ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงสรรเสริญพระยะโฮวา “ท่ามกลางชุมนุมชน”

จงสรรเสริญพระยะโฮวา “ท่ามกลางชุมนุมชน”

จง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา “ท่ามกลาง​ชุมนุม​ชน”

การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​การ​จัด​เตรียม​ที่​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​ช่วย​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ. โดย​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​เป็น​ประจำ เรา​แสดง​ถึง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​ของ​พระ​ยะโฮวา. ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​สามารถ “เร้า​ใจ [พี่​น้อง​ของ​เรา] ให้​เกิด​ความ​รัก​และ​การ​กระทำ​ที่​ดี” ซึ่ง​เป็น​วิธี​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​กัน​และ​กัน. (เฮ็บราย 10:24, ล.ม.; โยฮัน 13:35) แต่​เรา​จะ​สามารถ​เร้า​ใจ​พี่​น้อง ณ การ​ประชุม​ต่าง ๆ ได้​อย่าง​ไร?

จง​แสดง​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​เปิด​เผย

กษัตริย์​ดาวิด​ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ​ตัว​ท่าน​ว่า “ข้า​พระองค์​จะ​บอก​เล่า​พระ​นาม​ของ​พระองค์​แก่​พี่​น้อง​ของ​ข้า​พระองค์ ข้า​พระองค์​จะ​สรรเสริญ​พระองค์​ท่ามกลาง​ชุมนุม​ชน. คำ​สรรเสริญ​ของ​ข้า​พระองค์​ใน​ที่​ชุมนุม​ชน​ใหญ่​มา​จาก​พระองค์.” “ข้า​พระองค์​จะ​โมทนา​พระคุณ​พระองค์​ใน​ที่​ชุมนุม​ใหญ่ ข้า​พระองค์​จะ​สรรเสริญ​พระองค์​ท่ามกลาง​คน​เป็น​อัน​มาก.” “ข้าพเจ้า​ได้​ประกาศ​ข่าว​ให้​ชื่นชม​ยินดี​ถึง​ความ​ชอบธรรม​ใน​ที่ชุมนุม​ใหญ่; . . . ข้าพเจ้า​จะ​ไม่​ปิด​ริมฝีปาก​ของ​ข้าพเจ้า​เลย.”—บทเพลง​สรรเสริญ 22:22, 25; 35:18, ฉบับ​แปล​ใหม่; 40:9.

คล้าย​กัน​นั้น ใน​สมัย​ของ​อัครสาวก​เปาโล เมื่อ​คริสเตียน​เข้า​มา​ชุมนุม​กัน​เพื่อ​นมัสการ พวก​เขา​พูด​ถึง​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​ยะโฮวา​และ​พูด​ถึง​สง่า​ราศี​ของ​พระองค์. โดย​วิธี​นี้​พวก​เขา​จึง​หนุน​ใจ​และ​เร้า​ใจ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​ให้​เกิด​ความ​รัก​และ​การ​กระทำ​ที่​ดี. ใน​สมัย​ของ​เรา ซึ่ง​เป็น​เวลา​นาน​หลาย​ศตวรรษ​หลัง​จาก​ดาวิด​และ​เปาโล เรา “เห็น​วัน [ของ​พระ​ยะโฮวา] นั้น​ใกล้​เข้า​มา” อย่าง​แท้​จริง. (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) ระบบ​ของ​ซาตาน​กำลัง​ง่อน​แง่น​จวน​จะ​ถึง​ความ​พินาศ และ​ปัญหา​ต่าง ๆ ก็​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​ไม่​หยุดหย่อน. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง “จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​เพียร​อด​ทน” ยิ่ง​กว่า​ที่​เป็น​มา. (เฮ็บราย 10:36, ล.ม.) แล้ว​ใคร​ล่ะ​จะ​สามารถ​หนุน​ใจ​เรา​ได้ หาก​ไม่​ใช่​พี่​น้อง​ของ​เรา?

