อวสานของสงคราม
อวสานของสงคราม
‘พวกเราอายุแค่ 12 ปีเท่านั้น. เราไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการเมืองและสงครามได้ แต่เราต้องการมีชีวิตอยู่! เราคอยท่าสันติภาพ. เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อได้เห็นสันติภาพไหม?’—นักเรียนชั้นประถมปีที่ห้า
‘เราต้องการเข้าโรงเรียน ไปเยี่ยมเพื่อนฝูงและครอบครัวของเราโดยไม่ต้องกลัวการถูกลักพาตัว. ผมหวังว่ารัฐบาลจะเอาใจใส่เรื่องนี้. เราต้องการชีวิตที่ดีกว่า. เราต้องการสันติภาพ.’—อัลฮาจี, วัย 14 ปี
ถ้อยคำที่สะเทือนใจดังกล่าวถ่ายทอดความหวังจากใจจริงของเยาวชนที่ได้ทนทุกข์มาหลายปีเนื่องจากสงครามกลางเมือง. พวกเขาเพียงแต่ปรารถนาการดำเนินชีวิตแบบปกติ. แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ความหวังนั้นกลายเป็นจริง. เราจะมีวันเห็นโลกที่ปราศจากสงครามไหม?
ไม่กี่ปีมานี้ได้มีความพยายามระดับนานาชาติที่จะแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองบางแห่งโดยการกดดันให้ฝ่ายที่ต่อสู้กันลงนามในข้อตกลงสันติภาพ. บางประเทศได้จัดส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปเพื่อทำให้ข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ. แต่มีไม่กี่ประเทศที่มีเงินหรือมีแนวโน้มที่จะดูแลควบคุมประเทศที่ห่างไกลซึ่งความเกลียดชังที่ฝังลึกและความสงสัยทำให้ข้อตกลงใด ๆ ระหว่างฝ่ายที่สู้รบกันนั้นเปราะบางทีเดียว. บ่อยครั้ง สงครามระเบิดขึ้นอีกภายหลังการลงนามหยุดยิงเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน. ดังที่สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติแห่งสตอกโฮล์มชี้แจงไว้ “สันติภาพเป็นสิ่งที่ยากจะบรรลุเมื่อนักรบมีความปรารถนาและมีสมรรถนะที่จะต่อสู้กันต่อไป.”
ในเวลาเดียวกัน การสู้รบที่ไม่มีทางแก้เหล่านี้ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ภูมิภาคหลายแห่งทีเดียวของแผ่นดินโลกทำให้คริสเตียนนึกถึงคำพยากรณ์ข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล. พระธรรมวิวรณ์กล่าวถึงช่วงเวลาวิกฤติในประวัติศาสตร์ซึ่งระหว่างช่วงดังกล่าวคนขี่ม้าที่มีความหมายเป็นนัยจะ “เอาสันติสุขไปจากแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 6:4, ล.ม.) การสู้รบอย่างต่อเนื่องตามที่บอกไว้ล่วงหน้านี้เป็นส่วนของหมายสำคัญที่ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าปัจจุบันเรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาว่าเป็น “สมัยสุดท้าย.” * (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) อย่างไรก็ดี พระคำของพระเจ้ารับรองกับเราว่า สมัยสุดท้ายนี้เป็นการเบิกโรงไปสู่สันติภาพ.
คัมภีร์ไบเบิลอธิบายที่บทเพลงสรรเสริญ 46:9 ว่า สันติภาพแท้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีการทำให้สงครามยุติลง ไม่เพียงแค่ในภูมิภาคหนึ่งของลูกโลก แต่ตลอดทั่วแผ่นดินโลก. ยิ่งกว่านั้น เพลงสรรเสริญบทเดียวกันนี้ยังกล่าวโดยเฉพาะถึงการทำลายอาวุธที่ใช้กันในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เช่น ธนูและหอก. อาวุธต่าง ๆ ที่เพิ่มทวีขึ้นในปัจจุบันก็ต้องถูกทำลายเช่นกันหากมนุษยชาติจะมีชีวิตอยู่ด้วยความสงบสุข.
