ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พวกเขามีชัยต่อการข่มเหง

พวกเขามีชัยต่อการข่มเหง

พวก​เขา​มี​ชัย​ต่อ​การ​ข่มเหง

ฟรีดา เยสส์​เกิด​เมื่อ​ปี 1911 ใน​เดนมาร์ก จาก​ที่​นั่น​เธอ​กับ​บิดา​มารดา​ได้​ย้าย​ไป​ที่​เมือง​ฮู​ซุม​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​เยอรมนี. หลาย​ปี​ต่อ​มา​เธอ​ได้​ทำ​งาน​ใน​เมือง​มักเดบูร์ก และ​ใน​ปี 1930 เธอ​ได้​รับ​บัพติสมา​เป็น​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อัน​เป็น​ชื่อ​เรียก​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ตอน​นั้น. ฮิตเลอร์​ได้​เถลิง​อำนาจ​ใน​ปี 1933 และ​สำหรับ​ฟรีดา​แล้ว​เหตุ​การณ์​นี้​เป็น​การ​เริ่ม​ต้น​ช่วง​เวลา 23 ปี​ที่​เธอ​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​เลว​ร้าย​โดย​น้ำ​มือ​ของ​รัฐบาล​ระบอบ​เผด็จการ​ไม่​ใช่​แบบ​เดียว แต่​สอง​แบบ.

ใน​เดือน​มีนาคม 1933 รัฐบาล​เยอรมัน​ได้​ออก​คำ​สั่ง​ให้​มี​การ​เลือก​ตั้ง​ทั่ว​ไป. ดร. เดทเลฟ การ์เบ หัวหน้า​พิพิธภัณฑ์​อนุสรณ์​ค่าย​กัก​กัน​นอยเอนกัมเม​ที่​อยู่​ใกล้​เมือง​ฮัมบูร์ก​อธิบาย​ว่า “พรรค​สังคม​นิยม​แห่ง​ชาติ​ต้องการ​บีบ​บังคับ​ให้​คน​ส่วน​ใหญ่​สนับสนุน​อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อัคร​มหา​เสนาบดี​และ​ผู้​นำ​ของ​พวก​เขา.” พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​เตือน​ของ​พระ​เยซู​ที่​ให้​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​ทาง​การ​เมือง​และ “ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก” ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​ไม่​ลง​คะแนน​เสียง. ผล​เป็น​เช่น​ไร? พวก​พยาน​ฯ ถูก​สั่ง​ห้าม.—โยฮัน 17:16, ล.ม.

ฟรีดา​ทำ​กิจกรรม​คริสเตียน​ของ​เธอ​ต่อ​ไป​อย่าง​ลับ ๆ ถึง​กับ​ช่วย​พิมพ์​วารสาร​หอสังเกตการณ์. เธอ​กล่าว​ว่า “มี​การ​ลอบ​นำ​วารสาร​บาง​เล่ม​เข้า​ไป​ใน​ค่าย​กัก​กัน​สำหรับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ของ​เรา.” เธอ​ถูก​จับ​กุม​ใน​ปี 1940 และ​ถูก​หน่วย​ตำรวจ​เกสตาโป​สอบสวน หลัง​จาก​นั้น​เธอ​ถูก​ขัง​เดี่ยว​เป็น​เวลา​หลาย​เดือน. เธอ​อด​ทน​ได้​อย่าง​ไร? เธอ​กล่าว​ว่า “การ​อธิษฐาน​เป็น​ที่​พึ่ง​สำหรับ​ดิฉัน. ดิฉัน​เริ่ม​อธิษฐาน​ตอน​เช้า​ตรู่​และ​อธิษฐาน​วัน​ละ​หลาย​ครั้ง. การ​อธิษฐาน​ทำ​ให้​ดิฉัน​มี​กำลัง​และ​ช่วย​ไม่​ให้​กระวนกระวาย​จน​เกิน​ไป.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7.

ฟรีดา​ถูก​ปล่อย​ตัว แต่​ใน​ปี 1944 หน่วย​ตำรวจ​เกสตาโป​จับ​เธอ​อีก. คราว​นี้​เธอ​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​เจ็ด​ปี​ใน​คุก​วัลด์ไฮม์. ฟรีดา​เล่า​ต่อ​ไป​ว่า “ผู้​คุม​ได้​จัด​ให้​ดิฉัน​ทำ​งาน​กับ​ผู้​หญิง​อื่น​บาง​คน​ใน​ห้อง​น้ำ. บ่อย​ครั้ง​ดิฉัน​ได้​อยู่​กับ​เพื่อน​นัก​โทษ​คน​หนึ่ง​จาก​เชโกสโลวะเกีย ดัง​นั้น ดิฉัน​จึง​พูด​คุย​กับ​เธอ​มาก​มาย​ใน​เรื่อง​พระ​ยะโฮวา​และ​ความ​เชื่อ​ของ​ดิฉัน. การ​สนทนา​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​ดิฉัน​เข้มแข็ง​อยู่​ต่อ​ไป.”

