ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากเรา?

พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากเรา?

พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​อะไร​จาก​เรา?

“อะไร​คือ​สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​จาก​เจ้า​นอก​จาก​ให้​สำแดง​ความ​ยุติธรรม​และ​ให้​รัก​ความ​กรุณา​และ​ให้​เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า​ของ​เจ้า?”—มีคา 6:8, ล.ม.

1, 2. เหตุ​ใด​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​บาง​คน​อาจ​รู้สึก​ท้อ​ใจ แต่​อะไร​จะ​ช่วย​ได้?

วีรา​เป็น​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​อายุ​ราว ๆ 75 ปี​และ​สุขภาพ​ไม่​ดี. เธอ​บอก​ว่า “บาง​ครั้ง ดิฉัน​มอง​ไป​นอก​หน้าต่าง​และ​เห็น​พี่​น้อง​คริสเตียน​กำลัง​ประกาศ​ตาม​บ้าน. นั่น​ทำ​ให้​ดิฉัน​น้ำตา​ไหล​เพราะ​อยาก​จะ​อยู่​ด้วย​กัน​กับ​พวก​เขา แต่​ความ​เจ็บ​ป่วย​ทำ​ให้​ดิฉัน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ได้​อย่าง​จำกัด.”

2 คุณ​เคย​รู้สึก​อย่าง​นั้น​ไหม? แน่นอน ทุก​คน​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา​ต้องการ​จะ​ดำเนิน​ใน​พระ​นาม​ของ​พระองค์​และ​บรรลุ​ข้อ​เรียก​ร้อง​ต่าง ๆ ของ​พระองค์. แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​หาก​สุขภาพ​ของ​เรา​แย่​ลง, อายุ​มาก​ขึ้น, หรือ​มี​ความ​รับผิดชอบ​ต่อ​ครอบครัว? เรา​อาจ​รู้สึก​ท้อ​ใจ​อยู่​บ้าง เนื่อง​จาก​สิ่ง​เหล่า​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ไม่​สามารถ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ที่​ใจ​เรา​อยาก​ทำ​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า. หาก​สภาพการณ์​เช่น​นี้​เกิด​ขึ้น​กับ​เรา การ​พิจารณา​มีคา​บท 6 และ 7 คง​จะ​ให้​กำลังใจ​มาก​ที​เดียว. สอง​บท​นี้​ชี้​ให้​เรา​เห็น​ว่า ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระ​ยะโฮวา​นั้น​สม​เหตุ​สม​ผล​และ​สามารถ​บรรลุ​ได้.

วิธี​ที่​พระเจ้า​ปฏิบัติ​ต่อ​พลเมือง​ของ​พระองค์

3. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​ชาว​อิสราเอล​ที่​กบฏ​อย่าง​ไร?

3 ให้​เรา​เริ่ม​พิจารณา​ที่​มีคา 6:3-5 (ล.ม.) และ​สังเกต​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ปฏิบัติ​เช่น​ไร​ต่อ​พลเมือง​ของ​พระองค์. อย่า​ลืม​ว่า​ใน​สมัย​ของ​มีคา​นั้น ชาว​อิสราเอล​กบฏ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. ถึง​กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ด้วย​ความ​เมตตา​โดย​ใช้​ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “โอ้ พลเมือง​ของ​เรา.” พระองค์​วิงวอน​ว่า “โอ้ พลเมือง​ของ​เรา ขอ​ระลึก.” แทน​ที่​จะ​ต่อ​ว่า​พวก​เขา​อย่าง​เกรี้ยวกราด พระองค์​พยายาม​จะ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​พวก​เขา​โดย​ถาม​ว่า “เรา​ได้​ทำ​อะไร​แก่​เจ้า?” พระองค์​ถึง​กับ​สนับสนุน​พวก​เขา​ให้ “บอก​มา​เถิด.”

4. ตัว​อย่าง​ของ​พระเจ้า​ใน​เรื่อง​ความ​เมตตา​ควร​มี​ผล​กระทบ​เช่น​ไร​ต่อ​เรา?

4 ช่าง​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เยี่ยม​จริง ๆ ที่​พระเจ้า​ทรง​วาง​ไว้​ให้​เรา​ทุก​คน! ด้วย​ความ​เมตตา พระองค์​ทรง​เรียก​ชาว​อิสราเอล​และ​ชาว​ยูดาห์​ที่​กบฏ​ใน​สมัย​มีคา​ว่า “พลเมือง​ของ​เรา” และ​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ด้วย​คำ​ว่า “ขอ.” เรา​จึง​ควร​แสดง​ความ​เมตตา​กรุณา​เมื่อ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​ที่​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประชาคม. จริง​อยู่ อาจ​ไม่​ง่าย​ที่​จะ​เข้า​กัน​ได้​กับ​บาง​คน หรือ​พวก​เขา​อาจ​อ่อนแอ​ฝ่าย​วิญญาณ. แต่​หาก​พวก​เขา​รัก​พระ​ยะโฮวา เรา​ก็​ต้องการ​ที่​จะ​ช่วย​และ​แสดง​ความ​เมตตา​ต่อ​พวก​เขา.

