การร่วมชุมนุมกันที่ “สะดือของโลก”
การร่วมชุมนุมกันที่ “สะดือของโลก”
คุณเคยได้ยินคำ “เท ปิโท โอ เท เฮนูอา” ไหม? ในราปานุยภาษาดั้งเดิมที่พูดกันบนเกาะอีสเตอร์ มีความหมายว่า “สะดือของโลก.” อะไรทำให้การชุมนุมกันบนเกาะแห่งนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ?
โดดเดี่ยว, ลึกลับ, แปลกประหลาด. คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้พรรณนาเกาะอีสเตอร์ หรือราปานุย ชื่อซึ่งผู้อยู่อาศัยบนเกาะแห่งนี้ตั้งให้. บริเวณพื้นที่ของเกาะนี้โดดเดี่ยวห่างไกลจริง ๆ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ห่างจากเมืองซานติอาโก ประเทศชิลี 3,790 กิโลเมตร. เกาะนี้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของชิลีเมื่อวันที่ 9 กันยายน ปี 1888.
เกาะรูปสามเหลี่ยมเนื้อที่ 166 ตารางกิโลเมตรนี้ โดยแท้แล้วเป็นภูเขาไฟที่สงบแล้วสามลูกอยู่รวมกัน. อันที่จริง เกาะนี้ก็เหมือนเกาะอื่น ๆ อีกมากมายในแปซิฟิก คือเป็นเพียงส่วนยอดของขุนเขามหึมาที่โผล่ขึ้นมาปรากฏอยู่เหนือพื้นน้ำ. พื้นที่ทั้งหมดถูกประกาศให้เป็นอนุสรณ์ธรรมชาติ. รูปสลักหินลึกลับที่เรียกกันว่าโมไอ นี่เองทำให้เกาะแห่งนี้เป็นที่เลื่องลืออย่างไม่ต้องสงสัย. *
นอกเหนือจากภูมิทัศน์งดงามน่าประทับใจและอาณาบริเวณทางประวัติศาสตร์แล้ว เกาะอีสเตอร์ยังได้ผลิตอาหารโอชะหลากหลายชนิด อาทิ สับปะรด, อะโวคาโด, มะละกอ, และกล้วยต่างชนิดมากถึงเก้าพันธุ์. และท้องทะเลก็มีปลาสารพัดจำพวกและอาหารทะเลอื่น ๆ.
อากาศบนเกาะอีสเตอร์ไม่ร้อนหรือหนาวจัด ฝนตกสม่ำเสมอและสามารถมองเห็นรุ้งกินน้ำซึ่งทำให้ผู้มาเยือนได้อากาศสะอาดสดชื่นและได้ชมทิวทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ.
ปัจจุบัน มีประชากรประมาณ 3,800 คนอาศัยบนเกาะนี้. ผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันก็คือลูกหลานของพวกแรกที่มาตั้งหลักแหล่งที่นี่ โดยมีชาวยุโรป, ชาวชิลี, และชาติอื่น ๆ ปะปนอยู่ด้วย. นักท่องเที่ยวมากมายจากยุโรปและเอเชียแวะมาที่เกาะนี้ ทำให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญด้านเศรษฐกิจ.การหว่านเมล็ดพืชแห่งราชอาณาจักรครั้งแรก
หนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1982 รายงานดังนี้: “ช่วงหนึ่งเรามีผู้ประกาศเพียงคนเดียวบนเกาะอีสเตอร์. เธอได้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณโดยการโต้ตอบจดหมายกับมิชชันนารีหญิงที่สำนักงานสาขา [ในชิลี]. แม้นเธอกลับไปที่แผ่นดินใหญ่ [ชิลี] แล้วก็ตาม แต่เรามีบันทึกรายชื่อผู้บอกรับวารสารหอสังเกตการณ์ บนเกาะ. ในเดือนเมษายน 1980 เรารู้สึกแปลกใจเมื่อได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากบุคคลหนึ่งซึ่งสนใจอยากรู้วันเวลาที่จะฉลองการประชุมอนุสรณ์. แล้วปีเดียวกันนั้นเองก็มีสองสามีภรรยาจากเมืองวอลพาไรโซย้ายไปที่นั่น และคนทั้งสองได้นำการศึกษาพระคัมภีร์กับพวกผู้สนใจ. เดือนเมษายน 1981 การประชุมอนุสรณ์ถูกจัดขึ้นบนเกาะแห่งนี้เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วม 13 คน. พวกเราชื่นชมยินดีสักเพียงไรที่ ‘ข่าวดี’ กำลังเข้าไปถึงดินแดนอันห่างไกลนี้!”
