ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อย่าปล่อยหัวใจของบุตรตามแต่จะเป็นไป!

อย่าปล่อยหัวใจของบุตรตามแต่จะเป็นไป!

อย่า​ปล่อย​หัวใจ​ของ​บุตร​ตาม​แต่​จะ​เป็น​ไป!

ดิน​เหนียว​ไร้​ค่า​ก้อน​หนึ่ง​ใน​มือ​ช่าง​ปั้น​ที่​ชำนิ​ชำนาญ​อาจ​ถูก​ปั้น​ให้​เป็น​ภาชนะ​ที่​งาม​สะดุด​ตา. ช่าง​ฝีมือ​เพียง​ไม่​กี่​คน​ได้​ผลิต​สิ่ง​ของ​เครื่อง​ใช้​มาก​มาย​หลาก​หลาย​ที่​งาม​วิจิตร​และ​มี​ประโยชน์​จาก​ก้อน​ดิน​ธรรมดา ๆ นี้​เอง. นับ​พัน ๆ ปี​ที​เดียว​ที่​สังคม​มนุษย์​ได้​อาศัย​ช่าง​ปั้น​เพื่อ​จะ​มี​เครื่อง​อุปโภค อาทิ ถ้วย, จาน, หม้อ​หุง​ต้ม, โอ่ง, ไห, และ​ภาชนะ​ประดับ​ตกแต่ง​ที่​สวย​งาม.

บิดา​มารดา​ก็​เช่น​กัน ได้​สร้าง​คุณประโยชน์​อย่าง​หา​ค่า​มิ​ได้​แก่​สังคม โดย​การ​ขัด​เกลา​นิสัย​และ​บุคลิกภาพ​บุตร​ของ​ตน. คัมภีร์​ไบเบิล​เปรียบ​พวก​เรา​แต่​ละ​คน​เหมือน​ดิน​เหนียว และ​พระเจ้า​ทรง​มอบ​ภาระ​หน้า​ที่​สำคัญ​ไว้​กับ​บิดา​มารดา​ใน​การ​ปั้น “ดิน” ซึ่ง​หมาย​ถึง​บุตร​หลาน​ของ​เขา. (โยบ 33:6; เยเนซิศ 18:19) การ​จะ​ทำ​เครื่อง​ปั้น​ดิน​เผา​สัก​ชิ้น​หนึ่ง​ให้​งาม​วิจิตร​นั้น​ไม่​ใช่​งาน​ง่าย​ฉัน​ใด การ​ขัด​เกลา​บุตร​ให้​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​น่า​ไว้​วางใจ​และ​สมดุล​ก็​ไม่​ใช่​งาน​ง่าย​ฉัน​นั้น. การ​ขัด​เกลา​ดัง​กล่าว​ใช่​ว่า​เกิด​ขึ้น​โดย​บังเอิญ.

อิทธิพล​หลาย​อย่าง​กำลัง​หล่อ​หลอม​หัวใจ​บุตร​ของ​เรา. น่า​เสียดาย​ที่​อิทธิพล​เหล่า​นี้​ก่อ​ความ​เสียหาย. ดัง​นั้น แทน​ที่​จะ​ปล่อย​หัวใจ​บุตร​ตาม​แต่​จะ​เป็น​ไป บิดา​หรือ​มารดา​ที่​รอบคอบ​พึง​ฝึก​สอน​บุตร​ให้ “ประพฤติ​ตาม​ทาง​ที่​ควร​จะ​ประพฤติ​นั้น” ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​ว่า “เมื่อ​แก่​ชรา​แล้ว​เขา​จะ​ไม่​เดิน​ห่าง​จาก​ทาง​นั้น.”—สุภาษิต 22:6.

ระหว่าง​ช่วง​เวลา​อัน​ยาว​นาน​ที่​น่า​ตื่นเต้น​และ​สำคัญ​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร บิดา​มารดา​คริสเตียน​ที่​สุขุม​จะ​ต้อง​สละ​เวลา​ป้องกัน​บุตร​ให้​พ้น​จาก​อิทธิพล​ไม่​ดี​ซึ่ง​คุกคาม​หัวใจ​ของ​บุตร. ความ​รัก​ของ​บิดา​มารดา​จะ​ถูก​ทดสอบ​อย่าง​หนัก​ขณะ​ที่​อุตส่าห์​พยายาม “สั่ง​สอน​และ​แก้ไข​พวก​เขา​ตาม​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​แบบ​คริสเตียน.” (เอเฟโซ 6:4, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) แน่นอน ภาระ​หน้า​ที่​ของ​บิดา​มารดา​จะ​เบา​ขึ้น​มาก​หาก​เขา​เริ่ม​อบรม​สั่ง​สอน​บุตร​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย.

