ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาทรงชักนำคนถ่อมให้มารู้ความจริง

พระยะโฮวาทรงชักนำคนถ่อมให้มารู้ความจริง

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชัก​นำ​คน​ถ่อม​ให้​มา​รู้​ความ​จริง

เล่า​โดย​อาซาโนะ โคชิโนะ

ใน​ปี 1949 หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 สิ้น​สุด​ลง​เพียง​ไม่​กี่​ปี ได้​มี​ชาย​ต่าง​ชาติ​รูป​ร่าง​สูง ท่า​ทาง​เป็น​มิตร​แวะ​มา​เยือน​ครอบครัว​หนึ่ง​ใน​เมือง​โกเบ​ที่​ฉัน​ทำ​งาน​อยู่​ด้วย. ชาย​คน​นี้​เป็น​มิชชันนารี​พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​แรก​ที่​เข้า​มา​ใน​ประเทศ​ญี่ปุ่น. การ​เยี่ยม​ของ​เขา​เปิด​โอกาส​ให้​ฉัน​ได้​รับ​การ​ชัก​นำ​ให้​มา​รู้​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. แต่​ก่อน​อื่น​ฉัน​ขอ​เล่า​ภูมิหลัง​ของ​ตัว​เอง​ให้​คุณ​ฟัง.

ฉัน​เกิด​ปี 1926 ณ หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ ใน​โอ​กา​ยา​มา​ตอน​เหนือ. ฉัน​เป็น​คน​ที่​ห้า​ใน​จำนวน​ลูก​แปด​คน. พ่อ​เป็น​คน​ศรัทธา​แรง​กล้า​ใน​เทพเจ้า​แห่ง​ศาสนา​ชินโต​ของ​ท้องถิ่น. ฉะนั้น พวก​เรา​เด็ก ๆ จึง​ชอบ​งาน​เฉลิม​ฉลอง​และ​การ​อยู่​กัน​พร้อม​หน้า​ของ​ครอบครัว ณ งาน​รื่นเริง​ทาง​ศาสนา​ซึ่ง​มี​ตลอด​ปี.

พอ​โต​ขึ้น ฉัน​มี​คำ​ถาม​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​ชีวิต แต่​เรื่อง​ที่​กังวล​มาก​ที่​สุด​คือ​ความ​ตาย. ตาม​ธรรมเนียม​ประเพณี คน​เรา​ต้อง​ตาย​ที่​บ้าน​และ​ขณะ​ใกล้​ตาย​ก็​ขอ​ให้​มี​ลูก​หลาน​สมาชิก​ครอบครัว​อยู่​ใกล้ ๆ. ฉัน​รู้สึก​เศร้า​เสียใจ​มาก​ตอน​ที่​ย่า​เสีย​ชีวิต​และ​ตอน​ที่​น้อง​ชาย​ตาย​เมื่อ​อายุ​ยัง​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ขวบ​ด้วย​ซ้ำ. ฉัน​รู้สึก​สลด​หดหู่​เมื่อ​นึก​ถึง​วัน​ที่​พ่อ​แม่​จะ​ตาย. ‘เรา​มี​แต่​คอย​ท่า​ความ​ตาย​เท่า​นั้น​หรือ? ชีวิต​น่า​จะ​มี​อะไร​ที่​มาก​กว่า​นี้​ไหม?’ ฉัน​ร้อน​ใจ​ใคร่​รู้​เหลือ​เกิน.

ปี 1937 ตอน​นั้น​ฉัน​เรียน​ชั้น​ประถม​หก สงคราม​จีน-ญี่ปุ่น​ได้​เริ่ม​ขึ้น. ผู้​ชาย​ถูก​เกณฑ์​เป็น​ทหาร​และ​ส่ง​ไป​รบ​ใน​ประเทศ​จีน. เด็ก​นัก​เรียน​พา​กัน​ร่ำ​ลา​พ่อ​หรือ​พี่​ชาย​ของ​ตน ต่าง​ก็​ร้อง “บัน​ไซ!” (ทรง​พระ​เจริญ) ถวาย​แก่​จักรพรรดิ. ประชาชน​มั่น​ใจ​ใน​ชัย​ชนะ​ของ​ญี่ปุ่น ชาติ​ที่​เทพเจ้า​ปกครอง​และ​องค์​จักรพรรดิ​คือ​เทพเจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์.

หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน หลาย ๆ ครอบครัว​เริ่ม​ได้​รับ​ข่าว​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ทหาร​ที่​อยู่​แนว​หน้า. ครอบครัว​ทั้ง​หลาย​ที่​สูญ​เสีย​ญาติ​มิตร​ไม่​มี​คำ​ปลอบโยน​ใด ๆ จะ​ช่วย​พวก​เขา​ได้. ความ​เกลียด​ชัง​ก่อ​ตัว​ขึ้น​ภาย​ใน​หัวใจ และ​พวก​เขา​ยินดี​ปรีดา​เมื่อ​ฝ่าย​ศัตรู​จำนวน​มาก​บาดเจ็บ​และ​เสีย​ชีวิต. แต่​เวลา​เดียว​กัน ฉัน​คิด​ว่า ‘ผู้​คน​ฝ่าย​ตรง​กัน​ข้าม​ซึ่ง​เป็น​ศัตรู​คง​ต้อง​ทุกข์​ทรมาน​มาก​เช่น​เดียว​กัน​กับ​เรา​อย่าง​แน่นอน เมื่อ​คน​ที่​พวก​เขา​รัก​ได้​ตาย​จาก​ไป.’ ตอน​เรียน​จบ​โรง​เรียน​ประถม สงคราม​ลุก​ลาม​ลึก​เข้า​ไป​ใน​ประเทศ​จีน​แล้ว.

พบ​กับ​ชาว​ต่าง​ประเทศ​โดย​ไม่​คาด​หมาย

เนื่อง​จาก​พวก​เรา​เป็น​ชาว​นา ครอบครัว​มี​ฐานะ​ยาก​จน​เสมอ​มา แต่​พ่อ​ยอม​ให้​ฉัน​มุ่ง​หา​ความ​รู้​ตราบ​ที่​ไม่​ต้อง​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย. ดัง​นั้น ใน​ปี 1941 ฉัน​จึง​ได้​เข้า​เรียน​ใน​โรง​เรียน​สตรี​เมือง​โอ​กา​ยา​มา ห่าง​จาก​บ้าน​ราว ๆ 100 กิโลเมตร. โรง​เรียน​แห่ง​นี้​เปิด​รับ​นัก​เรียน​หญิง​เพื่อ​ฝึก​สอน​ให้​เป็น​ภรรยา​และ​มารดา​ที่​มี​ทักษะ และ​กำหนด​ให้​นัก​เรียน​พัก​อยู่​กับ​ครอบครัว​ที่​ร่ำรวย​ใน​เมือง​เพื่อ​ฝึก​งาน​เป็น​แม่บ้าน. ภาค​เช้า​นัก​เรียน​รับ​การ​ฝึก​ให้​ช่วย​ทำ​งาน​ที่​บ้าน​เหล่า​นั้น และ​ตอน​บ่าย​ก็​ไป​เรียน​หนังสือ.

หลัง​เสร็จ​พิธี​ปฐม​นิเทศ​แล้ว ครู​ของ​ฉัน​ใน​ชุด​กิโมโน​ได้​พา​ฉัน​ไป​ที่​เรือน​หลัง​ใหญ่. แต่​โดย​ไม่​ทราบ​สาเหตุ สตรี​เจ้าของ​บ้าน​ไม่​ยอม​รับ​ฉัน. ครู​ถาม​ฉัน​ว่า “ให้​เรา​ไป​ที่​บ้าน​มิส​ซิ​ส​โค​ดะ​ดี​ไหม?” ครู​พา​ฉัน​ไป​ที่​บ้าน​ทรง​ยุโรป​และ​กด​กริ่ง​ประตู. หลัง​จาก​นั้น​ครู่​หนึ่ง สตรี​ร่าง​สูง ผม​สี​เงิน​ก็​เดิน​มา​เปิด​ประตู. ฉัน​ประหลาด​ใจ​มาก! เธอ​ไม่​ใช่​คน​ญี่ปุ่น และ​ตั้ง​แต่​เกิด​ฉัน​ก็​ไม่​เคย​พบ​เห็น​ชาว​ตะวัน​ตก​มา​ก่อน. ครู​แนะ​นำ​ฉัน​ให้​รู้​จัก​คุณ​ม็อด โค​ดะ​แล้ว​ก็​ผละ​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว. ฉัน​ลาก​ถุง​เสื้อ​ผ้า​เดิน​ตาม​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​ด้วย​ความ​ประหม่า. ฉัน​มา​รู้​ที​หลัง​ว่า​คุณ​ม็อด​เป็น​คน​อเมริกัน ได้​แต่งงาน​กับ​ชาย​ญี่ปุ่น​ที่​เคย​ไป​ศึกษา​ใน​ประเทศ​สหรัฐ. เธอ​สอน​ภาษา​อังกฤษ​ใน​โรง​เรียน​พาณิชยการ​หลาย​แห่ง.

