ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเข้าใจจุดประสงค์ของการตีสอน

การเข้าใจจุดประสงค์ของการตีสอน

การ​เข้าใจ​จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตี​สอน

คุณ​คิด​ถึง​อะไร​เมื่อ​ได้​ยิน​คำ​ว่า “การ​ตี​สอน”? การ​ตี​สอน​เป็น​การ​ปฏิบัติ​เพื่อ​ทำ​ให้​คน​เชื่อ​ฟัง​กฎ​หรือ​มาตรฐาน​ความ​ประพฤติ และ​ลง​โทษ​เขา​ถ้า​ไม่​เชื่อ​ฟัง. ถึง​แม้​นี่​ไม่​ใช่​คำ​จำกัดความ​เพียง​อย่าง​เดียว​อัน​เป็น​ที่​ยอม​รับ แต่​หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ถือ​ว่า การ​ตี​สอน​ไม่​ว่า​แบบ​ใด​ก็​ตาม มี​ความหมาย​ใน​ทาง​ลบ​ทำนอง​นี้.

อย่าง​ไร​ก็​ดี คัมภีร์​ไบเบิล​พรรณนา​ถึง​การ​ตี​สอน​แบบ​ที่​ต่าง​ออก​ไป. กษัตริย์​ซะโลโม​ผู้​ชาญ​ฉลาด​ได้​เขียน​ว่า “บุตร​ชาย​ของ​เรา​เอ๋ย, อย่า​ประมาท​ต่อ​บท​วินัย [“อย่า​ปฏิเสธ​การ​ตี​สอน,” ล.ม.] ของ​พระ​ยะโฮวา.” (สุภาษิต 3:11) ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​พาด​พิง​ถึง ไม่​ใช่​การ​ตี​สอน​โดย​ทั่ว​ไป แต่​เป็น “การ​ตี​สอน​ของ​พระ​ยะโฮวา” นั่น​คือ การ​ตี​สอน​ที่​อาศัย​หลักการ​อัน​สูง​ส่ง​ของ​พระเจ้า. เฉพาะ​การ​ตี​สอน​ดัง​กล่าว​เท่า​นั้น​ที่​ก่อ​ผล​ประโยชน์​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ—กระทั่ง​น่า​ปรารถนา​ด้วย​ซ้ำ. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม การ​ตี​สอน​ที่​อาศัย​ความ​คิด​ของ​มนุษย์​ซึ่ง​ขัด​แย้ง​กับ​หลักการ​อัน​สูง​ส่ง​ของ​พระ​ยะโฮวา​มัก​เป็น​การ​ใช้​อำนาจ​อย่าง​ผิด ๆ และ​ก่อ​ผล​เสียหาย. นั่น​เป็น​สาเหตุ​ที่​หลาย​คน​มี​เจตคติ​ใน​แง่​ลบ​ต่อ​การ​ตี​สอน.

เหตุ​ใด​เรา​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​ให้​ยอม​รับ​การ​ตี​สอน​ของ​พระ​ยะโฮวา? ใน​พระ​คัมภีร์ การ​ตี​สอน​ของ​พระเจ้า​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น​การ​สำแดง​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​ต่อ​มนุษย์​ที่​พระองค์​ทรง​สร้าง​มา. ด้วย​เหตุ​นี้ ซะโลโม​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “ผู้​ใด​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​พระองค์​ทรง​เตือน​สอน​ผู้​นั้น, เช่น​บิดา​กระทำ​ต่อ​บุตร​ที่​ตน​ชื่นชม.”—สุภาษิต 3:12.

การ​ตี​สอน​หรือ​การ​ลง​โทษ—อย่าง​ไหน​กัน?

การ​ตี​สอน​ดัง​ที่​พรรณนา​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​หลาย​แง่​มุม เช่น การ​ชี้​แนะ, การ​สั่ง​สอน, การ​อบรม, การ​ว่า​กล่าว, การ​แก้ไข, และ​กระทั่ง​การ​ลง​โทษ. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​แต่​ละ​กรณี การ​ตี​สอน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก และ​เป้าหมาย​ของ​การ​ตี​สอน​นั้น​คือ​เพื่อ​ประโยชน์​แก่​ผู้​รับ. การ​ตี​สอน​เพื่อ​แก้ไข​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​เคย​ใช้​เพียง​เพื่อ​จุด​ประสงค์​ใน​การ​ลง​โทษ​สถาน​เดียว.

