“จงแสดงตัวว่าท่านขอบพระคุณ”
“จงแสดงตัวว่าท่านขอบพระคุณ”
“จงให้สันติสุขของพระคริสต์ควบคุมหัวใจของท่าน . . . และจงแสดงตัวว่าท่านขอบพระคุณ.”—โกโลซาย 3:15, ล.ม.
1. เราสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรระหว่างประชาคมคริสเตียนกับโลกที่อยู่ใต้อำนาจของซาตาน?
ใน 94,600 ประชาคมของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก เราพบน้ำใจแห่งการแสดงการขอบคุณ. การประชุมแต่ละครั้งเริ่มและจบด้วยคำอธิษฐานที่รวมเอาการขอบพระคุณพระยะโฮวาไว้ด้วย. บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำพูด “ขอบคุณครับ (ค่ะ)” “ยินดีครับ (ค่ะ)” หรือคำพูดคล้าย ๆ กันนี้จากปากของเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งจากพยานฯ ใหม่ ๆ และผู้ที่เป็นพยานฯ มานาน ขณะที่พวกเขาร่วมกันในการนมัสการและการมีมิตรภาพอย่างที่เป็นสุข. (บทเพลงสรรเสริญ 133:1) นั่นช่างต่างออกไปอย่างมากจากน้ำใจแห่งการคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งแพร่หลายท่ามกลางผู้คนมากมาย ‘ที่ไม่รู้จักพระยะโฮวาและไม่เชื่อฟังข่าวดี’! (2 เธซะโลนิเก 1:8, ล.ม.) เราอยู่ในสังคมโลกที่ไม่สำนึกถึงบุญคุณ. และก็ไม่น่าประหลาดใจที่เป็นอย่างนี้เมื่อคำนึงถึงว่า พระเจ้าของโลกนี้ คือซาตานพญามาร เป็นตัวการสำคัญในการส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ซึ่งความเย่อหยิ่งและน้ำใจกบฏของมันแผ่ซ่านไปทั่วทุกส่วนของสังคมมนุษย์!—โยฮัน 8:44; 2 โกรินโธ 4:4; 1 โยฮัน 5:19.
2. เราต้องเอาใจใส่คำเตือนอะไร และเราจะพิจารณาคำถามอะไร?
2 เนื่องจากถูกห้อมล้อมด้วยโลกของซาตาน เราจึงต้องระวังไม่ให้น้ำใจของโลกทำให้เราเสื่อมเสีย. ในศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลเตือนใจคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์ดังนี้: “คราวหนึ่งท่านทั้งหลายได้ดำเนินตามระบบของโลกนี้ ตามผู้ครองอำนาจแห่งอากาศ คือวิญญาณซึ่งบัดนี้ปฏิบัติการในบุตรแห่งการไม่เชื่อฟัง. ถูกแล้ว ท่ามกลางพวกเขาครั้งหนึ่งเราทุกคนได้ประพฤติตัวสอดคล้องกับความปรารถนาแห่งเนื้อหนังของเรา โดยกระทำสิ่งที่เนื้อหนังและความคิดปรารถนา และเราจึงเป็นลูกแห่งความพิโรธตามธรรมดาเหมือนคนอื่น.” (เอเฟโซ 2:2, 3, ล.ม.) นี่เป็นจริงกับหลายคนในทุกวันนี้เช่นกัน. ถ้าอย่างนั้น เราจะรักษาน้ำใจแห่งการ แสดงการขอบคุณไว้ได้อย่างไร? พระยะโฮวาทรงให้ความช่วยเหลืออะไร? เราจะแสดงอย่างไรในภาคปฏิบัติว่าเราขอบพระคุณอย่างแท้จริง?
เหตุผลสำหรับการขอบพระคุณ
3. เราขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับอะไร?
