ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ริมฝีปากที่กล่าวคำจริงจะตั้งมั่นคงถาวร”

“ริมฝีปากที่กล่าวคำจริงจะตั้งมั่นคงถาวร”

“ริมฝีปาก​ที่​กล่าว​คำ​จริง​จะ​ตั้ง​มั่นคง​ถาวร”

เช่น​เดียว​กับ​ที่​เปลว​ไฟ​น้อย​นิด​สามารถ​ลุก​ไหม้​และ​เผา​ผลาญ​ป่า​ทั้ง​สิ้น สิ่ง​นี้​ก็​สามารถ​ก่อ​ผล​เสียหาย​แก่​ชีวิต​ทั้ง​สิ้น​ของ​คน​เรา​เช่น​กัน. มัน​อาจ​เต็ม​ไป​ด้วย​พิษ​ร้าย แต่​ก็​อาจ​เป็น “ต้น​ไม้​แห่ง​ชีวิต” ได้​เช่น​กัน. (สุภาษิต 15:4) ชีวิต​กับ​ความ​ตาย​อยู่​ใน​อำนาจ​ของ​มัน. (สุภาษิต 18:21) สิ่ง​ที่​กล่าว​มา​นี้​คือ​อานุภาพ​ของ​อวัยวะ​เล็ก ๆ—ลิ้น​ของ​เรา—ซึ่ง​สามารถ​ทำ​ให้​ทั้ง​กาย​ด่าง​พร้อย​ไป. (ยาโกโบ 3:5-9, ล.ม.) นับ​ว่า​สุขุม​ที่​จะ​ระวัง​การ​ใช้​ลิ้น​ของ​เรา.

ใน​ส่วน​ที่​สอง​ของ​พระ​ธรรม​สุภาษิต​บท​ที่ 12 กษัตริย์​ซะโลโม​แห่ง​อิสราเอล​โบราณ​ให้​คำ​แนะ​นำ​อัน​ทรง​คุณค่า​ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​เรา​ระวัง​คำ​พูด. โดย​ทาง​สุภาษิต​ที่​กระชับ​แต่​เปี่ยม​ไป​ด้วย​ความหมาย กษัตริย์​ผู้​ชาญ​ฉลาด​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คำ​พูด​ก่อ​ผล​ติด​ตาม​มา​และ​เปิด​เผย​อย่าง​มาก​เกี่ยว​กับ​คุณลักษณะ​ของ​ผู้​พูด. คำ​แนะ​นำ​ของ​ซะโลโม​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​นี้​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​ทุก​คน​ที่​ปรารถนา​จะ ‘รักษา​ประตู​ปาก​ของ​ตน​ไว้.’—บทเพลง​สรรเสริญ 141:3.

‘ความ​ผิด​ที่​เป็น​กับดัก’

ซะโลโม​กล่าว​ว่า “ความ​ผิด​อัน​เกิด​จาก​ริมฝีปาก​ย่อม​เป็น​เครื่อง​ดัก​สำหรับ​คน​ชั่ว; แต่​คน​ชอบธรรม​จะ​พ้น​จาก​ความ​ยาก​ลำบาก​ได้.” (สุภาษิต 12:13) การ​พูด​โกหก​เป็น​ความ​ผิด​อัน​เกิด​จาก​ริมฝีปาก​ซึ่ง​กลาย​เป็น​กับดัก​ที่​ยัง​ผล​เป็น​ความ​ตาย​แก่​ผู้​พูด. (วิวรณ์ 21:8) การ​โกหก​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​ทาง​ออก​ที่​ง่าย​สำหรับ​หนี​พ้น​การ​ลง​โทษ​หรือ​เลี่ยง​สถานการณ์​ที่​ไม่​น่า​ยินดี. แต่​บ่อย​ครั้ง การ​โกหก​อย่าง​หนึ่ง​มัก​นำ​ไป​สู่​การ​โกหก​อื่น ๆ มิ​ใช่​หรือ? คน​ที่​เริ่ม​เล่น​การ​พนัน​ด้วย​เงิน​เพียง​เล็ก​น้อย​ถูก​ดึงดูด​เข้า​ไป​สู่​การ​เล่น​พนัน​ด้วย​เงิน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ เพื่อ​พยายาม​จะ​ได้​เงิน​คืน​ฉัน​ใด ใน​ไม่​ช้า​คน​ที่​โกหก​ก็​จะ​พบ​ว่า​ตัว​เอง​เข้า​ไป​ติด​อยู่​ใน​กับดัก​ของ​วงจร​อุบาทว์​ฉัน​นั้น.