การ​เริ่ม​ต้น​แต่​เนิ่น ๆ

ใน​การ​ทำ​งาน ช่าง​ปั้น​ชอบ​ใช้​ดิน​ที่​อ่อน​นิ่ม​ซึ่ง​จะ​ปั้น​เป็น​รูป​ใด ๆ ก็​ได้ แต่​แข็ง​พอ​ที่​จะ​คง​รูป​ที่​ขึ้น​ไว้​แต่​แรก. เมื่อ​ช่าง​ปั้น​เตรียม​ดิน​ได้​ตาม​ต้องการ​แล้ว เขา​จะ​ใช้​ดิน​เหนียว​ที่​เตรียม​ไว้​ภาย​ใน​หก​เดือน. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน เวลา​ที่​เหมาะ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​บิดา​มารดา​จะ​เริ่ม​นวด​ปั้น​หัวใจ​ของ​บุตร​ก็คือ​ใน​ช่วง​ที่​บุตร​แสดง​ปฏิกิริยา​ตอบ​สนอง​มาก​ที่​สุด​และ​ดัด​แปลง​ได้​ง่าย.

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​เด็ก​เล็ก​พูด​ว่า​พอ​อายุ​แปด​เดือน เด็ก​ได้​เรียน​รู้​การ​แยก​เสียง​สำเนียง​ต่าง ๆ ใน​ภาษา​ของ​เขา, สร้าง​สาย​สัมพันธ์​อัน​ใกล้​ชิด​กับ​บิดา​มารดา, พัฒนา​ทักษะ​เกี่ยว​กับ​การ​รับ​รู้, และ​เริ่ม​สำรวจ​โลก​รอบ ๆ ตัว. ช่วง​เวลา​เหมาะ​สม​ที่​สุด​สำหรับ​การ​นวด​ปั้น​หัวใจ​ของ​บุตร​คือ​เมื่อ​อายุ​ยัง​น้อย​อยู่. นับ​ว่า​เป็น​ข้อ​ได้​เปรียบ​สัก​ปาน​ใด​หาก​บุตร​ของ​คุณ​เป็น​อย่าง​ติโมเธียว​คือ ‘ได้​รู้​จัก​คำ​จารึก​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ตั้ง​แต่​เป็น​ทารก’!—2 ติโมเธียว 3:15, ล.ม. *

โดย​ธรรมชาติ ทารก​จะ​เลียน​แบบ​บิดา​มารดา. นอก​จาก​เลียน​สุ้มเสียง, สี​หน้า, และ​ท่า​ทาง​แล้ว พวก​เขา​เรียน​ใน​เรื่อง​ของ​ความ​รัก, ความ​กรุณา, และ​ความ​เมตตา​สงสาร​เมื่อ​เห็น​บิดา​มารดา​แสดง​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้. ถ้า​เรา​ต้องการ​ฝึก​สอน​บุตร​ให้​ประพฤติ​ตาม​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา ก่อน​อื่น​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ต้อง​มี​อยู่​ใน​หัวใจ​ของ​เรา. ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​จาก​หัวใจ​ต่อ​ข้อ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ย่อม​กระตุ้น​ให้​บิดา​มารดา​พูด​คุย​กับ​บุตร​เป็น​ประจำ​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​คำ​ของ​พระองค์. คัมภีร์​ไบเบิล​กระตุ้น​เตือน​ดัง​นี้: ‘จง​พูด​ถึง​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​เมื่อ​เจ้า​นั่ง​อยู่​ใน​เรือน​และ​เมื่อ​เจ้า​เดิน​ใน​หน​ทาง​และ​เมื่อ​เจ้า​นอน​ลง​และ​เมื่อ​เจ้า​ลุก​ขึ้น.’ (พระ​บัญญัติ 6:6, 7, ล.ม.) ฟรันซิสโก​และ​โรซา​อธิบาย​วิธี​ที่​เขา​ทำ​เช่น​นี้​ต่อ​บุตร​วัย​เยาว์​ทั้ง​สอง​ของ​เขา. *

