จงเลียนแบบพระยะโฮวา พระเจ้าของเราผู้ไม่ลำเอียง
จงเลียนแบบพระยะโฮวา พระเจ้าของเราผู้ไม่ลำเอียง
“พระเจ้าไม่มีความลำเอียง.”—โรม 2:11, ล.ม.
1, 2. (ก) อะไรคือพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่มีต่อชาวคะนาอันโดยรวม? (ข) พระยะโฮวาทรงทำอะไร และนี่ทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้นมา?
ขณะตั้งค่าย ณ ที่ราบโมอาบในปี 1473 ก่อน ส.ศ. ชนอิสราเอลตั้งใจฟังโมเซกล่าว. มีสิ่งท้าทายคอยท่าพวกเขาอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน. โมเซแจ้งพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะให้ชาวอิสราเอลตีทำลายเจ็ดชาติคะนาอันที่มีกำลังเข้มแข็งในแผ่นดินตามคำสัญญา. ถ้อยคำของโมเซช่างให้กำลังใจสักเพียงไรที่ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะมอบเขาทั้งหลายไว้ในอำนาจเจ้า, และจะตีทำลายเขาเหล่านั้นเสียทีเดียว”! ชาติอิสราเอลจะต้องไม่ทำสัญญาไมตรีกับพวกเขา และพวกเขาไม่สมควรได้รับความเมตตาเลย.—พระบัญญัติ 1:1; 7:1, 2.
2 กระนั้น พระยะโฮวาทรงไว้ชีวิตครอบครัวหนึ่งจากเมืองแรกที่ชาวอิสราเอลเข้าตี. ผู้คนจากอีกสี่เมืองได้รับการปกป้องจากพระเจ้าเช่นกัน. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เหตุการณ์ที่น่าทึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรอดชีวิตของชาวคะนาอันเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวา? และเราจะเลียนแบบพระองค์ได้อย่างไร?
ปฏิกิริยาเมื่อได้ทราบถึงกิตติศัพท์ของพระยะโฮวา
3, 4. ข่าวเกี่ยวกับชัยชนะของชาวอิสราเอลส่งผลกระทบเช่นไรต่อผู้คนที่อาศัยในแผ่นดินคะนาอัน?
3 ระหว่าง 40 ปีของชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารก่อนเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา พระยะโฮวาทรงปกป้องและสู้รบเพื่อประชาชนของพระองค์. ทางใต้ของแผ่นดินตามคำสัญญา ชาวอิสราเอลเผชิญหน้ากับกษัตริย์เมืองอาราชชาวคะนาอัน. ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ชาวอิสราเอลเอาชนะกษัตริย์ผู้นี้และไพร่พลของเขาที่ตำบลฮัรมา. (อาฤธโม 21:1-3) ต่อมา ชาวอิสราเอลเดินทางอ้อมแผ่นดินอะโดม แล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยังบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลตาย. เมื่อก่อนอาณาเขตนี้มีชาวโมอาบอาศัยอยู่ แต่ตอนนี้เป็นของชาวอะโมรี. ซีโฮนกษัตริย์ชาวอะโมรีไม่ยอมให้ชาวอิสราเอลเดินทางผ่านเขตแดนของเขา. มีการทำสงครามกันที่ตำบลยาฮาษ ซึ่งดูเหมือนว่าอยู่ทางเหนือของธารน้ำแห้งอะระโนน และกษัตริย์ซีโฮนก็พบจุดจบที่นั่น. (อาฤธโม 21:23, 24; พระบัญญัติ 2:30-33) เหนือขึ้นไปอีก โอฆปกครองชาวอะโมรีที่เมืองบาซาน. แม้โอฆมีรูปร่างใหญ่โต แต่ก็ไม่มีทางต่อกรกับพระยะโฮวาได้. โอฆถูกประหารที่ตำบลเอ็ดระอี. (อาฤธโม 21:33-35; พระบัญญัติ 3:1-3, 11) ข่าวเกี่ยวกับชัยชนะเหล่านี้รวมทั้งเรื่องราวการอพยพของชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์มีผลกระทบอันทรงพลังต่อผู้คนที่อาศัยในแผ่นดินคะนาอัน. *
4 หลังจากชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าไปในแผ่นดินคะนาอัน พวกเขาตั้งค่ายที่ฆีละฆาล. (ยะโฮซูอะ 4:9-19) เมืองเยริโคที่มีกำแพงอยู่ไม่ไกลจากที่นั่น. เรื่องราวที่ราฮาบชาวคะนาอันได้ยินเกี่ยวกับปฏิบัติการของพระยะโฮวากระตุ้นให้นางลงมือกระทำด้วยความเชื่อ. ผลคือเมื่อพระยะโฮวาทำลายเมืองเยริโค พระองค์ทรงไว้ชีวิตนางกับคนที่อยู่ในครัวเรือนของนาง.—ยะโฮซูอะ 2:1-13; 6:17, 18; ยาโกโบ 2:25.