ชีวิต​ที่​สาละวน​อยู่​กับ​งาน​เริ่ม​ตั้ง​แต่​เช้า​ของ​วัน​รุ่ง​ขึ้น. สามี​คุณ​โค​ดะ​ป่วย​เป็น​โรค​ลม​ชัก และ​ฉัน​ต้อง​ช่วย​ดู​แล. เนื่อง​จาก​ฉัน​ไม่​เข้าใจ​ภาษา​อังกฤษ​แม้​แต่​น้อย ฉัน​รู้สึก​กังวล​ใจ​อยู่​บ้าง. ฉัน​โล่ง​ใจ​เมื่อ​คุณ​โค​ดะ​พูด​กับ​ฉัน​เป็น​ภาษา​ญี่ปุ่น. ทุก​วัน​ฉัน​ได้​ยิน​คน​ทั้ง​สอง​คุย​กัน​เป็น​ภาษา​อังกฤษ และ​หู​ฉัน​เริ่ม​ชิน​ศัพท์​สำเนียง​ภาษา​นั้น. ฉัน​ชื่น​ชอบ​บรรยากาศ​ที่​น่า​รื่นรมย์​ใน​บ้าน.

ฉัน​รู้สึก​ประทับใจ​การ​เสีย​สละ​ของ​คุณ​ม็อด​ที่​ปฏิบัติ​สามี​ผู้​เจ็บ​ป่วย. เขา​ชอบ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล. ฉัน​ได้​มา​รู้​ตอน​หลัง​ว่า​คน​ทั้ง​สอง​ได้​ซื้อ​หนังสือ​แผนการ​ของ​พระเจ้า​เกี่ยว​กับ​ยุค​ต่าง ๆ ภาษา​ญี่ปุ่น​จาก​ร้าน​ขาย​หนังสือ​เก่า​และ​เป็น​สมาชิก​บอกรับ​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ภาษา​อังกฤษ​มา​นาน​หลาย​ปี.

วัน​หนึ่ง ฉัน​ได้​รับ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ของ​ขวัญ. ฉัน​ดีใจ​มาก​เพราะ​นี่​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ชีวิต​ที่​ฉัน​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​สมบัติ​ส่วน​ตัว. ฉัน​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ระหว่าง​ทาง​ไป​โรง​เรียน​ทั้ง​ขา​ไป​ขา​กลับ แต่​ไม่​ค่อย​เข้าใจ​สัก​เท่า​ไร. เนื่อง​จาก​ฉัน​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​เติบโต​ใน​ศาสนา​ชินโต​ของ​ชาว​ญี่ปุ่น พระ​เยซู​คริสต์​จึง​ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​ไกล​ตัว​มาก. ฉัน​ไม่​รู้​เลย​ว่า​นี่​คือ​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ได้​ทำ​ให้​ฉัน​ยึด​เอา​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​ของ​ฉัน​ใน​เรื่อง​ชีวิต​และ​ความ​ตาย.

เหตุ​การณ์​เศร้า​สลด​สาม​อย่าง

สอง​ปี​ของ​การ​ฝึก​งาน​เสร็จ​สิ้น​ลง​อย่าง​รวด​เร็ว และ​ฉัน​จำ​ต้อง​จาก​ลา​ครอบครัว​นี้​ไป. ภาย​หลัง​จบ​จาก​โรง​เรียน ฉัน​เข้า​ร่วม​กลุ่ม​เด็ก​ผู้​หญิง​อาสา​ทำ​กิจกรรม​พิเศษ และ​รับ​งาน​ผลิต​เครื่อง​แบบ​ทหาร​เรือ. เครื่องบิน​ทิ้ง​ระเบิด บี-29 ของ​อเมริกา​ได้​เริ่ม​การ​โจมตี​ทาง​อากาศ และ​วัน​ที่ 6 สิงหาคม 1945 เมือง​ฮิโรชิมา​ก็​ถูก​ระเบิด​ปรมาณู​ถล่ม. สอง​สาม​วัน​ถัด​มา ฉัน​ได้​รับ​โทรเลข​แจ้ง​ข่าว​แม่​ป่วย​หนัก. ฉัน​จับ​รถไฟ​ขบวน​แรก​เท่า​ที่​พา​ฉัน​กลับ​บ้าน​ได้. พอ​ลง​จาก​รถไฟ ญาติ​ที่​มา​รอ​รับ​บอก​ฉัน​ว่า​แม่​ตาย​แล้ว. แม่​ตาย​วัน​ที่ 11 สิงหาคม. สิ่ง​ที่​ฉัน​วิตก​กลัว​มา​ตลอด​หลาย​ปี​ก็​เกิด​ขึ้น​จริง! แม่​ไม่​มี​วัน​จะ​ได้​พูด​คุย​หรือ​ยิ้ม​ให้​ฉัน​อีก​แล้ว.

