ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คริสเตียนยุคแรกกับพระบัญญัติของโมเซ

คริสเตียนยุคแรกกับพระบัญญัติของโมเซ

คริสเตียน​ยุค​แรก​กับ​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ

“พระ​บัญญัติ​จึง​เป็น​พี่​เลี้ยง​ซึ่ง​นำ​ไป​ถึง​พระ​คริสต์.”—ฆะลาเตีย 3:24, ล.ม.

1, 2. ชาว​อิสราเอล​ที่​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​อย่าง​ถี่ถ้วน​ได้​ประโยชน์​อะไร​บ้าง?

ใน​ปี 1513 ก่อน ส.ศ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​ประมวล​กฎหมาย​แก่​ชาว​อิสราเอล. พระองค์​บอก​ชน​เหล่า​นั้น​ว่า​ถ้า​พวก​เขา​เชื่อ​ฟัง​พระ​สุรเสียง​ของ​พระองค์ พระองค์​จะ​ประทาน​บำเหน็จ และ​พวก​เขา​จะ​มี​ชีวิต​ที่​มี​ความ​สุข​และ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ.—เอ็กโซโด 19:5, 6.

2 ประมวล​กฎหมาย​ดัง​กล่าว ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​หรือ​เรียก​สั้น ๆ ว่า “พระ​บัญญัติ” นั้น “บริสุทธิ์ ยุติธรรม และ​ดี.” (โรม 7:12) พระ​บัญญัติ​ส่ง​เสริม​คุณ​ความ​ดี อย่าง​เช่น ความ​กรุณา, ความ​ซื่อ​สัตย์, ความ​มี​ศีลธรรม, และ​การ​มี​ไมตรี​จิต​ต่อ​เพื่อน​บ้าน. (เอ็กโซโด 23:4, 5; เลวีติโก 19:14; พระ​บัญญัติ 15:13-15; 22:10, 22) พระ​บัญญัติ​ยัง​กระตุ้น​ให้​ชาว​ยิว​มี​ความ​รัก​ต่อ​กัน​และ​กัน​ด้วย. (เลวีติโก 19:18) ยิ่ง​กว่า​นั้น พวก​เขา​จะ​ต้อง​ไม่​เข้า​ไป​คบหา​ใกล้​ชิด​กับ​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​อยู่​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ หรือ​รับ​คน​เหล่า​นั้น​มา​เป็น​ภรรยา. (พระ​บัญญัติ 7:3, 4) พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​เป็น​เหมือน “กำแพง” ที่​กั้น​ระหว่าง​ชาว​ยิว​กับ​คน​ต่าง​ชาติ ป้องกัน​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ไม่​ให้​แปดเปื้อน​ด้วย​ความ​คิด​หรือ​กิจ​ปฏิบัติ​ของ​พวก​นอก​รีต.—เอเฟโซ 2:14, 15, ฉบับ​แปล​ใหม่; โยฮัน 18:28.

3. เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ใคร​สามารถ​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน ถ้า​อย่าง​นั้น​จะ​มี​พระ​บัญญัติ​ไว้​เพื่อ​อะไร?

3 อย่าง​ไร​ก็​ตาม แม้​แต่​ชาว​ยิว​ที่​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​อย่าง​เคร่งครัด​ที่​สุด​ก็​ไม่​อาจ​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน. พระ​ยะโฮวา​คาด​หมาย​จาก​พวก​เขา​มาก​เกิน​ไป​ไหม? ไม่​เลย. เหตุ​ผล​ประการ​หนึ่ง​ที่​มี​การ​ประทาน​พระ​บัญญัติ​แก่​ชาติ​อิสราเอล​คือ “เพื่อ​ทำ​ให้​การ​ล่วง​ละเมิด​ปรากฏ​ชัด.” (ฆะลาเตีย 3:19, ล.ม.) พระ​บัญญัติ​ทำ​ให้​ชาว​ยิว​ที่​จริง​ใจ​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ต้อง​มี​ผู้​ช่วย​ให้​รอด. ครั้น​พระองค์​มา ชาว​ยิว​ที่​ซื่อ​สัตย์​ก็​ชื่นชม​ยินดี. การ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รอด​พ้น​จาก​ผล​กระทบ​อัน​เลว​ร้าย​เนื่อง​จาก​บาป​และ​ความ​ตาย​มา​ใกล้​แล้ว!—โยฮัน 1:29.

4. ใน​ความหมาย​ใด​ที่​ว่า​พระ​บัญญัติ​เป็น “พี่​เลี้ยง​ซึ่ง​นำ​ไป​ถึง​พระ​คริสต์”?

