ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วิธีเสริมสร้างชีวิตสมรสให้มั่นคง

วิธีเสริมสร้างชีวิตสมรสให้มั่นคง

วิธี​เสริม​สร้าง​ชีวิต​สมรส​ให้​มั่นคง

ขอ​นึก​ภาพ​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใน​สภาพ​ทรุดโทรม. สี​ที่​ทา​บ้าน​หลุด​ลอก, หลังคา​บ้าน​เสียหาย, และ​แม้​แต่​สนาม​หญ้า​ก็​ถูก​ปล่อย​ไว้​โดย​ไม่​มี​ใคร​ดู​แล. ปรากฏ​ชัด​ว่า บ้าน​หลัง​นี้​ได้​ทน​ฝน​ฟ้า​พายุ​มา​ตลอด​หลาย​ปี อีก​ทั้ง​ถูก​ปล่อย​ปละ​ละเลย. ควร​รื้อ​บ้าน​หลัง​นี้​ทิ้ง​ไหม? อาจ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ทำ​เช่น​นั้น. หาก​บ้าน​นั้น​มี​รากฐาน​แข็งแรง​และ​โครง​สร้าง​มั่นคง​แล้ว ก็​คง​จะ​ซ่อมแซม​ได้.

สภาพ​ของ​บ้าน​นั้น​เตือน​ให้​คุณ​นึก​ถึง​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ไหม? ตลอด​หลาย​ปี สิ่ง​ที่​เป็น​เสมือน​พายุ​ร้ายแรง​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ต่อ​สาย​สัมพันธ์​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ. อาจ​จะ​เป็น​คุณ​หรือ​ไม่​ก็​ทั้ง​คู่​ที่​ละเลย​ชีวิต​สมรส​ไป​บ้าง. คุณ​อาจ​รู้สึก​เหมือน​แซนดี. หลัง​จาก​แต่งงาน 15 ปี เธอ​กล่าว​ว่า “เรา​ไม่​มี​อะไร​เหมือน​กัน​เลย ยก​เว้น​สิ่ง​เดียว​ที่​เรา​มี​เหมือน​กัน​คือ​เรา​แต่งงาน​กัน. และ​นั่น​ไม่​พอ​หรอก.”

ถึง​แม้​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​มา​ถึง​ขั้น​ดัง​กล่าว ก็​อย่า​ด่วน​สรุป​ว่า​น่า​จะ​ยุติ​ชีวิต​สมรส​นี้​เสีย​ที. อาจ​เป็น​ไป​ได้​ว่า​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​จะ​กลับ​ดี​ดัง​เดิม​ได้. ส่วน​ใหญ่​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​คุณ​กับ​คู่​สมรส​ตก​ลง​ใจ​ที่​จะ​ผูก​มัด​กัน​แค่​ไหน. ข้อ​ผูก​มัด​สามารถ​ช่วย​ให้​ชีวิต​สมรส​มั่นคง​ใน​คราว​ที่​มี​ความ​ยาก​ลำบาก. แต่​ข้อ​ผูก​มัด​คือ​อะไร? และ​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​ช่วย​คุณ​ได้​อย่าง​ไร​ให้​เสริม​สร้าง​ข้อ​ผูก​มัด​นี้​ให้​แน่นแฟ้น?

ข้อ​ผูก​มัด​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​สำนึก​ใน​หน้า​ที่

ข้อ​ผูก​มัด​พาด​พิง​ถึง​สภาพ​ที่​มี​พันธะ​หรือ​รู้สึก​ว่า​ถูก​บังคับ. บาง​ครั้ง คำ​ดัง​กล่าว​นำ​มา​ใช้​กับ​สิ่ง​ที่​เป็น​นามธรรม เช่น ข้อ​ตก​ลง​ใน​ธุรกิจ. ตัว​อย่าง​เช่น ช่าง​ก่อ​สร้าง​อาจ​รู้สึก​ว่า​มี​พันธะ​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​สัญญา​ที่​เขา​เซ็น​ชื่อ​เพื่อ​จะ​สร้าง​บ้าน. เขา​อาจ​ไม่​รู้​จัก​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​ผู้​ที่​มอบหมาย​งาน. ถึง​กระนั้น เขา​รู้สึก​ว่า​ต้อง​ปฏิบัติ​ตาม​สัญญา​ที่​เขา​ทำ​นั้น.

