ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาทรงสอนข้าพเจ้าตั้งแต่เด็ก ๆ มา

พระยะโฮวาทรงสอนข้าพเจ้าตั้งแต่เด็ก ๆ มา

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

พระ​ยะโฮวา​ทรง​สอน​ข้าพเจ้า​ตั้ง​แต่​เด็ก ๆ มา

เล่า​โดย​ริชาร์ด เอบราแฮมสัน

“ข้า​แต่​พระเจ้า, พระองค์​ได้​ทรง​ฝึก​สอน​ข้าพเจ้า​ตั้ง​แต่​เด็ก ๆ มา; และ​ข้าพเจ้า​เคย​พรรณนา​ถึง​การ​อัศจรรย์​ของ​พระองค์​จน​บัด​นี้.” ขอ​ให้​ผม​อธิบาย​เหตุ​ผล​ที่​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​ของ​บทเพลง​สรรเสริญ 71:17 มี​ความหมาย​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​ผม.

ใน​ปี 1924 แฟนนี เอบราแฮมสัน คุณ​แม่​ของ​ผม ได้​พบ​กับ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น. ผม​อายุ​แค่​หนึ่ง​ขวบ​เท่า​นั้น. เมื่อ​คุณ​แม่​ได้​รับ​การ​สอน​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ท่าน​ก็​จะ​วิ่ง​ไป​หา​เพื่อน​บ้าน​แล้ว​บอก​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน​รู้​แก่​พวก​เขา ทั้ง​ยัง​สอน​ผม​กับ​พี่​ชาย​และ​พี่​สาว​ของ​ผม​ด้วย. ก่อน​ที่​ผม​อ่าน​หนังสือ​ออก ท่าน​ได้​ช่วย​ผม​ให้​ท่อง​จำ​ข้อ​คัมภีร์​หลาย​ข้อ​เกี่ยว​กับ​พระ​พร​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.

ปลาย​ทศวรรษ 1920 กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เรา​ใน​เล แกรนด์ รัฐ​ออริกอน สหรัฐ​อเมริกา เมือง​ที่​ผม​เกิด​และ​เติบโต​มา ประกอบ​ด้วย​ผู้​หญิง​และ​เด็ก ๆ ไม่​กี่​คน. ถึง​แม้​เรา​อยู่​โดด​เดี่ยว เรา​ก็​ได้​รับ​การ​เยี่ยม​ปี​ละ​ครั้ง​สอง​ครั้ง​จาก​ผู้​เผยแพร่​เดิน​ทาง​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​พวก​พิลกริม. คน​เหล่า​นี้​กล่าว​คำ​บรรยาย​ที่​ให้​กำลังใจ, ไป​กับ​เรา​ใน​งาน​เผยแพร่​ตาม​บ้าน, และ​แสดง​ความ​สนใจ​ด้วย​ความ​กรุณา​ต่อ​เด็ก ๆ. ใน​บรรดา​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​เป็น​ที่​รัก​ของ​เรา​ก็​มี​ชีลด์ ทุตจีอัน, จีน ออร์เรล, และ​จอห์น บูท.

ใน​ปี 1931 ไม่​มี​ใคร​จาก​กลุ่ม​ของ​เรา​สามารถ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​เมือง​โคลัมบัส รัฐ​โอไฮโอ ที่​พวก​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​รับ​เอา​ชื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. แต่​หมู่​คณะ​ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​ประชาคม​สมัย​นั้น และ​กลุ่ม​โดด​เดี่ยว​ต่าง ๆ ที่​ไม่​ได้​มี​ตัว​แทน ณ การ​ประชุม​ใหญ่​นั้น​ได้​ประชุม​กัน​ใน​ท้องถิ่น​ใน​เดือน​สิงหาคม​นั้น​เพื่อ​รับ​เอา​มติ​ที่​ยอม​รับ​ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา. กลุ่ม​เล็ก ๆ ของ​เรา​ใน​เล แกรนด์​ได้​ทำเช่น​นี้. ครั้น​แล้ว ใน​การ​รณรงค์​ปี 1933 เพื่อ​แจก​จ่าย​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ชื่อ​วิกฤตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ผม​ท่อง​จำ​การ​เสนอ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล และ​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​ผม​ให้​คำ​พยาน​ตาม​บ้าน​โดย​ลำพัง.

ระหว่าง​ทศวรรษ 1930 มี​การ​ต่อ​ต้าน​งาน​ของ​เรา​มาก​ขึ้น. เพื่อ​รับมือ​กับ​เรื่อง​นี้ ได้​มี​การ​แบ่ง​หมู่​คณะ​ออก​เป็น​กลุ่ม​ที่​เรียก​ว่า​หน่วย ซึ่ง​ได้​จัด​การ​ชุมนุม​ขนาด​เล็ก และ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​ภารกิจ​เผยแพร่​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​การ​รณรงค์​ของ​หน่วย​ปี​ละ​ครั้ง​หรือ​สอง​ครั้ง. ณ การ​ประชุม​เหล่า​นี้​เรา​ได้​รับ​การ​สั่ง​สอน​วิธี​ต่าง ๆ ใน​การ​เผยแพร่​และ​มี​การ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​จะ​จัด​การ​ด้วย​ความ​นับถือ​อย่าง​ไร​กับ​เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ที่​ขัด​ขวาง. เนื่อง​จาก​พวก​พยาน​ฯ ถูก​พา​ตัว​ไป​ต่อ​หน้า​ผู้​พิพากษา​ของ​ศาล​ตำรวจ​หรือ​ศาล​ธรรมดา​บ่อย​ครั้ง เรา​จึง​ซ้อม​พูด​เรื่อง​ต่าง ๆ จาก​ใบ​คำ​แนะ​นำ​ที่​เรียก​ว่า​ระเบียบ​ของ​การ​พิจารณา​คดี. การ​ทำ​เช่น​นี้​เตรียม​เรา​ไว้​พร้อม​เพื่อ​รับมือ​กับ​การ​ต่อ​ต้าน.