5. มี​การ​เน้น​จุด​สำคัญ​อะไร​ใน​มีคา 6:6, 7?

5 ให้​เรา​ดู​ต่อ​ไป​ที่​มีคา 6:6, 7 (ล.ม.). มีคา​ถาม​คำ​ถาม​หลาย​ข้อ​ติด​ต่อ​กัน ดัง​นี้: “ข้าพเจ้า​ควร​นำ​อะไร​เข้า​มา​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา? ข้าพเจ้า​ควร​นำ​อะไร​มา​กราบ​ไหว้​พระเจ้า​ผู้​สถิต​เบื้อง​สูง? ข้าพเจ้า​ควร​เข้า​เฝ้า​พระองค์​ด้วย​เครื่อง​บูชาเผา​ที่​ถวาย​ทั้ง​ตัว​หรือ ด้วย​ลูก​วัว​อายุ​หนึ่ง​ขวบ​หรือ? พระ​ยะโฮวา​จะ​พอ​พระทัย​กับ​แกะ​ผู้​หลาย​พัน​ตัว กับ​ธาร​น้ำมัน​หลาย​หมื่น​สาย​หรือ? ข้าพเจ้า​ควร​ถวาย​บุตร​หัวปี​เพราะ​การ​ขัด​ขืน​ของ​ข้าพเจ้า คือ​ผล​แห่ง​บั้นเอว​ของ​ข้าพเจ้า​เพราะ​บาป​ของ​ข้าพเจ้า​หรือ?” เปล่า​เลย เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย​ด้วย “แกะ​ผู้​หลาย​พัน​ตัว กับ​ธาร​น้ำมัน​หลาย​หมื่น​สาย.” แต่​มี​บาง​สิ่ง​ที่​จะ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย. สิ่ง​นั้น​คือ​อะไร?

เรา​ต้อง​สำแดง​ความ​ยุติธรรม

6. ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระเจ้า​สาม​ประการ​อะไร​บ้าง​ที่​แถลง​ไว้​ใน​มีคา 6:8?

6 ที่​มีคา 6:8 (ล.ม.) เรา​เรียน​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​อะไร​จาก​เรา. มีคา​ถาม​ดัง​นี้: “อะไร​คือ​สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​จาก​เจ้า​นอก​จาก​ให้​สำแดง​ความ​ยุติธรรม​และ​ให้​รัก​ความ​กรุณา​และ​ให้​เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า​ของ​เจ้า?” ข้อ​เรียก​ร้อง​สาม​ประการ​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​วิธี​ที่​เรา​รู้สึก, คิด, และ​ทำ. เรา​ต้อง​รู้สึก​อยาก​ที่​จะ​สำแดง​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้, คิด​ว่า​จะ​สำแดง​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้​เช่น​ไร, และ​ลง​มือ​สำแดง​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้. ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​ข้อ​เรียก​ร้อง​สาม​ประการ​นี้​ที​ละ​อย่าง.

7, 8. (ก) การ “สำแดง​ความ​ยุติธรรม” หมาย​ถึง​อะไร? (ข) ความ​อยุติธรรม​อะไร​บ้าง​ที่​มี​แพร่​หลาย​ใน​สมัย​ของ​มีคา?

7 การ “สำแดง​ความ​ยุติธรรม” หมาย​ถึง​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​เที่ยงธรรม. แนว​ทาง​ของ​พระเจ้า​ใน​การ​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ เป็น​มาตรฐาน​ความ​ยุติธรรม. ถึง​กระนั้น ผู้​คน​ใน​สมัย​มีคา​ไม่​ได้​แสดง​ความ​ยุติธรรม แต่​กลับ​แสดง​ความ​อยุติธรรม. ใน​ทาง​ใด​บ้าง? ขอ​ให้​พิจารณา​ที่​มีคา 6:10. ตอน​ท้าย​ของ​ข้อ​นั้น​บอก​ว่า​พวก​พ่อค้า​ใช้ “เครื่อง​ตวง​ขี้​ฉ้อ” นั่น​คือ ถัง​ตวง​ที่​มี​ขนาด​ย่อม​เหลือ​เกิน. ข้อ 11 กล่าว​ด้วย​ว่า​พวก​เขา​ใช้ “ลูก​ตุ้ม​ฉ้อ​โกง.” และ​ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​ข้อ 12 “ลิ้น . . . ของ​เขา​ก็​เต็ม​ไป​ด้วย​อุบาย​ล่อ​ลวง.” ด้วย​เหตุ​นี้ การ​ฉ้อ​โกง​ใน​การ​ตวง​และ​การ​ชั่ง อีก​ทั้ง​คำ​โกหก มี​อยู่​อย่าง​แพร่​หลาย​ใน​โลก​การ​ค้า​สมัย​มีคา.

