ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีความหมายเช่นไรสำหรับคุณ?

อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีความหมายเช่นไรสำหรับคุณ?

อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​มี​ความหมาย​เช่น​ไร​สำหรับ​คุณ?

“ถ้า​ผู้​ใด​กิน​ขนมปัง หรือ​ดื่ม​จาก​ถ้วย​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​อย่าง​ไม่​สม​ควร ผู้​นั้น​ก็​ทำ​ผิด​ต่อ​พระ​กาย​และ​พระ​โลหิต​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.”—1 โกรินโธ 11:27, ฉบับ​แปล​ใหม่.

1. อะไร​คือ​เหตุ​การณ์​สำคัญ​ที่​สุด​ซึ่ง​กำหนด​ไว้​สำหรับ​ปี 2003 และ​เหตุ​การณ์​นั้น​มี​ที่​มา​เช่น​ไร?

เหตุ​การณ์​สำคัญ​ที่​สุด​ซึ่ง​กำหนด​ไว้​สำหรับ​ปี 2003 จะ​มี​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 16 เมษายน หลัง​ดวง​อาทิตย์​ตก. ใน​วัน​นั้น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​จะ​ร่วม​ประชุม​กัน​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​คริสต์. ดัง​ที่​อธิบาย​ไป​แล้ว​ใน​บทความ​ก่อน พระ​เยซู​ทรง​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​นี้​ขึ้น ซึ่ง​เรียก​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ด้วย​ว่า​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า หลัง​จาก​ที่​พระองค์​และ​เหล่า​อัครสาวก​ฉลอง​ปัศคา​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน ปี ส.ศ. 33. ขนมปัง​ไม่​มี​เชื้อ​และ​เหล้า​องุ่น​แดง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เป็น​สัญลักษณ์​แทน​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์​ที่​ปราศจาก​บาป​และ​พระ​โลหิต​ที่​หลั่ง​ออก​ของ​พระองค์ ซึ่ง​เฉพาะ​แต่​เครื่อง​บูชา​นี้​เท่า​นั้น​ที่​สามารถ​ไถ่​มนุษยชาติ​จาก​บาป​และ​ความ​ตาย​ที่​ได้​รับ​เป็น​มรดก.—โรม 5:12; 6:23.

2. มี​คำ​เตือน​อะไร​บันทึก​ไว้​ที่ 1 โกรินโธ 11:27?

2 ผู้​ที่​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ต้อง​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​ที่​สม​ควร. อัครสาวก​เปาโล​ทำ​ให้​เรื่อง​นี้​กระจ่าง​ชัด​เมื่อ​ท่าน​เขียน​ไป​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์​สมัย​โบราณ ซึ่ง​มี​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​อย่าง​ไม่​เหมาะ​สม. (1 โกรินโธ 11:20-22) เปาโล​เขียน​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​กิน​ขนมปัง หรือ​ดื่ม​จาก​ถ้วย​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​อย่าง​ไม่​สม​ควร ผู้​นั้น​ก็​ทำ​ผิด​ต่อ​พระ​กาย​และ​พระ​โลหิต​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.” (1 โกรินโธ 11:27, ฉบับ​แปล​ใหม่) ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​หมายความ​เช่น​ไร?

บาง​คน​ร่วม​ประชุม​อนุสรณ์​อย่าง​ไม่​สม​ควร

3. คริสเตียน​ชาว​โครินท์​หลาย​คน​ประพฤติ​ตัว​เช่น​ไร​เมื่อ​เข้า​ร่วม​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า?

3 คริสเตียน​ชาว​โครินท์​หลาย​คน​เข้า​ร่วม​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​อย่าง​ไม่​สม​ควร. มี​ความ​แตก​แยก​ท่ามกลาง​พวก​เขา และ​อย่าง​น้อย​ที่​สุด​ช่วง​หนึ่ง มี​บาง​คน​ที่​นำ​อาหาร​มา​ด้วย และ​กิน​อาหาร​นั้น​ก่อน​หรือ​ระหว่าง​การ​ประชุม บ่อย​ครั้ง​กิน​และ​ดื่ม​มาก​เกิน​ไป. พวก​เขา​ไม่​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ตื่น​ตัว​ทาง​ความ​คิด​และ​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ทำ​ให้​พวก​เขา “ผิด​ต่อ​พระ​กาย​และ​พระ​โลหิต​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.” บาง​คน​ที่​ไม่​ได้​กิน​อาหาร​เย็น​มา​ก่อน​ก็​หิว​และ​ขาด​สมาธิ. ถูก​แล้ว หลาย​คน​เข้า​ร่วม​อย่าง​ที่​ขาด​ความ​นับถือ​และ​ไม่​ตระหนัก​อย่าง​เต็ม​ที่​ถึง​ความ​จริงจัง​ของ​เหตุ​การณ์​นั้น. จึง​ไม่​แปลก​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​คำ​ตำหนิ!—1 โกรินโธ 11:27-34.

