ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยพวกเราเสมอ

พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยพวกเราเสมอ

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใฝ่​พระทัย​พวก​เรา​เสมอ

เล่า​โดย​เอเนเลซ อึมซัง

ตอน​นั้น​เป็น​ปี 1972. ชาย​หนุ่ม​สิบ​คน สมาชิก​สันนิบาต​เยาวชน​แห่ง​มาลาวี ได้​บุก​เข้า​มา​ใน​บ้าน​และ​จับ​ตัว​ฉัน​ไว้ และ​ฉุด​ลาก​ฉัน​เข้า​ไป​ใน​ไร่​อ้อย​ใกล้​บ้าน. ที่​นั่น​พวก​เขา​รุม​ทุบ​ตี​และ​ปล่อย​ฉัน​ไว้ คิด​ว่า​ฉัน​ตาย​แล้ว.

พยาน​พระ​ยะโฮวา​จำนวน​มาก​ใน​ประเทศ​มาลาวี​ถูก​โจมตี​อย่าง​ร้ายกาจ​เช่น​เหตุ​การณ์​นี้. ทำไม​พยาน​ฯ ถูก​ข่มเหง? อะไร​ช่วย​เขา​ให้​อด​ทน​ได้? ขอ​ให้​ฉัน​เล่า​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​ครอบครัว​ของ​ฉัน​ให้​คุณ​ฟัง.

ฉัน​เกิด​เมื่อ​วัน​ที่ 31 ธันวาคม 1921 ใน​ครอบครัว​ที่​เคร่ง​ศาสนา. คุณ​พ่อ​เป็น​ศิษยาภิบาล​คริสตจักร​นิกาย​เพรสไบทีเรียน​แห่ง​แอฟริกา​กลาง. ฉัน​เติบโต​ใน​อึง​โคม​เมือง​เล็ก ๆ ใกล้​ลิลองเว เมือง​หลวง​ประเทศ​มาลาวี. พอ​อายุ 15 ปี ฉัน​ได้​มา​เป็น​ภรรยา​ของ​เอม​มาส อึมซัง.

วัน​หนึ่ง เพื่อน​ของ​พ่อ​ซึ่ง​เป็น​ศิษยาภิบาล​เช่น​กัน​ได้​มา​เยี่ยม​เรา. เขา​สังเกต​เห็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อาศัย​อยู่​ใกล้​บ้าน​เรา และ​เตือน​พวก​เรา​ไม่​ให้​ข้อง​แวะ​กับ​คน​เหล่า​นั้น. เขา​บอก​ว่า​พยาน​ฯ มี​ผี​สิง และ​ถ้า​เรา​ไม่​ระวัง เรา​ก็​อาจ​ถูก​ผี​เข้า​สิง​เช่น​เดียว​กัน. คำ​เตือน​เช่น​นั้น​ก่อ​ความ​ตื่น​ตระหนก​แก่​เรา​อย่าง​มาก​จน​เรา​ต้อง​ย้าย​ไป​อยู่​อีก​หมู่​บ้าน​หนึ่ง ที่​นั่น​เอม​มาส​ได้​งาน​ทำ​เป็น​พนักงาน​ขาย​ของ​ใน​ร้าน. แต่​ไม่​นาน​เรา​ก็​พบ​ว่า​ที่​อยู่​ใหม่​ของ​เรา​บังเอิญ​อยู่​ใกล้​บ้าน​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย!

แต่​ไม่​นาน ความ​รัก​อัน​ลึกซึ้ง​ที่​เอมมาส​มี​ต่อ​คัมภีร์​ไบเบิล กระตุ้น​เขา​ให้​พูด​คุย​กับ​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง. เมื่อ​คำ​ถาม​มาก​มาย​ของ​เขา​ได้​คำ​ตอบ​ที่​น่า​เชื่อถือ เอม​มาส​จึง​ตอบรับ​ข้อ​เสนอ​ของ​พยาน​ฯ ที่​จะ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. ที​แรก​เขา​ศึกษา​ในร้าน​ที่​เขา​ทำ​งาน​อยู่ แต่​ต่อ​มา การ​ศึกษา​ประจำ​สัปดาห์​ถูก​จัด​ขึ้น​ที่​บ้าน​ของ​เรา. พยาน​พระ​ยะโฮวา​มา​ที​ไร ฉัน​ก็​จะ​ออก​บ้าน​ทุก​ที เพราะ​รู้สึก​หวาด​กลัว​พวก​เขา. กระนั้น​ก็​ดี เอม​มาส​ยัง​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ต่อ ๆ ไป. ประมาณ​หก​เดือน​นับ​จาก​เริ่ม​ศึกษา เขา​ก็​รับ​บัพติสมา​ใน​เดือน​เมษายน 1951. แต่​เขา​ปิด​บัง​ไม่​ให้​ฉัน​รู้​เรื่อง​การ​รับ​บัพติสมา เพราะ​กลัว​ฉัน​จะ​ทิ้ง​เขา​ไป.

สาม​สัปดาห์​ที่​ยุ่งยาก

แต่​แล้ว​วัน​หนึ่ง เพื่อน​ของ​ฉัน​ชื่อ​เอลเลน คัด​ซา​เล​โร​แจ้ง​ข่าว​ให้​รู้​ว่า​สามี​ของ​ฉัน​ได้​รับ​บัพติสมา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​แล้ว. ฉัน​โกรธ​เป็น​ฟืน​เป็น​ไฟ​ที​เดียว! นับ​แต่​วัน​นั้น ฉัน​ไม่​ยอม​พูด​กับ​เขา ไม่​ทำ​อาหาร​ให้. นอก​จาก​นั้น ไม่​ตัก​น้ำ​มา​ต้ม​ให้​เขา​อาบ—ตาม​ธรรมเนียม​ซึ่ง​ถือ​ว่า​ภรรยา​พึง​ทำ​หน้า​ที่​เหล่า​นี้.