ใน​ทาง​ตรง​ข้าม ปฏิบัติการ​ของ​พระเจ้า​ที่​เป็น​การ​ลง​โทษ​ก็​ใช่​ว่า​มี​จุด​มุ่ง​หมาย​เพื่อ​แก้ไข​หรือ​อบรม​ผู้​ได้​รับ​เสมอ​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น ตั้ง​แต่​วัน​นั้น​ที​เดียว​ที่​อาดาม​และ​ฮาวา​ได้​ทำ​บาป เขา​ทั้ง​สอง​เริ่ม​ได้​รับ​ผล​ต่าง ๆ จาก​การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ของ​เขา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ขับ​ไล่​เขา​ทั้ง​สอง​ออก​จาก​อุทยาน​เอเดน และ​เขา​ต้อง​ตก​อยู่​ใน​อำนาจ​ของ​ผล​กระทบ​จาก​ความ​ไม่​สมบูรณ์, ความ​เจ็บ​ป่วย, และ​ความ​ชรา. หลัง​จาก​มี​ชีวิต​อยู่​หลาย​ร้อย​ปี​ด้วย​ความ​เจ็บ​ปวด ทั้ง​คู่​ก็​พินาศ​ตลอด​กาล. ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​การ​ลง​โทษ​จาก​พระเจ้า​จริง ๆ แต่​ไม่​ใช่​เป็น​การ​ตี​สอน​เพื่อ​แก้ไข. เนื่อง​จาก​เจตนา​ขัด​ขืน​และ​ไม่​กลับ​ใจ อาดาม​และ​ฮาวา​จึง​อยู่​ใน​วิสัย​ที่​สุด​จะ​แก้ไข​ได้.

เรื่อง​ราว​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​การ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดำเนิน​การ​ลง​โทษ​นั้น​รวม​ไป​ถึง​น้ำ​ท่วม​โลก​ใน​สมัย​ของ​โนฮา, การ​ทำลาย​เมือง​โซโดม​และ​โกโมร์ราห์, และ​การ​กำจัด​กองทัพ​ของ​ชาว​อียิปต์​ใน​ทะเล​แดง. ปฏิบัติการ​เหล่า​นี้​โดย​พระ​ยะโฮวา​มิ​ได้​มุ่ง​หมาย​ที่​จะ​ให้​การ​ชี้​แนะ, การ​สั่ง​สอน, หรือ​การ​อบรม​สำหรับ​ผู้​ที่​ถูก​ลง​โทษ. อัครสาวก​เปโตร​เขียน​เกี่ยว​กับ​การ​ลง​โทษ​โดย​พระเจ้า​เช่น​นั้น​ว่า “พระองค์​มิ​ได้​ทรง​ยับยั้ง​ไว้​จาก​การ​ลง​โทษ​โลก​ใน​สมัย​โบราณ แต่​ได้​ทรง​คุ้มครอง​โนฮา​ผู้​ประกาศ​ความ​ชอบธรรม​ให้​ปลอด​ภัย​พร้อม​กับ​คน​อื่น​อีก​เจ็ด​คน​เมื่อ​พระองค์​ทรง​บันดาล​ให้​น้ำ​มา​ท่วม​โลก​แห่ง​คน​ที่​ดูหมิ่น​พระเจ้า และ​โดย​การ​ทำลาย​เมือง​โซโดม​และ​โกโมร์ราห์​ให้​เป็น​เถ้า​ถ่าน พระองค์​ได้​ทรง​กล่าว​โทษ​พวก​เขา เป็น​แบบ​อย่าง​สำหรับ​คน​ที่​ดูหมิ่น​พระเจ้า​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น.”—2 เปโตร 2:5, 6, ล.ม.

