ผมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทั่วโลก
เรื่องราวชีวิตจริง
ผมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทั่วโลก
เล่าโดยโรเบิร์ต นิสเบต
กษัตริย์โซบูซาที่ 2 แห่งสวาซิแลนด์ได้ให้การต้อนรับผมกับจอร์จน้องชาย ณ วังที่ประทับของท่าน. นั่นเป็นปี 1936 ถึงกระนั้น ผมยังจำการสนทนาได้แม่นยำ. สาเหตุที่ผมมีโอกาสสนทนากับกษัตริย์นานพอสมควรก็เพราะผมทำงานซึ่งเกี่ยวข้องการสอนพระคัมภีร์อย่างกว้างขวางมานานนั่นเอง. บัดนี้ ผมอายุ 95 ปีแล้ว ผมมองย้อนหลังด้วยความภูมิใจเนื่องจากได้มีส่วนร่วมในงานนี้ซึ่งเป็นเหตุที่ผมเดินทางไปถึงห้าทวีป.
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นในปี 1925 เมื่อนายดอบสัน คนเร่ขายใบชาเริ่มแวะเยี่ยมครอบครัวของเราที่เอดินบะระ สกอตแลนด์. ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กหนุ่มอายุไม่ถึง 20 และอยู่ในระหว่างฝึกงานเป็นคนปรุงยา. แม้ผมค่อนข้างเป็นเด็ก แต่ผมนึกห่วงกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ซึ่งสงครามโลกระหว่างปี 1914-1918 ได้ยังให้เกิดขึ้นแก่ครอบครัวและความเชื่อมั่นและกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา. จากการเยี่ยมคราวหนึ่ง นายดอบสันให้หนังสือแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ (ภาษาอังกฤษ) แก่พวกเรา. หนังสือเล่มนี้มีวิธีการนำเสนอเรื่องพระผู้สร้างที่ทรงปรีชาญาณ พร้อมด้วย “แผนการ” ที่กำหนดไว้แน่นอนเช่นนั้น ดูเหมือนสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับพระเจ้าองค์ที่ผมต้องการนมัสการ.
จากนั้นไม่นานผมกับคุณแม่ก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมของนักศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น. เดือนกันยายน 1926 ผมกับแม่ก็ได้แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยการจุ่มตัวมิดในน้ำ ณ การประชุมใหญ่ที่เมืองกลาสโกว์. แต่ละคนที่เสนอตัวเพื่อจะรับบัพติสมาได้รับแจกเสื้อคลุมยาวมีสายรัดที่ข้อเท้า ใช้สวมทับชุดอาบน้ำปกติของเราอีกชั้นหนึ่ง. ครั้งกระโน้นมองการได้สวมเสื้อคลุมยาวว่าเหมาะกับวาระสำคัญเช่นนั้น.
มาระโก 13:10 (ล.ม.) ที่ว่า “ข่าวดีจะต้องได้รับการประกาศในประเทศทั้งปวงก่อน.”
ในสมัยนั้น ความเข้าใจของเราในเรื่องต่าง ๆ มากมายจำเป็นต้องแก้ไขและปรับให้ถูกต้อง. สมาชิกประชาคมส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด ยังคงฉลองคริสต์มาสกันอยู่. มีไม่กี่คนได้ออกไปประกาศตามบ้าน. แม้แต่ผู้ปกครองบางคนก็ได้คัดค้านการจำหน่ายหนังสือในวันอาทิตย์ด้วยซ้ำ เพราะเขารู้สึกว่าการทำเช่นนั้นละเมิดวันซะบาโต. แต่บทความในหอสังเกตการณ์ ปี 1925 เริ่มเน้นมากขึ้นเกี่ยวด้วยความสำคัญของข้อคัมภีร์บางข้อ อาทิงานที่ดำเนินตลอดทั่วโลกนั้นจะสำเร็จลุล่วงได้อย่างไร? เมื่อผมพยายามเข้าร่วมในงานประกาศตามบ้านแบบง่าย ๆ ครั้งแรกนั้น ผมพูดกับเจ้าของบ้านแต่เพียงว่าผมกำลังขายหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับศาสนา และเสนอหนังสือพิณของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งอธิบายคำสอนสำคัญสิบประการของพระคัมภีร์ เปรียบคำสอนเหล่านั้นเหมือนพิณสิบสาย. ต่อมา พวกเรามีบัตรพิมพ์คำพยาน ซึ่งเสนอข่าวสารสั้น ๆ ให้เจ้าของบ้านอ่าน. นอกจากนั้น เราใช้หีบเสียงแบบกระเป๋าหิ้วเล่นแผ่นเสียงบันทึกคำบรรยายนานสี่นาทีครึ่ง. รุ่นแรกที่ออกมาหนักเอาการ แต่รุ่นที่ออกทีหลังมีน้ำหนักเบากว่า และเมื่อวางในแนวตั้งก็สามารถเปิดเล่นได้ด้วยซ้ำ.