หลัง​จาก​อด​ทน​ต่อ​การ​ปฏิบัติ​แบบ​นี้​นาน​สาม​สัปดาห์ เอม​มาส​ขอร้อง​ฉัน​อย่าง​กรุณา​ให้​นั่ง​ลง​คุย​กัน แล้ว​เขา​ได้​แจง​เหตุ​ผล​ที่​เขา​ตัดสิน​ใจ​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เขา​อ่าน​และ​อธิบาย​ข้อ​คัมภีร์​หลาย​ข้อ เช่น 1 โกรินโธ 9:16. ฉัน​เกิด​แรง​บันดาล​ใจ​และ​รู้สึก​ว่า​ฉัน​น่า​จะ​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​ร่วม​งาน​เผยแพร่​ข่าว​ดี. ดัง​นั้น ฉัน​ตก​ลง​ใจ​เริ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เย็น​วัน​นั้น ฉัน​ทำ​อาหาร​แสน​อร่อย​สำหรับ​สามี​ฉัน ซึ่ง​ทำ​ให้​สามี​ที่​รัก​ยินดี​มาก.

แบ่ง​ปัน​ความ​จริง​ให้​ครอบครัว​และ​มิตร​สหาย

ฝ่าย​พ่อ​แม่​ของ​เรา​เมื่อ​ได้​ข่าว​ว่า​เรา​คบหา​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา พวก​เขา​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง. ครอบครัว​ของ​ฉัน​เขียน​จดหมาย​ห้าม​ไม่​ให้​เรา​ไป​เยี่ยม​เยือน​พวก​เขา​อีก​ต่อ​ไป. ปฏิกิริยา​โต้​ตอบ​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​เรา​เสียใจ​มาก แต่​เรา​วางใจ​คำ​สัญญา​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า เรา​จะ​ได้​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​และ​บิดา​มารดา​ฝ่าย​วิญญาณ​อีก​มาก​มาย.—มัดธาย 19:29.

ฉัน​ก้าว​หน้า​อย่าง​รวด​เร็ว​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​เดือน​สิงหาคม 1951 หลัง​สามี​ของ​ฉัน​แค่​สาม​เดือน​ครึ่ง. ฉัน​อด​ใจ​ไม่​ได้​ที่​จะ​บอก​ความ​จริง​แก่​เพื่อน​ที่​ชื่อ​เอลเลน. และ​น่า​ดีใจ​จริง ๆ เธอ​ตอบ​ตก​ลง​เมื่อ​ฉัน​เสนอ​จะ​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. เอลเลน​รับ​บัพติสมา​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1952 และ​เธอ​กลาย​มา​เป็น​น้อง​สาว​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ฉัน ซึ่ง​กระชับ​มิตรภาพ​ของ​เรา​ให้​แน่นแฟ้น​มาก​ขึ้น. ปัจจุบัน เรา​ยัง​คง​เป็น​เพื่อน​ที่​สนิทสนม​กัน​มาก​ที่​สุด.

ปี 1954 เอม​มาส​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ให้​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ฐานะ​ผู้​ดู​แล​หมวด. ตอน​นั้น​เรา​มี​ลูก​หก​คน​แล้ว. ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​สมัย​นั้น​ถ้า​ใคร​มี​ครอบครัว​ก็​จะ​เดิน​ทาง​เยี่ยม​ประชาคม​เป็น​เวลา​หนึ่ง​สัปดาห์ สัปดาห์​ถัด​ไป​จะ​อยู่​บ้าน​กับ​ภรรยา​และ​ลูก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​เอม​มาส​เดิน​ทาง เขา​ทำ​ให้​แน่​ใจ​เสมอ​ว่า​ฉัน​จะ​เป็น​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ใน​ครอบครัว. เรา​พยายาม​ทำ​ให้​การ​ศึกษา​กับ​ลูก ๆ เป็น​ที่​น่า​เพลิดเพลิน. นอก​จาก​นั้น เรา​พูด​ด้วย​ความ​เชื่อ​มั่น​สุด​หัวใจ​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก​ที่​พวก​เรา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต่อ​ความ​จริง​ใน​พระ​คำ​ของ​พระองค์ และ​เรา​ร่วม​ทำ​งาน​ประกาศ​เป็น​ครอบครัว. กำหนดการ​ฝึก​อบรม​ฝ่าย​วิญญาณ​แบบ​นี้​ได้​เสริม​ความ​เชื่อ​ของ​ลูก ๆ ให้​มั่นคง​และ​เป็น​การ​เตรียม​พวก​เขา​ให้​รับมือ​การ​ข่มเหง​ที่​พวก​เรา​จะ​ต้อง​ได้​เผชิญ.

การ​กดขี่​ข่มเหง​ทาง​ศาสนา​เริ่ม​ขึ้น

ปี 1964 มาลาวี​ได้​กลาย​เป็น​ประเทศ​เอกราช. เมื่อ​เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง​รู้​ฐานะ​ความ​เป็น​กลาง​ทาง​การ​เมือง​ของ​เรา เขา​พยายาม​บังคับ​ให้​เรา​ซื้อ​บัตร​สมาชิก​พรรค. * ด้วย​เหตุ​ที่​เอม​มาส​กับ​ฉัน​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น สมาชิก​สันนิบาต​เยาวชน​จึง​ได้​ทำลาย​ไร่​ข้าว​โพด​ของ​เรา—อาหาร​หลัก​สำหรับ​ปี​ต่อ​ไป. ขณะ​ที่​สมาชิก​สันนิบาต​เยาวชน​ตัด​ฟัน​ต้น​ข้าว​โพด พวก​เขา​ร้อง​เพลง “ผู้​ใด​ไม่​ยอม​ซื้อ​บัตร​เป็น​สมาชิก​ของคามู​ซู ตัว​ปลวก​จะ​รุม​กิน​ข้าว​โพด​อ่อน ๆ ของ​เขา และ​คน​เหล่า​นี้​จะ​ร้องไห้​เสียดาย​ข้าว​โพด.” กระนั้น ทั้ง ๆ ที่​สูญ​เสีย​อาหาร เรา​ไม่​สิ้น​หวัง. เรา​รู้​ซึ้ง​ใน​เรื่อง​การ​ใฝ่​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา. ด้วย​พระทัย​รักใคร่ พระองค์​ทรง​เสริม​กำลัง​เรา​ให้​เข้มแข็ง.—ฟิลิปปอย 4:12, 13.

