‘ข้าพเจ้าจะตอบแทนคุณแก่พระยะโฮวาอย่างไร?’
เรื่องราวชีวิตจริง
‘ข้าพเจ้าจะตอบแทนคุณแก่พระยะโฮวาอย่างไร?’
เล่าโดยมารีอา เคราซินิส
เมื่ออายุ 18 พ่อแม่ผิดหวังในตัวฉันมาก ญาติพี่น้องต่างก็รังเกียจฉันและคนในหมู่บ้านก็หัวเราะเยาะ. เขาใช้วิธีการต่าง ๆ ทั้งขอร้อง, บังคับ, และขู่เข็ญเพื่อหวังจะทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของฉันต่อพระเจ้า แต่ไม่สำเร็จ. ฉันเชื่อมั่นว่าการยึดความจริงของคัมภีร์ไบเบิลอย่างภักดีย่อมนำมาซึ่งบำเหน็จฝ่ายวิญญาณ. เมื่อมองย้อนไป 50 กว่าปีที่ได้รับใช้พระยะโฮวาเรื่อยมา ฉันเห็นพ้องกับถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ข้าพเจ้าจะสนองพระเดชพระคุณแก่พระยะโฮวา ตอบแทนคุณที่ทรงประทานแก่ข้าพเจ้านั้นอย่างไรได้?”—บทเพลงสรรเสริญ 116:12.
ฉันเกิดปี 1930 ณ หมู่บ้านอักกีโลคัสโตร ห่างจากเมืองท่าเคนเครีย ด้านตะวันออกของคอคอดโครินท์ประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งประชาคมคริสเตียนแท้ได้ตั้งขึ้นที่นี่ในศตวรรษแรก.—กิจการ 18:18; โรม 16:1.
ครอบครัวของฉันดำเนินชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุข. คุณพ่อเป็นประธานของชุมชนและเป็นที่นับถือ. พ่อแม่มีลูกห้าคน ฉันเป็นลูกคนที่สาม. ท่านได้อบรมเลี้ยงดูพวกเราอย่างสมาชิกที่มีใจศรัทธาแห่งคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์. ฉันเข้าโบสถ์ร่วมพิธีมิสซาทุกวันอาทิตย์. ฉันบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อไถ่บาปต่อหน้ารูปบูชา, จุดเทียนตามโรงสวดในชนบท, และถือศีลอดอาหารในวาระต่าง ๆ. บ่อยครั้งฉันเคยคิดจะบวชเป็นชี. ในที่สุด ฉันกลายเป็นคนแรกในครอบครัวที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง.
ตื่นเต้นดีใจเนื่องด้วยความจริงของคัมภีร์ไบเบิล
ตอนอายุ 18 ปี ฉันรู้มาว่าคาทีนา น้องของพี่เขยฉันที่อยู่หมู่บ้านใกล้ ๆ ได้อ่านสิ่งพิมพ์ของพยานพระยะโฮวาและ
เธอไม่ไปโบสถ์อีกเลย. เรื่องนี้รบกวนใจฉันมาก ฉันจึงตั้งใจจะพาเธอกลับสู่แนวทางที่ฉันคิดว่าถูกต้อง. ดังนั้น เมื่อเธอแวะมาหา ฉันเตรียมการไว้ว่าเราสองคนจะออกไปเดินเล่น โดยตั้งใจแวะไปที่เรือนพำนักสำหรับบาทหลวง. บาทหลวงเริ่มสนทนาด้วยการระดมยิงถ้อยคำถากถางพยานพระยะโฮวา กล่าวหาพยานฯ เป็นพวกนอกรีตซึ่งชักนำคาทีนาให้หลงผิด. การถกเถียงดำเนินติดต่อกันถึงสามคืน. คาทีนาแก้ข้อกล่าวหาทุกข้อของเขาด้วยการอ้างเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์ที่เตรียมไว้เป็นอย่างดี. ในที่สุด บาทหลวงพูดว่า เนื่องจากเธอเป็นคนสวยมีเสน่ห์, พูดจาคมคาย, เป็นเด็กฉลาด เธอควรจะชื่นชมกับวัยสาวให้เต็มที่ แล้วค่อยมาสนใจเรื่องพระเจ้าเมื่อแก่แล้ว.ฉันไม่ได้ให้พ่อแม่รู้เรื่องการสนทนาโต้ตอบครั้งนั้น แต่วันอาทิตย์ถัดไป ฉันไม่ไปโบสถ์. พอเที่ยงวัน บาทหลวงตรงมาที่ร้านของเรา. ฉันแก้ตัวว่าฉันต้องอยู่เฝ้าร้านช่วยพ่อ.