จากปี 1925 และย่างเข้าทศวรรษ 1930 เราให้คำพยานในวิธีที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดเท่าที่เราทำได้. ครั้นมาถึงช่วงต้นทศวรรษ 1940 ก็เริ่มมีโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าในทุกประชาคม. พวกเราได้เรียนวิธีให้คำพยานเรื่องข่าวสารราชอาณาจักรแก่เจ้าของบ้านโดยตรง แทนการใช้บัตรหรือเปิดแผ่นเสียงให้ฟัง. เรายังได้เรียนรู้ความสำคัญของการนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับผู้สนใจอีกด้วย. ในแง่หนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของงานให้ความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลทั่วโลก อย่างที่ทำกันในปัจจุบัน.
การหนุนกำลังใจจากบราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ด
ผมปรารถนาจะมีส่วนมากขึ้นในงานให้ความรู้จึงได้ลงชื่อสมัครเป็นไพโอเนียร์รับใช้เต็มเวลาในปี 1931. ผมกำหนดตารางเวลาไว้ว่าจะเริ่มรับใช้ทันทีหลังการประชุมใหญ่ที่กรุงลอนดอน. อย่างไรก็ตาม ระหว่างพักกินอาหารกลางวัน บราเดอร์โจเซฟ รัทเทอร์ฟอร์ดผู้ดูแลกิจการสมัยนั้นขอพูดกับผม. ท่านมีแผนการส่งไพโอเนียร์คนหนึ่งไปแอฟริกา. ท่านถามผมว่า “คุณเต็มใจไปไหม?” ทั้ง ๆ ที่ตกตะลึงอยู่บ้าง แต่ผมก็ตอบรับอย่างหนักแน่นว่า “ครับ ผมจะไป.”
สมัยนั้น เป้าหมายหลักของเราคือจำหน่ายสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลให้มากเท่าที่เป็นไปได้ และนั่นหมายถึงการเดินทางไปเรื่อย ๆ. ผมได้รับการหนุนใจให้ครองตัวเป็นโสด เหมือนพี่น้องส่วนใหญ่สมัยนั้นที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงาน. เขตงานของผมเริ่มต้นที่เมืองเคปทาวน์ บนพื้นที่ใต้สุดของแอฟริกา และแผ่ไปทางตะวันออกของทวีป รวมถึงเกาะต่าง ๆ ทางชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย. ที่จะไปถึงพรมแดนด้านตะวันตก ผมต้องเดินทางข้ามทะเลทรายคาลาฮาริที่ร้อนระอุและขึ้นเหนือไปจนถึงต้นแม่น้ำไนล์ตรงทะเลสาบวิกตอเรีย. ปีหนึ่ง ๆ ผมกับเพื่อนร่วมงานต้องใช้เวลาหกเดือนอยู่ในประเทศหนึ่งหรือมากกว่านั้นในแอฟริกาซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล.
