ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำถามจากผู้อ่าน

คำถามจากผู้อ่าน

คำ​ถาม​จาก​ผู้​อ่าน

ทำไม​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 เมษายน 2002 หน้า 11 วรรค 7 กล่าว​ว่า การ​รับ​บัพติสมา​ด้วย​การ​จุ่ม​ตัว​ใน​น้ำ​ของ​ชาว​ยิว​ที่​เพิ่ง​เข้า​มา​เชื่อถือ ณ วัน​เพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 เป็น​สัญลักษณ์​ของ “การ​อุทิศ​ตัว​เขา​เอง​แด่​พระเจ้า​โดย​ทาง​พระ​คริสต์” ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​นี้​เคย​เชื่อ​ว่า​การ​รับ​บัพติสมา​ของ​ชาว​ยิว​ใน​ช่วง ส.ศ. 33 ถึง ส.ศ. 36 ไม่​ได้​เรียก​ร้อง​การ​อุทิศ​ตัว​เป็น​ส่วน​ตัว​ดัง​กล่าว?

ณ ปี 1513 ก่อน​สากล​ศักราช พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​เปิด​โอกาส​ให้​ชาว​อิสราเอล​เข้า​มา​เป็น​ชาติ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์​โดย​วาง​เงื่อนไข​ว่า​พวก​เขา​ต้อง ‘เชื่อ​ฟัง​เสียง​ของ​พระองค์​อย่าง​เคร่งครัด​และ​รักษา​สัญญา​ไมตรี​ของ​พระองค์.’ คน​ทั้ง​ปวง​ได้​ตอบ​ว่า “สิ่ง​ทั้ง​ปวง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​ตรัส พวก​เรา​เต็ม​ใจ​จะ​ทำ.”—เอ็กโซโด 19:3-8, ล.ม.; 24:1-8.

โดย​การ​ยินยอม​ทำ​ตาม​ข้อ​เรียก​ร้อง​แห่ง​สัญญา​ไมตรี​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ ชาติ​อิสราเอล​จึง​ได้​อุทิศ​ตัว​แด่​พระเจ้า. ชาว​ยิว​ชั่ว​อายุ​ต่อ ๆ มา​เกิด​ใน​ชาติ​นี้​ที่​ได้​อุทิศ​ไว้​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​รับ​บัพติสมา​ของ​ชาว​ยิว​ที่​เข้า​มา​เป็น​สาวก​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ตั้ง​แต่​วัน​เพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 เป็น​ต้น​มา​นั้น ไม่​ได้​เป็น​แค่​การ​เสนอ​ตัว​เอง​ต่อ​พระเจ้า​ฐานะ​สมาชิก​ของ​ชาติ​ที่​ได้​อุทิศ​แล้ว แต่​เป็น​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​ของ​เขา​แด่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ภาย​ใต้​สัมพันธภาพ​ใหม่​กับ​พระองค์​โดย​ทาง​พระ​เยซู​คริสต์. เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร?

ภาย​หลัง​การ​เท​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ลง​บน​สาวก​ประมาณ 120 คน​ที่​ได้​มา​ชุมนุม​กัน ณ วัน​เพนเทคอสต์ ปี 33 ส.ศ. ที่​ห้อง​ชั้น​บน​ใน​กรุง​เยรูซาเลม อัครสาวก​เปโตร​ได้​ยืน​ขึ้น​และ​ตั้ง​ต้น​ประกาศ​แก่​ฝูง​ชน​ชาว​ยิว​และ​คน​ที่​เปลี่ยน​มา​นับถือ​ศาสนา​ยิว​ซึ่ง​จับ​กลุ่ม​มุง​ดู​เหตุ​การณ์​ครั้ง​นั้น. หลัง​การ​ให้​คำ​พยาน​อย่าง​ถี่ถ้วน​แล้ว ท่าน​ได้​กล่าว​ต่อ​คน​ยิว​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​รู้สึก​ละอายใจ​ว่า “จง​กลับ​ใจ​เสีย​ใหม่​และ​รับ​บัพติศมา​ใน​นาม​แห่ง​พระ​เยซู​คริสต์​สิ้น​ทุก​คน, เพื่อ​ความ​ผิด​บาป​ของ​ท่าน​จะ​ทรง​ยก​เสีย.” เพื่อ​ตอบ​สนอง​คำ​กระตุ้น​เตือน​ต่อ​ไป​ของ​เปโตร “ชน​ทั้ง​หลาย​ซึ่ง​ได้​รับ​คำ​ของ​เปโตร​ก็​รับ​บัพติศมา และ​ใน​วัน​นั้น​มี​คน​เข้า​เป็น​สาวก​ประมาณ​สาม​พัน​คน.”—กิจการ 2:1-41.