3 พระยะโฮวาพระเจ้า ซึ่งเป็นพระผู้สร้างและผู้ประสาทชีวิตของเรา เป็นผู้สมควรได้รับการขอบพระคุณจากเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงของประทานอันอุดมล้นเหลือที่พระองค์ทรงประทานแก่เราด้วยพระทัยกว้าง. (ยาโกโบ 1:17) แต่ละวัน เราขอบคุณพระยะโฮวาที่เรามีชีวิตอยู่. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) เมื่อมองไปรอบ ๆ เราเห็นหลักฐานมากมายที่เป็นพระหัตถกิจของพระยะโฮวา เช่น ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และดวงดาวต่าง ๆ. คลังแร่ธาตุต่าง ๆ จำนวนมากมายที่ค้ำจุนชีวิตบนดาวเคราะห์ของเรา, ก๊าซต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตซึ่งผสมกันได้สัดส่วนพอเหมาะพอดีในชั้นบรรยากาศ, อีกทั้งวัฏจักรธรรมชาติอันสลับซับซ้อน ล้วนเป็นพยานหลักฐานที่แสดงว่า เราเป็นหนี้บุญคุณพระบิดาฝ่ายสวรรค์องค์ทรงเปี่ยมด้วยความรักของเรา. กษัตริย์ดาวิดร้องเพลงว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้า, พระองค์ทรงกระทำการอัศจรรย์ [“ราชกิจอันอัศจรรย์,” ล.ม.] มาก, พระดำริของพระองค์มีต่อพวกข้าพเจ้ามากมาย: จะหาผู้ใดเทียมพระองค์บ่มิได้; ถ้าข้าพเจ้าจะสำแดงหรือพูดถึงการเหล่านั้นก็เหลือที่จะนับได้.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:5.
4. ทำไมเราควรขอบพระคุณพระยะโฮวาที่เรามีการคบหาสมาคมที่น่าเพลิดเพลินในประชาคมต่าง ๆ ของพวกเรา?
4 แม้ว่ายังไม่ได้อยู่ในอุทยานทางกายภาพ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบันก็กำลังเพลิดเพลินกับการอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. ที่หอประชุมราชอาณาจักรและการประชุมใหญ่ต่าง ๆ เราเห็นผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจอยู่ท่ามกลางเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา. ที่จริง เมื่อประกาศกับคนที่ไม่ค่อยมีหรือไม่มีความรู้ทางศาสนา พยานฯ บางคนกล่าวถึงสิ่งที่เปาโลพรรณนาไว้ในจดหมายของท่านถึงชาวกาลาเทีย. พยานฯ เหล่านั้นเริ่มจากการนำความสนใจผู้ฟังไปสู่ “การของเนื้อหนัง” แล้วถามพวกเขาว่า ได้สังเกตอะไร. (ฆะลาเตีย 5:19-23) ส่วนใหญ่เห็นพ้องในทันทีว่า ข้อความดังกล่าวพรรณนาสภาพที่ตรงกับลักษณะสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน. เมื่อให้เขาเห็นคำพรรณนาเกี่ยวกับผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า และเชิญพวกเขามาหอประชุมท้องถิ่นเพื่อให้เห็นด้วยตาของตัวเองถึงหลักฐานที่แสดงถึงผลแห่งพระวิญญาณนั้น หลายคนยอมรับในไม่ช้าว่า “พระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางพวกท่านเป็นแน่.” (1 โกรินโธ 14:25) หลักฐานดังกล่าวไม่ได้มีแต่ที่หอประชุมราชอาณาจักรท้องถิ่นเท่านั้น. ไม่ว่าคุณจะเดินทาง ไปที่ไหน เมื่อใดที่คุณได้พบกับพยานพระยะโฮวาซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นกว่าหกล้านคน คุณจะเห็นบรรยากาศที่มีความสุขความยินดีอย่างเดียวกัน. ใช่แล้ว การคบหาสมาคมที่เสริมสร้างนี้เป็นเหตุผลที่จะขอบพระคุณพระยะโฮวา ผู้ซึ่งประทานพระวิญญาณของพระองค์เพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้.—ซะฟันยา 3:9; เอเฟโซ 3:20, 21.
5, 6. เราจะแสดงตัวว่าขอบพระคุณในค่าไถ่อันเป็นของประทานอันยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้าโดยวิธีใด?