4 พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​มี​จุด​มุ่ง​หมาย​ให้​เป็น​การ​จัด​เตรียม​ชั่ว​คราว. ใน​จดหมาย​ที่​เขียน​ถึง​เพื่อน​คริสเตียน อัครสาวก​เปาโล​อธิบาย​ว่า​พระ​บัญญัติ​เป็น “พี่​เลี้ยง​ซึ่ง​นำ​ไป​ถึง​พระ​คริสต์.” (ฆะลาเตีย 3:24, ล.ม.) ใน​สมัย​โบราณ พี่​เลี้ยง​พา​เด็ก ๆ ไป​และ​กลับ​จาก​โรง​เรียน. ตาม​ปกติ​แล้ว เขา​ไม่​ได้​เป็น​ครู เขา​เพียง​แต่​นำ​เด็ก ๆ ไป​หา​ครู. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน บัญญัติ​ของ​โมเซ​มี​ไว้​เพื่อ​นำ​ชาว​ยิว​ผู้​เกรง​กลัว​พระเจ้า​ไป​หา​พระ​คริสต์. พระ​เยซู​ทรง​สัญญา​ว่า​พระองค์​จะ​อยู่​กับ​สาวก​ของ​พระองค์ “เสมอ​จน​กระทั่ง​ช่วง​อวสาน​แห่ง​ระบบ.” (มัดธาย 28:20, ล.ม.) เพราะ​ฉะนั้น เมื่อ​มี​การ​ก่อ​ตั้ง​ประชาคม​คริสเตียน​แล้ว “พี่​เลี้ยง” หรือ​พระ​บัญญัติ จึง​ไม่​มี​ประโยชน์​อีก​ต่อ​ไป. (โรม 10:4; ฆะลาเตีย 3:25) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​ไม่​ได้​เข้าใจ​ความ​จริง​อัน​สำคัญ​ข้อ​นี้​ใน​ทันที. ผล​คือ พวก​เขา​ยัง​คง​ปฏิบัติ​ตาม​ข้อ​เรียก​ร้อง​บาง​อย่าง​ของ​พระ​บัญญัติ​อยู่​ต่อ​ไป​แม้​หลัง​จาก​พระ​เยซู​คืน​พระ​ชนม์​แล้ว. แต่​คน​อื่น ๆ ได้​ปรับ​ความ​คิด​ของ​ตน. โดย​การ​ทำ​เช่น​นั้น พวก​เขา​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ไว้​สำหรับ​พวก​เรา​ใน​ปัจจุบัน. ให้​เรา​มา​ดู​กัน​ว่า​เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร.

ความ​ก้าว​หน้า​ที่​น่า​ตื่นเต้น​ใน​หลัก​คำ​สอน​คริสเตียน

5. เปโตร​ได้​รับ​คำ​สั่ง​อะไร​ใน​นิมิต และ​เพราะ​เหตุ​ใด​ท่าน​จึง​ตกตะลึง?

5 ใน​ปี ส.ศ. 36 คริสเตียน​อัครสาวก​เปโตร​ได้​รับ​นิมิต​อย่าง​หนึ่ง​ที่​น่า​พิศวง. ใน​ครั้ง​นั้น มี​พระ​สุรเสียง​จาก​สวรรค์​สั่ง​ให้​ท่าน​ฆ่า​และ​กิน​นก​และ​สัตว์​ต่าง ๆ ที่​ถือ​ว่า​ไม่​สะอาด​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ. เปโตร​ตกตะลึง! ท่าน​ไม่​เคย ‘รับประทาน​สิ่ง​ซึ่ง​เป็น​ของ​ห้าม​หรือ​ของ​มลทิน​เลย.’ แต่​พระ​สุรเสียง​นั้น​บอก​ท่าน​ว่า “ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ทรง​ชำระ​แล้ว อย่า​ว่า​เป็น​ของ​ห้าม.” (กิจการ 10:9-15) แทน​ที่​จะ​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​พระ​บัญญัติ​อย่าง​เหนียวแน่น เปโตร​ปรับ​ความ​คิด​ของ​ท่าน. นี่​นำ​ท่าน​ไป​สู่​การ​ได้​รับ​ความ​เข้าใจ​ที่​น่า​ประหลาด​ใจ​อย่าง​ยิ่ง​เกี่ยว​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า.

6, 7. อะไร​ทำ​ให้​เปโตร​ลง​ความ​เห็น​ได้​ว่า​บัด​นี้​ท่าน​สามารถ​ประกาศ​กับ​คน​ต่าง​ชาติ และ​ดู​เหมือน​ว่า​ท่าน​ได้​ข้อ​สรุป​อะไร​อีก​ด้วย?