8 กิจ​ปฏิบัติ​ที่​คด​โกง​ไม่​ได้​จำกัด​อยู่​แค่​ใน​วงการ​ค้า. ความ​อยุติธรรม​เป็น​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ ใน​ศาล​เช่น​กัน. มีคา 7:3 บอก​ว่า “เจ้านาย​ก็​เรียก​ร้อง​เอา, และ​ตุลาการ​ก็​พร้อม​ที่​จะ​รับ​สินบน​เสมอ.” มี​การ​ให้​สินบน​แก่​ผู้​พิพากษา​เพื่อ​ตัดสิน​ให้​ผู้​บริสุทธิ์​ได้​รับ​โทษ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม. “คน​ใหญ่​คน​โต” หรือ​ผู้​มี​อิทธิพล​ก็​เข้า​ร่วม​ใน​การ​กระทำ​ผิด​นี้​ด้วย. อัน​ที่​จริง มีคา​กล่าว​ว่า​เจ้านาย, ผู้​พิพากษา, และ​คน​ใหญ่​คน​โต “ต่าง​คน​ก็​สาน” หรือ​คบ​คิด​กัน​กระทำ​ความ​ชั่ว.

9. ความ​อยุติธรรม​ที่​คน​ชั่ว​กระทำ​ส่ง​ผล​กระทบ​เช่น​ไร​ใน​ยูดาห์​และ​อิสราเอล?

9 ความ​อยุติธรรม​ที่​พวก​ผู้​นำ​ที่​ชั่ว​ช้า​กระทำ​นั้น​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ทุก​คน​ใน​ยูดาห์​และ​อิสราเอล. มีคา 7:5 บอก​ให้​ทราบ​ว่า ความ​อยุติธรรม​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ไม่​ไว้​วางใจ​ระหว่าง​เพื่อน​สนิท, มิตร​สหาย, และ​แม้​แต่​คู่​สมรส. ข้อ 6 ชี้​ว่า​สิ่ง​นี้​นำ​ไป​สู่​สภาพการณ์​ซึ่ง​สมาชิก​ใกล้​ชิด​ใน​วง​ครอบครัว เช่น ลูก​ชาย​กับ​พ่อ ลูก​สาว​กับ​แม่ ต่าง​เกลียด​ชัง​กัน.

10. คริสเตียน​ประพฤติ​ตัว​เช่น​ไร​ใน​บรรยากาศ​แห่ง​ความ​อยุติธรรม​ทุก​วัน​นี้?

10 ทุก​วัน​นี้​ล่ะ​เป็น​อย่าง​ไร? เรา​เห็น​สภาพการณ์​คล้าย ๆ กัน​นั้น​มิ​ใช่​หรือ? เช่น​เดียว​กับ​มีคา เรา​ถูก​แวด​ล้อม​ด้วย​ความ​อยุติธรรม, บรรยากาศ​แห่ง​ความ​ไม่​ไว้​วางใจ, และ​ความ​ล้มเหลว​ของ​สังคม​และ​ชีวิต​ครอบครัว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ขณะ​ที่​เรา​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ใน​โลก​ที่​อธรรม เรา​ไม่​ปล่อย​ให้​น้ำใจ​แห่ง​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​กัน​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​ของ​โลก​นี้​แทรกซึม​เข้า​มา​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น เรา​พยายาม​ยึด​มั่น​ใน​หลักการ​เรื่อง​ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​ความ​มี​คุณธรรม แสดง​ให้​เห็น​คุณลักษณะ​เหล่า​นี้​ใน​กิจกรรม​ต่าง ๆ ของ​ชีวิต​ประจำ​วัน. จริง​ที​เดียว เรา “ประพฤติ​ตัว​ซื่อ​สัตย์​ใน​ทุก​สิ่ง.” (เฮ็บราย 13:18, ล.ม.) คุณ​เห็น​ด้วย​มิ​ใช่​หรือ​ว่า เมื่อ​เรา​สำแดง​ความ​ยุติธรรม เรา​ได้​รับ​พระ​พร​มาก​มาย​จาก​ภราดรภาพ​ที่​แสดง​ออก​ถึง​ความ​ไว้​วางใจ​กัน​อย่าง​แท้​จริง?

ผู้​คน​ได้​ยิน “พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​ยะโฮวา” โดย​วิธี​ใด?

11. มีคา 7:12 กำลัง​สำเร็จ​เป็น​จริง​อย่าง​ไร?