5 ของประทานอันยิ่งใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดที่พระยะโฮวาโปรดประทาน คือ พระเยซู พระบุตรของพระองค์ ซึ่งโดยทางพระองค์นี้เองที่มีการจัดเตรียมเครื่องบูชาไถ่. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ถ้าพระเจ้าทรงรักเราเช่นนี้แล้ว ตัวเราเองก็มีพันธะที่จะรักซึ่งกันและกัน.” (1 โยฮัน 4:11, ล.ม.) ใช่แล้ว เราแสดงตัวว่าขอบพระคุณในค่าไถ่ ไม่ใช่เพียงโดยการแสดงความรักและความสำนึกบุญคุณต่อพระยะโฮวาเท่านั้น แต่โดยที่เราดำเนินชีวิตอย่างที่แสดงความรักต่อคนอื่น ๆ ด้วย.—มัดธาย 22:37-39.
6 เราสามารถเรียนได้มากขึ้นเกี่ยวกับการแสดงความขอบพระคุณโดยพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อชาติอิสราเอลสมัยโบราณ. โดยทางพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่ชาตินั้นผ่านทางโมเซ พระยะโฮวาทรงสอนบทเรียนหลายอย่างแก่ประชาชนของพระองค์. จาก “แบบแผนแห่งความรู้และความจริงในพระบัญญัตินั้น” เราสามารถเรียนรู้ได้มากมายที่จะช่วยให้เราทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “จงแสดงตัวว่าท่านขอบพระคุณ.”—โรม 2:20; โกโลซาย 3:15, ล.ม.
บทเรียนสามอย่างจากพระบัญญัติของโมเซ
7. การจัดเตรียมเกี่ยวกับการถวายส่วนหนึ่งในสิบเปิดโอกาสให้ชาวอิสราเอลแสดงความขอบพระคุณต่อพระยะโฮวาอย่างไร?
7 ในพระบัญญัติของโมเซ พระยะโฮวาทรงกำหนดสามวิธีที่ชาวอิสราเอลจะสามารถแสดงความขอบพระคุณจากใจจริงของตนสำหรับความดีของพระองค์. วิธีแรกคือ การถวายส่วนหนึ่งในสิบ. ส่วนหนึ่งในสิบของพืชผลที่ได้จากแผ่นดิน กับ “ส่วนสิบลดหนึ่งในฝูงโคและฝูงแกะและฝูงแพะ” จะเป็น “ของบริสุทธิ์แก่พระยะโฮวา.” (เลวีติโก 27:30-32) เมื่อชาวอิสราเอลเชื่อฟัง พระยะโฮวาทรงอวยพรพวกเขาอย่างอุดม. “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัส . . . ว่า, ‘จงเอาบรรดาส่วนสิบชักหนึ่งนั้นมาสะสมไว้ในคลัง, เพื่อจะมีโภชนาหารไว้ในวิหารของเรา, และจงมาลองดูเราในเรื่องนี้, ดูทีหรือว่า, เราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่.’”—มาลาคี 3:10.
8. การให้ของถวายด้วยใจสมัครต่างจากการถวายส่วนหนึ่งในสิบในแง่ใด?
8 วิธีที่สอง: นอกจากข้อเรียกร้องเรื่องการถวายส่วนหนึ่งในสิบแล้ว พระยะโฮวายังจัดเตรียมให้ชาวอิสราเอลมีโอกาสที่จะให้ของถวายด้วยใจสมัคร. พระองค์บัญชาให้โมเซบอกแก่ชาวอิสราเอลดังนี้: “เมื่อเจ้าทั้งหลายมาถึงแผ่นดินที่เราจะพาเจ้าให้ไปถึงนั่นแล้ว, ก็จะเป็นไปว่าเมื่อเจ้าทั้งหลายกินข้าวแต่แผ่นดินนั้น, จงทำเครื่องบูชายกขึ้นถวายต่อพระพักตร์พระยะโฮวา.” ผลแรกบางอย่างจาก “แป้ง” ที่ทำเป็น “ขนม” ต้องให้เป็นของถวาย “ต่อพระพักตร์พระยะโฮวา” ตลอดชั่วชาติพันธุ์ของพวกเขา. ขอสังเกตว่า ไม่อาฤธโม 15:18-21) แต่เมื่อชาวอิสราเอลให้ของถวายเพื่อแสดงความขอบพระคุณ พวกเขาก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะอวยพรเขา. มีการจัดเตรียมคล้าย ๆ กันนี้เกี่ยวข้องกับพระวิหารในนิมิตของยะเอศเคล. เราอ่านดังนี้: “ผลไม้ดีที่สุดแต่ผลแรกทั้งปวงทุกอย่างและเครื่องถวายทั้งปวงแต่เครื่องถวายเหล่านั้นจะได้เป็นของปุโรหิต, และเจ้าทั้งหลายจะต้องถวายแป้งที่ได้ก่อนแก่ปุโรหิต, เพื่อพระพรจะได้อาศัยอยู่ในเรือนของเจ้า.”—ยะเอศเคล 44:30.
