จงตั้งมั่นคงอยู่เสมอและวิ่งแข่งเพื่อรับชีวิตเป็นรางวัล
จงตั้งมั่นคงอยู่เสมอและวิ่งแข่งเพื่อรับชีวิตเป็นรางวัล
ถ้าคุณต้องเดินทางในทะเลที่มีคลื่นลมแรง คุณจะเลือกเรือแบบไหน? คุณต้องการเรือพายลำเล็ก ๆ หรือเรือใหญ่ที่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง? ไม่ต้องสงสัย คุณคงเลือกเรือใหญ่ เพราะสามารถฝ่าคลื่นลมแรงไปได้อย่างสำเร็จผลมากกว่า.
ขณะที่เราฝ่าระบบนี้ที่มีคลื่นลมแรงและเต็มไปด้วยภยันตราย เราเผชิญข้อท้าทายที่ก่อความรู้สึกกังวลใจหรือไม่ปลอดภัย. ยกตัวอย่าง บางครั้งหนุ่มสาวอาจรู้สึกสับสนและรู้สึกไม่มั่นคงท่ามกลางแนวคิดและกระแสนิยมที่วุ่นวายของโลกนี้. คนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตฐานะเป็นคริสเตียนอาจรู้สึกว่ายังไม่ค่อยมั่นคงสักเท่าไร. แม้บางคนได้ยืนหยัดรับใช้พระเจ้าด้วยความซื่อสัตย์มาหลายปีก็อาจประสบการทดลอง เพราะการคาดหวังบางอย่างของเขายังไม่เป็นจริงครบถ้วน.
ความรู้สึกต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่. ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา อาทิ โมเซ, โยบ, และดาวิดก็เคยรู้สึกไม่มั่นคงเป็นบางครั้ง. (อาฤธโม 11:14, 15; โยบ 3:1-4; บทเพลงสรรเสริญ 55:4) กระนั้น วิถีชีวิตของคนเหล่านั้นได้ถูกหมายไว้ให้เห็นเด่นชัดด้วยความเลื่อมใสอย่างแน่วแน่ต่อพระยะโฮวา. ตัวอย่างที่ดีของพวกเขาสนับสนุนเราให้ยืนหยัดมั่นคงเช่นกัน แต่ซาตานพญามารประสงค์จะชักพาเราออกจากการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตนิรันดร์. (ลูกา 22:31) ดังนั้น เราจะยืนหยัด “มั่นคงในความเชื่อ” อยู่เสมอได้โดยวิธีใด? (1 เปโตร 5:9) และเราจะหนุนเพื่อนร่วมความเชื่อให้เข้มแข็งโดยวิธีใด?
พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราตั้งมั่นคง
หากเราซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา พระองค์ทรงพร้อมเสมอที่จะช่วยเราธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเผชิญสถานการณ์ยุ่งยากหลายอย่าง แต่ท่านหวังพึ่งพระเจ้า และด้วยเหตุนั้น ท่านจึงสามารถร้องเพลงได้ว่า “[พระยะโฮวา] ทรงนำข้าพเจ้าขึ้นมาจากเหวเลนตมอันน่ากลัวพิลึก; และได้ทรงตั้งเท้าของข้าพเจ้าไว้บนศิลา, กระทำให้ย่างเท้าของข้าพเจ้าอยู่มั่นคง.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:2.
พระยะโฮวาทรงเสริมกำลังเราให้ “สู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ” เพื่อเราสามารถ “ยึดมั่นอยู่กับชีวิตนิรันดร์.” (1 ติโมเธียว 6:12, ล.ม.) อนึ่ง พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เราตั้งมั่นคงอยู่เสมอและประสบชัยชนะเมื่อทำสงครามฝ่ายวิญญาณอีกด้วย. อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนให้ “รับเอาพลังต่อ ๆ ไปในองค์พระผู้เป็นเจ้าและในพลานุภาพแห่งฤทธิ์เดชของพระองค์” และ ‘สวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้าเพื่อจะสามารถยืนมั่นต่อต้านยุทธอุบายของพญามารได้.’ (เอเฟโซ 6:10-17, ล.ม.) แต่มีสิ่งใดหรือที่อาจทำให้เราไม่มั่นคง? และเราจะป้องกันตัวเองให้พ้นอิทธิพลเหล่านั้นซึ่งเป็นภัยได้อย่างไร?