6 นี่​คือ​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น. มี​ชาย​สาม​คน​ไป​หา​เปโตร​ที่​บ้าน​ซึ่ง​ท่าน​พัก​อาศัย ขอ​ท่าน​ให้​ไป​กับ​พวก​เขา​ยัง​บ้าน​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต​ผู้​เกรง​กลัว​พระเจ้า​ชื่อ​โกระเนเลียว. เปโตร​เชิญ​คน​ทั้ง​สาม​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​และ​ให้​การ​ต้อนรับ. เนื่อง​จาก​เข้าใจ​ความหมาย​ของ​นิมิต​นี้ เปโตร​จึง​ไป​กับ​พวก​เขา​ยัง​บ้าน​ของ​โกระเนเลียว​ใน​วัน​รุ่ง​ขึ้น. ที่​นั่น​เปโตร​ได้​ให้​คำ​พยาน​อย่าง​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู​คริสต์. ใน​คราว​นั้น เปโตร​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​เห็น​จริง​แล้ว​ว่า​พระเจ้า​ไม่​ทรง​เลือก​หน้า​ผู้​ใด แต่​ชาว​ชน​ใน​ประเทศ​ใด ๆ ที่​เกรง​กลัว​พระองค์​และ​ประพฤติ​ใน​ทาง​ชอบธรรม​ก็​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​พระองค์.” ไม่​เพียง​แต่​โกระเนเลียว​เท่า​นั้น แต่​ญาติ ๆ และ​เพื่อน​สนิท​ของ​ท่าน​ด้วย​ที่​แสดง​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู และ “พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​จึง​เสด็จ​ลง​มา​สถิต​อยู่​กับ​คน​ทั้ง​ปวง​ที่​ฟัง​นั้น.” โดย​ยอม​รับ​ว่า​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​นี้​เป็น​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา เปโตร “สั่ง​ให้​เขา​รับ​บัพติศมา​ใน​พระ​นาม​ของ​พระ​เยซู​คริสต์.”—กิจการ 10:17-48.

7 อะไร​ทำ​ให้​เปโตร​ลง​ความ​เห็น​ได้​ว่า​บัด​นี้​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​สามารถ​เข้า​มา​เป็น​สาวก​ของ​พระ​เยซู​คริสต์? เป็น​เพราะ​ท่าน​มี​ความ​สังเกต​เข้าใจ​ฝ่าย​วิญญาณ. เนื่อง​จาก​พระเจ้า​ได้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระองค์​รับรอง​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต​ด้วย​การ​เท​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์​ลง​บน​พวก​เขา เปโตร​จึง​ได้​สังเกต​เข้าใจ​ว่า​คน​เหล่า​นั้น​สามารถ​รับ​บัพติสมา​ได้. ดู​เหมือน​ว่า​ใน​โอกาส​เดียว​กัน​นี้ เปโตร​เข้าใจ​ด้วย​ว่า​พระเจ้า​ไม่​ได้​คาด​หมาย​ให้​คริสเตียน​ชาว​ต่าง​ชาติ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​เพื่อ​จะ​มี​คุณสมบัติ​สำหรับ​การ​รับ​บัพติสมา. ถ้า​คุณ​มี​ชีวิต​ใน​เวลา​นั้น คุณ​จะ​เต็ม​ใจ​ปรับ​ความ​คิด​ของ​คุณ​เหมือน​อย่าง​เปโตร​ไหม?

บาง​คน​ยัง​ติด​ตาม “พี่​เลี้ยง”

8. คริสเตียน​บาง​คน​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ส่ง​เสริม​ความ​คิด​เห็น​อะไร​ใน​เรื่อง​การ​รับ​สุหนัต​ซึ่ง​ต่าง​ไป​จาก​ของ​เปโตร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

8 หลัง​จาก​ออก​จาก​บ้าน​โกระเนเลียว เปโตร​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม. ข่าว​ที่​ว่า​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต “ได้​รับ​คำ​ของ​พระเจ้า” ไป​ถึง​ประชาคม​ที่​นั่น​แล้ว และ​สาวก​ชาว​ยิว​บาง​คน​ไม่​พอ​ใจ​ใน​เรื่อง​นี้. (กิจการ 11:1-3) แม้​จะ​ยอม​รับ​ว่า​คน​ต่าง​ชาติ​สามารถ​เข้า​มา​เป็น​สาวก​ของ​พระ​เยซูได้ แต่ “พวก​ที่ [“สนับสนุน​การ,” ล.ม.] รับ​สุหนัต” ยืนกราน​ว่า​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ไม่​ใช่​ชาติ​ยิว​ต้อง​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ใน​เขต​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​มี​คริสเตียน​ชาว​ยิว​อยู่​เป็น​จำนวน​น้อย การ​รับ​สุหนัต​อาจ​ไม่​เป็น​ประเด็น​ถกเถียง​กัน. ความ​คิด​เห็น​สอง​อย่าง​นี้​ดำเนิน​อยู่​ต่อ​ไป​อีก​ราว 13 ปี. (1 โกรินโธ 1:10) คง​ต้อง​เป็น​การ​ทดสอบ​ความ​ภักดี​อย่าง​แท้​จริง​สำหรับ​คริสเตียน​ยุค​แรก โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​กับ​คริสเตียน​ชาว​ต่าง​ชาติ​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​ของ​ชาว​ยิว!

9. ทำไม​จึง​จำเป็น​ต้อง​จัด​การ​ประเด็น​เรื่อง​การ​รับ​สุหนัต​ให้​เรียบร้อย?