ถึง​แม้​ชีวิต​สมรส​ไม่​ใช่​การ​ดำเนิน​การ​ธุรกิจ​ที่​ไร้​ความ​รู้สึก แต่​ข้อ​ผูก​มัด​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย​ก็​รวม​ไป​ถึง​ความ​สำนึก​ใน​หน้า​ที่​หรือ​พันธะ​รับผิดชอบ. คุณ​กับ​คู่​สมรส​คง​ได้​ปฏิญาณ​อย่าง​จริงจัง​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระเจ้า​และ​ต่อ​หน้า​คน​อื่น​ที่​จะ​อยู่​ร่วม​กัน ไม่​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ก็​ตาม. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “พระ​ผู้​ทรง​สร้าง​มนุษย์​แต่​เดิม​ได้​ทรง​สร้าง​ให้​เป็น​ชาย​และ​หญิง, และ​ตรัส​ว่า, ‘เพราะ​เหตุ​นั้น​บุรุษ​จึง​ต้อง​ละ​บิดา​มารดา​ของ​ตน​ไป​ผูก​พัน​อยู่​กับ​ภรรยา.’” พระ​เยซู​ตรัส​เสริม​อีก​ว่า “ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ผูก​พัน​กัน​แล้ว อย่า​ให้​มนุษย์​ทำ​ให้​พราก​จากกัน​เลย.” (มัดธาย 19:4-6) ดัง​นั้น​แล้ว เมื่อ​เกิด​ปัญหา​ขึ้น คุณ​กับ​คู่​สมรส​น่า​จะ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​นับถือ​ข้อ​ผูก​มัด​ที่​คุณ​ทำ​ต่อ​กัน​และ​กัน. * ภรรยา​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ต่อ​เมื่อ​เรา​เลิก​คิด​ว่า​การ​หย่า​เป็น​ทาง​เลือก​แล้ว​เท่า​นั้น สภาพการณ์​จึง​เริ่ม​ดี​ขึ้น.”

แต่​ข้อ​ผูก​มัด​ใน​ชีวิต​สมรส​ใช่​ว่า​มี​แค่​การ​สำนึก​ใน​หน้า​ที่. มี​อะไร​อื่น​อีก​ที่​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย?

การ​ร่วม​มือ​กัน​เสริม​สร้าง ข้อ​ผูก​มัด​ใน​ชีวิต​สมรส​ให้​แน่นแฟ้น

ข้อ​ผูก​มัด​สำหรับ​ชีวิต​สมรส​มิ​ได้​หมายความ​ว่า​คู่​สมรส​จะ​ไม่​มี​วัน​ขัด​แย้ง​กัน​เลย. เมื่อ​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​ขึ้น น่า​จะ​มี​ความ​ปรารถนา​อย่าง​จริงจัง​ที่​จะ​แก้ไข​เรื่อง​นั้น ไม่​เพียง​เนื่อง​จาก​คำ​ปฏิญาณ​อัน​เป็น​พันธะ​เท่า​นั้น แต่​เนื่อง​จาก​ผูก​พัน​กัน​ด้าน​ความ​รู้สึก. พระ​เยซู​ตรัส​เกี่ยว​กับ​สามี​และ​ภรรยา​ว่า “เขา​จึง​ไม่​เป็น​สอง​ต่อ​ไป, แต่​เป็น​เนื้อ​อัน​เดียว​กัน.”

การ​เป็น “เนื้อ​อัน​เดียว​กัน” กับ​คู่​ของ​คุณ​หมายความ​เช่น​ไร? อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “สามี​ควร​จะ​รัก​ภรรยา​ของ​ตน​เหมือน​รัก​กาย​ของ​ตน​เอง.” (เอเฟโซ 5:28, 29) ดัง​นั้น​แล้ว ส่วน​หนึ่ง การ​เป็น “เนื้อ​อัน​เดียว​กัน” หมายความ​ว่า คุณ​รู้สึก​ห่วงใย​สวัสดิภาพ​ของ​คู่​สมรส​เหมือน​ที่​ห่วง​ตัว​เอง. คน​ที่​สมรส​แล้ว​ต้อง​เปลี่ยน​จาก​ความ​คิด​ที่​ว่า “ของ​ฉัน” มา​เป็น “ของ​เรา” จาก “ฉัน” มา​เป็น “เรา.” ที่​ปรึกษา​คน​หนึ่ง​เขียน​ว่า “ทั้ง​คู่​ต้อง​เลิก​คิด​และ​เลิก​รู้สึก ประหนึ่ง​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​โสด แล้ว​ให้​คิด​และ​รู้สึก ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ที่​แต่งงาน​แล้ว.”

