คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ในหลายส่วนของโลก มีธรรมเนียมที่จะให้ของขวัญแต่งงาน. หลักการอะไรในพระคัมภีร์ที่เราควรจะพิจารณาเมื่อจะให้หรือรับของขวัญเช่นนั้น?
คัมภีร์ไบเบิลเห็นชอบกับการให้ของขวัญเมื่อการทำเช่นนั้นมาจากเจตนาที่ถูกต้องและในโอกาสที่เหมาะสม. ในเรื่องของการให้ คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนคริสเตียนแท้ให้เลียนแบบพระยะโฮวาผู้ทรงจัดเตรียมด้วยพระทัยกว้าง. (ยาโกโบ 1:17) อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนว่า “อย่าลืมการทำดีและการแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ แก่คนอื่น ๆ ด้วยว่าพระเจ้าทรงชอบพระทัยด้วยเครื่องบูชาเช่นนั้น.” ดังนั้น คริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้เป็นคนใจกว้าง.—เฮ็บราย 13:16, ล.ม.; ลูกา 6:38.
ในบางประเทศ การกระทำที่ถือเป็นเรื่องปกติก็คือ ผู้ที่กำลังจะสมรสจะไปลงทะเบียนไว้ที่ห้างสรรพสินค้า โดยตรวจดูสินค้าในร้านและทำรายการสิ่งของที่พวกเขาอยากได้เป็นของขวัญ. ญาติ ๆ และเพื่อนของคู่ที่กำลังจะสมรสจะได้รับการชี้แนะให้ไปยังร้านนั้นเพื่อซื้อของตามรายการที่คู่บ่าวสาวลงทะเบียนไว้. มองในแง่ที่เป็นประโยชน์แล้ว รายการของขวัญที่ลงทะเบียนไว้ช่วยผู้ที่จะให้ของขวัญไม่ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงเพื่อมองหาของขวัญสักชิ้นหนึ่ง ในขณะที่ผู้รับก็ไม่ต้องลำบากเอาของขวัญที่ไม่ต้องการไปคืนที่ร้าน.
ผู้ที่กำลังจะสมรสจะใช้รายการของขวัญดังกล่าวหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจเป็นส่วนตัว. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนควรระมัดระวังตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการทำสิ่งใดก็ตามที่อาจละเมิดหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น จะว่าอย่างไรหากว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวทำรายการของขวัญที่เขาต้องการเป็นของที่มีราคาแพงมาก? ในกรณีเช่นนี้ คนที่มีงบประมาณจำกัดอาจไม่สามารถหาของขวัญให้ได้สักชิ้น หรือเขาอาจรู้สึกว่า ดีกว่าที่จะปฏิเสธคำเชิญให้เข้าร่วมงานแต่งงานเพื่อจะไม่ต้องลำบากใจเวลานำของขวัญราคาไม่แพงมาให้. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งเขียนว่า “นี่กลายเป็นภาระหนักเหลือเกิน. ดิฉันพยายามที่จะเป็นคนใจกว้าง แต่เมื่อไม่นานมานี้ความสุขทั้งสิ้นที่ดิฉันเคยประสบในการให้ได้หายไปหมด.” ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริง ๆ หากงานสมรสจะกลายเป็นแหล่งที่ทำให้ท้อใจ!
แน่นอน ไม่ควรทำให้ผู้ให้รู้สึกว่า เพื่อของขวัญของเขาจะยอมรับได้ต้องเป็นของที่ซื้อจากร้านใดร้านหนึ่งโดยเฉพาะหรือต้องมีราคาเท่านั้นเท่านี้. อันที่จริงแล้ว พระเยซูคริสต์ทรงชี้ว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดในสายพระเนตรของพระเจ้าคือเจตคติในหัวใจของผู้ให้ ไม่ใช่ค่าทางวัตถุของสิ่งที่เป็นของขวัญ. (ลูกา 21:1-4) คล้ายกัน อัครสาวกเปาโลเขียนถึงเรื่องการให้ทานแก่คนยากจนว่า “ทุกคนจงให้ตามซึ่งเขาได้คิดหมายไว้ในใจมิใช่ด้วยนึกเสียดาย, มิใช่ด้วยขืนใจให้ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี.”—2 โกรินโธ 9:7.
เมื่อพูดตามหลักคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะแสดงตัวว่าเป็นผู้ให้ของขวัญ บางทีโดยเขียนข้อความสั้น ๆ แนบมาพร้อมกับของขวัญ. อย่างไรก็ดี ในบางแห่ง ถือเป็นธรรมเนียมท้องถิ่นที่ให้ทุกคนที่มาในงานรู้ว่าใครเป็นผู้ให้ของขวัญ. ธรรมเนียมเช่นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้. คนเหล่านั้นที่ให้ของขวัญอาจไม่ประสงค์จะออกนาม เนื่องจากไม่ต้องการดึงความสนใจเกินควรมาสู่ตัวเอง. คนที่ทำเช่นนี้จึงได้ปฏิบัติตามหลักการของพระเยซูซึ่งพบใน มัดธาย 6:3 ที่ว่า “ฝ่ายท่านทั้งหลายเมื่อทำทาน, อย่าให้มือซ้ายรู้การซึ่งมือขวากระทำนั้น.” คนอื่น ๆ อาจรู้สึกว่าการให้ของขวัญเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างผู้ให้และผู้รับ. ยิ่งกว่านั้น การระบุตัวผู้ให้อาจนำไปสู่การเปรียบเทียบของขวัญซึ่ง “ยั่วยุให้มีการแข่งขันชิงดีกัน” ได้. (ฆะลาเตีย 5:26, ล.ม.) คริสเตียนคงต้องการหลีกเลี่ยงอย่างแน่นอนที่จะไม่ทำให้บางคนรู้สึกอึดอัดโดยการประกาศชื่อผู้ให้ของขวัญ.—1 เปโตร 3:8.
ใช่แล้ว โดยการปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับหลักการที่พบในพระคำของพระเจ้า การให้ของขวัญจะยังคงเป็นแหล่งแห่งความชื่นชมยินดี.—กิจการ 20:35.