9 ใน​ที่​สุด​ประเด็น​ดัง​กล่าว​ก็​มา​ถึง​จุด​สุด​ยอด​ใน​ปี ส.ศ. 49 เมื่อ​คริสเตียน​บาง​คน​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​ไป​ยัง​เมือง​อันทิโอก​ใน​ซีเรีย ซึ่ง​เปาโล​กำลัง​ประกาศ​อยู่​ที่​นั่น. พวก​เขา​เริ่ม​สอน​ว่า​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน​ต้อง​รับ​สุหนัต​ตาม​พระ​บัญญัติ. จึง​เกิด​ความ​คิด​เห็น​ที่​ไม่​ลง​รอย​กัน​และ​การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​มาก​ระหว่าง​พวก​เขา​กับ​เปาโล​และ​บาระนาบา! ถ้า​ประเด็น​นี้​ไม่​ได้​รับ​การ​จัด​การ​ให้​เรียบร้อย คริสเตียน​บาง​คน ไม่​ว่า​จะ​มี​ภูมิหลัง​เป็น​ชาว​ยิว​หรือ​คน​ต่าง​ชาติ จะ​สะดุด​อย่าง​แน่นอน. ดัง​นั้น จึง​มี​การ​เตรียม​การ​ให้​เปาโล​พร้อม​กับ​บาง​คน​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม​และ​ขอ​ให้​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​คริสเตียน​หา​ข้อ​ยุติ​ใน​ประเด็น​ดัง​กล่าว.—กิจการ 15:1, 2, 24.

มี​ความ​เห็น​ต่าง​กัน​ด้วย​ความ​สุจริต​ใจ—แต่​แล้ว​ก็​เห็น​พ้อง​กัน!

10. คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ได้​พิจารณา​ข้อ​คิด​เห็น​อะไร​บ้าง​ก่อน​จะ​ตัดสิน​ใน​ประเด็น​ที่​เกี่ยว​กับ​สถานภาพ​ของ​คน​ต่าง​ชาติ?

10 ใน​การ​ประชุม​ที่​จัด​ขึ้น ดู​เหมือน​ว่า​บาง​คน​ยก​เหตุ​ผล​สนับสนุน​การ​รับ​สุหนัต ใน​ขณะ​ที่​บาง​คน​เสนอ​ความ​เห็น​ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม. แต่​การ​ประชุม​ใน​วัน​นั้น​ไม่​ได้​ถูก​ครอบ​งำ​ด้วย​อารมณ์. หลัง​จาก​ถก​กัน​มาก​แล้ว อัครสาวก​เปโตร​และ​เปาโล​อธิบาย​หมาย​สำคัญ​ต่าง ๆ ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​กระทำ​ท่ามกลาง​ผู้​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต. ท่าน​ทั้ง​สอง​อธิบาย​ว่า​พระเจ้า​ได้​เท​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ลง​บน​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​ได้​รับ​สุหนัต. ท่าน​ทั้ง​สอง​ถาม​คำ​ถาม ซึ่ง​ความหมาย​จริง ๆ ของ​คำ​ถาม​นั้น​ก็​คือ ‘เป็น​การ​ถูก​ต้อง​หรือ​ที่​ประชาคม​คริสเตียน​จะ​ปฏิเสธ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​พระเจ้า​ทรง​รับ​ไว้​แล้ว?’ จาก​นั้น สาวก​ยาโกโบ​อ่าน​ข้อ​ความ​ตอน​หนึ่ง​จาก​พระ​คัมภีร์​ที่​ช่วย​ให้​ที่​ประชุม​ทั้ง​สิ้น​สังเกต​เข้าใจ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​นี้.—กิจการ 15:4-17.

11. ปัจจัย​อะไร​ไม่​ได้​เข้า​มา​เกี่ยว​ข้อง​ใน​การ​ตัดสิน​เรื่อง​การ​รับ​สุหนัต และ​อะไร​แสดง​ว่า​การ​ตัดสิน​ครั้ง​นั้น​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา?

11 ตอน​นี้ ทุก​สายตา​พุ่ง​เป้า​ไป​ที่​คณะ​กรรมการ​ปกครอง. ภูมิหลัง​ของ​พวก​เขา​ที่​เป็น​ชาว​ยิว​จะ​ทำ​ให้​การ​ตัดสิน​เอนเอียง​เข้า​ข้าง​การ​รับ​สุหนัต​ไหม? ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น. ชาย​ผู้​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​ติด​ตาม​พระ​คัมภีร์​และ​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า. หลัง​จาก​ได้​ฟัง​พยาน​หลักฐาน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ทั้ง​หมด​แล้ว คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ตัดสิน​อย่าง​เป็น​เอกฉันท์​ว่า​ไม่​มี​ความ​จำเป็น​ที่​คริสเตียน​ชาว​ต่าง​ชาติ​จะ​ต้อง​รับ​สุหนัต​และ​ถือ​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ. เมื่อ​คำ​ตัดสิน​ดัง​กล่าว​ไป​ถึง​พี่​น้อง​แล้ว พวก​เขา​ชื่นชม​ยินดี​และ​ประชาคม​ทั้ง​หลาย​เริ่ม “ทวี​ขึ้น​ทุก ๆ วัน.” คริสเตียน​เหล่านั้น​ที่​ยอม​รับ​การ​ชี้​นำ​ที่​ชัดเจน​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ได้​รับ​คำ​ตอบ​ที่​มี​น้ำหนัก​จาก​พระ​คัมภีร์. (กิจการ 15:19-23, 28, 29; 16:1-5) ถึง​กระนั้น ยัง​มี​คำ​ถาม​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​จะ​ต้อง​ได้​คำ​ตอบ.