ถูก​ปล่อย​ตัว​แต่​ก็​ไม่​นาน

กองทัพ​โซเวียต​ได้​ทำ​การ​ปลด​ปล่อย​นัก​โทษ​ที่​คุก​วัลด์ไฮม์​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1945 และ​ฟรีดา​ถูก​ปล่อย​ตัว​กลับ​เมือง​มักเดบูร์ก​และ​กลับ​ไป​ทำ​งาน​เผยแพร่​อย่าง​เปิด​เผย แต่​ก็​ทำ​ได้​ไม่​นาน. พวก​พยาน​ฯ กลาย​เป็น​เป้า​สำหรับ​การ​เลือก​ที่​รัก​มัก​ที่​ชัง​อีก​ครั้ง คราว​นี้​โดย​พวก​ผู้​มี​อำนาจ​ใน​เขต​ยึด​ครอง​ของ​โซเวียต. เกรัลท์ ฮัคเค​แห่ง​สถาบัน​ฮันนาห์-อะเรนต์​เพื่อ​การ​วิจัย​ระบอบ​การ​ปกครอง​แบบ​เผด็จการ​เขียน​ว่า “พยาน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​ทาง​สังคม​ไม่กี่​กลุ่ม​ที่​ถูก​ข่มเหง​แทบ​จะ​ไม่​หยุดหย่อน​จาก​ระบอบ​เผด็จการ​ทั้ง​สอง​แบบ​ใน​เยอรมนี.”

ทำไม​จึง​เกิด​การ​เลือก​ที่​รัก​มัก​ที่​ชัง​ขึ้น​มา​อีก? อีก​ครั้ง​หนึ่ง ประเด็น​สำคัญ​คือ​ความ​เป็น​กลาง​แบบ​คริสเตียน. ใน​ปี 1948 เยอรมนี​ตะวัน​ออก​ได้​จัด​ให้​มี​การ​ลง​คะแนน​เสียง​ของ​ประชาชน​โดย​ตรง และ​ดัง​ที่​ฮัคเค​ชี้​แจง “สาเหตุ​พื้น​ฐาน [ของ​การ​ข่มเหง​พยาน​พระ​ยะโฮวา] คือ​การ​ที่​พวก​เขา​ไม่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ลง​คะแนน​เสียง​นั้น.” ในเดือน​สิงหาคม 1950 พยาน​พระ​ยะโฮวา​ถูก​สั่ง​ห้าม​ใน​เยอรมนี​ตะวัน​ออก. หลาย​ร้อย​คน​ถูก​จับ​กุม รวม​ทั้ง​ฟรีดา​ด้วย.

ฟรีดา​กลับ​ไป​ขึ้น​ศาล​อีก​และ​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​หก​ปี. “คราว​นี้​ดิฉัน​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ และ​การ​อยู่​ร่วม​กัน​เช่น​นั้น​ช่วย​ได้​มาก​จริง ๆ.” เมื่อ​ถูก​ปล่อย​ตัว​ใน​ปี 1956 เธอ​ย้าย​ไป​เยอรมนี​ตะวัน​ตก. ปัจจุบัน​ด้วย​วัย 90 ปี ฟรีดา​อยู่​ใน​เมือง​ฮู​ซุม ยัง​คง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​อยู่.

ฟรีดา​ประสบ​การ​ข่มเหง 23 ปี​ภาย​ใต้​ระบอบ​เผด็จการ​สอง​แบบ. “พวก​นาซี​พยายาม​ทำลาย​ดิฉัน​ทาง​กาย; พวก​คอมมิวนิสต์​พยายาม​ทำลาย​น้ำใจ​ดิฉัน. ดิฉัน​ได้​กำลัง​จาก​ที่​ไหน? นิสัย​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ดี​ขณะ​มี​เสรีภาพ, การ​อธิษฐาน​ไม่​ละลด​ตอน​ที่​อยู่​โดด​เดี่ยว, การ​คบหา​สมาคม​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​เป็น​ไป​ได้, และ​การ​แบ่ง​ปัน​ความ​เชื่อ​ของ​ดิฉัน​ให้​แก่​คน​อื่น​ใน​ทุก​โอกาส.”