ยิ่ง​กว่า​นั้น ความ​ผิด​อัน​เกิด​จาก​ริมฝีปาก​ทำ​ให้​ติด​กับดัก​เนื่อง​จาก​ว่า​คน​ที่​โกหก​คน​อื่น​นั้น​ใน​ที่​สุด​ก็​อาจ​โกหก​ตัว​เอง. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง คน​ที่​โกหก​อาจ​หลอก​ตัว​เอง​ได้​ง่าย​ว่า​เขา​เป็น​คน​รอบรู้​อย่าง​มาก และ​ฉลาด​ปราดเปรื่อง ทั้ง ๆ ที่​จริง​แล้ว​เขา​มี​ความ​รู้​น้อย​มาก. ด้วย​เหตุ​นั้น เขา​จึง​เริ่ม​ดำเนิน​ชีวิต​อยู่​ด้วย​การ​โกหก. อัน​ที่​จริง “เขา​ป้อยอ​ตน​เอง​ใน​สายตา​ของ​ตน​ว่า ไม่​มี​ผู้​ใด​พบ​และ​เกลียด​ชัง​ความ​บาป​ผิด​ของ​เขา.” (บทเพลง​สรรเสริญ 36:2, ฉบับ​แปล​ใหม่) การ​โกหก​ช่าง​เป็น​บ่วง​แร้ว​อะไร​อย่าง​นั้น! ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม คน​ชอบธรรม​จะ​ไม่​ทำ​ให้​ตัว​เอง​เข้า​ไป​อยู่​ใน​สถานการณ์​ที่​ยุ่งยาก​ดัง​กล่าว. แม้​ว่า​ตก​อยู่​ใน​ความ​ยาก​ลำบาก เขา​จะ​ไม่​หัน​ไป​พึ่ง​การ​พูด​โกหก.

‘ผล​ที่​ทำ​ให้​อิ่ม​ใจ’

อัครสาวก​เปาโล​เตือน​ว่า “อย่า​หลง​เลย จะ​หลอก​พระเจ้า​เล่น​ไม่​ได้ เพราะ​ว่า คน​ใด​หว่าน​พืช​อย่าง​ใด​ลง, ก็​จะ​เกี่ยว​เก็บ​ผล​อย่าง​นั้น.” (ฆะลาเตีย 6:7) หลักการ​นี้​นำ​มา​ใช้​ได้กับ​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​เรา​อย่าง​แน่นอน. ซะโลโม​กล่าว​ว่า “จาก​ผล​แห่ง​ถ้อย​คำ​ของ​ตน​คน​ก็​อิ่ม​ใจ​ใน​ความ​ดี และ​ผล​งาน​แห่ง​มือ​ของ​เขา​ก็​กลับ​มา​หา​เขา.”สุภาษิต 12:14, ฉบับ​แปล​ใหม่.

ปาก​ที่ “กล่าว . . . สติ​ปัญญา” เกิด​ผล​เป็น​ความ​อิ่ม​ใจ. (บทเพลง​สรรเสริญ 37:30) เพื่อ​จะ​มี​สติ​ปัญญา​ต้อง​มี​ความ​รู้ แต่​ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​เป็น​คลัง​แห่ง​ความ​รู้​ทุก​อย่าง. ทุก​คน​จำเป็น​ต้อง​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​และ​ปฏิบัติ​ตาม. กษัตริย์​อิสราเอล​ผู้​นี้​กล่าว​ว่า “ทาง​ของ​คน​โง่​นั้น​ถูก​ต้อง​ใน​สายตา​ของ​เขา​เอง แต่​ปราชญ์​ย่อม​ฟัง​คำ​แนะ​นำ.”สุภาษิต 12:15, ฉบับ​แปล​ใหม่.

