ผู้ที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก
เรื่องราวชีวิตจริง
ผู้ที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก
เล่าโดยทอม ดีเดอร์
เราตกลงเช่าหอประชุมศาลาประชาคมไว้แล้ว. คาดหมายว่าจะมีประมาณ 300 คนเข้าร่วมประชุม ณ เมืองพอร์คิวไพน์เพลน มณฑลซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดา. พอถึงวันพุธ หิมะเริ่มตก และวันศุกร์เกิดพายุหิมะและถึงขนาดไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรได้. อุณหภูมิลดต่ำถึง -40 องศาเซลเซียส. มีเพียงยี่สิบแปดคนเข้าร่วมการประชุม รวมทั้งเด็กสองสามคน. นี่ถือเป็นการประชุมหมวดครั้งแรกสำหรับผมฐานะผู้ดูแลหมวดคนใหม่อายุ 25 ปีที่วิตกกังวล. ก่อนเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้น ผมขอย้อนเรื่องราวความเป็นมาที่ผมได้รับสิทธิพิเศษรับใช้เป็นผู้ดูแลหมวด.
ผมเป็นคนที่เจ็ดในบรรดาลูกชายทั้งหมดแปดคน. บิลเป็นพี่ชายคนโต รองลงมาได้แก่เมโทร, จอห์น, เฟรด, ไมก์, และอะเล็กซ์. ผมเกิดปี 1925 และวอลลีคือน้องคนสุดท้อง. เราอาศัยอยู่ใกล้เมืองยูเครนาในมณฑลแมนิโทบา ที่นั่นพ่อแม่ของผมคือไมเคิลกับแอนนา ดีเดอร์มีไร่เล็ก ๆ อยู่ไร่หนึ่ง. พ่อเป็นพนักงานรถไฟมีหน้าที่ดูแลบำรุงทางรถไฟช่วงหนึ่ง. เนื่องจากบ้านพักพนักงานรถไฟปลูกเป็นหลังเล็ก ๆ อยู่ข้างทางรถไฟห่างไกลเขตชุมชน จึงไม่เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ของเราจะพักอาศัย เราจึงอยู่ที่ไร่. ส่วนใหญ่พ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน ฉะนั้น หน้าที่อบรมเลี้ยงดูเราจึงตกอยู่กับแม่. แม่ละบ้านไปอยู่กับพ่อเป็นครั้งคราวนานสักหนึ่งสัปดาห์หรือกว่านั้น แต่แม่ไม่เคยลืมสอนพวกเราให้ทำอาหาร, อบขนมปังและขนมอบแห้งหลายอย่างไว้, และให้รู้จักทำงานบ้าน. และเนื่องจากพวกเราเป็นสมาชิกคริสตจักรกรีกคาทอลิก การอบรมเบื้องต้นที่เราได้รับจากแม่ก็มีทั้งท่องจำบทสวดและร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ.
สัมผัสความจริงของคัมภีร์ไบเบิล
ความปรารถนาของผมที่อยากเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลนั้นเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก. เพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาได้แวะเยี่ยมครอบครัวของเราเป็นประจำ และอ่านบางตอนในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า, อาร์มาเก็ดดอน, และความหวังอันรุ่งโรจน์เกี่ยวด้วยโลกใหม่. แม่ไม่สนใจเลยในสิ่งที่เขาบอกเล่า ทว่าไมก์และอะเล็กซ์ชอบใจข่าวสารนั้นมาก. อันที่จริง สิ่งที่เขาเรียนรู้นั้นเป็นแรงบันดาลใจเขาให้ปฏิเสธการรับราชการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบ. ภายหลัง ไมก์ถูกตัดสินจำคุกระยะสั้น ๆ ส่วนอะเล็กซ์ถูกส่งไปอยู่ค่ายแรงงานในมณฑลออนแทรีโอ. ต่อมา เฟรดกับวอลลีได้รับเอาความจริงด้วย. แต่พี่ชายอีกสามคนไม่สนใจ. แม่ต่อต้านความจริงอยู่นานหลายปี แต่ตอนหลังเราทุกคนแปลกใจที่แม่ได้มายึดมั่นอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา. แม่รับบัพติสมาเมื่ออายุ 83 ปี. ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ 96. พ่อก็เช่นเดียวกัน ท่านชื่นชอบความจริงก่อนตาย.