จงระวังเหตุที่ทำให้ไม่มั่นคง
นับว่าสุขุมที่จะจดจำข้อเท็จจริงที่สำคัญนี้: การตัดสินใจใด ๆ ของเราในที่สุดย่อมมีผลต่อเสถียรภาพคริสเตียนของ
เรา ไม่ว่าในทางดีหรือไม่ดี. หนุ่มสาวเผชิญการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น งานอาชีพ, การศึกษาต่อในระดับสูง, และการแต่งงาน. พวกผู้ใหญ่ก็อาจจะต้องตัดสินใจในเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัยหรือควรจะรับงานเพิ่มหรือไม่. เราตัดสินใจทุกวันเรื่องการใช้เวลาและเรื่องอื่นอีกมากมาย. อะไรจะช่วยเราตัดสินใจอย่างสุขุมเพื่อเสริมความมั่นคงให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า? สตรีคนหนึ่งที่เป็นคริสเตียนมานานหลายปีกล่าวว่า “ดิฉันทูลขอพระยะโฮวาโปรดช่วยเมื่อจะต้องตัดสินใจ. ดิฉันเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำที่เราได้จากคัมภีร์ไบเบิล, จากการประชุมคริสเตียน, จากผู้ปกครอง, และสิ่งพิมพ์ซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก.”เมื่อทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เราควรถามตัวเองว่า ‘จากนี้ไปอีกห้าปีหรือสิบปี ฉันจะพอใจกับการตัดสินใจที่ฉันทำไปตอนนี้ไหม หรือจะรู้สึกเสียใจเนื่องด้วยได้ตัดสินใจเช่นนั้น? ฉันพยายามทำให้แน่ใจจริง ๆ ไหมว่าการตัดสินใจนั้นจะไม่บ่อนทำลายความมั่นคงฝ่ายวิญญาณ แต่จะช่วยเสริมความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของฉันให้มากยิ่งขึ้น?’—ฟิลิปปอย 3:16, ล.ม.
การยอมแพ้สิ่งล่อใจต่าง ๆ หรือพาตัวเองเข้าไปในแนวทางอันหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายของพระเจ้าเป็นเหตุให้บางคนที่รับบัพติสมาแล้วดำเนินชีวิตไม่มั่นคง. บางคนที่ถูกขับออกจากประชาคมเนื่องจากติดตามแนวทางชั่วโดยไม่กลับใจได้พยายามอย่างหนักเพื่อจะถูกรับกลับสู่ฐานะเดิม แต่แล้วก็ถูกตัดสัมพันธ์อีก—บางครั้งภายในช่วงเวลาสั้น ๆ—เนื่องด้วยการทำผิดอย่างเดิม. เป็นไปได้ไหมที่เขาไม่ได้อธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อเขาจะ ‘เกลียดชังสิ่งที่ชั่วและยึดมั่นในสิ่งที่ดี’? (โรม 12:9; บทเพลงสรรเสริญ 97:10) พวกเราทุกคนจำเป็นต้อง “กระทำทางที่เท้า [ของเรา] จะเดินไปนั้นให้ตรง.” (เฮ็บราย 12:13) ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาบางจุดซึ่งจะช่วยเราธำรงความมั่นคงฝ่ายวิญญาณไว้ได้.
ธำรงความมั่นคงโดยอาศัยกิจกรรมของคริสเตียน
วิธีหนึ่งที่เราจะรักษาจังหวะก้าวการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตได้คือ การมีงานมากมายทำอยู่เสมอเกี่ยวกับงานประกาศราชอาณาจักร. ใช่แล้ว งานรับใช้ของคริสเตียนเป็นเครื่องช่วยที่มีคุณค่าซึ่งช่วยให้หัวใจและจิตใจของเราจดจ่ออยู่กับการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า และมุ่งมั่นเพื่อจะได้รางวัลคือชีวิตนิรันดร์. ในเรื่องนี้ เปาโลได้กระตุ้นคริสเตียนที่เมืองโครินท์ดังนี้: “พี่น้องที่รักทั้งหลายของข้าพเจ้า จงตั้งมั่นคง, ไม่หวั่นไหว, มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยรู้ว่า การงานของท่านเกี่ยวด้วยองค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ไร้ประโยชน์.” (1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.) “ตั้งมั่นคง” หมายความว่า ‘ติดแน่นอยู่กับที่.’ “ไม่หวั่นไหว” แสดงถึงการ ‘ไม่ปล่อยตัวเองหลุดลอยออกจากหลักผูกเรือ.’ ด้วยเหตุนี้ การง่วนอยู่กับงานรับใช้ย่อมก่อผลเป็นความมั่นคงต่อแนวทางคริสเตียนของเรา. การช่วยคนอื่นให้มารู้จักพระยะโฮวาทำให้ชีวิตเรามีความหมายและนำมาซึ่งความสุข.—กิจการ 20:35.