กลาง​ดึก​คืน​หนึ่ง​ใน​เดือน​สิงหาคม 1964 ฉัน​อยู่​บ้าน​กับ​ลูก ๆ ตาม​ลำพัง. ขณะ​ที่​เรา​กำลัง​หลับ เสียง​ร้อง​เพลง​ที่​ดัง​มา​แต่​ไกล​ได้​ปลุก​ฉัน​ให้​ตื่น. พวก​กูเลวัมคูลู​นั่น​เอง สมาคม​ลับ​ที่​น่า​กลัว​ประกอบ​ด้วย​นัก​เต้น​รำ​ประจำ​เผ่า​ซึ่ง​จู่​โจม​ทำ​ร้าย​ประชาชน​และ​แสร้ง​แสดง​ตัว​เป็น​วิญญาณ​บรรพบุรุษ​ที่​ล่วง​ลับ​ไป​แล้ว. สันนิบาต​เยาวชน​ได้​ส่ง​พวก​กูเลวัมคูลู​จู่​โจม​พวก​เรา. ฉัน​ปลุก​ลูก ๆ ให้​ตื่น​อย่าง​รวด​เร็ว และ​เรา​หนี​เข้า​ป่า​ก่อน​ผู้​จู่​โจม​มา​ถึง​บ้าน.

จาก​ที่​กำบัง เรา​มอง​เห็น​แสง​โชติช่วง. พวก​กูเลวัมคูลู​จุด​ไฟ​เผา​บ้าน​หลังคา​มุง​จาก​ของ​เรา. บ้าน รวม​ทั้ง​ข้าวของ​ทุก​อย่าง​ของ​เรา​ถูก​เผา​เรียบ. ขณะ​ผู้​จู่​โจม​เดิน​ห่าง​ออก​ไป​จาก​ซาก​กอง​ไฟ เรา​ได้​ยิน​เขา​พูด​ว่า “เรา​ก่อ​ไฟ​ไว้​เป็น​อย่าง​ดี​เผื่อ​พยาน​ฯ จะ​ได้​ผิง​ไฟ​อุ่น​สบาย.” พวก​เรา​รู้สึก​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​มาก​เพียง​ใด​ที่​เรา​หนี​ออก​มา​ได้​โดย​ปลอด​ภัย! คน​เหล่า​นั้น​ได้​ทำลาย​ข้าวของ​สิ้น​ทุก​อย่าง​ก็​จริง แต่​ไม่​ได้​ทำลาย​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ของ​เรา​ที่​จะ​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​มาก​กว่า​จะ​วางใจ​มนุษย์.—บทเพลง​สรรเสริญ 118:8.

เรา​รู้​มา​ว่า​กูเลวัมคูลู​ยัง​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​ร้ายกาจ​แบบ​เดียว​กัน​นี้​กับ​ครอบครัว​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อีก​ห้า​ครอบครัว​ใน​ท้อง​ที่​ของ​เรา. พวก​เรา​เป็น​สุข​และ​รู้สึก​ขอบคุณ​สัก​เพียง​ใด​เมื่อ​พี่​น้อง​จาก​ประชาคม​ใกล้​เคียง​เข้า​มา​ช่วยเหลือ! พวก​เขา​ปลูก​บ้าน​ใหม่​ให้​เรา​และ​จัด​หา​เสบียง​อาหาร​ให้​เรา​มี​พอ​กิน​ไป​ได้​หลาย​สัปดาห์.

การ​ข่มเหง​ยิ่ง​รุนแรง​มาก​ขึ้น

ใน​เดือน​กันยายน 1967 การ​รณรงค์​ให้​ไล่​ต้อน​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั้ง​สิ้น​มา​รวม​กัน​ได้​แพร่​ไป​ทั่ว​ประเทศ. เพื่อ​จะ​หา​พวก​เรา​ให้​พบ พวก​เด็ก​หนุ่ม​ที่​บ้า​ระห่ำ—สมาชิก​สันนิบาต​เยาวชน​และ​หัวหอก​หนุ่ม​สาว​แห่ง​มาลาวี​ที่​ใช้​มีด​ยาว​เป็น​อาวุธ—บุก​เข้า​บ้าน​หนึ่ง​ต่อ​ไป​อีก​บ้าน​หนึ่ง​ค้น​หา​พยาน​ฯ. เมื่อ​เจอ​ตัว​แล้ว พวก​ผู้​ชาย​ได้​เสนอ​ขาย​บัตร​พรรค​การ​เมือง​แก่​พวก​เขา.

