ความอดทนขณะเผชิญการทดลองนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา
ความอดทนขณะเผชิญการทดลองนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา
“ถ้าหากท่านทั้งหลายกระทำดี และท่านรับทุกข์ ท่านทนเอาความทุกข์นั้น นี่แหละเป็นสิ่งที่ชอบพระทัยพระเจ้า.”—1 เปโตร 2:20, ล.ม.
1. เนื่องจากคริสเตียนแท้เป็นห่วงเรื่องการดำเนินชีวิตให้สมกับการอุทิศตัวของตน จึงจำเป็นต้องพิจารณาคำถามอะไร?
คริสเตียนอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและปรารถนาจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. เพื่อจะดำเนินชีวิตให้สมกับการอุทิศตัว พวกเขาพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อดำเนินตามรอยพระบาทผู้เป็นแบบอย่างของพวกเขา คือพระเยซูคริสต์ และให้คำพยานถึงความจริง. (มัดธาย 16:24; โยฮัน 18:37; 1 เปโตร 2:21) แต่พระเยซูและผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ สละชีวิตของตนฐานะผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ. นี่หมายความว่าคริสเตียนทุกคนคาดหมายได้ว่าตนเองจะต้องเสียชีวิตเพื่อความเชื่อไหม?
2. คริสเตียนมีทัศนะเช่นไรต่อการทดลองและการทนทุกข์?
2 ฐานะคริสเตียน เราได้รับคำกระตุ้นเตือนให้รักษาความซื่อสัตย์ตราบเท่าวันตาย หาใช่ว่าจะต้องเสียชีวิตเพื่อความเชื่อเสมอไป. (2 ติโมเธียว 4:7; วิวรณ์ 2:10) นี่หมายความว่าขณะที่เราเต็มใจทนทุกข์—หรือตาย ถ้าจำเป็น—เพื่อความเชื่อของเรา ก็ใช่ว่าเราอยากจะประสบกับเหตุการณ์เช่นนั้น. เราไม่ได้มีความสุขจากการทนทุกข์ หรือมีความยินดีจากความเจ็บปวดหรือการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม. อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นที่คาดหมายได้ว่าการทดลองและการข่มเหงจะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรหากสภาพการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ.
ซื่อสัตย์ขณะประสบการทดลอง
3. ตัวอย่างอะไรบ้างจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการรับมือกับการข่มเหงที่คุณสามารถเล่าได้? (ดูกรอบ “วิธีที่พวกเขารับมือกับการข่มเหง” ในหน้าถัดไป.)
3 ในคัมภีร์ไบเบิล เราพบเรื่องราวมากมายที่แสดงถึงวิธีที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าในอดีตปฏิบัติเมื่อพวกเขาเผชิญสถานการณ์ที่คุกคามชีวิต. วิธีต่าง ๆ ที่พวกเขาตอบสนองต่อกรณีเหล่านั้น ให้แนวทางสำหรับคริสเตียนในปัจจุบันหากต้องเผชิญสถานการณ์คล้าย ๆ กัน. ขอให้พิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ ในกรอบที่ชื่อ “วิธีที่พวกเขารับมือกับการข่มเหง” และดูว่าคุณเรียนอะไรได้จากพวกเขา.
4. อาจกล่าวอะไรได้เกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ปฏิบัติ เมื่อพวกเขาตกอยู่ในการทดลอง?
4 แม้ว่าพระเยซูและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าคนอื่น ๆ รับมือกับการข่มเหงด้วยวิธีแตกต่างกันไปตามแต่สภาพการณ์ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ได้ทำให้ชีวิตของตนตกอยู่ในอันตรายโดยไม่จำเป็น. เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย พวกเขากล้าหาญแต่ก็ใช้ความระมัดระวัง. (มัดธาย 10:16, 23) เป้าหมายของพวกเขาคือ ให้งานประกาศดำเนินต่อไปและรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวา. วิธีที่พวกเขาปฏิบัติในสภาพการณ์ต่าง ๆ วางตัวอย่างไว้สำหรับคริสเตียนที่เผชิญการทดลองและการกดขี่ข่มเหงในปัจจุบัน.
