เหตุใดเราควรอธิษฐานอย่างไม่ละลด?
เหตุใดเราควรอธิษฐานอย่างไม่ละลด?
“จงอธิษฐานอย่างไม่ละลด. จงขอบพระคุณในทุกสิ่ง.”—1 เธซะโลนิเก 5:17, 18, ล.ม.
1, 2. ดานิเอลแสดงอย่างไรว่าท่านหยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษในการอธิษฐาน และการอธิษฐานส่งผลเช่นไรต่อสัมพันธภาพระหว่างท่านกับพระเจ้า?
ผู้พยากรณ์ดานิเอลอธิษฐานถึงพระเจ้าวันละสามครั้งเป็นกิจวัตร. ท่านจะคุกเข่าตรงหน้าต่างห้องชั้นบน บานที่เปิดไปทางกรุงเยรูซาเลม และทูลอธิษฐาน. (1 กษัตริย์ 8:46-49; ดานิเอล 6:10) แม้จะมีพระราชกฤษฎีกาห้ามไม่ให้ทูลขอถึงผู้ใดเว้นแต่ดาระยาศ กษัตริย์ชาวมีเดีย ดานิเอลก็ไม่หวั่นไหวแม้แต่น้อย. ไม่ว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ บุรุษผู้อธิษฐานเป็นนิสัยคนนี้ยังทูลวิงวอนถึงพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป.
2 พระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อดานิเอล? ในคราวที่ทูตสวรรค์ฆับรีเอลมาตอบคำอธิษฐานหนึ่งของดานิเอล ทูตองค์นี้เรียกท่านผู้พยากรณ์ว่าเป็น “คนโปรดปรานยิ่งนัก” หรือ “คนซึ่งเป็นที่รักยิ่ง.” (ดานิเอล 9:20-23; เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) ในคำพยากรณ์ของยะเอศเคล พระยะโฮวากล่าวถึงดานิเอลว่าเป็นคนชอบธรรม. (ยะเอศเคล 14:14, 20) เห็นได้ชัดว่าตลอดชั่วชีวิต คำอธิษฐานของดานิเอลทำให้สัมพันธภาพอันใกล้ชิดระหว่างท่านกับพระเจ้าแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่แม้แต่ดาระยาศก็ยังยอมรับ.—ดานิเอล 6:16.
3. ดังที่ประสบการณ์ของมิชชันนารีคนหนึ่งแสดงให้เห็น การอธิษฐานช่วยเรารักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้อย่างไร?
3 การอธิษฐานเป็นประจำยังช่วยเราเผชิญการทดลองที่แสนสาหัสด้วย. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณากรณีของฮาโรลด์ คิง มิชชันนารีที่ถูกขังเดี่ยวเป็นเวลาห้าปีในประเทศจีน. บราเดอร์คิงเล่าถึงประสบการณ์ของเขาดังนี้: “ผมอาจถูกแยกจากเพื่อนของผม แต่ไม่มีใครสามารถแยกผมจากพระเจ้า. . . . ฉะนั้น ใครที่ผ่านหน้าห้องขังของผมจะเห็นผมคุกเข่าอธิษฐานออกเสียงดังวันละสามครั้ง โดยระลึกถึงดานิเอลที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง. . . . ดูเหมือนขณะอธิษฐานนั้น พระวิญญาณของพระเจ้าชี้นำให้ผมคิดถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์มากที่สุดและทำให้ผมมีจิตใจสงบ. การอธิษฐานให้การชูใจและกำลังทางฝ่ายวิญญาณแก่ผมเสียจริง ๆ!”
4. คำถามอะไรบ้างในเรื่องการอธิษฐานที่เราจะพิจารณากันในบทความนี้?
4 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “จงอธิษฐานอย่างไม่1 เธซะโลนิเก 5:17, 18, ล.ม.) เมื่อคำนึงถึงคำแนะนำนี้ ขอให้เรามาพิจารณาคำถามต่อไปนี้: ทำไมเราควรเอาใจใส่เรื่องการอธิษฐาน? มีเหตุผลอะไรที่เราควรเข้าเฝ้าพระยะโฮวาเป็นประจำ? และเราควรทำเช่นไรถ้ารู้สึกว่าไม่สมควรที่จะอธิษฐานถึงพระเจ้าเนื่องจากตัวเองมีข้อบกพร่อง?