5. อะไรกระตุ้นให้ชาวเมืองฆิบโอนลงมือกระทำอย่างฉลาด?
5 ต่อมา ชาวอิสราเอลย้ายจากที่ลุ่มริมแม่น้ำจอร์แดนขึ้นไปยังแถบเนินเขาใจกลางดินแดนนั้น. โดยทำตามการชี้นำของพระยะโฮวา ยะโฮซูอะใช้ยุทธวิธีซุ่มตีเมืองฮาย. (ยะโฮซูอะบท 8) ข่าวที่ตามมาเกี่ยวกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินกระตุ้นให้กษัตริย์หลายองค์ของคะนาอันผนึกกำลังกันเพื่อทำสงคราม. (ยะโฮซูอะ 9:1, 2) ชาวฮีวีที่อาศัยในเมือง ฆิบโอนที่อยู่ไม่ไกลนั้นแสดงท่าทีที่ต่างออกไป. ยะโฮซูอะ 9:4 (ฉบับแปลใหม่) เล่าว่า “เขาจึงทำอย่างฉลาด ทำเป็นทูต.” เช่นเดียวกับราฮาบ พวกเขาได้ยินถึงการที่พระยะโฮวาช่วยประชาชนของพระองค์ให้รอดในคราวอพยพและในชัยชนะเหนือกษัตริย์ซีโฮนและโอฆ. (ยะโฮซูอะ 9:6-10) ชาวเมืองฆิบโอนตระหนักว่าขืนต่อสู้ขัดขวางไปก็ไร้ผล. ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของชาวเมืองฆิบโอนและเมืองใกล้เคียงอีกสามเมือง คือกะฟีรา, บะเอโรธ, และคีระยัธยะอาริม พวกเขาจึงส่งคณะผู้แทนไปหายะโฮซูอะที่ฆีละฆาลแสร้งทำเป็นว่ามาจากแดนไกล. อุบายของพวกเขาได้ผล. ยะโฮซูอะทำสัญญาไมตรีกับพวกเขาซึ่งเป็นการรับรองว่าจะไว้ชีวิตพวกเขา. สามวันต่อมายะโฮซูอะกับชาวอิสราเอลก็รู้ว่าถูกหลอก. แต่เนื่องจากได้สาบานไปแล้วในพระนามพระยะโฮวาว่าจะรักษาคำสัญญาไมตรี พวกเขาจึงยึดมั่นกับคำสัญญาไมตรีนั้น. (ยะโฮซูอะ 9:16-19) พระยะโฮวาทรงเห็นชอบในเรื่องนี้ไหม?
6. พระยะโฮวาทรงมีท่าทีเช่นไรต่อสัญญาไมตรีที่ยะโฮซูอะทำกับชาวเมืองฆิบโอน?