5. เกิดการกดขี่ข่มเหงอะไรในมาลาวีในทศวรรษ 1960 และพยานฯ ที่นั่นทำอย่างไร?
5 ในยุคปัจจุบัน บ่อยครั้งประชาชนของพระยะโฮวาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแสนสาหัสและประสบความสูญเสียเนื่องจากสงคราม, การสั่งห้าม, หรือการข่มเหงโดยตรง. ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 1960 พยานพระยะโฮวาในประเทศมาลาวีถูกกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรง. หอประชุมราชอาณาจักร, บ้านเรือน, เสบียงอาหาร, และธุรกิจ—แทบทุกสิ่งที่พวกเขามี—ถูกทำลายพินาศสิ้น. พวกเขาถูกทำร้ายร่างกายและประสบเหตุการณ์อื่น ๆ ที่น่าสะเทือนใจ. พี่น้องทำอย่างไร? หลายพันคนจำต้องหนีออกจากหมู่บ้านของตน. หลายคนไปหลบภัยในป่า ส่วนคนอื่น ๆ ลี้ภัยไปอาศัยชั่วคราวในโมซัมบิกประเทศข้างเคียง. ทั้ง ๆ ที่พี่น้องที่ซื่อสัตย์
หลายคนเสียชีวิต คนอื่น ๆ ก็ยังเลือกหนีออกจากพื้นที่อันตราย ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นแนวทางที่มีเหตุผลภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น. โดยการทำเช่นนั้น พี่น้องติดตามแบบอย่างที่พระเยซูและเปาโลวางไว้.6. พยานฯ ชาวมาลาวีไม่ได้เลิกทำอะไรทั้ง ๆ ที่ถูกข่มเหงอย่างหนัก?
6 แม้ว่าพี่น้องชาวมาลาวีจำต้องย้ายถิ่นฐานหรือหาที่หลบซ่อน พวกเขายังคงแสวงหาและติดตามการชี้นำตามระบอบของพระเจ้าและทำกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนของตนต่อไปอย่างลับ ๆ เท่าที่สามารถทำได้. ผลเป็นเช่นไร? พวกเขาบรรลุยอดผู้ประกาศราชอาณาจักร 18,519 คนไม่นานก่อนการถูกสั่งห้ามในปี 1967. ทั้ง ๆ ที่ยังมีการสั่งห้าม และหลายคนลี้ภัยไปโมซัมบิก แต่มีรายงานยอดผู้ประกาศใหม่ 23,398 คนในปี 1972. เฉลี่ยแล้ว พวกเขาทำงานรับใช้มากกว่า 16 ชั่วโมงในแต่ละเดือน. แน่นอนว่าการกระทำของพวกเขานำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา และพระยะโฮวาทรงเกื้อหนุนพี่น้องที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นตลอดช่วงเวลาอันยากลำบากที่สุด. *
7, 8. อะไรคือเหตุผลบางอย่างที่บางคนเลือกไม่หนี ทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้านที่สร้างความยุ่งยาก?