ทุก​วัน​นี้​ก็​เช่น​เดียว​กับ​ใน​สมัย​ก่อน ที่​ผู้​เชื่อถือ​แต่​ละ​คน​มี​โอกาส​พูด​ถึง​ความ​เชื่อ “ท่ามกลาง​ชุมนุม​ชน.” โอกาส​หนึ่ง​ที่​ทุก​คน​มี​ก็​คือ​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​สำหรับ​คำ​ถาม​ที่​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​ให้​ผู้​ฟัง​ตอบ ณ การ​ประชุม​ต่าง ๆ ของ​ประชาคม. อย่า​ประเมิน​ค่า​ประโยชน์​ของ​เรื่อง​นี้​ต่ำ​เกิน​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น ความ​คิด​เห็น​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​จะ​เอา​ชนะ​หรือ​หลีก​เลี่ยง​ปัญหา​ได้​อย่าง​ไร​นั้น จะ​ช่วย​เสริม​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ของ​พี่​น้อง​ของ​เรา​ให้​ติด​ตาม​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้. ความ​คิด​เห็น​ที่​อธิบาย​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​การ​อ้าง​ถึง​แต่​ไม่​ได้​ยก​ขึ้น​มา​กล่าว​หรือ​ความ​คิด​เห็น​ที่​อาศัย​การ​ค้นคว้า​ส่วน​ตัว​ที่​ยก​ขึ้น​มา​ประกอบ​นั้น​ก็​อาจ​หนุน​กำลังใจ​คน​อื่น​ให้​พัฒนา​นิสัย​การ​ศึกษา​ให้​ดี​ขึ้น​ได้.

การ​ได้​รู้​ว่า​ทั้ง​เรา​และ​คน​อื่น ๆ จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​หาก​เรา​ออก​ความ​คิด​เห็น​ที่​การ​ประชุม​นั้น น่า​จะ​กระตุ้น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทุก​คน​ให้​เอา​ชนะ​ความ​เขิน​อาย​หรือ​การ​เป็น​คน​ไม่​กล้า​พูด. เป็น​เรื่อง​ที่​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ผู้​ปกครอง​และ​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้​จะ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ที่​การ​ประชุม เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ถูก​คาด​หมาย​ให้​เป็น​ผู้​ที่​นำ​หน้า​ใน​การ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ประชุม​เช่น​เดียว​กับ​การ​เข้า​ร่วม​ประชุม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แต่​ละ​คน​จะ​สามารถ​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร หาก​พบ​ว่า​การ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​กิจกรรม​ฝ่าย​วิญญาณ​ใน​ด้าน​นี้​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​เขา?

คำ​แนะ​นำ​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น

จง​จำ​ไว้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย. สตรี​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใน​เยอรมนี​อธิบาย​ว่า​เธอ​มอง​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ของ​เธอ​อย่าง​ไร. “การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​เป็น​คำ​ตอบ​ของ​ดิฉัน​เอง​ต่อ​ความ​พยายาม​ของ​ซาตาน​ที่​จะ​ยับยั้ง​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ไม่​ให้​พูด​ถึง​ความ​เชื่อ​ของ​เขา.” พี่​น้อง​ที่​รับ​บัพติสมา​ใหม่​ซึ่ง​อยู่​ใน​ประชาคม​เดียว​กัน​ได้​กล่าว​ว่า “เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​ต้อง​ออก​ความ​คิด​เห็น ผม​จะ​อธิษฐาน​หลาย​ครั้ง.”

เตรียม​ตัว​อย่าง​ดี. หาก​คุณ​ไม่​ได้​ศึกษา​เรื่อง​นั้น​มา​ก่อน คุณ​จะ​พบ​ว่า​ยาก​ที่​จะ​ออก​ความ​คิด​เห็น​และ​ความ​คิด​เห็น​ของ​คุณ​อาจ​ไม่​ค่อย​ดี​เท่า​ไร. คำ​แนะ​นำ​เรื่อง​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ที่​การ​ประชุม​ประชาคม​มี​อยู่​ใน​หนังสือ​การ​รับ​ประโยชน์​จาก​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า หน้า 70. *