6 ชาวเมืองฆิบโอนได้รับอนุญาตให้เป็นคนตัดฟืนและตักน้ำสำหรับชาวอิสราเอล กระทั่ง “สำหรับแท่นแห่งพระยะโฮวา” ที่พลับพลา. (ยะโฮซูอะ 9:21-27) นอกจากนั้น เมื่อกษัตริย์อะโมรีทั้งห้าองค์ยกกองทัพไปคุกคามชาวเมืองฆิบโอน พระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซงอย่างอัศจรรย์. ลูกเห็บสังหารชีวิตศัตรูมากกว่าที่กองทหารของยะโฮซูอะได้ฆ่า. พระยะโฮวากระทั่งตอบคำทูลขอของยะโฮซูอะที่ให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์หยุดนิ่งเพื่อจะทำลายศัตรูให้สิ้นซาก. ยะโฮซูอะกล่าวว่า “วันและเวลาที่พระยะโฮวาทรงสดับฟังถ้อยคำแห่งมนุษย์เช่นนี้: ในกาลก่อนก็ดี, หรือภายหลังก็ดี ไม่เคยมีเลย, เพราะว่าพระยะโฮวาได้ทรงรบแทนฝ่ายพวกยิศราเอล.”—ยะโฮซูอะ 10:1-14.
7. ความจริงอะไรที่มีการแสดงให้เห็นในกรณีของชาวคะนาอันบางคนซึ่งเปโตรยอมรับ?
7 ราฮาบกับครอบครัวซึ่งเป็นชาวคะนาอัน และชาวเมืองฆิบโอน ต่างเกรงกลัวพระยะโฮวาและประพฤติอย่างที่แสดงถึงความเกรงกลัวนั้น. สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจริงที่คริสเตียนอัครสาวกเปโตรกล่าวในเวลาต่อมาว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.”—กิจการ 10:34, 35.
วิธีที่ปฏิบัติต่ออับราฮามและชาติอิสราเอล
8, 9. ความไม่ลำเอียงของพระยะโฮวาปรากฏให้เห็นอย่างไรในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่ออับราฮามและชาติอิสราเอล?
8 สาวกยาโกโบนำความสนใจไปสู่พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่ออับราฮามและลูกหลานของท่าน. เป็นเพราะความเชื่อของอับราฮาม ไม่ใช่เพราะเชื้อชาติของท่าน ที่ทำให้ท่านเป็น “มิตรของพระยะโฮวา.” (ยาโกโบ 2:23, ล.ม.) ความเชื่อและความรักที่อับราฮามมีต่อพระยะโฮวานำพระพรมาสู่ลูกหลานของท่าน. (2 โครนิกา 20:7) พระยะโฮวาทรงสัญญากับอับราฮามดังนี้: “เราจะอวยพรเจ้าเป็นแน่ และเราจะให้พงศ์พันธุ์ของเจ้ามากทวีขึ้นเป็นแน่ดุจดวงดาวบนท้องฟ้าและดุจเม็ดทรายที่ชายทะเล.” แต่ขอสังเกตคำสัญญาในข้อถัดไป: “โดยทางพงศ์พันธุ์ของเจ้า ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่.”—เยเนซิศ 22:17, 18, ล.ม.; โรม 4:1-8.
9 แทนที่จะเป็นการลำเอียง พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นโดยวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อชาติอิสราเอลถึงสิ่งที่พระองค์จะทำเพื่อคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์. การปฏิบัติต่อชาติอิสราเอลเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงแสดงความรักอย่างภักดีต่อเหล่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของเอ็กโซโด 19:5, ล.ม.; พระบัญญัติ 7:6-8, ล.ม.) จริงอยู่ พระยะโฮวาทรงไถ่ชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ ด้วยเหตุนั้น จึงทรงแถลงว่า “ในบรรดาตระกูลทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก เรารู้จักแต่พวกเจ้าเท่านั้น.” แต่โดยทางผู้พยากรณ์อาโมศและผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ พระยะโฮวาได้หยิบยื่นความหวังอันน่าพิศวงให้แก่ชน “นานาประเทศ” เช่นกัน.—อาโมศ 3:2, ล.ม.; 9:11, 12; ยะซายา 2:2-4.
พระองค์. ถึงแม้ว่าชาติอิสราเอลเป็น “สมบัติพิเศษ” ของพระยะโฮวา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชนชาติอื่นถูกกีดกันไม่ให้รับพระเมตตากรุณาของพระเจ้า. (พระเยซู ครูผู้ไม่ลำเอียง
10. พระเยซูทรงเลียนแบบพระบิดาของพระองค์อย่างไรในการแสดงความไม่ลำเอียง?
