“พระเจ้าทรงเป็นความรัก”
“พระเจ้าทรงเป็นความรัก”
“ผู้ที่ไม่รักก็ไม่รู้จักพระเจ้า, เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก.”—1 โยฮัน 4:8.
1-3. (ก) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับคุณลักษณะแห่งความรักของพระยะโฮวา และการกล่าวเช่นนี้ไม่มีใดเหมือนในทางใด? (ข) ทำไมคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก”?
คุณลักษณะทุกประการของพระยะโฮวาล้วนเลิศล้ำ, สมบูรณ์แบบ, และน่าดึงดูดใจ. แต่คุณลักษณะที่ชวนให้รักใคร่มากที่สุดในบรรดาคุณลักษณะทั้งสิ้นของพระยะโฮวาคือความรัก. ไม่มีสิ่งอื่นใดจะดึงดูดเราเข้าไปหาพระยะโฮวาได้อย่างมีพลังมากเท่ากับความรักของพระองค์. น่ายินดีที่ว่าความรักเป็นคุณลักษณะเด่นที่สุดของพระองค์ด้วย. เราทราบเรื่องนั้นได้อย่างไร?
2 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวบางอย่างเกี่ยวกับความรัก ซึ่งไม่เคยกล่าวอย่างนั้นกับคุณลักษณะเด่นอื่น ๆ ของพระยะโฮวา. พระคัมภีร์ไม่เคยกล่าวว่าพระเจ้าทรงเป็นอำนาจ หรือพระเจ้าทรงเป็นความยุติธรรม หรือกระทั่งว่าพระเจ้าทรงเป็นสติปัญญา. พระองค์ทรงมี คุณลักษณะเหล่านี้ และทรงเป็นบ่อเกิดของคุณลักษณะทั้งสามประการ. อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับความรัก มีการกล่าวถึงในแบบที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่ 1 โยฮัน 4:8 ดังนี้: “พระเจ้าทรงเป็น ความรัก.” ถูกแล้ว ความรักแผ่ซ่านอยู่ในพระยะโฮวา. ความรักเป็นแก่นแท้หรือตัวตนที่แท้จริงของพระองค์. กล่าวโดยทั่วไปแล้ว เราอาจคิดอย่างนี้: อำนาจของพระยะโฮวาทำให้พระองค์สามารถ ทำสิ่งต่าง ๆ. ความยุติธรรมและสติปัญญาของพระองค์ชี้นำ วิธีที่พระองค์ทรงทำ. แต่ความรักของพระยะโฮวากระตุ้น พระองค์ให้ลงมือทำ. และความรักของพระยะโฮวาสะท้อนให้เห็นในวิธีที่พระองค์ใช้หรือสำแดงคุณลักษณะอื่น ๆ เสมอ.
3 บ่อยครั้งมีการกล่าวว่าพระยะโฮวาทรงเป็นแบบฉบับแห่งความรัก. ฉะนั้น หากเราต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับความรัก เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา. ดังนั้น ขอให้เรามาพิจารณาบางแง่มุมเกี่ยวกับคุณลักษณะอันหาที่เปรียบไม่ได้นี้ของพระยะโฮวา.
การกระทำที่แสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่สุด
4, 5. (ก) อะไรคือการกระทำที่แสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดประวัติศาสตร์? (ข) ทำไมเราจึงกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเนื่องด้วยความรักอันเป็นเครื่องผูกพันที่เหนียวแน่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา?
4 พระยะโฮวาทรงแสดงความรักในหลายวิธี แต่มีวิธีหนึ่งที่เหนือกว่าวิธีอื่น ๆ ทั้งหมด. นั่นคืออะไร? คือการส่งพระบุตรของพระองค์มาทนทุกข์ทรมานและวายพระชนม์เพื่อพวกเรา. เรากล่าวได้เลยว่า นี่เป็นการกระทำที่แสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดประวัติศาสตร์. ทำไมจึงกล่าวได้อย่างนั้น?