การ​เติบโต​ช่วง​ต้น ๆ ใน​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล

ผม​มี​ความ​หยั่ง​รู้​คุณค่า​มาก​ขึ้น​ต่อ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ความ​หวัง​ที่​อาศัย​พระ​คัมภีร์​เป็น​หลัก​เกี่ยว​กับ​การ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป​บน​แผ่นดิน​โลก​ภาย​ใต้​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ทาง​ภาค​สวรรค์. ใน​ตอน​นั้น ไม่​มี​การ​เน้น​มาก​นัก​ใน​เรื่อง​การ​รับ​บัพติสมา​สำหรับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ไม่​มี​ความ​หวัง​ได้​ร่วม​ปกครอง​กับ​พระ​คริสต์​ใน​สวรรค์. (วิวรณ์ 5:10; 14:1, 3) ถึง​อย่าง​ไร มี​การ​แจ้ง​ให้​ผม​ทราบ​ว่า หาก​ผม​ตั้งใจ​แน่วแน่​ใน​หัวใจ​ที่​จะ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา ก็​คง​เหมาะ​สม​ที่​จะ​รับ​บัพติสมา. ผม​จึง​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​เดือน​สิงหาคม 1933.

ตอน​ที่​ผม​อายุ 12 ปี ครู​ของ​ผม​รู้สึก​ว่า​ผม​ทำ​ได้​ดี​ใน​การ​พูด​ต่อ​หน้า​สาธารณชน ดัง​นั้น เธอ​จึง​สนับสนุน​คุณ​แม่​ให้​จัด​เตรียม​การ​ฝึก​หัด​เพิ่ม​เติม​สำหรับ​ผม. แม่​คิด​ว่า​นี่​อาจ​ช่วย​ผม​ให้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ดี​ขึ้น. ฉะนั้น ท่าน​จึง​จ่าย​เงิน​ค่า​เรียน​ให้​ผม​โดย​ซัก​รีด​เสื้อ​ผ้า​ให้​ครู​ที่​สอน​เป็น​เวลา​หนึ่ง​ปี. การ​ฝึก​หัด​นั้น​ปรากฏ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​งาน​รับใช้​ของ​ผม. ตอน​อายุ 14 ปี ผม​เป็น​ไข้​รูมาติก​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผม​ต้อง​ออก​จาก​โรง​เรียน​ปี​กว่า.

ใน​ปี 1939 ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ชื่อ​วอร์เรน เฮนเชล​ได้​มา​ที่​เขต​ของ​เรา. * ว่า​กัน​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​แล้ว ท่าน​เป็น​พี่​ชาย​สำหรับ​ผม บาง​ครั้ง​ท่าน​พา​ผม​ออก​ไป​ใน​งาน​รับใช้​ตาม​บ้าน​ทั้ง​วัน. ไม่​นาน​ท่าน​ได้​ช่วย​ผม​ให้​เริ่ม​ต้น​ใน​การ​รับใช้​ประเภท​ไพโอเนียร์​พัก​งาน ซึ่ง​เป็น​งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ชั่ว​คราว​แบบ​หนึ่ง. ฤดู​ร้อน​นั้น กลุ่ม​ของ​เรา​ได้​รับ​การ​จัด​เป็น​หมู่​คณะ. วอร์เรน​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​รับใช้​หมู่​คณะ และ​ผม​ถูก​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์. เมื่อ​วอร์เรน​จาก​ไป​เพื่อ​รับใช้​ที่​เบเธล สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​บรุกลิน นิวยอร์ก ผม​จึง​ได้​มา​เป็น​ผู้​รับใช้​หมู่​คณะ.

การ​เริ่ม​ต้น​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา

หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​ฐานะ​ผู้​รับใช้​หมู่​คณะ​ทำ​ให้​ผม​มี​ความ​ปรารถนา​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​เป็น​ประจำ ซึ่ง​ผม​ได้​ทำ​ตอน​อายุ 17 ปี​หลัง​จาก​จบ​ปี​ที่​สาม​ของ​โรง​เรียน​มัธยม​ปลาย. คุณ​พ่อ​ไม่​ได้​มี​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​เหมือน​เรา แต่​ท่าน​ก็​เป็น​ผู้​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​อย่าง​ดี​และเป็น​คน​ที่​มี​หลักการ​สูง​ส่ง. ท่าน​อยาก​ให้​ผม​เรียน​วิทยาลัย. แต่​ท่าน​บอก​ว่า ตราบ​ใด​ที่​ผม​ไม่​ได้​พึ่ง​อาศัย​ท่าน​ใน​เรื่อง​ที่​พัก​และ​อาหาร ผม​ก็​จะ​ทำ​สิ่ง​ที่​ตัว​เอง​ชอบ​ได้. ดัง​นั้น ผม​จึง​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์​เมื่อ​วัน​ที่ 1 กันยายน 1940.

ตอน​ที่​ผม​จะ​ออก​จาก​บ้าน​ไป แม่​ได้​ให้​ผม​อ่าน​สุภาษิต 3:5, 6 ที่​ว่า “จง​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​เจ้า, อย่า​พึ่ง​ใน​ความ​เข้าใจ​ของ​ตน​เอง: จง​รับ​พระองค์​ให้​เข้า​ส่วน​ใน​ทาง​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า, และ​พระองค์​จะ​ชี้​ทาง​เดิน​ของ​เจ้า​ให้​แจ่ม​แจ้ง.” ที่​จริง​แล้ว การ​ฝาก​ชีวิต​ผม​ไว้​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​เสมอ​มา​ได้​ช่วย​ผม​มาก​ที​เดียว.