จง​ตั้ง​เป้า​ที่​จะ​ออก​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​น้อย​หนึ่ง​ข้อ​ที่​การ​ประชุม​แต่​ละ​ครั้ง. นี่​หมายความ​ว่า​คุณ​ต้อง​เตรียม​คำ​ตอบ​ไว้​หลาย ๆ ข้อ เพราะ​ว่า​ยิ่ง​คุณ​ยก​มือ​บ่อย​เท่า​ไร​ก็​มี​ความ​เป็น​ไป​ได้​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น​ที่​พี่​น้อง​ซึ่ง​เป็น​ผู้​นำ​จะ​เรียก​คุณ. คุณ​อาจ​ถึง​กับ​บอก​เขา​ล่วง​หน้า​ว่า​ข้อ​ไหน​ที่​คุณ​ได้​เตรียม​คำ​ตอบ​ไว้​แล้ว. วิธี​นี้​จะ​ช่วย​คุณ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​หาก​คุณ​เพิ่ง​จะ​เริ่ม​ออก​ความ​คิด​เห็น. เนื่อง​จาก​คุณ​อาจ​ลังเล​ที่​จะ​ยก​มือ​ขึ้น “ใน​ที่​ชุมนุม​ชน​ใหญ่” การ​ที่​รู้​ว่า​นี่​เป็น​ข้อ​ของ​คุณ​และ​รู้​ว่า​ผู้​นำ​การ​ประชุม​กำลัง​มอง​หา​มือ​ของ​คุณ​อยู่ จะ​เสริม​ความ​กล้า​แก่​คุณ​ให้​ออก​ความ​คิด​เห็น.

จง​ออก​ความ​คิด​เห็น​แต่​เนิ่น ๆ. งาน​ยาก​ไม่​ได้​ง่าย​ขึ้น​โดย​การ​ผัด​เลื่อน​งาน​นั้น​ออก​ไป. การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ตั้ง​แต่​ช่วง​ต้น ๆ ของ​การ​ประชุม​จะ​ช่วย​ได้. คุณ​จะ​แปลก​ใจ​ว่า​ง่าย​ขึ้น​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ครั้ง​ที่​สอง​และ​ที่​สาม เมื่อ​ได้​ผ่าน​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​แรก​อัน​ยากเย็น​ไป​แล้ว.

เลือก​ที่​นั่ง​ที่​เหมาะ​สม. บาง​คน​รู้สึก​ว่า​ง่าย​ขึ้น​ที่​จะ​ออก​ความ​คิด​เห็น​เมื่อ​เขา​นั่ง​ใน​ส่วน​หน้า​ของ​หอ​ประชุม เพราะ​มี​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ไขว้เขว​น้อย​กว่า และ​ผู้​นำ​การ​ประชุม​คง​จะ​มอง​เห็น​เขา​ได้​ง่าย​ขึ้น. หาก​คุณ​นั่ง​ส่วน​หน้า​ของ​หอ​ประชุม อย่า​ลืม​พูด​ให้​ดัง​พอ​ที่​ทุก​คน​จะ​ได้​ยิน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ประชาคม​ที่​ไม่​ได้​ใช้​ไมโครโฟน​สำหรับ​การ​ตอบ.

ตั้งใจ​ฟัง. การ​ทำ​เช่น​นี้​จะ​ช่วย​คุณ​หลีก​เลี่ยง​การ​กล่าว​ซ้ำ​ใน​สิ่ง​ที่​คน​อื่น​เพิ่ง​พูด​ไป. นอก​จาก​นั้น ความ​คิด​เห็น​ของ​คน​อื่น​อาจ​ช่วย​ให้​คุณ​นึก​ถึง​ข้อ​พระ​คัมภีร์​หรือ​จุด​สำคัญ​ที่​จะ​เสริม​ต่อ​จาก​ความ​คิด​เห็น​ที่​เพิ่ง​พูด​ไป​นั้น​ได้​ด้วย. บาง​ครั้ง ประสบการณ์​สั้น ๆ ก็​อาจ​ทำ​ให้​เห็น​จุด​สำคัญ​ที่​กำลัง​พิจารณา​นั้น​เด่น​ชัด​ขึ้น. ความ​คิด​เห็น​เช่น​นั้น​มี​ประโยชน์​มาก.