ตอนอายุ 17 ปี ผมเดินทางไปหางานทำที่เมืองวินนิเพก และเพื่อติดต่อคบหากับคนที่สามารถจะช่วยผมในการศึกษาพระคัมภีร์. สมัยนั้น งานเผยแพร่ของพยานพระยะโฮวาถูกสั่งห้าม แต่การประชุมยังดำเนินอยู่เป็นประจำ. การประชุมครั้งแรกที่ผมเข้าร่วมนั้นได้จัดขึ้นในบ้านส่วนตัว. เนื่องจากผมถูกอบรมให้เชื่อแบบศาสนากรีกคาทอลิก สิ่งที่ผมได้ยินตอนแรก ๆ นั้นจึงฟังดูแปลก ๆ. แต่ผมค่อย ๆ เข้าใจมากขึ้นเป็นลำดับว่าทำไมวิธีการแยกนักบวชออกจากฆราวาสไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ และเหตุผลที่พระเจ้าไม่เห็นชอบที่นักเทศน์นักบวชอวยชัยให้พรเมื่อทำสงคราม. (ยะซายา 2:4; มัดธาย 23:8-10; โรม 12:17, 18) เรื่องการดำรงชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลกดูจะสอดคล้องกับความเป็นจริงและมีเหตุผลมากกว่าการไปยังที่ห่างไกลชั่วนิจนิรันดร์.
เพราะเหตุที่เชื่อมั่นว่าเรื่องนี้เป็นความจริง ผมจึงได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และรับบัพติสมาปี 1942 ที่เมืองวินนิเพก. ปี 1943 มีการยกเลิกคำสั่งห้ามพยานพระยะโฮวาในประเทศแคนาดา และงานประกาศเผยแพร่ก็เริ่มเคลื่อนไหว. นอกจากนั้น ความจริงเกี่ยวด้วยคัมภีร์ไบเบิลก็ยิ่งฝังลึกลงไปในหัวใจผม. ผมมีสิทธิพิเศษได้เป็นผู้รับใช้ในประชาคมและมีส่วนรณรงค์การประชุมสาธารณะในเขตงานที่มอบหมายให้ประชาคมดูแล และเผยแพร่ในเขตงานที่ยังไม่มีการมอบหมาย. การได้ร่วมประชุมใหญ่หลายแห่งในสหรัฐมีส่วนช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของผมอย่างไม่อาจวัดได้.
แผ่ขยายงานรับใช้พระยะโฮวาให้กว้างขวาง
ปี 1950 ผมสมัครเป็นไพโอเนียร์ และเดือนธันวาคมปีนั้นก็ได้รับเชิญเป็นผู้ดูแลหมวด. ผมมีสิทธิพิเศษเข้ารับการอบรมอย่างเป็นทางการในหมวดใกล้เมืองโทรอนโต จากชาร์ลี เฮปเวิร์ท บราเดอร์ผู้ช่ำชองและซื่อสัตย์ภักดี. นอกจากนั้น ผมประสบความยินดีขณะใช้เวลาสัปดาห์สุดท้ายของการอบรมอยู่กับอะเล็กซ์พี่ชาย ซึ่งทำงานรับใช้หมวดอยู่ก่อนแล้วในเมืองวินนิเพก.
ผมไม่อาจลืมการประชุมหมวดครั้งแรกดังที่กล่าวไว้ตอนเริ่มเรื่อง. เป็นเรื่องปกติที่ผมจะรู้สึกกังวลถึงผลที่ตามมา. อย่างไรก็ตาม บราเดอร์แจ็ก นาทานผู้ดูแลภาคช่วยให้เราทุกคนหมกมุ่นในการงานและรู้สึกสบายใจ. เราสรุประเบียบวาระการประชุมให้ผู้ที่มาร่วมประชุมฟัง. เราถือโอกาสเล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยนกัน, ทบทวนวิธีนำเสนอแก่เจ้าของบ้าน, วิธีกลับเยี่ยม, และสาธิตวิธีนำการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้าน. พวกเราร่วมร้องเพลงราชอาณาจักร. อาหารก็มีเหลือเฟือ. เราดื่มกาแฟและกินขนมอบกรอบทุก ๆ สองชั่วโมงก็ว่าได้. บางคนนอนหลับบนม้ายาวและบนเวที บางคนนอนหลับบนพื้นห้อง. พอถึงวันอาทิตย์ พายุหิมะซาไปบ้าง เราจึงมี 96 คนมาฟังการบรรยายสาธารณะ. ประสบการณ์ครั้งนั้นสอนผมรู้จักอดทนกับสภาพการณ์ยุ่งยาก.