คุณ​กับ​คู่​สมรส “คิด​และ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ที่​แต่งงาน​แล้ว” ไหม? เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​อยู่​ด้วย​กัน​มา​หลาย​ปี​แต่​ก็​ยัง​ไม่​เป็น “เนื้อ​อัน​เดียว​กัน” ใน​ความหมาย​นั้น. ใช่​แล้ว นั่น​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้ แต่​หนังสือ​การ​ให้​เวลา​ช่วย​แก้​ปัญหา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ชีวิต​สมรส​หมาย​ถึง​การ​ร่วม​ชีวิต​กัน และ​ยิ่ง​คน​สอง​คน​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ด้วย​กัน​มาก​เท่า​ใด ชีวิต​สมรส​ของ​เขา​ก็​จะ​ยิ่ง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น.”

คู่​สมรส​ที่​ไม่​มี​ความ​สุข​บาง​ราย​อยู่​ด้วย​กัน​เพราะ​เห็น​แก่​ลูก​หรือ​เพราะ​ความ​มั่นคง​ทาง​การ​เงิน. บาง​คู่​ทน​อยู่​ด้วย​กัน​เนื่อง​จาก​เขา​มี​ข้อ​คัดค้าน​อย่าง​เคร่งครัด​ทาง​ศีลธรรม​ต่อ​การ​หย่า หรือ​เพราะ​เขา​กลัว​ว่า​คน​อื่น​จะ​คิด​อย่าง​ไร​หาก​เขา​แยก​กัน​อยู่​หรือ​หย่าร้าง. ขณะ​ที่​เป็น​เรื่อง​น่า​ชมเชย​ที่​ชีวิต​สมรส​ของ​คน​เหล่า​นี้​ยืน​นาน แต่​ก็​อย่า​ลืม​ว่า​เป้าหมาย​ของ​คุณ​น่า​จะ​เป็น​การ​มี​สาย​สัมพันธ์​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก ไม่​ใช่​แค่​ความ​สัมพันธ์​ที่​ยืน​นาน​เท่า​นั้น.

การ​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​ส่ง​เสริม​ข้อ​ผูก​มัด​ใน​ชีวิต​สมรส

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ล่วง​หน้า​ไว้​ว่า ระหว่าง “สมัย​สุด​ท้าย” ผู้​คน​จะ “เป็น​คน​รัก​ตัว​เอง.” (2 ติโมเธียว 3:1, 2, ล.ม.) จริง​ตาม​คำ​พยากรณ์​นั้น ทุก​วัน​นี้​ดู​เหมือน​มี​การ​เน้น​หนัก​เรื่องการ​บูชา​ตัว​เอง. ใน​ชีวิต​สมรส​หลาย​ราย การ​ทุ่มเท​ตัว​ให้​โดย​ไม่​มี​การ​รับประกัน​ว่า​จะ​ได้​รับ​การ​ตอบ​สนอง​อย่าง​เดียว​กัน​กลับ​มา ถูก​มอง​ว่า​เป็น​เครื่องหมาย​แสดง​ความ​อ่อนแอ. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​ประสบ​ผล​สำเร็จ คู่​สมรส​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​แสดง​น้ำใจ​เสีย​สละ​ตัว​เอง. คุณ​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

แทน​ที่​จะ​ครุ่น​คิด​ถึง​คำ​ถาม​ที่​ว่า ‘ฉัน​ได้​ประโยชน์​อะไร​จาก​ความ​สัมพันธ์​เช่น​นี้?’ จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​ทำ​อะไร​เป็น​ส่วน​ตัว​เพื่อ​เสริม​สร้าง​ชีวิต​สมรส​ให้​มั่นคง?’ คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​คริสเตียน​ควร​จะ “คอย​ดู​ด้วย​ความ​สนใจ​เป็น​ส่วน​ตัว​ไม่​เพียง​เรื่อง​ของ​ตน​เอง​เท่า​นั้น แต่​สนใจ​เป็น​ส่วน​ตัว​ใน​เรื่อง​ของ​คน​อื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:4, ล.ม.) ขณะ​ที่​ไตร่ตรอง​ดู​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ข้อ​นี้ จง​วิเคราะห์​การ​กระทำ​ของ​คุณ​ระหว่าง​สัปดาห์​ที่​ผ่าน​มา. บ่อย​แค่​ไหน​ที่​คุณ​แสดง​ความ​กรุณา​ใน​การ​ปฏิบัติ​เพื่อ​ผล​ประโยชน์​ของ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​เท่า​นั้น? เมื่อ​คู่​ของ​คุณ​ต้องการ​จะ​พูด คุณ​รับ​ฟัง​ไหม—แม้​คุณ​รู้สึก​ว่า​ไม่​อยาก​ฟัง​เลย? คุณ​มี​ส่วน​ร่วม​มาก​น้อย​แค่​ไหน​ใน​กิจกรรม​ที่​คู่​ของ​คุณ​สนใจ แต่​คุณ​ไม่​ค่อย​สนใจ?