“นอก​จาก​การ​พูด​คุย​กัน​ทุก​วัน​เป็น​กิจวัตร เรา​พยายาม​จะ​คุย​กับ​ลูก​แต่​ละ​คน​เป็น​ส่วน​ตัว​อย่าง​น้อย​วัน​ละ 15 นาที. เมื่อ​เรา​จับ​เรื่อง​ได้​ว่า​มี​ปัญหา เรา​จะ​ใช้​เวลา​มาก​ขึ้น และ​เรา​มัก​จะ​พบ​ว่า​มี​ปัญหา​จริง ๆ. ยก​ตัว​อย่าง เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ลูก​ชาย​วัย​ห้า​ขวบ​ของ​เรา​กลับ​จาก​โรง​เรียน​มา​ถึง​บ้าน​และ​บอก​ว่า​เขา​ไม่​ได้​เชื่อ​ใน​พระ​ยะโฮวา​เลย. ปรากฏ​ว่า​นัก​เรียน​คน​หนึ่ง​ใน​ชั้น​พูด​เยาะเย้ย​เขา ทั้ง​ได้​พูด​ว่า​ไม่​มี​พระเจ้า.”

บิดา​มารดา​เหล่า​นี้​ตระหนัก​ว่า​จำเป็น​ที่​บุตร​ต้อง​พัฒนา​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​ผู้​สร้าง​ของ​ตน. ความ​เชื่อ​ดัง​กล่าว​อาจ​ก่อ​ตัว​ขึ้น​บน​ความ​หลงใหล​ตรึง​ใจ​ตาม​ธรรมชาติ​ต่อ​สรรพสิ่ง​ทั้ง​มวล​ที่​พระเจ้า​ทรง​สร้าง​ขึ้น. อัน​ที่​จริง เด็ก​มัก​ชอบ​เล่น​กับ​สัตว์, เด็ด​ดอกไม้​ราย​ทาง, หรือ​เล่น​ทราย​ตาม​ชาย​หาด​เสีย​นี่​กระไร! บิดา​มารดา​สามารถ​ช่วย​ลูก​นำ​เอา​สิ่ง​ทรง​สร้าง​มา​เกี่ยว​โยง​กับ​พระ​ผู้​สร้าง​ได้. (บทเพลง​สรรเสริญ 100:3; 104:24, 25) ความ​เกรง​ขาม​และ​ความ​นับถือ​ที่​เขา​ได้​พัฒนา​ขึ้น​ต่อ​สรรพสิ่ง​ทรง​สร้าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​เช่น​นั้น​จะ​อยู่​กับ​เขา​ไป​ตลอด​ชีวิต. (บทเพลง​สรรเสริญ 111:2, 10) ด้วย​ความ​เข้าใจ​ดัง​กล่าว เด็ก​ย่อม​พัฒนา​ความ​ปรารถนา​เพื่อ​จะ​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระเจ้า และ​ความ​กลัว​ที่​จะ​ทำ​ให้​พระองค์​ไม่​พอ​พระทัย. ข้อ​นี้​จะ​กระตุ้น​เขา​ให้ “หลีก​ความ​ชั่ว​ร้าย.”—สุภาษิต 16:6, ฉบับ​แปล​ใหม่.

ถึง​แม้​เด็ก​เล็ก​ส่วน​ใหญ่​มัก​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​และ​เรียน​รู้​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว ทว่า​อาจ​ไม่​ค่อย​จะ​เชื่อ​ฟัง. (บทเพลง​สรรเสริญ 51:5) บาง​ครั้ง​พวก​เขา​อาจ​เอา​แต่​ใจ​ตัว​เอง หรือ​เอา​ให้​ได้​ทุก​อย่าง​ตาม​ที่​ต้องการ. บิดา​มารดา​ต้อง​หนักแน่น, อด​ทน, และ​ตี​สอน​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ท่าที​ดัง​กล่าว​กลาย​เป็น​นิสัย. (เอเฟโซ 6:4) ฟิลลิส​และ​พอล​ประสบ​เรื่อง​เช่น​นี้​มา​แล้ว ทั้ง​สอง​ได้​เลี้ยง​ดู​ลูก​ชาย​หญิง​ห้า​คน​และ​สำเร็จ​ผล​เป็น​อย่าง​ดี.