งานมอบหมายของผมในการดูแลหมวดคราวถัดไปทำให้ผมเดินทางไปถึงภาคเหนือของแอลเบอร์ตา, ในบริติชโคลัมเบีย,
และยูคอนแทร์ริทอรี ดินแดนแห่งดวงอาทิตย์เที่ยงคืน. การเดินทางไปตามทางหลวงสายอะแลสกาที่ขรุขระ จากดอสันครีก มณฑลบริติชโคลัมเบียจนถึงไวต์ฮอร์ส เขตยูคอน (ระยะทาง 1,477 กิโลเมตร) และให้คำพยานไปตามเส้นทางซึ่งต้องทรหดอดทนและไม่ประมาท. หิมะถล่ม, ไหล่เขาที่ลื่น, และทัศนวิสัยไม่ดีอันเนื่องจากหิมะที่ปลิวว่อนนั้นถือเป็นสิ่งท้าทายจริง ๆ.ผมทึ่งที่เห็นวิธีที่ความจริงรุกคืบไปถึงภูมิภาคทางเหนือ. ณ โอกาสหนึ่ง ผมกับวอลเทอร์ ลิวโควิกซ์ได้แวะเยี่ยมที่กระท่อมหลังเล็กใกล้หมู่บ้านโลเวอร์โพสต์, มณฑลบริติชโคลัมเบียตามทางหลวงสายอะแลสกาใกล้พรมแดนยูคอนแทร์ริทอรี. เรารู้ว่ามีคนอยู่ในกระท่อมนั้นเพราะแสงริบหรี่ส่องลอดทางช่องหน้าต่างบานเล็ก. ตอนที่เราเคาะประตูนั้นราว ๆ สามทุ่ม. เสียงผู้ชายตะโกนจากข้างในบอกให้เราเข้าไป เราก็เข้าไป. เรารู้สึกประหลาดใจที่เห็นชายแก่คนหนึ่งนอนเหยียดอยู่บนเตียงกำลังอ่านวารสารหอสังเกตการณ์! ที่จริง เขาอ่านฉบับที่ออกใหม่กว่าฉบับที่เราใช้เสนอด้วยซ้ำ. เขาอธิบายว่าเขารับไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศ. เนื่องจากเราอยู่ห่างไกลประชาคมมานานถึงแปดวัน เราจึงยังไม่ได้รับวารสารฉบับที่ออกใหม่ล่าสุด. ชายผู้นี้แนะนำตัวเองว่าชื่อเฟรด เบิร์ก ถึงแม้เขาเป็นผู้บอกรับวารสารมานานหลายปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พยานพระยะโฮวามาเยี่ยมเขา. เฟรดชวนเราค้างคืนที่นั่น. เราจึงมีโอกาสพิจารณาความจริงตามหลักพระคัมภีร์กับเขาหลายเรื่อง และจัดแจงที่จะให้พยานฯ บางคนซึ่งผ่านพื้นที่แถบนี้เป็นประจำแวะไปเยี่ยมเขา.
ผมปฏิบัติงานรับใช้หมวดเล็ก ๆ สามหมวดเป็นเวลาหลายปี. เขตงานของหมวดเหล่านี้แผ่กว้างจากเมืองกรานเดแพรรี แอลเบอร์ตาทางทิศตะวันออกไปจนถึงเกาะโกไดแอก อะแลสกาทางทิศตะวันตก ระยะทางกว่า 3,500 กิโลเมตร.