เมื่อ​ประเมิน​ดู​คำ​ถาม​ดัง​กล่าว อย่า​กังวล​ว่า​การ​กระทำ​ที่​ดี​ของ​คุณ​จะ​ไม่​มี​ใคร​สังเกต​หรือ​ไม่​ได้​รับ​ผล​ตอบ​แทน. หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ใน​สาย​สัมพันธ์​ส่วน​ใหญ่​นั้น การ​กระทำ​ใน​ทาง​ที่​ดี​ย่อม​ได้​รับ​การ​ตอบ​สนอง​ใน​ทาง​ที่​ดี ดัง​นั้น จง​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​ที่​จะ​สนับสนุน​คู่​ของ​คุณ​ให้​ลง​มือ​กระทำ​ใน​ทาง​สร้าง​เสริม โดย​ที่​ตัว​คุณ​เอง​ลง​มือ​ทำ​เช่น​นั้น​มาก​กว่า.” การ​กระทำ​ด้วย​ความ​เสีย​สละ​เสริม​สร้าง​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ให้​มั่นคง เพราะ​การ​ทำ​เช่น​นั้น​แสดง​ว่า​คุณ​ถือ​ว่า​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​มี​ค่า​และ​ต้องการ​รักษา​ไว้.

ทัศนะ​ที่​ว่า​ชีวิต​สมรส​ควร​จะ​ยั่งยืน​นาน​เป็น​สิ่ง​สำคัญ

พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ถือ​ว่า​ความ​ภักดี​มี​ค่า. ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “พระองค์​จะ​ทรง​ปฏิบัติ​ด้วย​ความ​ภักดี​ต่อ​ผู้​ที่​ภักดี.” (2 ซามูเอล 22:26, ล.ม.) การ​รักษา​ความ​ภักดี​ต่อ​พระเจ้า​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​รักษา​ความ​ภักดี​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​เรื่อง​การ​สมรส​ที่​พระองค์​ได้​ทรง​ตั้ง​ไว้.—เยเนซิศ 2:24.

หาก​คุณ​กับ​คู่​สมรส​ภักดี​ต่อ​กัน​และ​กัน คุณ​ก็​จะ​มี​ความ​สำนึก​ใน​เรื่อง​การ​ใช้​ชีวิต​ร่วม​กัน​ตลอด​ไป. เมื่อ​คุณ​คิด​ถึง​เวลา​ข้าง​หน้า​อีก​หลาย​เดือน, หลาย​ปี, และ​หลาย​สิบ​ปี คุณ​ก็​จะ​ยัง​เห็น​ภาพ​คุณ​ทั้ง​สอง​อยู่​ด้วย​กัน. ความ​คิด​ที่​ว่า​คุณ​ไม่​ได้​แต่งงาน​กัน​เป็น​เรื่อง​เหลือ​คิด​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​คุณ และ​ทัศนะ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ความ​สัมพันธ์​ของ​คุณ​มั่นคง. ภรรยา​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “แม้​แต่​เมื่อ​ฉัน​โมโห [สามี] มาก และ​อารมณ์​เสีย​ที่​สุด​ใน​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​เรา ฉัน​ก็​ไม่​กังวล​ว่า​ชีวิต​สมรส​ของ​เรา​จะ​มา​ถึง​จุด​จบ. สิ่ง​ที่​ฉัน​เป็น​ห่วง​ก็​คือ​เรา​จะ​กลับ​มา​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี​ดัง​เดิม​ได้​อย่าง​ไร. ฉัน​ไม่​สงสัย​เลย​ว่า​เรา​จะ​กลับ​มา​อยู่​ด้วย​กัน​หรือ​ไม่—แม้​ตอน​นั้น​ฉัน​ก็​ยัง​มอง​ไม่​ออก​ว่า​จะ​ทำ​อย่าง​ไร.”