ทรัพย์มากมายฝ่ายวิญญาณอัดแน่นอยู่ในสองร้อยกล่อง
เมื่อไปถึงเคปทาวน์ ผมพบว่ามีหนังสือสองร้อยกล่องสำหรับแอฟริกาตะวันออก. สรรพหนังสือเหล่านั้นพิมพ์ออกมาสำหรับคนยุโรปสี่ภาษาและสำหรับคนเอเชียสี่ภาษา แต่ไม่มีภาษาแอฟริกาเลย. ครั้นผมไต่ถามว่าทำไมหนังสือเหล่านั้นทั้งหมดมาอยู่ที่นั่นก่อนผมมาถึงเสียด้วยซ้ำ คำตอบคือมีการส่งหนังสือเหล่านี้ให้แฟรงก์กับเกรย์ สมิท สองพี่น้องไพโอเนียร์ซึ่งเพิ่งเดินทางไปประกาศที่เคนยาก่อนหน้านี้. เมื่อเขาไปถึงเคนยาได้ไม่นาน ทั้งสองคนป่วยเป็นไข้มาลาเรีย และน่าเศร้าที่แฟรงก์ถึงแก่ชีวิตเสียแล้ว.
ถึงแม้ข่าวนี้ทำให้ผมต้องใคร่ครวญสภาพการณ์ของตัวเองอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค. ผมกับเดวิด นอร์มัน เพื่อนร่วมงานได้ลงเรือจากเคปทาวน์ไปยังเขตงานแรกของเราในแทนซาเนีย ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร. ตัวแทนจัดการเดินทางในมอมบาซา ประเทศเคนยา เป็นผู้ดูแลคลังหนังสือของเรา และจะส่งต่อไปยังปลายทางให้เราตามความประสงค์. ตอนแรก ๆ เราให้คำพยานในย่านธุรกิจ เช่น ห้างร้านและสำนักงานในแต่ละเมือง. เราจัดหนังสือ
จำหน่ายด้วยการแยกเป็นชุด ชุดหนึ่งมีปกแข็ง 9 เล่ม เล่มเล็ก 11 เล่ม เนื่องจากหนังสือเหล่านั้นมีสีสันต่างกันหลากหลาย จึงกลายเป็นที่รู้จักกันว่าชุดสีรุ้ง.ถัดจากนั้น เราตกลงกันไปที่เกาะแซนซิบาร์ ห่างจากฝั่งทะเลทางตะวันออกราว 30 กิโลเมตร. เกาะแซนซิบาร์เคยเป็นศูนย์กลางการค้าทาสอยู่นานหลายร้อยปี แต่เป็นแหล่งกานพลูที่ขึ้นชื่อด้วย ซึ่งเราได้กลิ่นทุกหนทุกแห่งทั่วเมือง. เรารู้สึกกลัวอยู่บ้างเมื่อไปไหนมาไหนในเมือง เนื่องจากขาดการวางผังเมืองที่ดี. ถนนคดเคี้ยวเลี้ยวไปเลี้ยวมา และการจะหลงทางนั้นเป็นไปได้ง่าย. โรงแรมที่เราพักให้ความสะดวกพอสมควร ทว่าใช้ตาปูหัวใหญ่ตอกประดับประตูและผนังห้องหนาทึบจึงดูคล้ายห้องขังเสียมากกว่า. ถึงอย่างไร งานของเราที่นั่นเกิดผลดี และดีใจเมื่อพบชาวอาหรับ, ชาวภารต, และคนอื่น ๆ ที่เต็มใจรับสรรพหนังสือของเรา.
รถไฟ, เรือ, และรถยนต์
สมัยนั้นการเดินทางในแอฟริกาตะวันออกไม่ง่าย. อย่างเช่น ระหว่างที่เราเดินทางจากมอมบาซาสู่ภูมิประเทศแถบภูเขาในเคนยา รถไฟของเราจำต้องหยุดวิ่งเพราะภัยจากฝูงตั๊กแตน. ฝูงตั๊กแตนมากมายนับล้าน ๆ ตัวปกคลุมทั่วทุกแห่งทั้งบนพื้นดินและบนทางรถไฟ ทำให้รางรถไฟลื่นจนหัวรถจักรไม่อาจลากขบวนรถไปได้. ทางเดียวเท่านั้นที่แก้ได้คือเอาน้ำร้อนจากหัวรถจักรฉีดล้างรางเสียก่อน. การแก้ปัญหาวิธีนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้าจนกระทั่งในที่สุดรถก็พาเราผ่านพ้นตั๊กแตนจำนวนมากมายไปได้. และเรารู้สึกโล่งใจเพียงใดเมื่อรถไฟเริ่มไต่ขึ้นที่สูงและได้สูดกลิ่นไอที่เย็นกว่าของภูมิอากาศบนภูเขา!