ลัทธิ​ฟาสซิสต์​ใน​ฮังการี

อีก​ประเทศ​หนึ่ง​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​อด​ทน​การ​เลือก​ที่​รัก​มัก​ที่​ชัง​มา​เป็น​เวลา​หลาย​สิบ​ปี​ก็​คือ​ฮังการี. บาง​คน​ได้​ประสบ​การ​ข่มเหง​จาก​ระบอบ​การ​ปกครอง​แบบ​เผด็จการ​ไม่​ใช่​สอง​แบบ​เท่า​นั้น แต่​ถึง​สาม​แบบ. ตัว​อย่าง​หนึ่ง​คือ​อาดัม ซิงเงอร์. อาดัม​เกิด​ใน​เมือง​ปาคช์ ฮังการี เมื่อ​ปี 1922 และ​ได้​รับ​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​ให้​เป็น​โปรเตสแตนต์. ใน​ปี 1937 นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​คน​ได้​มา​เยี่ยม​บ้าน​ของ​อาดัม และ​เขา​แสดง​ความ​สนใจ​ใน​ข่าวสาร​ของ​พวก​เขา​ทันที. สิ่ง​ที่​เขา​ได้​เรียน​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​เขา​มั่น​ใจ​ว่า​คำ​สอน​ของ​คริสตจักร​ที่​เขา​สังกัด​อยู่​ไม่​ได้​สอดคล้อง​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล. ดัง​นั้น เขา​จึง​ลา​ออก​จาก​คริสตจักร​โปรเตสแตนต์​แล้ว​เข้า​ร่วม​กับ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​งาน​เผยแพร่​แก่​สาธารณชน.

ลัทธิ​ฟาสซิสต์​มี​อิทธิพล​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​ฮังการี. หลาย​ครั้ง​พวก​ตำรวจ​จับตา​มอง​อาดัม​ขณะ​เผยแพร่​ตาม​บ้าน​แล้ว​จับ​ตัว​เขา​มา​สอบ​ปากคำ. ความ​กดดัน​ต่อ​พวก​พยาน​ฯ ทวี​ความ​รุนแรง​มาก​ขึ้น และ​ใน​ปี 1939 กิจการ​งาน​ของ​พวก​เขา​ถูก​สั่ง​ห้าม. ใน​ปี 1942 อาดัม​ถูก​จับ​กุม, ถูก​จำ​คุก, แล้ว​ถูก​ตี​อย่าง​รุนแรง. อะไร​ได้​ช่วย​เขา​ตอน​อายุ 19 ปี​ให้​อด​ทน​ความ​ทุกข์​และ​การ​อยู่​ใน​คุก​หลาย​เดือน? “ขณะ​ยัง​อยู่​ที่​บ้าน ผม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ถี่ถ้วน​และ​ได้​รับ​ความ​เข้าใจ​ที่​ถูก​ต้อง​เกี่ยว​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา.” กว่า​ที่​อาดัม​จะ​ได้​รับ​บัพติสมา​เป็น​พยาน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ที่​สุด ก็​หลัง​จาก​ถูก​ปล่อย​ตัว​ออก​จาก​คุก​แล้ว. เขา​รับ​บัพติสมา​ท่ามกลาง​ความ​มืด​ยาม​ราตรี​ใน​เดือน​สิงหาคม 1942 ใน​แม่น้ำ​ที่​อยู่​ใกล้​บ้าน​ของ​เขา.

คุก​ใน​ฮังการี ค่าย​แรงงาน​ใน​เซอร์เบีย

ช่วง​เวลา​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง ฮังการี​ได้​เข้า​ร่วม​กับ​เยอรมนี​ใน​การ​ต่อ​สู้​กับ​สหภาพ​โซเวียต และ​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​ของ​ปี 1942 อาดัม​ถูก​เกณฑ์​ให้​รับ​ราชการ​ทหาร. เขา​รายงาน​ว่า “ผม​กล่าว​ว่า​ผม​ไม่​สามารถ​รับ​ราชการ​ใน​กองทัพ​ได้​เนื่อง​จาก​สิ่ง​ที่​ผม​ได้​เรียน​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล. ผม​อธิบาย​ฐานะ​ที่​เป็น​กลาง​ของ​ผม.” เขา​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก 11 ปี. แต่​อาดัม​อยู่​ใน​ฮังการี​ไม่​นาน.