5 คัมภีร์ไบเบิลเรียกพระเยซูว่า “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.” (โกโลซาย 1:15, ล.ม.) คิดดูก็แล้วกัน พระบุตรของพระยะโฮวาทรงดำรงอยู่ก่อนเอกภพที่เป็นวัตถุ. ถ้าเช่นนั้น พระบิดาและพระบุตรอยู่ด้วยกันมานานแค่ไหน? นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดคะเนว่าเอกภพมีอายุ 13,000 ล้านปี. ถ้าหากการคาดคะเนดังกล่าวถูกต้อง ช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังไม่ยาวนานพอที่จะแสดงถึงช่วงชีวิตที่พระบุตรหัวปีอยู่กับพระยะโฮวา! พระองค์ทรงทำอะไรระหว่างช่วงเวลานั้น? พระบุตรทำงานอย่างมีความสุขฐานะเป็น “นายช่าง” ของพระบิดา. (สุภาษิต 8:30, ล.ม.; โยฮัน 1:3) พระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ทำงานร่วมกันเพื่อทำให้สรรพสิ่งนอกเหนือจากพระองค์ทั้งสองบังเกิดขึ้น. ช่างเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขและน่าตื่นเต้นจริง ๆ สำหรับพระองค์ทั้งสอง! ดังนั้น ใครหรือในพวกเราจะสามารถเข้าใจอย่างแท้จริงถึงพลังของความผูกพันที่มีอยู่ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานเช่นนั้นได้? เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเนื่องด้วยความรักอันเป็นเครื่องผูกพันที่เหนียวแน่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา.
6. เมื่อพระเยซูรับบัพติสมา พระยะโฮวาทรงแสดงความรู้สึกที่มีต่อพระบุตรของพระองค์อย่างไร?
6 กระนั้นก็ตาม พระบิดาส่งพระบุตรมายังแผ่นดินโลกให้เกิดเป็นมนุษย์ในสภาพทารก. การทำเช่นนั้นหมายความว่า พระยะโฮวาจะไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบุตรที่รักของพระองค์ในสวรรค์เป็นเวลาหลายสิบปี. ด้วยความสนพระทัยแรงกล้า พระองค์ทรงเฝ้าดูจากสวรรค์ขณะที่พระเยซูเติบโตเป็นมนุษย์สมบูรณ์. ตอนอายุราว 30 ปี พระเยซูทรงรับบัพติสมา. ในโอกาสนั้น พระบิดาตรัสจากสวรรค์ด้วยพระองค์เองว่า “นี่คือบุตรของเรา ผู้เป็นที่รัก ผู้ซึ่งเราโปรดปราน.” มัดธาย 3:17, ล.ม.) เมื่อทรงเห็นว่าพระเยซูทรงทำทุกสิ่งตามที่มีพยากรณ์ไว้ และทำทุกอย่างที่มีการเรียกร้องจากพระองค์อย่างซื่อสัตย์ พระบิดาคงต้องรู้สึกเป็นสุขเบิกบานเสียจริง ๆ!—โยฮัน 5:36; 17:4.
(7, 8. (ก) พระเยซูต้องทนรับอะไรบ้างในวันที่ 14 เดือนไนซาน ส.ศ. 33 และพระบิดาของพระองค์ทางภาคสวรรค์ได้รับผลกระทบอย่างไร? (ข) ทำไมพระยะโฮวาทรงยอมให้พระบุตรของพระองค์ทนทุกข์และสิ้นพระชนม์?
7 อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรในวันที่ 14 เดือนไนซาน ส.ศ. 33 เมื่อพระเยซูถูกทรยศ แล้วถูกฝูงชนที่โกรธเคืองเข้าจับกุม? เมื่อพระเยซูถูกเยาะเย้ย, ถูกถ่มน้ำลายรด, ถูกทุบต่อยด้วยกำปั้น? เมื่อพระองค์ถูกเฆี่ยนจนหลังฉีกเป็นแนว? เมื่อทั้งมือและเท้าของพระองค์ถูกตอกติดกับเสาไม้ และปล่อยให้แขวนอยู่อย่างนั้น ขณะที่ประชาชนสบประมาทพระองค์? พระบิดารู้สึกอย่างไรเมื่อพระบุตรที่รักร้องเสียงดังถึงพระองค์ด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส? พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรขณะที่พระเยซูสูดลมหายใจเฮือกสุดท้าย และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มการทรงสร้างสรรพสิ่งเป็นต้นมาที่พระบุตรที่รักของพระองค์ไม่มีชีวิต?—มัดธาย 26:14-16, 46, 47, 56, 59, 67; 27:26, 38-44, 46; โยฮัน 19:1.