ไม่​นาน ผม​ได้​สมทบ​กับ​โจ​และ​มาร์กาเรต ฮาร์ต​ใน​งาน​รับใช้​ทาง​ภาค​กลาง​ตอน​เหนือ​ของ​รัฐ​วอชิงตัน. เขต​งาน​มี​หลาก​หลาย เช่น ฟาร์ม​ปศุสัตว์, ฟาร์ม​แกะ, เขต​สงวน​ของ​พวก​อินเดียน​แดง รวม​ทั้ง​เมือง​และ​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ มาก​มาย. ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ปี 1941 ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​เป็น​ผู้​รับใช้​หมู่​คณะ​ใน​ประชาคม​ที่​เมือง​เวนาชี วอชิงตัน.

ณ การ​ประชุม​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​ของ​เรา​ใน​เมือง​วอล​ลา วอล​ลา วอชิงตัน ผม​อยู่​ฝ่าย​ต้อนรับ​แขก ต้อนรับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เข้า​มา​ใน​ห้อง​ประชุม. ผม​ได้​สังเกต​พี่​น้อง​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​พยายาม​ทำ​ให้​ระบบ​เสียง​ทำ​งาน แต่​ไม่​สำเร็จ. ดัง​นั้น ผม​จึง​แนะ​เขา​ให้​ทำ​งาน​มอบหมาย​ของ​ผม ส่วน​ผม​ก็​จะ​ทำ​งาน​ของ​เขา. เมื่อ​อัลเบิร์ต ฮอฟฟ์มัน ผู้​รับใช้​ภูมิภาค กลับ​มา​เห็น​ว่า​ผม​ได้​ทิ้ง​งาน​มอบหมาย ด้วย​ท่าที​ยิ้ม​แย้ม​อย่าง​เป็น​มิตร เขา​ได้​ชี้​แจง​ให้​ผม​เห็น​คุณค่า​ของ​การ​ยึด​อยู่​กับ​หน้า​ที่​มอบหมาย​ของ​ตน​เอง​จน​กว่า​จะ​ได้​รับ​คำ​สั่ง​อย่าง​อื่น. ผม​จด​จำ​คำ​แนะ​นำ​ของ​เขา​นับ​แต่​นั้น​มา.

ใน​เดือน​สิงหาคม 1941 พยาน​พระ​ยะโฮวา​วาง​แผน​จัด​การ​ประชุม​ที่​ใหญ่​โต​ใน​เมือง​เซนต์​หลุยส์ รัฐ​มิสซูรี. โจ​และ​มาร์กาเรต ฮาร์ต​ได้​ทำ​หลังคา​รถ​กระบะ​ของ​เขา​แล้ว​ติด​ตั้ง​ม้า​นั่ง. พวก​เรา​เก้า​คน​ที่​เป็น​ไพโอเนียร์​ได้​เดิน​ทาง 2,400 กิโลเมตร​ไป​ถึง​เมือง​เซนต์​หลุยส์​โดย​รถ​กระบะ​คัน​นั้น. การ​เดิน​ทาง​ดัง​กล่าว​ใช้​เวลา​เที่ยว​ละ​ประมาณ​หนึ่ง​สัปดาห์. ณ การ​ประชุม​ใหญ่ ฝ่าย​ตำรวจ​ได้​กะ​ว่า​มี​ยอด​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม 115,000 คน. ถึง​แม้​ว่า​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​อาจ​น้อย​กว่า​นั้น เป็น​ที่​แน่นอน​ว่า​มี​มาก​กว่า​จำนวน​พยาน​ฯ ประมาณ 65,000 คน​ใน​สหรัฐ​ใน​เวลา​นั้น. การ​ประชุม​นั้น​เป็น​การ​เสริม​สร้าง​ฝ่าย​วิญญาณ​อย่าง​แท้​จริง.

การ​รับใช้​ที่​เบเธล​บรุกลิน

หลัง​จาก​กลับ​ไป​เวนาชี ผม​ได้​รับ​จดหมาย​ที่​ขอ​ให้​ผม​มา​รับใช้​ที่​เบเธล บรุกลิน. เมื่อ​ผม​มา​ถึง​ใน​วัน​ที่ 27 ตุลาคม 1941 มี​คน​พา​ผม​ไป​ที่​ห้อง​ทำ​งาน​ของ​บราเดอร์​นาทาน เอช. นอรร์ ผู้​ดู​แล​โรง​พิมพ์. ท่าน​ได้​ชี้​แจง​แก่​ผม​อย่าง​กรุณา​ว่า​เบเธล​เป็น​อย่าง​ไร และ​เน้น​ว่า​การ​แนบ​สนิท​กับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​เพื่อ​จะ​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​ชีวิต​ที่​เบเธล. จาก​นั้น​ผม​ถูก​พา​ไป​ที่​แผนก​จัด​ส่ง​และ​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​มัด​กล่อง​สรรพหนังสือ​เพื่อ​จัด​ส่ง.

ใน​วัน​ที่ 8 มกราคม 1942 บราเดอร์​โจเซฟ รัทเทอร์ฟอร์ด ซึ่ง​นำ​หน้า​ใน​ท่ามกลาง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก​ได้​เสีย​ชีวิต. ห้า​วัน​ต่อ​มา คณะ​กรรมการ​บริหาร​ของ​สมาคม​ฯ ได้​เลือก​ตั้ง​บราเดอร์​นอรร์​ให้​สืบ​ตำแหน่ง​ต่อ​จาก​ท่าน. เมื่อ ดับเบิลยู. อี. แวน แอ​ม​เบิร์ก ซึ่ง​เป็น​เหรัญญิก​ของ​สมาคม​ฯ มา​เป็น​เวลา​นาน ได้​ประกาศ​เรื่อง​นี้​แก่​ครอบครัว​เบเธล ท่าน​กล่าว​ว่า “ผม​จำ​ได้​ตอน​ที่ ซี. ที. รัสเซลล์​เสีย​ชีวิต [ใน​ปี 1916] และ เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด​เข้า​มา​แทน. องค์​พระ​ผู้เป็น​เจ้า​ได้​ชี้​นำ​และ​ทำ​ให้​งาน​ของ​พระองค์​เจริญ​รุ่งเรือง​อยู่​ต่อ​ไป. ตอน​นี้ ผม​คาด​หมาย​อย่าง​เต็ม​ที่​ว่า งาน​จะ​รุด​หน้า​ไป​พร้อม​กับ​นาทาน เอช. นอรร์​ใน​ฐานะ​นายก​สมาคม​ฯ เพราะ​นี่​เป็น​งาน​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ไม่​ใช่​งาน​ของ​มนุษย์.”

ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ 1942 มี​คำ​ประกาศ​ว่า จะ​มี​การ​เริ่ม​ต้น “หลัก​สูตร​ที่​ก้าว​หน้า​ใน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า.” หลัก​สูตร​นี้​จัด​ขึ้น​เพื่อ​ฝึก​ผู้​คน​ที่​เบเธล​ให้​ปรับ​ปรุง​ความ​สามารถ​ของ​ตน​ใน​การ​ค้นคว้า​เรื่อง​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล, จัด​เรื่อง​ราว​ของ​เขา​อย่าง​เหมาะ​สม, และ​นำ​เสนอ​เรื่อง​นั้น​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ. การ​ฝึก​หัด​ใน​การ​พูด​ต่อ​หน้า​สาธารณชน​ที่​ผม​ได้​รับ​ก่อน​หน้า​นั้น​ช่วย​ให้​ผม​สามารถ​ก้าว​หน้า​อย่าง​รวด​เร็ว​ใน​หลัก​สูตร​นั้น.

ไม่​นาน​นัก ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ทำ​งาน​ที่​แผนก​การ​รับใช้ ซึ่ง​ดู​แล​งาน​รับใช้​ของ​พยาน​ฯ ใน​สหรัฐ. ช่วง​หลัง​ของ​ปี​นั้น มี​การ​ตัดสิน​ที่​จะ​ตั้ง​โครงการ​ขึ้น​ใหม่​เพื่อ​ให้​ผู้​เผยแพร่​ไป​เยี่ยม​หมู่​คณะ​ของ​พยาน​ฯ. ต่อ​มา ผู้​เผยแพร่​เดิน​ทาง​เหล่า​นี้​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ผู้​รับใช้​พวก​พี่​น้อง ได้​ถูก​เรียก​ว่า​ผู้​ดู​แล​หมวด. ระหว่าง​ฤดู​ร้อน​ปี 1942 มี​การ​จัด​เตรียม​หลัก​สูตร​ที่​เบเธล​เพื่อ​อบรม​พี่​น้อง​ชาย​สำหรับ​งาน​รับใช้​ประเภท​นี้ และ​ผม​มี​สิทธิ​พิเศษ​อยู่​ใน​บรรดา​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​รับ​การ​อบรม. ผม​จำ​ได้​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​บราเดอร์​นอรร์ ซึ่ง​เป็น​ผู้​สอน​คน​หนึ่ง​ได้​เน้น​จุด​นี้​กับ​พวก​เรา​ที่​ว่า “อย่า​พยายาม​ที่​จะ​ได้​รับ​ความ​พอ​ใจ​จาก​มนุษย์. คุณ​จะ​ลงเอย​โดย​ที่​ไม่​ได้​รับ​ความ​พอ​ใจ​จาก​ใคร. จง​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย แล้ว​คุณ​จะ​ทำ​ให้​บรรดา​คน​เหล่า​นั้น​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา​พอ​ใจ.”

มี​การ​เริ่ม​งาน​เดิน​ทาง​ใน​เดือน​ตุลาคม 1942. พวก​เรา​บาง​คน​ที่​เบเธล​ได้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​นี้​บาง​สุด​สัปดาห์ โดย​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ใน​รัศมี​ไม่​เกิน 400 กิโลเมตร​จาก​นคร​นิวยอร์ก. เรา​พิจารณา​รายงาน​กิจการ​งาน​ประกาศ​ของ​ประชาคม​และ​จำนวน​ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม, จัด​การ​ประชุม​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ต่าง ๆ ใน​ประชาคม, บรรยาย​หนึ่ง​หรือ​สอง​เรื่อง, และ​ทำ​งาน​เผยแพร่​ร่วม​กับ​พยาน​ฯ ใน​ท้องถิ่น.

ใน​ปี 1944 ผม​อยู่​ใน​บรรดา​คน​เหล่า​นั้น​จาก​แผนก​การ​รับใช้​ที่​ถูก​ส่ง​ไป​ใน​งาน​เดิน​ทาง​ใน​ช่วง​ระยะ​หก​เดือน รับใช้​ใน​รัฐ​เด​ลา​แวร์, แมริแลนด์, เพนซิลเวเนีย, และ​เวอร์จิเนีย. ต่อ​มา ผม​ได้​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ใน​คอนเนตทิคัต, แมสซาชูเซตส์, และ​โรดไอแลนด์​เป็น​เวลา​สอง​สาม​เดือน. เมื่อ​กลับ​มา​เบเธล ผม​ได้​ทำ​งาน​บาง​เวลา​ใน​สำนักงาน​ร่วม​กับ​บราเดอร์​นอรร์​และ​มิลตัน เฮนเชล เลขานุการ​ของ​ท่าน ที่​นั่น​ผม​ได้​มา​คุ้น​เคย​กับ​งาน​ของ​เรา​ทั่ว​โลก. ผม​ยัง​ได้​รับใช้​บาง​เวลา​ใน​สำนักงาน​ของ​เหรัญญิก​ภาย​ใต้​การ​ดู​แล​ของ ดับเบิลยู. อี. แวน แอ​ม​เบิร์ก​และ​แกรนต์ ซูตเตอร์ ผู้​ช่วย​ของ​ท่าน. ครั้น​แล้ว ใน​ปี 1946 ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ดู​แล​บาง​แผนก​ที่​เบเธล.

การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ชีวิต​ผม

ขณะ​ที่​รับใช้​ประชาคม​ต่าง ๆ ใน​ปี 1945 ผม​ได้​มา​รู้​จัก​กับ​จูเลีย ชาร์นอสกัส ใน​เมือง​พรอวิเดนซ์ รัฐ​โรดไอแลนด์. พอ​ถึง​กลาง​ปี 1947 เรา​คิด​ถึง​การ​แต่งงาน. ผม​รัก​งาน​รับใช้​ที่​เบเธล​มาก​ที​เดียว แต่​ใน​ตอน​นั้น​ยัง​ไม่​มี​การ​จัด​เตรียม​ให้​พา​คู่​สมรส​เข้า​มา​รับใช้​ที่​นั่น. ดัง​นั้น ใน​เดือน​มกราคม 1948 ผม​จึง​ลา​ออก​จาก​เบเธล แล้ว​ผม​กับ​จูเลีย (จู​ลี) ก็​แต่งงาน​กัน. ผม​ได้​งาน​ทำ​แบบ​ไม่​เต็ม​เวลา​ที่​ซูเปอร์มาร์เกต​แห่ง​หนึ่ง​ใน​พรอวิเดนซ์ และ​เรา​เริ่ม​งาน​รับใช้​เป็น​ไพโอเนียร์​ด้วย​กัน.

ใน​เดือน​กันยายน 1949 ผม​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ทำ​งาน​หมวด​ใน​ภาค​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​รัฐ​วิสคอนซิน. นั่น​เป็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ใหญ่​สำหรับ​จู​ลี​กับ​ผม​ที่​จะ​ประกาศ​ใน​เมือง​เล็ก ๆ เสีย​ส่วน​ใหญ่​และ​แถบ​ชนบท​ที่​มี​ฟาร์ม​โค​นม. ฤดู​หนาว​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​ยาว​นาน​และ​หนาว​เย็น โดย​ที่​มี​อุณหภูมิ​ต่ำ​กว่า​ศูนย์​เป็น​เวลา​หลาย​สัปดาห์ และ​มี​หิมะ​ตก​มาก. เรา​ไม่​มี​รถยนต์. อย่าง​ไร​ก็​ดี มี​คน​ให้​เรา​นั่ง​รถ​ไป​ประชาคม​ต่อ​ไป​เสมอ.

หลัง​จาก​ผม​เริ่ม​ทำ​งาน​หมวด​ไม่​นาน เรา​ก็​มี​การ​ประชุม​หมวด. ผม​จำ​ได้​ว่า​ผม​ตรวจ​สอบ​อย่าง​ถี่ถ้วน​เพื่อ​ดู​ว่า​มี​การ​เอา​ใจ​ใส่​ต่อ​การ​ดำเนิน​งาน​ทั้ง​หมด ซึ่ง​ทำ​ให้​ผม​กังวล​ใจ​อยู่​บ้าง. ดัง​นั้น นิโคลาส โควาลัค ผู้​ดู​แล​ภาค​ได้​ชี้​แจง​อย่าง​กรุณา​ว่า พี่​น้อง​ท้องถิ่น​เคย​ชิน​ที่​จะ​เอา​ใจ​ใส่​สิ่ง​ต่าง ๆ ตาม​แบบ​ของ​เขา​เอง​และ​ผม​ไม่​ต้อง​พยายาม​ที่​จะ​จัด​การ​ราย​ละเอียด​ทุก​อย่าง. คำ​แนะ​นำ​นั้น​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ผม​ใน​การ​จัด​การ​กับ​หน้า​ที่​มอบหมาย​หลาย​อย่าง​นับ​แต่​นั้น​มา.

ใน​ปี 1950 ผม​ได้​รับ​งาน​มอบหมาย​ชั่ว​คราว ให้​ดู​แล​การ​จัด​หา​ที่​พัก​สำหรับ​ตัว​แทน​ที่​มา​การ​ประชุม​ใหญ่​แห่ง​แรกใน​หลาย​แห่ง​ของ​เรา​ที่​สนาม​กีฬา​แยงกี​ใน​นคร​นิวยอร์ก. การ​ประชุม​ใหญ่​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​น่า​ตื่นเต้น​ตั้ง​แต่​ต้น​จน​จบ โดย​มี​ตัว​แทน​มา​จาก 67 ประเทศ​และ​มี​ยอด​ผู้​ร่วม​ประชุม 123,707 คน! หลัง​จาก​การ​ประชุม​ใหญ่​แล้ว ผม​กับ​จู​ลี​ทำ​งาน​เดิน​ทาง​ของ​เรา​ต่อ​ไป. เรา​มี​ความ​สุข​ที​เดียว​ใน​งาน​หมวด. อย่าง​ไร​ก็​ดี เรา​รู้สึก​ว่า​เรา​น่า​จะ​เสนอ​ตัว​ต่อ ๆ ไป​ใน​การ​รับใช้​เต็ม​เวลา​แบบ​ใด​ก็​ได้. ดัง​นั้น ทุก​ปี​เรา​ยื่น​ใบ​สมัคร​สำหรับ​ทั้ง​การ​รับใช้​ที่​เบเธล​และ​การ​เป็น​มิชชันนารี. ใน​ปี 1952 เรา​ดีใจ​ที่​ได้​รับ​คำ​เชิญ​ให้​เข้า​ร่วม​ชั้น​ที่ 20 ของ​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด ที่​นั่น​เรา​ได้​รับ​การ​อบรม​สำหรับ​งาน​มิชชันนารี.