ใน​ปี 1943 พยาน​พระ​ยะโฮวา​ราว ๆ 160 คน​ถูก​พา​มา​รวม​กัน​แล้ว​บรรทุก​เรือ​ล่อง​ไป​ตาม​แม่น้ำ​ดานูบ​ถึง​เซอร์เบีย. อาดัม​เป็น​หนึ่ง​ใน​คน​เหล่า​นั้น. ใน​เซอร์เบีย​นัก​โทษ​เหล่า​นี้​มา​อยู่​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​ฮิตเลอร์​แห่ง​จักรวรรดิ​ไรช์​ที่​สาม. พวก​เขา​ถูก​กัก​ตัว​อยู่​ใน​ค่าย​แรงงาน​ที่​เมือง​บอร์​แล้ว​ถูก​บังคับ​ให้​ทำ​งาน​ใน​เหมือง​ทองแดง. ประมาณ​หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา พวก​เขา​ถูก​ส่ง​กลับ​ไป​ฮังการี ที่​นั่น​อาดัม​ได้​รับ​การ​ปลด​ปล่อย​โดย​กองทัพ​โซเวียต​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ปี 1945.

ฮังการี​ภาย​ใต้​อำนาจ​ควบคุม​ของ​คอมมิวนิสต์

แต่​เสรีภาพ​มี​อยู่​ไม่​นาน. พอ​ถึง​ปลาย​ทศวรรษ 1940 ผู้​มี​อำนาจ​ฝ่าย​คอมมิวนิสต์​ใน​ฮังการี​ได้​จำกัด​กิจการ​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา เช่น​เดียว​กับ​ที่​พวก​ฟาสซิสต์​ได้​ทำ​ก่อน​สงคราม. ใน​ปี 1952 อาดัม​ซึ่ง​ตอน​นั้น​อายุ 29 ปี แต่งงาน​แล้ว​พร้อม​กับ​มี​บุตร​สอง​คน ได้​ถูก​จับ​กุม​และ​ถูก​กล่าวหาว่า​มี​ความ​ผิด​เมื่อ​เขา​ปฏิเสธ​การ​รับ​ราชการ​ทหาร​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. อาดัม​ชี้​แจง​ต่อ​ศาล​ว่า “นี่​ไม่​ใช่​ครั้ง​แรก​ที่​ผม​ปฏิเสธ​การ​รับ​ราชการ​ทหาร. ระหว่าง​ช่วง​สงคราม ผม​ถูก​จำ​คุก​และ​ถูก​เนรเทศ​ไป​เซอร์เบีย​เนื่อง​ด้วย​เหตุ​ผล​เดียว​กัน. ผม​ปฏิเสธ​ที่​จะ​เข้า​ร่วม​กับ​กองทัพ​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ผม. ผม​เป็น​พยาน​ของ​พระ​ยะโฮวา และ​ผม​เป็น​กลาง​ทาง​การ​เมือง.” อาดัม​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​แปด​ปี ภาย​หลัง​ถูก​ลด​โทษ​เหลือ​สี่​ปี.

อาดัม​ยัง​คง​ประสบ​การ​เลือก​ที่​รัก​มัก​ที่​ชัง​ต่อ​ไป​จน​กระทั่ง​กลาง​ทศวรรษ 1970 เป็น​เวลา​มาก​กว่า 35 ปี​หลัง​จาก​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​เยี่ยม​ที่​บ้าน​บิดา​มารดา​ของ​เขา​ครั้ง​แรก. ตลอด​ช่วง​เวลา​ดัง​กล่าว​นี้ หก​ศาล​ได้​ตัดสิน​ให้​กัก​ขัง​เขา​รวม 23 ปี ถูก​จำ​ขัง​ใน​คุก​และ​ใน​ค่าย​ต่าง ๆ อย่าง​น้อย​สิบ​แห่ง. เขา​อด​ทน​การ​ข่มเหง​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​สาม​แบบ คือ​ระบอบ​ฟาสซิสต์​ใน​ฮังการี​ก่อน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง, ระบอบ​สังคม​นิยม​แห่ง​ชาติ​เยอรมัน​ใน​เซอร์เบีย, และ​ระบอบ​คอมมิวนิสต์​ใน​ฮังการี​ระหว่าง​ช่วง​สงคราม​เย็น.

