ยูเซบิอุส “บิดาแห่ง ประวัติคริสตจักร”?
ยูเซบิอุส “บิดาแห่ง ประวัติคริสตจักร”?
ในปี ส.ศ. 325 จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งโรมได้เรียกบิชอปทั้งหมดมาประชุมที่นีเซีย. เขาประสงค์จะจัดการกับประเด็นซึ่งมีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับพระบุตร. คนหนึ่งที่มาประชุมที่นั่นคือยูเซบิอุสจากเมืองซีซาเรียซึ่งได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นผู้ทรงความรู้มากที่สุดในยุคนั้น. ยูเซบิอุสเป็นผู้ที่ศึกษาพระคัมภีร์มาแล้วอย่างพากเพียรและเคยเป็นผู้แก้ต่างให้ความเชื่อของคริสเตียนที่ว่ามีพระเจ้าองค์เดียว.
ตามที่สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าว ณ การประชุมสังคายนาที่นีเซีย “คอนสแตนตินเองเป็นประธาน ชี้นำการอภิปรายอย่างกระตือรือร้นและเสนอข้อคิดเห็นส่วนตัว ที่ว่า . . . สูตรสำคัญที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระคริสต์กับพระเจ้าในหลักข้อเชื่อที่ออกโดยการประชุมสังคายนานี้คือ ‘เป็นสาระเดียวกับพระบิดา’ . . . โดยถูกความกลัวจักรพรรดิครอบงำ บิชอปทั้งหมด ยกเว้นแค่สองคน จึงเซ็นชื่อในกฤษฎีกา พวกเขาหลายคนฝืนใจมากทีเดียวที่ทำเช่นนั้น.” ยูเซบิอุสเป็นคนหนึ่งในบิชอปสองคนนั้นที่ไม่ยอมเซ็นไหม? เราได้บทเรียนอะไรจากจุดยืนของเขา? ให้เรามาดูภูมิหลังของยูเซบิอุสกัน ทั้งในด้านคุณวุฒิและความสำเร็จของเขา.
งานเขียนที่โดดเด่นของเขา
ดูเหมือนยูเซบิอุสเกิดในปาเลสไตน์ประมาณในปี ส.ศ. 260. ตอนยังเยาว์ เขาคบหากับปัมฟิลุส ผู้ดูแลคนหนึ่งในคริสตจักรที่ซีซาเรีย. เมื่อเข้าโรงเรียนศาสนาของปัมฟิลุส ยูเซบิอุสเป็นนักเรียนที่เอาจริงเอาจัง. เขาขยันใช้ห้องสมุดที่ดีเยี่ยมของปัมฟิลุส. ยูเซบิอุสทุ่มเทตัวในการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากนั้น เขาได้กลายเป็นเพื่อนรักกับปัมฟิลุสด้วย ต่อมา เขาเรียกตัวเองว่า “ยูเซบิอุสบุตรปัมฟิลุส.”
ยูเซบิอุสกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของเขาว่า “ข้าพเจ้าประสงค์จะเขียนบันทึกเรื่องการสืบต่อกันมาของเหล่าอัครสาวกบริสุทธิ์ รวมทั้งช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ผ่านไปนับตั้งแต่สมัยของพระผู้ช่วยให้รอดของเรามาจนถึงสมัยของเราเอง; เพื่อบอกว่า เหตุการณ์หลายอย่าง และเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ มีการบอกเล่ากันอย่างไรว่าได้เกิดขึ้นในประวัติของคริสตจักร; และเพื่อกล่าวถึงคนเหล่านั้นที่ได้ปกครองและนำหน้าคริสตจักรในเขตศาสนาที่โดดเด่นที่สุด และคนเหล่านั้นที่ได้ประกาศพระคำของพระเจ้าในแต่ละชั่วอายุทั้งโดยทางวาจาและทางหนังสือ.”