ฟิลลิส​เล่า​ว่า “แม้​ลูก​แต่​ละ​คน​มี​บุคลิก​ต่าง​กัน แต่​ทุก​คน​ก็​อยาก​ทำ​ตาม​ที่​ตัว​เอง​ชอบ. มัน​ยาก​เอา​การ แต่​ใน​ที่​สุด​ลูก ๆ ก็​เข้าใจ​ความหมาย​ของ​คำ​ว่า ‘ไม่.’” พอล สามี​ฟิลลิส กล่าว​ดัง​นี้: “บ่อย​ครั้ง เรา​ให้​เหตุ​ผล​สำหรับ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เรา​ถ้า​เขา​โต​พอ​จะ​เข้าใจ​ได้. ถึง​แม้​เรา​พยายาม​เป็น​คน​ใจ​ดีอยู่​เสมอ แต่​เรา​ก็​สั่ง​สอน​เขา​ให้​เคารพ​อำนาจ​ที่​พระเจ้า​ทรง​มอบ​แก่​เรา.”

แม้​บุตร​ที่​อยู่​ใน​วัย​เด็ก​อาจ​มี​ปัญหา​อยู่​บ้าง แต่​บิดา​มารดา​ส่วน​ใหญ่​พบ​ว่า ปัญหา​ที่​ท้าทาย​มาก​ที่​สุด​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ที่​บุตร​เป็น​วัยรุ่น เมื่อ​หัวใจ​อ่อน​เยาว์​ของ​เขา​เผชิญ​การ​ทดลอง​ใหม่ ๆ หลาย​อย่าง.

เข้า​ถึง​หัวใจ​วัยรุ่น

ช่าง​ปั้น​หม้อ​ต้อง​เริ่ม​ปั้น​ก่อน​ที่​ดิน​เหนียว​จะ​แห้ง. เพื่อ​ให้​เวลา​เขา​เป็น​พิเศษ เขา​จะ​เติม​น้ำ​ลง​ไป​ให้​ดิน​เปียก​ชุ่ม​ปั้น​ได้​ง่าย. ทำนอง​เดียว​กัน บิดา​มารดา​ต้อง​บากบั่น​พยายาม​เพื่อ​ป้องกัน​หัวใจ​บุตร​วัยรุ่น​ไม่​ให้​กลาย​เป็น​คน​หัวดื้อ. แน่นอน เครื่อง​มือ​หลัก​ของ​เขา​คือ​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เขา​สามารถ​ใช้​เพื่อ ‘ว่า​กล่าว, จัด​การ​เรื่อง​ราว​ให้​เรียบร้อย, และ​เตรียม​ลูก​ของ​ตน​ไว้​พร้อม​สำหรับ​การ​ดี​ทุก​อย่าง.’—2 ติโมเธียว 3:15-17, ล.ม.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เด็ก​วัยรุ่น​อาจ​ไม่​รับ​คำ​แนะ​นำ​ของ​บิดา​มารดา​ทันที​เหมือน​ตอน​ที่​เขา​อายุ​ยัง​น้อย. เด็ก​วัยรุ่น​อาจ​เริ่ม​สนใจ​คน​รุ่น​เดียว​กัน​มาก​ขึ้น ที่​เคย​สื่อ​ความ​กับ​พ่อ​แม่​อย่าง​ไม่​ปิด​บัง​ก็​กลาย​เป็น​พูด​อึก ๆ อัก ๆ. ตอน​นี้​แหละ​ที่​ต้อง​ใช้​ความ​อด​ทน​และ​ทักษะ​เป็น​พิเศษ เนื่อง​จาก​บทบาท​ของ​บิดา​มารดา​และ​บุตร​ต่าง​ก็​เข้า​สู่​ขั้น​ตอน​ใหม่. วัยรุ่น​ต้อง​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​สรีระ​และ​อารมณ์. เขา​ต้อง​เริ่ม​ตัดสิน​ใจ​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ และ​วาง​เป้าหมาย​ซึ่ง​อาจ​มี​ผล​กระทบ​ไป​จน​ตลอด​ชีวิต. (2 ติโมเธียว 2:22) ตลอด​ช่วง​ที่​ท้าทาย​นี้ เขา​ต้อง​รับมือ​กับ​พลัง​อำนาจ​ซึ่ง​จะ​ยัง​ความ​หายนะ​แก่​หัวใจ​ของ​เขา​ได้ พลัง​นั้น​คือ​แรง​กดดัน​จาก​คน​รุ่น​เดียว​กัน.