“นั่นเป็นสาเหตุแท้จริงไหม หรือเป็นเพราะถูกเด็กสาวคนนั้นโน้มน้าวใจ?” บาทหลวงถาม.
“คนเหล่านี้มีความเชื่อดีกว่าพวกเราเสียอีก” ฉันพูดตรง ๆ.
แล้วบาทหลวงหันไปพูดกับพ่อดังนี้: “คุณอีโคโนมอส ไล่ญาติของคุณออกไปให้พ้น หล่อนจะทำให้ครอบครัวคุณเดือดร้อน.”
ครอบครัวหันมาต่อต้านฉัน
ช่วงนั้นเป็นปลายทศวรรษ 1940 เมื่อมีสงครามกลางเมืองอย่างรุนแรงในประเทศกรีซ. พ่อกลัวว่าทหารกองโจรอาจจับเอาตัวฉันไป พ่อจึงจัดการให้ฉันออกจากบ้านไปอยู่กับพี่สาวในหมู่บ้านที่คาทีนาอยู่. ช่วงสองเดือนที่อาศัยอยู่ที่นั่น ฉันได้รับการช่วยให้เรียนรู้เข้าใจสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวหลายประเด็น. ฉันรู้สึกผิดหวังเมื่อรู้ว่าหลักคำสอนหลายข้อของคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ไม่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์. ฉันได้มารู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงยอมรับการนมัสการโดยการใช้รูปบูชา และกิจปฏิบัติหลากหลายทางศาสนา เช่น การเคารพไม้กางเขนก็ไม่ใช่หลักปฏิบัติของคริสเตียนแต่เดิมที และเพื่อจะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า คนเราต้องนมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:23, ล.ม.; เอ็กโซโด 20:4, 5) ที่สำคัญอย่างยิ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลเสนอความหวังอันรุ่งโรจน์เกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลก! ความจริงล้ำค่าจากคัมภีร์ไบเบิลดังกล่าวเป็นหนึ่งในบรรดาผลประโยชน์เบื้องต้นซึ่งฉันได้รับจากพระยะโฮวา.
ในระหว่างนั้น พี่สาวกับสามีของเธอสังเกตเห็นว่า ฉันไม่ทำเครื่องหมายกางเขนเวลารับประทานอาหาร และไม่อธิษฐานต่อรูปบูชาทางศาสนา. คืนหนึ่งคนทั้งสองลงมือทุบตีฉัน. พอวันรุ่งขึ้น ฉันตัดสินใจออกจากบ้านเขาแล้วไปบ้านน้า. พี่เขยจึงแจ้งให้พ่อทราบ. หลังจากนั้นไม่นาน พ่อไปหาฉันทั้งน้ำตาและพยายามเกลี้ยกล่อมให้ฉันเปลี่ยนใจ. ส่วนพี่เขยถึงกับคุกเข่าขอโทษ ซึ่งฉันก็ให้อภัย. เพื่อเรื่องจะได้จบลง พวกเขาขอร้องให้ฉันกลับเข้าโบสถ์เหมือนเดิม แต่ฉันยืนหยัดมั่นคง.
เมื่อฉันกลับไปที่หมู่บ้านของพ่อ ความกดดันก็ยังมีต่อไป. ฉันไม่มีทางจะติดต่อคาทีนา, แถมไม่มีหนังสืออ่าน, ไม่มีแม้แต่คัมภีร์ไบเบิล. ฉันดีใจเมื่อลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งพยายามสงเคราะห์ฉัน. เมื่อเธอไปที่เมืองโครินท์ เธอได้พบพยานฯ คนหนึ่ง และกลับมาพร้อมกับมีหนังสือ “จงให้พระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง” กับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกติดตัวมาฝากฉันซึ่งฉันเริ่มแอบอ่านไม่ให้ใครเห็น.