8 เนื่องจากพระยะโฮวาทรงมีความรู้สึก ความปวดร้าวพระทัยเนื่องด้วยความตายของพระบุตรนั้นสุดที่เราจะพรรณนาได้. แต่สิ่งที่สามารถกล่าวถึงได้ก็คือเหตุผลที่พระยะโฮวาทรงยอมให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น. ทำไมพระบิดายอมให้พระองค์เองปวดร้าวพระทัยอย่างนั้น? พระยะโฮวาทรงเผยให้เราทราบบางสิ่งที่น่าพิศวงที่โยฮัน 3:16 ซึ่งเป็นข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่สำคัญมากจนถึงกับถูกเรียกว่ากิตติคุณอย่างย่อ. ข้อนั้น (ล.ม.) กล่าวว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.” ดังนั้น สิ่งที่กระตุ้นพระเจ้าก็คือ ความรักนั่นเอง. ไม่เคยมีการแสดงความรักใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้.
วิธีที่พระยะโฮวาทำให้เรามั่นใจในความรักของพระองค์
9. ซาตานต้องการให้เราเชื่อว่าพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อเรา แต่พระยะโฮวาทรงรับรองกับเราว่าอย่างไร?
9 อย่างไรก็ตาม มีคำถามสำคัญเกิดขึ้น: พระเจ้าทรงรักเราเป็นส่วนตัวไหม? บางคนอาจเห็นด้วยที่ว่าพระเจ้าทรงรักมนุษยชาติโดยทั่วไป ดังที่โยฮัน 3:16 กล่าว. แต่พวกเขารู้สึกว่า จริง ๆ แล้ว ‘พระเจ้าคงไม่มีทางจะรักฉัน เป็นส่วนตัวหรอก.’ ข้อเท็จจริงคือ ซาตานพญามารต้องการอย่างยิ่งที่จะทำให้เราเชื่อว่าพระยะโฮวาไม่รักเรา หรือถือว่าเราไม่มีค่า. แต่ไม่ว่าเราอาจคิดว่าเราไม่น่ารักหรือไร้ค่าเพียงใดก็ตาม พระยะโฮวาทรงรับรองกับเราว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์แต่ละคนมีค่าสำหรับพระองค์.
10, 11. ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องนกกระจอกแสดงอย่างไรว่าเรามีค่าในสายพระเนตรของพระยะโฮวา?
10 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาคำตรัสของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ที่มัดธาย 10:29-31 (ล.ม.). โดยการเปรียบเทียบให้เห็นค่าของเหล่าสาวกของพระองค์ พระเยซูตรัสว่า “นกกระจอกสองตัวซื้อได้ด้วยเงินเหรียญที่มีค่าเล็กน้อยมิใช่หรือ? กระนั้น ไม่มีสักตัวเดียวจะตกถึงดินโดยที่พระบิดาของเจ้าไม่รู้. แม้แต่ผมของเจ้าทุกเส้นก็ถูกนับไว้แล้ว. เหตุฉะนั้น อย่ากลัว เจ้าทั้งหลายมีค่ามากกว่านกกระจอกหลายตัว.” ขอให้พิจารณาว่าถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายเช่นไรต่อเหล่าผู้ฟังของพระเยซูในศตวรรษแรก.