11 มีคา​พยากรณ์​ว่า ทั้ง ๆ ที่​สภาพการณ์​ไม่​เที่ยงธรรม​มี​อยู่​ทั่ว​ไป ความ​ยุติธรรม​จะ​มี​ไป​ถึง​คน​ทุก​ชนิด. ท่าน​ผู้​พยากรณ์​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า ผู้​คน​จะ​ถูก​รวบ​รวม “จาก​ทะเล​ข้าง​นี้​ถึง​ทะเล​ข้าง​โน้น, จาก​ทิว​เขา​นี้​ถึง​ทิว​เขา​โน้น” ให้​เข้า​มา​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. (มีคา 7:12) ปัจจุบัน เมื่อ​คำ​พยากรณ์​นี้​สำเร็จ​เป็น​จริง​ใน​ขั้น​สุด​ท้าย ไม่​ใช่​ชาติ​ใด​ชาติ​หนึ่ง​โดยเฉพาะ แต่​เป็น​ปัจเจกบุคคล​จาก​ทุก​ชาติ​ที่​กำลัง​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​ความ​ยุติธรรม​ที่​ไม่​ลำเอียง​ของ​พระเจ้า. (ยะซายา 42:1) ข้อ​นี้​เป็น​จริง​อย่าง​ไร?

12. ใน​ทุก​วัน​นี้ ผู้​คน​กำลัง​ได้​ยิน “พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​ยะโฮวา” โดย​วิธี​ใด?

12 เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ ขอ​พิจารณา​คำ​กล่าว​ของ​มีคา​ข้อ​ก่อน​หน้า​นั้น. มีคา 6:9 กล่าว​ว่า “พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ประกาศ​ก้อง​แก่​กรุง​นั้น; ผู้​มี​ปัญญา​ก็​ยำเกรง​ต่อ​พระ​นาม​ของ​พระองค์.” ผู้​คน​จาก​ทุก​ชาติ​ได้​ยิน “พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​ยะโฮวา” โดย​วิธี​ใด และ​เรื่อง​นี้​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​การ​ที่​เรา​สำแดง​ความ​ยุติธรรม? แน่นอน ผู้​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ไม่​ได้​ยิน​พระ​สุรเสียง​ของ​พระเจ้า​จริง ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โดย​งาน​ประกาศ​ที่​เรา​ทำ​อยู่​ทั่ว​โลก ปัจเจกบุคคล​จาก​ทุก​ชาติ ทุก​ฐานะ​ใน​สังคม กำลัง​ได้​ยิน​พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​ยะโฮวา. ผล​คือ ผู้​ที่​รับ​ฟัง ‘ยำเกรง​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า.’ เมื่อ​เรา​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า เรา​กำลัง​ประพฤติ​ใน​แนว​ทาง​แห่ง​ความ​รัก​และ​ความ​ยุติธรรม​อย่าง​แท้​จริง. โดย​การ​ทำ​ให้​ทุก​คน​รู้​จัก​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​โดย​ไม่​เลือก​หน้า​ลำเอียง เรา​กำลัง “สำแดง​ความ​ยุติธรรม.”

เรา​ต้อง​รัก​ความ​กรุณา

13. ความ​กรุณา​รักใคร่​กับ​ความ​รัก​ต่าง​กัน​อย่าง​ไร?

13 ต่อ​ไป ให้​เรา​พิจารณา​ข้อ​เรียก​ร้อง​ประการ​ที่​สอง​ซึ่ง​กล่าว​ไว้​ที่​มีคา 6:8 (ล.ม.). พระ​ยะโฮวา​เรียก​ร้อง​ให้​เรา “รัก​ความ​กรุณา.” คำ​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ที่​มี​การ​แปล​ว่า “ความ​กรุณา” ยัง​แปล​ได้​ด้วย​ว่า “ความ​กรุณา​รักใคร่” หรือ “ความ​รักอย่าง​ภักดี.” ความ​กรุณา​รักใคร่​เป็น​การ​แสดง​ความ​สนใจ​ห่วงใย​ผู้​อื่น ซึ่ง​มา​จาก​ความ​รู้สึก​เห็น​อก​เห็น​ใจ. ความ​กรุณา​รักใคร่​ต่าง​จาก​ความ​รัก. อย่าง​ไร? ความ​รัก​เป็น​คำ​ที่​มี​ความหมาย​กว้าง​กว่า ที่​นำ​ไป​ใช้​ได้​แม้​กับ​สิ่ง​ของ​และ​ความ​คิด. ตัว​อย่าง​เช่น พระ​คัมภีร์​กล่าว​ถึง​คน​ที่ “รัก . . . เหล้า​องุ่น​และ​น้ำมัน​หอม” และ​กล่าว​ถึง​คน​ที่ “รัก​ปัญญา.” (สุภาษิต 21:17; 29:3) ส่วน​ความ​กรุณา​รักใคร่​ใช้​กับ​บุคคล​เสมอ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​กับ​ผู้​ที่​รับใช้​พระเจ้า. ด้วย​เหตุ​นี้ มีคา 7:20 (ล.ม.) จึง​กล่าว​ถึง “ความ​กรุณา​รักใคร่​ที่​ได้​ประทาน​แก่​อับราฮาม”—บุคคล​ผู้​หนึ่ง​ที่​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.