10 ระหว่างงานรับใช้บนแผ่นดินโลก พระเยซู ผู้ซึ่งถอดแบบพระบิดาของพระองค์อย่างแม่นยำ ทรงเลียนแบบความไม่ลำเอียงของพระยะโฮวา. (เฮ็บราย 1:3) ความห่วงใยประการสำคัญของพระองค์ในเวลานั้นคือการเสาะหา “แกะชาติยิศราเอลที่หายไป.” กระนั้น พระองค์ไม่ได้ยับยั้งการให้คำพยานแก่หญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำ. (มัดธาย 15:24; โยฮัน 4:7-30) นอกจากนั้น พระองค์กระทำการอัศจรรย์ตามคำขอของนายร้อย ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ใช่ชาวยิว. (ลูกา 7:1-10) นั่นเป็นการแสดงความรักของพระองค์ด้วยการกระทำ ซึ่งไม่เฉพาะสำหรับประชาชนของพระเจ้าเท่านั้น. เหล่าสาวกของพระเยซูก็ประกาศสั่งสอนอย่างกว้างขวางเช่นกัน. เห็นได้ชัดว่าเกณฑ์สำหรับการได้รับพระพรจากพระยะโฮวาไม่ได้อยู่ที่เชื้อชาติ แต่อยู่ที่เจตคติ. ผู้คนที่ถ่อมใจและสุจริตใจซึ่งหิวกระหายความจริงตอบรับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ตรงกันข้าม ผู้คนที่หยิ่งทะนงและจองหองดูหมิ่นพระเยซูและข่าวสารของพระองค์. พระเยซูทรงแถลงว่า “พระบิดา เจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ต่อหน้าคนทั้งปวง เพราะพระองค์ทรงปิดซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้จากคนมีปัญญาและผู้มีความรู้ และทรงเผยสิ่งเหล่านี้แก่ทารก. โอ้พระบิดา เพราะการทำเช่นนั้นเป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (ลูกา 10:21, ล.ม.) เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยอาศัยความรักและความเชื่อเป็นพื้นฐาน เราแสดงความไม่ลำเอียง โดยรู้ว่านี่เป็นแนวทางที่ชอบพระทัยพระยะโฮวา.
11. มีการแสดงความไม่ลำเอียงอย่างไรในประชาคมคริสเตียนยุคแรก?
11 ในประชาคมคริสเตียนยุคแรก ชาวยิวและคนที่ไม่ใช่ยิวต่างเสมอภาคกัน. เปาโลอธิบายว่า “สง่าราศี ยศศักดิ์ และความสุขสำราญจะบังเกิดมีแก่ทุกคนที่ประพฤติดี, คือแก่พวกยูดายก่อนและทั้งพวกเฮเลนด้วย. ด้วยว่าพระเจ้ามิได้ทรงเห็นแก่หน้าของผู้ใดเลย [“เพราะพระเจ้าไม่มีความลำเอียง,” ล.ม.].” * (โรม 2:10, 11) สิ่งที่กำหนดว่าพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาหรือไม่นั้น ไม่ใช่เชื้อชาติ แต่เป็นปฏิกิริยาที่พวกเขาแสดงออกเมื่อได้เรียนรู้เรื่องพระยะโฮวาและความหวังที่เสนอให้โดยทางค่าไถ่ของพระเยซู พระบุตรของพระองค์. (โยฮัน 3:16, 36) เปาโลเขียนดังนี้: “ผู้นั้นไม่ใช่ชาวยิวซึ่งเป็นยิวแต่ภายนอก และการรับสุหนัตไม่ใช่การรับภายนอกที่เนื้อหนัง. แต่ผู้นั้นเป็นชาวยิวซึ่งเป็นยิวภายใน และการรับสุหนัตของเขาคือการรับที่หัวใจโดยพระวิญญาณ และไม่ใช่โดยประมวลกฎหมายที่เขียนไว้.” จากนั้น โดยการเล่นคำกับคำว่า “ยิว” (หมายความว่า “แห่งยูดาห์” นั่นคือเป็นที่ยกย่องหรือสรรเสริญ) เปาโลกล่าวต่อไปว่า “คำสรรเสริญของผู้นั้นหาใช่มาจากมนุษย์ไม่ แต่มาจากพระเจ้า.” (โรม 2:28, 29, ล.ม.) พระยะโฮวาให้คำสรรเสริญอย่างไม่ลำเอียง. เราทำอย่างเดียวกันนั้นไหม?