พอ​มา​ถึง​บ้าน​ของ​เรา เขา​ถาม​เรา​ว่า​มี​บัตร​พรรค​การ​เมือง​หรือ​ไม่. ฉัน​บอก​เขา​ว่า “ไม่​มี เพราะ​ไม่​ได้​ซื้อ. ตอน​นี้​จะ​ไม่​ซื้อ และ​ทั้ง​วัน​ข้าง​หน้า​ก็​จะ​ไม่​ซื้อ​ด้วย.” แล้ว​พวก​เขา​ก็​จับ​ตัว​ฉัน​กับ​สามี​พา​ไป​ยัง​สถานี​ตำรวจ​ใน​ท้อง​ที่ ไม่​ให้​โอกาส​เรา​เอา​อะไร​ติด​ตัว​ไป​เลย. เมื่อ​เด็ก ๆ กลับ​จาก​โรง​เรียน​มา​ถึง​บ้าน เขา​ไม่​เห็น​เรา​ก็​เริ่ม​วิตก​กังวล. ดี​ที่​จาก​นั้น​ไม่​นาน แดเนียล ลูก​ชาย​คน​โต​ก็​มา​ถึง​และ​รู้​เรื่อง​ที่​เกิด​ขึ้น​จาก​เพื่อน​บ้าน​คน​หนึ่ง เขา​จึง​พา​น้อง ๆ ตรง​ไป​ยัง​สถานี​ตำรวจ​ทันที. เด็ก ๆ มา​ทัน​เวลา​พอ​ดี​ที่​ตำรวจ​ให้​เรา​ขึ้น​รถ​บรรทุก​เพื่อ​จะ​นำ​เรา​ไป​ยัง​นคร​ลิลองเว. ลูก​ของ​เรา​จึง​ติด​รถ​ไป​ด้วย.

มี​การ​ตั้ง​ศาล​เตี้ย​ขึ้น ที่​สำนักงาน​ตำรวจ​แห่ง​ชาติ​ใน​เมือง​ลิลองเว. นาย​ตำรวจ​ถาม​เรา​ว่า “คุณ​ยัง​จะ​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​อยู่​ต่อ​ไป​ไหม?” เรา​ตอบ​ว่า “ใช่!” แม้​ว่า​การ​ตอบ​เช่น​นี้​ตาม​ปกติ​แล้ว​หมาย​ถึง​การ​ต้อง​โทษ​จำ​คุก​เจ็ด​ปี. สำหรับ​ผู้​ที่​ถือ​ว่า​อยู่​ใน​กลุ่ม “ผู้​นำ” องค์การ มี​โทษ​ติด​คุก​นาน 14 ปี.

หลัง​จาก​หนึ่ง​คืน​ผ่าน​ไป​โดย​ไม่​ได้​กิน​อาหาร​และ​ไม่​ได้​พักผ่อน ตำรวจ​ได้​นำ​เรา​ไป​ยัง​เรือน​จำ​มา​อูลา. ห้อง​ขัง​ใน​เรือน​จำ​แห่ง​นี้​แออัด​มาก จน​เรา​ไม่​สามารถ​แม้​แต่​จะ​หา​ที่​ล้ม​ตัว​นอน​บน​พื้น​ได้! ส้วม​สำหรับ​ผู้​ต้อง​ขัง​ที่​เบียด​เสียด​กัน​แน่น​ก็​เป็น​แค่​ถัง​ใบ​หนึ่ง​ใน​ห้อง​ขัง​แต่​ละ​ห้อง. อาหาร​ปัน​ส่วน​ก็​ขาด​แคลน​และ​ไม่​มี​รสชาติ. หลัง​จาก​สอง​สัปดาห์ เจ้าหน้าที่​เรือน​จำ​เห็น​ว่า​พวก​เรา​ไม่​มี​พิษ​ภัย จึง​อนุญาต​ให้​เรา​ใช้​สนาม​ออก​กำลัง​กาย​กลางแจ้ง​ของ​เรือน​จำ. เมื่อ​พวก​เรา​หลาย​คน​อยู่​รวม​กัน เรา​มี​โอกาส​หนุน​ใจ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​ทุก​วัน อีก​ทั้ง​ให้​คำ​พยาน​แก่​นัก​โทษ​คน​อื่น ๆ. พวก​เรา​ต่าง​ก็​รู้สึก​ประหลาด​ใจ ภาย​หลัง​ต้อง​โทษ​จำ​คุก​อยู่​ประมาณ​สาม​เดือน เรา​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว เนื่อง​จาก​นานา​ชาติ​พา​กัน​กดดัน​รัฐบาล​ประเทศ​มาลาวี.

นาย​ตำรวจ​ต่าง​ก็​เร่งเร้า​เรา​ให้​กลับ​ไป​ภูมิลำเนา​เดิม แต่​บอก​ด้วย​ว่า​งาน​ของ​พวก​เรา​ใน​ประเทศ​มาลาวี​ถูก​สั่ง​ห้าม​แล้ว. การ​ประกาศ​ห้าม​เริ่ม​ตั้ง​แต่​วัน​ที่ 20 ตุลาคม 1967 ถึง 12 สิงหาคม 1993—เกือบ 26 ปี​ที​เดียว. วัน​เวลา​ระหว่าง​นั้น​สุด​แสน​ยาก​ลำบาก กระนั้น อาศัย​การ​ช่วยเหลือ​ที่​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา เรา​จึง​สามารถ​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​ของ​เรา​ได้​อย่าง​เคร่งครัด.

ถูก​ไล่​ล่า​เยี่ยง​สัตว์

เดือน​ตุลาคม 1972 ประกาศ​ของ​รัฐบาล​ได้​จุด​ชนวน​การ​ข่มเหง​รุนแรง​ครั้ง​ใหม่. คำ​ประกาศ​นั้น​แจ้ง​การ​เลิก​จ้าง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทุก​คน​ทำ​งาน และ​ให้​ขับ​ไล่​พยาน​ฯ ทุก​คน​ออก​จาก​บ้าน​ที่​เขา​อาศัย​อยู่​ใน​ชนบท. เหล่า​พยาน​ฯ ถูก​ไล่​ล่า​เยี่ยง​สัตว์.