พระ​ยะโฮวา​ประทาน​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​แก่​เรา​ผ่าน​ทาง​พระ​คำ และ​องค์การ​ของ​พระองค์ โดย​ใช้​สรรพหนังสือ​ที่​จัด​เตรียม​โดย “ทาส​สัตย์​ซื่อ​และ​สุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:16) ช่าง​เป็น​การ​โฉด​เขลา​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​ปฏิเสธ​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​และ​ดึง​ดัน​ที่​จะ​ทำ​ตาม​วิถี​ทาง​ของ​เรา​เอง! เรา​ต้อง “ว่องไว​ใน​การ​ฟัง” เมื่อ​พระ​ยะโฮวา “ผู้​ทรง​สั่ง​สอน​มนุษยชาติ​ให้​มี​ความ​รู้” แนะ​นำ​เรา​ผ่าน​ทาง​ช่อง​ทาง​สื่อสาร​ของ​พระองค์.—ยาโกโบ 1:19; บทเพลง​สรรเสริญ 94:10.

คน​มี​ปัญญา​และ​คน​โฉด​เขลา​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร​เมื่อ​ถูก​สบประมาท​หรือ​วิพากษ์วิจารณ์​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม? ซะโลโม​ตอบ​ดัง​นี้: “ความ​โกรธ​ของ​คน​โฉด​เขลา​ก็​ปรากฏ​แจ้ง​ทันที, แต่​คน​ที่​มี​ปัญญา​ย่อม​ไม่​เอา​ใจ​ใส่​เมื่อ​ถูก​ประมาท.”สุภาษิต 12:16.

เมื่อ​คน​โฉด​เขลา​ถูก​สบประมาท เขา​แสดง​ความ​โกรธ​ออก​มา “ทันที.” แต่​คน​ที่​ฉลาด​สุขุม​อธิษฐาน​ขอ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​เพื่อ​ที่​จะ​สำแดง​การ​รู้​จัก​บังคับ​ตน. เขา​ใช้​เวลา​ตรึกตรอง​คำ​แนะ​นำ​ที่​พบ​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​ใคร่ครวญ​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ด้วย​ความ​รู้สึก​ขอบคุณ​ใน​ข้อ​ที่​กล่าว​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​ตบ​แก้ม​ขวา​ของ​ท่าน ให้​หัน​แก้ม​ซ้าย​ให้​เขา​ด้วย.” (มัดธาย 5:39) เนื่อง​จาก​ปรารถนา​จะ​ไม่ “ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด” คน​มี​ปัญญา​เหนี่ยว​รั้ง​ริมฝีปาก​ไว้​ไม่​ให้​พูด​โดย​ไม่​ไตร่ตรอง. (โรม 12:17) ถ้า​เรา​ไม่​ใส่​ใจ​ใน​ทำนอง​เดียว​กัน​นั้น​เมื่อ​ถูก​สบประมาท เรา​จะ​หลีก​เลี่ยง​ไม่​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​มาก​ไป​กว่า​นั้น.

‘ลิ้น​ที่​ให้​การ​รักษา’

ความ​ผิด​อัน​เกิด​จาก​ริมฝีปาก​สร้าง​ความ​เสียหาย​ได้​อย่าง​มาก​ใน​กระบวนการ​พิจารณา​คดี. กษัตริย์​อิสราเอล​ผู้​นี้​กล่าว​ว่า “บุคคล​ผู้​กล่าว​ความ​จริง​ย่อม​สำแดง​ความ​ชอบธรรม​ให้​ประจักษ์; แต่​พยาน​เท็จ​นั้น​ย่อม​สำแดง​การ​ล่อ​ลวง​ออก​มา.” (สุภาษิต 12:17) พยาน​สัตย์​จริง​กล่าว​แต่​ความ​จริง​เนื่อง​จาก​คำ​พยาน​ของ​เขา​เชื่อถือ​ได้​และ​ไว้​วางใจ​ได้. คำ​ให้​การ​ของ​เขา​ส่ง​เสริม​ให้​เกิด​ความ​ยุติธรรม​ใน​การ​ดำเนิน​คดี. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม พยาน​เท็จ​กล่าว​แต่​คำ​หลอก​ลวง​และ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ผิด​พลาด​ใน​การ​ตัดสิน.