ใน​ความหมาย​ใด​ที่​การ​ลง​โทษ​ดัง​กล่าว​นี้ “เป็น​แบบ​อย่าง​สำหรับ​คน​ที่​ดูหมิ่น​พระเจ้า​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น”? ใน​จดหมาย​ของ​เปาโล​ถึง​ชาว​เทสซาโลนีกา ท่าน​ชี้​ถึง​สมัย​ของ​เรา​ว่า​เป็น​เวลา​ที่​พระเจ้า โดย​ทาง​พระ​เยซู​คริสต์ พระ​บุตร​ของ​พระองค์​จะ “ทรง​แก้แค้น​คน​ที่​ไม่​รู้​จัก​พระเจ้า​และ​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ข่าว​ดี.” เปาโล​กล่าว​เสริม​อีก​ว่า “คน​เหล่า​นี้​แหละ​จะ​ถูก​ลง​โทษ​ตาม​คำ​พิพากษา​ให้​พินาศ​ตลอด​กาล.” (2 เธซะโลนิเก 1:8, 9, ล.ม.) ปรากฏ​ชัด​ว่า การ​ลง​โทษ​ดัง​กล่าว​มิ​ได้​มุ่ง​หมาย​ที่​จะ​สอน​หรือ​ขัด​เกลา​คน​ที่​ถูก​ลง​โทษ​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ดี เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เชิญ​ผู้​นมัสการ​พระองค์​ให้​ยอม​รับ​การ​ตี​สอน พระองค์​มิ​ได้​พาด​พิง​ถึง​การ​ลง​โทษ​คน​ทำ​บาป​ที่​ไม่​กลับ​ใจ.

น่า​สังเกต​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​มิ​ได้​พรรณนา​พระ​ยะโฮวา​ฐานะ​ผู้​ลง​โทษ​เป็น​ประการ​แรก. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ส่วน​ใหญ่​มัก​มี​การ​พรรณนา​ถึง​พระองค์​ใน​ฐานะ​พระ​ครู​องค์​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​ผู้​ฝึก​อบรม​ที่​อด​ทน. (โยบ 36:22; บทเพลง​สรรเสริญ 71:17; ยะซายา 54:13) ใช่​แล้ว การ​ตี​สอน​ที่​อาศัย​หลักการ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​มี​จุด​ประสงค์​ใน​การ​แก้ไข​นั้น​ดำเนิน​ควบ​คู่​ไป​กับ​ความ​รัก​และ​ความ​อด​ทน​เสมอ. โดย​เข้าใจ​จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตี​สอน คริสเตียน​จึง​อยู่​ใน​ฐานะ​ที่​ดี​กว่า​ที่​จะ​ยอม​รับ​การ​ตี​สอน​และ​ทำ​การ​ตี​สอน​ด้วย​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้อง.

การ​ตี​สอน​ของ​บิดา​มารดา​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก

ภาย​ใน​วง​ครอบครัว​และ​ภาย​ใน​ประชาคม​คริสเตียน ทุก​คน​จำเป็น​ต้อง​เข้าใจ​จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตี​สอน. นี่​เป็น​ความ​จริง​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​มี​อำนาจ เช่น บิดา​มารดา. สุภาษิต 13:24 กล่าว​ว่า “บุคคล​ผู้​ไม่​ยอม​ใช้​ไม้เรียว​ก็​เป็น​ผู้​ที่​ชัง​บุตร​ของ​ตน; แต่​บุคคล​ผู้​รัก​บุตร​ย่อม​เฆี่ยน​ตี​สั่ง​สอน.”

บิดา​มารดา​ควร​ทำ​การ​ตี​สอน​อย่าง​ไร? คัมภีร์​ไบเบิล​อธิบาย​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ผู้​เป็น​บิดา อย่า​ยั่ว​บุตร​ของ​ท่าน​ให้​ขัด​เคือง​ใจ แต่​จง​อบรม​เลี้ยง​ดู​เขา​ต่อ​ไป​ด้วย​การ​ตี​สอน​และ​การ​ปรับ​ความ​คิด​จิตใจ​ตาม​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) มี​การ​ย้ำ​คำ​ตักเตือน​ดัง​กล่าว​ด้วย​ถ้อย​คำ​ต่อ​ไป​นี้: “ฝ่าย​บิดา ก็​อย่า​ยั่ว​บุตร​ของ​ตน​ให้​ขัด​เคือง​ใจ, เกรง​ว่า​เขา​จะ​ท้อ​ใจ.”—โกโลซาย 3:21.