7 อีกด้านหนึ่ง ในหลายประเทศที่มีปัญหาเนื่องจากการต่อต้าน พี่น้องบางคนอาจตัดสินใจที่จะไม่ออกไปจากประเทศของตน แม้ว่าพวกเขาสามารถทำเช่นนั้นได้. การย้ายไปที่อื่นอาจแก้ปัญหาบางอย่าง แต่ก็อาจสร้างปัญหาอื่น ๆ ด้วย. ตัวอย่างเช่น พวกเขาจะสามารถรักษาการติดต่อกับพี่น้องคริสเตียนไว้ได้ และไม่โดดเดี่ยวทางฝ่ายวิญญาณไหม? พวกเขาจะสามารถรักษากิจวัตรฝ่ายวิญญาณของตนได้ไหม ขณะที่พยายามก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ อาจเป็นในประเทศที่มั่งคั่งกว่า หรือในประเทศที่มีโอกาสหาสิ่งฝ่ายวัตถุได้มากกว่า?—8 บางคนเลือกจะไม่ย้ายไปที่อื่นเพราะเป็นห่วงสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของพี่น้องของตน. พวกเขาเลือกอยู่ต่อไปและเผชิญกับสถานการณ์ ทั้งนี้เพื่อดำเนินการประกาศต่อไปในท้องถิ่นของตน และเป็นแหล่งแห่งการหนุนใจสำหรับเพื่อนผู้นมัสการ. (ฟิลิปปอย 1:14) ด้วยการตัดสินใจเลือกเช่นนั้น บางคนถึงกับมีส่วนช่วยให้ได้รับชัยชนะทางกฎหมายในประเทศของตน. *
9. มีปัจจัยอะไรบ้างที่แต่ละคนต้องพิจารณาเมื่อทำการตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือย้ายไปที่อื่นเนื่องด้วยการกดขี่ข่มเหง?
9 การจะอยู่ต่อหรือย้ายไปที่อื่นเป็นเรื่องของการตัดสินใจส่วนตัว. แน่นอน ก่อนที่จะทำการตัดสินใจเช่นนั้น เราควรอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวา. แต่ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร เราต้องจดจำถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลไว้ที่ว่า “เราแต่ละคนจะให้การต่อพระเจ้าเกี่ยวกับตัวเอง.” (โรม 14:12, ล.ม.) ดังที่เราได้สังเกตไปในตอนต้น สิ่งที่พระยะโฮวาเรียกร้องจากผู้รับใช้ของพระองค์แต่ละคนคือ การรักษาความซื่อสัตย์ไม่ว่าอยู่ในสภาพการณ์เช่นไรก็ตาม. ผู้รับใช้ของพระองค์บางคนเผชิญการทดลองและการข่มเหงในเวลานี้ ขณะที่บางคนอาจเผชิญเหตุการณ์นั้นในอนาคต. ทุกคนจะถูกทดสอบโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง และไม่มีใครควรคิดว่าตน จะได้รับการยกเว้น. (โยฮัน 15:19, 20) ในฐานะผู้รับใช้ที่อุทิศตัวของพระยะโฮวา เราไม่อาจหลีกเลี่ยงประเด็นสากลในเรื่องการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และการพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์.—ยะเอศเคล 38:23; มัดธาย 6:9, 10.
“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย”
10. พระเยซูและอัครสาวกวางแบบอย่างที่สำคัญอะไรแก่เราเกี่ยวกับวิธีรับมือกับการข่มเหงและการต่อต้าน?
10 หลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราเรียนได้จากวิธีที่พระเยซูและอัครสาวกปฏิบัติเมื่อถูกกดขี่คือ อย่าตอบโต้ผู้ที่ข่มเหงเรา. เราไม่พบที่ใดเลยในคัมภีร์ไบเบิลที่ชี้ว่าพระเยซูหรือเหล่าสาวกของพระองค์จัดตั้งขบวนการใต้ดินอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้กำลัง เพื่อต่อสู้กับผู้ข่มเหง. ตรงกันข้าม อัครสาวกเปาโลแนะนำคริสเตียนว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย” และ “อย่าทำการแก้แค้นเสียเอง พี่น้องที่รัก แต่จงละความโกรธไว้; เพราะมีเขียนไว้ว่า ‘การแก้แค้นเป็นของเรา; เราจะตอบแทน พระยะโฮวาตรัส.’” นอกจากนั้น “อย่าให้ความชั่วมีชัยแก่ตัว แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.”—โรม 12:17-21, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 37:1-4; สุภาษิต 20:22.
11. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับท่าทีของคริสเตียนยุคแรกที่มีต่อผู้ปกครองรัฐ?
11 คริสเตียนในยุคแรกปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น. ในหนังสือคริสตจักรรุ่นแรกและโลก นักประวัติศาสตร์ซีซีล เจ. กาดูซ์ กล่าวถึงท่าทีของคริสเตียนต่อผู้ปกครองรัฐในช่วงปี ส.ศ. 30-70. เขาเขียนดังนี้: “เราไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าคริสเตียนในยุคดังกล่าวเคยใช้ความพยายามเพื่อต่อต้านการข่มเหงโดยใช้กำลัง. พวกเขาจะทำอย่างมากที่สุดก็คือกล่าวตำหนิอย่างเผ็ดร้อนต่อพวกผู้ปกครองบ้านเมือง หรือทำให้คนเหล่านั้นหัวเสียด้วยการหลบหนี. อย่างไรก็ตาม ท่าทีทั่ว ๆ ไปของคริสเตียนต่อการข่มเหงไม่มีอะไรเกินเลย นอกจากเพียงปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะเชื่อฟังคำสั่งของรัฐซึ่งเขาเห็นว่าจะขัดกับการเชื่อฟังพระคริสต์.”
12. เหตุใดการทนเอาความทุกข์จึงเป็นแนวทางที่ดีกว่าการตอบโต้?
12 การไม่ตอบโต้เช่นนั้นเป็นแนวทางดีที่สุดแล้วจริง ๆ หรือ? ใคร ๆ ที่ทำอย่างนั้นจะไม่กลายเป็นเหยื่อที่จัดการได้อย่างง่ายดายของคนที่หมายมุ่งจะกำจัดเขาหรอกหรือ? จะไม่เป็นการฉลาดกว่าหรือที่จะปกป้องตัวเอง? จากแง่คิดของมนุษย์ อาจดูเหมือนว่าเป็นอย่างนั้น. แต่ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เรามั่นใจว่าการติดตามการชี้นำจากพระยะโฮวาในทุกเรื่องเป็นแนวทางดีที่สุด. เราจดจำคำกล่าวของเปโตรที่ว่า “ถ้าหากท่านทั้งหลายกระทำดี และท่านรับทุกข์ ท่านทนเอาความทุกข์นั้น นี่แหละเป็นสิ่งที่ชอบพระทัยพระเจ้า.” (1 เปโตร 2:20, ล.ม.) เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงทราบสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไม่มีกำหนด. เราแน่ใจได้อย่างไร? พระยะโฮวาแถลงแก่ประชาชนของพระองค์ซึ่งเป็นเชลยในบาบิโลนว่า “ผู้ใดแตะต้องเจ้าก็แตะต้องนัยน์ตาเรา.” (ซะคาระยา 2:8, ล.ม.) คนเราจะยอมให้ผู้อื่นแตะต้องดวงตาของตนได้นานแค่ไหน? พระยะโฮวาจะนำความบรรเทามาให้ในเวลาอันสมควร. ไม่มีข้อที่จะสงสัยเลยในเรื่องนี้.—2 เธซะโลนิเก 1:5-8.
13. ทำไมพระเยซูทรงยอมให้ศัตรูจับกุมพระองค์โดยไม่ขัดขืน?
มัดธาย 26:53, 54) สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพระเยซูคือการทำให้สำเร็จตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา แม้ว่านั่นจะหมายถึงการที่พระองค์ต้องทนทุกข์ก็ตาม. พระองค์มีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในความเป็นจริงแห่งถ้อยคำในเพลงสรรเสริญของดาวิดที่มีความหมายเชิงพยากรณ์ที่ว่า “พระองค์จะไม่ทรงละจิตวิญญาณของข้าพเจ้าไว้ในเชโอล. พระองค์จะไม่ทรงยอมให้ผู้ภักดีของพระองค์เห็นหลุม.” (บทเพลงสรรเสริญ 16:10, ล.ม.) หลายปีต่อมา อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงพระเยซูว่า “เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาราชบัลลังก์ของพระเจ้า.”—เฮ็บราย 12:2, ล.ม.