ต่อมา วันที่ 30 มกราคม 1991 สำนักงานสาขาได้ส่งไพโอเนียร์พิเศษสองสามีภรรยา ดาร์โยกับวินนี เฟอร์นันเดซไปที่เกาะนี้. บราเดอร์เฟอร์นันเดซเล่าว่า “ภายในเวลาห้าชั่วโมงเครื่องบินก็พาเรามาถึงที่ห่างไกลที่สุดของแผ่นดินโลก มาถึงวัฒนธรรมซึ่งห่อหุ้มไปด้วยความลึกลับ.” กิจกรรมการประชุมและการประกาศถูกจัดให้เป็นระเบียบในทันทีด้วยการสนับสนุนของพี่น้องชายคนหนึ่งในท้องถิ่นและพี่น้องหญิงคนหนึ่งที่เพิ่งมาพร้อมกับลูกชายสองคน. ทั้ง ๆ ที่มีความกดดันภายในครอบครัว, ความศรัทธาแรงกล้าในศาสนา, และวิถีชีวิตบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมชาวโพลีนีเซีย พวกเขาเห็นพระพรของพระยะโฮวาสนับสนุนความบากบั่นพยายามของตน. แม้บราเดอร์และซิสเตอร์เฟอร์นันเดซไม่ได้เป็นไพโอเนียร์พิเศษอีกต่อไป ทว่าเขายังคงอยู่บนเกาะเลี้ยงดูบุตรชายซึ่งเกิดที่นั่น. ปัจจุบันมีผู้ประกาศราชอาณาจักรที่ชื่นชมยินดี 32 คน. ในจำนวนนี้มีคนในท้องถิ่นราปานุย และคนที่มาตั้งหลักแหล่งบนเกาะหรือได้ย้ายมารับใช้ในเขตนี้ที่ยังคงต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากขึ้น.
การตระเตรียมสำหรับการประชุมหมวด
เนื่องจากระยะทางระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ห่างไกลกันมาก สามครั้งต่อปี ประชาคมได้รับเทปวีดิทัศน์เกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุมพิเศษหนึ่งวัน, การประชุมหมวด, และการประชุมภาค. แต่พอมาตอนสิ้นปี 2000 แนวคิดที่จะจัดการประชุมขึ้นเองเป็นครั้งแรกที่นั่นจึงถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสาขาประเทศชิลี. ในที่สุดจึงตกลงจัดการประชุมหมวดในเดือนพฤศจิกายน 2001 และส่งคำเชิญถึงพี่น้องชายหญิงจากภาคต่าง ๆ ของชิลีโดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมในวาระพิเศษนี้. เนื่องด้วยตารางเวลาเที่ยวบินที่สายการบินวางไว้ จึงต้องจัดการประชุมในวันอาทิตย์และวันจันทร์.
ตัวแทนรับเชิญ 33 คนต่างก็รู้สึกตื่นเต้นเมื่อนึกถึงการเดินทางเข้าร่วมการประชุมหมวดครั้งแรกที่จัดขึ้น ณ เกาะที่ห่างไกลขนาดนั้น. หลังจากใช้เวลานานบินข้ามมหาสมุทร
แปซิฟิก ตัวแทนรู้สึกผ่อนคลายเมื่อพี่น้องท้องถิ่นที่รออยู่ที่ท่าอากาศยานต้อนรับพวกเขา. ตัวแทนต่างก็ได้รับการต้อนรับด้วยพวงมาลัยกลีบดอกไม้สดที่สวยงาม ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวเกาะ. จากนั้นพวกเขาก็ไปยังห้องพักที่จัดไว้รับรอง และหลังจากใช้เวลาสั้น ๆ เที่ยวชมเกาะ ทุกคนที่ทำส่วนในระเบียบวาระการประชุมได้ไปพบกันที่หอประชุม.สาธารณชนรู้ข่าวการประชุมจากแหล่งที่มิได้คาดหมาย
ขณะขับรถไปยังสถานประชุม ตัวแทนบางคนแปลกใจเมื่อได้ฟังรายการวิทยุว่าบาทหลวงประจำท้องถิ่นวิจารณ์การมาเยือนของพยานฯ. บาทหลวงพูดถึงนักท่องเที่ยวจากอเมริกาใต้จะแวะเยี่ยมตามบ้านพูดคุยเรื่องอวสานของโลกที่จวนจะมาถึง. แม้บาทหลวงกล่าวเตือนสมาชิกโบสถ์ไม่ให้ฟังผู้มาเยือน แต่คำประกาศของเขากลับกลายเป็นการโฆษณาว่าพยานพระยะโฮวากลุ่มใหญ่จะมาปรากฏตัวบนเกาะนี้. ทั้งนี้เท่ากับเป็นการปลุกเร้าชาวเกาะให้คอยท่า. ในช่วงหลายวันถัดมา คณะตัวแทนเข้าร่วมประชุมได้ออกไปประกาศข่าวดีอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาวซึ่งให้การชูใจแก่ผู้คนที่นั่น.
