“จงรักษาสติรู้สึกผิดชอบอันดีไว้”
“จงรักษาสติรู้สึกผิดชอบอันดีไว้”
“สุดแล้วแต่สติรู้สึกผิดชอบของคุณก็แล้วกัน” เป็นคำแนะนำที่ได้ยินบ่อย. แต่เพื่อสติรู้สึกผิดชอบจะนำทางเราอย่างที่ไว้ใจได้ ก็จำต้องฝึกสติรู้สึกผิดชอบของเราให้รู้ว่าไหนถูกไหนผิด และเราเองก็ต้องไวต่อการชี้นำของสติรู้สึกผิดชอบ.
ขอพิจารณาประสบการณ์ของชายที่ชื่อซักคาย ตามบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล. ซักคายอาศัยอยู่ในเมืองเยริโค (ยะริโฮ) เป็นหัวหน้าคนเก็บภาษีและร่ำรวย. ตามที่เขาเองยอมรับ เขามั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้เพราะการขูดรีด ซึ่งเป็นกิจปฏิบัติที่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้อื่น. สติรู้สึกผิดชอบของซักคายรบกวนเขาหรือเปล่าเนื่องด้วยการกระทำอย่างไม่เป็นธรรม? หากรบกวนจริง ก็ดูเหมือนว่าเขาทำเป็นไม่รู้ไม่ใส่ใจ.—ลูกา 19:1-7.
อย่างไรก็ดี มีสถานการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ซักคายหวนมาพิจารณาแนวทางของตัวเอง. พระเยซูได้เสด็จมาที่เมืองเยริโค. ซักคายซึ่งเป็นคนตัวเตี้ยอยากจะเห็นพระองค์ แต่ไม่สามารถเห็นพระองค์ได้เพราะคนแน่น. ดังนั้น เขาวิ่งไปข้างหน้าก่อนและปีนขึ้นต้นไม้เพื่อจะได้เห็นพระองค์ถนัด. เนื่องจากพระเยซูรู้สึกประทับใจในความสนใจอันแรงกล้าของซักคาย จึงได้ตรัสว่าพระองค์จะเสด็จเยี่ยมที่บ้านของเขา. ซักคายก็แสดงน้ำใจรับรองอาคันตุกะที่มีชื่อเสียงด้วยความยินดี.
สิ่งที่ซักคายได้เห็นได้ยินขณะอยู่กับพระเยซูนั้นมีผลกระทบถึงหัวใจของเขาและกระตุ้นเขาให้เปลี่ยนแนวทาง. เขาประกาศว่า “พระองค์เจ้าข้า, ทรัพย์สิ่งของของข้าพเจ้า ๆ ยอมให้คนอนาถากึ่งหนึ่ง และถ้าข้าพเจ้าได้ฉ้อโกงของของผู้ใด, ข้าพเจ้ายอมคืนให้เขาสี่เท่า.”—ลูกา 19:8.
สติรู้สึกผิดชอบของซักคายได้รับการชี้นำให้สำนึก และเขายอมฟังพร้อมกับตอบรับต่อการชี้นำนั้น. มีผลดีเกิดขึ้นมากมาย. นึกภาพดูซิว่าซักคายรู้สึกอย่างไรเมื่อพระเยซูตรัสแก่เขาว่า “วันนี้ความรอดมาถึงบ้านนี้แล้ว!”—ลูกา 19:9.
ช่างเป็นตัวอย่างที่หนุนใจอะไรเช่นนี้! เรื่องนี้แสดงว่าถึงแม้เมื่อก่อนเราเคยมุ่งติดตามแนวทางใด ๆ ก็ตาม แต่เราเปลี่ยนได้. เช่นเดียวกับซักคาย เราสามารถเอาใจใส่คำตรัสของพระเยซูที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิล และพัฒนาความสำนึกของเราในเรื่องถูกและผิด. ครั้นแล้ว เราจะสามารถ “รักษาสติรู้สึกผิดชอบอันดีไว้” อย่างที่อัครสาวกเปโตรได้กระตุ้นเรา. เราสามารถฟังสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกและทำสิ่งที่ถูกต้องได้.—1 เปโตร 3:16, ล.ม.