บิดา​มารดา​คริสเตียน​ซึ่ง​เข้าใจ​จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตี​สอน​จะ​ไม่​ปฏิบัติ​อย่าง​เกรี้ยวกราด. อาจ​นำ​หลักการ​ที่​กล่าว​ไว้​ใน 2 ติโมเธียว 2:24 (ล.ม.) มา​ใช้​ได้​กับ​วิธี​ที่​บิดา​มารดา​ทำ​การ​ตี​สอน. เปาโล​ได้​เขียน​ว่า “ทาส​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ต่อ​สู้ แต่​จำเป็น​ต้อง​สุภาพ​ต่อ​คน​ทั้ง​ปวง มี​คุณวุฒิ​ที่​จะ​สอน.” ความ​โกรธ​อย่าง​รุนแรง​ที่​ควบคุม​ไม่​อยู่, การ​ตวาด, และ​ถ้อย​คำ​ที่​สบประมาท​หรือ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ไม่​ใช่​การ​ตี​สอน​ด้วย​ความ​รัก​อย่าง​แน่นอน และ​ไม่​เหมาะ​สม​ใน​ชีวิต​คริสเตียน.—เอเฟโซ 4:31; โกโลซาย 3:8.

การ​แก้ไข​ของ​บิดา​มารดา​เกี่ยว​ข้อง​ไม่​เพียง​การ​ลง​โทษ​ที่​จัด​การ​อย่าง​ฉับ​ไว​และ​เด็ดขาด. เด็ก​ส่วน​ใหญ่​ต้อง​ได้​รับ​คำ​ตักเตือน​ซ้ำ​หลาย​ครั้ง​ก่อน​ที่​จะ​แก้ไข​ความ​คิด​ของ​ตน. ด้วย​เหตุ​นี้ บิดา​มารดา​ต้อง​ใช้​เวลา, แสดง​ความ​อด​ทน, และ​ใคร่ครวญ​ให้​มาก​ถึง​วิธี​ที่​เขา​ทำ​การ​ตี​สอน. เขา​ต้อง​คำนึง​เสมอ​ว่า​เด็ก​พึง​ได้​รับ​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​ด้วย “การ​ตี​สอน​และ​การ​ปรับ​ความ​คิด​จิตใจ​ตาม​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา.” นี่​หมาย​ถึง​ช่วง​การ​ฝึก​อบรม​ที่​ต่อ​เนื่อง​นาน​หลาย​ปี.

คริสเตียน​ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ตี​สอน​ด้วย​ใจ​อ่อนโยน

หลักการ​อย่าง​เดียว​กัน​นำ​มา​ใช้​กับ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง. ใน​ฐานะ​ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก พวก​เขา​พยายาม​จะ​เสริม​สร้าง​ฝูง​แกะ​โดย​ให้​คำ​สั่ง​สอน, การ​ชี้​แนะ, และ​การ​ว่า​กล่าว​เมื่อ​จำเป็น. ใน​การ​ทำ​เช่น​นั้น พวก​เขา​ระลึก​ถึง​จุด​ประสงค์​ที่​แท้​จริง​ของ​การ​ตี​สอน. (เอเฟโซ 4:11, 12) หาก​พวก​เขา​เพ่งเล็ง​เฉพาะ​แต่​การ​ลง​โทษ เขา​ก็​จะ​เพียง​แค่​ลง​โทษ​ผู้​กระทำ​ผิด​และ​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​มาก​ไป​กว่า​นั้น. การ​ตี​สอน​ที่​อาศัย​หลักการ​ของ​พระเจ้า​เกี่ยว​ข้อง​ยิ่ง​กว่า​นั้น​มาก​นัก. โดย​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก ผู้​ปกครอง​คอย​ติด​ตาม​เพื่อ​ดู​ว่า​มี​การ​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​จริง. เนื่อง​จาก​รู้สึก​ห่วงใย​อย่าง​แท้​จริง พวก​เขา​มัก​จะ​จัด​เวลา​หลาย​ครั้ง​เพื่อ​ให้​กำลังใจ​และ​อบรม​สั่ง​สอน.