11 ในสมัยของพระเยซู นกกระจอกเป็นนกราคาถูกที่สุดที่ซื้อขายกันเป็นอาหาร. เงินหนึ่งเหรียญที่มีค่าน้อยนิดใช้ซื้อนกกระจอกได้สองตัว. แต่ตามลูกา 12:6, 7 (ล.ม.) ต่อมา พระเยซูกล่าวว่า ถ้าคนหนึ่งใช้เงินสองเหรียญ เขาจะซื้อนกกระจอกได้ไม่ใช่สี่ตัว แต่ห้า ตัว. นกอีกตัวที่แถมมานั้นดูเหมือนไม่มีค่าอะไรเลย. นกพวกนี้อาจไม่มีค่าอะไรในสายตามนุษย์ แต่พระผู้สร้างทรงมองนกเหล่านี้เช่นไร? พระเยซูตรัสว่า “ไม่มีสักตัวเดียว [แม้แต่ตัวที่แถมมานั้น] ที่พระเจ้าทรงลืม.” ถึงตอนนี้ เราอาจเริ่มเข้าใจจุดสำคัญที่พระเยซูต้องการจะบอก. หากพระยะโฮวาทรงถือว่านกกระจอกตัวหนึ่งมีค่า แล้วมนุษย์คนหนึ่งจะมีค่ายิ่งกว่านั้นสักเท่าใด! ดังที่พระเยซูตรัส พระยะโฮวาทรงทราบรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเรา. อันที่จริง ผมของเราก็ทรงนับไว้แล้วทุกเส้น!
12. ทำไมเราแน่ใจได้ว่าพระเยซูตรัสตามจริงเมื่อกล่าวว่าผมของเราถูกนับไว้แล้ว?
12 บางคนอาจคิดว่าพระเยซูคงใช้คำพูดเกินจริงในที่นี้. แต่ลองคิดถึงการกลับเป็นขึ้นจากตาย. พระยะโฮวาต้องรู้จักเราอย่างละเอียดถี่ถ้วนขนาดไหนเพื่อจะสร้างตัวเราขึ้นมาใหม่! พระองค์ถือว่าเรามีค่ามากจนถึงขนาดที่ทรงจดจำรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเรา รวมถึงรหัสพันธุกรรมอันสลับซับซ้อน อีกทั้งความทรงจำและประสบการณ์ทั้งสิ้นตลอดชีวิตของเรา. เมื่อเทียบกันแล้ว การนับเส้นผมของเรา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 100,000 เส้น ก็คงเป็นเรื่องง่ายทีเดียว. ถ้อยคำของพระเยซูที่รับรองกับเราว่าพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยเราเป็นรายบุคคลนั้นช่างวิเศษสักเพียงไร!
13. กรณีของกษัตริย์ยะโฮซาฟาดแสดงอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงมองหาส่วนดีในตัวเราถึงแม้ว่าเราไม่สมบูรณ์?
13 คัมภีร์ไบเบิลยังเผยให้เห็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามั่นใจในความรักของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงมองหาและเห็นคุณค่าความดีในตัวเรา. ขอพิจารณากรณีของยะโฮซาฟาดกษัตริย์ที่ดีเป็นตัวอย่าง. เมื่อกษัตริย์ได้ทำบางสิ่งที่โฉดเขลา ผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาแจ้งแก่ท่านว่า “เพราะเรื่องนี้พระพิโรธของพระเจ้าได้ออกมาถึงฝ่าพระบาท.” ช่างเป็นเรื่องที่น่าคิดทีเดียว! แต่ข่าวสารจากพระยะโฮวาไม่ได้จบแค่นั้น. มีการกล่าวต่อไปว่า “อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงพบความดีในฝ่าพระบาทบ้าง.” (2 โครนิกา 19:1-3, ฉบับแปลใหม่) ดังนั้น ความพิโรธอย่างชอบธรรมของพระยะโฮวามิได้ทำให้พระองค์มองข้าม “ความดี” ในตัวยะโฮซาฟาด. เป็นเรื่องที่ทำให้อุ่นใจมิใช่หรือที่รู้ว่าพระเจ้าของเราทรงมองหาส่วนดีในตัวเราถึงแม้ว่าเราไม่สมบูรณ์?