4, 5. ทำไม​การ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​จึง​จำเป็น​สำหรับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เป็น​ประจำ?

4 ขณะ​ที่​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ใกล้​เข้า​มา​ใน​แต่​ละ​ปี คน​เหล่า​นั้น​ที่​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​เป็น​ประจำ​ต้อง​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง. เพื่อ​จะ​เข้า​ร่วม​ใน​มื้อ​อาหาร​สมาน​ไมตรี​นี้​อย่าง​ที่​สม​ควร พวก​เขา​ต้อง​มี​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ดี. คน​ที่​ไม่​ให้​ความ​นับถือ หรือ​กระทั่ง​ดูหมิ่น ต่อ​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​เยซู​นั้น​อาจ​เสี่ยง​ต่อ​การ​ถูก ‘ตัด​ขาด​จาก​ประชาชน​ของ​พระเจ้า’ เช่น​เดียว​กับ​ชาว​อิสราเอล​ที่​เข้า​ร่วม​ใน​มื้อ​อาหาร​สมาน​ไมตรี​ขณะ​ที่​ตน​เป็น​มลทิน.—เลวีติโก 7:20; เฮ็บราย 10:28-31.

5 เปาโล​เปรียบ​เทียบ​การ​ประชุม​อนุสรณ์​กับ​มื้อ​อาหาร​สมาน​ไมตรี​ที่​ปฏิบัติ​กัน​ใน​อิสราเอล​สมัย​โบราณ. ท่าน​กล่าว​ถึง​บรรดา​ผู้​รับประทาน​ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น​ที่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​พระ​คริสต์ แล้ว​กล่าว​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลายจะ​ดื่ม​จาก​จอก​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​และ​จาก​จอก​ของ​ปิศาจ​ด้วย​ก็​ไม่​ได้, จะ​รับประทาน​ที่​โต๊ะ​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​และ​ที่​โต๊ะ​ของ​ปิศาจ​ด้วย​ก็​ไม่​ได้.” (1 โกรินโธ 10:16-21) ถ้า​คน​ใด​ที่​เคย​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เป็น​ประจำ​ได้​ทำ​บาป​ร้ายแรง เขา​ควร​สารภาพ​บาป​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ฝ่าย​วิญญาณ​จาก​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม. (สุภาษิต 28:13; ยาโกโบ 5:13-16) ถ้า​เขา​กลับ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง และ​เกิด​ผล​สม​กับ​การ​กลับ​ใจ​นั้น จะ​ไม่​ถือ​ว่า​การ​ที่​เขา​รับประทาน​นั้น​เป็น​การ​ไม่​สม​ควร.—ลูกา 3:8.

เข้า​ร่วม​ใน​ฐานะ​ผู้​สังเกตการณ์​ที่​ให้​ความ​นับถือ

6. พระเจ้า​ทรง​สงวน​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​รับประทาน​ใน​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไว้​ให้​แก่​ใคร?

6 คน​เหล่า​นั้น​ที่​ขณะ​นี้​ทำ​ดี​ต่อ​ชน​ที่​เหลือ​แห่ง​พี่​น้อง​ของ​พระ​คริสต์ 144,000 คน​ควร​รับประทาน​ใน​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไหม? (มัดธาย 25:31-40; วิวรณ์ 14:1) ไม่. พระเจ้า​ทรง​สงวน​สิทธิ​พิเศษ​นั้น​ไว้​สำหรับ​คน​ที่​พระองค์​ทรง​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​เพื่อ “เป็น​ทายาท​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์.” (โรม 8:14-18, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:20) ถ้า​อย่าง​นั้น คน​ที่​มี​ความ​หวัง​จะ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป​ใน​อุทยาน​บน​แผ่นดิน​โลก​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​แห่ง​ราชอาณาจักร​ไป​ร่วม​ใน​ฐานะ​อะไร? (ลูกา 23:43, ล.ม.; วิวรณ์ 21:3, 4) เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​ใช่​ทายาท​ร่วม​กับ​พระ​เยซู​ที่​มี​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์ เขา​จึง​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ใน​ฐานะ​ผู้​สังเกตการณ์​ที่​ให้​ความ​นับถือ.—โรม 6:3-5.

7. ทำไม​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​จึง​รู้​ว่า​พวก​เขา​ควร​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์?