ผมยินดีเมื่อเรียนรู้ว่าในดินแดนห่างไกลก็เหมือนกับที่อื่น ๆ พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวามีไปถึงผู้คนทั้งหลายและพระวิญญาณของพระเจ้าได้กระตุ้นจิตใจและหัวใจของคนเหล่านั้นที่มีความโน้มเอียงอย่าง
ถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์. หนึ่งในคนเหล่านั้นก็คือเฮนรี เลอไพน์จากดอสันซิตี ยูคอนแทร์ริทอรี ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ดอสัน. เฮนรีอยู่ในเขตโดดเดี่ยว. ที่จริง เขาไม่เคยออกจากบริเวณเหมืองทองคำนานกว่า 60 ปีแล้ว. อย่างไรก็ตาม พระวิญญาณของพระยะโฮวาได้กระตุ้นชายวัย 84 ปีคนนี้ให้เดินทาง 1,600 กว่ากิโลเมตรเพื่อเข้าร่วมการประชุมหมวดที่เมืองแองเคอเรจ แม้ว่าเขาไม่เคยร่วมการประชุมของประชาคมมาก่อน. เขาตื่นเต้นประทับใจกับระเบียบวาระ อีกทั้งชื่นชมยินดีกับการคบหาสมาคม. ครั้นกลับไปที่ดอสันซิตี เฮนรีก็ยังคงรักษาความซื่อสัตย์ตราบวันตาย. หลายคนที่รู้จักเฮนรีอยากรู้ว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้นชายสูงอายุผู้นี้ให้ตั้งหน้าตั้งตาเดินทางไกลขนาดนั้น. ความสงสัยใคร่รู้เช่นนั้นทำให้คนสูงอายุบางคนตอบรับความจริง. ฉะนั้น โดยทางอ้อม เฮนรีจึงสามารถให้คำพยานที่ดีได้.ผมรับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา
ปี 1955 ผมปีติยินดียิ่งเมื่อได้รับเชิญเข้าเป็นนักเรียนรุ่นที่ 26 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด. หลักสูตรอบรมนี้เสริมความเชื่อของผมให้มั่นคงและช่วยผมให้เข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้น. เมื่อจบหลักสูตรแล้ว ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานหมวดในแคนาดาต่อไป.
ผมปฏิบัติงานประมาณหนึ่งปีในมณฑลออนแทรีโอ. แล้วผมได้รับการมอบหมายอีกครั้งหนึ่งให้ไปดินแดนทางเหนือที่สวยงามน่าประทับใจ. ผมยังนึกภาพภูมิทัศน์ริมทางหลวงได้ชัดเจน, แสงแดดต้องผิวน้ำในทะเลสาบระยิบระยับ, และการขับรถไต่ไปตามเทือกเขาที่ยอดขาวโพลนด้วยหิมะ. ในฤดูร้อน หุบเขาและทุ่งหญ้าดุจปูด้วยผืนพรมแห่งมวลดอกไม้ป่าสีสดน่าตื่นตา. อากาศเย็นสดชื่นและน้ำใสสะอาด. บรรดาหมี, หมาป่า, กวางมูส, แคริบู, และสัตว์ป่าอื่น ๆ ตระเวนไปทั่วในที่อยู่ตามธรรมชาติของมันโดยไม่ถูกรบกวน.
อย่างไรก็ตาม อะแลสกามีข้อท้าทายจริง ๆ ไม่เฉพาะสภาพดินฟ้าอากาศเท่านั้น แต่พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลด้วย. พื้นที่ในหมวดของผมครอบคลุมระยะทางถึง 3,200 กิโลเมตรจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก. สมัยนั้น ไม่มีการจัดเตรียมรถยนต์ให้ผู้ดูแลหมวดใช้. พวกพี่น้องท้องถิ่นอาสาขับรถพาผมจากประชาคมหนึ่งไปส่งถึงประชาคมถัดไป. กระนั้น บางครั้ง ผมต้องโบกรถขอโดยสารไปกับคนขับรถบรรทุกหรือนักท่องเที่ยว.
คราวหนึ่งมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนทางหลวงสายอะแลสกา ตรงทางแยกระหว่างโตก อะแลสกากับหลักไมล์ที่ 1202 หรือเขตสกอตตีครีต. สำนักงานศุลกากรของทั้งสองประเทศอยู่ห่างกันประมาณ 160 กิโลเมตร. ผมผ่านสำนักงานศุลกากรด้านสหรัฐที่แยกโตก และนั่งรถต่อไปราว ๆ 50 กิโลเมตร. จากนั้นไม่มีรถผ่านทางนั้นสักคัน ผมจึงต้องเดินเป็นระยะทาง 40 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาประมาณสิบชั่วโมง. ภายหลังผมถึงรู้ว่าเมื่อผ่านด่านศุลกากรได้ไม่นาน รถทุกคันพากันจอดพักบนทางหลวงเนื่องจากไม่ไกลจากที่ทำการศุลกากรหิมะได้ถล่มลงมาปิดทาง. ตกเที่ยงคืน อุณหภูมิลดลงถึงประมาณ -23 องศาเซลเซียส และผมยังอยู่ห่างจากจุดที่พักที่ใกล้ที่สุดราว 80 กิโลเมตร. ผมมีความต้องการอย่างมากที่จะไปให้ถึงที่กำบังซึ่งผมจะสามารถเข้าไปพักผ่อนได้.