กษัตริย์​ซะโลโม​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “คำ​พูด​พล่อย ๆ ของ​คน​บาง​จำพวก​เหมือน​การ​แทง​ของ​กระบี่; แต่​ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญญา​ย่อม​รักษา​แผล​ให้​หาย.” (สุภาษิต 12:18) คำ​พูด​อาจ​ทิ่ม​แทง​เหมือน​กระบี่ โดย​ทำลาย​ความ​สัมพันธ์​และ​ก่อ​ปัญหา. หรือ​คำ​พูด​อาจ​ทำ​ให้​มี​ความ​พอ​ใจ​ยินดี และ​ทะนุถนอมมิตรภาพ. การ​ให้​สมญา​เชิง​ดูหมิ่น, การ​ตะคอก, การ​ตำหนิ​วิจารณ์​อยู่​ร่ำ​ไป, และ​การ​ใช้​คำ​พูด​หยาบ​หยาม เป็น​การ​ทิ่ม​แทง​ที่​ก่อ​แผล​ลึก​ทาง​อารมณ์​มิ​ใช่​หรือ? จะ​ดี​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​แก้ไข​ข้อ​ผิด​พลาด​ใด ๆ ที่​เรา​อาจ​ทำ​ไป​ใน​ขอบ​เขต​ที่​ว่า​มา​นี้​ด้วย​คำ​ขอ​โทษ​ที่​จริง​ใจ​ซึ่ง​ให้​การ​เยียว​ยา!

ใน​สมัย​ยุ่งยาก​ที่​เรา​มี​ชีวิต​อยู่​นี้ ไม่​ใช่​เรื่อง​น่า​ประหลาด​ใจ​ที่​หลาย​คน “หัวใจ​สลาย” และ “จิตใจ​ชอก​ช้ำ.” (บทเพลง​สรรเสริญ 34:18, ล.ม.) เมื่อ​เรา “พูด​ปลอบโยน​จิตวิญญาณ​ที่​หดหู่​ใจ” และ “เกื้อ​หนุน​คน​ที่​อ่อนแอ” จริง ๆ แล้ว​เรา​กำลัง​นำ​เอา​พลัง​ของ​คำ​พูด​ใน​การ​เยียว​ยา​ไป​ใช้​มิ​ใช่​หรือ? (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) ใช่​แล้ว คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​สามารถ​หนุน​กำลังใจ​วัยรุ่น​ที่​กำลัง​ต่อ​สู้​กับ​แรง​กดดัน​จาก​คน​รุ่น​เดียว​กัน​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย. คำ​พูด​ที่​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​สามารถ​ให้​ความ​มั่น​ใจ​แก่​ผู้​สูง​อายุ​ว่า​เขา​เป็น​ที่​ต้องการ​และ​เป็น​ที่​รัก​ของ​คน​อื่น. คำ​พูด​ที่​กรุณา​สามารถ​ทำ​ให้​โลก​สดใส​ขึ้น​สำหรับ​ผู้​ป่วย​อย่าง​แน่นอน. แม้​แต่​การ​ว่า​กล่าว​ก็​รับ​ได้​ง่าย​ขึ้น​หาก​ทำ​ด้วย “ใจ​อ่อน​สุภาพ.” (ฆะลาเตีย 6:1) และ​ลิ้น​ของ​คน​ที่​แบ่ง​ปัน​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ช่าง​มี​พลัง​ใน​การ​เยียว​ยา​สัก​เพียง​ไร​สำหรับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​รับ​ฟัง!