พระเจ้าผู้ทรง “พร้อมจะให้อภัย”
14. เมื่อเราทำบาป เราอาจรู้สึกถึงภาระอันหนักอึ้งอะไร แต่เราอาจได้รับการอภัยจากพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
14 เมื่อเราทำบาป ความรู้สึกผิดหวัง, ความละอายใจ, และความรู้สึกผิดอาจทำให้เราคิดว่าเราไม่คู่ควรที่จะรับใช้พระยะโฮวา. แต่ขออย่าลืมว่าพระยะโฮวาทรง “พร้อมจะให้อภัย.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.) ถูกแล้ว ถ้าเรากลับใจจากบาปของเรา และพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะไม่ทำซ้ำอีก เราจะได้รับการอภัยจากพระยะโฮวา. ขอให้พิจารณาว่าคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงแง่มุมแห่งความรักอันน่าพิศวงของพระยะโฮวานี้อย่างไร.
15. พระยะโฮวาทรงนำเอาบาปของเราออกไปไกลจากเราถึงขนาดไหน?
15 ดาวิด ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ใช้ถ้อยคำที่ให้ภาพชัดเพื่อพรรณนาถึงการให้อภัยของพระยะโฮวาดังนี้: “ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตก มากเท่าใด, พระองค์ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น.” (เราเปลี่ยนเป็นตัวเอน; บทเพลงสรรเสริญ 103:12) ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกเท่าไร? ในแง่หนึ่ง ทิศตะวันออกอยู่ไกลสุดจากทิศตะวันตกเสมอเท่าที่จะนึกออกได้; สองทิศนี้จะไม่มีวันมาบรรจบกันได้เลย. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่าถ้อยคำนี้หมายความว่า “ไกลเท่าที่เป็นไปได้; ไกลเท่าที่เราจะนึกภาพออก.” ถ้อยคำของดาวิดที่ได้รับการดลใจบอกเราว่า เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ทรงนำเอาบาปของเราไปไกลจากเราเท่าที่จะนึกภาพได้.
16. เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัยบาปของเรา ทำไมเราแน่ใจได้ว่าหลังจากนั้นพระองค์จะทรงถือว่าเราบริสุทธิ์สะอาด?
16 คุณเคยพยายามลบรอยเปื้อนจากเสื้อผ้าสีอ่อนไหม? บางทีทั้ง ๆ ที่คุณพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว รอยเปื้อนนั้นก็ยังเหลือให้เห็นอยู่. โปรดสังเกตว่าพระยะโฮวาทรงพรรณนาอย่างไรถึงความสามารถของพระองค์ในการให้อภัย: “แม้บาปของเจ้าจะแดงเป็นเหมือนสีที่แดงก่ำ, บาปนั้นก็อาจจะกลับกลายเป็นสีขาวเหมือนอย่างหิมะ; แม้บาปของเจ้าจะแดงเป็นเหมือนสีที่แดงเข้ม, บาปนั้นก็อาจจะขาวเหมือนอย่างขนแกะ.” (ยะซายา 1:18) คำว่า “สีที่แดงก่ำ” หมายถึงสีแดงสด. * “สีแดงเข้ม” เป็นสีย้อมที่เข้ม. เราไม่มีวันลบรอยบาปได้ด้วยความพยายามของเราเอง. กระนั้น พระยะโฮวาสามารถนำเอาบาปที่เป็นเหมือนสีแดงสดและสีแดงเข้มนั้นไป แล้วทำให้บาปนั้นขาวดุจหิมะหรือขนแกะที่ไม่ได้ย้อมสี. ดังนั้น เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัยบาปของเราแล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่ามีรอยบาปติดตัวไปตลอดชีวิต.
17. ในแง่ใดที่พระยะโฮวาเหวี่ยงบาปของเราไปข้างหลังพระองค์?