การประชุมใหญ่เริ่มต้น
เช้าวันอาทิตย์ พี่น้องท้องถิ่นต่างก็รออยู่ตรงทางเข้าหอประชุมเพื่อต้อนรับคณะตัวแทนขณะที่พวกเขามาถึงที่ประชุมเป็นวันแรก. “อีโอรานา โคเอ! อีโอรานา โคเอ!” “ยินดีต้อนรับ!” พี่น้องหญิงบางคนสวมชุดพื้นเมืองและแซมผมด้วยดอกไม้งามแบบโพลีนีเซียแท้ ๆ.
หลังจากช่วงที่เริ่มด้วยดนตรีบรรเลงอันไพเราะ คนนับร้อยก็ร่วมเปล่งเสียงร้องเพลง “จงตั้งมั่นคง อย่าสะเทือนสะท้าน!” ซึ่งแต่ไหนแต่ไรบนเกาะไม่เคยได้เห็นคนมากมายร้องเพลงเช่นนี้. พี่น้องท้องถิ่นถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่เมื่อประธานกล่าวคำต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นภาษาราปานุย ภาษาพื้นเมืองของพวกเขา. ในช่วงพักเที่ยง พยานฯ ใหม่สามคนได้แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระเจ้าโดยการจุ่มตัวในน้ำ. เมื่อจบระเบียบวาระการประชุมวันแรก ทุกคนรู้สึกว่าได้เข้าใกล้พระยะโฮวาและใกล้ชิดกับสังคมพี่น้องทั้งสิ้นมากขึ้น.—1 เปโตร 5:9.
การให้คำพยานภาคเช้า
เนื่องจากสภาพแวดล้อมพิเศษบนเกาะ ระเบียบวาระการประชุมหมวดวันที่สองจึงเริ่มขึ้นหลังอาหารกลางวัน. ดังนั้น คณะตัวแทนจึงถือโอกาสใช้เวลาตอนเช้าออกไปร่วมงานประกาศตามบ้าน. พวกเขามีประสบการณ์อะไรบ้าง?
หญิงสูงอายุคนหนึ่งซึ่งมีบุตรชายหญิงแปดคนบอกพวกพยานฯ ว่าเธอไม่อาจจะพูดคุยกับพยานฯ เพราะเธอนับถือศาสนาคาทอลิก. หลังจากพยานฯ บอกเธอว่าต้องการคุยเกี่ยวกับปัญหาที่ทุกคนเผชิญอยู่ เช่น ปัญหายาเสพติดและปัญหาครอบครัว เธอจึงยอมรับฟัง.
หญิงชราในท้องถิ่นคนหนึ่งไม่สนใจจะต้อนรับสองสามีภรรยาพยานฯ. เธอบอกพยานฯ ให้ไปพูดคุยกับผู้คนบนแผ่นดินใหญ่ซึ่งปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างโหดร้าย. สามีภรรยาคู่นั้นบอกเธอว่าพวกตนเสนอข่าวสารเกี่ยวกับ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” แก่ทุกคนและวัตถุประสงค์ของการมาที่เกาะนี้ก็เพื่อเข้าร่วมการประชุมซึ่งจะช่วยทุกคนพัฒนาความรักต่อพระเจ้า. (มัดธาย 24:14, ล.ม.) แล้วก็ถาม หญิงคนนั้นว่าอยากจะดำรงชีวิตยืนยาวในสภาพอุทยานเหมือนที่เป็นอยู่บนเกาะนี้ไหม แต่ไม่มีความเจ็บป่วยและความตาย. หลังจากชักเหตุผลคุยกันเรื่องอายุของภูเขาไฟบนเกาะว่านานสักกี่ปี เธอคิดรำพึงถึงการที่คนเรามีชีวิตชั่วเวลาสั้น ๆ แล้วถามว่า “ทำไมอายุคนเราจึงสั้นนัก?” เธอประหลาดใจเมื่อได้อ่านบทเพลงสรรเสริญ 90:10.