‘ริมฝีปาก​ที่​ถาวร’

โดย​ใช้​คำ “ริมฝีปาก” ให้​มี​ความหมาย​เดียว​กัน​กับ​คำ​ว่า “ลิ้น” ซะโลโม​กล่าว​ว่า “ริมฝีปาก​ที่​กล่าว​คำ​จริง​จะ​ตั้ง​มั่นคง​ถาวร, แต่​ลิ้น​มุสา​จะ​คง​อยู่​ได้​แต่​ประเดี๋ยว​เดียว​เท่า​นั้น.” (สุภาษิต 12:19) ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “ริมฝีปาก​ที่​กล่าว​คำ​จริง” ใน​ภาษา​ฮีบรู​อยู่​ใน​รูป​เอกพจน์​และ​มี​ความหมาย​ลึกซึ้ง​มาก​กว่า​เพียง​คำ​พูด​ที่​เป็น​จริง. หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ถ้อย​คำ​นี้​แฝง​ความหมาย​ของ​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น ความ​คงทน​ถาวร, ความ​เป็น​นิรันดร์, และ​ความ​น่า​เชื่อถือ. คำ​พูด​ที่​มี​ลักษณะ​เช่น​นี้​จะ​ยืนยง . . . ตลอด​ไป เนื่อง​จาก​จะ​พบ​ว่า​คำ​พูด​นั้น​วางใจ​ได้ ซึ่ง​ตรง​ข้าม​กับ​ลิ้น​มุสา . . . ซึ่ง​อาจ​ใช้​หลอก​ได้​ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง​แต่​ไม่​ทน​การ​ทดสอบ.”

กษัตริย์​ผู้​ชาญ​ฉลาด​กล่าว​ว่า “การ​ล่อ​ลวง​ย่อม​อยู่​ใน​ใจ​ของ​เหล่า​ชน​ที่​คิด​ทำ​การ​ชั่ว​ร้าย; แต่​ความ​ปลาบปลื้ม​ยินดี​ย่อม​มี​แก่​ผู้​ให้​คำ​หารือ​เพื่อ​สันติ​สุข.” ท่าน​กล่าว​เสริม​ว่า “ภัย​อันตราย​ใด ๆ จะ​เกิด​แก่​คน​ชอบธรรม​ก็​หา​มิ​ได้; แต่​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​คง​จะ​ได้​แก่​คน​ชั่ว​ร้าย​เต็ม​ขนาด.”สุภาษิต 12:20, 21.

สิ่ง​ที่​ผู้​คิด​แผนการ​ชั่ว​ร้าย​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​มี​แต่​ความ​ปวด​ร้าว​และ​ระทม​ทุกข์. ใน​ทาง​ตรง​ข้าม ผู้​ให้​คำ​หารือ​เพื่อ​สันติ​สุข​จะ​มี​ความ​พึง​พอ​ใจ​ที่​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. นอก​จาก​นี้ พวก​เขา​ยัง​ได้​รับ​ความ​ยินดี​เนื่อง​จาก​เห็น​ผล​ที่​ดี​อีก​ด้วย. ที่​สำคัญ​ที่​สุด พวก​เขา​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า เนื่อง​จาก “ริมฝีปาก​ที่​พูด​มุสา​เป็น​ที่​สะอิดสะเอียน​แก่​พระ​ยะโฮวา; แต่​ผู้​ที่​ประพฤติ​สัตย์​จริง​เป็น​ที่​ชื่นชม​ยินดี​แด่​พระองค์.”สุภาษิต 12:22.

‘ริมฝีปาก​ที่​เก็บ​ความ​รู้​ไว้’

เพื่อ​อธิบาย​ข้อ​แตกต่าง​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ระหว่าง​คน​ที่​ระวัง​คำ​พูด​กับ​คน​ที่​ไม่​ระวัง กษัตริย์​แห่ง​อิสราเอล​กล่าว​ดัง​นี้: “คน​ที่​หยั่ง​รู้​ย่อม​เก็บ​ความ​รู้​ไว้ แต่​คน​โง่​ป่าว​ร้อง​ความ​โง่​ของ​ตน.”สุภาษิต 12:23, ฉบับ​แปล​ใหม่.