วัน​ที่ 15 สิงหาคม ญี่ปุ่น​ก็​พ่าย​แพ้. ดัง​นั้น ฉัน​ต้อง​เผชิญ​เหตุ​การณ์​เศร้า​สลด​ถึง​สาม​เรื่อง ทั้ง​หมด​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใน​ช่วง​สั้น ๆ แค่​สิบ​วัน: เรื่อง​แรก​การ​ทิ้ง​ระเบิด​ปรมาณู, ต่อ​มา​การ​ตาย​ของ​แม่, และ​สุด​ท้าย ความ​พ่าย​แพ้​ครั้ง​สำคัญ​ใน​ประวัติศาสตร์​ญี่ปุ่น. การ​ที่​รู้​ว่า​ผู้​คน​จะ​ไม่​ต้อง​ตาย​ใน​สงคราม​อีก​ต่อ​ไป อย่าง​น้อย​ก็​เป็น​คำ​ปลอบโยน. ฉัน​ลา​ออก​จาก​โรง​งาน​ด้วย​ความ​รู้สึก​ระทม​ทุกข์ และ​กลับ​ไป​อยู่​บ้าน​ใน​ชนบท.

ได้​รับ​การ​ชัก​นำ​เข้า​สู่​ความ​จริง

วัน​หนึ่ง โดย​ไม่​คาด​คิด ฉัน​ได้​รับ​จดหมาย​คุณ​ม็อด โค​ดะ​จาก​เมือง​โอ​กา​ยา​มา. เธอ​อยาก​ให้​ฉัน​ไป​ช่วย​ทำ​งาน​บ้าน เพราะ​เธอ​เตรียม​จะ​เปิด​โรง​เรียน​สอน​ภาษา​อังกฤษ. ฉัน​ไม่​แน่​ใจ​ว่า​จะ​ไป​ดี​หรือ​ไม่​ไป​ดี แต่​ก็​ได้​ตอบรับ​คำ​เชิญ​ของ​เธอ. สอง​สาม​ปี​ต่อ​มา ฉัน​ย้าย​ไป​อยู่​โกเบ​กับ​ครอบครัว​โค​ดะ.

ต้น​ฤดู​ร้อน ปี 1949 สุภาพ​บุรุษ​ร่าง​สูง ท่า​ทาง​เป็น​มิตร​มา​เยี่ยม​ครอบครัว​โค​ดะ. เขา​ชื่อ​ดอนัลด์ แฮสเลตต์ มา​จาก​โตเกียว​เพื่อ​เสาะ​หา​บ้าน​ใน​โกเบ​สำหรับ​พวก​มิชชันนารี. เขา​เป็น​มิชชันนารี​พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​แรก​ที่​มา​ถึง​ญี่ปุ่น. เมื่อ​ได้​บ้าน​เรียบร้อย​แล้ว และ​เดือน​พฤศจิกายน 1949 มิชชันนารี​หลาย​คน​ก็​มา​อยู่​ที่​เมือง​โกเบ. วัน​หนึ่ง มี​ห้า​คน​มา​เยี่ยม​ครอบครัว​โค​ดะ. สอง​คน​ใน​จำนวน​นี้​คือ​ลอยด์ แบร์รี​และ​เพอร์ซี อิซลอบ ต่าง​ก็​กล่าว​ปราศรัย​เป็น​ภาษา​อังกฤษ​แก่​คน​ที่​ร่วม​ชุมนุม​ใน​บ้าน​นั้น​คน​ละ​ประมาณ​สิบ​นาที. คุณ​ม็อด​เป็น​ที่​รู้​จัก​ของ​พวก​มิชชันนารี​ว่า​เป็น​พี่​น้อง​คริสเตียน และ​ดู​เหมือน​เธอ​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​เนื่อง​จาก​การ​สมาคม​คบหา. ฉัน​เอง​เกิด​แรง​บันดาล​ใจ​อยาก​เรียน​ภาษา​อังกฤษ​ก็​ตอน​นั้น​แหละ.

อาศัย​การ​ช่วยเหลือ​ของ​มิชชันนารี​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า ฉัน​จึง​ได้​มา​เข้าใจ​ความ​จริง​พื้น​ฐาน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย. คำ​ถาม​ที่​ค้าง​คา​ใจ​ฉัน​ตั้ง​แต่​เด็ก​ก็​มี​คำ​ตอบ. ใช่​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​เสนอ​ความ​หวัง​ที่​จะ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป​ใน​อุทยาน​บน​แผ่นดิน​โลก และ​คำ​สัญญา​เรื่อง​การ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​ของ “บรรดา​ผู้​ซึ่ง​อยู่​ใน​อุโมงค์​รำลึก.” (โยฮัน 5:28, 29, ล.ม.; วิวรณ์ 21:1, 4) ฉัน​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ทรง​ดำเนิน​การ​ให้​ความ​หวัง​เช่น​นั้น​เป็น​ไป​ได้ โดย​ทาง​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​พระ​บุตร​ของ​พระองค์.