ณ ตอนนี้ พยานฯ ได้ยินเสียงตะโกนดังลั่นจากบ้านถัดไป. แม้พยานฯ ไม่อาจเข้าใจว่าเขาตะโกนว่าอะไร แต่ผู้หญิงที่เขากำลังคุยด้วยบอกว่าเพื่อนบ้านตะโกนด่าและพูดโจ่งแจ้งว่าไม่ต้องการให้พยานฯ แวะไปที่บ้านเขา. อย่างไรก็ตาม หญิงคนนี้เป็นนูอา หรือลูกสาวคนโตของครอบครัว. เพราะเหตุที่บิดาของเธอเสียชีวิตแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเธอที่จะตัดสินใจเรื่องใด ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของครอบครัว. เธอพูดภาษาท้องถิ่นปกป้องเหล่าพยานฯ ต่อหน้าบรรดาญาติ ๆ และเธอยินดีรับเอาหนังสือที่พยานฯ เสนอให้อ่าน. ต่อมาระหว่างสัปดาห์นั้นเอง เมื่อเธอนั่งรถผ่านพยานฯ เธอขอน้องชายหยุดรถ. ทั้งที่เขาไม่สู้จะพอใจ เธอกล่าวสวัสดีอำลาและอวยพรพวกพี่น้องให้ประสบความสำเร็จในงานเผยแพร่.
ถึงแม้ดูเหมือนในตอนแรกชาวเกาะบางคนปฏิเสธข่าวสารที่พยานฯ จากแผ่นดินใหญ่ประกาศให้เขาฟัง แต่ผู้ไปเยือนก็ประจักษ์ว่าชาวราปานุย ปกติแล้วเป็นคนกรุณาและมีอัธยาศัยไมตรี. พวกเขาส่วนใหญ่ยินดีรับฟังข่าวดี. ที่จริง 6 คนในจำนวนพยานฯ 20 คนที่ได้รับบัพติสมาบนเกาะเป็นคนท้องถิ่น. คนหนึ่งเรียนความจริงเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลครั้งแรกโดยการฟังจากห้องข้าง ๆ ซึ่งมีคนมานำการศึกษาพระคัมภีร์กับภรรยาของเขา. ตอนนี้ทั้งสองเป็นพยานฯ ที่รับบัพติสมาแล้ว สามีเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคม.
ระเบียบวาระฝ่ายวิญญาณดำเนินต่อ
ภายหลังอาหารมื้อกลางวัน ระเบียบวาระการประชุมวันที่สองได้เริ่มขึ้น. อีกครั้งหนึ่ง ผู้สนใจหลายคนได้เข้ามาร่วมกับพี่น้องชายหญิงท้องถิ่น 32 คนและตัวแทน 33 คน. เกือบหนึ่งร้อยคนได้ฟังระเบียบวาระ รวมทั้งคำบรรยายสาธารณะเรื่อง “วิธีที่ความรักและความเชื่อเอาชนะโลก.” อันที่จริง บรรดาผู้เข้าร่วมได้เห็นการแสดงความรักท่ามกลางประชาชนของพระยะโฮวา แม้ในท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ต่างกันด้านวัฒนธรรมด้วยซ้ำ.—โยฮัน 13:35.
ในช่วงการประชุมหมวด ผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาคจัดประชุมพิเศษกับพวกไพโอเนียร์. ตัวแทนที่มาเยือนซึ่งเป็นไพโอเนียร์ประจำและพิเศษได้ประชุมร่วมกับไพโอเนียร์ประจำสามคนบนเกาะนี้. ทุกคนได้รับการชูใจเป็นอย่างมาก.
วันต่อมา พี่น้องท้องถิ่นบางคนที่มีงานทำเป็นมัคคุเทศก์ได้นำตัวแทนเที่ยวทั่วเกาะ. พวกเขานำชมบ่อหิน ที่มีการแกะรูปสลักหินโมไอ, ภูเขาไฟซึ่งเป็นสถานที่แข่งขันในสมัยโบราณ, และแน่นอน อานาเคนาหาดทรายทองที่สวยงาม ซึ่งเรือของพวกแรกที่มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะได้เข้าเทียบท่าที่นี่.โอกาสสุดท้ายที่จะได้อยู่กับพี่น้องท้องถิ่นคือช่วงที่มีการศึกษาหนังสือประจำประชาคม. เมื่อเลิกประชุมแล้ว พยานฯ ท้องถิ่นยังความประหลาดใจแก่แขกของตนด้วยการเลี้ยงอาหารพื้นบ้าน. หลังจากนั้น พี่น้องทั้งชายและหญิงในชุดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะได้ออกมาเต้นระบำชาวเกาะ. ตัวแทนทั้งคณะและพี่น้องชายหญิงชาวราปานุยต่างก็แน่ใจว่า ความพยายามในการจัดเตรียมการประชุมคราวนี้ได้ผลคุ้มค่าจริง ๆ.