แต่ในขั้นสุดท้ายแล้ว ความเกลียดชังและความโลภนั่นเองที่ทำให้ไฟสงครามลุกโชนต่อไป แทนที่จะเป็นลูกกระสุนและปืนไรเฟิล. ความโลภ หรือความละโมบเป็นสาเหตุพื้นยะซายา 2:4, ล.ม.
ฐานของสงคราม และบ่อยครั้งความเกลียดชังนำไปสู่ความรุนแรง. เพื่อจะถอนรากถอนโคนความรู้สึกที่ก่อผลเสียหายเช่นนี้ ผู้คนต้องเปลี่ยนแนวคิดของตน. เขาต้องได้รับการศึกษาอบรมในแนวทางแห่งสันติสุข. ด้วยเหตุนี้ ผู้พยากรณ์ยะซายาในสมัยโบราณได้กล่าวอย่างที่ตรงกับสภาพจริงว่า สงครามจะยุติได้ก็ต่อเมื่อผู้คน “ไม่เรียนการสงครามอีกต่อไป.”—อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเรามีชีวิตอยู่ในโลกที่สอนผู้ใหญ่และเด็ก ไม่ใช่คุณค่าของสันติภาพ แต่สอนการยกย่องสงคราม. น่าเศร้า แม้แต่เด็ก ๆ ก็ถูกฝึกให้ฆ่าคน.
พวกเขาได้เรียนที่จะฆ่า
ตอนอายุ 14 ปี อัลฮาจีเป็นทหารที่ถูกปลดประจำการ. เขาอายุแค่สิบขวบตอนที่ทหารฝ่ายกบฏจับตัวเขาไปแล้วฝึกให้ต่อสู้ด้วยการใช้ปืนไรเฟิลจู่โจม เอเค-47. หลังจากถูกบังคับให้เป็นทหารแล้ว เขาเข้าปล้นสะดมในที่ต่าง ๆ เพื่อได้อาหาร และเผาบ้านเรือน. เขาได้ฆ่าและทำให้คนพิการด้วย. ทุกวันนี้ อัลฮาจีพบว่ายากที่จะลืมประสบการณ์ในสงครามและปรับตัวให้เข้ากับชีวิตพลเรือน. อับราฮาม ทหารเด็กอีกคนหนึ่ง ได้เรียนที่จะฆ่าและไม่เต็มใจส่งมอบอาวุธของเขา. เขากล่าวว่า “หากพวกเขาปล่อยให้ผมไปโดยไม่มีอาวุธ ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร ผมจะหาเลี้ยงตัวเองอย่างไร.”
ทหารเด็กมากกว่า 300,000 คน ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ยังคงต่อสู้และเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองที่ไม่รู้จักจบซึ่งก่อความเดือดร้อนแก่โลกของเรา. ผู้นำกบฏคนหนึ่งอธิบายว่า “พวกเขาเชื่อฟังคำสั่ง; พวกเขาไม่ห่วงเรื่องการกลับไปหาภรรยาหรือครอบครัว; และพวกเขาไม่รู้จักกลัว.” กระนั้น เด็กเหล่านี้ต้องการและสมควรมีชีวิตที่ดีกว่า.
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สภาพการณ์ที่น่าตกใจของทหารเด็กอาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะนึกภาพออก. แม้จะเป็นเช่นนั้น เด็กในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายคนกำลังเรียนการต่อสู้กันในบ้านที่สะดวกสบายของตน. ในทางใด?
ขอยกตัวอย่างโฮเซจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน. เขาเป็นวัยรุ่นซึ่งชอบการฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว. สมบัติล้ำค่าที่เขามีอยู่คือดาบซามูไรเล่มหนึ่งซึ่งพ่อซื้อให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาส. และเขาชอบวิดีโอเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมที่รุนแรง. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2000 เขาได้เลียนแบบความก้าวร้าวของพระเอกในวิดีโอเกมที่เขาดูนั้นในชีวิตจริง. เขาอาละวาดแล้วฆ่าพ่อแม่และน้องสาวของตัวเองด้วยดาบเล่มที่พ่อให้เขานั่นเอง. เขาอธิบายแก่ตำรวจว่า “ผมอยากอยู่คนเดียวในโลก; ผมไม่ต้องการให้พ่อแม่มาคอยตามหาผม.”
ในการอธิบายเกี่ยวกับผลกระทบจากความบันเทิงที่รุนแรง เดฟ กรอสส์แมน นักประพันธ์และนายทหาร ได้กล่าวว่า “เรากำลังมาถึงขั้นด้านชาจนทำให้ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานกลายเป็นแหล่งของความบันเทิง: รู้สึกสนุกเพลิดเพลินโดยนึกภาพว่าตัวเองร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย แทนที่จะรู้สึกขยะแขยง. เราเรียนที่จะฆ่า และเรียนที่จะชอบการฆ่านั้น.”
ทั้งอัลฮาจีและโฮเซต่างได้เรียนที่จะฆ่า. โดยไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักฆ่า แต่การฝึกไม่แบบใดก็แบบหนึ่งได้บิดเบือนความคิดของพวกเขา. การฝึกดังกล่าว—ไม่ว่าสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่—เป็นการเพาะเมล็ดแห่งความรุนแรงและสงคราม.
การเรียนสันติภาพแทนสงคราม
สันติภาพถาวรจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ขณะที่ผู้คนเรียนที่จะฆ่ากัน. หลายศตวรรษมาแล้ว ผู้พยากรณ์ยะซายาได้เขียนว่า “ถ้าเจ้าได้เชื่อฟังคำสั่งของ [พระเจ้า] แล้ว, ความเจริญ [“สันติสุข,” ล.ม.] ของเจ้าก็จะเป็นดังแม่น้ำไหล.” (ยะซายา 48:17, 18) เมื่อผู้คนได้มาซึ่งความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าและเรียนที่จะรักกฎหมายของพระเจ้าแล้ว ความรุนแรงและสงครามก็กลายเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจสำหรับเขา. แม้แต่ตอนนี้ บิดามารดาอาจทำให้แน่ชัดว่าเกมที่บุตรของตนเล่นไม่ได้สนับสนุนความรุนแรง. ผู้ใหญ่อาจเรียนที่จะเอาชนะความเกลียดชังและความโลภได้ด้วย. พยานพระยะโฮวาได้ประสบครั้งแล้วครั้งเล่าว่า พระคำของพระเจ้ามีพลังที่จะเปลี่ยนบุคลิกภาพ.—เฮ็บราย 4:12.
ขอพิจารณาตัวอย่างของโอร์เทนซิโอ. เขาเป็นหนุ่มตอนที่ถูกบังคับให้เป็นทหาร. เขาอธิบายว่า การฝึกทหารจัดขึ้นเพื่อ “ปลูกฝังความปรารถนาในตัวเราที่จะฆ่าคนอื่นและไม่
มีความกลัวแต่อย่างใดในการฆ่า.” เขาได้ต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในแอฟริกา. เขายอมรับว่า “สงครามมีผลกระทบต่อบุคลิกของผม. แม้แต่ทุกวันนี้ผมยังคงจำทุกสิ่งที่ผมได้ทำ. ผมรู้สึกเสียใจจริง ๆ ในสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำ.”เมื่อเพื่อนทหารคนหนึ่งพูดกับโอร์เทนซิโอในเรื่องคัมภีร์ไบเบิล นั่นทำให้เขารู้สึกซาบซึ้งใจ. คำสัญญาของพระเจ้าในบทเพลงสรรเสริญ 46:9 ที่จะนำอวสานมาสู่สงครามทุกรูปแบบประทับใจเขา. ยิ่งเขาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมากเท่าใด เขาก็ต้องการสู้รบน้อยลงเท่านั้น. ไม่นาน เขากับเพื่อนสองคนถูกไล่ออกจากกองทัพ และพวกเขาได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาพระเจ้า. โอร์เทนซิโออธิบายว่า “ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยผมให้รักศัตรู. ผมได้สำนึกว่าโดยการต่อสู้ในสงคราม ผมกำลังทำบาปต่อพระยะโฮวาอย่างแท้จริง เพราะพระเจ้าตรัสว่า เราไม่ควรฆ่าเพื่อนบ้านของเรา. เพื่อจะแสดงความรักเช่นนี้ ผมต้องเปลี่ยนแนวคิดของผมและไม่มองคนอื่นว่าเป็นศัตรู.”
ประสบการณ์ชีวิตจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลส่งเสริมสันติภาพจริง ๆ. นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก. ผู้พยากรณ์ยะซายาได้กล่าวว่า มีความเกี่ยวพันโดยตรงระหว่างการศึกษาที่ได้รับจากพระเจ้ากับสันติสุข. ท่านได้บอกล่วงหน้าว่า “บุตรทั้งสิ้นของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสั่งสอน จากพระยะโฮวา และสันติสุข แห่งเหล่าบุตรของเจ้าจะมีบริบูรณ์.” (ยะซายา 54:13, ล.ม.) ผู้พยากรณ์คนเดียวกันนี้ได้มองเห็นล่วงหน้าถึงสมัยที่ผู้คนจากทุกชาติจะหลั่งไหลมายังการนมัสการบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาพระเจ้าเพื่อจะเรียนรู้แนวทางของพระองค์. พร้อมด้วยผลประการใด? “เขาทั้งหลายจะต้องตีดาบของตนเป็นผาลและหอกของตนเป็นพร้าขอ. ชาติจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้ชาติ และพวกเขาจะไม่เรียน การสงครามอีกต่อไป.”—ยะซายา 2:2-4, ล.ม.
สอดคล้องกับคำพยากรณ์นั้น พยานพระยะโฮวาได้เข้าร่วมในงานให้การศึกษาทั่วโลกซึ่งได้ช่วยหลายล้านคนแล้วให้เอาชนะความเกลียดชังที่เป็นต้นเหตุแห่งสงครามของมนุษย์.
การรับประกันในเรื่องสันติภาพโลก
นอกจากให้การศึกษาแล้ว พระเจ้าได้ทรงจัดตั้งรัฐบาล หรือ “ราชอาณาจักร” ที่สามารถทำให้แน่ใจเรื่องสันติภาพทั่วโลก. น่าสังเกต คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงพระเยซูคริสต์ ผู้ปกครองที่พระเจ้าทรงเลือกสรรว่าเป็น “องค์สันติราช.” มีการรับรองกับเราต่อไปอีกว่า “ความจำเริญรุ่งเรืองแห่งรัฐบาลของท่านและสันติสุขจะไม่รู้สิ้นสุด.”—ยะซายา 9:6, 7.
เรามีคำรับรองอะไรที่ว่าการปกครองของพระคริสต์จะกำจัดสงครามทุกแบบได้อย่างเป็นผลสำเร็จ? ผู้พยากรณ์ยะซายากล่าวเสริมอีกว่า “ความกระตือรือร้นแห่งพระยะโฮวาจอมโยธาจะทำให้การนี้สำเร็จ.” (ยะซายา 9:7) พระเจ้ามีพระทัยประสงค์และมีพระปรีชาสามารถที่จะรักษาสันติภาพถาวร. พระเยซูทรงมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ในคำสัญญานี้. เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงสอนเหล่าสาวกอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามา และขอให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จบนแผ่นดินโลก. (มัดธาย 6:9, 10) เมื่อคำทูลขออย่างจริงใจนั้นได้รับคำตอบในที่สุด สงครามจะไม่ทำลายพื้นพิภพนี้อีกเลย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 สำหรับคำอธิบายเกี่ยวกับหลักฐานที่ว่าเรามีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้าย โปรดดูบท 11 ของหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 7]
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลส่งเสริมสันติภาพแท้