13 ในเรื่องนี้ เราสามารถหมายเอาพระเยซูเป็นแบบอย่างสำหรับเรา. เมื่อพระองค์ยอมให้ศัตรูจับกุมในสวนเกทเซมาเน ใช่ว่าพระองค์ไม่มีทางป้องกันตัวเองได้. อันที่จริง พระองค์ตรัสแก่สาวกว่า “ท่านถือว่าเราจะขอพระบิดาของเรา, และในประเดี๋ยวเดียวพระองค์จะทรงประทานทูตสวรรค์แก่เรากว่าสิบสองกองไม่ได้หรือ ถ้าอย่างนั้นคำที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า จำจะต้องเป็นอย่างนั้น จะสำเร็จอย่างไรได้?” (ความยินดีจากการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์
14. ความยินดีอะไรที่ค้ำจุนพระเยซูระหว่างช่วงแห่งการทดลองทั้งสิ้น?
14 ความยินดีอะไรที่ค้ำจุนพระเยซูระหว่างช่วงแห่งการทดสอบอย่างแสนสาหัสสุดจะนึกคิดนั้น? ไม่มีข้อสงสัยว่าในบรรดาผู้รับใช้ทั้งสิ้นของพระยะโฮวา พระเยซูพระบุตรที่รักของพระองค์เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดซึ่งซาตานมุ่งโจมตี. ดังนั้น การที่พระเยซูรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงขณะเผชิญการทดสอบจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดแก่ซาตานซึ่งเยาะเย้ยพระยะโฮวา. (สุภาษิต 27:11) คุณนึกภาพออกไหมถึงความยินดีและความพอพระทัยของพระเยซูหลังจากคืนพระชนม์ แล้ว? พระองค์คงต้องมีความสุขสักเพียงไร เมื่อเห็นว่าได้ทำบทบาทที่มอบไว้กับพระองค์ฐานะมนุษย์สมบูรณ์สำเร็จ ในการพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา และการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์! นอกจากนี้ การได้เสด็จนั่ง “เบื้องขวาราชบัลลังก์ของพระเจ้า” ย่อมเป็นเกียรติที่วิเศษสุดและเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดแห่งความยินดีสำหรับพระเยซูอย่างแน่นอน.—บทเพลงสรรเสริญ 110:1, 2; 1 ติโมเธียว 6:15, 16.
15, 16. พยานฯ ในค่ายซัคเซนเฮาเซนทนรับการข่มเหงอะไรที่ร้ายกาจ และอะไรช่วยพวกเขาให้มีกำลังที่จะอดทน?
15 คริสเตียนก็เช่นกัน พวกเขายินดีที่ได้มีส่วนทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ โดยการอดทนต่อการทดลองและการข่มเหงตามอย่างพระเยซู. ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือ ประสบการณ์ของเหล่าพยานฯ ในค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซนที่ขึ้นชื่อเรื่องความหฤโหด และได้รอดชีวิตผ่านการเดินทางเที่ยวมรณะอันแสนเหนื่อยยากช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง. ระหว่างการเดินทางครั้งนั้น เชลยหลายพันคนเสียชีวิตเนื่องด้วยความหนาว, โรคภัยไข้เจ็บ, ความหิวโหย, หรือถูกฆ่าทิ้งข้างทางอย่างเหี้ยมโหดโดยทหารหน่วยเอสเอส. พยานฯ ทั้งสิ้น 230 คนจากกลุ่มเชลย รอดชีวิตทุกคนเพราะเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นและคอยช่วยเหลือกันแม้ว่าต้องเสี่ยงชีวิตของตน.