พอลีน คริสเตียนผู้เผยแพร่ในต่างแดนและร่วมทำกิจกรรมการประกาศประเภทเต็มเวลามานานกว่า 30 ปีกล่าวว่า “งานรับใช้เป็นการคุ้มครองป้องกัน เพราะการให้คำพยานแก่คนอื่นทำให้ฉันรู้สึกมั่นใจว่าฉันมีความจริง.” นอกจากนั้น ความมั่นใจทำนองเดียวกันก็มาจากการร่วมทำกิจกรรมอื่น ๆ ของคริสเตียนเป็นประจำสม่ำเสมอ อาทิ การเข้าร่วมประชุมเพื่อนมัสการและขยันศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว.
ภราดรภาพที่เปี่ยมด้วยความรักเสริมความมั่นคง
การเป็นส่วนขององค์การผู้นมัสการแท้ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเราในแง่ที่ได้รับพลังเสริมความมั่นคงเข้มแข็ง. นับว่าเป็นพระพรเสียจริง ๆ ที่ได้ร่วมสังคมพี่น้องทั่วโลกที่มีความรักต่อกันเช่นนี้! (1 เปโตร 2:17) และเราสามารถจะมีส่วนทำให้เพื่อนร่วมความเชื่อของเราตั้งมั่นคงอยู่ได้.
ขอพิจารณาการกระทำอันเป็นคุณประโยชน์ของโยบผู้ชอบธรรม. แม้แต่อะลีฟาศผู้ให้การชูใจจอมปลอมก็ต้องจำใจยอมรับว่า “ถ้อยคำของท่านเคยได้หนุนใจผู้ที่กำลังล้มลง, และได้ให้เกิดกำลังแก่หัวเข่าที่อ่อนเปลี้ยมีแรงขึ้น.” (โยบ 4:4) เราเป็นอย่างไรในเรื่องนี้? เราแต่ละคนมีความรับผิดชอบที่จะช่วยพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณให้เพียรอดทนในงานรับใช้พระเจ้า. เมื่อเราติดต่อเกี่ยวข้องกับพวกเขา เราสามารถลงมือทำด้วยเจตนารมณ์ของถ้อยคำต่อไปนี้: “เจ้าทั้งหลาย จงเสริมกำลังมือที่อ่อนแอ และทำหัวเข่าที่สั่นให้ มั่นคง.” (ยะซายา 35:3, ล.ม.) ฉะนั้น สมควรตั้งเป้าเพื่อเสริมและให้กำลังใจเพื่อนคริสเตียนสักหนึ่งหรือสองคนให้ได้ทุกครั้งที่คุณร่วมประชุมกับเขา. (เฮ็บราย 10:24, 25) การพูดชมเชยหนุนใจและแสดงความหยั่งรู้คุณค่าที่พวกเขาได้บากบั่นพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยจะช่วยเขาตั้งมั่นคงต่อ ๆ ไปได้อย่างแท้จริงพร้อมด้วยความหวังจะชนะการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต.
คริสเตียนผู้ปกครองสามารถสำเร็จผลได้มากโดยหนุนใจคนใหม่. อาจทำได้โดยการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และคำตักเตือนอย่างสุขุมตามหลักพระคัมภีร์ และออกไปเผยแพร่กับพวกเขาในเขตงาน. อัครสาวกเปาโลคอยหาโอกาสเสริมกำลังคนอื่นเสมอ. ท่านปรารถนาจะได้เห็นหน้าพี่น้องคริสเตียนในกรุงโรมก็เพื่อท่านจะสามารถเสริมกำลังพวกเขาให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. (โรม 1:11) ท่านถือว่าพี่น้องชายหญิงผู้เป็นที่รักของท่านในเมืองฟิลิปปีเป็น “ความยินดีและมงกุฎ” ของท่าน และได้กระตุ้นเตือนพวกเขาให้ “ยืนมั่นในทางนี้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (ฟิลิปปอย 4:1, ล.ม.) เมื่อเปาโลได้ข่าวว่าพี่น้องในเมืองเทสซาโลนีกาประสบความยากลำบาก ท่านได้ส่งติโมเธียวไปหา ‘เพื่อจะได้ตั้งพวกเขาไว้ให้มั่นคงและเพื่อจะได้ชูใจพวกเขา. จะได้ไม่มีใครปั่นป่วนด้วยเหตุการณ์ลำบาก.’—1 เธซะโลนิเก 3:1-3.