17 ในบทเพลงขอบพระคุณที่ซาบซึ้งกินใจซึ่งฮิศคียาประพันธ์หลังจากได้รับการช่วยให้หายจากความเจ็บป่วยที่คุกคามยะซายา 38:17) ข้อนี้พรรณนาภาพพระยะโฮวาว่าทรงเอาบาปของผู้กระทำผิดที่กลับใจเหวี่ยงไปข้างหลังพระองค์ ทำให้พระองค์ไม่เห็นหรือใส่ใจบาปนั้นอีกต่อไป. ตามที่กล่าวไว้ในหนังสืออ้างอิงแหล่งหนึ่ง แนวคิดดังกล่าวอาจถ่ายทอดได้ดังนี้: “พระองค์ได้ทำราวกับว่า [บาปของข้าพเจ้า] ไม่ได้เกิดขึ้น.” แนวคิดที่ว่านี้ทำให้รู้สึกอุ่นใจมิใช่หรือ?
ชีวิต ท่านได้ทูลพระยะโฮวาว่า “พระองค์ได้ทรงเหวี่ยง บาปทั้งหมดของข้าพเจ้าไปข้างหลังพระองค์ เสียแล้ว.” (18. ผู้พยากรณ์มีคาแสดงอย่างไรว่าเมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ทรงขจัดบาปของเราออกไปอย่างถาวร?
18 ในคำสัญญาเรื่องการฟื้นฟู ผู้พยากรณ์มีคาได้แสดงความมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงให้อภัยประชาชนของพระองค์ที่กลับใจดังนี้: “ใครเล่าเป็นพระเจ้าเสมอเหมือนกับพระองค์ . . . ทรงมองเลยความผิดบาปของหน่วยเดนเลือกแห่งสมบัติตกทอดของพระองค์? . . . และพระองค์จะทรงโยนบาปผิดของเราลงไปเสียในทะเลลึก.” (มีคา 7:18, 19) คิดดูสิว่าถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายเช่นไรสำหรับผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. มีทางใดไหมที่จะเอาสิ่งซึ่งถูกเหวี่ยง ‘ลงไปในทะเลลึก’ นั้นกลับคืนมา? ด้วยเหตุนี้ ถ้อยคำของมีคาแสดงว่าเมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ทรงขจัดบาปของเราออกไปอย่างถาวร.
“ความสงสารอันอ่อนละมุนของพระเจ้าของเรา”
19, 20. (ก) คำกริยาภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “แสดงความเมตตา” หรือ “มีความสงสาร” นั้น มีความหมายว่าอย่างไร? (ข) คัมภีร์ไบเบิลใช้ความรู้สึกที่มารดามีต่อลูกน้อยอย่างไรเพื่อสอนเราเกี่ยวกับความสงสารของพระยะโฮวา?
19 อีกแง่มุมหนึ่งแห่งความรักของพระยะโฮวาคือความสงสาร. ความสงสารคืออะไร? ในคัมภีร์ไบเบิล ความสงสารกับความเมตตามีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด. มีคำภาษาฮีบรูและคำภาษากรีกหลายคำที่ถ่ายทอดความหมายของความสงสาร. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาคำกริยาฮีบรูราคัม ซึ่งบ่อยครั้งได้รับการแปลว่า “แสดงความเมตตา” หรือ “มีความสงสาร.” คำฮีบรูนี้ซึ่งพระยะโฮวานำมาใช้กับพระองค์เอง เกี่ยวข้องกับคำที่หมายถึง “ครรภ์” และอาจพรรณนาได้ว่าเป็น “ความสงสารอย่างมารดา.”