ทัศนะ​ที่​ว่า​ชีวิต​สมรส​ควร​จะ​ยั่งยืน​นาน เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​ข้อ​ผูก​มัด​ต่อ​คู่​สมรส​ของ​คน​เรา กระนั้น น่า​เสียดาย​ที่​สิ่ง​นี้​ขาด​ไป​ใน​ชีวิต​สมรส​หลาย​ราย. ระหว่าง​การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​ดุเดือด คู่​สมรส​ฝ่าย​หนึ่ง​อาจ​พูด​โพล่ง​ออก​มา​ว่า “ฉัน​จะ​ไป​จาก​เธอ!” หรือ​ไม่​ก็ “ฉัน​จะ​ไป​หา​คน​ที่​เห็น​คุณค่า​ของฉัน​จริง ๆ!” แท้​ที่​จริง ส่วน​ใหญ่​แล้ว​คำ​พูด​ดัง​กล่าว​มัก​จะ​ไม่​ได้​หมายความ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ. กระนั้น คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า ลิ้น​อาจ “เต็ม​ไป​ด้วย​พิษ​ที่​ทำ​ให้​ถึง​ตาย.” (ยาโกโบ 3:8, ล.ม.) คำ​ขู่​และ​การ​ยื่น​คำ​ขาด​เป็น​เหมือน​การ​พูด​ว่า ‘ฉัน​ไม่​ถือ​ว่า​ชีวิต​สมรส​ของ​เรา​ยั่งยืน. ฉัน​จะ​เลิก​เมื่อ​ไร​ก็​ได้.’ การ​บอก​เป็น​นัย​ดัง​กล่าว​อาจ​ทำลาย​ชีวิต​สมรส​ได้.

เมื่อ​คุณ​มี​ทัศนะ​ที่​ว่า​ชีวิต​สมรส​ควร​จะ​ยั่งยืน​นาน คุณ​ย่อม​คาด​หมาย​ว่า​จะ​อยู่​กับ​คู่​ของ​คุณ​ไม่​ว่า​จะ​เผชิญ​อุปสรรค​หรือ​ความ​ยาก​ลำบาก​ใด ๆ ก็​ตาม. เรื่อง​นี้​ยัง​มี​ผล​ประโยชน์​เพิ่ม​อีก. นั่น​จะ​ทำ​ให้​ง่าย​ขึ้น​มาก​ที่​คุณ​กับ​คู่​ของ​คุณ​จะ​ยอม​รับ​ข้อ​อ่อนแอ​และ​ความ​ผิด​พลาด รวม​ทั้ง​ที่​จะ​ทน​ต่อ​กัน​และ​กัน​อยู่​เรื่อย​ไป​และ​อภัย​ให้​กัน​และ​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง. (โกโลซาย 3:13) หนังสือ​คู่มือ​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​ดี ย่อม​มี​โอกาส​ที่​คุณ​ทั้ง​คู่​จะ​ผิด​พลาด และ​มี​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​อยู่​ร่วม​กัน​ได้​ทั้ง ๆ ที่​มี​ข้อ​ผิด​พลาด.”

ใน​วัน​แต่งงาน​ของ​คุณ คุณ​ได้​ทำ​สัญญา​อย่าง​จริง​ใจ​ไม่​ใช่​กับ​สถาบัน​การ​สมรส แต่​กับ​บุคคล​ที่​มี​ชีวิต​อยู่ ซึ่ง​ก็​คือ​คู่​สมรส​ของ​คุณ. ความ​เป็น​จริง​ข้อ​นี้​น่า​จะ​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​วิธี​ที่​คุณ​คิด​และ​ทำ​ขณะ​นี้​ใน​ฐานะ​คน​ที่​สมรส​แล้ว. คุณ​เห็น​ด้วย​มิ​ใช่​หรือ​ว่า คุณ​น่า​จะ​อยู่​กับ​คู่​ของ​คุณ​ต่อ​ไป​ไม่​เพียง​เพราะ​คุณ​เชื่อ​มั่น​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​การ​สมรส​เท่า​นั้น แต่​เพราะ​คุณ​รัก​คน​ที่​คุณ​แต่งงาน​ด้วย?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 ใน​กรณี​ที่​ถึง​ภาวะ​สุด​จะ​ทน อาจ​มี​เหตุ​ผล​ฟัง​ขึ้น​ที่​คู่​สมรส​จะ​แยก​กัน​อยู่. (1 โกรินโธ 7:10, 11; โปรด​ดู​หนังสือ​เคล็ดลับ​สำหรับ​ความ​สุข​ใน​ครอบครัว หน้า 160-161 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.) นอก​จาก​นี้ คัมภีร์​ไบเบิล​อนุญาต​ให้​หย่า​ได้​ด้วย​สาเหตุ​จาก​การ​ผิด​ประเวณี (การ​ผิด​ศีลธรรม​ทาง​เพศ).—มัดธาย 19:9.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 5]

