ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สันติภาพเวสท์ฟาเลียช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุโรป

สันติภาพเวสท์ฟาเลียช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุโรป

สันติภาพ​เวสท์ฟาเลีย​ช่วง​หัวเลี้ยว​หัวต่อ​ของ​ยุโรป

“สำหรับ​เหล่า​ประมุข​ของ​ประเทศ​หรือ​รัฐ​ต่าง ๆ ใน​ยุโรป​หลาย​คน​แล้ว การ​รวม​ตัว​กัน​อย่าง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​นี้ ณ ที่​นี่ เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​บ่อย​อย่าง​แน่นอน.” โรมัน เฮิร์ทโซค อดีต​ประธานาธิบดี​สหพันธ์​สาธารณรัฐ​เยอรมนี​ได้​กล่าว​ถ้อย​คำ​นี้​ใน​เดือน​ตุลาคม 1998. ขณะ​ที่​เขา​กล่าว มี​ผู้​ฟัง​คือ​กษัตริย์​สี่​พระองค์, ราชินี​สี่​พระองค์, เจ้า​ชาย​สอง​พระองค์, และ​แกรนด์​ดุ๊ก​ท่าน​หนึ่ง รวม​ทั้ง​ประธานาธิบดี​อีก​หลาย​คน. การ​รวม​ตัว​กัน​ครั้ง​นี้​มี​สภา​ยุโรป​เป็น​ผู้​สนับสนุน ถือ​เป็น​เหตุ​การณ์​ครั้ง​สำคัญ​ใน​รอบ 50 ปี​ของ​ประวัติศาสตร์​รัฐ​เยอรมนี​ยุค​ใหม่. นี่​เป็น​โอกาส​อะไร?

เดือน​ตุลาคม​ปี 1998 เป็น​การ​ครบ​รอบ​ปี​ที่ 350 ของ​สนธิสัญญา​สันติภาพ​เวสท์ฟาเลีย. ข้อ​ตก​ลง​สันติภาพ​มัก​เป็น​จุด​หักเห​ของ​ประวัติศาสตร์ และ​ใน​แง่​นี้​สนธิสัญญา​เวสท์ฟาเลีย​เป็น​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​พิเศษ. การ​ลง​นาม​ใน​สนธิสัญญา​นี้​ใน​ปี 1648 เป็น​การ​ยุติ​สงคราม​สาม​สิบ​ปี​และ​เป็น​การ​บ่ง​ชี้​ถึง​การ​กำเนิด​ของ​ยุโรป​ยุค​ใหม่​ใน​ฐานะ​เป็น​ทวีป​แห่ง​รัฐ​เอกราช.

ระบบ​เก่า​ถูก​สั่น​คลอน

ใน​ยุค​กลาง สถาบัน​ที่​ทรง​อำนาจ​มาก​ที่​สุด​ใน​ยุโรป​คือ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​และ​จักรวรรดิ​โรมัน​อัน​ศักดิ์สิทธิ์. จักรวรรดิ​นี้​ประกอบ​ด้วย​เขต​ปกครอง​ของ​พวก​ขุนนาง​ทั้ง​ขนาด​เล็ก​ขนาด​ใหญ่​หลาย​ร้อย​แห่ง​ซึ่ง​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ใน​ปัจจุบัน​คือ​ออสเตรีย, สาธารณรัฐ​เช็ก, ฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, ประเทศ​ต่าง ๆ ใน​พื้น​ที่​ต่ำ (เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, และ​เนเธอร์แลนด์), และ​บาง​ส่วน​ของ​อิตาลี. เนื่อง​จาก​เขต​ปกครอง​ต่าง ๆ ดัง​กล่าว​ของ​เยอรมนี​กิน​พื้น​ที่​ส่วน​ใหญ่​ใน​จักรวรรดิ​นี้ จึง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ฐานะ​จักรวรรดิ​โรมัน​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​แห่ง​ชาติ​เยอรมัน. แต่​ละ​เขต​จะ​มี​ขุนนาง​ปกครอง​ตน​เอง​ภาย​ใต้​อำนาจ​ของ​จักรพรรดิ. จักรพรรดิ​เอง​ทรง​เป็น​โรมัน​คาทอลิก​จาก​ราชวงศ์​ฮับสบูร์ก​แห่ง​ออสเตรีย. เพราะ​ฉะนั้น เนื่อง​ด้วย​อำนาจ​ของ​โปป​และ​จักรวรรดิ ยุโรป​จึง​อยู่​ใน​กำ​มือ​ของ​โรมัน​คาทอลิก​อย่าง​แน่น​หนา.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 และ 17 ระบบ​นั้น​ก็​ถูก​สั่น​คลอน. ความ​ไม่​พอ​ใจความ​ฟุ้ง​เฟ้อ​ของ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​ได้​แพร่​กระจาย​ไป​ทั่ว​ยุโรป. นัก​ปฏิรูป​ศาสนา​อย่าง​เช่น​มาร์ติน ลูเทอร์​และ​จอห์น แคลวิน​เรียก​ร้อง​ให้​กลับ​ไป​หา​มาตรฐาน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. ลูเทอร์​และ​แคลวิน​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​อย่าง​กว้างขวาง และ​จาก​การ​เคลื่อน​ไหว​ใน​ครั้ง​นั้น​ก่อ​ให้​เกิด​การ​ปฏิรูป​และ​นิกาย​โปรเตสแตนต์​ขึ้น. การ​ปฏิรูป​ทำ​ให้​เกิด​การ​แบ่ง​แยก​จักรวรรดิ​ออก​เป็น​สาม​ความ​เชื่อ​คือ คาทอลิก, ลูเทอรัน, และ​คาลวินิสต์.