กิจกรรม​ที่​น่า​ชื่นชม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​ครั้ง​แรก​ใน​ญี่ปุ่น ระหว่าง​วัน​ที่ 30 ธันวาคม 1949 ถึง 1 มกราคม 1950 ที่​บ้าน​มิชชันนารี​ใน​เมือง​โกเบ. ฉัน​ไป​กับ​คุณ​ม็อด. มอง​จาก​บ้าน​หลัง​ใหญ่​ซึ่ง​เจ้าของ​เดิม​เป็น​สมาชิก​พรรค​นาซี​ก็​ได้​เห็น​ภูมิทัศน์​ของ​เวิ้ง​อ่าว​และ​เกาะ​อะวาจิ​งาม​สะดุด​ตา. เพราะ​เหตุ​ที่​ฉัน​มี​ความ​รู้​จำกัด​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล จึง​ไม่​ค่อย​เข้าใจ​สาระ​ของ​เรื่อง​ที่​กล่าว ณ การ​ประชุม. กระนั้น ฉัน​รู้สึก​ประทับใจ​มาก​เมื่อ​เห็น​พวก​มิชชันนารี​คุ้น​เคย​กัน​ดี​กับ​คน​ญี่ปุ่น. ผู้​เข้า​ร่วม​ฟัง​คำ​บรรยาย​สาธารณะ ณ การ​ประชุม​ครั้ง​นี้​มี​ทั้ง​สิ้น 101 คน.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ฉัน​ตัดสิน​ใจ​เข้า​ส่วน​ใน​งาน​ประกาศ​ตาม​บ้าน​เรือน. ฉัน​ต้อง​ใช้​ความ​กล้า​ขณะ​ไป​ตาม​บ้าน​หลัง​แล้ว​หลัง​เล่า เนื่อง​จาก​ฉัน​เป็น​คน​ขี้อาย. เช้า​วัน​หนึ่ง​บราเดอร์​ลอยด์ แบร์รี​มา​ที่​บ้าน​เพื่อ​พา​ฉัน​ออก​ไป​ใน​งาน​ประกาศ. เขา​เริ่ม​ประกาศ​ที่​บ้าน​หลัง​ถัด​จาก​บ้าน​ซิสเตอร์​โค​ดะ​นั่น​เอง. ฉัน​หลบ​อยู่​ข้าง​หลัง​คอย​ฟัง​วิธี​การ​เสนอ​ของ​เขา. เมื่อ​ฉัน​ออก​ไป​เผยแพร่​ครั้ง​ที่​สอง ฉัน​ทำ​งาน​กับ​มิชชันนารี​หญิง​สอง​คน. หญิง​สูง​อายุ​ชาว​ญี่ปุ่น​เชิญ​เรา​เข้า​ไป​ใน​บ้าน ตั้งใจ​ฟัง​แล้ว​ก็​ให้​นม​เรา​ดื่ม​คน​ละ​แก้ว. เธอ​ตก​ลง​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​บ้าน​และ​ใน​ที่​สุด​เธอ​ก็​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน​ที่​รับ​บัพติสมา. นับ​ว่า​เป็น​การ​หนุน​กำลังใจ​ที่​เห็น​ความ​ก้าว​หน้า​ของ​เธอ.

เดือน​เมษายน ปี 1951 บราเดอร์​นาทาน เอช. นอรร์​จาก​สำนักงาน​ใหญ่​บรุกลิน​ได้​เดิน​ทาง​มา​เยือน​ญี่ปุ่น​เป็น​ครั้ง​แรก. มี​ประมาณ 700 คน​มา​ฟัง​คำ​บรรยาย​สาธารณะ ณ ห้อง​ประชุม​เคียวริตสึ​ใน​เขต​คัน​ดา กรุง​โตเกียว. ณ การ​ประชุม​พิเศษ​คราว​นี้ ทุก​คน ณ ที่​ประชุม​แสดง​ความ​ยินดี​เมื่อ​มี​การ​ประกาศ​ออก​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ภาษา​ญี่ปุ่น. เดือน​ถัด​มา บราเดอร์​นอรร์​แวะ​เยือน​โกเบ และ ณ การ​ประชุม​พิเศษ​ที่​นั่น ฉัน​ได้​รับ​บัพติสมา​เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา.