ทุกคนที่มาในฐานะเป็นตัวแทนรู้สึกผูกพันอย่างล้ำลึกกับพี่น้องชายหญิงซึ่งอยู่โดดเดี่ยว หลังจากใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์อย่างน่าตื่นเต้นอยู่กับพวกเขา. เป็นเรื่องยากที่จะลาจากไป. พวกเขาจะคงทะนุถนอมมิตรภาพระหว่างเพื่อนใหม่ไว้เสมอ รวมทั้งการหนุนใจฝ่ายวิญญาณที่เขาได้รับ. ณ ท่าอากาศยาน พี่น้องท้องถิ่นได้เอาสายสร้อยที่ทำจากเปลือกหอยคล้องคอให้แก่คณะผู้แทนทั่วหน้า.
ตอนจากลากัน พวกตัวแทนให้คำมั่นว่า “อีโอรานา! อาอู เฮ โฮคี มาอี เอ ราปานุย เอเอ” ซึ่งหมายความว่า “ลาก่อน! เราจะกลับมาหาคุณอีก ราปานุย.” ใช่แล้ว พวกเขาปรารถนาจะกลับมาเยี่ยมเพื่อนใหม่และสมาชิกครอบครัวฝ่ายวิญญาณที่อยู่บนเกาะอีสเตอร์อันแสนแปลกประหลาด, โดดเดี่ยว, ลึกลับ, และเป็นมิตร!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 โปรดดูวารสารตื่นเถิด! ฉบับ 8 กรกฎาคม 2000 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 27 ที่ปากปล่องภูเขาไฟราโนราราคู มีภาพสลักบนแผ่นหินปรากฏอยู่มากมาย. ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันของพวกที่ต้องการครอบครองเกาะแห่งนี้. การแข่งขันมีทั้งการปีนลงทางหน้าผา แล้วว่ายน้ำไปยังเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่ง หาไข่นกที่อาศัยบนเกาะและเมื่อได้แล้วก็ว่ายกลับมาที่เกาะหลัก แล้วปีนหน้าผาโดยไม่ทำไข่นกแตก.
[กรอบหน้า 24]
การให้คำพยานบนเกาะอีสเตอร์
ประมาณสองปีก่อนการประชุมที่น่าจดจำคราวนี้ ผู้ดูแลหมวดกับภรรยาได้มาเยี่ยมเกาะนี้และประสบพบเห็นสิ่งที่ยังความยินดีมากมาย. ตัวอย่างเช่น ลองนึกภาพความประหลาดใจของทั้งสองเมื่อพี่น้องหญิงคนที่พาพวกเขาไปยังบ้านพักได้ทบทวนความหลังว่าคนทั้งสองเคยนำการศึกษาพระคัมภีร์กับเธอในประเทศชิลีทางใต้ ประมาณ 16 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเธอเป็นวัยรุ่น. ต่อมาเมล็ดนั้นบังเกิดผลบนเกาะราปานุย.
นอกจากนั้น ผู้ดูแลหมวดกับภรรยายังมีประสบการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่น่าขบขัน: เจ้าของร้านขายของที่ระลึกได้รับพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ และคู่มือการศึกษาพระคัมภีร์ หนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ ซึ่งทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. ครั้นกลับไปเยี่ยมคนที่รับหนังสือ เขาบอกว่าอ่านพระคัมภีร์เล่มนั้นไม่เป็น. พวกเขาให้พระคัมภีร์ภาษาฝรั่งเศสแก่เขา แทนที่จะให้ภาษาสเปน! ปัญหานั้นได้รับการแก้ไขทันท่วงที และเขาเห็นว่าพระคัมภีร์ไม่ยากเกินที่จะเข้าใจได้ โดยได้รับการช่วยเหลือจากเหล่าพยานฯ ท้องถิ่น และแน่นอน จากพระคัมภีร์ที่เป็นภาษาของเขาเอง.
[แผนที่หน้า 22]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เกาะอีสเตอร์
ชิลี
[ภาพหน้า 23]
สองคนในจำนวนผู้รับบัพติสมา ณ การประชุมหมวด
[ภาพหน้า 25]
เชิงลาดของภูเขาไฟราโนราราคู; ภาพเล็ก: ผลไม้ป่าที่ขึ้นบนเกาะมีชื่อเรียกว่ากวายาบา