ทั้งอัครสาวกเปาโลและเปโตรต่างก็ยอมรับและหยั่งรู้ค่าความพยายามอย่างซื่อสัตย์ของเพื่อนร่วมนมัสการ. (โกโลซาย 2:5; 1 เธซะโลนิเก 3:7, 8; 2 เปโตร 1:12) ขอเราเพ่งเล็งในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่มองหาจุดอ่อนของพวกพี่น้อง แต่มองหาคุณสมบัติอันดีงามของเขาและการต่อสู้ของเขาที่ประสบผลสำเร็จเพื่อจะตั้งมั่นคงและถวายเกียรติพระยะโฮวา.
ถ้าเรามีแง่คิดเชิงลบและชอบวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ตั้งใจเราอาจทำให้สภาพการณ์ของบางคนยากลำบากมากขึ้นในการจะตั้งมั่นคงต่อ ๆ ไปในความเชื่อ. เหมาะสมสักเพียงไรที่พึงระลึกว่าพี่น้องของเรา “อิดโรยกระจัดกระจายไป” ในระบบนี้! (มัดธาย 9:36) พวกเขาน่าจะคาดหมายได้ทีเดียวว่าจะได้รับการชูใจและความสดชื่นในประชาคมคริสเตียน. ด้วยเหตุนี้ ขอพวกเราทุกคนทำสุดความสามารถที่จะเสริมสร้างเพื่อนร่วมความเชื่อและช่วยเขาให้ตั้งมั่นคงอยู่เสมอ.
บางครั้งอาจมีคนอื่นปฏิบัติต่อเราในทำนองที่จะบั่นทอนความมั่นคงของเรา. เราจะยอมให้คำพูดเกรี้ยวกราดหรือการกระทำอย่างไม่กรุณามาทำให้เราถดถอยจากงานรับใช้พระยะโฮวาไหม? อย่าปล่อยให้ใคร ๆ ชักนำเราพลาดไปจากความมั่นคงแน่วแน่ของเราเลย!—2 เปโตร 3:17.
คำสัญญาของพระเจ้า—แรงชักจูงที่ช่วยให้ตั้งมั่นคง
คำสัญญาของพระยะโฮวาว่าด้วยอนาคตที่น่าพิศวงภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรให้ความหวังแก่เราซึ่งช่วยเรารักษาความมั่นคงเรื่อยไป. (เฮ็บราย 6:19) และความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงปฏิบัติตามคำสัญญาเสมอย่อมเป็นแรงกระตุ้นเราให้ ‘ตื่นตัวอยู่เสมอและยืนมั่นในความเชื่อ.’ (1 โกรินโธ 16:13, ล.ม.; เฮ็บราย 3:6) การที่ดูเหมือนว่าคำสัญญาบางประการของพระเจ้าเนิ่นช้าก็อาจทดสอบความเชื่อของเรา. ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เราพึงเฝ้าระวังตัวต้านทานเพื่อจะไม่ถูกหลอกโดยคำสอนเท็จและไม่ถูกย้ายไปเสียจากความหวังของเรา.—โกโลซาย 1:23, ล.ม.; เฮ็บราย 13:9.
ตัวอย่างไม่ดีของชาวอิสราเอลที่ประสบความพินาศเพราะพวกเขาไม่มีความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาจึงน่าจะเตือนสติพวกเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 78:37) แทนที่จะเป็นเหมือนพวกเขา ขอให้เราตั้งมั่นคง รับใช้พระเจ้าด้วยสำนึกถึงความเร่งด่วนในสมัยสุดท้ายนี้. ผู้ปกครองคนหนึ่งที่มีประสบการณ์พูดว่า “ผมมีชีวิตอยู่ทุกวันเหมือน กับว่าวันใหญ่ของพระยะโฮวาจะมาถึงพรุ่งนี้.”—โยเอล 1:15.
ใช่แล้ว วันใหญ่ของพระยะโฮวาจวนจะถึงอยู่แล้ว. อย่างไรก็ดี เราไม่มีอะไรต้องกลัวตราบที่เราอยู่ใกล้พระเจ้า. ถ้าเรายึดมั่นในมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์และตั้งมั่นคงอยู่เรื่อยไป เราจะสามารถวิ่งแข่งเพื่อรับชีวิตนิรันดร์ได้อย่างสำเร็จผล!—สุภาษิต 11:19; 1 ติโมเธียว 6:12, 17-19.
[ภาพหน้า 23]
คุณทำสุดความสามารถไหมเพื่อช่วยเพื่อนคริสเตียนให้ตั้งมั่นคงอยู่เสมอ?
[ที่มาของภาพหน้า 21]
The Complete Encyclopedia of Illustration/J. G. Heck