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​คริสเตียน​ชาว​ยิว?

12. คำ​ถาม​อะไร​ที่​ถูก​ละ​ไว้​โดย​ยัง​ไม่​ได้​คำ​ตอบ?

12 คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ชี้​แจง​ชัดเจน​ว่า​คริสเตียน​ชาว​ต่าง​ชาติ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​รับ​สุหนัต. แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​คริสเตียน​ชาว​ยิว? การ​ตัดสิน​ของ​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ใน​ครั้ง​นั้น​ไม่​ได้​ครอบ​คลุม​ไป​ถึง​ประเด็น​นี้.

13. เหตุ​ใด​จึง​เป็น​การ​ไม่​ถูก​ต้อง​ที่​จะ​ยืน​ยัน​ว่า​การ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด?

13 คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​ที่ “มี​ใจ​ร้อน​รน​ใน​การ​ถือ​พระ​บัญญัติ” ยัง​คง​ให้​ลูก ๆ ของ​ตน​รับ​สุหนัต​และ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​บาง​ข้อ. (กิจการ 21:20) ส่วน​คน​อื่น​ทำ​มาก​กว่า​นั้น ถึง​ขนาด​ยืนกราน​ว่า​คริสเตียน​ชาว​ยิว​ต้อง​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด. ใน​เรื่อง​นี้​พวก​เขา​เข้าใจ​ผิด​อย่าง​มาก. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง คริสเตียน​คน​ใด ๆ จะ​ถวาย​สัตว์​เป็น​เครื่อง​บูชา​เพื่อ​รับ​การ​อภัย​บาป​ได้​อย่าง​ไร​กัน? เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​คริสต์​ทำ​ให้​การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​เช่น​นั้น​ไม่​มี​ผล​อะไร​แล้ว. แล้ว​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​ข้อ​เรียก​ร้อง​ใน​พระ​บัญญัติ​ที่​ให้​ชาว​ยิว​หลีก​เลี่ยง​การ​มี​มิตรภาพ​ใกล้​ชิด​กับ​คน​ต่าง​ชาติ? คง​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที​เดียว​สำหรับ​คริสเตียน​ผู้​เผยแพร่​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​ข้อ​ห้าม​ดัง​กล่าว​และ​ยัง​คง​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​มอบหมาย​ใน​การ​สอน​คน​ต่าง​ชาติ​ถึง​สิ่ง​สารพัตร​ที่​พระ​เยซู​สั่ง​สอน​นั้น​ได้​สำเร็จ. (มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 1:8; 10:28) * ไม่​มี​หลักฐาน​ใด ๆ ว่า​มี​การ​ทำ​ให้​เรื่อง​เหล่า​นี้​กระจ่าง​ชัด​ใน​การ​ประชุม​ของ​คณะ​กรรมการ​ปกครอง. แต่​ประชาคม​ก็​ไม่​ได้​ถูก​ปล่อย​ไว้​โดย​ปราศจาก​ความ​ช่วยเหลือ.

14. จดหมาย​ของ​เปาโล​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ให้​คำ​ชี้​แนะ​อะไร​เกี่ยว​กับ​พระ​บัญญัติ?

14 คำ​ชี้​แนะ​มา​ถึง​พวก​เขา ไม่​ใช่​ใน​รูป​ของ​จดหมาย​จาก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง แต่​ใน​รูป​ของ​จดหมาย​เพิ่ม​เติม​จาก​พวก​อัครสาวก​ซึ่ง​เขียน​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ. ตัว​อย่าง​เช่น อัครสาวก​เปาโล​ส่ง​ข่าวสาร​ที่​หนักแน่น​ไป​ยัง​ชาว​ยิว​และ​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​อาศัย​ใน​กรุง​โรม. ใน​จดหมาย​ที่​เขียน​ถึง​พวก​เขา ท่าน​อธิบาย​ว่า​ยิว​แท้​คือ​คน​ที่ “เป็น​ยิว​ภาย​ใน และ​การ​รับ​สุหนัต​ของ​เขา​คือ​การ​รับ​ที่​หัวใจ​โดย​พระ​วิญญาณ.” (โรม 2:28, 29, ล.ม.) ใน​จดหมาย​ฉบับ​เดียว​กัน​นั้น เปาโล​ยก​ตัว​อย่าง​ประกอบ​เพื่อ​พิสูจน์​ว่า​คริสเตียน​ไม่​ได้​อยู่​ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ​อีก​ต่อ​ไป. ท่าน​ชัก​เหตุ​ผล​ว่า​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​จะ​เป็น​ภรรยา​ของ​ชาย​สอง​คน​ใน​เวลา​เดียว​กัน​ไม่​ได้. แต่​ถ้า​สามี​ของ​เธอ​ตาย เธอ​มี​อิสระ​จะ​สมรส​ใหม่. เปาโล​ใช้​ตัว​อย่าง​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​จะ​อยู่​ภาย​ใต้​บัญญัติ​ของ​โมเซ​และ​เป็น​ของ​พระ​คริสต์​ใน​เวลา​เดียว​กัน​ไม่​ได้. พวก​เขา​ต้อง “ตาย​แก่​พระ​บัญญัติ” เพื่อ​จะ​ร่วม​ชีวิต​กับ​พระ​คริสต์​ได้.—โรม 7:1-5.