ชีวิตเปลี่ยนไปโดยไม่คาดหมาย
การต่อต้านขัดขวางอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันนานถึงสามปี. ฉันไม่มีทางได้ติดต่อพวกพยานฯ เลย ทั้งไม่มีทางที่จะได้รับหนังสือใด ๆ. อย่างไรก็ตาม ฉันไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตฉันจวนจะเกิดขึ้นแล้ว.
พ่อบอกว่าฉันต้องไปหาลุงที่เมืองเทสซาโลนีกา. ก่อนไปเทสซาโลนีกา ฉันแวะไปตัดเสื้อคลุมที่ร้านเย็บเสื้อในเมืองโครินท์. เป็นเรื่องประหลาดมากที่ฉันพบคาทีนาทำงานอยู่ที่นั่น! เราดีใจมากหลังจากไม่ได้พบกันนาน. ขณะที่เราสองคนออกจากร้าน เราพบชายหนุ่มที่น่าคบคนหนึ่งขี่จักรยานกลับบ้านหลังเลิกงาน. เขาชื่อคาราลัมบูส. ครั้นเราสองคนได้รู้จักกันดีแล้ว จึงตกลงใจจะแต่งงาน. และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้เอง วันที่ 9 มกราคม 1952 ฉันก็แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาด้วยการรับบัพติสมา.
คาราลัมบูสได้รับบัพติสมาก่อนฉัน. เขาเผชิญการต่อต้านจากครอบครัวเช่นกัน. คาราลัมบูสเป็นคนกระตือรือร้น. เขารับใช้ฐานะผู้ช่วยผู้รับใช้ประชาคมและนำการศึกษาพระคัมภีร์หลายราย. ต่อมา พี่ชายของเขาได้รับเอาความจริงเช่นกัน และเวลานี้ สมาชิกส่วนใหญ่ในครอบครัวของพี่ชายได้เข้ามารับใช้พระยะโฮวา.
พ่อของฉันชอบคาราลัมบูสมาก ท่านเห็นดีและยินยอมเรื่องการแต่งงาน แต่การจะเกลี้ยกล่อมแม่ไม่ง่ายนัก. ทั้ง ๆ ที่เป็นอย่างนี้ ฉันกับคาราลัมบูสได้แต่งงานกัน ณ วันที่ 29 มีนาคม 1952. มีเพียงพี่ชายคนโตและลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งที่มาร่วมงาน. เวลานั้นฉันไม่รู้เลยว่า คาราลัมบูสจะกลายเป็นพระพรอันหาที่เปรียบไม่ได้—เป็นของประทานจากพระยะโฮวาจริง ๆ! ในฐานะคู่ชีวิตของเขา ฉันสามารถนำพาชีวิตมารวมจุดอยู่ที่งานรับใช้พระยะโฮวา.
การเสริมกำลังพี่น้องของเรา
ปี 1953 ฉันกับคาราลัมบูสตัดสินใจย้ายไปกรุงเอเธนส์. ด้วยความประสงค์จะทำงานประกาศมากขึ้น คาราลัมบูสจึงเลิกทำธุรกิจกับครอบครัวและหางานที่ไม่ต้องทำเต็มเวลา. เราใช้เวลาตอนบ่ายทำงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนด้วยกันและนำการศึกษาพระคัมภีร์หลายราย.
เนื่องจากทางการวางข้อจำกัดงานรับใช้ของเรา ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ไหวพริบ. ยกตัวอย่าง เราตัดสินใจว่าจะจัดวางวารสารหอสังเกตการณ์ ไว้ตามซุ้มสินค้าขายของริมถนนใจกลางกรุงเอเธนส์ ซึ่งสามีฉันทำงานไม่เต็มวันอยู่ที่นั่น. นายตำรวจระดับสูงคนหนึ่งบอกเราว่าวารสารนี้ถูกสั่งห้าม. แต่เขาขอเอาไปอ่านสักเล่มและสอบถามเกี่ยวกับวารสารนี้ที่สำนักความมั่นคง. ครั้นเจ้าหน้าที่ให้คำรับรองว่าวารสารนี้ไม่ผิดกฎหมาย เขากลับมาบอกเรา. ทันทีที่พวกพี่น้องที่ค้าขายแถวนั้นรู้ข่าวก็เริ่มจัดวางวารสารหอสังเกตการณ์ ตามชั้นขายสินค้าของเขาเช่นกัน. ชายผู้หนึ่งรับหอสังเกตการณ์ ไปจากซุ้มสินค้าของพวกเราได้เข้ามาเป็นพยานฯ และตอนนี้รับใช้ฐานะผู้ปกครอง.