มีการกำหนดปริมาณที่เจาะจงสำหรับการถวายผลแรก. (9. พระยะโฮวาทรงสอนสิ่งใดผ่านทางการจัดเตรียมให้มีการเหลือพืชผลในไร่นา?
9 วิธีที่สาม: พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้มีธรรมเนียมการเหลือพืชผลในไร่นา. พระเจ้าบัญชาว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายเกี่ยวข้าวที่นา, อย่าเกี่ยวเก็บข้าวที่ริมคันนาให้หมด, และอย่าเก็บข้าวที่ตกเมื่อเกี่ยว. และอย่าเก็บผลไม้ที่สวนเถาองุ่นให้หมด; แต่ให้เหลือไว้บ้างให้คนจนและคนแขกบ้านเก็บกิน: เราเป็นยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า.” (เลวีติโก 19:9, 10) อีกครั้งหนึ่ง ไม่มีการระบุปริมาณที่เจาะจง. เป็นเรื่องที่ชาวอิสราเอลแต่ละคนจะต้องตัดสินเอาเองว่า เขาจะเหลือพืชผลไว้ให้มากน้อยแค่ไหนแก่ผู้ยากไร้. กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดพรรณนาไว้อย่างเหมาะว่า “คนที่เอ็นดูเผื่อแผ่แก่คนยากจนเปรียบเหมือนได้ให้พระยะโฮวาทรงยืมไป; และพระองค์จะทรงตอบแทนคุณความดีของเขา.” (สุภาษิต 19:17) โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาสอนให้มีความเมตตาสงสารและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ด้อยโอกาส.
10. อะไรคือผลที่เกิดขึ้นกับชาวอิสราเอลเมื่อพวกเขาแสดงตัวว่าไม่ขอบพระคุณ?
10 พระยะโฮวาทรงอวยพรชาวอิสราเอลเมื่อพวกเขาเชื่อฟังและนำส่วนหนึ่งในสิบมาถวาย, ให้ของถวายด้วยใจสมัคร, และจัดเตรียมแก่ผู้ยากไร้. แต่เมื่อชาวอิสราเอลไม่แสดงตัวว่าขอบพระคุณ พวกเขาก็สูญเสียความโปรดปรานจากพระยะโฮวา. นั่นนำไปสู่ความหายนะและการเนรเทศในที่สุด. (2 โครนิกา 36:17-21) ถ้าอย่างนั้น บทเรียนสำหรับเราคืออะไร?
การแสดงการขอบพระคุณของเรา
11. อะไรคือวิธีหลักที่เราสามารถแสดงความขอบพระคุณต่อพระยะโฮวา?