บาง​คน​ใช้​เวลา​นาน​กว่า​จะ​เข้าใจ

15, 16. เหตุ​ใด​คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​จึง​ไม่​เข้าใจ​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ต้อง​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ และ​เรื่อง​นี้​แสดง​อย่าง​ไร​ถึง​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​ตื่น​ตัว​ฝ่าย​วิญญาณ​อยู่​เสมอ?

15 การ​หา​เหตุ​ผล​ของ​เปาโล​เกี่ยว​กับ​พระ​บัญญัติ​นั้น​ไม่อาจ​โต้​แย้ง​ได้. ถ้า​อย่าง​นั้น ทำไม​คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​จึง​ยัง​ไม่​เข้าใจ? เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ​พวก​เขา​ขาด​ความ​สังเกต​เข้าใจ​ฝ่าย​วิญญาณ. ตัว​อย่าง​เช่น พวก​เขา​ไม่​ได้​รับ​เอา​อาหาร​แข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ. (เฮ็บราย 5:11-14) นอก​จาก​นั้น พวก​เขา​ไม่​ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​อย่าง​สม่ำเสมอ. (เฮ็บราย 10:23-25) เหตุ​ผล​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​บาง​คน​ไม่​เข้าใจ​นั้น​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ลักษณะ​ของ​พระ​บัญญัติ​เอง. พระ​บัญญัติ​รวม​จุด​อยู่​ที่​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​สามารถ​เห็น, รู้สึก, และ​สัมผัส​ได้ เช่น พระ​วิหาร​และ​คณะ​ปุโรหิต. สำหรับ​คน​ที่​ขาด​ความ​สนใจ​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ การ​รับ​เอา​พระ​บัญญัติ​นั้น​ง่าย​กว่า​การ​รับ​เอา​หลักการ​ที่​ลึกซึ้ง​กว่า​ของ​ศาสนา​คริสเตียน ซึ่ง​รวม​จุด​อยู่​ที่​สิ่ง​ที่​มี​อยู่​จริง​ซึ่ง​มอง​ไม่​เห็น.—2 โกรินโธ 4:18.

16 เหตุ​ผล​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ว่า​ทำไม​ผู้​ที่​ประกาศ​ตัว​เป็น​คริสเตียน​บาง​คน​จึง​อยาก​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​นั้น​มี​บอก​ไว้​ใน​จดหมาย​ของ​เปาโล​ถึง​ชาว​กาลาเทีย. ท่าน​อธิบาย​ว่า​คน​เหล่า​นี้​อยาก​จะ​ได้​ความ​เคารพ​นับถือ​ใน​ฐานะ​สมาชิก​ของ​ศาสนา​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน​ทั่ว​ไป. แทน​ที่​จะ​ยินดี​แตกต่าง​ออก​ไป​ใน​ชุม​ชุน พวก​เขา​กลับ​พร้อม​ที่​จะ​อะลุ่มอล่วย​แทบ​ทุก​เรื่อง​เพื่อ​จะ​กลมกลืน​เข้า​กับ​ชุมชน​นั้น. พวก​เขา​สนใจ​จะ​ได้​รับ​ความ​นิยม​ชม​ชอบ​จาก​มนุษย์​มาก​กว่า​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า.—ฆะลาเตีย 6:12.

17. เมื่อ​ไร​ที่​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​ถูก​ต้อง​เกี่ยว​กับ​การ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​เป็น​ที่​กระจ่าง​ชัด​อย่าง​เต็ม​ที่?

17 คริสเตียน​ที่​มี​ความ​สังเกต​เข้าใจ​ผู้​ได้​ศึกษา​อย่าง​ถี่ถ้วน​ใน​ข้อ​เขียน​ของ​เปาโล​และ​คน​อื่น ๆ ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​ได้​ข้อ​สรุป​ที่​ถูก​ต้อง​เกี่ยว​กับ​พระ​บัญญัติ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต้อง​รอ​จน​กระทั่ง​ปี ส.ศ. 70 กว่า​ที่​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​ถูก​ต้อง​เกี่ยว​กับ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​จะ​เป็น​ที่​กระจ่าง​ชัด​อย่าง​ไม่​ทิ้ง​ข้อ​สงสัย​ต่อ​คริสเตียน​ชาว​ยิว​ทุก​คน. ความ​กระจ่าง​นั้น​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​พระเจ้า​ทรง​ยอม​ให้​กรุง​เยรูซาเลม, พระ​วิหาร​ของ​กรุง​นั้น, และ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​สืบ​เชื้อ​สาย​ปุโรหิต​ถูก​ทำลาย. นี่​ทำ​ให้​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​ใคร ๆ จะ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ได้​ครบ​ทุก​แง่​มุม.