7 เหล่า​คริสเตียน​แท้​ใน​ศตวรรษ​แรก​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์. หลาย​คน​ใน​พวก​เขา​สามารถ​ใช้​ของ​ประทาน​แห่ง​พระ​วิญญาณ​ใน​การ​ทำ​การ​อัศจรรย์​หนึ่ง​อย่าง​หรือ​มาก​กว่า​นั้น เช่น การ​พูด​ภาษา​ต่าง ๆ. ดัง​นั้น จึง​ไม่​ยาก​ที่​คน​เหล่า​นั้น​จะ​รู้​ว่า​ตน​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​และ​ควร​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​สมัย​ของ​เรา การ​จะ​รู้​ว่า​ใคร​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​หรือ​ไม่​นั้น​สามารถ​ตัดสิน​ได้​โดย​อาศัย​บรรดา​ถ้อย​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ เช่น​ที่​กล่าว​ว่า “พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ทรง​นำ​ผู้​ใด คน​เหล่า​นั้น​ก็​เป็น​บุตร​ของ​พระเจ้า. เพราะ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มิ​ได้​รับ​วิญญาณ​แห่ง​การ​เป็น​ทาส​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​กลัว​อีก แต่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ได้​รับ​วิญญาณ​แห่ง​การ​รับ​เป็น​บุตร​ชาย​ซึ่ง​โดย​วิญญาณ​นั้น เรา​ร้อง​เรียก​ว่า ‘อับบา, พระ​บิดา!’”—โรม 8:14, 15, ล.ม.

8. “ข้าว​ดี” และ “ข้าว​ละมาน” ตาม​ที่​กล่าว​ใน​มัดธาย​บท 13 หมาย​ถึง​ใคร?

8 ขณะ​ที่​เวลา​ผ่าน​ไป​หลาย​ศตวรรษ เหล่า​ผู้​ถูก​เจิม​แท้​ซึ่ง​เป็น “ข้าว​ดี” เจริญ​เติบโต​ใน​ทุ่ง​นา​ท่ามกลาง “ข้าว​ละมาน” หรือ​คริสเตียน​จอม​ปลอม. (มัดธาย 13:24-30, 36-43) ตั้ง​แต่​ช่วง​ทศวรรษ 1870 เป็น​ต้น​มา “ข้าว​ดี” เริ่ม​ปรากฏ​ให้​เห็น​ชัด​มาก​ขึ้น และ​หลาย​ปี​ต่อ​มา มี​การ​บอก​คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ที่​ถูก​เจิม​ดัง​นี้: “ผู้​ปกครอง . . . ควร​กำหนด​เงื่อนไข​ต่อ​ไป​นี้​สำหรับ​ผู้​ที่​เข้า​ร่วม [ประชุม​อนุสรณ์]—(1) มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​โลหิต [ของ​พระ​คริสต์] และ (2) อุทิศ​ตัว​แด่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​และ​งาน​รับใช้​พระองค์ ตราบ​เท่า​วัน​ตาย. ครั้น​แล้ว พวก​ผู้​ปกครอง​ควร​เชิญ​ทุก​คน​ที่​มี​ความ​เชื่อ​เช่น​นั้น​และ​ได้​อุทิศ​ตัว​แล้ว​ให้​เข้า​ร่วม​ฉลอง​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.”—คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ เล่ม 6 การ​สร้าง​ขึ้น​ใหม่ (ภาษา​อังกฤษ) หน้า 473. *

การ​ค้น​หา “แกะ​อื่น”

9. การ​ระบุ​ตัว “ชน​ฝูง​ใหญ่” เป็น​ที่​กระจ่าง​ชัด​อย่าง​ไร​ใน​ปี 1935 และ​คำ​อธิบาย​ใน​เรื่อง​นี้​ส่ง​ผล​เช่น​ไร​ต่อ​บาง​คน​ที่​เคย​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์?

9 ใน​เวลา​ต่อ​มา องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เริ่ม​มุ่ง​ความ​สนใจ​ไป​ยัง​คน​อื่น ๆ นอก​เหนือ​จาก​เหล่า​สาวก​ผู้​ถูก​เจิม​ของ​พระ​คริสต์. การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​น่า​สังเกต​ใน​เรื่อง​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​กลาง​ทศวรรษ 1930. ก่อน​หน้า​นั้น ไพร่พล​ของ​พระเจ้า​มอง “ชน​ฝูง​ใหญ่” ที่​กล่าว​ถึง​ใน​วิวรณ์ 7:9 (ล.ม.) ว่า​เป็น​ชน​ฝ่าย​สวรรค์​อันดับ​รอง​ซึ่ง​จะ​สมทบ​กับ​ชน​ผู้​ถูก​เจิม 144,000 คน​ที่​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​ใน​สวรรค์ เป็น​เหมือน​เพื่อน​เจ้าสาว​ของ​เจ้าสาว​พระ​คริสต์. (บทเพลง​สรรเสริญ 45:14, 15; วิวรณ์ 7:4; 21:2, 9) แต่​ใน​วัน​ที่ 31 พฤษภาคม 1935 ใน​คำ​บรรยาย​หนึ่ง ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​กรุง​วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ​อเมริกา ได้​มี​การ​อธิบาย​โดย​อาศัย​พระ​คัมภีร์​ว่า “ชน​ฝูง​ใหญ่” หมาย​ถึง “แกะ​อื่น” ที่​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ช่วง​สมัย​สุด​ท้าย. (โยฮัน 10:16) หลัง​จาก​การ​ประชุม​ครั้ง​นั้น บาง​คน​ที่​ก่อน​หน้า​นั้น​เคย​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ก็​หยุด​รับประทาน เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ตระหนัก​ว่า​ความ​หวัง​ของ​พวก​เขา​ไม่​ใช่​ฝ่าย​สวรรค์ แต่​เป็น​ทาง​แผ่นดิน​โลก.