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้​ใน​ตอน​นี้

คุณ​มี​ความ​ตั้งใจ​และ​ความ​ปรารถนา​อย่าง​แรง​กล้า​แค่​ไหน​ที่​จะ​รักษา​และ​เสริม​สร้าง​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ให้​มั่นคง? บาง​ที​คุณ​อาจ​เห็น​ช่อง​ทาง​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​ให้​ดี​ขึ้น​ได้. เพื่อ​เสริม​สร้าง​ข้อ​ผูก​มัด​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ให้​แน่นแฟ้น จง​ลอง​ทำ​สิ่ง​ต่อ​ไป​นี้:

ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง. จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​คิด​และ​รู้สึก​ว่า​ฉัน​แต่งงาน​แล้ว​จริง ๆ ไหม หรือ​ว่า​ฉัน​ยัง​คง​คิด​และ​ทำ​เหมือน​คน​ที่​เป็น​โสด​อยู่?’ ตรวจ​สอบ​ดู​ว่า​คู่​สมรส​ของ​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​คุณ​ใน​เรื่อง​นี้.

• อ่าน​บทความ​นี้​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ. แล้ว​ด้วย​ท่าที​ที่​สงบ จง​พิจารณา​วิธี​ที่​คุณ​ทั้ง​สอง​จะ​เสริม​สร้าง​ข้อ​ผูก​มัด​ใน​ชีวิต​สมรส​ให้​แน่นแฟ้น.

• ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ ร่วม​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​ซึ่ง​เสริม​สร้าง​การ​ผูก​มัด​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ทั้ง​สอง. ตัว​อย่าง​เช่น ดู​ภาพ​ถ่าย​งาน​สมรส​ของ​คุณ​และ​เหตุ​การณ์​อื่น ๆ ที่​น่า​จด​จำ. ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​คุณ​เคย​ชอบ​ระหว่าง​การ​ติด​ต่อ​ฝาก​รัก หรือ​ใน​ช่วง​ต้น ๆ ของ​ชีวิต​สมรส. จง​ศึกษา​บทความ​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​หอสังเกตการณ์ และ​ตื่นเถิด! ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชีวิต​สมรส​ด้วย​กัน.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

การ​ผูก​มัด​ใน​ชีวิต​สมรส​เกี่ยว​ข้อง​กับ . . .

พันธะ​หน้า​ที่ “จง​แก้​บน​ตาม​ที่​เจ้า​บน​ไว้​เถิด. ที่​เจ้า​จะ​ไม่​บน​ยัง​ดี​กว่า​ที่​เจ้า​จะ​บน​แล้ว​ไม่​แก้.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 5:4, 5.

การ​ร่วม​มือ​กัน “สอง​คน​ก็​ดี​กว่า​คน​เดียว . . . ด้วย​ว่า​ถ้า​คน​หนึ่ง​ล้ม​ลง, อีก​คน​หนึ่ง​จะ​ได้​พยุง​ยก​เพื่อน​ของ​ตน​ให้​ลุก​ขึ้น.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 4:9, 10.

การ​เสีย​สละ​ตัว​เอง “การ​ให้​ทำ​ให้​มี​ความ​สุข​ยิ่ง​กว่า​การ​รับ.”—กิจการ 20:35, ล.ม.

ทัศนะ​ที่​ว่า​ชีวิต​สมรส​ควร​จะ​ยั่งยืน​นาน “ความ​รัก . . . อด​ทน​ทุก​สิ่ง.”—1 โกรินโธ 13:4, 7, ล.ม.

[ภาพ​หน้า 7]

เมื่อ​คู่​ของ​คุณ​ต้องการ​จะ​พูด คุณ​รับ​ฟัง​ไหม?