ความกรุณารักใคร่สำคัญอย่างไร?
ความกรุณารักใคร่สำคัญอย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลแถลงว่า “สิ่งที่น่าปรารถนาในปุถุชนคือความกรุณารักใคร่.” (สุภาษิต 19:22, ล.ม.) อันที่จริง การปฏิบัติอย่างกรุณาโดยมีความรักเป็นแรงกระตุ้นนั้นน่าปรารถนาจริง ๆ. แต่คำ “ความกรุณารักใคร่” ในคัมภีร์ไบเบิลพาดพิงถึงความกรุณาที่อาจอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว เป็นต้นว่า ความกรุณาอันเนื่องมาจากอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มแสดงความกรุณาก่อน. ฉะนั้น ความกรุณารักใคร่จึงรวมเอาความคิดในแง่ของความจงรักภักดีไว้ด้วย.
กษัตริย์โยอาศแห่งยูดาห์ไม่ได้พัฒนาคุณสมบัติอันน่าปรารถนานี้เลย. ท่านเป็นหนี้บุญคุณอย่างใหญ่หลวงต่อราชปิตุจฉา [อาสาว] และยะโฮยาดาปิตุลภรรดา [อาเขย] ของท่าน. เมื่อพระชนมายุโยอาศยังไม่ครบหนึ่งพรรษา อัยกีของท่านซึ่งชั่วร้ายมากได้ตั้งตนเป็นราชินีและสังหารเชษฐาทุกองค์ของโยอาศ ผู้ซึ่งเป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์. แต่พระนางสังหารโยอาศไม่สำเร็จ เพราะอาสาวและอาเขยได้ซ่อนโยอาศและอารักขาไว้อย่างระแวดระวัง อีกทั้งได้สั่งสอนท่านในเรื่องพระบัญญัติของพระเจ้า. เมื่อโยอาศมีพระชนม์เจ็ดพรรษา อาเขยของท่านได้ใช้อำนาจในฐานะมหาปุโรหิตสำเร็จโทษราชินีที่ชั่วร้าย และตั้งโยอาศขึ้นครองเป็นกษัตริย์.—2 โครนิกา 22:10–23:15.
โยอาศกษัตริย์วัยเยาว์ทรงปกครองด้วยจริยวัตรอันดีงามจนกระทั่งอาเขยของท่านสิ้นชีวิต แต่แล้วท่านหันไปนมัสการรูปเคารพ. พระเจ้าทรงใช้ซะคาระยาบุตรชายยะโฮยาดาให้เตือนสติโยอาศเกี่ยวด้วยการออกหากของท่าน. แต่โยอาศกลับสั่งให้เอาหินขว้างซะคาระยาถึงตาย. ช่างเป็นการกระทำอย่างไม่ซื่อสัตย์ภักดีที่น่าสะเทือนใจเสียจริง ๆ ต่อครอบครัวที่ท่านเป็นหนี้บุญคุณอย่างใหญ่หลวง!—2 โครนิกา 24:17-21.
คัมภีร์ไบเบิลแจ้งว่า “กษัตริย์โยอาศได้ฆ่าบุตรชายของยะโฮยาดาเสียโดยมิได้คิดถึงบุญคุณ [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] บิดาของผู้นั้น [ซะคาระยา] เลย.” ขณะจวนจะสิ้นใจ ซะคาระยากล่าวดังนี้: “พระยะโฮวาทรงเห็นและทรงพิพากษาเถิด.” จริงตามถ้อยคำของซะคาระยา โยอาศประชวรหนัก แล้วพวกมหาดเล็กของท่านเองได้ฆ่าท่านเสีย.—2 โครนิกา 24:17-25.
แทนที่จะประสบจุดจบเยี่ยงกษัตริย์โยอาศ บรรดาผู้ซึ่งปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ของคัมภีร์ไบเบิลจะมีอนาคตที่เต็มด้วยพระพร: “อย่าให้ความกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] และความจริงละจากตัวเจ้าไป. . . . เจ้าจะได้พบการสงเคราะห์ . . . เฉพาะพระเนตรพระเจ้าและต่อตามนุษย์.”—สุภาษิต 3:3, 4.