ตอน​นั้น ชาย​หนุ่ม​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ได้​มา​ที่​บ้าน​พร้อม​กับ​มี​ข่าว​ด่วน​ถึง​เอม​มาส​ทำนอง​นี้: ‘สันนิบาต​เยาวชน​กำลัง​วาง​แผน​ตัด​ศีรษะ​คุณ จะ​เอา​เสียบ​ไว้​กับ​ปลาย​ไม้​และ​นำ​ไป​ให้​หัวหน้า​หมู่​บ้าน.’ เอม​มาส​รีบ​หนี​ออก​จาก​บ้าน แต่​ก่อน​จาก​ไป เขา​เตรียม​การ​ให้​พวก​เรา​ตาม​ไป​โดย​เร็ว​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. ฉัน​รีบ​จัด​การ​ส่ง​เด็ก ๆ ไป​ก่อน. ครั้น​ฉัน​จวน​จะ​ออก​ไป​อยู่​แล้ว มี​สมาชิก​สันนิบาต​เยาวชน​สิบ​คน​มา​ค้น​หา​เอม​มาส. พวก​เขา​บุก​เข้า​มา​ใน​บ้าน​แต่​พบ​ว่า​เอม​มาส​หนี​ไป​แล้ว. ด้วย​ความ​โกรธ พวก​เขา​ลาก​ตัว​ฉัน​เข้า​ไป​ใน​ไร่​อ้อย​ใกล้​บ้าน รุม​กัน​เตะ​และ​ตี​ฉัน​ด้วย​ลำ​อ้อย. แล้ว​พวก​เขา​ก็​ปล่อย​ฉัน โดย​คิด​ว่า​ฉัน​ตาย​แล้ว. หลัง​ฟื้น​จาก​สลบ ฉัน​คลาน​กลับ​บ้าน.

คืน​นั้น ท่ามกลาง​ความ​มืด เอม​มาส​เสี่ยง​ชีวิต​กลับ​มา​ที่​บ้าน​เพื่อ​ตาม​หา​ฉัน. ครั้น​เห็น​ฉัน​ถูก​ตี​จน​บอบช้ำ​เต็ม​ที เอม​มาส​กับ​เพื่อน​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​รถยนต์​จึง​ค่อย ๆ ยก​ฉัน​ใส่​รถ. แล้ว​เรา​ก็​ขับ​รถ​ไป​จน​ถึง​บ้าน​ของ​พี่​น้อง​ใน​นคร​ลิลองเว ที่​นั่น ฉัน​ค่อย ๆ ฟื้น​ตัว​หาย​เจ็บ​และ​เอม​มาส​ก็​เริ่ม​วาง​แผน​เตรียม​หลบ​หนี​ออก​นอก​ประเทศ.

ผู้​ลี้​ภัย​ไม่​มี​ที่​จะ​ไป

ดี​เนส ลูก​สาว​ของ​เรา​พร้อม​ด้วย​สามี​มี​รถ​บรรทุก​ใหญ่​คัน​หนึ่ง​หนัก​ห้า​ตัน. เขา​ได้​จ้าง​คน​ขับ​รถ​ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​เคย​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​หัวหอก​หนุ่ม​สาว​แห่ง​มาลาวี แต่​เขา​เกิด​ความ​สงสาร​และ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ที่​เรา​อยู่​ใน​สภาพการณ์​อัน​เลว​ร้าย​เช่น​นั้น. เขา​ได้​อาสา​ช่วย​เรา​และ​พยาน​ฯ อีก​หลาย​คน. ระหว่าง​ช่วง​เวลา​หลาย​คืน คน​ขับ​รถ​ได้​ไป​รับ​พยาน​ฯ จาก​ที่​หลบ​ซ่อน​ตาม​จุด​ที่​นัด​หมาย​กัน. จาก​นั้น เขา​ก็​จะ​สวม​เครื่อง​แบบ​ของ​กลุ่ม​หัวหอก​หนุ่ม​สาว​แห่ง​มาลาวี แล้ว​ขับ​รถ​บรรทุก​ผู้​ลี้​ภัย​เต็ม​คัน​ผ่าน​ด่าน​ตรวจ​ของ​ตำรวจ​ไป​ได้​หลาย​ด่าน. เขา​เสี่ยง​มาก​ที่​ช่วย​พยาน​ฯ หลาย​ร้อย​คน​ข้าม​ชายแดน​สู่​ประเทศ​แซมเบีย.

ไม่​กี่​เดือน​หลัง​จาก​นั้น ทาง​การ​แซมเบีย​ได้​ส่ง​พวก​เรา​กลับ​มาลาวี​ถิ่น​เดิม ถึง​กระนั้น เรา​ไม่​สามารถ​กลับ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​หมู่​บ้าน​ของ​เรา​ได้. สมบัติ​ข้าวของ​ทุก​อย่าง​ที่​เรา​ละ​ไว้​ถูก​ขโมย​ไป​หมด. แม้​แต่​แผ่น​สังกะสี​มุง​หลังคา​บ้าน​ก็​ถูก​รื้อ​เอา​ไป. เมื่อ​ไม่​มี​ที่​ไหน​ปลอด​ภัย เรา​จึง​หนี​ไป​โมซัมบิก​และ​อาศัย​อยู่​ใน​ค่าย​ลี้​ภัย​มลังเงนิ​สอง​ปี​ครึ่ง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​เดือน​มิถุนายน 1975 รัฐบาล​ชุด​ใหม่​ของ​โมซัมบิก​สั่ง​ปิด​ค่าย​และบังคับ​พวก​เรา​ให้​กลับ​ประเทศ​มาลาวี ซึ่ง​สำหรับ​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​แล้ว​สถานการณ์​ก็​ไม่​ได้​เปลี่ยน​แปลง​แต่​อย่าง​ใด. พวก​เรา​ไม่​มี​ทาง​เลือก เรา​จำ​ต้อง​หนี​เข้า​ประเทศ​แซมเบีย​เป็น​หน​ที่​สอง. ที่​นั่น​เรา​ไป​ถึง​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย​ชิกูมูคีเร.