ขณะที่เดินโผเผไปนั้น ผมเหลือบไปเห็นรถยนต์คันหนึ่งจอดทิ้งไว้ริมถนน มีหิมะปกคลุมเป็นบางส่วน. ผมนึกในใจว่าถ้าเอาตัวเข้าไปซุกในรถและได้ล้มตัวนอนบนเบาะ ผมคงรอดชีวิตผ่านคืนอันหนาวเหน็บนี้ไปได้. ผมลงมือปัดกวาดหิมะออกจนพอจะเปิดประตูรถได้ แต่แล้วก็พบว่าอุปกรณ์ภายในรถถูกถอดออกเหลือแต่เพียงโครงเหล็ก. น่าดีใจที่ผม
เจอกระท่อมร้างหลังหนึ่งไม่ไกลจากที่นั่น. หลังจากมีความยุ่งยากบ้างก่อนที่จะเข้าไปข้างในกระท่อมและก่อไฟได้ แต่ผมมีโอกาสพักผ่อนประมาณสองสามชั่วโมง. เช้าวันรุ่งขึ้น ผมโบกรถไปยังที่พักแห่งใหม่ ซึ่งที่นั่นผมได้อาหารมากพอเท่าที่ต้องการและได้ทำแผลที่นิ้วมือด้วย.พระยะโฮวาทรงบันดาลให้งานในเขตทางเหนือเจริญก้าวหน้า
การเยี่ยมเมืองแฟร์แบงส์ครั้งแรกนั้นผมได้รับการหนุนกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง. พวกเราชื่นชมในความสำเร็จด้านงานรับใช้ และประมาณ 50 คนได้ร่วมประชุมฟังการบรรยายสาธารณะวันอาทิตย์. เราจัดประชุมในบ้านมิชชันนารีหลังเล็ก ๆ ซึ่งเวอร์เนอร์กับลอร์เรน เดวิสอาศัยอยู่ที่นั่น. พวกที่มาร่วมประชุมต่างก็ชะโงกหน้าจากห้องครัว, ห้องนอน, และห้องโถงเพื่อจะได้ยินคำบรรยาย. พวกเรารู้จากการตอบรับที่ดีเช่นนี้ว่าหอประชุมราชอาณาจักรคงจะอำนวยประโยชน์ด้านเสถียรภาพของงานประกาศในเมืองแฟร์แบงส์. ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เราซื้ออาคารหลังใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสถานลีลาศแล้วเคลื่อนย้ายเอาไปตั้งบนที่ดินที่เหมาะสม. เราจัดการเจาะบ่อน้ำบาดาล และทำห้องน้ำและติดตั้งเครื่องทำความร้อน. ภายในเวลาหนึ่งปีในเมืองแฟร์แบงส์ก็มีหอประชุมราชอาณาจักรที่ใช้ประโยชน์ได้. ภายหลังได้ต่อเติมห้องครัว ส่วนห้องโถงก็ใช้สำหรับการประชุมภาคปี 1958 มีผู้เข้าร่วม 330 คน.