ตาม​คำ​ตักเตือน​ที่​พบ​ใน 2 ติโมเธียว 2:25, 26 (ล.ม.) แม้​แต่​เมื่อ​ปฏิบัติ​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ไม่​พร้อม​จะ​ยอม​รับ​การ​ตี​สอน ผู้​ปกครอง​ต้อง​สั่ง​สอน “ด้วย​ใจ​อ่อนโยน.” แล้ว​ข้อ​คัมภีร์​นี้​ชี้​แจง​จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตี​สอน​ว่า “บาง​ที​พระเจ้า​อาจ​จะ​ให้​เขา​กลับ​ใจ​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​ความ​รู้​ถ่องแท้​เรื่อง​ความ​จริง และ​พวก​เขา​อาจ​จะ​ได้​สติ​อีก​พ้น​จาก​บ่วง​แร้ว​ของ​มาร.”

บาง​ครั้ง จำเป็น​ต้อง​ตัด​สัมพันธ์​ผู้​กระทำ​ผิด​ที่​ไม่​กลับ​ใจ​ออก​จาก​ประชาคม. (1 ติโมเธียว 1:18-20) แม้​จะ​เป็น​การ​จัด​การ​ที่​รุนแรง​แต่​ก็​ควร​ถือ​ว่า​เป็น​การ​ตี​สอน ไม่​ใช่​เป็น​แค่​การ​ลง​โทษ​เท่า​นั้น. เป็น​ครั้ง​คราว ผู้​ปกครอง​พยายาม​จะ​ไป​เยี่ยม​คน​ที่​ถูก​ตัด​สัมพันธ์​ซึ่ง​ใน​ตอน​นั้น​ไม่​ได้​กระทำ​ความ​ผิด​อยู่. ระหว่าง​การ​เยี่ยม​ดัง​กล่าว ผู้​ปกครอง​ปฏิบัติ​สอดคล้อง​กับ​จุด​ประสงค์​ที่​แท้​จริง​ของ​การ​ตี​สอน​โดย​การ​วาง​เค้าโครง​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ ที่​จำเป็น​เพื่อ​บุคคล​นั้น​จะ​กลับ​คืน​สู่​ประชาคม​คริสเตียน.

พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​พิพากษา​ที่​สมบูรณ์​พร้อม

บิดา​มารดา, คริสเตียน​ผู้​บำรุง​เลี้ยง, และ​คน​อื่น ๆ ซึ่ง​มี​อำนาจ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ที่​จะ​ทำ​การ​ตี​สอน ควร​ถือ​ว่า​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ดัง​กล่าว​เป็น​เรื่อง​สำคัญ. พวก​เขา​ต้อง​ไม่​ทึกทัก​โดย​ตัดสิน​คน​อื่น​ว่า​ไม่​มี​ทาง​แก้ไข​ได้. ฉะนั้น การ​ตี​สอน​ของ​พวก​เขา​ไม่​ควร​จะ​เป็น​การ​ลง​โทษ​แบบ​แก้แค้น​หรือ​มุ่ง​ร้าย.

จริง​อยู่ คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​เป็น​ผู้​ที่​จะ​ดำเนิน​การ​ลง​โทษ​อย่าง​รุนแรง​และ​เด็ดขาด. ที่จริง พระ​คัมภีร์​กล่าว​ว่า “ซึ่ง​จะ​ตก​เข้า​ไป​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่​นั้น​ก็​เป็น​การ​น่า​กลัว.” (เฮ็บราย 10:31) แต่​ไม่​ควร​มี​มนุษย์​คน​ใด​พยายาม​จะ​เอา​ตัว​ไป​เทียบ​กับ​พระ​ยะโฮวา​ใน​แง่​นี้​หรือ​ใน​แง่​อื่น​ใด​เลย. และ​ไม่​ควร​มี​ใคร​มี​สาเหตุ​ที่​จะ​รู้สึก​ว่า​เป็น​การ​น่า​กลัว​ที่​จะ​ตก​อยู่​ใน​เงื้อม​มือ​ของ​บิดา​หรือ​มารดา หรือ​ผู้​ปกครอง​บาง​คน​ใน​ประชาคม.