ละลด. จงขอบพระคุณในทุกสิ่ง.” (การสร้างมิตรภาพด้วยการอธิษฐาน
5. การอธิษฐานช่วยให้เรามีมิตรภาพที่ไม่มีใดเหมือนในแง่ใด?
5 คุณอยากให้พระยะโฮวาคิดถึงคุณฐานะมิตรของพระองค์ไหม? พระองค์ตรัสถึงอับราฮามปฐมบรรพบุรุษอย่างนั้น. (ยะซายา 41:8; ยาโกโบ 2:23) พระยะโฮวาประสงค์ให้เราพัฒนาสัมพันธภาพแบบเดียวกันนั้นกับพระองค์. ที่จริงแล้ว พระองค์เชิญเราให้เข้าใกล้พระองค์. (ยาโกโบ 4:8) คำเชิญนั้นน่าจะทำให้เราคิดอย่างจริงจังมิใช่หรือว่าการอธิษฐานเป็นการจัดเตรียมที่ไม่มีใดเหมือน? การที่จะได้รับการนัดหมายให้พูดกับเจ้าหน้าที่คนสำคัญในรัฐบาลเป็นเรื่องยากสักเพียงไร โดยที่ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องที่จะได้เป็นเพื่อนกับเขา! กระนั้น พระผู้สร้างเอกภพสนับสนุนให้เราเข้าเฝ้าพระองค์โดยการอธิษฐานได้อย่างสะดวกใจ เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการหรือเมื่อถึงคราวจำเป็น. (บทเพลงสรรเสริญ 37:5) การอธิษฐานเป็นประจำช่วยให้เรามีมิตรภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา.
6. ตัวอย่างของพระเยซูสอนอะไรแก่เราในเรื่องความจำเป็นที่จะต้อง “อธิษฐานอย่างไม่หยุดหย่อน”?
6 แต่ช่างง่ายสักเพียงไรที่เราจะลืมอธิษฐาน! เพียงแค่จัดการกับความกดดันในชีวิตแต่ละวันก็อาจดึงความสนใจไปได้มาก จนเราไม่ได้เสาะหาโอกาสที่จะสนทนากับพระเจ้า. พระเยซูกระตุ้นสาวกของพระองค์ให้ “อธิษฐานอย่างไม่หยุดหย่อน” และพระองค์เองก็ทำเช่นนั้น. (มัดธาย 26:41, ล.ม.) แม้ว่าจะมีธุระยุ่งตั้งแต่เช้าจรดค่ำอยู่เป็นประจำ พระองค์จัดเวลาไว้ต่างหากสำหรับสนทนากับพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. บางครั้ง พระเยซูลุกแต่ “เช้ามืด” เพื่ออธิษฐาน. (มาระโก 1:35) ในโอกาสอื่น พระองค์ไปยังที่ห่างไกลผู้คนในเวลาพลบค่ำเพื่ออธิษฐานถึงพระยะโฮวา. (มัดธาย 14:23) พระเยซูจัดเวลาไว้เสมอเพื่ออธิษฐาน และเราควรทำเช่นเดียวกัน.—1 เปโตร 2:21.
7. สถานการณ์ใดบ้างที่ควรกระตุ้นให้เราสนทนากับพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราในแต่ละวัน?
7 เรามีโอกาสเหมาะสำหรับอธิษฐานส่วนตัวหลายโอกาสในแต่ละวัน เมื่อประสบปัญหา, เผชิญการล่อใจ, และทำการตัดสินใจ. (เอเฟโซ 6:18) เมื่อเราเสาะหาคำชี้นำจากพระเจ้าในทุกแง่มุมของชีวิต มิตรภาพระหว่างเรากับพระองค์จะยิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างแน่นอน. ถ้าสองคนที่เป็นเพื่อนกันเผชิญปัญหาด้วยกัน ความผูกพันระหว่างทั้งสองจะแน่นแฟ้นขึ้นมิใช่หรือ? (สุภาษิต 17:17) จะเป็นเช่นนั้นกับ เราด้วย เมื่อเราหมายพึ่งพระยะโฮวาและได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์.—2 โครนิกา 14:11.