20 คัมภีร์ไบเบิลใช้ความรู้สึกที่มารดามีต่อลูกน้อยเพื่อสอนเราเกี่ยวกับความสงสารของพระยะโฮวา. ยะซายา 49:15 (ล.ม.) กล่าวว่า “ภรรยาจะลืมบุตรที่ยังกินนมและถึงกับไม่สงสาร [ราคัม] บุตรจากครรภ์ของเธอได้หรือ? แม้ผู้หญิงเหล่านี้จะลืมได้ แต่เราเองจะไม่ลืมเจ้า.” เป็นการยากที่จะนึกภาพว่ามารดาจะลืมเลี้ยงและไม่เอาใจใส่ลูกที่ยังกินนมเธออยู่. ที่จริง ทารกช่วยตัวเองไม่ได้; เด็กน้อยจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่จากมารดาทั้งกลางวันและกลางคืน. แต่น่าเศร้า การที่มารดาทอดทิ้งลูกน้อยไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง “วิกฤตกาล” นี้. (2 ติโมเธียว 3:1, 3, ล.ม.) กระนั้น พระยะโฮวาทรงแถลงว่า “แต่เราเองจะไม่ลืมเจ้า.” ความสงสารอันอ่อนละมุนที่พระยะโฮวามีต่อผู้รับใช้ของพระองค์นั้นแรงกล้าอย่างสุดที่จะคณนา ยิ่งกว่าความรู้สึกตามธรรมชาติอันอ่อนละมุนที่สุดเท่าที่เราจะนึกภาพได้ กล่าวคือในกรณีของความรู้สึกสงสารตามปกติที่มารดามีต่อลูกน้อยของเธอ.
21, 22. ชนอิสราเอลประสบอะไรในอียิปต์โบราณ และพระยะโฮวาทรงตอบสนองอย่างไรต่อเสียงร้องของพวกเขา?
เอ็กโซโด 1:11, 14) ด้วยความทุกข์ระทม ชนอิสราเอลได้ร้องขอให้พระยะโฮวาช่วยเหลือ. พระเจ้าผู้มีความสงสารทรงตอบสนองอย่างไร?
21 พระยะโฮวาทรงสำแดงความสงสารดุจมารดาที่เปี่ยมด้วยความรักอย่างไร? คุณลักษณะนี้ปรากฏชัดในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อชาติอิสราเอลโบราณ. ตอนปลายศตวรรษที่ 16 ก่อน ส.ศ. ชนอิสราเอลนับล้านเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ ที่ซึ่งพวกเขาถูกกดขี่อย่างหนัก. (22 พระยะโฮวารู้สึกสะเทือนพระทัย. พระองค์ตรัสว่า “เราได้เห็นความทุกข์ของพวกพลไพร่ของเราที่อยู่ประเทศอายฆุบโต; เราได้ยินเสียงร้องของเขา . . . เรารู้ถึงความทุกข์โศกของเขา.” (เอ็กโซโด 3:7) เป็นไปไม่ได้ที่พระยะโฮวาจะทรงเห็นความทุกข์ของประชาชนของพระองค์หรือได้ยินเสียงร้องของพวกเขาโดยไม่รู้สึกอะไรเลย. พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่มีความร่วมรู้สึก. และความร่วมรู้สึก ซึ่งเป็นความสามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดของผู้อื่นนั้น เกี่ยวพันใกล้ชิดกับความสงสาร. แต่พระยะโฮวาไม่เพียงรู้สึก ต่อประชาชนของพระองค์ พระองค์ถูกกระตุ้นที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของพวกเขา. ยะซายา 63:9 กล่าวว่า “พระองค์ได้ทรงไถ่เขาไว้เพราะพระองค์ทรงรักและสงสารเขา.” ด้วย “พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์” พระยะโฮวาทรงช่วยชนอิสราเอลออกจากอียิปต์. (พระบัญญัติ 4:34) หลังจากนั้น พระองค์ทรงประทานอาหารให้พวกเขาอย่างอัศจรรย์และนำพวกเขาไปสู่แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ของพวกเขา.
23. (ก) ถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญทำให้เรามั่นใจอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงห่วงใยพวกเราอย่างยิ่งเป็นรายบุคคล? (ข) พระยะโฮวาทรงช่วยเราในทางใดบ้าง?