นอกจากนั้น เราชื่นชมยินดีเนื่องจากน้องชายคนเล็กของฉันเรียนความจริง. เขามากรุงเอเธนส์เพื่อศึกษาที่วิทยาลัยการเดินเรือพาณิชย์ และเราชวนเขาไปร่วมการประชุมภาคด้วย. การประชุมใหญ่จัดขึ้นในป่าอย่างลับ ๆ. น้องชายชอบสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟัง ณ การประชุม แต่ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็เริ่มงานเป็นกะลาสี. ครั้งหนึ่ง เขาเดินเรือไปถึงเมืองท่าแห่งหนึ่งของประเทศอาร์เจนตินา. ที่นั่นมีมิชชันนารีขึ้นไปประกาศบนเรือ และน้องชายขอรับวารสารของเราไว้อ่าน. เราดีใจมากเมื่อเขาเขียนจดหมายบอกเราว่า “ผมพบความจริงแล้ว ช่วยจัดการบอกรับวารสารให้ผมได้อ่านเป็นประจำด้วย.” ตอนนี้เขากับครอบครัวกำลังรับใช้พระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์.
ปี 1958 สามีฉันรับคำเชิญให้รับใช้ฐานะผู้ดูแลเดินทาง. เนื่องจากงานของเราถูกสั่งห้ามและสภาพการณ์ยังยุ่งยากอยู่ ตามปกติผู้ดูแลเดินทางจะไม่พาภรรยาไปด้วย. พอถึงเดือนตุลาคม 1959 เราขอร้องพี่น้องที่สำนักงานสาขาซึ่งดูแลรับผิดชอบด้านนี้ว่าฉันจะร่วมเดินทางไปกับสามีได้หรือไม่. พวกเขาตกลง. เราจะต้องเยี่ยมให้การหนุนใจประชาคมต่าง ๆ ทางตอนกลางและทางภาคเหนือของกรีซ.
การเดินทางสมัยนั้นไม่ง่าย. ถนนลาดยางไม่ค่อยมี และนาน ๆ จะเจอสักครั้ง. เนื่องจากเราไม่มีรถส่วนตัว ปกติแล้วเราขึ้นรถโดยสารประจำทางหรือรถกระบะไม่มีหลังคา บรรทุกทั้งไก่และสินค้าจิปาถะ. เราสวมรองเท้าบูตเดินย่ำไปตามถนนที่เต็มไปด้วยโคลน. โดยเหตุที่ทุกหมู่บ้านมีกองพลเรือนอาสาสมัคร เพื่อหลีกเลี่ยงการสืบสวน เราจะต้องเข้าหมู่บ้านตอนที่มืดแล้ว.
พวกพี่น้องหยั่งรู้ค่าการเยี่ยมของเราเป็นอย่างมาก. ถึงแม้พี่น้องส่วนใหญ่ทำงานหนักในไร่ในสวนของเขา กระนั้น พวกเขาใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อเข้าร่วมประชุมในตอนดึกซึ่งจัดขึ้นในบ้านหลายหลังไม่ซ้ำกัน. พี่น้องมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างยิ่งอีกด้วย และให้สิ่งดีที่สุดแก่เราตามมีตามเกิด แม้พวกเขามีไม่มาก. บางครั้ง เรานอนห้องเดียวกันกับทุกคนในครอบครัว. ความเชื่อ, ความเพียรอดทน, และความกระตือรือร้นของพวกพี่น้องเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ก่อประโยชน์มากมายแก่เรา.