14, 15. ความ​กรุณา​รักใคร่​มี​การ​แสดง​ออก​อย่าง​ไร และ​มี​กล่าว​ถึง​ตัว​อย่าง​อะไร​ที่​เป็น​หลักฐาน​ใน​เรื่อง​นี้?

14 ตาม​ที่​กล่าว​ใน​มีคา 7:18 (ล.ม.) ท่าน​ผู้​พยากรณ์​กล่าว​ว่า พระเจ้า “ทรง​ยินดี​ใน​ความ​กรุณา​รักใคร่.” ที่​มีคา 6:8 เรา​ไม่​ได้​รับ​การ​บอก​เพียง​แค่​ให้​แสดง​ความ​กรุณา​รักใคร่ แต่​ให้​รัก​คุณลักษณะ​นี้ คือ​ชื่นชม​อย่าง​มาก. เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ข้อ​คัมภีร์​สอง​ข้อ​นี้? เรา​แสดง​ความ​กรุณา​รักใคร่​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​อย่าง​เต็ม​ที่ เพราะ​เรา​ต้องการ​ทำ​เช่น​นั้น. เช่น​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา เรา​มี​ความ​สุข​หรือ​ความ​ยินดี​จาก​การ​แสดง​ความ​กรุณา​รักใคร่​ต่อ​ผู้​ที่​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ.

15 ใน​ทุก​วัน​นี้ ความ​กรุณา​รักใคร่​เช่น​นั้น​เป็น​เครื่องหมาย​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ระบุ​ตัว​ประชาชน​ของ​พระเจ้า. ขอ​ให้​พิจารณา​สัก​ตัว​อย่าง. ใน​เดือน​มิถุนายน ปี 2001 พายุ​โซน​ร้อน​ลูก​หนึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​น้ำ​ท่วม​ใหญ่​ใน​รัฐ​เทกซัส สหรัฐ​อเมริกา สร้าง​ความ​เสียหาย​แก่​บ้าน​เรือน​หลาย​หมื่น​หลัง ซึ่ง​รวม​ถึง​บ้าน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​ร้อย​หลัง. พยาน​ฯ ราว 10,000 คน​เต็ม​ใจ​ใช้​เวลา​และ​กำลัง​ของ​ตน​โดย​ไม่​คิด​ค่า​แรง เพื่อ​ให้​การ​ช่วยเหลือ​แก่​พี่​น้อง​คริสเตียน​ที่​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ. อาสา​สมัคร​เหล่า​นี้​ทำ​งาน​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ตลอด​กว่า​ครึ่ง​ปี ใช้​เวลา​ทั้ง​กลางวัน, กลางคืน, และ​วัน​สุด​สัปดาห์ เพื่อ​สร้าง​หอ​ประชุม 8 หลัง และ​บ้าน​พี่​น้อง​คริสเตียน​กว่า 700 หลัง​ขึ้น​ใหม่. คน​ที่​ไม่​สามารถ​เข้า​ร่วม​งาน​นี้​ก็​บริจาค​เงิน​และ​เครื่อง​อุปโภค​บริโภค​ต่าง ๆ. ทำไม​พยาน​ฯ นับ​หมื่น​คน​เหล่า​นี้​จึง​เสนอ​ตัว​ช่วยเหลือ​พี่​น้อง​ของ​ตน? นั่น​ก็​เพราะ​พวก​เขา “รัก​ความ​กรุณา.” และ​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​ชื่น​ใจ​สัก​เพียง​ไร​ที่​รู้​ว่า พี่​น้อง​ของ​เรา​ตลอด​ทั่ว​โลก​กระทำ​สิ่ง​ซึ่ง​แสดง​ออก​ถึง​ความ​กรุณา​รักใคร่​อย่าง​นั้น! ถูก​แล้ว การ​ทำ​ตาม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ที่​ให้ “รัก​ความ​กรุณา” ไม่​ใช่​ภาระ​หนัก แต่​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​ยินดี!

เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า

16. ตัว​อย่าง​อะไร​ที่​ช่วย​เน้น​ให้​เห็น​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า?

16 ข้อ​เรียก​ร้อง​ประการ​ที่​สาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​มีคา 6:8 (ล.ม.) คือ “ให้​เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า​ของ​เจ้า.” นี่​หมาย​ถึง​การ​ยอม​รับ​ข้อ​จำกัด​ของ​ตัว​เอง​และ​หมาย​พึ่ง​พระเจ้า. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง: ขอ​ให้​นึก​ภาพ​เด็ก​หญิง​ตัว​เล็ก ๆ ที่​จับ​มือ​พ่อ​ของ​ตน​ไว้​แน่น​ขณะ​เดิน​ฝ่า​ลม​พายุ​ไป​ด้วย​กัน. เด็ก​น้อย​คน​นี้​รู้​ดี​ว่า​เธอ​มี​กำลัง​จำกัด แต่​เธอ​มั่น​ใจ​ใน​พ่อ​ของ​เธอ. เรา​ต้อง​สำนึก​ถึง​ข้อ​จำกัด​ของ​ตัว​เอง​เช่น​กัน และ​มั่น​ใจ​ใน​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์. เรา​จะ​รักษา​ความ​มั่น​ใจ​นี้​ไว้​โดย​วิธี​ใด? วิธี​หนึ่ง​คือ ระลึก​อยู่​เสมอ​ว่า​ทำไม​จึง​เป็น​การ​ฉลาด​ที่​จะ​อยู่​ใกล้​พระเจ้า​ตลอด​เวลา. มีคา​เตือน​ใจ​เรา​ให้​ระลึก​ถึง​เหตุ​ผล​สาม​ประการ​คือ พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ช่วย​ให้​รอด, เป็น​ผู้​นำ, และ​เป็น​ผู้​ปก​ป้อง​เรา.

17. พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ช่วย​ให้​รอด, เป็น​ผู้​นำ, และ​เป็น​ผู้​ปก​ป้อง​ประชาชน​ของ​พระองค์​ใน​ครั้ง​โบราณ​อย่าง​ไร?

17 ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​มีคา 6:4, 5 พระเจ้า​ตรัส​ว่า “เรา​ได้​นำ​พวก​เจ้า​ออก​มา​จาก​ประเทศ​อายฆุบโต.” ถูก​แล้ว พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ช่วย​ให้​รอด​ของ​ชน​ชาติ​อิสราเอล. พระองค์​ตรัส​ต่อ​ไป​ว่า “เรา​ได้​ตั้ง​ให้​โมเซ, อาโรน​และ​มิระยาม​เป็น​ผู้​นำ​ของ​พวก​เจ้า.” โมเซ​และ​อาโรน​ถูก​ใช้​ให้​นำ​ชาติ​นี้ ส่วน​มิระยาม​นำ​เหล่า​สตรี​อิสราเอล​ใน​การ​เต้น​รำ​ฉลอง​ชัย​ชนะ. (เอ็กโซโด 7:1, 2; 15:1, 19-21; พระ​บัญญัติ 34:10) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​การ​ชี้​นำ​ผ่าน​ทาง​เหล่า​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์. ใน​ข้อ 5 พระ​ยะโฮวา​ทรง​เตือน​ชาติ​อิสราเอล​ให้​ระลึก​ว่า พระองค์​ทรง​ปก​ป้อง​พวก​เขา​จาก​บาลาค​และ​บีละอาม และ​ทรง​ปก​ป้อง​พวก​เขา​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​ช่วง​สุด​ท้าย​ตั้ง​แต่​ตำบล​ซิติม​ใน​โมอาบ จน​ถึง​ตำบล​ฆีละฆาล​ใน​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา.

18. พระเจ้า​ทรง​เป็น​ผู้​ช่วย​ให้​รอด, เป็น​ผู้​นำ, และ​เป็น​ผู้​ปก​ป้อง​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​อย่าง​ไร?

18 ขณะ​ที่​เรา​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า พระองค์​ทรง​ช่วย​เรา​ให้รอด​พ้น​จาก​โลก​ของ​ซาตาน, ทรง​ชี้​นำ​เรา​ผ่าน​ทาง​พระ​คำ​และ​องค์การ​ของ​พระองค์, และ​ปก​ป้อง​เรา​ใน​ฐานะ​กลุ่ม​ชน จาก​การ​โจมตี​ของ​พวก​ผู้​ต่อ​ต้าน. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​มี​เหตุ​ผล​เพียง​พอ​ที่​จะ​ยึด​พระ​หัตถ์​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ไว้​ให้​แน่น ขณะ​ที่​เรา​ดำเนิน​กับ​พระองค์​ฝ่า​ลม​พายุ​ใน​ช่วง​สุด​ท้าย​ของ​การ​เดิน​ทาง​เข้า​สู่​สิ่ง​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา​ใน​อดีต นั่น​คือ​โลก​ใหม่​อัน​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า.

19. ความ​เจียม​ตัว​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​ข้อ​จำกัด​ต่าง ๆ ของ​เรา?

19 การ​เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า​ช่วย​เรา​ให้​มี​ทัศนะ​ที่​ตรง​กับ​สภาพการณ์​จริง​ใน​ชีวิต​ของ​เรา. นี่​เป็น​เพราะ​การ​เป็น​คน​เจียม​ตัว​หมาย​รวม​ถึง​การ​สำนึก​ถึง​ข้อ​จำกัด​ต่าง ๆ ของ​เรา. อายุ​ที่​มาก​ขึ้น​หรือ​สุขภาพ​ที่​แย่​ลง​อาจ​ทำ​ให้​เรา​มี​ข้อ​จำกัด​บาง​อย่าง​ใน​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ได้​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แทน​ที่​จะ​ปล่อย​ให้​สิ่ง​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เรา​ท้อ​ใจ เรา​ควร​ระลึก​ว่า พระเจ้า​ทรง​ยอม​รับ​ความ​พยายาม​และ​ความ​เสีย​สละ​ของ​เรา ‘ตาม​ที่​เรา​มี​อยู่ มิ​ใช่​ตาม​ที่​เรา​ไม่​มี.’ (2 โกรินโธ 8:12) ที่​จริง พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​ให้​เรา​รับใช้​พระองค์​อย่าง​สิ้น​สุด​จิตวิญญาณ ทำ​เท่า​ที่​สภาพการณ์​ต่าง ๆ ของ​เรา​อำนวย. (โกโลซาย 3:23) เมื่อ​เรา​ทำ​งาน​รับใช้​อย่าง​จริงจัง​และ​กระตือรือร้น อย่าง​สุด​กำลัง​ความ​สามารถ พระเจ้า​ทรง​อวย​พร​เรา​อย่าง​อุดม.—สุภาษิต 10:22.