ประมาณ​หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา ฉัน​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​เข้า​สู่​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา คือ​งาน​ไพโอเนียร์. สมัย​นั้น​มี​ไพโอเนียร์​เพียง​ไม่​กี่​คน​ใน​ญี่ปุ่น และ​ฉัน​ข้อง​ใจ​ว่า​จะ​เอา​เงิน​เลี้ยง​ชีพ​มา​จาก​ไหน. นอก​จาก​นั้น วัน​ข้าง​หน้า​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ถ้า​ฉัน​คิด​เรื่อง​การ​แต่งงาน. แต่​แล้ว​จึง​ตระหนัก​ว่า​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ต้อง​มา​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต ดัง​นั้น ฉัน​สมัคร​เป็น​ไพโอเนียร์​เมื่อ​ปี 1952. น่า​ดีใจ ฉัน​สามารถ​จัด​แบ่ง​เวลา​ทำ​งาน​ให้​ซิสเตอร์​โค​ดะ​ได้​ระหว่าง​ที่​เป็น​ไพโอเนียร์.

ช่วง​นั้น พี่​ชาย​ซึ่ง​ฉัน​นึก​ว่า​ตาย​แล้ว​ใน​สงคราม ได้​กลับ​จาก​ไต้หวัน​มา​ถึง​บ้าน​พร้อม​ด้วย​ครอบครัว. คน​ใน​ครอบครัว​ของ​เรา​ไม่​เคย​สนใจ​คริสต์​ศาสนา แต่​ด้วย​ความ​ร้อน​รน​ตาม​แบบ​ไพโอเนียร์ ฉัน​เริ่ม​ส่ง​วารสาร​และ​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ไป​ให้​พวก​เขา. ใน​เวลา​ต่อ​มา พี่​ชาย​พร้อม​กับ​ครอบครัว​ได้​ย้าย​มา​ทำ​งาน​ที่​โกเบ. ฉัน​จึง​ถาม​พี่​สะใภ้​ว่า “พี่​ได้​อ่าน​วารสาร​บ้าง​ไหม?” ฉัน​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​เมื่อ​เธอ​ตอบ​ว่า “วารสาร​เหล่า​นั้น​น่า​สนใจ.” เธอ​เริ่ม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​มิชชันนารี​คน​หนึ่ง และ​น้อง​สาว​ของ​ฉัน​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​กับ​ครอบครัว​พี่​ชาย​ก็​เข้า​ร่วม​กับ​เธอ​ใน​การ​ศึกษา. ใน​ที่​สุด ทั้ง​สอง​คน​ก็​กลาย​เป็น​คริสเตียน​ที่​ได้​รับ​บัพติสมา.

ภราดรภาพ​นานา​ชาติ​ก่อ​ความ​ประทับใจ

มิ​ช้า​มิ​นาน ฉัน​ตกตะลึง​เมื่อ​ได้​รับ​จดหมาย​เชิญ​เข้า​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด​ใน​รุ่น​ที่ 22. ฉัน​กับ​บราเดอร์​สึโตมุ ฟุ​กา​เซ​เป็น​รุ่น​แรก​จาก​ญี่ปุ่น​ที่​ได้​รับ​เชิญ​เข้า​โรง​เรียน​นี้. ปี 1953 ก่อน​เปิด​เรียน พวก​เรา​สามารถ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​สมาคม​โลก​ใหม่ ที่​สนาม​กีฬา​แยงกี นคร​นิวยอร์ก. ภราดรภาพ​นานา​ชาติ​ท่ามกลาง​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​ความ​ประทับใจ​แก่​ฉัน​เป็น​อย่าง​มาก.

พอ​ถึง​วัน​ที่​ห้า​ของ​การ​ประชุม​ใหญ่ บรรดา​ตัว​แทน​ชาว​ญี่ปุ่น​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​มิชชันนารี​จะ​นุ่ง​กิโมโน. เนื่อง​จาก​ชุด​กิโมโน​ของ​ฉัน​ซึ่ง​จัด​ส่ง​ล่วง​หน้า​ยัง​มา​ไม่​ถึง ฉัน​จึง​ขอ​ยืม​ชุด​ของ​ซิสเตอร์​นอรร์. ระหว่าง​การ​ประชุม​ดำเนิน​อยู่ ฝน​เริ่ม​ตก และ​ฉัน​วิตก​ว่า​ชุด​กิโมโน​อาจ​เปียก. ทันใด​นั้น​เอง มี​คน​หนึ่ง​จาก​ทาง​ด้าน​หลัง​ค่อย ๆ เอา​เสื้อ​ฝน​คลุม​ให้​ฉัน. ซิสเตอร์​คน​ที่​ยืน​ถัด​จาก​ฉัน​ถาม​ว่า “คุณ​รู้​ไหม​ว่า​เขา​เป็น​ใคร?” ฉัน​มา​รู้​ที​หลัง​ว่า​เขา​คือ​บราเดอร์​เฟรเดอริก ดับเบิลยู. แฟรนซ์ สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง. ฉัน​ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง​จริง ๆ ว่า​การ​เอื้อ​อาทร​กัน​มี​อยู่​ภาย​ใน​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา!