16 อะไรช่วยให้พยานฯ เหล่านี้มีกำลังอดทนการข่มเหงที่ร้ายกาจเช่นนั้น? ทันทีที่ถึงจุดปลอดภัย พวกเขาแสดงความยินดีและความสำนึกบุญคุณพระยะโฮวาในเอกสารที่ชื่อว่า “มติของพยานพระยะโฮวา 230 คนจากหกประเทศที่ชุมนุมกันในป่าใกล้เมืองชเวรินในเขตเมคเลนบูร์ก.” ในเอกสารนั้น พวกเขากล่าวว่า “ช่วงเวลาแห่งการทดสอบที่ยากลำบากอันยาวนานจบสิ้นไปแล้ว และคนที่ได้รับการช่วยชีวิตให้รอดพ้นราวกับว่าถูกกระชากออกมาจากเตาไฟ ไม่มีแม้แต่กลิ่นไหม้บนตัวพวกเขา. (ดูดานิเอล 3:27.) ตรงกันข้าม พวกเขาเปี่ยมไปด้วยกำลังและความเข้มแข็งจากพระยะโฮวา และคอยท่าพระบัญชาใหม่ ๆ ด้วยใจจดจ่อจากองค์กษัตริย์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร.” *
17. ประชาชนของพระเจ้ากำลังเผชิญการทดสอบรูปแบบใดบ้างในปัจจุบัน?
17 เช่นเดียวกับผู้ซื่อสัตย์ 230 คนนั้น ความเชื่อของเราอาจถูกทดสอบเช่นกัน แม้ว่าเรายังไม่ได้ “ต่อต้านจนถึงโลหิต.” (เฮ็บราย 12:4, ล.ม.) กระนั้น การทดสอบอาจมาในหลายรูปแบบ. อาจเป็นการเยาะเย้ยจากเพื่อนนักเรียน หรือเป็นความกดดันจากคนรอบข้างให้ทำผิดศีลธรรมหรือทำผิดอย่างอื่น. นอกจากนี้ ความตั้งใจที่จะละเว้นจากเลือด, ที่จะสมรสเฉพาะกับผู้เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า, หรือที่จะเลี้ยงดูลูก ๆ ในครอบครัวที่มีความเชื่อต่างกัน อาจเป็นความกดดันและการทดลองอย่างหนักในบางครั้ง.—กิจการ 15:29; 1 โกรินโธ 7:39; เอเฟโซ 6:4; 1 เปโตร 3:1, 2.
18. เรามีคำรับรองอะไรว่าเราจะสามารถทนรับแม้กระทั่งการทดลองอันร้ายกาจที่สุด?
18 แต่ไม่ว่าจะเผชิญการทดสอบอะไรก็ตาม เรารู้ว่าเราทนทุกข์ก็เพราะเราให้พระยะโฮวาและราชอาณาจักรของพระองค์อยู่ในอันดับแรก และเราถือว่าเป็นสิทธิพิเศษและความยินดีอย่างแท้จริงที่ได้ทำเช่นนั้น. เราได้กำลังใจจากถ้อยคำที่ให้การปลอบประโลมของเปโตรที่ว่า “ถ้าท่านถูกประมาทหมิ่นเพราะพระนามของพระคริสต์, ท่านทั้งหลายก็เป็นสุข ด้วยว่าพระวิญญาณแห่งสง่าราศีและพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 4:14) ด้วยพลังจากพระวิญญาณของพระยะโฮวา เราได้กำลังเพื่อทนรับแม้กระทั่งการทดลองต่าง ๆ ที่ยากเย็นที่สุด ซึ่งการนี้ทั้งสิ้นถวายพระเกียรติและนำคำสรรเสริญมาสู่พระองค์.—2 โกรินโธ 4:7; เอเฟโซ 3:16; ฟิลิปปอย 4:13.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 เหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการกดขี่ข่มเหงอย่างหนักและหมายเอาชีวิตที่พยานฯ ในมาลาวีต้องทนรับเป็นเวลานานเกือบตลอดสามทศวรรษ. สำหรับเรื่องราวโดยละเอียด โปรดดูหนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1999 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 171-212.
^ วรรค 8 ดูบทความ “ศาลสูงสนับสนุนการนมัสการแท้ใน ‘แผ่นดินอารารัต’” ในหอสังเกตการณ์ 1 เมษายน 2003 หน้า 11-14.
^ วรรค 16 สำหรับข้อความที่ครบถ้วนของมติดังกล่าว โปรดดูหนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1974 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 208-209. เรื่องราวที่เล่าโดยคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการเดินทางครั้งนั้นมีอยู่ในหอสังเกตการณ์ 1 มกราคม 1998 หน้า 25-29.