พระ​ยะโฮวา​มี​พระ​ปรีชา​สามารถ​ที่​จะ​บรรลุ​ความ​สมดุล​อย่าง​สมบูรณ์​พร้อม​เมื่อ​ดำเนิน​การ​ตี​สอน. มนุษย์​ไม่​มี​ความ​สามารถ​เช่น​นั้น. พระเจ้า​ทรง​สามารถ​อ่าน​หัวใจ​และ​กำหนด​ได้​ว่า​เมื่อ​ไร​คน​เรา​อยู่​ใน​สภาพ​เหลือ​ที่​จะ​แก้ไข​ได้ และ​ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​ควร​ได้​รับ​การ​ลง​โทษ​อย่าง​เด็ดขาด. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง มนุษย์​ไม่​สามารถ​ทำ​การ​ตัดสิน​ดัง​กล่าว​ได้. เพราะ​เหตุ​นั้น เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ทำ​การ​ตี​สอน คน​เหล่า​นั้น​ที่​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​มี​อำนาจ​ควร​ทำ​การ​ตี​สอน​โดย​มี​จุด​ประสงค์​ใน​การ​แก้ไข​เสมอ.

การ​ยอม​รับ​การ​ตี​สอน​ของ​พระ​ยะโฮวา

เรา​ทุก​คน​ล้วน​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ตี​สอน​จาก​พระ​ยะโฮวา. (สุภาษิต 8:33) ที่​จริง เรา​ควร​ปรารถนา​จะ​ได้​รับ​การ​ตี​สอน​ที่​อาศัย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. ขณะ​ที่​เรา​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า เรา​อาจ​ยอม​รับ​การ​ตี​สอน​ที่​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา​โดย​ตรง​ผ่าน​ทาง​พระ​คัมภีร์. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) อย่าง​ไร​ก็​ดี บาง​ครั้ง เรา​จะ​ได้​รับ​การ​ตี​สอน​จาก​เพื่อน​คริสเตียน. การ​ตระหนัก​ถึง​เจตนารมณ์​ของ​การ​ตี​สอน​เช่น​นั้น​จะ​ช่วย​เรา​ยอม​รับ​การ​ตี​สอน​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ.

อัครสาวก​เปาโล​ยอม​รับ​ว่า “จริง​อยู่ ไม่​มี​การ​ตี​สอน​ใด​ดู​เหมือน​น่า​ชื่น​ใจ​เมื่อ​ได้​รับ​อยู่ แต่​น่า​เศร้า​ใจ.” แล้ว​ท่าน​กล่าว​เสริม​ว่า “กระนั้น​ใน​ภาย​หลัง​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​โดย​การ​ตี​สอน​ก็​ได้​ผล​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​สันติ​สุข คือ​ความ​ชอบธรรม.” (เฮ็บราย 12:11, ล.ม.) การ​ตี​สอน​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​การ​สำแดง​ความ​รัก​อัน​ลึกซึ้ง​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​เรา. ไม่​ว่า​เรา​ได้​รับ​การ​ตี​สอน​หรือ​ทำ​การ​ตี​สอน ขอ​เรา​ระลึก​ถึง​จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตี​สอน​ที่​อาศัย​หลักการ​ของ​พระเจ้า​และ​เอา​ใจ​ใส่​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​อัน​สุขุม​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “จง​ยึด​คำ​สั่ง​สอน [“การ​ตี​สอน,” ล.ม.] ไว้​ให้​มั่น; อย่า​ปล่อย​เสีย​เลย; จง​รักษา​ไว้​ให้​ดี; เพราะ​ว่า​นั่น​คือ​ชีวิต​ของ​เจ้า.”—สุภาษิต 4:13.

[ภาพ​หน้า 21]

ผู้​กระทำ​บาป​ที่​ไม่​กลับ​ใจ​ได้​รับ​การ​ลง​โทษ​ตาม​คำ​พิพากษา​จาก​พระเจ้า ไม่​ใช่​การ​ตี​สอน​เพื่อ​แก้ไข​จาก​พระองค์

[ภาพ​หน้า 22]

โดย​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก ผู้​ปกครอง​ใช้​เวลา​ค้น​หา​ข้อมูล​และ​ช่วยเหลือ​ผู้​กระทำ​ผิด

[ภาพ​หน้า 23]

ด้วย​ความ​อด​ทน​และ​ความ​รัก บิดา​มารดา​ทำ “การ​ตี​สอน​และ​การ​ปรับ​ความ​คิด​จิตใจ​ตาม​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา”