คำถามมีมากคำตอบที่จุใจมีน้อย
คำถามมีมากคำตอบที่จุใจมีน้อย
ตอนเช้าของวันเทศกาลนักบุญ วันที่ 1 พฤศจิกายน 1755 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่กรุงลิสบอนขณะที่ชาวเมืองส่วนใหญ่อยู่ในโบสถ์. อาคารหลายพันหลังพังทลาย และผู้คนนับหมื่นเสียชีวิต.
ไม่นานหลังจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น วอลแตร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสได้จัดพิมพ์ปอเอม ซูร์ เลอ เดซัสตรา เดอ ลีสบอน (บทกวีว่าด้วยความหายนะของลิสบอน) ซึ่งเขาได้ปฏิเสธข้ออ้างที่ว่ามหันตภัยนั้นเป็นการลงโทษจากพระเจ้าเนื่องจากบาปของผู้คน. ในการอ้างว่าเหตุการณ์ที่ยังความหายนะดังกล่าวเป็นสิ่งที่เหนือความเข้าใจหรือคำอธิบายของมนุษย์ วอลแตร์เขียนไว้ดังนี้:
ธรรมชาติเป็นใบ้ เราถามไปก็ไร้ประโยชน์;
เราต้องมีพระเจ้าผู้ตรัสแก่เผ่าพันธุ์มนุษย์.
แน่นอน วอลแตร์ใช่ว่าเป็นคนแรกที่ถามเกี่ยวกับพระเจ้า. ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โศกนาฏกรรมและความหายนะต่าง ๆ ได้ทำให้เกิดคำถามสารพัดขึ้นในความคิดจิตใจของผู้คน. ประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว โยบปฐมบรรพบุรุษผู้ซึ่งเพิ่งสูญเสียลูกทั้งหมดไปและเจ็บปวดทรมานเนื่องจากโรคร้าย ได้ถามว่า “ไฉนหนอผู้ที่ทนทุกขเวทนายังจะเห็นแสงเดือนแสงตะวันอยู่อีก? และผู้ที่มีใจระทมทุกข์ขื่นขมยังจะมีชีวิตอยู่ได้?” (โยบ 3:20) ทุกวันนี้ หลายคนสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าผู้ประเสริฐและเปี่ยมด้วยความรักดูเหมือนจะเฉยเมยอยู่ในเมื่อมีความทุกข์และความอยุติธรรมมากเหลือเกิน.
เมื่อเผชิญกับความเป็นจริงเรื่องความอดอยาก, สงคราม, ความเจ็บป่วย, และความตาย หลายคนปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่ามีพระผู้สร้างที่ทรงใฝ่พระทัยในมนุษยชาติ. นักปรัชญาอเทวนิยมคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ไม่มีอะไรจะทำให้พระเจ้าพ้นจากคำตำหนิได้ที่ปล่อยให้เด็กทนทุกข์ทรมาน . . . แน่ละ นอกจากว่า พระองค์ไม่ดำรงอยู่จริง.” โศกนาฏกรรมใหญ่ ๆ เช่น การสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำไปสู่ข้อสรุปคล้ายกัน. โปรดสังเกตความคิดเห็นนี้ในจดหมายข่าวโดยนักเขียนชาวยิวคนหนึ่ง: “คำอธิบายง่ายที่สุดสำหรับความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันเอาชวิทซ์คือ ไม่มีพระเจ้าที่เข้าแทรกแซงในกิจการของมนุษย์.” ตามการสำรวจปี 1997 ในฝรั่งเศส ประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนสงสัยการดำรงอยู่ของพระเจ้าเนื่องจากการฆ่าล้างชาติพันธุ์ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรวันดาเมื่อปี 1994.
อุปสรรคต่อความเชื่อหรือ?