ถึงแม้การเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ตามชายฝั่งโดยรถไฟและเรือนั้นสะดวก แต่ที่จะไปให้ถึงท้องถิ่นในชนบทโดยรถยนต์นั้นดีที่สุด. ผมดีใจเมื่อมีจอร์จน้องชายมาสมทบด้วย เพราะตอนนั้นเราสามารถซื้อรถตู้คันใหญ่พอสมควร ใหญ่พอที่จะตั้งเตียง, มีที่ทำครัว, ที่เก็บข้าวของ, และมีหน้าต่างแบบกันยุงได้. นอกจากนั้น เราติดตั้งเครื่องขยายเสียงไว้บนหลังคาด้วย. เมื่อเตรียมพร้อมแล้วเช่นนี้ เราสามารถออกไปประกาศตามบ้านตอนกลางวัน และเชิญชวนประชาชนมาฟังการบรรยายตอนเย็น ณ บริเวณตลาด. เราเปิดแผ่นเสียงเรื่องที่คนชอบฟังคือ “นรกร้อนไหม?” เราเดินทางเที่ยวหนึ่งจากแอฟริกาใต้ไปเคนยา ระยะทาง 3,000 กิโลเมตรด้วย “บ้านเคลื่อนที่” ของเรา และรู้สึกดีใจว่าตอนนั้นเรามีหนังสือเล่มเล็กหลายอย่างเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ในแอฟริกา ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นรับไปจากเราด้วยความตื่นเต้น.
ประสบการณ์ซึ่งยังความเพลิดเพลินยินดีแก่เราระหว่างการเดินทางแบบนี้อยู่ตรงที่เราสามารถเห็นชีวิตสัตว์ป่าแอฟริกา. แน่นอน เพื่อความปลอดภัย เราไม่ออกไปนอกรถในยามค่ำคืน แต่การได้เห็นความแตกต่างหลากหลายท่ามกลางสัตว์ประเภทต่าง ๆ อันเป็นผลงานการสร้างของพระยะโฮวาในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเช่นนี้เป็นการเสริมความเชื่อจริง ๆ.
การขัดขวางเริ่มขึ้น
แม้เราต้องคอยระแวดระวังสัตว์ป่า แต่ไม่อาจจะเทียบได้กับสิ่งที่เราจำต้องทำเมื่อเผชิญเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลาย
รูปแบบ อีกทั้งผู้นำศาสนาบางคนที่รู้สึกเดือดดาลซึ่งเริ่มขัดขวางงานประกาศราชอาณาจักรของเราอย่างโจ่งแจ้งทีเดียว. เราต้องสู้อุปสรรคใหญ่กับคนหนึ่งซึ่งคลั่งไคล้หลงเรียกตัวเองว่า มวานา ลีซา ซึ่งมีความหมายว่า “บุตรของพระเจ้า” และกลุ่มของเขาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อคิทาวาลา น่าเสียใจที่คำนี้มีความหมายว่า “ว็อชเทาเวอร์.” ช่วงหนึ่งก่อนพวกเราไปถึงที่นั่น ชายคนนี้ได้กดคอชาวแอฟริกาจมน้ำตายไปแล้วหลายคน โดยอ้างว่าเขาให้คนเหล่านั้นรับบัพติสมา. ลงท้ายเขาถูกจับและถูกแขวนคอ. ภายหลังผมมีโอกาสได้คุยกับเพชฌฆาตที่แขวนคอมวานา ลีซา ชี้แจงให้เขาเข้าใจว่านักโทษคนนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสมาคมว็อชเทาเวอร์ของเรา.อนึ่ง เรามีเรื่องยุ่งยากกับชาวยุโรปหลายคนที่ไม่สบายใจเพราะงานให้ความรู้ของเรา ส่วนใหญ่เป็นเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องเงิน. ผู้จัดการโรงเก็บสินค้าคนหนึ่งบ่นว่า “เพื่อที่คนผิวขาวจะอยู่ในประเทศนี้ต่อไปได้ จะต้องไม่ให้คนแอฟริการู้ทันว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างต่ำอย่างไม่เป็นธรรม.” ด้วยเหตุผลเดียวกัน ผู้จัดการบริษัททำเหมืองทองคำออกคำสั่งเฉียบขาดไล่ผมออกไปจากห้องทำงาน. เขายังคงกราดเกรี้ยวและคุมตัวผมตลอดทางกระทั่งถึงถนนใหญ่.