กิเลียด​รุ่น​ที่ 22 เป็น​ชั้น​เรียน​นานา​ชาติ​จริง ๆ มี​นัก​เรียน 120 คน​จาก 37 ประเทศ. แม้​มี​อุปสรรค​ด้าน​ภาษา​บ้าง แต่​เรา​ชื่นชม​กับ​ภราดรภาพ​นานา​ชาติ. ฉัน​เรียน​จบ​หลัก​สูตร​ใน​วัน​หนึ่ง​ของ​เดือน​กุมภาพันธ์ ปี 1954 วัน​นั้น​มี​หิมะ​ตก และ​ฉัน​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​กลับ​เขต​งาน​ที่​ญี่ปุ่น. อิงเกอร์ แบรนต์ ซิสเตอร์​ชาว​สวีเดน​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​กับฉัน​ใน​เมือง​นาโกยา. ที่​นั่น เรา​ได้​สมทบ​กับ​มิชชันนารี​กลุ่ม​ที่​อพยพ​จาก​เกาหลี​เนื่อง​จาก​ภัย​สงคราม​ใน​ช่วง​ปี 1950-1953. ชั่ว​เวลา​สอง​สาม​ปี​ที่​ปฏิบัติ​งาน​ฐานะ​มิชชันนารี​นั้น​มี​ค่า​มาก​จริง ๆ สำหรับ​ฉัน.

ความ​ปีติ​ยินดี​ใน​งาน​รับใช้​ฐานะ​ชีวิต​คู่

เดือน​กันยายน 1957 ฉัน​ได้​รับ​เชิญ​ไป​ทำ​งาน​ที่​สำนัก​เบเธล​โตเกียว. บ้าน​ไม้​สอง​ชั้น​ถูก​ใช้​เป็น​สำนักงาน​สาขา​ญี่ปุ่น. มี​สมาชิก​ทำ​งาน​สี่​คน​เท่า​นั้น รวม​ทั้ง​บราเดอร์​แบร์รี​ผู้​ดู​แล​สาขา. นอก​นั้น​เป็น​มิชชันนารี. ฉัน​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​แปล​และ​พิสูจน์​อักษร อีก​ทั้ง​งาน​ทำ​ความ​สะอาด, ซัก​รีด, ทำ​อาหาร, และ​อื่น ๆ.

งาน​ใน​ญี่ปุ่น​กำลัง​ขยาย​ตัว และ​พี่​น้อง​ชาย​อีก​หลาย​คน​ได้​รับ​คำ​เชิญ​เข้า​เบเธล. หนึ่ง​ใน​จำนวน​นั้น​ได้​เป็น​ผู้​ดู​แล​ประชาคม​ที่​ฉัน​ร่วม​สมทบ​อยู่. ปี 1966 บราเดอร์​จุนจิ โคชิโนะ​คน​นี้​ก็​แต่งงาน​กับ​ฉัน. หลัง​การ​แต่งงาน จุนจิ​ได้​รับ​มอบหมาย​งาน​ดู​แล​หมวด. เป็น​เรื่อง​น่า​ยินดี​ที่​ได้​รู้​จัก​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​มาก​มาย​ขณะ​ที่​เรา​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ. เนื่อง​จาก​ฉัน​มี​ส่วน​ใน​งาน​แปล ฉัน​จึง​ทำ​งาน​แปล​อยู่​ที่​บ้าน​ที่​เรา​พัก​ระหว่าง​สัปดาห์​นั้น. ขณะ​เดิน​ทาง นอก​จาก​เรา​ต้อง​หอบ​หิ้ว​กระเป๋า​เสื้อ​ผ้า​และ​สัมภาระ​อื่น ๆ แล้ว เรา​ยัง​ต้อง​ขน​เอา​พจนานุกรม​เล่ม​หนา​และ​หนัก​ติด​ตัว​ไป​ด้วย​หลาย​เล่ม.