ความ​กดดัน​ดัง​กล่าว​มัก​จะ​ไม่​เกิด​ขึ้น​เพียง​หน​เดียว​ใน​เหตุ​การณ์​ใด​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​ที่​โดด​เด่น. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ความ​กดดัน​มัก​จะ​มี​มา​เป็น​พัก ๆ อย่าง​ต่อ​เนื่อง โดย​คำ​พูด​วิพากษ์วิจารณ์​หรือ​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ ซึ่ง​บั่น​ทอน​ความ​เชื่อ​มั่น​ของ​คน​เรา​ต่อ​สิ่ง​ที่​ตน​ถือ​ว่า​จริง​และ​สำคัญ​เรื่อย​มา​กระทั่ง​เวลา​นั้น. คำ​พูด​และ​เหตุ​การณ์​ดัง​กล่าว​จู่​โจม​สิ่ง​ที่​เป็น​จุด​อ่อน​สำหรับ​เยาวชน​จำนวน​ไม่​น้อย นั่น​คือ ความ​กลัว​ที่​ฝัง​ลึก​ใน​ใจ​ว่า​ตน​จะ​ไม่​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ของ​เยาวชน​คน​อื่น ๆ. ใน​การ​ต่อ​สู้​กับ​ความ​รู้สึก​ว่า​คน​อื่น​คิด​อย่าง​ไร​กับ​ตัว​เอง​พร้อม​ด้วย​ความ​ต้องการ​อยาก​เป็น​ที่​ยอม​รับ เยาวชน​อาจ​เริ่ม​เห็น​ด้วย​กับ “สิ่ง​ต่าง ๆ ใน​โลก” ที่​เยาวชน​คน​อื่น ๆ ส่ง​เสริม.—1 โยฮัน 2:15-17, ล.ม.; โรม 12:2.

ที่​แย่​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก​คือ ความ​ปรารถนา​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​หัวใจ​ที่​ผิด​บาป​อาจ​เสริม​น้ำหนัก​ให้​กับ​คำ​พูด​ของ​คน​รุ่น​เดียว​กัน. การ​พูด​ชักชวน​เช่น “ไป​สนุก​กัน​เถอะ” และ “ทำ​อะไร​ก็​ได้​ตาม​ใจ​ชอบ” ฟัง​ดู​แล้ว​น่า​ดึงดูด​ใจ​ไม่​น้อย. มารีอา​เล่า​ประสบการณ์​ของ​เธอ​ดัง​นี้: “ฉัน​ฟัง​เพื่อน​วัยรุ่น​ที่​เชื่อ​ว่า​หนุ่ม​สาว​มี​สิทธิ​จะ​หา​ความ​สนุก​สุด​เหวี่ยง​ให้​ตัว​เอง โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​ผล​ที่​ตาม​มา. เนื่อง​จาก​ฉัน​ต้องการ​ทำ​เหมือน​เพื่อน​ที่​โรง​เรียน ฉัน​เกือบ​ถลำ​ตัว​เข้า​สู่​ปัญหา​ที่​ร้ายแรง.” ฐานะ​ที่​คุณ​เป็น​บิดา​มารดา คุณ​ย่อม​ต้องการ​ช่วย​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​เอา​ชนะ​ความ​กดดัน​เช่น​นั้น แต่​คุณ​จะ​ทำ​ได้​อย่าง​ไร?

โดย​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ รับรอง​กับ​ลูก​และ​ทำ​ให้​เขา​มั่น​ใจ​ว่า​คุณ​ห่วงใย. พยายาม​สืบ​ค้น​ดู​ว่า​เขา​มี​ความ​รู้สึก​อย่าง​ไร​ต่อ​เรื่อง​ต่าง ๆ และ​พยายาม​เข้าใจ​ปัญหา​ของ​เขา ซึ่ง​อาจ​ยุ่งยาก​มาก​กว่า​ปัญหา​ที่​คุณ​เคย​เผชิญ​ใน​โรง​เรียน​เสีย​อีก. โดย​เฉพาะ​ใน​ยาม​นี้ ลูก​ของ​คุณ​ต้อง​ถือ​ว่า​คุณ​เป็น​ผู้​ที่​เขา​จะ​เผย​ความ​ใน​ใจ​และ​ปรับ​ทุกข์​ได้. (สุภาษิต 20:5) โดย​ทาง​สี​หน้า​ท่า​ทาง​หรือ​อารมณ์​ของ​เขา คุณ​อาจ​สังเกต​ได้​ว่า​เขา​มี​ความ​ทุกข์​ใจ​หรือ​จิตใจ​ว้าวุ่น. จง​ตอบ​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​เขา​ถึง​แม้​เขา​ไม่​ได้​เอ่ย​ปาก​ก็​ตาม และ ‘ชู​ใจ​เขา.’—โกโลซาย 2:2.