สอง​เดือน​ต่อ​มา ขบวน​รถ​โดยสาร​และ​รถ​ทหาร​ได้​มา​จอด​ตาม​แนว​ถนน​สาย​หลัก และ​เหล่า​ทหาร​แซมเบีย​หลาย​ร้อย​นาย​พร้อม​ด้วย​อาวุธ​ครบ​มือ​ได้​บุกรุก​เข้า​ไป​ใน​ค่าย. ทหาร​เหล่า​นั้น​บอก​เรา​ว่า​ได้​มี​การ​สร้าง​บ้าน​เรือน​ดี ๆ ไว้​ให้​เรา​แล้ว และ​พวก​เขา​จัด​เตรียม​รถ​ขน​ส่ง​พร้อม​จะ​รับ​เรา​ไป​ที่​นั่น. เรา​รู้​ว่า​ที่​เขา​พูด​นั้น​ไม่​เป็น​ความ​จริง. พวก​ทหาร​ลง​มือ​ผลัก​ผู้​คน​ขึ้น​รถ​บรรทุก​และ​รถ​โดยสาร และ​ผู้​คน​แตก​ตื่น​กัน​กาหล​อลหม่าน. ทหาร​เริ่ม​ยิง​ปืน​กล​ขึ้น​ฟ้า พี่​น้อง​ของ​เรา​นับ​พัน ๆ คน​ทั้ง​ชาย​และ​หญิง​ตื่น​กลัว​วิ่ง​หนี​กระเจิดกระเจิง.

ท่ามกลาง​ความ​สับสน​วุ่นวาย เอม​มาส​บังเอิญ​ถูก​ชน​ล้ม​และ​โดน​เหยียบ แต่​พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ฉุด​เขา​ให้​ลุก​ขึ้น​มา​ได้. เรา​คิด​ว่า​นี่​เป็น​ตอน​เริ่ม​ต้น​ของ​ความ​ทุกข์​ลำบาก​ครั้ง​ใหญ่. พวก​ผู้​ลี้​ภัย​ทุก​คน​ต่าง​มุ่ง​หน้า​วิ่ง​กลับ​ประเทศ​มาลาวี. ระหว่าง​ที่​ยัง​ไป​ไม่​พ้น​แซมเบีย เรา​ได้​มา​ถึง​แม่น้ำ และ​พี่​น้อง​ชาย​จับ​มือ​กัน​เป็น​เหมือน​โซ่​ช่วย​ทุก​คน​ให้​ข้าม​น้ำ​อย่าง​ปลอด​ภัย. แต่​อีก​ฟาก​หนึ่ง​ของ​แม่น้ำ ทหาร​แซมเบีย​ไล่​ต้อน​และ​บังคับ​พวก​เรา​ให้​กลับ​มาลาวี​ภูมิลำเนา​เดิม.

ครั้น​กลับ​มา​ถึง​มาลาวี​อีก​ครั้ง​หนึ่ง เรา​ไม่​รู้​จะ​ไป​ที่​ไหน​ต่อ. เรา​ได้​รู้​ว่า ณ ที่​ชุมนุม​ทาง​การ​เมือง​และ​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ได้​มี​การ​ออก​คำ​เตือน​ให้​ประชาชน​ระแวด​ระวัง “คน​แปลก​หน้า” ที่​เข้า​มา​ใน​หมู่​บ้าน​ของ​ตน ซึ่ง​หมาย​ถึง​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ฉะนั้น พวก​เรา​ตัดสิน​ใจ​ไป​อยู่​เมือง​หลวง ซึ่ง​คง​จะ​ไม่​เป็น​ที่​สังเกต​เห็น​ได้​ง่าย​เหมือน​อยู่​ใน​ชนบท. จาก​นั้น​เรา​ก็​เช่า​บ้าน​หลัง​เล็ก ๆ อยู่ และ​เอมมาส​กลับ​เข้า​สู่​งาน​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ เป็น​การ​ลับ​ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง.

เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ของ​ประชาคม

อะไร​ได้​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์? การ​ประชุม​ต่าง ๆ ของ​ประชาคม! ใน​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย​แห่ง​โมซัมบิก​และ​แซมเบีย เรา​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ต่าง ๆ อย่าง​เป็น​อิสระ​ใน​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ที่​เรียบ​ง่าย หลังคา​มุง​จาก. การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​ใน​มาลาวี​มี​อันตราย​และ​ยาก​ลำบาก แต่​ก็​ได้​ผล​คุ้มค่า​เสมอ. เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​การ​ตรวจ​จับ เรา​มัก​จัด​การ​ประชุม​ตอน​ดึก ณ ที่​ห่าง​จาก​ทาง​สัญจร. เพื่อ​การ​พบ​ปะ​ชุมนุม​ของ​เรา​จะ​ได้​ไม่​เป็น​ที่​สังเกต เรา​จึง​ไม่​ปรบ​มือ​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ผู้​บรรยาย เรา​เพียง​แต่​ใช้​สอง​ฝ่า​มือ​ถู​กัน.

การ​ให้​รับ​บัพติสมา​ก็​ทำ​กัน​ใน​ยาม​ดึก. อบิยุด​ลูก​ชาย​ของ​เรา​ได้​รับ​บัพติสมา ณ โอกาส​หนึ่ง​ดัง​กล่าว. ภาย​หลัง​การ​บรรยาย​เรื่อง​บัพติสมา อบิยุด​และ​ผู้​ประสงค์​จะ​รับ​บัพติสมา​คน​อื่น ๆ ก็​ได้​เดิน​ฝ่า​ความ​มืด​ไป​ยัง​ที่​ลุ่ม​มี​น้ำ​ขัง และ​ที่​นั่น​มี​บ่อ​ตื้น ๆ ซึ่ง​ขุด​เตรียม​ไว้​แล้ว. พวก​เขา​รับ​บัพติสมา​ที่​นั่น.