10. คุณ​จะ​อธิบาย​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​ความ​หวัง​และ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ “แกะ​อื่น” สมัย​ปัจจุบัน?

10 โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง ตั้ง​แต่​ปี 1935 เป็น​ต้น​มา ได้​มี​การ​เสาะ​หา​คน​ที่​จะ​มา​เป็น “แกะ​อื่น” ผู้​ซึ่ง​มี​ความ​เชื่อ​ใน​ค่า​ไถ่, อุทิศ​ตัว​แด่​พระเจ้า, และ​สนับสนุน “ฝูง​เล็ก” ที่​ถูก​เจิม​ใน​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร. (ลูกา 12:32, ล.ม.) แกะ​อื่น​เหล่า​นี้​มี​ความ​หวัง​ที่​จะ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป​บน​แผ่นดิน​โลก แต่​ใน​เรื่อง​อื่น ๆ พวก​เขา​ไม่​ได้​ต่าง​ไป​จาก​ชน​ที่​เหลือ​สมัย​ปัจจุบัน​ผู้​เป็น​ทายาท​แห่ง​ราชอาณาจักร. เช่น​เดียว​กับ​ชน​ต่าง​ด้าว​ผู้​อาศัย​ใน​อิสราเอล​สมัย​โบราณ​ที่​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​และ​ยอม​ตัว​อยู่​ใต้​พระ​บัญญัติ แกะ​อื่น​ใน​ทุก​วัน​นี้​ก็​ยอม​รับ​เอา​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ต่าง ๆ สำหรับ​คริสเตียน เช่น การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ร่วม​กับ​สมาชิก​แห่ง​อิสราเอล​ฝ่าย​วิญญาณ. (ฆะลาเตีย 6:16) อย่าง​ไร​ก็​ตาม เช่น​เดียว​กับ​ที่​ไม่​มี​ชน​ต่าง​ด้าว​คน​ใด​ได้​มี​โอกาส​เป็น​กษัตริย์​หรือ​ปุโรหิต​ของ​ชาติ​อิสราเอล ไม่​มี​แกะ​อื่น​คน​ใด​จะ​ได้​ปกครอง​ใน​ราชอาณาจักร​ฝ่าย​สวรรค์​หรือ​ทำ​หน้า​ที่​ปุโรหิต.—พระ​บัญญัติ 17:15.

11. เหตุ​ใด​วัน​ที่​คน​ใด​คน​หนึ่ง​อุทิศ​ตัว​จึง​อาจ​มี​ความ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​หวัง​ของ​คน​นั้น?

11 ด้วย​เหตุ​นั้น เมื่อ​ถึง​ช่วง​ทศวรรษ 1930 ก็​เป็น​ที่​กระจ่าง​ชัด​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ว่า กล่าว​โดย​ทั่ว​ไป ชน​ที่​มี​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์​ได้​รับ​การ​เลือก​ครบ​จำนวน​แล้ว. จวบ​จน​ปัจจุบัน​ก็​เป็น​เวลา​หลาย​ทศวรรษ​แล้ว​ที่​มี​การ​เสาะ​หา​แกะ​อื่น ซึ่ง​มี​ความ​หวัง​ทาง​แผ่นดิน​โลก. หาก​ผู้​ถูก​เจิม​คน​ใด​ไม่​ซื่อ​สัตย์ ดู​เหมือน​ว่า​ผู้​ที่​เป็น​แกะ​อื่น​ซึ่ง​รับใช้​พระเจ้า​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​มา​เป็น​เวลา​นาน​จะ​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​เพื่อ​ทดแทน​คน​ที่​ขาด​ไป​จาก​จำนวน 144,000 คน.

เหตุ​ที่​มี​การ​คิด​ไป​เอง​ว่า​ตน​มี​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์

12. ใน​กรณี​เช่น​ไร​ที่​คน​ใด​คน​หนึ่ง​ควร​จะ​เลิก​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์ และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