การ​มี​เจตคติ​ที่​รอ​คอย​นำ​พระ​พร​มา​ให้

20. การ​ตระหนัก​ถึง​เรื่อง​ใด​จะ​ช่วย​เรา​ให้​สำแดง​เจตคติ​แบบ​ที่​รอ​คอย​เช่น​เดียว​กับ​มีคา?

20 การ​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา​กระตุ้น​เรา​ให้​เลียน​แบบ​น้ำใจ​ของ​มีคา. ท่าน​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​จะ​สำแดง​เจตคติ​แบบ​ที่​รอ​คอย​พระเจ้า​แห่ง​ความ​รอด​ของ​ข้าพเจ้า.” (มีคา 7:7, ล.ม.) ถ้อย​คำ​นี้​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​การ​เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า? การ​มี​เจตคติ​แบบ​ที่​รอ​คอย หรือ​การ​รู้​จัก​อด​ทน ช่วย​ให้​เรา​ไม่​รู้สึก​ผิด​หวัง เมื่อ​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​มา​ไม่​ถึง. (สุภาษิต 13:12) พูด​กัน​ตาม​ตรง เรา​ทุก​คน​ต่าง​ปรารถนา​ให้​โลก​ชั่ว​นี้​ถึง​จุด​อวสาน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แต่​ละ​สัปดาห์​มี​ผู้​คน​หลาย​พัน​คน​ที่​เพิ่ง​เริ่ม​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า. การ​สำนึก​ถึง​เรื่อง​นั้น​ทำ​ให้​เรา​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​สำแดง​เจตคติ​แบบ​ที่​รอ​คอย. ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​เป็น​พยาน​ฯ มา​นาน​หลาย​ปี​กล่าว​ใน​เรื่อง​นี้​ว่า “เมื่อ​ผม​มอง​ย้อน​หลัง​ไป​กว่า 55 ปี​ที่​ทำ​งาน​ประกาศ ผม​มั่น​ใจ​ว่า​ผม​ไม่​ได้​สูญ​เสีย​อะไร​จาก​การ​คอย​ท่า​พระ​ยะโฮวา. ตรง​กัน​ข้าม ผม​ไม่​ต้อง​พบ​กับ​ความ​ปวด​ร้าว​ใจ​มาก​มาย.” คุณ​มี​ประสบการณ์​คล้าย ๆ กัน​นี้​ไหม?

21, 22. มีคา 7:14 กำลัง​สำเร็จ​เป็น​จริง​อย่าง​ไร​ใน​ทุก​วัน​นี้?

21 ไม่​มี​ข้อ​สงสัย การ​ดำเนิน​กับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​เรา. ดัง​ที่​เรา​อ่าน​ใน​มีคา 7:14 (ล.ม.) มีคา​เปรียบ​พลเมือง​ของ​พระเจ้า​เหมือน​กับ​ฝูง​แกะ​ที่​อยู่​อย่าง​ปลอด​ภัย​กับ​ผู้​เลี้ยง. ปัจจุบัน ใน​ความ​สำเร็จ​เป็น​จริง​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​ของ​คำ​พยากรณ์​ข้อ​นี้ ชน​ที่​เหลือ​แห่ง​อิสราเอล​ฝ่าย​วิญญาณ​และ “แกะ​อื่น” ประสบ​ความ​ปลอด​ภัย​เมื่อ​อยู่​กับ​พระ​ยะโฮวา พระ​ผู้​เลี้ยง​แกะ​ของ​พวก​เขา​ที่​วางใจ​ได้. พวก​เขา​อาศัย​อยู่ “ลำพัง​ใน​ป่า ท่ามกลาง​สวน​ผลไม้” นั่น​คือ แยก​ตัว​ต่าง​หาก​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​จาก​โลก​ซึ่ง​มี​เหตุ​การณ์​วุ่นวาย​และ​อันตราย​ต่าง ๆ มาก​ขึ้น​ทุก​ที.—โยฮัน 10:16; พระ​บัญญัติ 33:28; ยิระมะยา 49:31; ฆะลาเตีย 6:16.