คุณอธิบายได้ไหม?
• คริสเตียนมีทัศนะเช่นไรต่อการทนทุกข์และการข่มเหง?
• เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระเยซูและผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ปฏิบัติเมื่อเผชิญการทดลอง?
• ทำไมจึงไม่ฉลาดที่จะตอบโต้เมื่อเราถูกข่มเหง?
• ความยินดีอะไรที่ค้ำจุนพระเยซูระหว่างช่วงแห่งการทดลอง และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
[คำถาม]
[กรอบ/ภาพหน้า 15]
วิธีที่พวกเขารับมือกับการข่มเหง
• ก่อนที่ทหารของเฮโรดจะมาถึงเมืองเบทเลเฮมเพื่อฆ่าทารกเพศชายทุกคนที่อายุตั้งแต่สองขวบลงมา โยเซฟกับมาเรียพาพระกุมารเยซูหนีไปยังอียิปต์ตามคำชี้นำของทูตสวรรค์.—มัดธาย 2:13-16.
• ระหว่างงานรับใช้ของพระเยซู พวกศัตรูพยายามจะสังหารพระองค์หลายต่อหลายครั้งเนื่องจากพระองค์ให้คำพยานอันทรงพลัง. พระเยซูทรงเลี่ยงหนีพวกเขาไปในโอกาสเหล่านั้น.—มัดธาย 21:45, 46; ลูกา 4:28-30; โยฮัน 8:57-59.
• เมื่อพวกทหารและเจ้าหน้าที่มายังสวนเกทเซมาเนเพื่อจับกุมพระเยซู พระองค์ระบุตัวพระองค์เองอย่างไม่ปิดบังถึงสองครั้งว่า “เราเป็นผู้นั้นแหละ.” พระองค์ถึงกับห้ามปรามพวกสาวกไม่ให้ต่อสู้ขัดขืน และพระองค์ยอมให้ฝูงชนจับตัวไป.—โยฮัน 18:3-12.
• ในกรุงเยรูซาเลม เปโตรและคนอื่น ๆ ถูกจับกุม, ถูกเฆี่ยน, และถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดถึงพระเยซู. กระนั้น หลังจากได้รับการปล่อยตัว พวกเขา “ไป . . . และเขาทั้งหลายจึงทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสต์เยซูในพระวิหารและตามบ้านเรือนทุกวันเรื่อยไปมิได้ขาด.”—กิจการ 5:40-42, ล.ม.
• เมื่อเซาโล ซึ่งต่อมาคืออัครสาวกเปาโล รู้แผนการของพวกยิวในเมืองดามัสกัสที่จะฆ่าท่าน พี่น้องให้เปาโลนั่งในกระบุงแล้วหย่อนลงทางช่องกำแพงเมืองในเวลากลางคืน ท่านจึงหลบหนีไปได้.—กิจการ 9:22-25.
• หลายปีต่อมา เปาโลเลือกที่จะอุทธรณ์ถึงซีซาร์ แม้ว่าทั้งผู้ว่าราชการเฟศโตและกษัตริย์อะฆะริปาตัดสินว่าท่าน “มิได้ทำสิ่งใดที่สมควรจะถูกลงโทษถึงตายหรือจำจองไว้.”—กิจการ 25:10-12, 24-27; 26:30-32.
[ภาพหน้า 16, 17]
แม้ว่าการกดขี่ข่มเหงอย่างหนักบีบบังคับให้ต้องหนี พยานฯ ชาวมาลาวีที่ซื่อสัตย์นับหมื่นคนยังคงดำเนินงานรับใช้ราชอาณาจักรต่อไปด้วยความยินดี
[ภาพหน้า 17]
ความยินดีจากการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ค้ำจุนผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ตลอดช่วงการเดินทางเที่ยวมรณะและในค่ายกักกันของนาซี
[ที่มาของภาพ]
Death march: KZ-Gedenkstätte Dachau, courtesy of the USHMM Photo Archives
[ภาพหน้า 18]
การทดลองและความกดดันอาจมาในหลายรูปแบบ