ยูเซบิอุสเป็นที่จดจำรำลึกเนื่องด้วยงานเขียนที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงของเขาชื่อประวัติคริสตจักร. หนังสือชุดนี้ของเขาที่มีสิบเล่มซึ่งพิมพ์ขึ้นประมาณในปี ส.ศ. 324 ได้รับการถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคริสตจักรชุดที่สำคัญที่สุดที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาก่อนถึงยุคกลาง. การประสบความสำเร็จด้วยหนังสือชุดนี้ทำให้ยูเซบิอุสมีชื่อเสียงในฐานะบิดาแห่งประวัติคริสตจักร.
นอกจากหนังสือประวัติคริสตจักรแล้วยูเซบิอุสยังเขียนจดหมายเหตุ เป็นชุดสองเล่มด้วย. เล่มแรกเป็นเค้าโครง
ประวัติศาสตร์โลก. ในศตวรรษที่สี่ หนังสือนี้กลายเป็นคู่มือมาตรฐานสำหรับการค้นคว้าอ้างอิงเกี่ยวกับการลำดับเวลาโลก. ส่วนเล่มที่สองบอกวันเวลาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์. ยูเซบิอุสใช้ตารางเปรียบเทียบเพื่อแสดงการสืบต่อกันมาของราชวงศ์ของชาติต่าง ๆ.ยูเซบิอุสเขียนหนังสือประวัติศาสตร์อีกสองเล่มชื่อผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อในปาเลสไตน์ และชีวิตของคอนสแตนติน. เล่มแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาตั้งแต่ปี ส.ศ. 303-310 และให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหล่าผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อในช่วงเวลานั้น. ยูเซบิอุสคงอยู่ในเวลาที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น. ส่วนเล่มหลังซึ่งพิมพ์เป็นชุดสี่เล่มหลังจากจักรพรรดิคอนสแตนตินสวรรคตในปี ส.ศ. 337 มีรายละเอียดที่มีคุณค่ามากทางประวัติศาสตร์. หนังสือชุดนี้ไม่ได้บรรยายประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่เป็นการเขียนยกย่องสรรเสริญ.
งานเขียนแก้ต่างของยูเซบิอุสได้รวมเอาการตอบโต้กับเฮียโรเคลสซึ่งเป็นผู้ว่าราชการโรมันคนหนึ่งในสมัยเดียวกันไว้ด้วย. ตอนที่เฮียโรเคลสเขียนโจมตีพวกคริสเตียน ยูเซบิอุสตอบโต้ด้วยการเขียนหนังสือแก้ต่าง. นอกจากนั้น เพื่อสนับสนุนว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ประพันธ์พระคัมภีร์ เขาเขียนหนังสือ 35 เล่มซึ่งถือกันว่าเป็นหนังสือแก้ต่างที่สำคัญที่สุดและให้รายละเอียดมากที่สุด. 15 เล่มแรกของหนังสือชุดนี้พยายามพิสูจน์ว่าคริสเตียนยอมรับหนังสือศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ส่วนอีก 20 เล่มให้ข้อพิสูจน์ว่าคริสเตียนเป็นฝ่ายถูกที่ดำเนินไปไกลกว่าแนวความคิดของชาวยิวและยอมรับเอาหลักการและกิจปฏิบัติใหม่ ๆ. หนังสือชุดนี้เสนอข้อแก้ต่างที่ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวกับศาสนาคริสเตียนตามที่ยูเซบิอุสเข้าใจ.
ยูเซบิอุสซึ่งอายุยืนถึงประมาณ 80 ปี (ประมาณ ส.ศ. 260-340) ได้กลายเป็นนักเขียนที่มีผลงานแพร่หลายที่สุดคนหนึ่งในสมัยก่อนยุคกลาง. หนังสือของเขาครอบคลุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงสามศตวรรษแรกของสากลศักราชมาจนถึงรัชกาลของจักรพรรดิคอนสแตนติน. ในชีวิตช่วงหลังของเขา เขาทำงานเป็นนักเขียนควบคู่ไปกับงานในฐานะบิชอปแห่งซีซาเรียด้วย. แม้ว่าเป็นที่รู้จักดียิ่งในฐานะนักประวัติศาสตร์ แต่ยูเซบิอุสก็ยังเป็นนักแก้ต่างเพื่อความเชื่อ, นักทำแผนที่, ผู้ประกาศศาสนา, นักวิจารณ์ศาสนา, และนักเขียนคำอธิบายหนังสือศาสนาด้วย.