12 คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​มี​ความ​มั่น​ใจ​อย่าง​เต็ม​ที่​ว่า​ตน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์. แต่​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ถ้า​บาง​คน​ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​เช่น​นั้น​ได้​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์? เมื่อ​เขา​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า​ตน​ไม่​เคย​มี​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์ แน่นอน​ว่า​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เขา​จะ​กระตุ้น​ให้​เขา​เลิก​รับประทาน. พระเจ้า​จะ​ไม่​ทอด​พระ​เนตร​ดู​ด้วย​ความ​พอ​พระทัย​หาก​ใคร​ก็​ตาม​แสดง​ตัว​ว่า​เป็น​ผู้​ถูก​เรียก​ให้​เป็น​กษัตริย์​และ​ปุโรหิต​ใน​สวรรค์​ทั้ง ๆ ที่​เขา​รู้​ว่า​จริง ๆ แล้ว​เขา​ไม่​ได้​ถูก​เรียก​ให้​มี​ความ​หวัง​เช่น​นั้น. (โรม 9:16; วิวรณ์ 20:6) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประหาร​ชีวิต​โครา​ชาว​เลวี​ที่​ถือ​ดี ซึ่ง​พยายาม​ที่​จะ​ได้​ตำแหน่ง​ปุโรหิต​แห่ง​เชื้อ​วงศ์​อาโรน. (เอ็กโซโด 28:1; อาฤธโม 16:4-11, 31-35) ถ้า​คริสเตียน​คน​ใด​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า​ตน​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์​อย่าง​ผิด ๆ เขา​ควร​จะ​หยุด​รับประทาน​และ​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ​เพื่อ​ขอ​การ​อภัย​จาก​พระ​ยะโฮวา.—บทเพลง​สรรเสริญ 19:13.

13, 14. อะไร​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​บาง​คน​ทึกทัก​เอา​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์?

13 อะไร​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​บาง​คน​ทึกทัก​เอา​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์? ความ​ตาย​ของ​คู่​สมรส​หรือ​เหตุ​การณ์​สะเทือน​ใจ​บาง​อย่าง​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​อยาก​มี​ชีวิต​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก. หรือ​พวก​เขา​อาจ​ปรารถนา​ความ​หวัง​ทาง​ภาค​สวรรค์​แบบ​เดียว​กัน​กับ​เพื่อน​สนิท​ของ​เขา​ที่​ประกาศ​ตัว​เป็น​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม. แน่นอน พระเจ้า​ไม่​ได้​มอบหมาย​ให้​ใคร​ชักชวน​คน​อื่น​ให้​รับ​เอา​สิทธิ​พิเศษ​นี้. อีก​ทั้ง​พระองค์​ไม่​ได้​เจิม​ผู้​เป็น​ทายาท​แห่ง​ราชอาณาจักร​ด้วย​การ​ให้​พวก​เขา​ได้​ยิน​เสียง​ที่​มี​ข่าวสาร​ยืน​ยัน​การ​เจิม​นั้น.

14 แนว​คิด​จาก​ศาสนา​เท็จ​ที่​ว่า​คน​ดี​ทุก​คน​ไป​สวรรค์​ก็​อาจ​ชัก​นำ​บาง​คน​ให้​คิด​ว่า​ตน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์. ดัง​นั้น เรา​จำ​ต้อง​ระวัง​ป้องกัน​ไม่​ให้​ทัศนะ​ที่​ผิด ๆ ใน​อดีต​หรือ​ปัจจัย​อื่น​ใด​มา​ชักจูง​เรา. ตัว​อย่าง​เช่น บาง​คน​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​ใช้​ยา​ที่​มี​ผล​ต่อ​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ไหม? ฉัน​เป็น​คน​อารมณ์​อ่อนไหว​ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​ลง​ความ​เห็น​ผิด​ไป​ไหม?’

15, 16. อะไร​อาจ​ทำ​ให้​บาง​คน​ลง​ความ​เห็น​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​ตน​เป็น​ผู้​ถูก​เจิม?

15 บาง​คน​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​อยาก​เป็น​คน​เด่น​ดัง​ไหม? ฉัน​ปรารถนา​จะ​มี​อำนาจ​ควบคุม​ดู​แล​ใน​ปัจจุบัน หรือ​ใน​อนาคต​เมื่อ​ได้​เป็น​ทายาท​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​ไหม?’ เมื่อ​มี​การ​ทรง​เรียก​ทายาท​แห่ง​ราชอาณาจักร​ใน​ศตวรรษ​แรก ไม่​ใช่​ทุก​คน​ใน​พวก​เขา​มี​ฐานะ​ตำแหน่ง​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ​ใน​ประชาคม. และ​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์​ไม่​แสวง​หา​ความ​เด่น​ดัง​หรือ​คุย​โต​โอ้อวด​ว่า​ตน​ได้​รับ​การ​เจิม. พวก​เขา​สำแดง​ความ​ถ่อม​ใจ​ซึ่ง​คาด​หมาย​ได้​จาก​ผู้​ที่​มี “พระทัย​ของ​พระ​คริสต์.”—1 โกรินโธ 2:16.