แน่นอน นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​จะ​ใช้​ความ​หนักแน่น​เพื่อ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. บิดา​มารดา​หลาย​คน​ได้​ประสบ​ว่า​บาง​ครั้ง​ก็​ขัด​ใจ​กับ​บุตร​บ้าง แต่​เขา​ไม่​อาจ​จะ​ยอม​ผ่อนปรน​ได้​ใน​เมื่อ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​ตน​มี​เหตุ​ผล​หนักแน่น​พอ. อีก​ด้าน​หนึ่ง จง​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​คุณ​เข้าใจ​สภาพการณ์​อย่าง​ชัดเจน​ก่อน​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ให้​การ​ตี​สอน​ด้วย​ความ​รัก​หรือ​ไม่ และ​จะ​ทำ​วิธี​ใด​หาก​จำเป็น​ต้อง​ทำ.—สุภาษิต 18:13.

การ​ทดลอง​อาจ​มา​จาก​ภาย​ใน​ประชาคม

ภาชนะ​เครื่อง​ปั้น​ดิน​เผา​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​ได้​ทำ​เสร็จ​เรียบร้อย​แล้ว แต่​หาก​ไม่​ผ่าน​กรรมวิธี​การ​เผา​จน​ได้​ที่ ภาชนะ​ที่​ออก​แบบ​ไว้​ใส่​ของ​เหลว​อาจ​จะ​เสียหาย​หรือ​รั่ว​ซึม​ได้​เพราะ​ของ​เหลว​ที่​อยู่​ใน​ภาชนะ​นั้น. คัมภีร์​ไบเบิล​เปรียบ​เทียบ​การ​ทดลอง และ​ความ​ยาก​ลำบาก​กับ​กรรมวิธี​ที่​เผา​ด้วย​ไฟ​ดัง​กล่าว เพราะ​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ จะ​พิสูจน์​ให้​เห็น​ว่า​จริง ๆ แล้ว​เรา​เป็น​คน​ชนิด​ใด. จริง​อยู่ คัมภีร์​ไบเบิล​กำลัง​พูด​ถึง​การ​ทดลอง​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​โดย​เฉพาะ แต่​โดย​ทั่ว​ไป จุด​สำคัญ​นี้​ใช้​ได้​กับ​การ​ทดลอง​ด้าน​อื่น ๆ ด้วย. (ยาโกโบ 1:2-4) น่า​ประหลาด​ใจ การ​ทดลอง​อัน​หนัก​หน่วง​บาง​อย่าง​ที่​เยาวชน​ประสบ​นั้น​อาจ​มา​จาก​ภาย​ใน​ประชาคม.

แม้​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​ดู​เหมือน​มี​สุขภาพ​ดี​ฝ่าย​วิญญาณ ทว่า​ภาย​ใน​เขา​อาจ​ดิ้นรน​ต่อ​สู้​กับ​หัวใจ​ที่​แบ่ง​เป็น​สอง​ฝัก​สอง​ฝ่าย. (1 กษัตริย์ 18:21) ยก​ตัว​อย่าง แมเกน​ได้​เผชิญ​กับ​แนว​คิด​แบบ​โลก​ที่​มี​สาเหตุ​มา​จาก​หนุ่ม​สาว​บาง​คน​ซึ่ง​ได้​มา​ที่​หอ​ประชุม:

“ฉัน​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​หนุ่ม​สาว​กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​ถือ​ว่า​หลักการ​คริสเตียน​เป็น​สิ่ง​น่า​เบื่อ​หน่าย​และ​เป็น​สิ่ง​กีด​ขวาง​การ​สนุกสนาน. พวก​เขา​พูด​ทำนอง​นี้: ‘ให้​ฉัน​อายุ​ครบ 18 ฉัน​จะ​ทิ้ง​ความ​จริง​ไป​เลย’ หรือ ‘ฉัน​อยาก​ออก​ไป​จาก​ความ​จริง​จน​แทบ​ทน​รอ​ต่อ​ไป​ไม่​ไหว​แล้ว.’ พวก​เขา​มัก​หลบ​เลี่ยง​หนุ่ม​สาว​ที่​พูด​เรื่อง​อะไร​ก็​ตาม​ซึ่ง​ไม่​เห็น​พ้อง​กับ​ตน แถม​ตั้ง​ฉายา​ให้​ว่า​พวก​คน​ชอบธรรม.”