บทเรียน​สำหรับ​เรา​ใน​ปัจจุบัน

18, 19. (ก) เรา​ต้อง​รับ​เอา​ทัศนะ​แบบ​ใด​และ​หลีก​เลี่ยง​ทัศนะ​แบบ​ไหน​เพื่อ​จะ​รักษา​สุขภาพ​ที่​ดี​ฝ่าย​วิญญาณ? (ข) ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล​สอน​อะไร​เรา​เกี่ยว​กับ​การ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​ได้​รับ​จาก​พี่​น้อง​ที่​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ? (ดู​กรอบ​หน้า 24.)

18 หลัง​จาก​ได้​พิจารณา​เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​อดีต คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า ‘ถ้า​ฉัน​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​เวลา​นั้น ฉัน​จะ​ตอบรับ​อย่าง​ไร​ขณะ​ที่​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ได้​รับ​การ​เปิด​เผย​เป็น​ขั้น ๆ? ฉัน​จะ​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​ทัศนะ​ที่​ยึด​ถือ​กัน​มา​นาน​ไหม? หรือ​ฉัน​จะ​อด​ทน​คอย​จน​กว่า​ความ​เข้าใจ​ที่​ถูก​ต้อง​จะ​เป็น​ที่​กระจ่าง​ชัด​ไหม? และ​เมื่อ​ความ​เข้าใจ​เป็น​ที่​กระจ่าง​ชัด​แล้ว ฉัน​จะ​สนับสนุน​ความ​เข้าใจ​นั้น​อย่าง​สุด​หัวใจ​ไหม?’

19 แน่​ละ เรา​ไม่​อาจ​แน่​ใจ​ได้​ว่า​เรา​จะ​ตอบรับ​อย่าง​ไร​ถ้า​หาก​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ตอน​นั้น. แต่​เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ดัง​นี้: ‘ฉัน​ตอบรับ​อย่าง​ไร​เมื่อ​มี​การ​อธิบาย​ความ​เข้าใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​กระจ่าง​ชัด​ขึ้น​ใน​ปัจจุบัน? (มัดธาย 24:45) เมื่อ​ได้​รับ​คำ​ชี้​แนะ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์ ฉัน​พยายาม​จะ​นำ​ไป​ใช้​ไหม โดย​ไม่​เพียง​แต่​ทำ​ตาม​คำ​ชี้​แนะ​ตาม​ตัว​อักษร​เท่า​นั้น แต่​คำนึง​ถึง​เจตนารมณ์​ของ​ข้อ​เหล่า​นั้น​ด้วย? (1 โกรินโธ 14:20) ฉัน​คอย​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​อด​ทน​ไหม​เมื่อ​คำ​ถาม​บาง​อย่าง​ดู​เหมือน​ยัง​ไม่​ได้​รับ​คำ​ตอบ?’ นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​ใช้​ประโยชน์​จาก​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​มี​อยู่​ขณะ​นี้ เพื่อ “เรา​จะ​ไม่​ลอย​ห่าง​ไป.” (เฮ็บราย 2:1, ล.ม.) เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ให้​คำ​ชี้​แนะ​โดย​ทาง​พระ​คำ​ของ​พระองค์, พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์, และ​องค์การ​ทาง​แผ่นดิน​โลก​ของ​พระองค์ ขอ​ให้​เรา​ใส่​ใจ​ฟัง. ถ้า​เรา​ทำ​อย่าง​นั้น พระ​ยะโฮวา​จะ​อวย​พร​ให้​เรา​มี​ชีวิต​ไม่​สิ้น​สุด ซึ่ง​เป็น​ชีวิต​ที่​มี​ทั้ง​ความ​สุข​และ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 เมื่อ​เปโตร​ไป​เยือน​เมือง​อันทิโอก​ใน​ซีเรีย ท่าน​ชื่นชม​ที่​ได้​คบหา​อย่าง​ใกล้​ชิด​กับ​ผู้​เชื่อถือ​ชาว​ต่าง​ชาติ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​คริสเตียน​ชาว​ยิว​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​มา​ถึง เปโตร “ปลีก​ตัว​ออก​ไป​อยู่​เสีย​ต่าง​หาก, เพราะ​เกรง​ใจ​พวก​ที่​ถือ​พิธี​สุหนัต.” เรา​นึก​ภาพ​ได้​ว่า​คริสเตียน​ชาว​ต่าง​ชาติ​ที่​เข้า​มา​เชื่อถือ​คง​ต้อง​เสียใจ​สัก​เพียง​ไร​ที่​อัครสาวก​ผู้​ได้​รับ​ความ​นับถือ​ปฏิเสธ​ที่​จะ​กิน​อาหาร​กับ​พวก​เขา.—ฆะลาเตีย 2:11-13.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• ใน​ความหมาย​ใด​ที่​ว่า​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​เป็น​เหมือน “พี่​เลี้ยง​ซึ่ง​นำ​ไป​ถึง​พระ​คริสต์”?

