“ท่านทั้งหลายได้รับเปล่า ๆ จงให้เปล่า ๆ”
“ท่านทั้งหลายได้รับเปล่า ๆ จงให้เปล่า ๆ.” (มัดธาย 10:8) พระเยซูทรงบัญชาเหล่าอัครสาวกอย่างนี้เมื่อส่งพวกเขาออกไปประกาศข่าวดี. อัครสาวกเชื่อฟังคำสั่งนี้ไหม? ใช่แล้ว และพวกเขายังคงทำเช่นนั้นต่อไปแม้แต่ภายหลังที่พระเยซูเสด็จจากแผ่นดินโลกไปแล้ว.
ตัวอย่างเช่น เมื่อซีโมนอดีตคนทำเล่ห์กลเห็นอัครสาวกเปโตรและโยฮันมีความสามารถทำการอัศจรรย์ เขาได้เสนอจะจ่ายเงินให้ท่านทั้งสองเพื่อถ่ายทอดความสามารถนั้นแก่เขา. แต่เปโตรได้ตำหนิซีโมนว่า “ให้เงินของเจ้าฉิบหายไปด้วยกันกับเจ้าเถิด, เพราะเจ้าคิดว่าจะซื้อของประทานแห่งพระเจ้าด้วยเงินได้.”—กิจการ 8:18-20.
อัครสาวกเปาโลแสดงน้ำใจคล้ายกันกับเปโตร. เปาโลอาจให้พี่น้องคริสเตียนในเมืองโครินท์ช่วยแบกภาระทางด้านการเงินสำหรับตัวท่านก็ได้. อย่างไรก็ดี ท่านทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยมือของตัวเอง. (กิจการ 18:1-3) ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงพูดด้วยความมั่นใจได้ว่าท่านประกาศข่าวดีแก่ชาวโครินท์ “โดยไม่คิดเอาค่าเหนื่อย.”—1 โกรินโธ 4:12; 9:18.
น่าเศร้า หลายคนซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ไม่ได้แสดงความเต็มใจอย่างเดียวกันที่จะ “ให้เปล่า ๆ.” ที่จริง ผู้นำศาสนาหลายคนในคริสต์ศาสนจักรจะ “สั่งสอนเพราะเห็นแก่สินจ้าง.” (มีคา 3:11) ผู้นำศาสนาบางคนถึงกับกลายเป็นคนร่ำรวยด้วยเงินที่เรี่ยไรมาจากสมาชิกของเขา. ในปี 1989 ผู้เผยแพร่กิตติคุณคนหนึ่งในสหรัฐถูกตัดสินลงโทษให้จำคุก 45 ปี. เพราะเหตุใด? เขา “ฉ้อโกงเงินหลายล้านเหรียญของผู้สนับสนุนโบสถ์ และใช้เงินบางส่วนซื้อบ้าน, รถยนต์, เดินทางไปพักร้อนและกระทั่งทำบ้านที่มีเครื่องปรับอากาศสำหรับสุนัข.”—พีเพิลส์ เดลี กราฟิก วันที่ 7 ตุลาคม 1989.
ตามที่หนังสือพิมพ์กานาเอียน ไทมส์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 1990 กล่าวนั้น บาทหลวงโรมันคาทอลิกคนหนึ่งในกานา เอาเงินที่ได้รับเรี่ยไรมาระหว่างการทำพิธีในโบสถ์ครั้งหนึ่งโยนกลับไปที่ศาสนิกชน. หนังสือพิมพ์นี้แจ้งว่า “เหตุผลของเขาคือ ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ มีการคาดหมายให้พวกเขาบริจาคเงินมากกว่านี้.” ไม่น่าแปลกใจ โบสถ์หลายแห่งถึงกับพยายามปลุกเร้าความโลภในตัวสมาชิก โดยส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นการพนันและแผนการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มยอดเงิน.
โดยเทียบความแตกต่าง พยานพระยะโฮวาพยายามจะเลียนแบบพระเยซูและเหล่าสาวกรุ่นแรกของพระองค์. พวกเขาไม่มีนักเทศน์ที่ได้เงินเดือน. พยานฯ แต่ละคนเป็นผู้เผยแพร่ที่ได้รับมอบหน้าที่รับผิดชอบในการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” แก่คนอื่น ๆ. (มัดธาย 24:14, ล.ม.) เพราะฉะนั้น พยานฯ มากกว่าหกล้านคนทั่วโลกเข้าร่วมในการนำ “น้ำแห่งชีวิต” ไปให้ผู้คนโดยไม่คิดมูลค่า. (วิวรณ์ 22:17) โดยวิธีนี้ แม้แต่คนเหล่านั้นที่ “ไม่มีเงิน” ก็จะรับประโยชน์จากข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลได้. (ยะซายา 55:1) ถึงแม้งานทั่วโลกของพวกเขาได้รับเงินทุนจากการบริจาคโดยใจสมัคร พวกเขาก็ไม่เคยขอเรี่ยไรเงิน. ในฐานะผู้รับใช้แท้ของพระเจ้า พวกเขาไม่ใช่ “[คนที่] เอาพระคำของพระเจ้าไปขายกิน” แต่พวกเขาพูด “อย่างคนสัตย์ซื่อ, อย่างคนที่มาจากพระเจ้า.”—2 โกรินโธ 2:17.
แต่ทำไมพยานพระยะโฮวาจึงเต็มใจช่วยคนอื่น และทำเช่นนั้นโดยออกค่าใช้จ่ายเอง? อะไรกระตุ้นพวกเขา? การให้เปล่า ๆ หมายความว่า พวกเขาทำเช่นนั้นโดยไม่มีผลตอบแทนอันใดเลยสำหรับความพยายามของพวกเขาไหม?
คำตอบสำหรับการท้าทายของซาตาน
คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ได้รับการกระตุ้นจากความปรารถนาที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยเป็นประการสำคัญ ไม่ใช่ที่จะทำให้ตัวเองมั่งคั่ง. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงสามารถให้คำตอบสำหรับประเด็นที่ซาตานพญามารยกขึ้นมาเมื่อหลายศตวรรษมาแล้ว. ซาตานได้ท้าทายพระยะโฮวาเกี่ยวกับโยบบุรุษผู้ชอบธรรมด้วยคำถามที่ว่า “โยบนั้นยำเกรงพระเจ้าด้วยเปล่าประโยชน์หรือ?” ซาตานอ้างว่าโยบรับใช้พระเจ้าเพียงเพราะพระองค์ได้สร้างรั้วแห่งการปกป้องล้อมรอบเขา. ซาตานอ้างเหตุผลว่า หากโยบสูญเสียทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุไป โยบจะแช่งด่าพระเจ้าต่อพระพักตร์พระองค์!—โยบ 1:7-11.
เพื่อตอบข้อท้าทายนี้ พระเจ้าทรงอนุญาตให้ซาตานทดลองโยบ โดยตรัสว่า “ทรัพย์สินทั้งหมดที่เขามีอยู่ก็อยู่ในอำนาจของเจ้าแล้ว.” (โยบ 1:12) ผลเป็นประการใด? โยบได้พิสูจน์ว่าซาตานเป็นตัวมุสา. ไม่ว่าความทุกข์ยากอะไรก็ตามเกิดขึ้นกับโยบ ท่านก็ยังคงภักดีอยู่. ท่านกล่าวว่า “ข้าฯ จะไม่เอาความซื่อสัตย์มั่นคงไปจากตัวข้าฯ จนกว่าข้าฯ จะสิ้นลม!”—โยบ 27:5, 6, ล.ม.
ผู้นมัสการแท้ในทุกวันนี้แสดงเจตคติคล้ายกันกับโยบ. พวกเขารับใช้พระเจ้าไม่ใช่ด้วยแรงกระตุ้นของความห่วงใยทางด้านวัตถุ.
พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของประทานจากพระเจ้าโดยไม่คิดค่า
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่คริสเตียนแท้เต็มใจ “ให้เปล่า ๆ” คือการที่พวกเขาเอง “ได้รับเปล่า ๆ” จากพระเจ้า. มนุษยชาติอยู่ในพันธนาการของบาปและความตายเนื่องจากบาปของอาดามบรรพบุรุษของเรา. (โรม 5:12) ด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงเตรียมการให้พระบุตรของพระองค์วายพระชนม์เป็นเครื่องบูชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พระเจ้าต้องสูญเสียอย่างมากมาย. แน่นอน มนุษยชาติไม่มีสิทธิ์จะได้รับสิ่งนี้. ไม่มี นี่เป็นของประทานจากพระเจ้า.—โรม 4:4; 5:8; 6:23.
ด้วยเหตุนี้ เปาโลได้บอกคริสเตียนผู้ถูกเจิมตามที่บันทึกในโรม 3:23, 24 (ล.ม.) ว่า “คนทั้งปวงได้ทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า และการที่พวกเขาได้รับการประกาศว่าชอบธรรมนั้นนับว่าเป็นของประทานอันไม่ต้องเสียค่าใด ๆ โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระองค์ด้วยการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูได้ทรงชำระแล้วนั้น.” คนเหล่านั้นที่มีความหวังจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลกเป็นผู้ได้รับ “ของประทานอันไม่ต้องเสียค่าใด ๆ” เช่นกัน. ของประทานนี้รวมไปถึงสิทธิพิเศษที่ได้รับการประกาศว่าชอบธรรมในฐานะมิตรของพระยะโฮวา.—ยาโกโบ 2:23; วิวรณ์ 7:14.
เครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ยังทำให้มีทางเป็นไปได้สำหรับคริสเตียนทุกคนที่จะรับใช้ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าได้ถูกตั้งเป็นผู้ปฏิบัติในกิตติคุณนั้น [“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์,” ล.ม.] ตามพระคุณซึ่งเป็นของประทานของพระเจ้า.” (เอเฟโซ 3:4-7) เนื่องจากได้รับคำสั่งให้ทำงานรับใช้นี้โดยการจัดเตรียมที่พวกเขาไม่สมควรได้รับ ผู้รับใช้แท้ของพระเจ้าย่อมคาดหมายไม่ได้ว่าจะได้รับการชดใช้ด้านวัตถุสำหรับการบอกข่าวดีเกี่ยวกับการจัดเตรียมนี้ให้แก่คนอื่น.
ชีวิตนิรันดร์—แรงจูงใจที่เห็นแก่ตัวไหม?
ดังนั้นแล้ว นี่หมายความว่า พระเจ้าทรงคาดหมายให้คริสเตียนรับใช้โดยไม่มีความหวังใด ๆ ในเรื่องรางวัลไหม? ไม่ เพราะอัครสาวกเปาโลได้บอกเพื่อนร่วมความเชื่อของท่านว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.” (เฮ็บราย 6:10) และพระยะโฮวามิใช่องค์อยุติธรรม. (พระบัญญัติ 32:4) ตรงกันข้าม พระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) แต่คำสัญญาเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ในอุทยานเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวมิใช่หรือ?—ลูกา 23:43.
คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ได้รับการกระตุ้นจากความปรารถนาที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยเป็นประการสำคัญ ไม่ใช่ที่จะทำให้ตัวเองมั่งคั่ง
เปล่าเลย. เหตุผลประการหนึ่งคือ ความปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลกเกิดมาจากพระเจ้าเอง. พระองค์ทรงเป็นผู้ที่เสนอความหวังนี้แก่มนุษย์คู่แรก. (เยเนซิศ 1:28; 2:15-17) พระองค์ยังทรงทำให้เป็นไปได้ที่จะมีการนำความหวังนี้ซึ่งอาดามและฮาวาได้ทำให้สูญเสียไปนั้นกลับคืนมาสู่ลูกหลานของเขาทั้งสอง. ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าทรงสัญญาไว้ในพระคำของพระองค์ว่า “สิ่งทรงสร้างนั้นจะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสความเสื่อมเสียและมีเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.” (โรม 8:21, ล.ม.) เพราะฉะนั้น นับว่าเหมาะสมอย่างแท้จริงสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้ที่จะมอง “เขม้นไปถึงการปูนบำเหน็จ” เช่นเดียวกับโมเซในสมัยโบราณ. (เฮ็บราย 11:26, ล.ม.) พระเจ้ามิได้เสนอรางวัลนี้ให้เสมือนเป็นสินบน. พระองค์ทรงเสนอรางวัลนี้ให้เนื่องจากความรักอย่างแท้จริงต่อคนเหล่านั้นที่รับใช้พระองค์. (2 เธซะโลนิเก 2:16, 17) เพื่อตอบสนอง “เราทั้งหลายเกิดความรัก ก็เพราะพระองค์ได้ทรงรักเราก่อน.”—1 โยฮัน 4:19.