แผ่ขยายงานรับใช้ของเรา
เดือนกุมภาพันธ์ 1961 ระหว่างการเยี่ยมสำนักงานสาขาในกรุงเอเธนส์ มีคนถามเราว่าอยากทำงานรับใช้ที่เบเธลหรือไม่. เราตอบโดยใช้ถ้อยคำของยะซายาที่ว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่; ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.” (ยะซายา 6:8) สองเดือนต่อมา เราได้รับจดหมายแจ้งให้ไปสำนักเบเธลทันทีที่ทำได้. ดังนั้น วันที่ 27 พฤษภาคม 1961 เราเริ่มงานรับใช้ที่เบเธล.
เราชื่นชอบงานมอบหมายใหม่ของเรามากและรู้สึกผ่อนคลายสบายใจในทันที. สามีฉันทำงานในแผนกการรับใช้และบอกรับ และต่อมาระยะหนึ่งเขารับใช้ในคณะกรรมการสาขา. ส่วนฉันได้รับมอบหมายให้ทำงานหลายอย่างในบ้าน. เวลานั้น มีสมาชิกครอบครัวเบเธล 18 คน แต่เป็นเวลาเกือบห้าปีที่มีประมาณ 40 คนในเบเธล เนื่องจากได้มีการจัดโรงเรียนการรับใช้สำหรับผู้ปกครองที่นั่น. ภาคเช้า ฉันล้างถ้วยชาม, ช่วยงานในครัว, จัดที่นอน 12 ที่และจัดโต๊ะอาหารมื้อกลางวัน. ภาคบ่าย ฉันรีดผ้าและทำความสะอาดห้องน้ำและห้องนอน. นอกจากนั้น ฉันทำงานแผนกซักรีดสัปดาห์ละหนึ่งวัน. มีงานให้ทำมากมาย แต่ฉันมีความสุขที่สามารถช่วยได้.
เราง่วนอยู่กับงานมอบหมายในเบเธลไม่ว่างเว้นทั้งงานออกประกาศด้วย. หลายครั้งเรานำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมากถึงเจ็ดรายทีเดียว. วันสุดสัปดาห์ ฉันมักจะร่วมเดินทางไปกับคาราลัมบูสเมื่อเขาไปบรรยายตามประชาคมต่าง ๆ. เราไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดเวลา.
เราเคยนำการศึกษาพระคัมภีร์กับคู่สามีภรรยาที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ แถมยังเป็นเพื่อนที่ชอบพอเป็นส่วนตัวกับพระสอนศาสนาที่สอดส่องหาตัวพวกนอกคอกนอกศาสนา. ในบ้านของเขามีห้องหนึ่งเต็มแน่นด้วยรูปบูชา มีธูปเทียนจุดไว้ตลอดเวลา และเปิดเพลงสวดแบบไบแซนไทน์ทั้งวัน. ช่วงหนึ่ง เราไปนำการศึกษาพระคัมภีร์กับเขาทุกวันพฤหัสบดี และพระสอนศาสนาเยี่ยมเขาวันศุกร์. วันหนึ่ง สามีภรรยาคู่นี้ขอให้เราไปที่บ้านของเขาให้ได้ เพราะเขามีอะไรบางอย่างจะให้เราประหลาดใจ. สิ่งแรกที่เขาให้เราชมคือห้องนั้นนั่นเอง. เขาได้เอารูปบูชาทุกชิ้นออกไปและแต่งห้องใหม่. คนทั้งสองได้ทำความก้าวหน้าต่อไปและรับบัพติสมา. รวมเบ็ดเสร็จ เราประสบความชื่นชมที่เห็นประมาณ 50 คนที่เราเคยนำการศึกษาพระคัมภีร์กับพวกเขาได้อุทิศชีวิตของเขาแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมา.
การสมาคมคบหากับพี่น้องผู้ถูกเจิมทำให้ฉันได้รับประโยชน์เป็นพิเศษ. การเยี่ยมเยือนของสมาชิกคณะกรรมการปกครอง อาทิ บราเดอร์นอรร์, บราเดอร์แฟรนซ์, และบราเดอร์เฮนเชลให้การหนุนใจเป็นอย่างมาก. หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ฉันยังคงรู้สึกว่าการรับใช้ที่บ้านเบเธลเป็นเกียรติและสิทธิพิเศษอย่างใหญ่หลวง.