เรา​เพลิดเพลิน​กับ​งาน​เยี่ยม​หมวด​สี่​ปี​กว่า ก่อน​กลับ​ไป​ทำ​งาน​ที่​เบเธล และ​เห็น​องค์การ​เติบโต​ขยาย​ตัว​อยู่​เรื่อย ๆ. สาขา​ได้​ย้าย​ไป​ตั้ง​อยู่​ที่​นุมะซุ และ​อีก​หลาย​ปี​ต่อ​มา​ย้าย​ไป​ที่​เอบินา ซึ่ง​เป็น​ที่​ตั้ง​อาคาร​สำนักงาน​สาขา​ใน​ปัจจุบัน. ฉัน​กับ​จุนจิ​ต่าง​ก็​ชื่นชม​งาน​รับใช้​ที่​เบเธล​มา​นาน เวลา​นี้​เรา​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ครอบครัว​ที่​ประกอบ​ด้วย​สมาชิก​ประมาณ 600 คน. เมื่อ​เดือน​พฤษภาคม 2002 เพื่อน ๆ ที่​เบเธล​แสดง​น้ำใจ​งาม โดย​จัด​งาน​ฉลอง​ให้​ฉัน​ที่​รับใช้​เต็ม​เวลา​ครบ 50 ปี.

ดีใจ​ที่​แล​เห็น​ผล​ทวี​ขึ้น

ย้อน​หลัง​ไป​เมื่อ​ปี 1950 ตอน​ที่​ฉัน​เริ่ม​รับใช้​พระ​ยะโฮวา ประเทศ​ญี่ปุ่น​มี​ผู้​ประกาศ​เพียง​ไม่​กี่​คน. เดี๋ยว​นี้​มี​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​มาก​กว่า 210,000 คน. จริง ๆ แล้ว บุคคล​ที่​เปรียบ​เสมือน​แกะ​นับ​พัน​นับ​หมื่น​คน​ได้​รับ​การ​ชัก​นำ​มา​หา​พระ​ยะโฮวา​เหมือน​ที่​ฉัน​เคย​ประสบ​มา.

พี่​น้อง​มิชชันนารี​สี่​คน​ที่​ไป​เยี่ยม​เรา​ที่​บ้าน​ซิสเตอร์​โค​ดะ​เมื่อ​ปี 1949 รวม​ทั้ง​ซิสเตอร์​ม็อด โค​ดะ​ต่าง​ก็​จบ​ชีวิต​อย่าง​ซื่อ​สัตย์. พี่​ชาย​ของ​ฉัน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้ และ​พี่​สะใภ้​ซึ่ง​ได้​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ประมาณ 15 ปี​ก็​ล่วง​ลับ​ไป​เช่น​เดียว​กัน. อะไร​คือ​ความ​หวัง​ใน​อนาคต​สำหรับ​พ่อ​แม่​ของ​ฉัน ซึ่ง​ฉัน​เคย​นึก​วิตก​กลัว​ใน​เรื่อง​การ​ตาย​ของ​ท่าน​สมัย​ฉัน​ยัง​เด็ก? คำ​สัญญา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​ด้วย​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​นั้น​ให้​ความ​หวัง​และ​การ​ปลอบโยน​แก่​ฉัน.—กิจการ 24:15.

เมื่อ​ฉัน​ใคร่ครวญ​เรื่อง​ราว​ใน​อดีต ฉัน​รู้สึก​ว่า​การ​ได้​พบ​คุณ​ม็อด​ใน​ปี 1941 นั้น​เป็น​จุด​เปลี่ยน​ใน​ชีวิต​ของ​ฉัน. หาก​ฉัน​ไม่​ได้​พบ​เธอ​ตอน​นั้น​และ​ฉัน​ไม่​ได้​ตอบรับ​การ​ชักชวน​ให้​มา​ทำ​งาน​กับ​เธอ​อีก​ใน​ช่วง​หลัง​สงคราม ฉัน​คง​ได้​ตั้ง​หลัก​ปัก​ฐาน​ที่​ไร่​ของ​เรา​ใน​หมู่​บ้าน​อัน​ห่าง​ไกล และ​คง​ไม่​มี​การ​ติด​ต่อ​ใด ๆ กับ​พวก​มิชชันนารี​สมัย​แรก ๆ นั้น. ฉัน​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​มาก​ปาน​ใด​ที่​ทรง​ชัก​นำ​ฉัน​มา​รู้​ความ​จริง​โดย​อาศัย​คุณ​ม็อด​และ​พวก​มิชชันนารี​รุ่น​แรก ๆ!

[ภาพ​หน้า 25]

กับ​คุณ​ม็อด โค​ดะ​และ​สามี​ของ​เธอ. ฉัน​อยู่​ด้าน​หน้า​ทาง​ซ้าย

[ภาพ​หน้า 27]

กับ​มิชชันนารี​จาก​ญี่ปุ่น​ที่​สนาม​กีฬา​แยงกี ปี 1953. ฉัน​อยู่​ซ้าย​สุด

[ภาพ​หน้า 28]

ที่​เบเธล​กับ​จุนจิ​สามี​ของ​ฉัน