คน​ที่​หยั่ง​รู้​หรือ​ฉลาด​สุขุม​รู้​ว่า​เมื่อ​ไร​ควร​พูด​และ​เมื่อ​ไร​ไม่​ควร​พูด. เขา​เก็บ​ความ​รู้​ไว้​โดย​ควบคุม​ตัว​เอง​ไม่​ให้​พูด​อวด​ภูมิ​ความ​รู้​ของ​ตน. นี่​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​เขา​เก็บ​งำ​ความ​รู้​ไว้​โดย​ไม่​ยอม​บอก​ใคร​เลย. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น เขา​สุขุม​รอบคอบ​ใน​การ​แสดง​ความ​รู้​ของ​ตน. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม คน​โง่​จะ​รีบ​พูด​และ​ทำ​ให้​คน​อื่น​ได้​รู้​ถึง​ความ​โง่​ของ​ตน. ดัง​นั้น ขอ​ให้​เรา​พูด​แต่​น้อย​และ​ยับยั้ง​ลิ้น​เรา​ไว้​จาก​การ​โอ้อวด.

เพื่อ​เปรียบ​เทียบ​ให้​เห็น​ความ​แตกต่าง​ต่อ​ไป​อีก ซะโลโม​ชี้​ถึง​จุด​ที่​น่า​สนใจ​เกี่ยว​กับ​ความ​ขยัน​และ​ความ​ขี้​เกียจ. ท่าน​กล่าว​ว่า “มือ​ของ​คน​ขยัน​จะ​ได้​ถือ​การ​ปกครอง​ไว้; แต่​คน​เกียจ​คร้าน​จะ​ต้อง​เป็น​คน​รับใช้​การ​งาน.” (สุภาษิต 12:24) คน​ที่​ขยัน​จะ​เจริญ​และ​ไม่​ต้อง​พึ่ง​พา​ผู้​อื่น​ทาง​การ​เงิน ส่วน​คน​เกียจ​คร้าน​จำ​ต้อง​ทำ​งาน​ที่​ใช้​แรง​กาย​และ​รับใช้​ผู้​อื่น. ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​ให้​คำ​อธิบาย​ว่า “ใน​ที่​สุด​แล้ว คน​เกียจ​คร้าน​จะ​กลาย​เป็น​ทาส​ของ​คน​ขยัน.”

‘ถ้อย​คำ​ที่​ทำ​ให้​หัวใจ​ชื่นชม’

กษัตริย์​ซะโลโม​กลับ​ไป​ให้​ข้อ​คิด​ต่อ​ใน​เรื่อง​ถ้อย​คำ​ที่​ได้​จาก​การ​เฝ้า​สังเกต​ธรรมชาติ​ของ​มนุษย์. “ความ​กระวนกระวาย​ใน​หัวใจ​คน​จะ​ทำ​ให้​หัวใจ​ท้อ​แท้ แต่​ถ้อย​คำ​ที่​ดี​จะ​ทำ​ให้​หัวใจ​ชื่นชม.”สุภาษิต 12:25, ล.ม.

ความ​กระวนกระวาย​และ​ความ​วิตก​กังวล​หลาย​อย่าง​อาจ​ทำ​ให้​หัวใจ​ห่อเหี่ยว. สิ่ง​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​บรรเทา​และ​ทำ​ให้​หัวใจ​ชื่น​บาน​ก็​คือ​ถ้อย​คำ​ที่​ดี​ซึ่ง​ให้​กำลังใจ​จาก​คน​ที่​มี​ความ​เข้าใจ. แต่​คน​อื่น​จะ​รู้​ถึง​ความ​ว้าวุ่น​ใจ​ของ​เรา​ว่า​มี​มาก​แค่​ไหน​ได้​อย่าง​ไร​ถ้า​เรา​ไม่​เผย​ความ​รู้สึก​หรือ​พูด​ออก​มา? ถูก​แล้ว เมื่อ​เรา​มี​ความ​ทุกข์​กังวล​หรือ​ซึมเศร้า เรา​จำเป็น​ต้อง​เผย​ความ​ใน​ใจ​กับ​คน​ที่​สามารถ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​เรา​และ​ช่วย​เรา​ได้. นอก​จาก​นั้น การ​ได้​ระบาย​ความ​รู้สึก​ออก​มา​เป็น​คำ​พูด​ยัง​ช่วย​คลาย​ความ​ทุกข์​กังวล​ใจ. จึง​มี​ประโยชน์​ที่​จะ​เผย​ความ​รู้สึก​แก่​คู่​สมรส, บิดา​มารดา, หรือ​เพื่อน​ที่​มี​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​และ​มี​คุณวุฒิ​ฝ่าย​วิญญาณ.