ฝึก​ที่​จะ​ตอบ​ให้​เป็น​คำ​พูด​ของ​คุณ​เอง. ความ​คิด​เห็น​ที่​อ่าน​จาก​เนื้อ​เรื่อง​อาจ​แสดง​ว่า​คุณ​พบ​คำ​ตอบ​ที่​ถูก​ต้อง และ​อาจ​เป็น​วิธี​ที่​ดี​ใน​การ​เริ่ม​ต้น​ออก​ความ​คิด​เห็น. แต่​การ​ก้าว​หน้า​ถึง​ขั้น​ที่​จะ​ตอบ​โดย​คำ​พูด​ของ​คุณ​เอง​แสดง​ว่า​คุณ​เข้าใจ​จุด​สำคัญ​ของ​เรื่อง. ไม่​จำเป็น​ต้อง​ยก​ข้อ​ความ​จาก​สิ่ง​พิมพ์​ของ​เรา​ขึ้น​มา​กล่าว​ทุก​ตัว​อักษร. พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​พูด​ซ้ำ​ตาม​ที่​สรรพหนังสือ​ของ​พวก​เขา​ได้​กล่าว​ไว้​เท่า​นั้น.

ยึด​อยู่​กับ​หัวเรื่อง. ความ​คิด​เห็น​ที่​ไม่​สัมพันธ์​กับ​หัวเรื่อง​หรือ​เขว​ไป​จาก​แนว​คิด​หลัก​ที่​มี​การ​พิจารณา​นั้น​ไม่​เหมาะ​สม. นั่น​หมายความ​ว่า​ความ​คิด​เห็น​ของ​คุณ​ควร​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​หัวเรื่อง​ที่​กำลัง​พิจารณา. แล้ว​ความ​คิด​เห็น​ของ​คุณ​ก็​จะ​ทำ​ให้​เรื่อง​ที่​กำลัง​พิจารณา​กัน​นั้น​เป็น​ที่​เสริม​สร้าง​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ.

มุ่ง​หมาย​ที่​จะ​ให้​การ​หนุน​ใจ. เนื่อง​จาก​เหตุ​ผล​สำคัญ​ของ​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ก็​คือ เพื่อ​หนุน​ใจ​คน​อื่น เรา​จึง​ต้อง​พยายาม​เลี่ยง​การ​พูด​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เขา​ท้อ​ใจ. ยิ่ง​กว่า​นั้น อย่า​ตอบ​ครอบ​คลุม​หมด​ทั้ง​ข้อ​จน​แทบ​จะ​ไม่​มี​อะไร​เหลือ​ให้​คน​อื่น​ได้​พูด. คำ​ตอบ​ที่​ยาว​หรือ​ซับซ้อน​มัก​ทำ​ให้​ความหมาย​คลุมเครือ. คำ​ตอบ​สั้น ๆ เพียง​ไม่​กี่​คำ​ก็​อาจ​เป็น​คำ​ตอบ​ที่​ดึงดูด​ใจ​มาก​กว่า และ​จะ​ช่วย​หนุน​ใจ​คน​ใหม่ ๆ ให้​ออก​ความ​คิด​เห็น​ที่​เขา​เตรียม​ไว้​สั้น ๆ ด้วย.

บทบาท​ของ​ผู้​นำ​การ​ประชุม

ผู้​นำ​การ​ประชุม​มี​ความ​รับผิดชอบ​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​หนุน​ใจ. เขา​จะ​แสดง​ความ​สนใจ​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​ทุก ๆ ความ​คิด​เห็น​โดย​ฟัง​อย่าง​ตั้งใจ​และ​มอง​ผู้​ที่​ออก​ความ​คิด​เห็น​แทน​ที่​จะ​ยุ่ง​อยู่​กับ​สิ่ง​อื่น. ช่าง​ไม่​เหมาะ​จริง ๆ ถ้า​เขา​ไม่​ตั้งใจ​ฟัง​และ​จึง​พูด​ซ้ำ​สิ่ง​ที่​เพิ่ง​กล่าว​ไป​หรือ​ถาม​คำ​ถาม​ที่​เพิ่ง​ตอบ​ไป!