8. จากตัวอย่างของนะเฮมยา, พระเยซู, และนางฮันนา เราเรียนรู้อะไรในเรื่องความยาวของคำอธิษฐานส่วนตัวของเรา?
8 ช่างน่ายินดีสักเพียงไรที่พระเจ้าไม่ได้จำกัดความยาวและความถี่ของเราในการสนทนากับพระองค์ด้วยการอธิษฐาน! นะเฮมยาอธิษฐานในใจสั้น ๆ ก่อนทูลขอกษัตริย์เปอร์เซีย. (นะเฮมยา 2:4, 5) พระเยซูอธิษฐานสั้น ๆ เช่นกันเมื่อพระองค์ขอพระยะโฮวาประทานฤทธิ์อำนาจแก่พระองค์เพื่อจะปลุกลาซะโรให้เป็นขึ้นจากตาย. (โยฮัน 11:41, 42) ในทางตรงข้าม นางฮันนา “อธิษฐานเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาอย่างยืดยาว” ขณะระบายความรู้สึกจากใจ. (1 ซามูเอล 1:12, 15, 16, ล.ม.) คำอธิษฐานส่วนตัวของเราจะสั้นหรือยาวก็ได้ ขึ้นกับความจำเป็นและสภาพการณ์.
9. เหตุใดคำอธิษฐานของเราควรรวมเอาคำสรรเสริญและคำขอบคุณสำหรับสิ่งสารพัดที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อเรา?
9 คำอธิษฐานหลายตอนในคัมภีร์ไบเบิล แสดงการยอมรับและการหยั่งรู้ค่าอย่างสุดหัวใจต่อฐานะตำแหน่งอันสูงสุดของพระยะโฮวาและราชกิจอันอัศจรรย์ของพระองค์. (เอ็กโซโด 15:1-19; 1 โครนิกา 16:7-36; บทเพลงสรรเสริญ 145) ในนิมิตหนึ่ง อัครสาวกโยฮันเห็นผู้ปกครอง 24 คน ซึ่งหมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมครบจำนวน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งของตนในสวรรค์ กล่าวสรรเสริญพระยะโฮวาดังนี้: “พระยะโฮวาเจ้าข้า พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์คู่ควรจะได้รับสง่าราศีและเกียรติและฤทธิ์เดช เพราะพระองค์ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง และเนื่องด้วยพระทัยประสงค์ของพระองค์สิ่งเหล่านั้นจึงได้ดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้น.” (วิวรณ์ 4:10, 11, ล.ม.) เรามีเหตุผลที่จะสรรเสริญพระผู้สร้างเป็นประจำเช่นกัน. บิดามารดามีความสุขสักเพียงไรเมื่อบุตรกล่าวขอบคุณจากใจจริง สำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาทำไปเพื่อบุตร! การใคร่ครวญด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อพระกรุณาคุณของพระยะโฮวาและกล่าวขอบคุณจากใจจริงสำหรับสิ่งเหล่านั้น เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมเพื่อปรับปรุงคุณภาพคำอธิษฐานของเรา.
ทำไมควร “อธิษฐานอย่างไม่ละลด”?
10. คำอธิษฐานมีส่วนเช่นไรในการเสริมความเชื่อของเรา?
10 การอธิษฐานเป็นประจำมีความสำคัญต่อความเชื่อของเรา. หลังจากเล่าอุทาหรณ์เพื่อแสดงถึงความจำเป็นที่จะ “ต้องอธิษฐานเสมอไม่หยุดหย่อน” พระเยซูถามว่า “เมื่อบุตรมนุษย์มาถึง ท่านจะพบความเชื่อบนแผ่นดินโลกจริง ๆ หรือ?” (ลูกา 18:1-8, ล.ม.) คำอธิษฐานจากใจจริงเสริมสร้างความเชื่อ. เมื่ออับราฮามปฐมบรรพบุรุษแก่ชราและยังไม่มีบุตร ท่านทูลพระเจ้าในเรื่องนั้น. ในการตอบคำอธิษฐาน ทีแรกพระยะโฮวาขอให้ท่านมองขึ้นไปบนท้องฟ้าและนับดาว ถ้าทำได้. จากนั้น พระองค์รับรองแก่อับราฮามว่า “พงศ์พันธุ์ของเจ้าจะเป็นเช่นนั้น.” ผลเป็นอย่างไร? อับราฮาม “เชื่อวางใจในพระยะโฮวา; และที่เชื่อนั้นพระองค์ทรงนับว่าเป็นความชอบธรรมแก่ท่าน.” (เยเนซิศ 15:5, 6) ถ้าเราเปิดใจกับพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน, ยอมรับเอาคำรับรองของพระองค์จากคัมภีร์ไบเบิล, และเชื่อฟังพระองค์ พระองค์จะเสริมความเชื่อของเรา.
11. การอธิษฐานช่วยเราในการจัดการกับปัญหาได้อย่างไร?
11 การอธิษฐานยังสามารถช่วยเราจัดการกับปัญหาด้วย. ชีวิตประจำวันของเราเป็นภาระหนักและสภาพการณ์ในชีวิตที่เราเผชิญนั้นยากที่จะทนรับไหม? คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “จงมอบภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์เองจะทรงค้ำจุนท่าน. ไม่มีวันที่พระองค์จะทรงยอมให้คนชอบธรรมกะปลกกะเปลี้ยเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22, ล.ม.) เมื่อเผชิญกับการตัดสินใจที่ยาก เราสามารถติดตามแบบอย่างของพระเยซูได้. พระองค์ใช้เวลาอธิษฐานส่วนตัวตลอดคืนก่อนจะเลือกอัครสาวก 12 คน. (ลูกา 6:12-16) และในคืนก่อนที่พระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูอธิษฐานอย่างแรงกล้าจน “พระเสโทของพระองค์กลายเป็นเหมือนหยดเลือดตกลงบนพื้นดิน.” (ลูกา 22:44, ล.ม.) ผลเป็นเช่นไร? “พระองค์ได้รับการสดับด้วยความพอพระทัยเนื่องด้วยพระองค์เกรงกลัวพระเจ้า.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) การอธิษฐานอย่างจริงจังไม่ละลดจะช่วยเราในการรับมือกับสภาพการณ์ที่ก่อความเครียดและความยากลำบากที่ยากจะจัดการ.
12. วิธีที่พระยะโฮวาเปิดทางให้เราเข้าถึงพระองค์โดยการอธิษฐานนั้นแสดงอย่างไรถึงความใฝ่พระทัยที่พระองค์ทรงมีต่อเราเป็นส่วนตัว?
12 เหตุผลอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้นโดยการอธิษฐานก็คือ พระองค์จะเข้าใกล้เรามากขึ้นเช่นกัน. (ยาโกโบ 4:8) เมื่อเราเปิดใจสนทนากับพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน เรารับรู้ถึงความสนพระทัยของพระองค์ต่อความจำเป็นของเราและความรักใคร่อันอ่อนละมุนที่ทรงมีต่อเรามิใช่หรือ? เรารู้สึกถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเราเป็นส่วนตัว. พระยะโฮวาไม่ได้มอบหมายใครอื่นให้ทำหน้าที่ฟังคำอธิษฐานใด ๆ ก็ตามที่ผู้รับใช้ของพระองค์ทูลต่อพระองค์ฐานะพระบิดาฝ่ายสวรรค์. (บทเพลงสรรเสริญ 66:19, 20; ลูกา 11:2) และพระองค์ทรงเชิญเราให้ ‘มอบความกระวนกระวายทั้งสิ้นของเราไว้กับพระองค์ เพราะว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในเรา.’—1 เปโตร 5:6, 7, ล.ม.
13, 14. เรามีเหตุผลอะไรในการอธิษฐานอย่างไม่ละลด?
13 การอธิษฐานทำให้เรามีความรู้สึกแรงกล้ายิ่งขึ้นในงานเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเสริมความเข้มแข็งแก่เรา เมื่อเราเผชิญความไม่แยแสหรือการต่อต้านที่อาจทำให้อยากเลิกประกาศ. (กิจการ 4:23-31) การอธิษฐานยัง สามารถช่วยปกป้องเราจาก “ยุทธอุบายของพญามาร.” (เอเฟโซ 6:11, 17, 18) เมื่อดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบากในแต่ละวัน เราสามารถทูลขอพระเจ้าเรื่อยไปให้พระองค์เสริมกำลังเรา. คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูรวมเอาคำทูลขอให้พระยะโฮวา ‘ช่วยเราให้พ้นจากตัวชั่วร้าย’ ซึ่งก็คือซาตานพญามาร.—มัดธาย 6:13, ล.ม.
14 ถ้าเราอธิษฐานอย่างไม่ละลดเพื่อขอความช่วยเหลือให้สามารถควบคุมแนวโน้มที่ผิดบาป เราจะได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. เรามีคำรับรองดังนี้: “พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และพระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกล่อใจเกินที่ท่านจะทนได้ แต่เมื่อทรงยอมให้ท่านถูกล่อใจนั้น พระองค์จะจัดทางออกให้ด้วย เพื่อท่านจะสามารถทนได้.” (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลประสบความใฝ่พระทัยของพระยะโฮวาที่เสริมกำลังท่านในสภาพการณ์หลากหลายรูปแบบ. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีกำลังสำหรับทุกสิ่งโดยพระองค์ผู้ทรงประทานพลังให้ข้าพเจ้า.”—ฟิลิปปอย 4:13, ล.ม.; 2 โกรินโธ 11:23-29.
จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอแม้ว่ามีข้อบกพร่อง
15. อาจเกิดอะไรขึ้นได้เมื่อความประพฤติของเราไม่บรรลุมาตรฐานของพระเจ้า?
15 เพื่อคำอธิษฐานของเราจะได้รับการสดับด้วยความพอพระทัย เราต้องไม่ปฏิเสธคำแนะนำจากพระคำของพระเจ้า. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “สิ่งใดก็ตามที่พวกเราขอ เราจะได้รับจากพระองค์ เพราะเราปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์และทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ชอบในสายพระเนตรของพระองค์.” (1 โยฮัน 3:22, ล.ม.) แต่อาจเกิดอะไรขึ้นได้เมื่อความประพฤติของเราไม่บรรลุมาตรฐานของพระเจ้า? อาดามกับฮาวาซ่อนตัวหลังจากทำบาปในสวนเอเดน. เช่นเดียวกัน เราอาจอยากหลบซ่อน “ให้พ้นจากพระพักตร์พระยะโฮวา” และเลิกอธิษฐาน. (เยเนซิศ 3:8) คลาวส์ ผู้ดูแลเดินทางที่มีประสบการณ์ ให้ความเห็นว่า “ผมได้สังเกตว่าในแทบทุกกรณี การกระทำที่ไม่ฉลาดอย่างแรกสุดของคนที่ลอยห่างไปจากพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์คือ การที่พวกเขาเลิกอธิษฐาน.” (เฮ็บราย 2:1) นั่นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับโฮเซ อังเฮล. เขาเล่าว่า “เป็นเวลาเกือบแปดปี ผมแทบจะไม่ได้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาเลย. ผมรู้สึกว่าไม่สมควรที่จะสนทนากับพระองค์ แม้ว่าผมยังถือว่าพระองค์เป็นพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของผม.”
16, 17. จงให้ตัวอย่างที่แสดงว่าการอธิษฐานเป็นประจำช่วยเราเอาชนะความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร.