ถ้อย​คำ​ที่​ให้​กำลังใจ​จาก​แหล่ง​ไหน​จะ​ดี​ไป​กว่า​ที่​มี​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล? ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ต้อง​เข้า​ใกล้​พระเจ้า​โดย​ตรึกตรอง​ด้วย​ความ​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​ใน​พระ​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระองค์. การ​ใคร่ครวญ​เช่น​นั้น​จะ​นำ​ความ​ชื่น​บาน​มา​สู่​หัวใจ​ที่​ห่อเหี่ยว​และ​นำ​ความ​สว่าง​มา​สู่​ดวง​ตา​ที่​เศร้า​หมอง​อย่าง​แน่นอน. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​กล่าว​ยืน​ยัน​ความ​จริง​ข้อ​นี้​ว่า “กฎหมาย​ของ​พระ​ยะโฮวา​ดี​รอบคอบ, เป็น​ที่​ให้​จิตต์​วิญญาณ​ฟื้น​ตื่น​ขึ้น; คำ​โอวาท​ของ​พระ​ยะโฮวา​ก็​แน่นอน, เตือน​สติ​คน​รู้​น้อย​ให้​มี​ปัญญา. ข้อ​สั่ง​สอน​ของ​พระยะโฮวา​นั้น​เที่ยง​ตรง, ทำ​ให้​จิตต์​วิญญาณ​ได้​ความ​ชื่น​บาน ข้อ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ก็​บริสุทธิ์, กระทำ​ให้​ดวง​ตา​กระจ่าง​สว่าง​ไป.”—บทเพลง​สรรเสริญ 19:7, 8.

ทาง​ที่​ให้​บำเหน็จ

โดย​เปรียบ​เทียบ​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ทาง​ของ​คน​ชอบธรรม​กับ​ทาง​ของ​คน​ชั่ว กษัตริย์​อิสราเอล​กล่าว​ว่า “คน​ชอบธรรม​สำรวจ​ทุ่ง​หญ้า​ของ​ตน แต่​ทาง​ของ​คน​ชั่ว​ช้า​ทำ​ให้​เขา​ต้อง​ร่อน​เร่.” (สุภาษิต 12:26, ล.ม.) คน​ชอบธรรม​ระมัดระวัง​ทุ่ง​หญ้า​ของ​ตน คือ​เพื่อน​และ​คน​ที่​เขา​คบหา. เขา​ทำ​การ​เลือก​อย่าง​สุขุม​รอบคอบ พยายาม​หลีก​เลี่ยง​การ​ติด​ต่อ​คบหา​ที่​จะ​นำ​ไป​สู่​อันตราย. แต่​ไม่​เป็น​เช่น​นั้น​กับ​คน​ชั่ว​ซึ่ง​ปฏิเสธ​คำ​แนะ​นำ​และ​ดึง​ดัน​ที่​จะ​ทำ​ตาม​วิถี​ทาง​ของ​ตน​เอง. เขา​จึง​ถูก​หลอก​และ​ร่อน​เร่.