เหตุใดพระเจ้าจึงไม่เข้าแทรกแซงเพื่อขัดขวางมิให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น? ผู้บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เป็นชาวคาทอลิกคนหนึ่งโต้แย้งว่าคำถามนี้เป็น “อุปสรรคสำคัญต่อความเชื่อ” สำหรับหลายคน. เขาถามว่า “ที่จริง
เป็นไปได้ไหมที่จะเชื่อในพระเจ้าผู้ซึ่งนิ่งดูดายไม่ช่วยเหลืออะไรขณะที่คนไม่มีความผิดจำนวนนับล้านเสียชีวิตและประชากรกลุ่มใหญ่ถูกสังหารหมู่ แต่พระองค์มิได้ทำอะไรเพื่อยับยั้งเหตุการณ์นั้น?”บทบรรณาธิการในลา ครัวซ์ หนังสือพิมพ์ของคาทอลิกให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า “ไม่ว่าจะเป็นโศกนาฏกรรมในอดีต, เหตุการณ์ที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, ภัยธรรมชาติ, อาชญากรรมแบบองค์การ, หรือความตายของผู้เป็นที่รัก ในแต่ละกรณี ผู้คนที่หวาดกลัวหันไปหาพระเจ้าเพื่อได้คำอธิบาย. พระเจ้าอยู่ที่ไหน? พวกเขาต้องการคำตอบให้ได้. พระเจ้าเป็นองค์ใหญ่ยิ่งที่เฉยเมย องค์ใหญ่ยิ่งที่ไม่สนใจไยดีกระนั้นหรือ?”
โปปจอห์น ปอลที่ 2 ได้พิจารณาประเด็นนี้ใน ซัลวีฟีกี โดโลรีส สาสน์ของโปปประจำปี 1984. เขาเขียนว่า “ถึงแม้การดำรงอยู่ของโลก กล่าวโดยอุปมาแล้ว เปิดตามนุษย์ให้เข้าใจการดำรงอยู่ของพระเจ้า, พระสติปัญญา, อำนาจและความใหญ่ยิ่งของพระองค์ แต่ความชั่วร้ายและความทุกข์ดูเหมือนจะบดบังคุณสมบัติเหล่านี้ของพระเจ้า บางครั้งในแบบรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความทุกข์โดยที่ไม่มีเหตุผลหลายรายได้เกิดขึ้นทุกวัน และมีความชั่วร้ายมากมายจริง ๆ ที่ไม่ได้รับการลงโทษอย่างสมควร.”
การดำรงอยู่ของพระเจ้าองค์เปี่ยมด้วยความรักและทรงไว้ซึ่งอำนาจบริบูรณ์ ตามที่แสดงไว้ในคัมภีร์ไบเบิลไปกันได้กับความทุกข์ของมนุษย์ที่มีอยู่ทั่วไปไหม? พระองค์ทรงเข้าแทรกแซงเพื่อขัดขวางมิให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับรายบุคคลหรือกับคนทั้งกลุ่มไหม? พระองค์ทรงทำสิ่งใดเพื่อเราในทุกวันนี้ไหม? โดยยกเอาถ้อยคำของวอลแตร์ขึ้นมากล่าว มี “พระเจ้าผู้ตรัสแก่เผ่าพันธุ์มนุษย์” ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ไหม? โปรดอ่านบทความถัดไปเพื่อได้คำตอบ.
[ภาพหน้า 3]
ความพินาศของกรุงลิสบอนเมื่อปี 1755 กระตุ้นให้วอลแตร์ยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเหนือความเข้าใจของมนุษย์
[ที่มาของภาพ]
Voltaire: From the book Great Men and Famous Women; Lisbon: J.P. Le Bas, Praça da Patriarcal depois do terramoto de 1755. Foto: Museu da Cidade/Lisboa
[ภาพหน้า 4]
หลายคนสงสัยการดำรงอยู่ของพระเจ้าเนื่องจากโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการฆ่าล้างชาติพันธุ์ เช่น เหตุการณ์ในรวันดา
[ที่มาของภาพ]
AFP PHOTO
[ที่มาของภาพหน้า 2]
COVER, children: USHMM, courtesy of Main Commission for the Prosecution of the Crimes against the Polish Nation