16 บางคนในพวกเราอาจรู้สึกว่าไม่คู่ควรที่จะอธิษฐาน เนื่องจากอยู่ในสภาพอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ หรือเพราะหลงกระทำผิด. แต่นี่เป็นเวลาเหมาะที่สุดที่เราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์เต็มที่จากการจัดเตรียมเรื่องการอธิษฐาน. โยนาหนีงานมอบหมาย. แต่ ‘ในคราวทุกข์ยากลำบาก, โยนาได้ร้องเรียกพระยะโฮวา, แล้วพระองค์ได้ทรงขานรับท่าน; โยนาได้ร้องออกไปจากขุมท้องแห่งเมืองผี, และพระยะโฮวาได้ทรงยินเสียงของท่าน.’ (โยนา 2:2) โยนาได้อธิษฐาน พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของท่าน และโยนาจึงฟื้นคืนสภาพฝ่ายวิญญาณ.
17 โฮเซ อังเฮลก็ได้อธิษฐานอย่างแรงกล้าเพื่อขอความช่วยเหลือเช่นกัน. เขาย้อนความหลังว่า “ผมเปิดใจและขอพระเจ้าให้อภัยผม. และพระองค์ก็ทรงช่วยผมจริง ๆ. ผมไม่คิดว่าตัวเองจะกลับมาสู่ความจริงได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากการอธิษฐาน. ตอนนี้ ผมอธิษฐานเป็นประจำทุกวัน และคอยท่าโอกาสเหล่านี้.” เราควรรู้สึกเป็นอิสระเสมอที่จะสนทนากับพระเจ้าอย่างสะดวกใจถึงข้อผิดพลาดของเรา และถ่อมใจขอการอภัยจากพระองค์. เมื่อกษัตริย์ดาวิดสารภาพความผิดของท่าน พระยะโฮวาทรงให้อภัย. (บทเพลงสรรเสริญ 32:3-5) พระยะโฮวาต้องการจะช่วยเรา ไม่ใช่ตำหนิเรา. (1 โยฮัน 3:19, 20) นอกจากนี้ คำอธิษฐานของผู้เฒ่าผู้แก่ในประชาคมสามารถช่วยเราทางฝ่ายวิญญาณ เนื่องจากคำอธิษฐานของพวกเขา “มีพลังมาก.”—ยาโกโบ 5:13-16, ล.ม.
18. ไม่ว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าอาจหลงไปไกลแค่ไหน พวกเขามั่นใจได้ในเรื่องใด?
18 จะมีพ่อคนไหนปฏิเสธลูกซึ่งถ่อมใจกลับมาหาเขาเพื่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำหลังจากได้ทำผิดไปแล้ว? อุปมาเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราอาจหลงไปไกลแค่ไหน พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราทรงยินดีเมื่อเรากลับมาหาพระองค์. (ลูกา 15:21, 22, 32) พระยะโฮวากระตุ้นทุกคนที่กระทำผิดให้ทูลขอต่อพระองค์ “เพราะพระองค์จะทรงอภัยโทษอย่างล้นเหลือ.” (ยะซายา 55:6, 7, ล.ม.) แม้ว่าดาวิดกระทำผิดร้ายแรงหลายหน ท่านทูลขอต่อพระยะโฮวาว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ขอพระองค์ทรงเงี่ยพระกรรณสดับฟังคำอธิษฐานของข้าพเจ้า; และอย่าซ่อนพระองค์จากคำวิงวอนของข้าพเจ้า.” ท่านยังกล่าวด้วยว่า “ข้าพเจ้าจะร้องทุกข์ครวญครางอยู่ทั้งเวลาหัวค่ำเวลาเช้าและเที่ยงวัน; และ [พระยะโฮวา] จะทรงสดับเสียงของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:1, 17) นั่นช่างทำให้รู้สึกอุ่นใจเสียจริง ๆ!
19. เหตุใดเราไม่ควรสรุปว่าคำอธิษฐานที่ดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบเป็นหลักฐานถึงความไม่พอพระทัยของพระเจ้า?