บ้าน​เล็ก​ของ​เรา​เป็น​แหล่ง​พักพิง​ที่​ปลอด​ภัย

ปี​ท้าย ๆ ของ​การ​สั่ง​ห้าม​โดย​รัฐบาล บ้าน​ของ​เรา​ใน​ลิลองเว​ถูก​ใช้​เป็น​สถาน​คุ้ม​ภัย. ไปรษณียภัณฑ์​และ​สรรพหนังสือ​จาก​สำนักงาน​สาขา​แซมเบีย​ถูก​ลอบ​นำ​เข้า​มา​ส่ง​ถึง​บ้าน​ของ​เรา. พี่​น้อง​ชาย​หลาย​คน​ซึ่ง​เป็น​คน​นำ​ส่ง​หนังสือ​จะ​ถีบ​จักรยาน​มา​ที่​บ้าน​รับ​เอา​ของ​ที่​ส่ง​จาก​แซมเบีย จาก​นั้น​ก็​นำ​จดหมาย​และ​สรรพหนังสือ​ไป​ส่ง​ถึง​ทุก​ภูมิภาค​ทั่ว​มาลาวี. วารสาร​หอสังเกตการณ์ ที่​นำ​ไป​แจก​จ่าย​นั้น​เป็น​เล่ม​บาง ๆ เนื่อง​จาก​พิมพ์​ด้วย​กระดาษ​บาง​เบา​ชนิด​เดียว​กัน​กับ​ที่​ใช้​พิมพ์​พระ​คัมภีร์. ทั้ง​นี้​จึง​ทำ​ให้​คน​นำ​ส่ง​หนังสือ​สามารถ​ขน​ส่ง​วารสาร​ได้​มาก​เป็น​สอง​เท่า​ของ​วารสาร​ที่​พิมพ์​ด้วย​กระดาษ​ธรรมดา. นอก​จาก​นั้น คน​นำ​ส่ง​หนังสือ​ได้​นำ​ส่ง​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ขนาด​จิ๋ว ซึ่ง​มี​เฉพาะ​บทความ​ที่​ใช้​สำหรับ​ศึกษา​เท่า​นั้น. วารสาร​ขนาด​จิ๋ว​แบบ​นี้​ง่าย​แก่​การ​พับ​ซ่อน​ใส่​ใน​กระเป๋า​เสื้อ​เชิ้ต​ได้​มิดชิด เพราะ​เป็น​เพียง​กระดาษ​แผ่น​เดียว.

คน​นำ​ส่ง​หนังสือ​เหล่า​นี้​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​เสีย​อิสรภาพ​และ​ชีวิต​เมื่อ​เขา​ถีบ​รถ​ลัด​ทาง​ไป​ตาม​ป่า​ละเมาะ บาง​ครั้ง​ใน​ความ​มืด​ตอน​กลางคืน พร้อม​กับ​หนังสือ​ที่​ถูก​สั่ง​ห้าม​หลาย​กล่อง​ตั้ง​เป็น​กอง​บน​รถ​จักรยาน. ทั้ง ๆ ที่​ตำรวจ​ตั้ง​ด่าน​สกัด​และ​อันตราย​อื่น ๆ พวก​เขา​ก็​ยัง​คง​เดิน​ทาง​หลาย​ร้อย​กิโลเมตร​ฝ่า​สภาพ​ฝน​ฟ้า​อากาศ​ทุก​รูป​แบบ​เพื่อ​นำ​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ไป​ส่ง​ให้​พวก​พี่​น้อง. คน​นำ​ส่ง​หนังสือ​ซึ่ง​เป็น​ที่​รัก​เหล่า​นั้น​ช่าง​กล้า​หาญ​เสีย​จริง ๆ!

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใฝ่​พระทัย​ดู​แล​หญิง​ม่าย

เดือน​ธันวาคม 1992 ขณะ​บรรยาย​ใน​ช่วง​เยี่ยม​หมวด เอม​มาส​เกิด​อาการ​ของ​โรค​เส้น​เลือด​สมอง. หลัง​จาก​นั้น เขา​ก็​พูด​ไม่​ได้. ไม่​นาน​ต่อ​มา โรค​เส้น​เลือด​สมอง​หวน​กลับ​เป็น​ครั้ง​ที่​สอง ทำ​ให้​ร่าง​กาย​ซีก​หนึ่ง​เป็น​อัมพาต. ถึง​แม้​การ​รับมือ​กับ​สุขภาพ​ที่​เสื่อม​โทรม​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​เขา แต่​การ​เกื้อ​หนุน​ด้วย​ความ​รัก​จาก​ประชาคม​ของ​เรา​ทำ​ให้​ฉัน​คลาย​ความ​รู้สึก​สิ้น​หวัง. ฉัน​สามารถ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​สามี​ได้​ที่​บ้าน​กระทั่ง​เขา​เสีย​ชีวิต​ใน​เดือน​พฤศจิกายน 1994 เมื่อ​อายุ 76 ปี. เรา​แต่งงาน​อยู่​ด้วย​กัน​นาน​ถึง 57 ปี และ​เอม​มาส​ทัน​ได้​เห็น​การ​ยก​เลิก​คำ​สั่ง​ห้าม​ก่อน​เขา​สิ้น​ชีวิต. แต่​ฉัน​ยัง​คง​เศร้า​เสียใจ​ไม่​วาย​ใน​การ​จาก​ไป​ของ​เพื่อน​ผู้​ซื่อ​สัตย์.