คง​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​ท้อ​ใจ​ด้วย​เช่น​กัน หาก​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​มัก​จะ​พูด​ซ้ำ​ความ​คิด​เห็น​ที่​พี่​น้อง​เพิ่ง​พูด​ไป โดย​ใช้​คำ​พูด​ที่​ต่าง​กัน​เล็ก​น้อย​ราว​กับ​ว่า​ความ​คิด​เห็น​นั้น​ยัง​ขาด​อะไร​บาง​อย่าง. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง จะ​เป็น​การ​หนุน​ใจ​สัก​เพียง​ไร​ถ้า​ความ​คิด​เห็น​ต่าง ๆ ช่วย​ให้​มี​การ​พิจารณา​จุด​สำคัญ​มาก​ขึ้น​ไป​อีก. คำ​ถาม​อย่าง​เช่น ‘เรา​จะ​สามารถ​ประยุกต์​เรื่อง​นี้​ใช้​ใน​ประชาคม​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร?’ หรือ ‘ข้อ​พระ​คัมภีร์​ใด​ใน​วรรค​ที่​สนับสนุน​ความ​คิด​เห็น​ที่​ได้​ตอบ​ไป?’ เป็น​คำ​ถาม​ที่​จะ​สนับสนุน​ให้​มี​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​ใน​แง่​บวก ซึ่ง​จะ​เป็น​การ​ส่ง​เสริม​ที่​มี​คุณค่า.

แน่นอน​ที่​คน​ใหม่​หรือ​คน​ที่​ขี้อาย​ควร​ได้​รับ​คำ​ชมเชย​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​เขา​ออก​ความ​คิด​เห็น. อาจ​จะ​ทำ​ดัง​กล่าว​เป็น​ส่วน​ตัว​หลัง​จาก​จบ​การ​ศึกษา​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​ความ​ขัด​เขิน​และ​ยัง​เปิด​โอกาส​ให้​ผู้​นำ​การ​ประชุม​ให้​คำ​แนะ​นำ​เมื่อ​เห็น​ว่า​เหมาะ​สม.

ใน​การ​สนทนา​ทั่ว​ไป บุคคล​ที่​ครอง​การ​สนทนา​ไว้​คน​เดียว​จะ​ทำ​ให้​การ​พูด​คุย​กัน​เป็น​เรื่อง​น่า​เบื่อ. ผู้​ฟัง​จะ​รู้สึก​ว่า​ไม่​จำเป็น​ที่​ตน​จะ​ต้อง​พูด. หาก​ต้อง​ฟัง พวก​เขา​จะ​ฟัง​อย่าง​ไม่​เต็ม​ใจ. สิ่ง​ที่​คล้าย​กัน​นี้​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้ เมื่อ​ผู้​นำ​ยึด​ครอง​การ​พิจารณา​ไว้​คน​เดียว​โดย​การ​ออก​ความ​เห็น​บ่อย​เกิน​ไป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​นำ​การ​ประชุม​อาจ​ดึง​หรือ​กระตุ้น​ความ​คิด​ของ​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​โดย​ใช้​คำ​ถาม​เสริม​เป็น​ครั้ง​คราว. คำ​ถาม​เช่น​นั้น​ไม่​ควร​จะ​ใช้​มาก​เกิน​ไป.

ผู้​นำ​การ​ศึกษา​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เรียก​คน​แรก​ที่​ยก​มือ. การ​ทำ​เช่น​นี้​จะ​ทำ​ให้​คน​ที่​ต้องการ​เวลา​สัก​หน่อย​เพื่อ​เรียบเรียง​ความ​คิด​ท้อ​ใจ​ได้. โดย​การ​รอ​สัก​ครู่​หนึ่ง เขา​อาจ​เปิด​โอกาส​ให้​คน​ที่​ยัง​ไม่​ได้​ออก​ความ​คิด​เห็น​ได้​ตอบ. เขา​ยัง​แสดง​ออก​ซึ่ง​ความ​สังเกต​เข้าใจ​อีก​ด้วย​โดย​ที่​ไม่​เรียก​เด็ก​เล็ก ๆ ให้​ตอบ​คำ​ถาม​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เรื่อง​ซึ่ง​เกิน​ที่​เขา​จะ​เข้าใจ​ได้.