11 วิธีหลักในการถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาและแสดงการขอบพระคุณของเราเกี่ยวข้องกับ ‘การถวาย’ เช่นกัน. จริงอยู่ ฐานะคริสเตียน เราไม่อยู่ภายใต้พระบัญญัติของโมเซที่เรียกร้องให้ถวายสัตว์หรือพืชผลเป็นเครื่องบูชา. (โกโลซาย 2:14) กระนั้น อัครสาวกเปาโลกระตุ้นคริสเตียนชาวฮีบรูดังนี้: “จงให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.” (เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) เราสามารถแสดงความขอบพระคุณจากใจจริงต่อพระยะโฮวาพระเจ้า พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์องค์เปี่ยมด้วยความรักของเรา โดยการใช้ความสามารถและทรัพยากรของเราถวายเป็นเครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา ไม่ว่าจะในงานรับใช้ต่อสาธารณชนหรือ “ในที่ประชุม” ของคริสเตียน. (บทเพลงสรรเสริญ 26:12) ในการทำอย่างนั้น เราอาจเรียนอะไรได้จากวิธีต่าง ๆ ที่ชาวอิสราเอลแสดงความขอบพระคุณต่อพระยะโฮวา?
12. ในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของเราฝ่ายคริสเตียน เราเรียนอะไรได้จากการจัดเตรียมให้มีการถวายส่วนหนึ่งในสิบ?
12 วิธีแรก ดังที่เห็นแล้วว่า การจัดเตรียมให้มีการถวายส่วนหนึ่งในสิบนั้นไม่ใช่เป็นแบบที่เลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ ชาวอิสราเอลแต่ละคนมีพันธะในเรื่องนี้. ฐานะคริสเตียน เรามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะเข้าร่วมงานประกาศเผยแพร่และการประชุมคริสเตียน. กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้. ในคำพยากรณ์ที่สำคัญของพระเยซูเกี่ยวกับสมัยสุดท้าย พระองค์กล่าวอย่างชัดเจนว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.; 28:19, 20) ในเรื่องการประชุมคริสเตียน อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ขาดการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) เราแสดงความขอบพระคุณพระยะโฮวาเมื่อเรายินดีรับเอาหน้าที่รับผิดชอบในการประกาศสั่งสอนและการคบหาสมาคมกับพี่น้องของเราเป็นประจำที่การประชุมของประชาคม โดยถือว่านั่นเป็นสิทธิพิเศษและเป็นเกียรติสำหรับเรา.
13. มีบทเรียนอะไรจากการจัดเตรียมเรื่องการถวายด้วยใจสมัครและการเหลือพืชผลในไร่นา?
ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.
13 นอกจากนี้ เรายังจะได้ประโยชน์จากการพิจารณาการจัดเตรียมอีกสองอย่างซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ชาวอิสราเอลสามารถแสดงความขอบพระคุณของพวกเขา นั่นคือการให้ของถวายด้วยใจสมัครและการเหลือพืชผลในไร่นา. ไม่เหมือนกับการถวายส่วนหนึ่งในสิบซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่มีการกำหนดปริมาณไว้ชัดเจน การให้ของถวายด้วยใจสมัครและการเหลือพืชผลในไร่นาไม่กำหนดปริมาณที่ตายตัว. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การจัดเตรียมสองอย่างนี้เปิดโอกาสให้ความลึกซึ้งของความรู้สึกขอบพระคุณในหัวใจของผู้รับใช้พระยะโฮวากระตุ้นให้เขาลงมือกระทำ. ในทำนองเดียวกัน แม้นเราเข้าใจดีว่าการเข้าร่วมในงานประกาศสั่งสอนและการเข้าร่วมประชุมเป็นหน้าที่รับผิดชอบขั้นพื้นฐานของผู้รับใช้พระยะโฮวาทุกคน แต่เราเข้าส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้อย่างสิ้นสุดหัวใจและด้วยความเต็มใจไหม? เราถือว่าการทำอย่างนั้นเป็นโอกาสให้เราแสดงความรู้สึกขอบพระคุณจากใจจริงสำหรับทุกสิ่งที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อเราไหม? เราเข้าร่วมในกิจกรรมเหล่านี้อย่างเต็มที่ถึงขีดที่สภาพการณ์ส่วนตัวของเราอำนวยให้ไหม? หรือเรามองว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงพันธะหน้าที่อย่างหนึ่งที่จะต้องทำ? แน่นอน นี่เป็นคำถามที่เราแต่ละคนต้องตอบเอง. อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้: “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น.”—14. พระยะโฮวาคาดหมายอะไรจากเราในเรื่องงานรับใช้ที่เราทำถวายพระองค์?