การ​รับใช้​ใน​ต่าง​ประเทศ

ตอน​สำเร็จ​การ​ศึกษา​ใน​ปี 1953 เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ไป​บริเตน ซึ่ง​ผม​รับใช้​ใน​งาน​ภาค​ที่​ทาง​ใต้​ของ​อังกฤษ. หลัง​จาก​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ปี​ที่​ทำ​งาน​นี้​ซึ่ง​จู​ลี​กับ​ผม​ชอบ​มาก เรา​รู้สึก​แปลก​ใจ​เนื่อง​จาก​งาน​มอบหมาย​ที่​เรา​ได้​รับ​คือ ย้าย​ไป​เดนมาร์ก. มี​ความ​จำเป็น​สำหรับ​การ​ดู​แล​ใหม่​ที่​สำนักงาน​สาขา​เดนมาร์ก. เนื่อง​จาก​ผม​อยู่​ใกล้​และ​เคย​ได้​รับ​การ​อบรม​ใน​เรื่อง​งาน​แบบ​นั้น​ที่​บรุกลิน​มา​แล้ว ผม​จึง​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ช่วย. เรา​ลง​เรือ​ข้าม​ไป​เนเธอร์แลนด์ และ​จาก​ที่​นั่น​เรา​นั่ง​รถไฟ​ไป​โคเปนเฮเกน ประเทศ​เดนมาร์ก. เรา​ไป​ถึง​ใน​วัน​ที่ 9 สิงหาคม 1954.

ปัญหา​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ต้อง​จัด​การ​คือ พี่​น้อง​บาง​คน​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ​ไม่​ยอม​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​สำนักงาน​ใหญ่​ใน​บรุกลิน. นอก​จาก​นี้ สาม​ใน​สี่​คน​ที่​แปล​สรรพหนังสือ​ของ​เรา​เป็น​ภาษา​เดนมาร์ก​ได้​ออก​จาก​เบเธล​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​เลิก​คบหา​สมาคม​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา. ไพโอเนียร์​สอง​คน คือ​จอร์เกน​กับ​อันนา ลาร์​เซน ซึ่ง​ได้​ทำ​งาน​แปล​แบบ​ไม่​เต็ม​เวลา​อยู่​บ้าง​ได้​ทำ​ตัว​พร้อม​ที่​จะ​ทำ​งาน​เต็ม​เวลา. ด้วย​เหตุ​นี้ การ​แปล​วารสาร​ของ​เรา​เป็น​ภาษา​เดนมาร์ก​ได้​ดำเนิน​ต่อ​ไป​โดย​ไม่​ขาด​สัก​ฉบับ​เดียว. ทั้ง​คู่​ยัง​คง​อยู่​ที่​เบเธล​เดนมาร์ก และ​จอร์เกน​เป็น​ผู้​ประสาน​งาน​ใน​คณะ​กรรมการ​สาขา.

แหล่ง​ที่​ให้​กำลังใจ​อย่าง​แท้​จริง​ใน​ช่วง​ต้น ๆ นั้น​คือ​การ​เยี่ยม​เป็น​ประจำ​โดย​บราเดอร์​นอรร์. ท่าน​จะ​ใช้​เวลา​นั่ง​ลง​พูด​คุย เล่า​ประสบการณ์​ที่​ให้​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​วิธี​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ต่าง ๆ. ระหว่าง​การ​เยี่ยม​ใน​ปี 1955 มี​การ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​เรา​ควร​สร้าง​สาขา​ใหม่​พร้อม​กับ​อาคาร​โรง​พิมพ์​เพื่อ​เรา​จะ​สามารถ​ผลิต​วารสาร​สำหรับ​ประเทศ​เดนมาร์ก. เรา​ได้​ที่​ดิน​ใน​เขต​ชาน​เมือง​ทาง​ทิศ​เหนือ​ของ​กรุง​โคเปนเฮเกน และ​พอ​ถึง​ฤดู​ร้อน​ปี 1957 เรา​ได้​ย้าย​เข้า​ไป​ใน​อาคาร​ที่​สร้าง​ใหม่. แฮร์รี จอห์นสัน​พร้อม​กับ​คาร์รีน ภรรยา​ซึ่ง​เพิ่ง​มา​ถึง​เดนมาร์ก​หลัง​จาก​สำเร็จ​การ​ศึกษา​จาก​ชั้น​ที่ 26 ของ​โรง​เรียน​กิเลียด ได้​ช่วย​ติด​ตั้ง​แท่น​พิมพ์​และ​เดิน​เครื่อง.

เรา​ได้​ปรับ​ปรุง​การ​จัด​ระบบ​ของ​เรา​เพื่อ​จัด​การ​ประชุม​ขนาด​ใหญ่​ใน​เดนมาร์ก และ​ประสบการณ์​ที่​ผม​ได้​รับ​ระหว่าง​ทำ​งาน​เกี่ยว​กับ​การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​สหรัฐ​ปรากฏ​ว่า​เป็น​ประโยชน์. ใน​ปี 1961 การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ขนาด​ใหญ่​ของ​เรา​ใน​โคเปนเฮเกน​ได้​ต้อนรับ​ตัว​แทน​จาก 30 กว่า​ประเทศ. ยอด​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​คือ 33,513 คน. ใน​ปี 1969 เรา​ได้​เป็น​เจ้าภาพ​จัด​การ​ประชุม​ขนาด​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​การ​ประชุม​ทั้ง​สิ้น​ที่​เคย​จัด​มา​ใน​แถบ​สแกนดิเนเวีย โดย​มี​ยอด​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม 42,073 คน!

ใน​ปี 1963 ผม​ได้​รับ​เชิญ​ให้​เข้า​ชั้น​เรียน​ที่ 38 ของ​โรง​เรียน​กิเลียด. นี่​เป็น​หลัก​สูตร​สิบ​เดือน​ที่​มี​การ​ปรับ​ปรุง​ใหม่​ซึ่ง​จัด​ขึ้น​โดย​เฉพาะ​สำหรับ​อบรม​บุคลากร​ของ​สำนักงาน​สาขา. น่า​ยินดี​ที่​ได้​อยู่​ร่วม​กับ​ครอบครัว​เบเธล​บรุกลิน​อีก​ครั้ง​และ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​ประสบการณ์​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​ทำ​งาน​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ใน​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​การ​ดำเนิน​งาน​ใน​สำนักงาน​ใหญ่.