16 บาง​คน​อาจ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ตน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์​เพราะ​พวก​เขา​ได้​รับ​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​ใน​พระ​คัมภีร์​ค่อนข้าง​มาก. แต่​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​มี​ความ​เข้าใจ​มาก​กว่า​ปกติ เพราะ​เปาโล​ก็​ยัง​ต้อง​สั่ง​สอน​และ​แนะนำ​ผู้​ถูก​เจิม​บาง​คน. (1 โกรินโธ 3:1-3; เฮ็บราย 5:11-14) พระเจ้า​ทรง​มี​ร่อง​ทาง​สำหรับ​จ่าย​แจก​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ให้​แก่​ประชาชน​ของ​พระองค์​ทุก​คน. (มัดธาย 24:45-47) ดัง​นั้น ไม่​ควร​มี​ใคร​คิด​ว่า​การ​เป็น​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​จะ​ทำ​ให้​เขา​มี​สติ​ปัญญา​เหนือ​กว่า​คน​ที่​มี​ความ​หวัง​ทาง​แผ่นดิน​โลก. ความ​สามารถ​ใน​การ​ตอบ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์, การ​ให้​คำ​พยาน, หรือ​การ​บรรยาย​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​แสดง​ว่า​คน​เรา​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ. คริสเตียน​หลาย​คน​ที่​มี​ความ​หวัง​ทาง​แผ่นดิน​โลก​ทำ​สิ่ง​เหล่า​นี้​ได้​ดี​เช่น​กัน.

17. การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​ขึ้น​อยู่​กับ​สิ่ง​ใด​และ​ขึ้น​อยู่​กับ​ใคร?

17 ถ้า​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ถาม​เกี่ยว​กับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์ ผู้​ปกครอง​หรือ​คริสเตียน​ที่​อาวุโส​คน​ใด ๆ สามารถ​พิจารณา​เรื่อง​นั้น​กับ​เขา​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​มี​ใคร​สามารถ​ตัดสิน​ใจ​ใน​เรื่อง​นี้​แทน​คน​อื่น​ได้. คน​ที่​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​จริง ๆ นั้น​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ถาม​คน​อื่น​ว่า​ตน​มี​ความ​หวัง​เช่น​นั้น​หรือ​ไม่. ผู้​ถูก​เจิม “ได้​รับ​การ​บังเกิด​ใหม่ ไม่​ใช่​จาก​เมล็ด​พืช​ที่​เปื่อย​เน่า​ได้ แต่​จาก​เมล็ด​พืช​ที่​เปื่อย​เน่า​ไม่​ได้ โดย​ทาง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่​และ​ทรง​ดำรง​อยู่​เป็น​นิตย์.” (1 เปโตร 1:23, ล.ม.) โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​และ​พระ​คำ​ของ​พระองค์ พระเจ้า​ทรง​เพาะ “เมล็ด” ไว้​ใน​ผู้​นั้น ทำ​ให้​เขา​เป็น “สิ่ง​ทรง​สร้าง​ใหม่” ที่​มี​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์. (2 โกรินโธ 5:17, ล.ม.) และ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​เลือก. การ​เจิม “ไม่​ขึ้น​อยู่​กับ​ผู้​ที่​ปรารถนา​หรือ​ผู้​ที่​วิ่ง แต่​ขึ้น​อยู่​กับ​พระเจ้า.” (โรม 9:16, ล.ม.) ดัง​นั้น​แล้ว คน​ใด​คน​หนึ่ง​จะ​แน่​ใจ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เขา​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ฝ่าย​สวรรค์?

เหตุ​ที่​พวก​เขา​มั่น​ใจ

18. พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​เป็น​พยาน​ร่วม​กับ​วิญญาณ​ของ​ผู้​ถูก​เจิม​โดย​วิธี​ใด?