22 นอก​จาก​นี้ พลเมือง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​ประสบ​ความ​เจริญ​มั่งคั่ง เหมือน​ดัง​ที่​มีคา 7:14 (ล.ม.) พยากรณ์​ไว้. มีคา​กล่าว​ถึง​แกะ​หรือ​พลเมือง​ของ​พระเจ้า​ดัง​นี้: “ให้​พวก​เขา​หา​กิน​ที่​บาชาน​และ​กิเลียด.” เช่น​เดียว​กับ​พวก​แกะ​ใน​บาชาน​และ​กิเลียด​ที่​อ้วน​พี​และ​หา​กิน​ใน​ทุ่ง​หญ้า​อัน​อุดม​สมบูรณ์ พลเมือง​ของ​พระเจ้า​ใน​ทุก​วัน​นี้​ประสบ​ความ​เจริญ​มั่งคั่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​อย่าง​เดียว​กัน ซึ่ง​เป็น​พระ​พร​อีก​อย่าง​หนึ่ง​สำหรับ​ผู้​ที่​เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า.—อาฤธโม 32:1; พระ​บัญญัติ 32:14.

23. เรา​ได้​บทเรียน​อะไร​จาก​การ​พิจารณา​มีคา 7:18, 19?

23 ที่​มีคา 7:18, 19 ท่าน​ผู้​พยากรณ์​เน้น​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​จะ​ให้​อภัย​บาป​แก่​ผู้​กลับ​ใจ. มีคา 7 ข้อ 18 กล่าว​ว่า​พระ​ยะโฮวา “ทรง​ยก​โทษ​โปรด​บาป, และ​ทรง​มอง​เลย​ความ​ผิด​บาป.” และ​ดัง​ที่​มีคา 7 ข้อ 19 กล่าว พระองค์ “จะ​ทรง​โยน​บาป​ผิด​ของ​เรา​ลง​ไป​เสีย​ใน​ทะเล​ลึก.” เรา​ได้​บทเรียน​อะไร​จาก​เรื่อง​นี้? เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า​เรา​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​นี้​ไหม. เรา​ให้​อภัย​ความ​ผิด​ที่​คน​อื่น​อาจ​กระทำ​ต่อ​เรา​ไหม? แน่นอน​ว่า​เมื่อ​คน​เหล่า​นั้น​กลับ​ใจ​และ​พยายาม​แก้ไข​ข้อ​ผิด​พลาด เรา​ต้องการ​ที่​จะ​สะท้อน​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​การ​ให้​อภัย​อย่าง​สิ้นเชิง​และ​ตลอด​ไป.

24. คุณ​ได้​รับ​ประโยชน์​อย่าง​ไร​จาก​คำ​พยากรณ์​ของ​มีคา?

24 เรา​ได้​รับ​ประโยชน์​อย่าง​ไร​จาก​การ​พิจารณา​คำ​พยากรณ์​ของ​มีคา? คำ​พยากรณ์​นี้​เตือน​เรา​ให้​ระลึก​ว่า พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​แห่ง​ความ​หวัง​แท้​สำหรับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ถูก​ชัก​นำ​ให้​มา​หา​พระองค์. (มีคา 2:1-13) เรา​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​ทำ​ทุก​สิ่ง​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​ใน​การ​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​แท้ เพื่อ​เรา​จะ​สามารถ​ดำเนิน​ใน​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ได้​ตลอด​ไป. (มีคา 4:1-4) และ​เรา​ได้​รับ​คำ​รับรอง​ว่า เรา​สามารถ​บรรลุ​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้ ไม่​ว่า​สภาพการณ์​ของ​เรา​จะ​เป็น​เช่น​ไร. ถูก​แล้ว คำ​พยากรณ์​ของ​มีคา​เสริม​กำลัง​เรา​อย่าง​แท้​จริง​ให้​ดำเนิน​ใน​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• ตาม​ที่​กล่าว​ใน​มีคา 6:8 พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​อะไร​จาก​เรา?

• เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​จะ “สำแดง​ความ​ยุติธรรม”?

• เรา​จะ​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​เรา “รัก​ความ​กรุณา”?

• การ “เจียม​ตัว​ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า” เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 21]

ทั้ง​ที่​สภาพการณ์​ชั่ว​ช้า​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​สมัย​ของ​มีคา ท่าน​ทำ​ตาม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระ​ยะโฮวา. คุณ​ก็​ทำ​ได้​เช่น​กัน

[ภาพ​หน้า 23]

สำแดง​ความ​ยุติธรรม​โดย​ให้​คำ​พยาน​แก่​คน​ทุก​ระดับ​ฐานะ

[ภาพ​หน้า 23]

จง​แสดง​ว่า​คุณ​รัก​ความ​กรุณา​โดย​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​แก่​ผู้​ที่​มี​ความ​จำเป็น

[ภาพ​หน้า 23]

ทำ​ทุก​สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้​ขณะ​ที่​สำนึก​ถึง​ขีด​จำกัด​ของ​ตัว​เอง​ด้วย​ความ​เจียม​ตัว