12. วิวรณ์ 7:9 เสนอความหวังอะไร และสำหรับใคร?
12 ในเวลาต่อมา อัครสาวกโยฮันเห็นภาพเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ในนิมิต ซึ่งมีการพรรณนาว่าเป็นชาติฝ่ายวิญญาณ 144,000 คน ที่ “ถูกประทับตราจากทุกตระกูลแห่งบุตรอิสราเอล.” ต่อจากนั้น โยฮันเห็น “ชนฝูงใหญ่ . . . จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์และต่อพระพักตร์พระเมษโปดก คนเหล่านั้นสวมเสื้อยาวสีขาว; และในมือของพวกเขามีทางปาล์ม.” (วิวรณ์ 7:4, 9, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ ประชาคมคริสเตียนทุกวันนี้จึงไม่มีการกีดกันคนจากเชื้อชาติหรือภาษาใด ๆ. ผู้คนจากทุกภูมิหลังต่างมีความหวังที่จะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ที่กำลังใกล้เข้ามาและได้ดื่ม น้ำจาก “น้ำพุทั้งหลายแห่งชีวิต” ในโลกใหม่นั้น.—วิวรณ์ 7:14-17, ล.ม.
ผลในด้านดี
13-15. (ก) เราจะเอาชนะความแตกต่างด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมได้อย่างไร? (ข) จงยกตัวอย่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการแสดงความเป็นมิตร.
13 พระยะโฮวารู้จักพวกเราดี เหมือนกับพ่อที่ดีรู้จักลูก ๆ ของตน. เช่นเดียวกัน เมื่อเราได้มาเข้าใจคนอื่น ๆ โดยสนใจภูมิหลังและวัฒนธรรมของพวกเขา ความแตกต่างกันก็กลายเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญอีกต่อไป. สิ่งขวางกั้นอันเนื่องมาจากชาติพันธุ์จะทลายไป ความผูกพันอันเนื่องมาจากมิตรภาพและความรักจะเหนียวแน่นยิ่งขึ้น. ความเป็นเอกภาพก็จะเพิ่มพูนขึ้น. (1 โกรินโธ 9:19-23) เรื่องนี้มีการแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีโดยกิจกรรมของพวกมิชชันนารีซึ่งทำงานรับใช้ในเขตมอบหมายต่างแดน. พวกเขาสนใจผู้คนในเขตมอบหมาย และผลก็คือ ในไม่ช้าพวกมิชชันนารีพบว่าพวกเขากลมกลืนกับประชาคมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี.—ฟิลิปปอย 2:4.
14 ผลในด้านดีของการเป็นคนไม่ลำเอียงปรากฏชัดในหลายดินแดน. อะคลีลู ซึ่งมาจากเอธิโอเปีย รู้สึกว้าเหว่ขณะอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน นครหลวงของบริเตน. สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว้าเหว่ยิ่งขึ้นอีกก็คือ ดูเหมือนว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่แสดงความเป็นมิตรต่อผู้คนจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ในเมืองใหญ่หลายเมืองของยุโรปสมัยปัจจุบัน. สิ่งที่อะคลีลูประสบช่างแตกต่างออกไปสักเพียงไรเมื่อเขาเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนที่หอประชุมของพยานพระยะโฮวา! คนที่เข้าร่วมประชุมต้อนรับเขาและไม่นานเขาก็รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน. เขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในความเข้าใจและความหยั่งรู้บุญคุณอย่างลึกซึ้งต่อพระผู้สร้าง. ในไม่ช้า เขาหาโอกาสเข้าร่วมเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรแก่คนอื่น ๆ ในเขตนั้น. อันที่จริง วันหนึ่งเมื่อเพื่อนที่ออกเผยแพร่ด้วยกันถามเขาว่าตอนนี้เขามีเป้าหมายอะไรในชีวิต อะคลีลูตอบทันทีว่าเขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้อยู่ในประชาคมที่พูดภาษาของเขา คือภาษาอัมฮาริก. เมื่อผู้ปกครองประชาคมท้องถิ่นซึ่งใช้ภาษาอังกฤษรู้ถึงความปรารถนานี้ พวกเขายินดีจัดให้มีคำบรรยายสาธารณะในภาษาของอะคลีลู. การเชิญผู้คนให้ร่วมฟังคำบรรยายได้นำชาวต่างประเทศและผู้คนท้องถิ่นจำนวนมากมารวมกันเพื่อสนับสนุนการประชุมสาธารณะภาษาอัมฮาริกที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเตน. ในปัจจุบัน ชาวเอธิโอเปียหลายคนและคนอื่น ๆ ที่พูดภาษาอัมฮาริกในเขตนั้นร่วมประชุมกันในประชาคมภาษาอัมฮาริกที่กำลังเติบโต. หลายคนที่นั่นได้พบว่าไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางพวกเขาที่จะยืนอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาและแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวโดยการรับบัพติสมาของคริสเตียน.—กิจการ 8:26-36.