จาก​นั้น กษัตริย์​ซะโลโม​ชี้​ให้​เห็น​ข้อ​แตกต่าง​ระหว่าง​คน​เกียจ​คร้าน​กับ​คน​ขยัน​ใน​อีก​แง่​มุม​หนึ่ง. ท่าน​กล่าว​ว่า “คน​เกียจ​คร้าน​จะ​จับ​เหยื่อ​ของ​เขา​ไม่​ได้ แต่​คน​ขยัน​ขันแข็ง​จะ​ได้​ทรัพย์​ศฤงคาร​ประเสริฐ.” (สุภาษิต 12:27, ฉบับ​แปล​ใหม่) “คน​เกียจ​คร้าน” ไม่ “จับ” หรือ “ปิ้ง” เหยื่อ. (ฉบับ​แปล นิว อินเตอร์​แนชันแนล) ที่​จริง​แล้ว เขา​ไม่​สามารถ​สาน​ต่อ​สิ่ง​ที่​ตน​เริ่ม​ให้​สำเร็จ. ตรง​กัน​ข้าม ความ​ขยัน​ขันแข็ง​มัก​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ใกล้​ชิด​กับ​ความ​มั่งคั่ง.

ความ​เกียจ​คร้าน​ก่อ​ผล​เสียหาย​ถึง​ขนาด​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เห็น​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​เขียน​ถึง​เพื่อน​คริสเตียน​ใน​เทสซาโลนีกา​และ​แก้ไข​บาง​คน​ที่​นั่น​ซึ่ง “ประพฤติ​เกะกะ” คือ​ไม่​ทำ​การ​งาน​อะไร​เลย แต่​เข้า​ไป​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ของ​คน​อื่น. คน​เหล่า​นั้น​เป็น​ภาระ​อย่าง​มาก​แก่​คน​อื่น ๆ. ด้วย​เหตุ​นั้น เปาโล​จึง​ให้​คำ​แนะ​นำ​แก่​พวก​เขา​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา กระตุ้น​เตือน​พวก​เขา​ให้ “กิน​อาหาร​ที่​ตน​หา​มา​เอง​ด้วย​การ​ทำ​งาน​อย่าง​สงบ.” และ​หาก​ใคร​ไม่​ยอม​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​เตือน​ที่​หนักแน่น​นี้ เปาโล​แนะ​นำ​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​ให้ “ปลีก​ตัว” คือ​ไม่​คบหา​กับ​พวก​เขา ซึ่ง​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เป็น​เรื่อง​ของ​การ​จำกัด​การ​คบหา​ทาง​สังคม.—2 เธซะโลนิเก 3:6-12, ล.ม.

เรา​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​คำ​แนะ​นำ​ของ​ซะโลโม​ไม่​ใช่​เฉพาะ​เรื่อง​การ​เป็น​คน​ขยัน​ขันแข็ง​เท่า​นั้น แต่​รวม​ถึง​คำ​แนะ​นำ​ของ​ท่าน​ที่​ให้​ใช้​ลิ้น​อย่าง​เหมาะ​สม​ด้วย. ขอ​ให้​เรา​พยายาม​ใช้​อวัยวะ​เล็ก ๆ นี้​เพื่อ​เยียว​ยา​และ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ชื่น​บาน​ใน​ขณะ​ที่​เรา​หลีก​เลี่ยง​ความ​ผิด​อัน​เกิด​จาก​ริมฝีปาก​และ​มุ่ง​ติด​ตาม​แนว​ทาง​อัน​ชอบธรรม. ซะโลโม​รับรอง​แก่​เรา​ว่า “ทาง​ของ​คน​ชอบธรรม​ก็​คือ​ชีวิต; และ​ใน​ทาง​นั้น​ไม่​มี​ความ​ตาย.”สุภาษิต 12:28.

[ภาพ​หน้า 27]

“ปราชญ์​ย่อม​ฟัง​คำ​แนะ​นำ”

[ภาพ​หน้า 28]

“ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญญา​ย่อม​รักษา​แผล​ให้​หาย”

[ภาพ​หน้า 29]

การ​เผย​ความ​รู้สึก​กับ​เพื่อน​ที่​วางใจ​ได้​จะ​ช่วย​คลาย​ความ​ทุกข์​กังวล

[ภาพ​หน้า 30]

การ​ตรึกตรอง​ด้วย​ความ​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​หัวใจ​ชื่น​บาน