ไม่ต้องสงสัย อิทธิพลส่วนใหญ่มาจากผู้ต่อต้านขัดขวางซึ่งเป็นฝ่ายศาสนาและการค้า ในที่สุดรัฐบาลโรดีเซีย (ปัจจุบันคือซิมบับเว) ได้สั่งขับพวกเราออกนอกประเทศ. พวกเรายื่นอุทธรณ์ค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และประสบผลสำเร็จโดยได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อ แต่วางเงื่อนไขห้ามพวกเราประกาศแก่คนแอฟริกา. เจ้าหน้าที่นายหนึ่งให้เหตุผลว่าหนังสือของเรา “ไม่เหมาะกับความคิดของคนแอฟริกา.” อย่างไรก็ดี ในประเทศอื่นงานของเราเพื่อให้ความรู้แก่ชาวแอฟริกาก็คงดำเนินต่อไปโดยไม่ถูกขัดขวาง แถมเป็นที่ยอมรับด้วยซ้ำ. หนึ่งในประเทศเหล่านี้คือสวาซิแลนด์.
กษัตริย์ให้การต้อนรับสู่สวาซิแลนด์
สวาซิแลนด์เป็นประเทศเล็ก ๆ ปกครองตัวเอง มีเนื้อที่ 17,364 ตารางกิโลเมตร อยู่ภายในประเทศแอฟริกาใต้. ที่นี่เราได้รู้จักกษัตริย์โซบูซาที่ 2 ซึ่งพูดจาฉะฉาน ดังได้กล่าวตอนต้นของเรื่องนี้. ท่านเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เนื่องจากเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ. ท่านแต่งกายไม่เป็นทางการ ต้อนรับพวกเราด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี.
ระหว่างการสนทนา เราเพ่งเล็งแต่เรื่องอุทยานบนแผ่นดินโลก ซึ่งพระเจ้าทรงมุ่งหมายจะให้คนที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องได้อยู่อาศัย. ถึงแม้ไม่ให้ความสนพระทัยต่อเรื่องนี้มากนัก แต่ท่านก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าทรงคำนึงถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก. กษัตริย์องค์นี้สนพระทัยจะปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนจนและคนที่ไม่ได้เล่าเรียนให้ดีขึ้น. ท่านไม่ชอบการทำงานของพวกมิชชันนารีของคริสต์ศาสนจักร ซึ่งดูเหมือนสนใจเพียงการเพิ่มจำนวนสมาชิกโบสถ์มากกว่าจะให้การศึกษาแก่ประชาชน. อย่างไรก็ดี กษัตริย์ทราบดีเกี่ยวกับกิจกรรมที่ไพโอเนียร์หลายคนได้ทำไป และตรัสชมพวกเราที่ดำเนินงานให้ความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่พวกเราเต็มใจทำงานนี้โดยไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนหรือพันธะผูกมัดใด ๆ.
การเร่งการสอนด้านคัมภีร์ไบเบิลให้เร็วยิ่งขึ้น
การก่อตั้งโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดเมื่อปี 1943 ก็เพื่อฝึกอบรมมิชชันนารี. มีการเน้นให้ติดตามช่วยเหลือเมื่อพบผู้สนใจทุกราย และไม่เพียงแต่มุ่งจำหน่ายสรรพหนังสือที่อธิบายคัมภีร์ไบเบิล. ปี 1950 ผมกับจอร์จได้รับเชิญให้เข้าโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่ 16. ผมพบจีน ไฮด์เป็นครั้งแรกที่นี่ เธอเป็นซิสเตอร์ที่ซื่อสัตย์จากออสเตรเลีย และถูกมอบหมายไปทำงานมิชชันนารีที่ญี่ปุ่นหลังจากที่เราสองคนเรียนจบหลักสูตร. เวลานั้น การครองตัวเป็นโสดยังเป็นเรื่องที่นิยมกัน ดังนั้น มิตรภาพระหว่างเราจึงไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน.