23 พระยะโฮวาไม่เพียงแสดงความสงสารต่อประชาชนของพระองค์ในฐานะกลุ่มชนเท่านั้น. พระเจ้าองค์เปี่ยมด้วยความรักของเราทรงห่วงใยพวกเราอย่างยิ่งเป็นรายบุคคลเช่นกัน. พระองค์ทรงทราบดีถึงความทุกข์ใด ๆ ที่เราอาจประสบอยู่. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม, และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับฟังคำทูลร้องทุกข์ของเขา. พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ, และคนที่มีใจสุภาพพระองค์จะทรงช่วยให้รอด.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:15, 18) พระยะโฮวาทรงช่วยเราเป็นรายบุคคลโดยวิธีใด? ใช่ว่าพระองค์จะกำจัดสาเหตุแห่งความทุกข์ของเราเสมอไป. กระนั้น พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้อย่างบริบูรณ์แก่คนเหล่านั้นที่ร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์. พระคำของพระองค์ให้คำแนะนำที่ใช้การได้ซึ่งอาจช่วยได้มาก. ในประชาคม พระยะโฮวาทรงจัดให้มีผู้ดูแลที่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณ ผู้ซึ่งพยายามจะสะท้อนความสงสารของพระองค์ในการช่วยเหลือผู้อื่น. (ยาโกโบ 5:14, 15) ในฐานะ “ผู้สดับคำอธิษฐาน” พระยะโฮวาประทาน “พระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; ลูกา 11:13) การจัดเตรียมเหล่านี้ทั้งหมดเป็นการแสดงออกถึง “ความสงสารอันอ่อนละมุนของพระเจ้าของเรา.”—ลูกา 1:78, ล.ม.
24. คุณจะตอบสนองความรักของพระยะโฮวาโดยวิธีใด?
24 เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมิใช่หรือที่จะใคร่ครวญความรักของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์? ในบทความก่อน มีการเตือนให้เราระลึกว่าพระยะโฮวาได้ทรงสำแดงอำนาจ, ความยุติธรรม, และสติปัญญาของพระองค์ในวิธีที่เปี่ยมด้วยความรักเพื่อประโยชน์ของเรา. และในบทความนี้ เราได้เห็นแล้วว่า พระยะโฮวาทรงสำแดงความรักโดยตรงต่อมนุษยชาติ และต่อเราเป็นรายบุคคล ในวิธีต่าง ๆ ที่โดดเด่น. ตอนนี้ เราแต่ละคนควรถามตัวเองว่า ‘ฉันจะตอบสนองความรักของพระยะโฮวาโดยวิธีใด?’ ขอให้คุณตอบสนองด้วยการรักพระองค์อย่างสิ้นสุดหัวใจ, สุดความคิด, สุดจิตวิญญาณ, และสุดกำลังของคุณ. (มาระโก 12:29, 30) ขอให้วิธีที่คุณดำเนินชีวิตในแต่ละวันสะท้อนถึงความปรารถนาจากใจจริงที่จะเข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ. และขอให้พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงเป็นความรัก เข้าใกล้คุณมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดชั่วนิจนิรันดร์!—ยาโกโบ 4:8.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 16 ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่าสีแดงก่ำ “เป็นสีที่ไม่ตก, เป็นสีที่ติดแน่น. ทั้งน้ำค้าง, ฝน, การซักล้าง, และการใช้งานมานานก็ไม่อาจลบสีนั้นออกได้.”
คุณจำได้ไหม?
• เราทราบได้อย่างไรว่าความรักเป็นคุณลักษณะเด่นที่สุดของพระยะโฮวา?
• ทำไมจึงกล่าวได้ว่าการที่พระยะโฮวาทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาทนทุกข์ทรมานและวายพระชนม์เพื่อเราเป็นการกระทำที่แสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา?
• พระยะโฮวาทำให้เรามั่นใจว่าพระองค์ทรงรักเราเป็นรายบุคคลโดยวิธีใด?
• คัมภีร์ไบเบิลใช้ถ้อยคำอะไรบ้างที่ให้ภาพชัดเพื่อพรรณนาถึงการให้อภัยของพระยะโฮวา?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 15]
“พระเจ้า . . . ทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์”
[ภาพหน้า 16, 17]
“เจ้าทั้งหลายมีค่ามากกว่านกกระจอกหลายตัว”
[ที่มาของภาพ]
© J. Heidecker/VIREO
[ภาพหน้า 18]
ความรู้สึกของมารดาต่อลูกน้อยสอนเราเกี่ยวกับความสงสารของพระยะโฮวา