จุดมุ่งหมายสองประการของยูเซบิอุส
เพราะอะไรยูเซบิอุสจึงเริ่มดำเนินโครงการใหญ่โตเป็นประวัติการณ์เช่นนั้น? คำตอบพบได้จากความเชื่อของเขาที่ว่า เขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่. เขาคิดว่าเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้เกิดขึ้นในชั่วอายุที่ผ่านไปและจำเป็นต้องมีบันทึกเป็นหนังสือไว้สำหรับชนรุ่นหลัง.
นอกจากนี้ ยูเซบิอุสมีจุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่ง นั่นคือการเป็นผู้แก้ต่าง. เขาเชื่อว่าศาสนาคริสเตียนมาจากพระเจ้า. แต่บางคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้. ยูเซบิอุสเขียนว่า “ข้าพเจ้ายังมีจุดมุ่งหมายจะบอกชื่อและจำนวน รวมทั้งจำนวนครั้งของการทำผิดของคนเหล่านั้นที่เนื่องจากความนิยมชมชอบสิ่งใหม่ ๆ ได้ทำผิดร้ายแรงอย่างยิ่ง แล้วประกาศตัวเป็นผู้ค้นพบความรู้ ตามที่เรียกกันอย่างผิด ๆ นั้น และเป็นเหมือนหมาป่าดุร้ายที่ทำลายฝูงแกะของพระคริสต์อย่างทารุณ.”
ยูเซบิอุสถือว่าตัวเองเป็นคริสเตียนไหม? ดูเหมือนว่าใช่ เพราะเขากล่าวถึงพระคริสต์ว่าเป็น “พระผู้ช่วยให้รอดของเรา.” เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจ . . . จะเล่าเหตุร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชาติยิวทั้งชาติในทันทีเนื่องจากพวกเขาวางแผนทำร้ายพระผู้ช่วยให้รอดของเรา และข้าพเจ้าตั้งใจจะบันทึกวิธีการและจำนวนครั้งที่พระคำของพระเจ้าถูกคนต่างชาติโจมตี และจะพรรณนาลักษณะของคนเหล่านั้นที่ได้พยายามต่อสู้เพื่อพระคำของพระเจ้าในช่วงเวลาต่าง ๆ แม้ต้องเสียเลือดเนื้อและถูกทรมาน รวมทั้งการยอมรับอย่างเปิดเผยในเรื่องความภักดีซึ่งได้ทำกันในสมัยของเรา และ
ความกรุณาและการช่วยเหลือด้วยความเมตตาซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงประทานแก่พวกเขาทั้งปวง.”งานวิจัยที่กว้างขวางของยูเซบิอุส
ยูเซบิอุสอ่านและค้นคว้าหนังสือมากมาย. เฉพาะแต่หนังสือของยูเซบิอุสเท่านั้นที่เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ ๆ ในสามศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. บันทึกเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับขบวนการสำคัญ ๆ มีอยู่ในหนังสือของเขาเท่านั้น. ข้อมูลเหล่านั้นมาจากแหล่งความรู้ที่หาดูไม่ได้อีกแล้ว.
ยูเซบิอุสขยันและถี่ถ้วนในการรวบรวมเนื้อหา. ดูเหมือนว่าเขาพยายามอย่างรอบคอบในการสังเกตดูความแตกต่างระหว่างบันทึกที่น่าเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือ. ถึงอย่างนั้น งานเขียนของเขาก็ใช่ว่าไร้ข้อบกพร่อง. บางครั้งเขาอธิบายผิด และกระทั่งไม่เข้าใจผู้คนและการกระทำของพวกเขา. บางครั้ง เขาลำดับเวลาไม่ถูกต้อง. นอกจากนี้ ยูเซบิอุสขาดความชำนาญในการเสนอเรื่องอย่างมีความคิดสร้างสรรค์. แต่ถึงแม้ว่ามีข้อผิดพลาดที่เห็นได้ชัดเหล่านี้ งานเขียนจำนวนมากของเขาก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์อันล้ำค่าทีเดียว.