18 พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ให้​พยาน​หลักฐาน​ที่​ทำ​ให้​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​มั่น​ใจ​ว่า​พวก​เขา​มี​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์. เปาโล​เขียน​ดัง​นี้: “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ได้​รับ​วิญญาณ​แห่ง​การ​รับ​เป็น​บุตร​ชาย ซึ่ง​โดย​วิญญาณ​นั้น เรา​ร้อง​เรียก​ว่า ‘อับบา, พระ​บิดา!’ พระ​วิญญาณ​เอง​เป็น​พยาน​ร่วม​กับ​วิญญาณ​ของ​เรา​ว่า เรา​เป็น​บุตร​ของ​พระเจ้า. ดัง​นั้น ถ้า​เรา​เป็น​บุตร​แล้ว เรา​ก็​เป็น​ทายาท​ด้วย แท้​จริง เป็น​ทายาท​ของ​พระเจ้า แต่​เป็น​ทายาท​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์ หาก​แม้น​เรา​ทน​ทุกข์​ร่วม​กัน​เพื่อ​เรา​จะ​ได้​รับ​สง่า​ราศี​ร่วม​กัน​อีก​ด้วย.” (โรม 8:15-17, ล.ม.) ภาย​ใต้​อิทธิพล​ชัก​นำ​ของ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ วิญญาณ​หรือ​พลัง​กระตุ้น​จิตใจ​ของ​เหล่า​ผู้​ถูก​เจิม​จะ​กระตุ้น​พวก​เขา​ให้​รู้สึก​ว่า​สิ่ง​ที่​พระ​คัมภีร์​กล่าว​เกี่ยว​กับ​บุตร​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​นั้น​ใช้​กับ​ตัว​เขา​เอง. (1 โยฮัน 3:2) พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​ความ​รู้สึก​ใน​ใจ​ว่า​ตน​เป็น​บุตร​ของ​พระเจ้า​และ​มี​ความ​หวัง​พิเศษ​เฉพาะ. (ฆะลาเตีย 4:6, 7) ชีวิต​นิรันดร์​บน​แผ่นดิน​โลก​ใน​ฐานะ​มนุษย์​สมบูรณ์​ซึ่ง​แวด​ล้อม​ไป​ด้วย​สมาชิก​ครอบครัว​กับ​เหล่า​มิตร​สหาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ยอด​เยี่ยม​ก็​จริง แต่​นั่น​ไม่​ใช่​ความ​หวัง​ที่​พระเจ้า​ประทาน​สำหรับ​พวก​เขา. โดย​ทางพระ​วิญญาณ พระเจ้า​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์​อย่าง​แรง​กล้า​จน​พวก​เขา​เต็ม​ใจ​จะ​สละ​ความ​ผูก​พัน​และ​ความ​หวัง​ใด ๆ ทั้ง​สิ้น​ทาง​แผ่นดิน​โลก.—2 โกรินโธ 5:1-5, 8; 2 เปโตร 1:13, 14.

19. สัญญา​ไมตรี​ใหม่​มี​บทบาท​อะไร​ใน​ชีวิต​ของ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม?

19 คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​มั่น​ใจ​ใน​เรื่อง​ความ​หวัง​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​พวก​เขา และ​การ​ที่​พวก​เขา​ถูก​นำ​เข้า​สู่​สัญญา​ไมตรี​ใหม่. พระ​เยซู​กล่าว​ถึง​เรื่อง​นี้​ใน​คราว​ที่​พระองค์​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​และ​ตรัส​ว่า “ถ้วย​นี้​หมาย​ถึง​สัญญา​ไมตรี​ใหม่​โดย​อาศัย​โลหิต​ของ​เรา ซึ่ง​จะ​ต้อง​ถูก​หลั่ง​ออก​เพื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย.” (ลูกา 22:20, ล.ม.) สอง​ฝ่าย​ที่​ทำ​สัญญา​ไมตรี​ใหม่​กัน​คือ​พระเจ้า​และ​เหล่า​ผู้​ถูก​เจิม. (ยิระมะยา 31:31-34; เฮ็บราย 12:22-24) พระ​เยซู​เป็น​ผู้​กลาง. เนื่อง​จาก​พระ​โลหิต​ที่​หลั่ง​ออก​ของ​พระ​คริสต์​ทำ​ให้​สัญญา​ไมตรี​ใหม่​นี้​มี​ผล สัญญา​ไมตรี​ใหม่​จึง​ไม่​เพียง​แต่​นำ​ผู้​คน​ออก​มา​จาก​ชาว​ยิว แต่​ออก​มา​จาก​ชาติ​ต่าง ๆ ด้วย เพื่อ​ให้​เป็น​ประชาชน​สำหรับ​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​เป็น​ส่วน​แห่ง “พงศ์พันธุ์” ของ​อับราฮาม. (ฆะลาเตีย 3:26-29; กิจการ 15:14) “สัญญา​ไมตรี​นิรันดร์” นี้​เปิด​ทาง​ให้​อิสราเอล​ฝ่าย​วิญญาณ​ทุก​คน​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​สู่​ชีวิต​อมตะ​ใน​สวรรค์.—เฮ็บราย 13:20.

20. ผู้​ถูก​เจิม​ถูก​นำ​เข้า​สู่​สัญญา​ไมตรี​อะไร​กับ​พระ​คริสต์?

20 พวก​ผู้​ถูก​เจิม​มั่น​ใจ​ใน​ความ​หวัง​ของ​พวก​เขา. พวก​เขา​ถูก​นำ​เข้า​สู่​สัญญา​ไมตรี​อีก​อย่าง​หนึ่ง คือ​สัญญา​ไมตรี​เรื่อง​ราชอาณาจักร. เกี่ยว​กับ​การ​มี​ส่วน​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์ พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​เป็น​ผู้​ที่​ได้​ติด​สนิท​กับ​เรา​ใน​เวลา​ที่​เรา​ถูก​ทดลอง; และ​เรา​ทำ​สัญญา​ไมตรี​กับ​เจ้า​ทั้ง​หลาย เช่น​เดียว​กับ​พระ​บิดา​ของ​เรา​ได้​ทำ​สัญญา​ไมตรี​กับ​เรา ใน​เรื่อง​ราชอาณาจักร.” (ลูกา 22:28-30, ล.ม.) สัญญา​ไมตรี​ระหว่าง​พระ​คริสต์​กับ​บรรดา​ผู้​เป็น​กษัตริย์​สมทบ​กับ​พระองค์​นี้​มี​ผล​ตลอด​กาล.—วิวรณ์ 22:5.