ถ้า​มี​การ​ตอบ​ไม่​ถูก​ล่ะ? ผู้​นำ​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​ให้​คน​ที่​ตอบ​ขายหน้า. ความ​คิด​เห็น​ถึง​แม้​จะ​ไม่​ถูก แต่​บ่อย​ครั้ง​ก็​มี​ส่วน​ที่​จริง​อยู่​บ้าง. โดย​หยิบ​ยก​เอา​ส่วน​ที่​ถูก​ออก​มา​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา, โดย​ดัด​แปลง​คำ​ถาม​เดิม, หรือ​โดย​การ​ใช้​คำ​ถาม​เสริม ผู้​นำ​ก็​สามารถ​แก้ไข​คำ​ตอบ​ได้​โดย​ไม่​ทำ​ให้​คน​ที่​ตอบ​ผิด​ขายหน้า.

เพื่อ​สนับสนุน​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น คง​จะ​ดี​กว่า​ที่​ผู้​นำ​การ​ประชุม​จะ​หลีก​เลี่ยง​คำ​ถาม​กว้าง ๆ อย่าง​เช่น ‘ใคร​มี​ความ​เห็น​อะไร​อีก​ไหม?’ คำ​ถาม​ที่​ว่า ‘ใคร​ยัง​ไม่​ได้​ออก​ความ​เห็น​บ้าง? นี่​เป็น​โอกาส​สุด​ท้าย​ของ​คุณ​แล้ว​นะ!’ อาจ​มี​จุด​ประสงค์​ที่​ดี แต่​คง​จะ​ไม่​สนับสนุน​ให้​คน​เรา​ออก​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​เปิด​เผย. ไม่​ควร​ทำ​ให้​พี่​น้อง​รู้สึก​ผิด​ที่​ไม่​ได้​ออก​ความ​คิด​เห็น​แต่​เนิ่น ๆ ใน​การ​ศึกษา. แทน​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น พวก​เขา​ควร​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​ให้​แบ่ง​ปัน​สิ่ง​ที่​เขา​ได้​เรียน​รู้ เพราะ​การ​แบ่ง​ปัน​เป็น​การ​แสดง​ออก​ถึง​ความ​รัก. นอก​จาก​นั้น หลัง​จาก​ที่​ผู้​นำ​ได้​เรียก​คน​หนึ่ง​ให้​ออก​ความ​คิด​เห็น คง​ดี​กว่า​ที่​จะ​ไม่​พูด​ว่า “หลัง​จาก​เขา​แล้ว เรา​จะ​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​ของ​บราเดอร์​นั้น​และ​ซิสเตอร์​นี้.” ผู้​นำ​ควร​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​นั้น​ก่อน แล้ว​ค่อย​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​คิด​เห็น​เสริม​หรือ​ไม่.

การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​เป็น​สิทธิ​พิเศษ

การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​ฝ่าย​วิญญาณ; การ​ออก​ความ​คิด​เห็น ณ การ​ประชุม​เหล่า​นั้น​ถือ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ. ยิ่ง​เรา​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​แนว​ทาง​พิเศษ​นี้​ที่​จะ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา “ท่ามกลาง​ชุมนุม​ชน” มาก​เท่า​ใด เรา​ก็​ยิ่ง​ติด​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​ดาวิด​และ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. การ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ประชุม​พิสูจน์​ว่า​เรา​รัก​พี่​น้อง​ของ​เรา และ​เรา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ประชาคม​ใหญ่​ของ​พระ​ยะโฮวา. มี​ที่​อื่น​ใด​ไหม​ที่​คุณ​ต้องการ​จะ​อยู่​ขณะ​ที่​คุณ “เห็น​วัน​นั้น​ใกล้​เข้า​มา?”—เฮ็บราย 10:25, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 10 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 20]

ทั้ง​การ​ฟัง​และ​การ​ออก​ความ​คิด​เห็น​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​ประชุม​คริสเตียน

[ภาพ​หน้า 21]

ผู้​นำ​แสดง​ความ​สนใจ​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​ทุก​ความ​คิด​เห็น