• คุณ​จะ​อธิบาย​อย่าง​ไร​ถึง​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​วิธี​ที่​เปโตร​กับ “พวก​ที่​สนับสนุน​การ​รับ​สุหนัต” ตอบรับ​ต่อ​การ​ปรับ​ความ​เข้าใจ​เกี่ยว​กับ​ความ​จริง?

• คุณ​ได้​เรียน​รู้​อะไร​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เปิด​เผย​ความ​จริง​ใน​ทุก​วัน​นี้?

[คำ​ถาม]

[กรอบ/ภาพ​หน้า 24]

เปาโล​ถ่อม​ใจ​ตอบรับ​การ​ทดสอบ

หลัง​จาก​การ​เดิน​ทาง​เผยแพร่​ใน​ต่าง​แดน​ของ​เปาโล​สำเร็จ​ลุ​ล่วง ท่าน​ก็​มา​ถึง​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ปี ส.ศ. 56. ที่​นั่น มี​การ​ทดสอบ​อย่าง​หนึ่ง​รอ​ท่าน​อยู่. ข่าว​ที่​ว่า​ท่าน​ได้​สอน​ว่า​พระ​บัญญัติ​ได้​ถูก​ยก​เลิก​มา​ถึง​ประชาคม​นั้น​แล้ว. พวก​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​เกรง​ว่า​ชาว​ยิว​ที่​เพิ่ง​เปลี่ยน​มา​เป็น​คริสเตียน​จะ​สะดุด​คำ​พูด​ที่​ตรง​ไป​ตรง​มา​ของ​เปาโล​ใน​เรื่อง​พระ​บัญญัติ​และ​อาจ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​คริสเตียน​ขาด​ความ​นับถือ​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​ของ​พระ​ยะโฮวา. ใน​ประชาคม​นั้น มี​คริสเตียน​ชาว​ยิว​สี่​คน​ที่​ได้​ปฏิญาณ​ตัว​ไว้ อาจ​เป็น​การ​ปฏิญาณ​เป็น​นาษารีษ. ทั้ง​สี่​คน​ต้อง​ไป​ที่​พระ​วิหาร​เพื่อ​ทำ​ให้​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​การ​ปฏิญาณ​ตัว​ครบ​ถ้วน.

พวก​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ขอ​ให้​เปาโล​ไป​ยัง​พระ​วิหาร​กับ​สี่​คน​นั้น​และ​ดู​แล​เรื่อง​ค่า​ใช้​จ่าย​ของ​พวก​เขา. เปาโล​เคย​เขียน​จดหมาย​โดย​การ​ดล​ใจ​ไป​แล้ว​อย่าง​น้อย​สอง​ฉบับ​ซึ่ง​ให้​เหตุ​ผล​ว่า​การ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ไม่​ใช่​ข้อ​เรียก​ร้อง​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ท่าน​คำนึง​ถึง​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​คน​อื่น. ก่อน​หน้า​นี้ ท่าน​ได้​เขียน​ว่า “กับ​พวก​ที่​อยู่​ใต้​บัญญัติ​ข้าพเจ้า​ทำ​ตัว​เหมือน​อยู่​ใต้​บัญญัติ . . . เพื่อ​ข้าพเจ้า​จะ​ได้​คน​ที่​อยู่​ใต้​บัญญัติ.” (1 โกรินโธ 9:20-23, ล.ม.) ขณะ​ที่​ไม่​อะลุ่มอล่วย​เมื่อ​หลักการ​สำคัญ​ใน​พระ​คัมภีร์​เข้า​มา​เกี่ยว​ข้อง แต่​เปาโล​ก็​รู้สึก​ว่า​ท่าน​สามารถ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​พวก​ผู้​ปกครอง​เหล่า​นั้น​ได้. (กิจการ 21:15-26) ไม่​ผิด​ที่​ท่าน​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น. ไม่​มี​อะไร​ที่​ผิด​หลัก​พระ​คัมภีร์​ใน​เรื่อง​การ​ปฏิญาณ และ​พระ​วิหาร​ก็​ถูก​ใช้​สำหรับ​การ​นมัสการ​แท้ ไม่​ใช่​สำหรับ​การ​บูชา​รูป​เคารพ. เพื่อ​จะ​ไม่​เป็น​เหตุ​ให้​ใคร​สะดุด เปาโล​จึง​ทำ​ตาม​ที่​ขอ. (1 โกรินโธ 8:13) เพื่อ​จะ​ทำ​เช่น​นั้น เปาโล​คง​ต้อง​ถ่อม​ใจ​มิ​ใช่​น้อย และ​ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​นับถือ​ท่าน​มาก​ยิ่ง​ขึ้น.

[ภาพ​หน้า 22, 23]

ความ​คิด​เห็น​ที่​ต่าง​กัน​เกี่ยว​กับ​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ยัง​คง​มี​อยู่​ท่ามกลาง​คริสเตียน​เป็น​เวลา​หลาย​ปี