14 พระยะโฮวาพระเจ้าทรงทราบสภาพการณ์ของเราดี. พระองค์ทราบดีถึงขีดจำกัดของเรา. พระองค์ถือว่าสิ่งที่ผู้รับใช้ของพระองค์ถวายแด่พระองค์ด้วยความเต็มใจนั้นมีค่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะน้อยหรือมาก. พระองค์ไม่ได้คาดหมายให้เราทุกคนต้องถวายในปริมาณที่เท่ากัน และเราก็ไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้. เมื่อพิจารณาเรื่องการให้สิ่งฝ่ายวัตถุ อัครสาวกเปาโลบอกคริสเตียนชาวโครินท์ดังนี้: “ถ้ามีน้ำใจพร้อมอยู่ก่อนแล้ว, พระเจ้าก็พอพระทัยที่จะทรงโปรดรับไว้ตามซึ่งทุกคนมีอยู่, มิใช่ตามซึ่งเขาไม่มี.” (2 โกรินโธ 8:12) หลักการนี้ใช้ได้กับการรับใช้ที่เราทำถวายแด่พระเจ้าเช่นกัน. สิ่งที่ทำให้งานรับใช้ของเราเป็นที่ยอมรับสำหรับพระยะโฮวานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เราทำ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีที่เราทำ กล่าวคือทำด้วยความยินดีและด้วยสิ้นสุดหัวใจ.—บทเพลงสรรเสริญ 100:1-5; โกโลซาย 3:23.
จงพัฒนาและรักษาน้ำใจไพโอเนียร์
15, 16. (ก) มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรระหว่างงานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์กับความรู้สึกขอบพระคุณ? (ข) คนที่ไม่สามารถเป็นไพโอเนียร์จะแสดงน้ำใจไพโอเนียร์โดยวิธีใด?
15 วิธีหนึ่งในการแสดงความขอบพระคุณต่อพระยะโฮวาซึ่งนำความอิ่มใจพอใจมากมายมาให้เราคือการเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา. ด้วยแรงกระตุ้นจากความรักพระยะโฮวาและความสำนึกบุญคุณต่อพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระองค์ ผู้รับใช้ที่อุทิศตัวหลายคนได้ทำการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิตของตนเพื่อจะมีเวลามากขึ้นสำหรับงานรับใช้พระยะโฮวา. บางคนสามารถรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ คือใช้เวลาเฉลี่ย 70 ชั่วโมงต่อเดือนในการประกาศข่าวดีและสอนความจริงแก่ผู้คน. ส่วนบางคนซึ่งอาจมีขีดจำกัดด้วยสภาพการณ์ที่ต่างกันไป ก็จัดเวลาเป็นครั้งคราวเพื่อใช้เวลา 50 ชั่วโมงต่อเดือนเพื่อทำงานประกาศฐานะไพโอเนียร์สมทบ.
16 แต่จะว่าอย่างไรสำหรับผู้รับใช้พระยะโฮวาหลายคนที่ไม่สามารถรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำหรือไพโอเนียร์สมทบ? พวกเขาสามารถแสดงความขอบพระคุณด้วยการพัฒนาและรักษาน้ำใจไพโอเนียร์. อย่างไร? โดยการให้กำลังใจแก่ผู้ที่สามารถเป็นไพโอเนียร์, โดยการปลูกฝังความปรารถนาในตัวลูก ๆ ให้พวกเขาหมายเอางานรับใช้เต็มเวลาเป็นงานประจำชีพ, และโดยการเข้าร่วมอย่างแข็งขันในงานประกาศตามสภาพการณ์ของตน. สิ่งที่เราทำในงานรับใช้ขึ้นอยู่อย่างมากกับความลึกซึ้งของความรู้สึกขอบพระคุณในหัวใจของเราต่อสิ่งซึ่งพระยะโฮวาทำไปแล้ว, กำลังทำอยู่, และซึ่งพระองค์ยังจะทำเพื่อเรา.