เพียง​หนึ่ง​หรือ​สอง​คน​ที่​มี​ท่าที​ไม่​ถูก​ต้อง​ก็​มาก​พอ​ที่​จะ​กระตุ้น​คน​อื่น ๆ ให้​ทำ​ตาม. ปกติ​แล้ว คน​ใน​กลุ่ม​จะ​ทำ​อย่าง​ที่​คน​ส่วน​ใหญ่​ทำ​กัน. ความ​โฉด​เขลา​และ​อวด​เก่ง​อาจ​เหยียบ​ย่ำ​สติ​ปัญญา​และ​คุณ​งาม​ความ​ดี. ใน​หลาย​ประเทศ เป็น​เรื่อง​น่า​เศร้า​ที่​หนุ่ม​สาว​คริสเตียน​ตก​เข้า​สู่​ปัญหา​เพราะ​พวก​เขา​ติด​ตาม​คน​หมู่​มาก.

เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​วัยรุ่น​ต้อง​มี​การ​คบหา​สมาคม​ที่​น่า​ชื่นชม​ยินดี​ใน​ระดับ​หนึ่ง. คุณ​ใน​ฐานะ​บิดา​มารดา​จะ​เตรียม​การ​ใน​เรื่อง​นี้​ได้​อย่าง​ไร? จง​คิด​ใคร่ครวญ​อย่าง​จริงจัง​ในเรื่อง​การ​บันเทิง​ของ​พวก​เขา และ​วาง​แผน​ให้​มี​กิจกรรม​ที่​น่า​สนใจ​กับ​ครอบครัว​หรือ​กับ​กลุ่ม​ที่​มี​ทั้ง​หนุ่ม​สาว​และ​ผู้​ใหญ่​อยู่​ด้วย. ทำ​ความ​รู้​จัก​กับ​เพื่อน ๆ ของ​ลูก. ชวน​เขา​มา​กิน​ข้าว​ที่​บ้าน หรือ​ใช้​เวลา​ยาม​เย็น​อยู่​กับ​พวก​เขา. (โรม 12:13) สนับสนุน​ลูก​ให้​มุ่ง​ทำ​กิจกรรม​อัน​เป็น​คุณประโยชน์ เช่น ฝึก​เล่น​เครื่อง​ดนตรี​หรือ​เรียน​อีก​ภาษา​หนึ่ง​ให้​เก่ง​หรือ​ทำ​งาน​ฝีมือ. ส่วน​ใหญ่ ลูก​อาจ​จะ​ทำ​กิจกรรม​เหล่า​นี้​ได้​ที่​บ้าน​ซึ่ง​สภาพ​แวด​ล้อม​ปลอด​ภัย.

การ​ศึกษา​ใน​โรง​เรียน​อาจ​เป็น​การ​ปก​ป้อง​คุ้มครอง

การ​ศึกษา​ใน​โรง​เรียน​อาจ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​จัด​เอา​การ​สนุกสนาน​เพลิดเพลิน​ไว้​ใน​อันดับ​ที่​เหมาะ​สม​ได้​ด้วย. ลอลี ผู้​บริหาร​โรง​เรียน​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​เป็น​เวลา 20 ปี กล่าว​ดัง​นี้: “ดิฉัน​ได้​พบ​เห็น​พยาน​ฯ หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​จบ​ไป​จาก​โรง​เรียน. หลาย​คน​ประพฤติ​อย่าง​น่า​ชมเชย แต่​ก็​มี​บ้าง​ที่​ดู​แล้ว​ไม่​แตกต่าง​ไป​จาก​นัก​เรียน​คน​อื่น ๆ. ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ได้​แก่​พวก​ที่​เอา​ใจ​ใส่​การ​เล่า​เรียน​สม่ำเสมอ. ดิฉัน​ขอ​แนะ​นำ​พ่อ​แม่​ของ​นัก​เรียน​ให้​สนใจ​อย่าง​จริงจัง​ต่อ​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​การ​เรียน​ของ​ลูก ทำ​ความ​รู้​จัก​กับ​ครู​ของ​เขา และ​ช่วย​ให้​ลูก​เห็น​ว่า​ทักษะ, การ​ประพฤติ, ผล​การ​เรียน​ที่​ลง​ใน​สมุด​รายงาน​ประจำ​ตัว​นัก​เรียน​นั้น​เป็น​สิ่ง​สำคัญ. นัก​เรียน​บาง​คน​ทำ​ได้​ดี​มาก แต่​ทุก​คน​สามารถ​ทำ​ได้​ใน​ระดับ​ที่​น่า​พอ​ใจ​และ​ได้​ความ​นับถือ​จาก​ครู​ของ​เขา.”