ภายหลังการฝึกอบรมที่กิเลียด ผมกับจอร์จได้รับมอบงานมิชชันนารีไปที่มอริเชียส เกาะหนึ่งในมหาสมุทรอินเดีย. เราผูกมิตรกับประชาชน, เรียนภาษาของเขา, และนำการศึกษาพระคัมภีร์กับเขาที่บ้าน. ต่อมา น้องชายผมคือวิลเลียมพร้อมด้วยภรรยาชื่อมิวรีเอลก็สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกิเลียดเช่นเดียวกัน. ทั้งสองถูกส่งไปยังเขตงานที่ผมเคยประกาศมาก่อน นั่นคือเคนยา.
แปดปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ครั้นแล้ว ณ การประชุมนานาชาติที่นครนิวยอร์ก ปี 1958 ผมได้พบจีน ไฮด์อีกครั้งหนึ่ง. เราฟื้นมิตรภาพขึ้นมาใหม่แล้วตกลงหมั้นกัน. สำหรับผม เขตงานมอบหมายงานมิชชันนารีเปลี่ยนจากเกาะมอริเชียสไปเป็นประเทศญี่ปุ่น แล้วจีนกับผมก็แต่งงานกันที่นั่นในปี 1959. เรามีความสุขมากในช่วงนั้นเมื่อเราเริ่มทำงานมิชชันนารีในเมืองฮิโรชิมา ซึ่งตอนนั้นมีเพียงหนึ่งประชาคมเล็ก ๆ. ปัจจุบัน มี 36 ประชาคมในเมืองนั้น.
ซาโยนาระ—อำลาญี่ปุ่น
หลายปีผ่านไป ปัญหาด้านสุขภาพของเราสองคนเริ่มทำให้งานรับใช้ของเราฐานะมิชชันนารีชักจะยากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดเราจำต้องลาจากญี่ปุ่นและย้ายไปอยู่ออสเตรเลียบ้านเกิดของจีน. วันที่เราออกจากเมืองฮิโรชิมานั้นเป็นวันแสนเศร้า. ที่ชานชาลาสถานีรถไฟ เราได้กล่าวอำลามิตรสหายทุกคนซึ่งเป็นที่รักของเราด้วยคำว่าซาโยนาระ.
ปัจจุบันเรามีหลักแหล่งอยู่ในออสเตรเลีย และใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีจำกัดให้ดีที่สุด เรายังคงทำงานรับใช้พระยะโฮวาอย่างต่อเนื่องกับประชาคมอาร์มิเดลในรัฐนิวเซาท์เวลส์. นับว่าเป็นความชื่นชมอย่างแท้จริงที่ได้แบ่งปันความจริงของคัมภีร์ไบเบิลอันมีค่ายิ่งให้แก่ผู้คนมากหลายมานานเกือบ 80 ปี! ผมได้เห็นการเจริญเติบโตอย่างน่าพิศวงด้านโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล และได้เป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในแง่มุมฝ่ายวิญญาณด้วยตัวเอง. ไม่มีคนใดหรือหมู่คณะใด ๆ อาจอ้างสิทธิเรียกร้องการสรรเสริญเยินยอสำหรับผลสำเร็จเหล่านี้. แท้จริง ขอยืมถ้อยแถลงของท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญมากล่าวที่ว่า “นี่แหละเป็นกิจการของพระยะโฮวา; เป็นการอัศจรรย์ต่อลูกตาของพวกข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 118:23.
[ภาพหน้า 28]
จอร์จน้องชายผมกับรถคันที่เป็นบ้านของเรา
[ภาพหน้า 28]
ผมเมื่ออยู่ที่ทะเลสาบวิกตอเรีย
[ภาพหน้า 29]
นักเรียนชั้นมัธยมที่ได้ฟังคำบรรยายสาธารณะในสวาซิแลนด์ ปี 1938
[ภาพหน้า 30]
กับจีนในวันแต่งงานของเราปี 1959 และในปัจจุบัน