ชาว​คาทอลิก​มอง​ชาว​โปรเตสแตนต์​ด้วย​ความ​สงสัย​และ​ชาว​โปรเตสแตนต์​ก็​ดูถูก​ชาว​คาทอลิก​ที่​เป็น​คู่​ปรับ. บรรยากาศ​เช่น​นี้​จึง​นำ​ไป​สู่​การ​ก่อ​ตั้ง​สหภาพ​โปรเตสแตนต์​และ​สันนิบาต​คาทอลิก​ใน​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 17. ขุนนาง​บาง​คน​ของ​จักรวรรดิ​เข้า​ร่วม​กับ​สหภาพ บาง​คน​เข้า​ร่วม​กับ​สันนิบาต. ยุโรป โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​จักรวรรดิ จึง​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​หวาด​ระแวง หาก​มี​การ​จุด​ชนวน​แห่ง​ความ​ขัด​แย้ง​เพียง​นิด​เดียว​ก็​สามารถ​ส่ง​ผล​ให้​ทุก​สิ่ง​วอด​วาย​ได้. ใน​ที่​สุด เมื่อ​ชนวน​นั้น​ถูก​จุด​ขึ้น จึง​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ความ​ขัด​แย้ง​ที่​ยืดเยื้อ​มา​นาน​ถึง 30 ปี.

การ​จุด​ชนวน​ที่​นำ​ไป​สู่​ความ​รุนแรง​จน​ทำ​ให้​ยุโรป​ลุก​เป็น​ไฟ

ผู้​ปกครอง​ชาว​โปรเตสแตนต์​พยายาม​บีบ​ให้​ราชวงศ์​ฮับสบูร์ก​ที่​เป็น​คาทอลิก​ยินยอม​ที่​จะ​ให้​มี​เสรีภาพ​มาก​ขึ้น​ใน​การ​นมัสการ. แต่​การ​ยินยอม​นี้​เป็น​แบบ​ชักช้า​ไม่​เต็ม​ใจ และ​ใน​ปี 1617-1618 มี​การ​บังคับ​ให้​ปิด​โบสถ์​ของ​ลูเทอรัน​ใน​โบฮีเมีย (สาธารณรัฐ​เช็ก) สอง​แห่ง. การ​ทำ​เช่น​นี้​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ขุ่นเคือง​แก่​พวก​ขุนนาง​ของ​โปรเตสแตนต์ ทำ​ให้​พวก​เขา​ลุก​ฮือ​เข้า​ไป​ใน​พระ​ราชวัง ณ กรุง​ปราก​และ​จับ​เจ้าหน้าที่​ชาว​คาทอลิก​สาม​คน​โยน​ลง​มา​จาก​หน้าต่าง​ชั้น​บน. การ​กระทำ​เช่น​นี้​เป็น​การ​จุด​ชนวน​ที่​ทำ​ให้​ยุโรป​ลุก​เป็น​ไฟ.

แม้​พวก​เขา​อ้าง​ว่า​ติด​ตาม​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ชาย​แห่ง​สันติ​สุข แต่​ตอน​นี้​สมาชิก​ของ​ศาสนา​ที่​เป็น​ปรปักษ์​กลับ​ต่อ​สู้​ห้ำหั่น​กัน​เอง. (ยะซายา 9:6) ใน​ยุทธการ​ไวต์ เมาน์เทน สหภาพ​โปรเตสแตนต์​พ่าย​แพ้​สันนิบาต​คาทอลิก​อย่าง​ยับเยิน. พวก​ขุนนาง​ชาว​โปรเตสแตนต์​ถูก​ประหาร​ชีวิต​ที่​ย่าน​การ​ค้า​ใน​กรุง​ปราก. ตลอด​ทั่ว​ทั้ง​โบฮีเมีย ทรัพย์​สิน​ของ​ชาว​โปรเตสแตนต์​ที่​ไม่​ยอม​เปลี่ยน​ความ​เชื่อ​จะ​ถูก​ริบ​และ​แบ่ง​กัน​ใน​หมู่​คาทอลิก. หนังสือ 1648—ครี​ค อุนด์ ฟรี​เดน อิน ออยโรปา (1648—สงคราม​และ​สันติภาพ​ใน​ยุโรป) พรรณนา​การ​ยึด​ทรัพย์​สิน​เช่น​นี้​ว่า​เป็น “หนึ่ง​ใน​การ​เปลี่ยน​มือ​เจ้าของ​ที่​ดิน​ครั้ง​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​ใน​ยุโรป​ตอน​กลาง.”