หลัง​จาก​ฉัน​เป็น​ม่าย ลูก​เขย​ของ​ฉัน​ถือ​เป็น​ภาระ​รับผิดชอบ​ดู​แล​การ​กิน​อยู่​ของ​ฉัน​ด้วย ไม่​ใช่​เฉพาะ​ภรรยา​ของ​เขา​และ​ลูก​ห้า​คน​เท่า​นั้น. น่า​เศร้า เขา​ป่วย​ได้​ไม่​นาน​ก็​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​เดือน​สิงหาคม ปี 2000. ลูก​สาว​ฉัน​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​เรา​จะ​มี​อยู่​มี​กิน? อีก​ครั้ง​หนึ่ง ฉัน​ประจักษ์​แก่​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใฝ่​พระทัย​พวก​เรา และ​พระองค์​ทรง​เป็น “พระ​บิดา​ของ​เด็ก​ชาย​กำพร้า​พ่อ​และ​ผู้​พิพากษา​ของ​หญิง​ม่าย” จริง ๆ. (บทเพลง​สรรเสริญ 68:5, ล.ม.) พระ​ยะโฮวา โดย​ทาง​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก​ได้​จัด​หา​บ้าน​หลัง​ใหม่​ที่​สวย​งาม​ให้​เรา. เป็น​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? เมื่อ​บรรดา​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ใน​ประชาคม​มอง​เห็น​ความ​ทุกข์​เดือดร้อน​ของ​เรา ภาย​ใน​เวลา​เพียง​ห้า​สัปดาห์ พวก​เขา​ปลูก​บ้าน​ให้​เรา​อยู่! พี่​น้อง​ชาย​ซึ่ง​เป็น​ช่าง​ก่อ​อิฐ​จาก​ประชาคม​อื่น​ได้​มา​ช่วย. เรา​ตื้นตัน​ใจ​มาก​ที่​พี่​น้อง​พยาน​ฯ แสดง​ความ​รัก​และ​ความ​กรุณา​เช่น​นี้ เพราะ​บ้าน​ที่​เขา​ปลูก​ให้​เรา​ดี​กว่า​บ้าน​ที่​พวก​เขา​หลาย​คน​อยู่​กัน. การ​แสดง​ความ​รัก​เช่น​นี้​โดย​ประชาคม​เป็น​คำ​พยาน​อย่าง​ดี​ใน​ละแวก​บ้าน​ของ​เรา. เมื่อ​เข้า​นอน​ตอน​กลางคืน ฉัน​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​ได้​อยู่​ใน​อุทยาน​แล้ว! จริง​อยู่ บ้าน​หลัง​ใหม่​ที่​สวย​งาม​ของ​เรา​สร้าง​ด้วย​อิฐ​และ​ปูน แต่​ดัง​ที่​หลาย​คน​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า จริง ๆ แล้ว​เป็น​บ้าน​ที่​สร้าง​ด้วย​ความ​รัก.—ฆะลาเตีย 6:10.

การ​ใฝ่​พระทัย​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ของ​พระ​ยะโฮวา

ถึง​แม้​บาง​ครั้ง​ฉัน​ตก​อยู่​ใน​ภาวะ​หดหู่​ซึมเศร้า​อย่าง​หนัก กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​เมตตา​เกื้อ​หนุน​ฉัน​เรื่อย​มา. ใน​จำนวน​ลูก​เก้า​คน​ของ​ฉัน เจ็ด​คน​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ และ​เวลา​นี้​ครอบครัว​ขยาย​ของ​ฉัน​รวม​ทั้ง​สิ้น​มี 123 คน. ฉัน​นึก​ขอบคุณ​อย่าง​แท้​จริง​ที่​ลูก​หลาน​ส่วน​ใหญ่​ยัง​คง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ซื่อ​สัตย์!

ตอน​นี้ อายุ​ฉัน 82 ปี​แล้ว ฉัน​รู้สึก​อิ่มเอิบ​เมื่อ​มอง​เห็น​สิ่ง​ที่​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​บันดาล​ให้​สำเร็จ​ผล​ใน​ประเทศ​มาลาวี. เฉพาะ​ช่วง​สี่​ปี​หลัง​นี้ ฉัน​เห็น​จำนวน​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​หนึ่ง​เป็น 600 กว่า​แห่ง. นอก​จาก​นั้น เวลา​นี้​เรา​มี​สำนักงาน​สาขา​หลัง​ใหม่​ใน​ลิลองเว และ​เรา​ชื่นชม​ยินดี​กับ​อาหาร​ชู​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ไหล​ล้น​โดย​ไม่​ถูก​กีด​กัน​หรือ​จำกัด​แต่​อย่าง​ใด. อัน​ที่​จริง ฉัน​รู้สึก​ว่า​ฉัน​ได้​ประสบ​แล้ว​ซึ่ง​ความ​สำเร็จ​เป็น​จริง​ตาม​คำ​สัญญา​ของ​พระเจ้า​ที่​ยะซายา 54:17 (ล.ม.) ซึ่ง​เรา​ได้​คำ​รับรอง​ดัง​นี้: “อาวุธ​ใด​ก็​ตาม​ที่​จะ​สร้าง​ขึ้น​ต่อ​สู้​เจ้า​จะ​ไม่​ประสบ​ผล​สำเร็จ.” หลัง​จาก​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มา​นาน​กว่า 50 ปี ฉัน​มั่น​ใจ​ได้​ที​เดียว ไม่​ว่า​เรา​อาจ​เผชิญ​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​ใด ๆ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใฝ่​พระทัย​ดู​แล​เรา​เสมอ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 17 เพื่อ​จะ​ได้​ข้อมูล​เพิ่ม​เกี่ยว​กับ​ประวัติ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​มาลาวี โปรด​ดู​หนังสือ​ประจำ​ปี​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ปี 1999 หน้า 149-223 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 24]

เอม​มาส สามี​ของ​ฉัน​รับ​บัพติสมา​เดือน​เมษายน 1951

[ภาพ​หน้า 26]

กลุ่ม​คน​นำ​ส่ง​หนังสือ​ที่​กล้า​หาญ

[ภาพ​หน้า 28]

บ้าน​ที่​สร้าง​ด้วย​ความ​รัก