15 ลักษณะเฉพาะและพื้นเพของผู้คนมีหลากหลายกันไป. สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นตัววัดความเหนือกว่าหรือด้อยกว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ความแตกต่างกัน. เมื่อเฝ้าดูการรับบัพติสมาของผู้รับใช้ที่เพิ่งอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาในเกาะมอลตา ความตื่นเต้นอย่างปีติยินดีของพยานฯ ท้องถิ่นถูกเสริมด้วยน้ำตาแห่งความยินดีที่เอ่อล้นเบ้าตาของเหล่าผู้มาเยือนจากบริเตน. กลุ่มพยานฯ ทั้งชาวมอลตาและชาวบริเตนต่างแสดงความรู้สึกของตน แต่ในวิธีที่แตกต่างกัน และความรักอันมั่นคงต่อพระยะโฮวาเชื่อมความผูกพันแห่งมิตรภาพของคริสเตียนระหว่างพวกเขาให้แน่นแฟ้น.—บทเพลงสรรเสริญ 133:1; โกโลซาย 3:14.
การเอาชนะอคติ
16-18. จงเล่าประสบการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจะสามารถเอาชนะอคติได้อย่างไรในประชาคมคริสเตียน.
16 ขณะที่ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาและต่อพี่น้องคริสเตียนลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราสามารถเลียนแบบพระยะโฮวาได้ใกล้เคียงมากขึ้นในวิธีที่เรามองผู้อื่น. อคติใด ๆ ที่อาจเคยมีต่อผู้คนบางสัญชาติ, เชื้อชาติ, หรือวัฒนธรรมก็สามารถเอาชนะได้. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณากรณีของอัลเบิร์ตซึ่งเป็นทหารในกองทัพบริเตนระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและถูกจับเป็นเชลยโดยชาวญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองสิงคโปร์ในปี 1942. ต่อมาเขาใช้เวลาประมาณสามปีทำงานสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” ใกล้ ๆ สถานที่ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักกันว่าสะพานข้ามแม่น้ำแคว. ในตอนที่เขาถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระเมื่อสิ้นสุดสงคราม น้ำหนักตัวเขาเหลือ 32 กิโลกรัม กระดูกขากรรไกรและจมูกหัก อีกทั้งป่วยเป็นโรคบิด, ขี้กลาก, และไข้จับสั่น. เพื่อนเชลยของเขานับพันคนอยู่ในสภาพที่แย่ยิ่งกว่า หลายคนไม่รอดชีวิต. เนื่องจากความเหี้ยมโหดที่อัลเบิร์ตได้ประสบพบเห็น ในปี 1945 เขากลับบ้านอย่างคนคับแค้นใจ ไม่อยากเกี่ยวข้องอะไรอีกกับพระเจ้าหรือศาสนา.
17 ไอรีน ภรรยาของอัลเบิร์ต ได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา. เพื่อเอาใจเธอ อัลเบิร์ตเข้าร่วมการประชุมบ้างกับประชาคมพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่น. คริสเตียนหนุ่มที่รับใช้เต็มเวลาชื่อพอลไปเยี่ยมอัลเบิร์ตเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขา. ไม่นานอัลเบิร์ตก็ได้มาตระหนักว่าพระยะโฮวาทรงมองดูแต่ละคนตามสภาพหัวใจของพวกเขา. เขาได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมา.