19 จะว่าอย่างไรถ้าคำอธิษฐานของเราไม่ได้รับคำตอบในทันที? ถ้าเช่นนั้น เราต้องทำให้แน่ใจว่าคำทูลขอของเราประสานกับพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาและเราได้ทูลอธิษฐานในพระนามของพระเยซู. (โยฮัน 16:23; 1 โยฮัน 5:14) สาวกยาโกโบกล่าวถึงคริสเตียนบางคนที่คำอธิษฐานของเขายังไม่ได้รับคำตอบเพราะเขา “ขอเพื่อจุดประสงค์ผิด ๆ.” (ยาโกโบ 4:3, ล.ม.) ในอีกด้านหนึ่ง เราไม่ควรด่วนสรุปว่าการที่คำอธิษฐานของเราดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบจะต้องเป็นหลักฐานถึงความไม่พอพระทัยของพระเจ้าเสมอไป. บางครั้ง พระยะโฮวาอาจปล่อยให้ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระองค์อธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งต่อ ๆ ไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่คำตอบของพระองค์จะปรากฏชัด. พระเยซูตรัสว่า “จงขอต่อ ๆ ไป แล้วท่านทั้งหลายจะได้รับ.” (มัดธาย 7:7, ล.ม.) ดังนั้น เราจำเป็นต้อง “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.”—โรม 12:12, ล.ม.
จงอธิษฐานเป็นประจำ
20, 21 (ก) เหตุใดเราจำเป็นต้องอธิษฐานอย่างไม่ละลดใน “สมัยสุดท้าย” นี้? (ข) เราจะได้รับอะไรเมื่อเข้าไปถึงราชบัลลังก์แห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาทุกวัน?
20 ความกดดันและปัญหาต่าง ๆ หนักขึ้นเรื่อย ๆ ใน “สมัยสุดท้าย” นี้ ซึ่งลักษณะสำคัญของยุคคือ “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) และง่ายที่ความยากลำบากต่าง ๆ จะทำให้ความคิดของเราพะวงอยู่กับเรื่องดังกล่าว. อย่างไรก็ตาม การอธิษฐานอย่างไม่ละลดจะช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งฝ่ายวิญญาณ แม้ว่าปัญหา, การล่อใจ, และความท้อแท้ใจจะยังคงไม่หมดไป. การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาทุกวันจะช่วยให้เราได้รับการเกื้อหนุนที่จำเป็นยิ่งที่เราต้องได้รับ.
21 พระยะโฮวา “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ไม่เคยยุ่งเกินไปที่จะฟังเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) ขอเราอย่ามีธุระยุ่งเกินไปจนไม่ได้สนทนากับพระองค์. มิตรภาพระหว่างเรากับพระเจ้าเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดที่เรามี. ขอเราอย่าได้ดูเบาในเรื่องนี้. “เหตุฉะนั้น ให้เราทั้งหลายเข้าไปถึงราชบัลลังก์แห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและพูดอย่างสะดวกใจ เพื่อเราจะได้รับความเมตตาและประสบพระกรุณาอันไม่พึงได้รับเพื่อช่วยในเวลาอันเหมาะ.”—เฮ็บราย 4:16, ล.ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราเรียนอะไรจากผู้พยากรณ์ดานิเอลเกี่ยวกับคุณค่าของการอธิษฐาน?
• เราจะเสริมมิตรภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้อย่างไร?
• ทำไมเราควรอธิษฐานอย่างไม่ละลด?
• เหตุใดความรู้สึกที่ว่าตนไม่คู่ควรที่จะอธิษฐาน ไม่ควรยับยั้งเราไว้จากการอธิษฐานถึงพระยะโฮวา?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 16]
นะเฮมยาอธิษฐานในใจสั้น ๆ ก่อนทูลต่อกษัตริย์
[ภาพหน้า 17]
นางฮันนา “อธิษฐานเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาอย่างยืดยาว”
[ภาพหน้า 18]
พระเยซูอธิษฐานตลอดคืนก่อนจะเลือกอัครสาวก 12 คน
[ภาพหน้า 20]
มีโอกาสสำหรับอธิษฐานตลอดทั้งวัน