คน​ยิว​เหล่า​นั้น​ที่​รับ​บัพติสมา​ภาย​หลัง​การ​กระตุ้น​เตือน​จาก​เปโตร​ทุก​คน​เป็น​สมาชิก​ของ​ชาติ​ที่​ได้​อุทิศ​แล้ว​มิ​ใช่​หรือ? พวก​เขา​มี​สัมพันธภาพ​ที่​อุทิศ​แด่​พระเจ้า​แล้ว​มิ​ใช่​หรือ? เปล่า​เลย. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า ‘พระเจ้า​ทรง​ยก​เอา​พระ​บัญญัติ​นั้น​ไป​เสีย​โดย​การ​ตอก​ไว้​บน​หลัก​ทรมาน.’ (โกโลซาย 2:14, ล.ม.) เพราะ​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์​ใน​ปี ส.ศ. 33 พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ยก​เลิก​สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ อัน​เป็น​พื้น​ฐาน​สำคัญ​เพียง​อย่าง​เดียว​ที่​ทำ​ให้​ชาติ​อิสราเอล​มี​สัมพันธภาพ​ที่​อุทิศ​แล้ว​กับ​พระองค์. ชาติ​ที่​ได้​ปฏิเสธ​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​มา​ถึง​ตอน​นี้กลับ​ถูก​พระเจ้า​ปฏิเสธ​เสีย​เอง. “พวก​ยิศราเอล​ตาม​เนื้อหนัง” จึง​ไม่​อาจ​ถือ​สิทธิ์​อ้าง​ตัว​เป็น​ชาติ​ที่​อุทิศ​แล้ว​แด่​พระเจ้า​ได้​อีก​ต่อ​ไป.—1 โกรินโธ 10:18; มัดธาย 21:43.

สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ​ถูก​ยก​เลิก​ไป​แล้ว​ใน​ปี 33 ส.ศ. แต่​ระยะ​เวลา​ที่​พระเจ้า​จะ​โปรดปราน​และ​การ​ใฝ่​พระทัย​ชาว​ยิว​เป็น​พิเศษ​หา​ได้​สิ้น​สุด​ลง​ตอน​นั้น​ไม่. * ระยะ​เวลา​ดัง​กล่าว​ยัง​คง​ดำเนิน​ต่อ​ไป​จน​กระทั่ง​ปี 36 ส.ศ. ใน​คราว​ที่​เปโตร​ได้​ประกาศ​แก่​โกระเนเลียว​ชาว​อิตาลี​ผู้​ยำเกรง​พระเจ้า​พร้อม​ทั้ง​ครอบครัว​และ​ชาว​ต่าง​ชาติ​คน​อื่น ๆ ด้วย. (กิจการ 10:1-48) อะไร​เป็น​พื้น​ฐาน​ของ​การ​ยืด​เวลา​แห่ง​ความ​โปรดปราน​นี้?

ดานิเอล 9:27 (ล.ม.) แถลง​ดัง​นี้: “[มาซีฮา] ต้อง​รักษา​สัญญา​ไมตรี​สำหรับ​คน​เป็น​อัน​มาก​เป็น​เวลา​หนึ่ง​สัปดาห์.” สัญญา​ไมตรี​ที่​ต้อง​รักษา​ไว้​เป็น​เวลา​เจ็ด​ปี หรือ “หนึ่ง​สัปดาห์” นับ​จาก​พระ​เยซู​รับ​บัพติสมา​และ​เริ่ม​งาน​รับใช้​สาธารณชน​ใน​ปี ส.ศ. 29 ใน​ฐานะ​พระ​มาซีฮา​นั้น เป็น​สัญญา​ไมตรี​ที่​ได้​กระทำ​ไว้​กับ​อับราฮาม. คน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ใน​ความ​สัมพันธ์​แห่ง​สัญญา​ไมตรี​นั้น​ต้อง​เป็น​ลูก​หลาน​เชื้อ​สาย​ฮีบรู​สืบ​จาก​อับราฮาม​เท่า​นั้น. สัญญา​ไมตรี​บังคับ​ฝ่าย​เดียว​ไม่​ใช่​หลัก​เกณฑ์​พื้น​ฐาน​ที่​คน​หนึ่ง​คน​ใด​จะ​ได้​เข้า​ร่วม​สัมพันธภาพ​ที่​ได้​อุทิศ​แล้ว​แด่​พระ​ยะโฮวา. ด้วย​เหตุ​นี้ ชาว​ยิว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​รับ​บัพติสมา​หลัง​จาก​ได้​ฟัง​คำ​บรรยาย​ของ​เปโตร ณ วัน​เพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 ถึง​แม้​ได้​รับ​ความ​สนใจ​เป็น​พิเศษ​เนื่อง​จาก​เป็น​ยิว​โดย​กำเนิด แต่​ก็​ไม่​มี​สิทธิ์​อ้าง​การ​มี​สัมพันธภาพ​ที่​อุทิศ​แล้ว​กับ​พระเจ้า ใน​เมื่อ​สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ​ถูก​เพิกถอน​เสีย​แล้ว. พวก​เขา​จำ​ต้อง​อุทิศ​ตัว​แด่​พระเจ้า​เป็น​ราย​บุคคล.