18 ต่อมาพอลย้ายไปอยู่ลอนดอน เรียนภาษาญี่ปุ่น และสมทบกับประชาคมที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น. เมื่อเขาเสนอตัวที่จะพาพยานฯ ชาวญี่ปุ่นที่มาเยือนไปยังประชาคมเดิมของเขา พี่น้องที่นั่นหวนนึกถึงอคติอย่างรุนแรงของอัลเบิร์ตต่อผู้คนที่มาจากภูมิหลังดังกล่าว. ตั้งแต่กลับมาบริเตน อัลเบิร์ตหลีกเลี่ยงที่จะพบหน้าใครก็ตามที่มาจากญี่ปุ่น พี่น้องจึงสงสัยว่าเขาจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่ว่านี้. พวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลเลย อัลเบิร์ตต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความรักใคร่ฉันพี่น้องอย่างเต็มที่.—1 เปโตร 3:8, 9.
“จงตีแผ่ใจ”
19. คำแนะนำอะไรของอัครสาวกเปาโลที่ช่วยเราได้หากเรามีแนวโน้มใด ๆ ที่จะลำเอียง?
19 กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดเขียนไว้ว่า “การแสดงความลำเอียงนั้นไม่ดี.” (สุภาษิต 28:21, ล.ม.) ง่ายที่เรา จะรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกับคนที่เรารู้จักดี. อย่างไรก็ตาม บางครั้งเรามีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจเพียงเล็กน้อยต่อคนที่เราไม่ค่อยรู้จักเท่าไรนัก. ความลำเอียงเช่นนั้นไม่เหมาะสมสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. แน่นอน เราทุกคนควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ชัดเจนของเปาโลที่ให้ “ตีแผ่ใจ.” ใช่แล้ว แผ่ความรักของเราให้กับเพื่อนคริสเตียนที่มาจากภูมิหลังต่างกัน.—2 โกรินโธ 6:13.
20. ในขอบเขตใดบ้างของชีวิตที่เราควรเลียนแบบพระยะโฮวา พระเจ้าของเราผู้ไม่ลำเอียง?
20 ไม่ว่าเรามีสิทธิพิเศษในการถูกเรียกไปสวรรค์หรือมีความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก การเป็นคนไม่ลำเอียงทำให้เราชื่นชมกับเอกภาพในการอยู่รวมกันเป็นฝูงเดียวภายใต้ผู้เลี้ยงผู้เดียว. (เอเฟโซ 4:4, 5, 16) การพยายามเลียนแบบพระยะโฮวา พระเจ้าของเราผู้ไม่ลำเอียง จะเป็นประโยชน์แก่เราในงานรับใช้ของคริสเตียน, ในครอบครัว, และในประชาคม—ที่จริงแล้ว ในทุกขอบเขตของชีวิต. จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? บทความต่อไปจะพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 กิตติศัพท์ของพระยะโฮวาภายหลังได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของเนื้อเพลงที่ใช้เพื่อการนมัสการ.—บทเพลงสรรเสริญ 135:8-11; 136:11-20.
^ วรรค 11 คำว่า “เฮเลน” (หรือ “กรีก”) ในที่นี้หมายถึงคนต่างชาติทั่วไป.—การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 1004 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระยะโฮวาแสดงความไม่ลำเอียงอย่างไรต่อราฮาบและชาวเมืองฆิบโอน?
• พระเยซูแสดงความไม่ลำเอียงอย่างไรในการสอนของพระองค์?
• อะไรสามารถช่วยเราให้เอาชนะอคติใด ๆ ในด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 13]
ชัยชนะของชาวอิสราเอลเหนือชาวคะนาอันเริ่มต้น
[ภาพหน้า 15]
พระเยซูไม่ได้ยับยั้งการให้คำพยานแก่หญิงชาวซะมาเรีย
[ภาพหน้า 16]
การประชุมสาธารณะภาษาอัมฮาริกในบริเตน
[ภาพหน้า 16]
ความรักที่อัลเบิร์ตมีต่อพระยะโฮวาช่วยเขาเอาชนะอคติ