เขาเป็นผู้รักความจริงไหม?
ยูเซบิอุสเป็นห่วงในเรื่องประเด็นที่ยังไม่ได้รับการจัดการ คือ พระบิดากับพระบุตรเกี่ยวข้องกันอย่างไร. พระบิดาทรงเป็นอยู่ก่อนพระบุตรอย่างที่ยูเซบิอุสเชื่อไหม? หรือว่าพระบิดากับพระบุตรเป็นอยู่ด้วยกันในเวลาเดียวกัน? เขาถามว่า “ถ้าพระองค์ทั้งสองเป็นอยู่พร้อมกัน พระบิดาจะเป็นพระบิดาและพระบุตรจะเป็นพระบุตรได้อย่างไร?” เขากระทั่งสนับสนุนความเชื่อของเขาด้วยข้ออ้างอิงจากพระคัมภีร์ด้วยซ้ำ โดยอ้างพระธรรมโยฮัน 14:28 ซึ่งกล่าวว่า ‘พระบิดาเป็นใหญ่กว่าพระเยซู’ และโยฮัน 17:3 ซึ่งกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็นผู้ที่ถูก “ใช้มา” โดยพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. โดยพาดพิงถึงโกโลซาย 1:15 และโยฮัน 1:1 ยูเซบิอุสชี้ว่า โลโกส หรือ พระวาทะ เป็น “แบบพระฉายของพระเจ้าผู้ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา”—คือเป็นพระบุตรของพระเจ้า.
แต่น่าประหลาดใจที่ในตอนท้ายของการประชุมสังคายนาที่นีเซีย ยูเซบิอุสกลับให้การสนับสนุนแง่คิดตรงกันข้าม. เขาเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของจักรพรรดิซึ่งขัดกับจุดยืนของเขาในด้านพระคัมภีร์ที่ว่า พระเจ้ากับพระคริสต์ไม่เท่าเทียมกันและไม่ได้เป็นอยู่พร้อมกัน.
บทเรียนที่ได้รับ
ทำไมยูเซบิอุสยอมแพ้ต่อความกดดัน ณ การประชุมสังคายนาที่นีเซียและสนับสนุนหลักคำสอนที่ไม่เป็นไปตามพระคัมภีร์? เขามีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอยู่ในใจไหม? ทำไมเขาเข้าร่วมประชุมสังคายนา? แม้ว่าบิชอปทุกคนถูกเรียก แต่มีเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่เข้าร่วมจริง ๆ คือแค่ 300 คนเท่านั้น. อาจเป็นว่ายูเซบิอุสเป็นห่วงเรื่องการรักษาสถานะทางสังคมของตนไว้ไหม? และเพราะเหตุใดจักรพรรดิคอนสแตนตินจึงให้ความนับถือเขาอย่างสูง? ในการประชุมสังคายนานั้น ยูเซบิอุสนั่งขวามือของจักรพรรดิ.
ดูเหมือนว่ายูเซบิอุสมองข้ามข้อเรียกร้องของพระเยซูที่ว่า สาวกของพระองค์ “ไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:16, ล.ม.; 18:36) สาวกยาโกโบถามว่า “หญิงเล่นชู้ทั้งหลาย ท่านไม่รู้หรือว่า การเป็นมิตรกับโลกก็คือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า?” (ยาโกโบ 4:4, ล.ม.) และคำเตือนของเปาโลก็เหมาะสมจริง ๆ ที่ว่า “อย่าเข้าเทียมแอกอย่างไม่เสมอกันกับคนไม่มีความเชื่อ”! (2 โกรินโธ 6:14, ล.ม.) ขอให้เราอยู่ต่างหากจากโลกขณะที่เรา “นมัสการ [พระบิดา] ด้วยวิญญาณและความจริง.”—โยฮัน 4:24, ล.ม.
[ภาพหน้า 31]
ภาพวาดบนผนังซึ่งแสดงการประชุมสังคายนาที่นีเซีย
[ที่มาของภาพ
Scala/Art Resource, NY
[ที่มาของภาพหน้า 29]
Courtesy of Special Collections Library, University of Michigan