ช่วง​การ​ประชุม​อนุสรณ์—วาระ​ที่​น่า​ยินดี

21. เรา​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​มาก​ขึ้น​จาก​ช่วง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​โดย​วิธี​ใด?

21 มี​เหตุ​การณ์​อัน​น่า​ยินดี​หลาย​อย่าง​ใน​ช่วง​การ​ประชุม​อนุสรณ์. เรา​สามารถ​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​ที่​กำหนด​ให้​อ่าน​สำหรับ​ช่วง​เวลา​นั้น. ช่วง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ยัง​เป็น​โอกาส​ที่​ดี​ยิ่ง​สำหรับ​การ​อธิษฐาน, การ​คิด​รำพึง​ถึง​ชีวิต​ทาง​แผ่นดิน​โลก​ของ​พระ​เยซู​และ​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์, อีก​ทั้ง​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร. (บทเพลง​สรรเสริญ 77:12; ฟิลิปปอย 4:6, 7) การ​ประชุม​อนุสรณ์​เอง​ยัง​ทำ​ให้​เรา​ระลึก​ถึง​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์​ที่​ทรง​สำแดง​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16) การ​จัด​เตรียม​นี้​ให้​ความ​หวัง​และ​การ​ชู​ใจ​แก่​เรา และ​ควร​จะ​เสริม​ความ​ตั้งใจ​ของ​เรา​ที่​จะ​ติด​ตาม​แนว​ทาง​อย่าง​พระ​คริสต์. (เอ็กโซโด 34:6; เฮ็บราย 12:3) นอก​จาก​นั้น การ​ประชุม​อนุสรณ์​ควร​จะ​เสริม​กำลัง​ให้​เรา​ทำ​ตาม​ที่​เรา​ได้​อุทิศ​ตัว​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า และ​เป็น​สาวก​ที่​ภักดี​ต่อ​พระ​บุตร​ที่​รัก​ของ​พระองค์.

22. อะไร​คือ​ของ​ประทาน​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​ที่​สุด​ที่​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​แก่​มนุษยชาติ และ​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​แสดง​ความ​สำนึก​ใน​บุญคุณ​ต่อ​ของ​ประทาน​นั้น​คือ​อะไร?

22 ของ​ประทาน​จาก​พระ​ยะโฮวา​ช่าง​ดี​สัก​เพียง​ไร! (ยาโกโบ 1:17) เรา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​คำ​ของ​พระองค์, ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์, และ​ความ​หวัง​ใน​เรื่อง​ชีวิต​นิรันดร์. ของ​ประทาน​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​ที่​สุด​ของ​พระเจ้า​คือ​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​เยซู​สำหรับ​ไถ่​บาป​ของ​เหล่า​ผู้​ถูก​เจิม​และ​คน​อื่น ๆ ทุก​คน​ที่​แสดง​ความ​เชื่อ. (1 โยฮัน 2:1, 2) ดัง​นั้น​แล้ว การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​มี​ความหมาย​ต่อ​คุณ​มาก​แค่​ไหน? คุณ​จะ​อยู่​ท่ามกลาง​คน​เหล่า​นั้น​ที่​แสดง​ความ​สำนึก​ใน​บุญคุณ​ต่อ​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​โดย​เข้า​ร่วม​ประชุม​กัน​หลัง​ดวง​อาทิตย์​ตก​ใน​วัน​ที่ 16 เมษายน 2003 เพื่อ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไหม?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ตอน​นี้​ไม่​ได้​พิมพ์​แล้ว.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• ใคร​ควร​รับประทาน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ใน​การ​ประชุม​อนุสรณ์?

• เหตุ​ใด “แกะ​อื่น” จึง​เข้า​ร่วม​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ใน​ฐานะ​ผู้​สังเกตการณ์​ที่​ให้​ความ​นับถือ​เท่า​นั้น?

• คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​พวก​เขา​ควร​รับประทาน​ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น​ใน​การ​ประชุม​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์?

• ช่วง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เป็น​โอกาส​ที่​ดี​สำหรับ​อะไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 18]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ผู้​ร่วม​ประชุม​อนุสรณ์

ล้าน​คน

15,597,746

15

14

13,147,201

13

12

11

10

9

8

7

6

5

4,925,643

4

3

2

1

878,303

63,146

1935 1955 1975 1995 2002

[แผนภูมิ​หน้า 18]

คุณ​จะ​ร่วม​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ใน​ปี​นี้​ไหม?

[ภาพ​หน้า 21]

ช่วง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เป็น​โอกาส​ที่​ดี​สำหรับ​การ​อ่าน​พระ​คัมภีร์​มาก​ขึ้น​และ​เข้า​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร