ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไป

สงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไป

สงคราม​ได้​เปลี่ยน​รูป​แบบ​ไป

สงคราม​เป็น​สิ่ง​ที่​โหด​เหี้ยม​ทารุณ​เสมอ​มา. สงคราม​ได้​ทำลาย​ชีวิต​ของ​ทหาร​เสมอ​และ​นำ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​มา​สู่​พลเรือน​เสมอ. แต่​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ สงคราม​ได้​เปลี่ยน​รูป​แบบ​ไป. ใน​ทาง​ใด?

สงคราม​ใน​ปัจจุบัน​ส่วน​ใหญ่​เป็น​สงคราม​กลาง​เมือง—สงคราม​ระหว่าง​กลุ่ม​พลเมือง​ใน​ประเทศ​เดียว​กัน​ซึ่ง​อยู่​คน​ละ​ฝ่าย. บ่อย​ครั้ง​สงคราม​กลาง​เมือง​กิน​เวลา​นาน​กว่า, ทำ​ให้​ประชากร​ได้​รับ​ความ​บอบช้ำ​ทาง​จิตใจ​มาก​กว่า, และ​ทำลาย​ประเทศ​อย่าง​ตลอด​ทั่ว​ถึง​มาก​กว่า​สงคราม​ที่​สู้​กัน​ระหว่าง​ประเทศ​ต่าง ๆ. ฮู​เลียน คาซา​โน​วา นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​สเปน​กล่าว​ว่า “สงคราม​กลาง​เมือง​เป็น​สิ่ง​ที่​โหด​เหี้ยม​ทารุณ, เป็น​การ​รบ​แบบ​นอง​เลือด​ที่​ยัง​ผล​ให้​คน​จำนวน​มาก​เสีย​ชีวิต, มี​การ​ประทุษร้าย​ทาง​เพศ, การ​จำ​ใจ​ย้าย​จาก​บ้าน​เกิด, และ​ที่​รุนแรง​ที่​สุด​คือ การ​ฆ่า​ล้าง​ชาติ​พันธุ์.” ที่​จริง เมื่อ​คน​กลุ่ม​หนึ่ง​กระทำ​อย่าง​โหด​เหี้ยม​ทารุณ​ต่อ​คน​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใกล้​เคียง อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​นาน​ที​เดียว​เพื่อ​จะ​เยียว​ยา​ผล​เสียหาย​ทาง​จิตใจ.

ตั้ง​แต่​การ​สิ้น​สุด​ลง​ของ​สงคราม​เย็น สงคราม​ระหว่าง​กองทัพ​ของ​ชาติ​ต่าง ๆ มี​ค่อนข้าง​น้อย. สถาบัน​วิจัย​สันติภาพ​นานา​ชาติ​แห่ง​สตอกโฮล์ม (SIPRI) รายงาน​ว่า “ตาม​ที่​มี​การ​บันทึก​ไว้​ตลอด​ช่วง​ปี 1990-2000 มี​สาม​กรณี​เท่า​นั้น​ที่​เป็น​การ​ต่อ​สู้​ใหญ่ ๆ ด้วย​อาวุธ นอก​นั้น​ทั้ง​หมด​เป็น​การ​ต่อ​สู้​ภาย​ใน​ประเทศ.”

จริง​อยู่ การ​สู้​รบ​ภาย​ใน​ประเทศ​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​ภัย​คุกคาม​น้อย​กว่า และ​อาจ​ไม่​มี​การ​รายงาน​ข่าว​ไป​ทั่ว​โลก แต่​ความ​ทุกข์​และ​การ​ทำลาย​ที่​เกิด​จาก​ความ​เป็น​ปรปักษ์​ดัง​กล่าว​ก็​ยัง​คง​เป็น​ความ​หายนะ​อยู่​ดี. คน​นับ​ล้าน​ได้​เสีย​ชีวิต​ใน​การ​สู้​รบ​ภาย​ใน​ประเทศ. ที่​จริง ระหว่าง​ยี่​สิบ​ปี​ที่​แล้ว เกือบ​ห้า​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต​ใน​ประเทศ​ที่​เสียหาย​ย่อยยับ​เนื่อง​จาก​สงคราม​เพียง​สาม​ประเทศ คือ ซูดาน, สาธารณรัฐ​ประชาธิปไตย​คองโก, และ​อัฟกานิสถาน. ใน​ประเทศ​แถบ​คาบสมุทร​บอลข่าน การ​ต่อ​สู้​ทาง​ชาติ​พันธุ์​อย่าง​ดุเดือด​ทำ​ให้​ผู้​คน​เสีย​ชีวิต​ไป​เกือบ 250,000 คน และ​สงคราม​กองโจร​ที่​ยืดเยื้อ​ใน​โคลัมเบีย​ได้​สังหาร​ผู้​คน​ไป 100,000 คน.

ความ​เหี้ยม​โหด​ของ​สงคราม​กลาง​เมือง​ปรากฏ​ชัด​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ผล​กระทบ​ที่​มี​ต่อ​พวก​เด็ก ๆ. ตาม​ที่​สำนักงาน​ข้าหลวง​ใหญ่​ผู้​ลี้​ภัย​แห่ง​สหประชาชาติ​กล่าว​นั้น ระหว่าง​ทศวรรษ​ที่​แล้ว เด็ก​มาก​กว่า​สอง​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต​ใน​การ​สู้​รบ​กัน​ภาย​ใน​ประเทศ. อีก​หก​ล้าน​คน​ได้​รับ​บาดเจ็บ. เด็ก​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ได้​รับ​การ​ฝึก​เป็น​ทหาร. ทหาร​เด็ก​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า “พวก​เขา​ฝึก​ผม เอา​ปืน​ให้​ผม. ผม​ใช้​ยา​เสพ​ติด. ผม​ฆ่า​พลเรือน​หลาย​คน. นั่น​เป็น​เพียง​สงคราม . . . ผม​ก็​แค่​เชื่อ​ฟัง​คำ​สั่ง. ผม​รู้​ว่า​นั่น​เป็น​สิ่ง​ชั่ว​ร้าย. ผม​ไม่​ต้องการ​ทำ​แบบ​นี้.”

เด็ก​หลาย​คน​ใน​ประเทศ​ที่​สงคราม​กลาง​เมือง​เป็น​เรื่อง​ปกติ​ธรรมดา​กำลัง​เติบโต​ขึ้น​โดย​ที่​ไม่​เคย​ประสบ​สันติ​สุข. พวก​เขา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​โลก​ที่​โรง​เรียน​ถูก​ทำลาย​และ​ที่​มี​การ​สนทนา​กัน​ด้วย​ปาก​กระบอก​ปืน. ดุน​จา วัย 14 ปี​กล่าว​ว่า “มี​คน​มาก​มาย​จริง ๆ ถูก​สังหาร . . . คุณ​จะ​ไม่​ได้​ยิน​เสียง​นก​ร้อง​เพลง​อีก​ต่อ​ไป, มี​แต่​เสียง​ของ​เด็ก ๆ ที่​ร้องไห้​หา​พ่อ​หา​แม่, หา​พี่​หรือ​น้อง​ที่​หาย​ไป.

อะไร​เป็น​สาเหตุ?

อะไร​จุด​ไฟ​แห่ง​สงคราม​กลาง​เมือง​ที่​เหี้ยม​โหด​ดัง​กล่าว? ความ​เกลียด​ชัง​ด้าน​ชาติ​พันธุ์​และ​เผ่า​พันธุ์, ความ​แตกต่าง​ด้าน​ศาสนา, ความ​อยุติธรรม, และ​ความ​วุ่นวาย​ด้าน​การ​เมือง​ล้วน​เป็น​สาเหตุ​สำคัญ. สาเหตุ​หลัก​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ​ความ​โลภ—ความ​โลภ​อำนาจ​และ​ความ​โลภ​เงิน​ทอง. บ่อย​ครั้ง​โดย​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​จาก​ความ​โลภ ผู้​นำ​ทาง​การ​เมือง​ปลุก​เร้า​ความ​เกลียด​ชัง​ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​เกิด​การ​สู้​รบ. รายงาน​หนึ่ง​ที่​ตี​พิมพ์​โดย​สถาบัน SIPRI กล่าว​ว่า ผู้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ต่อ​สู้​ด้วย​อาวุธ​หลาย​คน “ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​ผล​ประโยชน์​ส่วน​ตัว.” รายงาน​นั้น​กล่าว​เสริม​ว่า “มี​การ​แสดง​ให้​เห็น​ความ​โลภ​ใน​หลาย​รูป​แบบ ตั้ง​แต่​การ​ค้า​เพชร​ใน​ขอบ​เขต​ที่​กว้างขวาง​โดย​ผู้​นำ​ทาง​ทหาร​และ​ทาง​การ​เมือง​ไป​จน​ถึง​การ​ปล้น​สะดม​ใน​ระดับ​หมู่​บ้าน​โดย​พวก​หนุ่ม ๆ ที่​ใช้​ปืน.”

การ​ที่​อาวุธ​ราคา​ถูก​แต่​มี​ประสิทธิภาพ​ทำลาย​ล้าง​สูง​เป็น​สิ่ง​ที่​หา​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย​ยัง​เป็น​อีก​เหตุ​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​มี​การ​สังหาร​ผู้​คน​อย่าง​กว้างขวาง. มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​ปี​ละ​ประมาณ 500,000 คน ส่วน​ใหญ่​เป็น​พวก​ผู้​หญิง​และ​เด็ก ๆ ซึ่ง​มี​สาเหตุ​มา​จาก​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​อาวุธ​เบา. ใน​ประเทศ​หนึ่ง​แถบ​แอฟริกา อาจ​ซื้อ​หา​ปืน​ไรเฟิล​จู่​โจม เอ​เค-47 ได้​ด้วย​ราคา​ลูก​ไก่​ตัว​หนึ่ง. น่า​เศร้า​ใจ ใน​บาง​แห่ง​ปืน​ไรเฟิล​มี​มาก​มาย​เกือบ​จะ​เท่า ๆ กับ​จำนวน​ลูก​ไก่​เหล่า​นี้. ปัจจุบัน​ทั่ว​โลก​มี​อาวุธ​เบา​ประมาณ 500 ล้าน​กระบอก นั่น​คือ 1 กระบอก​ต่อ​ทุก ๆ 12 คน​ที่​มี​ชีวิต​อยู่.

การ​สู้​รบ​ที่​เป็น​ปรปักษ์​กัน​ภาย​ใน​ประเทศ​จะ​กลาย​เป็น​ลักษณะ​พิเศษ​ของ​ศตวรรษ​ที่ 21 นี้​ไหม? จะ​ควบคุม​สงคราม​กลาง​เมือง​ไว้​ได้​ไหม? ใน​ที่​สุด​ผู้​คน​จะ​เลิก​เข่น​ฆ่า​กัน​ไหม? บทความ​ต่อ​ไป​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​เหล่า​นี้.

[กรอบ​หน้า 4]

ผล​เสียหาย​ที่​น่า​เศร้า​จาก​สงคราม​กลาง​เมือง

ใน​สงคราม​กลาง​เมือง​ที่​ใช้​อาวุธ​ธรรมดา ทว่า​เหี้ยม​โหด 90 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​ที่​บาดเจ็บ​และ​เสีย​ชีวิต​เป็น​พลเรือน แทน​ที่​จะ​เป็น​ผู้​ที่​ต่อ​สู้​กัน. กราซา มา​เชล ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ผล​กระทบ​ของ​การ​ต่อ​สู้​ด้วย​อาวุธ​ที่​มี​ต่อ​เด็ก ๆ ของ​เลขาธิการ​ใหญ่​สหประชาชาติ​ได้​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ปรากฏ​ชัด​ขึ้น​เรื่อย ๆ ว่า พวก​เด็ก​เป็น​เป้า​ของ​การ​ต่อ​สู้​ด้วย​อาวุธ ไม่​ใช่​ผู้​เสีย​ชีวิต​โดย​บังเอิญ.”

การ​ข่มขืน​ได้​กลาย​เป็น​กลยุทธ์​ทาง​ทหาร. ใน​บาง​พื้น​ที่​ที่​เสียหาย​ย่อยยับ​เนื่อง​จาก​สงคราม ผู้​ก่อ​การ​กบฏ​จะ​ข่มขืน​เด็ก​หญิง​วัยรุ่น​แทบ​ทุก​คน​ที่​พบ​ใน​หมู่​บ้าน​ซึ่ง​พวก​เขา​บุก​โจมตี. เป้าหมาย​ของ​ผู้​ข่มขืน​เหล่า​นั้น​คือ เพื่อ​จะ​แพร่​ความ​ตื่น​ตระหนก​ไป​ทั่ว​หรือ​เพื่อ​ทำลาย​ความ​ผูก​พัน​ของ​ครอบครัว.

ความ​อดอยาก​และ​โรค​ภัย​ไข้​เจ็บ​ตาม​มา​หลัง​สงคราม. ผล​อย่าง​หนึ่ง​ของ​สงคราม​กลาง​เมือง​คือ แทบ​จะ​ไม่​มี​การ​เพาะ​ปลูก​และ​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล, การ​บริการ​รักษา​โรค ถ้า​หาก​จะ​มี​ก็​เพียง​น้อย​นิด, และ​แทบ​จะ​ไม่​มี​การ​สงเคราะห์​จาก​นานา​ชาติ​สำหรับ​คน​ที่​ต้อง​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ. การ​วิจัย​ราย​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​สงคราม​กลาง​เมือง​ใน​แอฟริกา​เผย​ให้​เห็น​ว่า 20 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​เสีย​ชีวิต​มี​สาเหตุ​มา​จาก​โรค​ภัย​ไข้​เจ็บ และ 78 เปอร์เซ็นต์​ตาย​เนื่อง​จาก​ความ​หิว​โหย. มี​เพียง 2 เปอร์เซ็นต์​ที่​เสีย​ชีวิต​จาก​การ​สู้​รบ​โดย​ตรง.

โดย​เฉลี่ย​แล้ว ทุก ๆ 22 นาที มี​คน​เสีย​แขน​ขา​หรือ​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​เหยียบ​กับระเบิด. มี​กับระเบิด​ประมาณ 60 ถึง 70 ล้าน​ชุด​กระจัด​กระจาย​อยู่​ตาม​ประเทศ​ต่าง ๆ ประมาณ 60 กว่า​ประเทศ.

ผู้​คน​ต้อง​จำ​ใจ​หนี​จาก​บ้าน​ของ​ตน. ทั่ว​โลก ขณะ​นี้​มี​ผู้​ลี้​ภัย​และ​ผู้​ที่​ต้อง​หนี​จาก​บ้าน​เกิด 50 ล้าน​คน ครึ่ง​หนึ่ง​ใน​พวก​เขา​เป็น​เด็ก.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 2]

COVER: Boy: Photo by Chris Hondros/Getty Images

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 3]

Photo by Chris Hondros/Getty Images