หลัง​จาก​หลัก​สูตร​การ​อบรม​นี้ ผม​ได้​กลับ​ไป​เดนมาร์ก​เพื่อ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​นั่น​ต่อ​ไป. นอก​จาก​นี้ ผม​ยัง​มี​สิทธิ​พิเศษ​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​โซน ไป​เยี่ยม​สำนักงาน​สาขา​ต่าง ๆ ใน​ยุโรป​ตะวัน​ตก​และ​ยุโรป​ทาง​ตอน​เหนือ​เพื่อ​ให้​กำลังใจ​แก่​บุคลากร​ที่​นั่น​และ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​ตน​ให้​สำเร็จ. ไม่​นาน​มา​นี้ ผม​ได้​ทำ​งาน​แบบ​นี้​ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ตก​และ​แถบ​ทะเล​แคริบเบียน.

ใน​ปลาย​ทศวรรษ 1970 พวก​พี่​น้อง​ใน​เดนมาร์ก​เริ่ม​มอง​หา​ทำเล​เพื่อ​จะ​สร้าง​อาคาร​ที่​ใหญ่​กว่า​สำหรับ​การ​แปล​และ​งาน​พิมพ์​ที่​เพิ่ม​ขึ้น. เรา​ได้​พบ​ที่​ดิน​ที่​เหมาะ​ผืน​หนึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​โคเปนเฮเกน​ราว ๆ 60 กิโลเมตร. พร้อม​กับ​คน​อื่น ผม​ได้​ทำ​งาน​ใน​การ​วาง​แผน​และ​การ​ออก​แบบ​อาคาร​ใหม่​หลัง​นี้ ทั้ง​จู​ลี​กับ​ผม​ต่าง​ก็​คอย​ท่า​ที่​จะ​อยู่​ร่วม​กับ​ครอบครัว​เบเธล​ใน​บ้าน​หลัง​ใหม่​ที่​สวย​งาม​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ดี เหตุ​การณ์​ไม่​ได้​เป็น​ไป​เช่น​นั้น.

กลับ​มา​บรุกลิน

ใน​เดือน​พฤศจิกายน 1980 ผม​กับ​จู​ลี​ได้​รับ​เชิญ​ให้​มา​รับใช้​ที่​เบเธล​บรุกลิน ซึ่ง​เรา​มา​ถึง​ตอน​ต้น​เดือน​มกราคม 1981. ตอน​นั้น​เรา​อยู่​ใน​วัย​เกือบ 60 ปี และ​หลัง​จาก​ได้​รับใช้​ร่วม​กับ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ที่​รัก​ของ​เรา​ใน​เดนมาร์ก​มา​แล้ว​เกือบ​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​เรา จึง​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​กลับ​ไป​สหรัฐ. กระนั้น เรา​มิ​ได้​ครุ่น​คิด​ว่า​เรา​ชอบ​จะ​อยู่​ที่​ไหน​มาก​กว่า แต่​เรา​พยายาม​เพ่งเล็ง​อยู่​ที่​งาน​มอบหมาย​ปัจจุบัน​และ​ข้อ​ท้าทาย​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​เกิด​จาก​งาน​นั้น.

เรา​มา​ถึง​บรุกลิน​และ​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ใหม่. จู​ลี​ได้​รับ​มอบหมาย​อยู่​แผนก​บัญชี ทำ​งาน​คล้าย​กับ​ที่​เธอ​ทำ​ใน​เดนมาร์ก. ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ใน​แผนก​การ​เขียน​เพื่อ​ช่วย​จัด​กำหนดการ​ขั้น​ตอน​ใน​การ​ผลิต​สรรพหนังสือ​ของ​เรา. ต้น​ทศวรรษ 1980 เป็น​เวลา​แห่ง​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​การ​ดำเนิน​งาน​ของ​เรา​ที่​บรุกลิน ขณะ​ที่​เรา​เปลี่ยน​จาก​การ​ใช้​เครื่อง​พิมพ์ดีด​และ​การ​เรียง​พิมพ์​โดย​ใช้​แม่​พิมพ์​ตะกั่วหล่อ​มา​ใช้​เครื่อง​คอมพิวเตอร์​และ​พิมพ์​ระบบ​ออฟเซ็ต. ผม​ไม่​รู้​อะไร​เลย​เกี่ยว​กับ​คอมพิวเตอร์ แต่​มี​ความ​เข้าใจ​บ้าง​เกี่ยว​กับ​วิธี​ดำเนิน​งาน​ของ​องค์การ​และ​การ​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ผู้​คน.

หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน มี​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​การ​จัด​ระเบียบ​ของ​แผนก​ศิลป์​ให้​ดี​ขึ้น​ขณะ​ที่​เรา​เปลี่ยน​เป็น​การ​พิมพ์​ระบบ​ออฟเซ็ต​สี่​สี​และ​การ​ใช้​ภาพ​ประกอบ​และ​ภาพ​ถ่าย​สี. ถึง​แม้​ผม​ไม่​มี​ประสบการณ์​ฐานะ​เป็น​ช่าง​ศิลป์ ผม​ก็​สามารถ​ช่วย​ใน​การ​จัด​ระเบียบ. ดัง​นั้น ผม​มี​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​ดู​แล​แผนก​นั้น​เป็น​เวลา​เก้า​ปี.

ใน​ปี 1992 ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ช่วย​กรรมการ​ฝ่าย​การ​พิมพ์​ของ​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​และ​ย้าย​ไป​อยู่​สำนักงาน​ของ​เหรัญญิก. ที่​นี่​ผม​รับใช้​ต่อ​ไป​เกี่ยว​กับ​กิจการ​ด้าน​การ​เงิน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

การ​รับใช้​ตั้ง​แต่​เป็น​เด็ก​มา

ตั้ง​แต่​ช่วง​ต้น​ที่​ผม​เป็น​เด็ก​และ​ระหว่าง​ช่วง 70 ปี​แห่ง​การ​รับใช้​ที่​ได้​อุทิศ​ตัว พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​สอน​ผม​ด้วย​ความ​อด​ทน​โดย​ทาง​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​คำ​ของ​พระองค์ และ​โดย​พี่​น้อง​ที่​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ใน​องค์การ​ที่​น่า​พิศวง​ของ​พระองค์. ผม​ได้​เพลิดเพลิน​กับ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​มา​มาก​กว่า 63 ปี จาก​ช่วง​ดัง​กล่าว​ได้​รับใช้​ร่วม​กับ​จู​ลี​ภรรยา​ผู้​ภักดี​ของ​ผม​เป็น​เวลา​กว่า 55 ปี. ที่​จริง ผม​รู้สึก​ว่า​ได้​รับ​พระ​พร​อย่าง​อุดม​จาก​พระ​ยะโฮวา.

