอาต้นหนามออกไปจากดินเพื่อจะได้สารอาหาร, แสงแดด, และพื้นที่มากขึ้นแก่พืชที่เกิดผล—ได้รับพระพรจากพระยะโฮวา. ซานดราวัย 26 ปีกล่าวว่า “เมื่อดิฉันคิดรำพึงถึงพระพรที่ได้รับเมื่ออยู่ในความจริง ดิฉันตระหนักว่าโลกไม่สามารถให้สิ่งใด ๆ ที่จะเทียบได้กับพระพรนั้น!”—บทเพลงสรรเสริญ 84:11.
18. เราจะตั้งมั่นคงอยู่ในพระคำของพระเจ้าและอดทนในฐานะคริสเตียนได้อย่างไร?
ลูกา 8:15, ล.ม.
18 ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเราทุกคน ไม่ว่าเยาว์วัยหรือสูงอายุ จะตั้งมั่นคงอยู่ในพระคำของพระเจ้าและอดทนในฐานะสาวกของพระคริสต์ได้ตราบเท่าที่พระคำของพระเจ้าดำรงอยู่ในเรา. ฉะนั้น ขอให้เราทำให้แน่ใจว่าดินแห่งหัวใจโดยนัยของเราจะไม่กลายเป็นดินแข็ง, ตื้น, หรือถูกปกคลุมด้วยหนาม แต่เป็นดินอ่อนและลึกอยู่เสมอ. โดยวิธีนี้ เราจะสามารถรับเอาพระคำของพระเจ้าได้อย่างเต็มที่ในหัวใจและ “เกิดผลด้วยความเพียร.”—[เชิงอรรถ]
^ วรรค 1 ในบทความนี้ เราจะพิจารณาข้อเรียกร้องประการแรกก่อน. อีกสองประการที่เหลือจะมีการพิจารณาในบทความต่อ ๆ ไป.
^ วรรค 8 เพื่อจะคิดรำพึงพร้อมด้วยการอธิษฐานในส่วนที่คุณอ่านจากคัมภีร์ไบเบิล คุณอาจตั้งคำถามกับตัวเอง อย่างเช่น ‘ส่วนที่อ่านนั้นเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระยะโฮวา? ส่วนนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับอรรถบทของคัมภีร์ไบเบิล? ฉันจะนำข้อพระคัมภีร์ส่วนนั้นไปใช้กับชีวิตตัวเองหรือเพื่อช่วยคนอื่นได้อย่างไร?’
^ วรรค 16 ตามเรื่องราวในอุทาหรณ์ของพระเยซูที่บันทึกไว้ในกิตติคุณทั้งสาม พืชนั้นถูกปิดคลุมด้วยความทุกข์กังวลและความสนุกสนานของโลกนี้: “ความปรารภปรารมภ์ด้วยโลกนี้,” “การล่อลวงแห่งทรัพย์สมบัติ,” “ความโลภในสิ่งอื่น ๆ,” และ “ความสนุกสนานแห่งชีวิตนี้.”—มาระโก 4:19; มัดธาย 13:22; ลูกา 8:14; ยิระมะยา 4:3, 4.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ทำไมเราต้อง ‘ตั้งมั่นคงอยู่ในคำของพระเยซู’?
• เราจะให้พระคำของพระเจ้าดำรงอยู่ในหัวใจของเราได้อย่างไร?
• ดินสี่ชนิดที่พระเยซูทรงกล่าวถึงหมายถึงผู้คนชนิดใดบ้าง?
• คุณจะหาเวลาเพื่อคิดรำพึงพระคำของพระเจ้าได้อย่างไร?
[คำถาม]
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
“ตั้งมั่นคงอยู่ในความจริง”
หลายคนที่เป็นสาวกของพระคริสต์มาเป็นเวลานานได้พิสูจน์ตัวปีแล้วปีเล่าว่าพวกเขา “ตั้งมั่นคงอยู่ในความจริง.” (2 เปโตร 1:12, ล.ม.) อะไรช่วยให้พวกเขาอดทน? ขอให้เราฟังบางความเห็นของพวกเขา.
“ดิฉันจบแต่ละวันด้วยการอ่านส่วนหนึ่งจากพระคัมภีร์และอธิษฐาน. แล้วดิฉันใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้อ่านไป.”—จีน รับบัพติสมาปี 1939.
“การคิดรำพึงถึงวิธีที่พระยะโฮวา ผู้ซึ่งสูงส่งยิ่ง ทรงรักเราอย่างลึกซึ้งทำให้ดิฉันรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและมีกำลังเข้มแข็งที่จะรักษาความซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป.”—แพทริเชีย รับบัพติสมาปี 1946.
“โดยการยึดมั่นอยู่กับนิสัยที่ดีในการศึกษาพระคัมภีร์และฝังตัวใน ‘สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า’ ดิฉันจึงสามารถรับใช้พระยะโฮวาได้ตลอดมา.”—1 โกรินโธ 2:10, ล.ม.; แอนนา รับบัพติสมาปี 1939.
“ดิฉันอ่านพระคัมภีร์และสรรพหนังสือที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักเพื่อจะตรวจสอบหัวใจและเจตนาของตัวเอง.”—เซลดา รับบัพติสมาปี 1943.
“ช่วงเวลาที่นับว่าดีที่สุดของผมคือขณะที่ใช้เวลาเดินและพูดคุยกับพระยะโฮวาในการอธิษฐาน เพื่อให้พระองค์ทราบถึงความรู้สึกที่แท้จริงของผม.”—ราล์ฟ รับบัพติสมาปี 1947.
“ดิฉันเริ่มแต่ละวันด้วยการพิจารณาข้อพระคัมภีร์ประจำวันและอ่านส่วนหนึ่งจากพระคัมภีร์. นั่นทำให้ดิฉันมีเรื่องใหม่ ๆ ที่จะคิดรำพึงในระหว่างวันนั้น.”—มารี รับบัพติสมาปี 1935.
“สำหรับผม การพิจารณาข้อพระคัมภีร์ทีละข้อ ๆ จากพระธรรมเล่มใดเล่มหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเป็นยาชูกำลังจริง ๆ.”—แดเนียล รับบัพติสมาปี 1946.
คุณล่ะใช้เวลาตอนไหนเพื่อใคร่ครวญพระคำของพระเจ้าพร้อมด้วยการอธิษฐาน?—ดานิเอล 6:10ข; มาระโก 1:35; กิจการ 10:9.
[ภาพหน้า 13]
โดยการให้ความสำคัญกับสิ่งฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรก เราสามารถ “เกิดผลด้วยความเพียร”