การ​อุทิศ​ตัว​เป็น​ราย​บุคคล​ใน​ส่วน​ของ​ชาว​ยิว​และ​คน​ที่​เปลี่ยน​มา​นับถือ​ศาสนา​ยิว​ซึ่ง​ได้​เสนอ​ตัว​ขอ​รับ​บัพติสมา ณ วัน​เพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 ยัง​มี​แง่​สำคัญ​เนื่อง​ด้วย​เหตุ​ผล​อีก​ประการ​หนึ่ง. อัครสาวก​เปโตร​ได้​กระตุ้น​เตือน​บรรดา​คน​ที่​ฟัง​ท่าน​ให้​กลับ​ใจ​และ​รับ​บัพติสมา​ใน​นาม​ของ​พระ​เยซู. การ​ทำ​เช่น​นี้​มี​ข้อ​เรียก​ร้อง​ว่า​พวก​เขา​ต้อง​เลิก​แนว​ทาง​แบบ​โลก​และ​รับรอง​พระ​เยซู​ฐานะ​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​และ​พระ​มาซีฮา, เป็น​มหา​ปุโรหิต, และ​เป็น​องค์​นั้น​ที่​ประทับ ณ เบื้อง​ขวา​พระ​หัตถ์​ของ​พระเจ้า​ใน​สวรรค์. พวก​เขา​จำ​ต้อง​ออก​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด​ผ่าน​พระ​คริสต์​เยซู ซึ่ง​รวม​ถึง​การ​สำแดง​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​คริสต์​และ​ยอม​รับ​พระองค์​เป็น​ผู้​นำ. พื้น​ฐาน​ทั้ง​สิ้น​สำหรับ​การ​มี​สัมพันธภาพ​กับ​พระเจ้า​และ​การ​ได้​รับ​การ​ให้​อภัย​บาป​ตอน​นี้​ได้​เปลี่ยน​ไป. ใน​ฐานะ​ปัจเจกบุคคล ชาว​ยิว​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​จำ​ต้อง​ยอม​รับ​เอา​การ​จัด​เตรียม​ใหม่​นี้. อย่าง​ไร? โดย​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระเจ้า​และ​ประกาศ​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า เขา​ได้​อุทิศ​ตัว​แล้ว​โดย​การ​รับ​บัพติสมา​ใน​นาม​ของ​พระ​เยซู​คริสต์. การ​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ​เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​ว่า​เขา​ได้​อุทิศ​ตัว​แด่​พระเจ้า ซึ่ง​นำ​เขา​มา​สู่​สัมพันธภาพ​ใหม่​กับ​พระองค์​ผ่าน​ทาง​พระ​เยซู​คริสต์.—กิจการ 2:21, 33-36; 3:19-23.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 เมื่อ​พระ​เยซู​คริสต์​เสด็จ​สู่​สวรรค์​และ​นำ​คุณค่า​ชีวิต​มนุษย์​ของ​พระองค์​ที่​ได้​สละ​เป็น​เครื่อง​บูชา​ถวาย​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ถูก​ยก​เลิก​ใน​ตอน​นั้น และ​ได้​มี​การ​วาง​พื้น​ฐาน ‘สัญญา​ไมตรี​ใหม่’ ตาม​ที่​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า.—ยิระมะยา 31:31-34.