ฤดูร้อนปี 1960 ผมเดินทางระยะไกลโดยรถยนต์ไปยังสำนักงานใหญ่แห่งพยานพระยะโฮวาในนิวยอร์ก เพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรที่ต้องเรียนเพิ่มเติมสำหรับผู้ดูแลเดินทางในสหรัฐและแคนาดา. ระหว่างอยู่ที่นิวยอร์ก บราเดอร์นาทาน นอรร์และบราเดอร์คนอื่น ๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้สอบถามผมถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิดสำนักงานสาขาในอะแลสกา. ไม่กี่เดือนต่อมา พวกเราปีติยินดีกันถ้วนหน้าเมื่อรู้ข่าวว่าวันที่ 1 กันยายน 1961 อะแลสกาจะมีสำนักงานสาขาของตัวเอง. บราเดอร์แอนดรูว์ เค. แวกเนอร์ได้รับมอบหมายดูแลการงานต่าง ๆ ที่สาขา. เขาพร้อมทั้งเวราภรรยาได้ปฏิบัติงานที่บรุกลินนานถึง 20 ปี แถมมีประสบการณ์ในงานเดินทางเยี่ยมด้วย. การตั้งสำนักงานสาขาในอะแลสกาถือเป็นการจัดเตรียมอันน่าพอใจยินดี เพราะช่วยย่นระยะทางไม่น้อยสำหรับผู้ดูแลหมวด และช่วยเขาให้สามารถเพ่งเล็งความจำเป็นเฉพาะอย่างทั้งในประชาคมต่าง ๆ และในเขตโดดเดี่ยว.
ฤดูร้อนปี 1962 เป็นช่วงเวลาอันแสนสุขเบิกบานสำหรับเขตทางเหนือ. มีการอุทิศสาขาอะแลสกา และมีการประชุมภาคที่เมืองจูโน อะแลสกา. มีการสร้างหอประชุมราชอาณาจักรใหม่ในเมืองจูโนและไวต์ฮอร์ส, เขตยูคอน, และจัดตั้งกลุ่มโดดเดี่ยวขึ้นหลายกลุ่มด้วย.
กลับแคนาดา
ผมเขียนจดหมายติดต่อมาร์การิตา เพตราส์จากแคนาดาอยู่นานหลายปี. ใคร ๆ มักจะเรียกชื่อเธอว่าริตา เธอเริ่มงานไพโอเนียร์ปี 1947 จบหลักสูตรโรงเรียนกิเลียดปี 1955 และทำงานฐานะไพโอเนียร์ทางภาคตะวันออกของแคนาดา. ผมขอเธอแต่งงานและเธอตอบตกลง. เราแต่งงานที่ไวต์ฮอร์สในเดือนกุมภาพันธ์ 1963. ครั้นถึงฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น ผมได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมหมวดทางตะวันตกของแคนาดา และเรามีความยินดีที่ได้ทำงานรับใช้แถบนั้นเป็นเวลา 25 ปี.
เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ปี 1988 เราจึงถูกมอบหมายให้ทำงานฐานะไพโอเนียร์พิเศษในเมืองวินนิเพก มณฑลแมนิโทบา. การมอบหมายนี้รวมทั้งการดูแลหอประชุมใหญ่อยู่ราวห้าปี. เรายังคงมีส่วนร่วมทำงานที่น่าชื่นชมมากเท่าที่เป็นไปได้ คืองานสั่งสอนคนให้เป็นสาวก. ระหว่างที่เราอยู่ในงานเยี่ยมหมวด เราเริ่มนำการศึกษาพระคัมภีร์หลายรายแล้วมอบให้คนอื่นนำต่อ. เวลานี้ โดยพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา เราเริ่มการศึกษาและประสบความสุขมากขึ้นเมื่อเห็นนักศึกษาก้าวหน้าถึงขั้นอุทิศตัวและรับบัพติสมา.
ผมเชื่อมั่นว่าการรับใช้พระยะโฮวาเป็นวิถีชีวิตที่ดีที่สุด. ชีวิตอย่างนี้มีความหมายและน่าพอใจ และแต่ละวันความรักของเราต่อพระยะโฮวานั้นก็ยิ่งลึกซึ้งมากขึ้น. นี่คือสิ่งที่ยังให้เกิดความสุขแท้. หน้าที่มอบหมายอะไรก็ตามที่เราได้รับภายใต้ระบอบการของพระเจ้า หรือไม่ว่าเราอยู่ในดินแดนส่วนไหนของโลก เราเห็นด้วยกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่กล่าวดังนี้: “ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก.”—บทเพลงสรรเสริญ 144:15.
[ภาพหน้า 24, 25]
ระหว่างงานเยี่ยมหมวด
[ภาพหน้า 25]
เมื่อเยี่ยมเฮนรี เลอไพน์ที่ดอสันซิตี. ผมอยู่ทางซ้ายมือ
[ภาพหน้า 26]
หอประชุมราชอาณาจักรแห่งแรกในแองเคอเรจ
[ภาพหน้า 26]
ผมกับริตา ปี 1998