เจตนาที่ถูกต้องในการรับใช้พระเจ้า
ถึงอย่างไรก็ตาม คริสเตียนในทุกวันนี้ต้องวิเคราะห์เจตนาของตนเองในการรับใช้พระเจ้าเสมอ. ที่โยฮัน 6:10-13 เราอ่านว่าพระเยซูทรงเลี้ยงอาหารฝูงชนกว่าห้าพันคนอย่างอัศจรรย์. ภายหลัง บางคนเริ่มติดตามพระเยซูด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ตัวเท่านั้น. พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “ท่านมาหาเรา . . . เพราะได้กินขนมปังอิ่ม.” (โยฮัน 6:26) ประมาณ 30 ปีต่อมา คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วบางคนได้ถวายการรับใช้พระเจ้าคล้ายกัน แต่ “ไม่ใช่ด้วยใจสุจริต.” (ฟิลิปปอย 1:17) บางคนซึ่ง ‘ไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำที่ก่อประโยชน์ของพระเยซูคริสต์’ ถึงกับหาวิธีต่าง ๆ ที่จะหาผลกำไรส่วนตัวจากการคบหาสมาคมกับคริสเตียน.—1 ติโมเธียว 6:3-5, ล.ม.
ในทุกวันนี้ คริสเตียนที่รับใช้เพียงเพราะต้องการมีชีวิตตลอดไปในอุทยานอาจรับใช้โดยเจตนาที่เห็นแก่ตัวด้วย. ในที่สุด การทำเช่นนี้อาจยังผลด้วยความล้มเหลวฝ่ายวิญญาณ. เนื่องจากระบบของซาตานดูเหมือนอยู่นานกว่าที่คาดหมาย เขาอาจ “ท้อถอยเลื่อยล้า” รู้สึกว่าอวสานมาช้า. (ฆะลาเตีย 6:9) เขาอาจถึงกับรู้สึกขุ่นเคืองในการที่ตัวเองได้เสียสละทางด้านวัตถุ. พระเยซูทรงเตือนใจเราว่า “เจ้าต้องรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดหัวใจของเจ้าและด้วยสุดจิตวิญญาณของเจ้าและด้วยสุดจิตใจของเจ้า.” (มัดธาย 22:37, ล.ม.) ใช่แล้ว คนที่รับใช้พระเจ้าเนื่องด้วยความรักเป็นประการสำคัญไม่คิดที่จะรับใช้เพียงช่วงหนึ่ง. เขาตั้งใจที่จะรับใช้พระยะโฮวาตลอดไป! (มีคา 4:5) เขาไม่เสียดายที่ตนได้ทำการเสียสละใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับใช้พระเจ้าของเขา. (เฮ็บราย 13:15, 16) ความรักต่อพระเจ้าผลักดันเขาให้เอาผลประโยชน์ของพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตตน.—มัดธาย 6:33.
ทุกวันนี้ ผู้นมัสการแท้มากกว่าหกล้านคน “เสนอตัวด้วยความเต็มใจ” ในการรับใช้พระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 110:3, ล.ม.) คุณเป็นคนหนึ่งในพวกเขาไหม? ถ้าไม่ ก็จงคิดใคร่ครวญสิ่งที่พระเจ้าเสนอให้ นั่นคือ ความรู้เกี่ยวกับความจริงที่ไม่มีอะไรเจือปน; (โยฮัน 17:3) เสรีภาพพ้นจากการเป็นทาสคำสอนของศาสนาเท็จ; (โยฮัน 8:32) ความหวังเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ตลอดไป. (วิวรณ์ 21:3, 4) พยานพระยะโฮวาจะช่วยคุณเรียนรู้วิธีได้รับสิ่งทั้งหมดนี้จากพระเจ้า โดยไม่คิดมูลค่า.