เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่นจริง ๆ ไหม?
เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่นจริง ๆ ไหม?
“เมื่อเราสำรวจดูชีวิตและความพยายามของเรา ไม่ช้าเราก็สังเกตว่าการกระทำและความปรารถนาแทบทุกอย่างของเราเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของคนอื่น ๆ” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้ให้ข้อสังเกตไว้ดังกล่าว. เขากล่าวต่อไปว่า “เรารับประทานอาหารที่คนอื่นผลิต, สวมเสื้อผ้าที่คนอื่นตัดเย็บ, อยู่ในบ้านที่คนอื่นสร้างขึ้น. . . . แต่ละคนเป็นอย่างที่เขาเป็นและมีความสำคัญอย่างที่เขามี ไม่ใช่เพราะคุณลักษณะเฉพาะตัว แต่เนื่องด้วยการที่เขาเป็นสมาชิกของชุมชนมนุษย์ที่ใหญ่โต ซึ่งกำหนดความเป็นอยู่ทั้งทางด้านกายภาพและด้านวิญญาณของเขาตั้งแต่เกิดจนตาย.”
ในโลกของสัตว์ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะสังเกตเห็นการอยู่รวมกันโดยสัญชาตญาณ. ช้างไปไหนมาไหนเป็นโขลง ดูแลปกป้องลูกช้างตัวเล็ก ๆ อย่างระแวดระวัง. สิงโตตัวเมียล่าเหยื่อด้วยกันแล้วแบ่งอาหารให้ตัวผู้กิน. ปลาโลมาเล่นด้วยกันและถึงกับปกป้องชีวิตของสัตว์อื่นหรือนักว่ายน้ำที่เผชิญภัย.
อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางมนุษย์ นักสังคมศาสตร์ได้สังเกตแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น. ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในเม็กซิโกกล่าวนั้น นักสังคมศาสตร์บางคนมีความคิดเห็นว่า “หลายทศวรรษของการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวและการพังทลายลงของชีวิตแบบชุมชนได้ก่อผลเสียหายแก่สังคมสหรัฐ.” หนังสือพิมพ์นั้นกล่าวว่า “สวัสดิภาพของชาติขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกลับคืนสู่ชีวิตแบบชุมชน.”
ปัญหานี้ได้แพร่ไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางคนเหล่านั้นซึ่งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับหลายคนที่จะแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว. ผู้คนต้องการ ‘เป็นเอกเทศ’ และต่อต้านอย่างรุนแรงเมื่อคนอื่น ‘รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา.’ มีการแสดงทัศนะที่ว่าเจตคติเช่นนี้ได้ทำให้สังคมมนุษย์มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีปัญหาด้านอารมณ์, ความซึมเศร้า, และการฆ่าตัวตาย.
ในเรื่องนี้ ดร. แดเนียล โกลแมนได้กล่าวว่า “การแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวจากสังคม—แนวคิดเกี่ยวกับการไม่มีใครอื่นที่จะร่วมความรู้สึกส่วนตัวหรือไม่มีการติดต่อคบหากันอย่างใกล้ชิด—มีความเป็นไปได้สองเท่าที่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิต.” รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) ได้สรุปว่าการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวจากสังคม ‘มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตเหมือนกับนิสัยการสูบบุหรี่, ความดันโลหิตสูง, คอเลสเทอรอลสูง, โรคอ้วน, และขาดการออกกำลังกาย.’
ดังนั้น ด้วยเหตุผลหลายประการ เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่นจริง ๆ. เราไม่อาจจะอยู่โดยลำพังอย่างสิ้นเชิงได้. ดังนั้น จะแก้ปัญหาเรื่องการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวได้อย่างไร? อะไรได้ทำให้ชีวิตของหลายคนมีความหมายแท้? บทความต่อไปจะพูดถึงคำถามดังกล่าว.
[คำปรอย 3]
“การกระทำและความปรารถนาแทบทุกอย่างของเราเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของคนอื่น ๆ.”—อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์