การแสดงความขอบพระคุณด้วย “ทรัพย์” ของเรา
17, 18. (ก) เราจะแสดงความขอบพระคุณด้วย “ทรัพย์” ของเราได้อย่างไร? (ข) พระเยซูทรงประเมินค่าการบริจาคของหญิงม่ายอย่างไร และทำไม?
17 พระธรรมสุภาษิต 3:9 กล่าวว่า “จงถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของเจ้า, และด้วยผลแรกทั้งหมดที่เพิ่มพูนแก่เจ้านั้น.” ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบันไม่ต้องถวายส่วนหนึ่งในสิบ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เปาโลเขียนถึงประชาคมโครินท์ว่า “ให้แต่ละคนทำอย่างที่เขาได้มุ่งหมายไว้ในหัวใจ มิใช่ด้วยฝืนใจหรือถูกบังคับ ด้วยว่าพระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี.” (2 โกรินโธ 9:7, ล.ม.) การบริจาคด้วยใจสมัครเพื่อสนับสนุนงานประกาศราชอาณาจักรทั่วโลกเป็นการแสดงความขอบพระคุณของเราเช่นกัน. ความสำนึกบุญคุณจากใจจริงย่อมกระตุ้นเราให้บริจาคเป็นประจำ เราอาจกันเงินจำนวนหนึ่งไว้เป็นประจำทุกสัปดาห์ เหมือนอย่างที่คริสเตียนสมัยแรกได้ทำ.—1 โกรินโธ 16:1, 2.
18 ปริมาณเงินที่เราบริจาคไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงความสำนึกบุญคุณต่อพระยะโฮวา. แต่เป็นน้ำใจแห่งการให้ของเราต่างหาก. พระเยซูสังเกตเห็นข้อเท็จจริงนี้เมื่อทรงเฝ้าดูผู้คนใส่เงินของพวกเขาในตู้รับเงินถวายที่พระวิหาร. เมื่อพระเยซูเห็นหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งใส่เงิน “สตางค์แดงสองสตางค์” พระองค์ตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้มากกว่าคนทั้งปวงนั้น เพราะว่าคนทั้งหลายได้เอาเงินเหลือใช้ของเขามาใส่รวมกับเงินถวาย, แต่ผู้หญิงคนนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.”—ลูกา 21:1-4.
19. ทำไมจึงนับว่าดีที่เราจะตรวจสอบอีกครั้งถึงวิธีต่าง ๆ ที่เราแสดงการขอบพระคุณ?
19 ขอให้การศึกษาในเรื่องวิธีที่จะแสดงตัวว่าขอบพระคุณนี้กระตุ้นเราให้ตรวจสอบอีกครั้งถึงวิธีต่าง ๆ ที่เราแสดงการขอบพระคุณ. เป็นไปได้ไหมที่เราจะถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาและสนับสนุนด้านวัตถุสำหรับงานทั่วโลกมากขึ้นอีก? เมื่อเราทำเช่นนั้นอย่างสุดความสามารถ เรามั่นใจได้ว่า พระยะโฮวาพระบิดาผู้มีพระทัยกว้างและเปี่ยมด้วยความรักของเราจะพอพระทัยที่เราแสดงตัวว่าขอบพระคุณ.
คุณจำได้ไหม?
• มีเหตุผลอะไรบ้างที่เราควรขอบพระคุณพระยะโฮวา?
• เราเรียนอะไรบ้างจากการถวายส่วนหนึ่งในสิบ, การให้ของถวายด้วยใจสมัคร, และการเหลือพืชผลในไร่นา?
• เราจะปลูกฝังน้ำใจไพโอเนียร์ได้อย่างไร?
• เราจะใช้ “ทรัพย์” ของเราเพื่อตอบแทนพระคุณพระยะโฮวาได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 15]
“ของประทานอันดีทุกอย่างและของประทานอันสมบูรณ์ทุกอย่างย่อมมาจากเบื้องบน”
[ภาพหน้า 16]
บทเรียนสามอย่างอะไรจากพระบัญญัติที่แสดงไว้ในภาพนี้?
[ภาพหน้า 18]
มีอะไรบ้างที่เราสามารถถวาย?