ย้อน​หลัง​ไป​ใน​ปี 1940 ตอน​ที่​ผม​ออก​จาก​บ้าน​เพื่อ​เข้า​สู่​การ​รับใช้​ประเภท​ไพโอเนียร์ คุณ​พ่อ​ได้​หัวเราะ​เยาะ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​ผม​และ​บอก​ว่า “ลูก​เอ๋ย เมื่อ​ออก​จาก​บ้าน​ไป​เพื่อ​ทำ​งาน​นี้​แล้ว ก็​อย่า​คิด​ว่า​จะ​กลับ​มา​หา​พ่อ​เพื่อ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ใด ๆ.” ตลอด​หลาย​ปี ผม​ไม่​เคย​ต้อง​ทำ​แบบ​นั้น​เลย. พระ​ยะโฮวา​ได้​จัด​เตรียม​สิ่ง​จำเป็น​ให้​ผม​ด้วย​พระทัย​กว้าง บ่อย​ครั้ง​โดย​ทาง​เพื่อน​คริสเตียน​ที่​ให้​ความ​ช่วยเหลือ. ภาย​หลัง คุณ​พ่อ​ได้​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​งาน​ของ​เรา และ​ท่าน​ถึง​กับ​ก้าว​หน้า​บ้าง​ใน​การ​เรียน​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ก่อน​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1972. คุณ​แม่​ซึ่ง​มี​ความ​หวัง​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ทาง​ภาค​สวรรค์ ยัง​คง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​ไป​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​จน​กระทั่ง​สิ้น​ชีวิต​ใน​ปี 1985 ตอน​อายุ 102 ปี.

ถึง​แม้​เกิด​ปัญหา​ต่าง ๆ ขึ้น​ใน​การ​รับใช้​เต็ม​เวลา ผม​กับ​จู​ลี​ไม่​เคย​คิด​ที่​จะ​ลา​ออก​จาก​งาน​มอบหมาย​ของ​เรา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ค้ำจุน​เรา​ใน​ความ​ตั้งใจ​เช่น​นี้​เสมอ​มา. แม้​แต่​เมื่อ​พ่อ​แม่​ของ​ผม​อายุ​มาก​และ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ วิกตอเรีย มาร์ลิน พี่​สาว​ของ​ผม​ได้​เสนอ​ความ​ช่วยเหลือ​และ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ท่าน​ด้วย​ความ​กรุณา. เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​สำหรับ​การ​ช่วยเหลือ​ด้วย​ความ​รัก​ของ​เธอ ซึ่ง​ได้​ช่วย​เรา​ให้​ดำเนิน​ต่อ​ไป​ใน​การ​รับใช้​เต็ม​เวลา.

จู​ลี​ได้​เกื้อ​หนุน​ผม​อย่าง​ภักดี​ใน​งาน​มอบหมาย​ทุก​อย่าง​ของ​เรา โดย​มอง​ว่า​นี่​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​แห่ง​การ​อุทิศ​ตัว​เธอ​เอง​แด่​พระ​ยะโฮวา. และ​ถึง​แม้​ตอน​นี้​ผม​อายุ 80 ปี​แล้ว​และ​มี​ปัญหา​สุขภาพ​บาง​อย่าง ผม​ก็​รู้สึก​ว่า​ได้​รับ​พระ​พร​อย่าง​อุดม​จาก​พระ​ยะโฮวา. ผม​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​มาก​จาก​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ ซึ่ง​หลัง​จาก​ประกาศ​ว่า​พระเจ้า​ได้​ทรง​สอน​ท่าน​ตั้ง​แต่​เด็ก ๆ มา ได้​วิงวอน​ว่า ‘ข้า​แต่​พระเจ้า แม้​ว่า​ข้าพเจ้า​ชรา​แล้ว, ขอ​อย่า​ทรง​ละ​ทิ้ง​ข้าพเจ้า​จน​กว่า​ข้าพเจ้า​จะ​ได้​พรรณนา​แก่​คน​ที่​จะ​บังเกิด​มา​นั้น​ให้​รู้​ถึง​ฤทธานุภาพ​ของ​พระองค์.’—บทเพลง​สรรเสริญ 71:17, 18.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 12 วอร์เรน​เป็น​พี่​ชาย​ของ​มิลตัน เฮนเชล ผู้​ซึ่ง​รับใช้​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ฐานะ​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 20]

กับ​คุณ​แม่​ใน​ปี 1940 ตอน​ที่​ผม​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์

[ภาพ​หน้า 21]

กับ​เพื่อน​ไพโอเนียร์ โจ​และ​มาร์กาเรต ฮาร์ต

[ภาพ​หน้า 23]

ใน​วัน​แต่งงาน​ของ​เรา​เดือน​มกราคม 1948

[ภาพ​หน้า 23]

ใน​ปี 1953 กับ​เพื่อน​ร่วม​ชั้น​ใน​โรง​เรียน​กิเลียด. จาก​ซ้าย​ไป​ขวา: ดอน​และ​เวอร์จิเนีย วอร์ด, เฮร์​ทิว​ดา ส​เท​เฮง​กา, จู​ลี​กับ​ผม

[ภาพ​หน้า 23]

กับ​เฟรเดอริก ดับเบิลยู. แฟรนซ์​และ​นาทาน เอช. นอรร์ ใน​โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ปี 1961

[ภาพ​หน้า 25]

กับ​จู​ลี​ใน​ปัจจุบัน