อาดัม​ยัง​อยู่​ใน​บ้าน​เกิด​ของ​เขา​ที่​เมือง​ปาคช์ รับใช้​พระเจ้า​อย่าง​ภักดี. เขา​มี​ความ​เก่ง​กาจ​เป็น​พิเศษ​ไหม​ซึ่ง​ทำ​ให้​เขา​สามารถ​อด​ทน​ความ​ยาก​ลำบาก​อย่าง​มี​ชัย​เช่น​นั้น? เปล่า​เลย. เขา​ชี้​แจง​ดัง​นี้:

“การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล, การ​อธิษฐาน, และ​การ​คบหา​สมาคม​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ยิ่ง. แต่​ผม​อยาก​จะ​เน้น​อีก​สอง​สิ่ง. ประการ​แรก​คือ พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​แหล่ง​แห่ง​กำลัง. สัมพันธภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์​เป็น​เหมือน​เชือก​ชูชีพ​สำหรับ​ผม. และ​ประการ​ที่​สอง ผม​ระลึก​ถึง​โรม​บท 12 เสมอ​ซึ่ง​บอก​ว่า ‘อย่า​ทำ​การ​แก้แค้น.’ ดัง​นั้น ผม​ไม่​เคย​อาฆาต​แค้น. หลาย​ครั้ง​ผม​มี​โอกาส​ที่​จะ​แก้แค้น​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​ข่มเหง​ผม แต่​ผม​ก็​ไม่​เคย​ทำ. เรา​ไม่​ควร​ใช้​กำลัง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​ให้​เรา​ใน​การ​ตอบ​แทน​การ​ชั่ว​ด้วย​การ​ชั่ว.”

อวสาน​สำหรับ​การ​ข่มเหง​ทั้ง​สิ้น

ปัจจุบัน​ฟรีดา​กับ​อาดัม​สามารถ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ได้​โดย​ปราศจาก​การ​ขัด​ขวาง. แต่​ประสบการณ์​ดัง​กล่าว​ของ​คน​ทั้ง​สอง​เผย​ให้​เห็น​อะไร​เกี่ยว​กับ​การ​ข่มเหง​ทาง​ศาสนา? การ​ข่มเหง​เช่น​นั้น​ไม่​ประสบ​ผล​สำเร็จ อย่าง​น้อย​เมื่อ​ข่มเหง​คริสเตียน​แท้. ถึง​แม้​การ​ข่มเหง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้​สูญ​เสีย​ทรัพยากร​ไป​มาก​มาย​และ​ก่อ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ที่​ทารุณ​ก็​ตาม การ​ข่มเหง​นั้น​ไม่​สามารถ​บรรลุ​จุด​ประสงค์. ปัจจุบัน พยาน​พระ​ยะโฮวา​กำลัง​เฟื่องฟู​อยู่​ใน​ยุโรป​ซึ่ง​ระบอบ​เผด็จการ​สอง​แบบ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​เคย​ปกครอง​อยู่.

พวก​พยาน​ฯ แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ข่มเหง? ดัง​ที่​เรื่อง​ราว​ของ​ฟรีดา​และ​อาดัม​แสดง​ให้​เห็น คน​ทั้ง​สอง​เอา​คำ​แนะ​นำ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​ใช้​ที่​ว่า “อย่า​ให้​ความ​ชั่ว​มี​ชัย​แก่​ตัว แต่​จง​เอา​ชนะ​ความ​ชั่ว​ด้วย​ความ​ดี​ต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:21, ล.ม.) ความ​ดี​สามารถ​เอา​ชนะ​ความ​ชั่ว​ได้​จริง ๆ ไหม? ใช่​แล้ว เมื่อ​ความ​ดี​นั้น​เกิด​จาก​ความ​เชื่อ​อย่าง​มั่นคง​ใน​พระเจ้า. ชัย​ชนะ​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เหนือ​การ​ข่มเหง​ใน​ยุโรป​เป็น​ชัย​ชนะ​แห่ง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า เป็น​การ​พิสูจน์​ให้​เห็น​พลัง​ใน​ทาง​ดี​ที่​เป็น​ผล​มา​จาก​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ก่อ​ขึ้น​ใน​ตัว​คริสเตียน​ที่​มี​ใจ​ถ่อม. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้​ที่​เต็ม​ด้วย​ความ​รุนแรง นั่น​เป็น​บทเรียน​ที่​ทุก​คน​สามารถ​คำนึง​ถึง​อย่าง​จริงจัง.

[ภาพ​หน้า 5]

ฟรีดา เยสส์ (ปัจจุบัน​คือ ที​เล) ตอน​ที่​ถูก​จับ​กุม​และ​ใน​ปัจจุบัน

[ภาพ​หน้า 7]

อาดัม ซิงเงอร์​ตอน​ที่​ถูก​จำ​คุก​และ​ใน​ปัจจุบัน