รับมือความเจ็บป่วยและการสูญเสีย
ปี 1982 สามีฉันเริ่มส่ออาการโรคอัลไซเมอร์. พอมาปี 1990 สุขภาพของเขาทรุดโทรมมากและต้องมีคนคอยเอา
ใจใส่ดูแลเขาตลอดเวลา. ตลอดช่วงแปดปีก่อนเขาเสียชีวิต เราออกจากบ้านเบเธลไปไหนไม่ได้เลย. พี่น้องที่รักของเราหลายคนในครอบครัวเบเธล รวมทั้งผู้ดูแลที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้เตรียมการช่วยเหลือเรา. แม้ว่าพวกเขาช่วยเหลือด้วยความกรุณาอยู่แล้ว แต่ฉันต้องใช้เวลาดูแลเขาหลายชั่วโมงทั้งกลางวันกลางคืน. สภาพการณ์หลายอย่างบางครั้งก็ยากลำบากอย่างที่สุด จนฉันไม่ได้หลับไม่ได้นอนหลายคืน.เดือนกรกฎาคม ปี 1998 สามีสุดที่รักก็สิ้นชีวิต. แม้ฉันยังอาลัยคิดถึงเขามาก แต่ฉันได้รับการปลอบประโลมด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเขาอยู่ในการดูแลของพระยะโฮวา และฉันรู้ว่าพระยะโฮวาจะทรงระลึกถึงเขาพร้อมกับคนอื่น ๆ อีกหลายล้านคนเมื่อมีการกลับเป็นขึ้นจากตาย.—โยฮัน 5:28, 29.
สำนึกบุญคุณที่ได้รับประโยชน์นานัปการจากพระยะโฮวา
ถึงแม้สามีล่วงลับไปแล้ว แต่ฉันไม่อยู่เดียวดาย. ฉันยังคงมีสิทธิพิเศษทำงานรับใช้ที่เบเธล และชื่นชมกับความรัก และการเอาใจใส่ของสมาชิกครอบครัวเบเธลทุกคน. ครอบครัวขยายของฉันยังประกอบด้วยพี่น้องฝ่ายวิญญาณทั้งชายและหญิงจากทั่วประเทศกรีซ. แม้เวลานี้อายุเกิน 70 ปีแล้ว ฉันยังสามารถทำงานได้เต็มวันไม่ว่างานในครัวและงานในห้องรับประทานอาหาร.
ปี 1999 ความใฝ่ฝันของฉันกลายเป็นจริงเมื่อได้ไปเยือนสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในนิวยอร์ก. ฉันไม่อาจพรรณนาได้ว่าฉันรู้สึกอย่างไร. นั่นเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างกำลังใจและที่ไม่อาจลืมเสียได้.
เมื่อมองย้อนหลัง ฉันเชื่ออย่างจริงใจว่าฉันได้ใช้ชีวิตในทางที่ดีที่สุด. งานประจำชีพที่ดีเยี่ยมเท่าที่คนเราจะทำได้คืองานรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา. ฉันพูดได้อย่างมั่นใจว่าฉันไม่เคยขัดสนสิ่งใด. พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยดูแลฉันและสามีด้วยความรักใคร่ทั้งทางด้านร่างกายและฝ่ายวิญญาณ. จากประสบการณ์ส่วนตัว ฉันเข้าใจเหตุผลที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ถามดังนี้: “ข้าพเจ้าจะสนองพระเดชพระคุณแก่พระยะโฮวา ตอบแทนคุณที่ทรงประทานแก่ข้าพเจ้านั้นอย่างไรได้?”—บทเพลงสรรเสริญ 116:12.
[ภาพหน้า 26]
คาราลัมบูสกับฉันไม่เคยห่างกัน
[ภาพหน้า 27]
สามีฉันในห้องทำงานที่สำนักงานสาขา
[ภาพหน้า 28]
ฉันรู้สึกว่างานรับใช้ที่เบเธลเป็นงานที่มีเกียรติสูง