การ​ศึกษา​ใน​โรง​เรียน​ดัง​กล่าว​จะ​ช่วย​เด็ก​วัยรุ่น​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​ได้​เหมือน​กัน. การ​เรียน​ใน​โรง​เรียน​จะ​สอน​เขา​ให้​มี​นิสัย​ค้นคว้า​ศึกษา​อย่าง​ที่​เป็น​ประโยชน์, มี​วินัย, และ​ทำ​ให้​รู้​สำนึก​ใน​หน้า​ที่​รับผิดชอบ. ความ​สามารถ​ใน​การ​อ่าน​ได้​คล่อง​และ​ที่​จะ​จับ​จุด​แนว​คิด​ต่าง ๆ ย่อม​เสริม​ให้​เขา​เป็น​นัก​ศึกษา​อีก​ทั้ง​จะ​เป็น​ผู้​สอน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​ดี​ขึ้น​อย่าง​แน่นอน. (นะเฮมยา 8:8) ข้อ​เรียก​ร้อง​อัน​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​งาน​ของ​โรง​เรียน​และ​การ​ศึกษา​ฝ่าย​วิญญาณ​จะ​ช่วย​เขา​ใน​การ​จัด​นันทนาการ​ไว้​ใน​ลำดับ​ที่​เหมาะ​สม.

การ​ยกย่อง​สรรเสริญ​จะ​ตก​อยู่​กับ​คุณ​และ​พระ​ยะโฮวา

ใน​ประเทศ​กรีซ​โบราณ ภาชนะ​ดิน​เผา​มาก​มาย​หลาย​อย่าง​มี​ลายมือ​ชื่อ​ช่าง​ปั้น​และ​ชื่อ​ผู้​ตกแต่ง. พอ​เปรียบ​เทียบ​ได้​ว่า โดย​ทั่ว​ไป​มี​สอง​คน​ใน​ครอบครัว​ร่วม​มือ​กัน​นวด​ปั้น​ลูก. ทั้ง​บิดา​และ​มารดา​ร่วม​มือ​กัน​พัฒนา​หัวใจ​ของ​บุตร และ​โดย​นัย​แล้ว ลูก​ของ​คุณ​มี “ลายมือ​ชื่อ” คุณ​ทั้ง​สอง. เช่น​เดียว​กัน​กับ​คน​ปั้น และ/หรือ​คน​ตกแต่ง​เครื่อง​ปั้น​ดิน​เผา​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ คุณ​จะ​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ผล​งาน​ของ​คุณ​ที่​ได้​พัฒนา​ตกแต่ง​ผู้​เยาว์​เป็น​บุคคล​ที่​มี​คุณค่า​และ​งดงาม.—สุภาษิต 23:24, 25.

ความ​สำเร็จ​ของ​การ​บากบั่น​พยายาม​อัน​ดี​เยี่ยม​นี้​ส่วน​ใหญ่​ขึ้น​อยู่​กับ​ขอบ​เขต​ที่​คุณ​ได้​นวด​ปั้น​หัวใจ​ของ​ลูก. หวัง​ว่า​คุณ​จะ​สามารถ​พูด​ได้​อย่าง​นี้​ว่า “พระ​ธรรม​ของ​พระเจ้า​อยู่​ใน​จิตใจ​ของ​เขา และ​ย่าง​เท้า​ของ​เขา​จะ​ไม่​พลาด.” (บทเพลง​สรรเสริญ 37:31, ฉบับ​แปล​ใหม่) สภาพ​หัวใจ​ของ​บุตร​สำคัญ​เกิน​กว่า​จะ​ปล่อย​ตาม​แต่​จะ​เป็น​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 บิดา​มารดา​บาง​คน​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ทารก​แรก​เกิด​ฟัง. น้ำ​เสียง​ที่​ผ่อน​คลาย​และ​คล่องแคล่ว​ซึ่ง​ชวน​ให้​เพลิดเพลิน​เช่น​นี้​จะ​เป็น​แรง​จูง​ใจ​บุตร​ให้​ชอบ​การ​อ่าน​หนังสือ​ไป​ตลอด​ชีวิต.

^ วรรค 9 บาง​ชื่อ​เป็น​นาม​สมมุติ.