จาก​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ความ​ขัด​แย้ง​ทาง​ศาสนา​ใน​โบฮีเมีย​ลุก​ลาม​กลาย​เป็น​การ​ต่อ​สู้​ช่วง​ชิง​อำนาจ​ระหว่าง​ชาติ​ต่าง ๆ. ตลอด 30 ปี​ต่อ​มา เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, สเปน, และ​สวีเดน​ถูก​ดึง​ให้​เข้า​ร่วม​ใน​สงคราม. เนื่อง​จาก​บ่อย​ครั้ง​ถูก​กระตุ้น​ด้วย​ความ​ละโมบ​และ​การ​กระหาย​อำนาจ ผู้​ปกครอง​ทั้ง​ของ​คาทอลิก​และ​โปรเตสแตนต์​จะ​ใช้​อุบาย​ทุก​วิถี​ทาง​เพื่อ​จะ​ได้​เป็น​ใหญ่​ใน​ด้าน​การ​เมือง​และ​ได้​รับ​ผล​ประโยชน์​ทาง​การ​ค้า. สงคราม​สาม​สิบ​ปี​ถูก​แบ่ง​ออก​เป็น​ช่วง ๆ แต่​ละ​ช่วง​เรียก​ตาม​ชื่อ​ปฏิปักษ์​คน​สำคัญ ๆ ของ​จักรพรรดิ. ตาม​แหล่ง​อ้างอิง​หลาย​แหล่ง​กล่าว​ไว้ สงคราม​แบ่ง​เป็น​สี่​ช่วง​คือ สงคราม​โบฮีเมีย​และ​ปาลาไตน์, สงคราม​เดนมาร์ก-โลว์​เออร์​แซกโซนี, สงคราม​สวีเดน, และ​สงคราม​ฝรั่งเศส-สวีเดน. การ​ต่อ​สู้​ส่วน​ใหญ่​เกิด​ขึ้น​ใน​ดินแดน​ของ​จักรวรรดิ.

อาวุธ​ที่​ใช้​ใน​สมัย​นั้น​มี​ทั้ง​ปืน​สั้น, ปืน​คาบ​ศิลา, ปืน​ครก, และ​ปืน​ใหญ่ โดย​มี​สวีเดน​เป็น​ผู้​จัด​หา​อาวุธ. คาทอลิก​และ​โปรเตสแตนต์​ต่อ​สู้​กัน. เหล่า​ทหาร​ที่​เข้า​ประจัญบาน​พา​กัน​ตะโกน​ว่า “ซานตา มาเรีย” หรือ​ไม่​ก็ “พระเจ้า​สถิต​อยู่​กับ​เรา.” กอง​ทหาร​ปล้น​สะดม​ตาม​เส้น​ทาง​ที่​ข้าม​ผ่าน​ดินแดน​ต่าง ๆ ของ​เยอรมนี ปฏิบัติ​ต่อ​ฝ่าย​ตรง​ข้าม​และ​พลเรือน​เยี่ยง​สัตว์. สงคราม​เลว​ร้าย​ลง​จน​กลาย​เป็น​ความ​ป่า​เถื่อน. ช่าง​แตกต่าง​เสีย​จริง ๆ จาก​สิ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​พยากรณ์​ไว้​ว่า “ประเทศ​ต่อ​ประเทศ​จะ​ไม่​ยก​ดาบ​ขึ้น​ต่อ​สู้​กัน, และ​เขา​จะ​ไม่​ศึกษา​ยุทธศาสตร์​อีก​ต่อ​ไป”!—มีคา 4:3.

ชาว​เยอรมัน​ชั่ว​อายุ​นั้น​เติบโต​ขึ้น​โดย​รู้​จัก​แต่​เรื่อง​ของ​สงคราม​เท่า​นั้น และ​ประชาชน​ที่​เหนื่อย​หน่าย​ก็​ปรารถนา​เหลือ​เกิน​ที่​จะ​มี​สันติภาพ. ดู​เหมือน​ว่า สันติภาพ​คง​จะ​เกิด​ขึ้น​ได้​ถ้า​เหล่า​ผู้​ปกครอง​ไม่​มี​การ​ต่อ​สู้​ช่วง​ชิง​ผล​ประโยชน์​ทาง​การ​เมือง​กัน. สงคราม​กลาย​เป็น​เรื่อง​ทาง​การ​เมือง​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​ขณะ​ที่​สูญ​เสีย​ลักษณะ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาสนา​ไป​และ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ทาง​โลก​มาก​ขึ้น​ทุก​ที. ที่​น่า​แปลก​ก็​คือ บุคคล​หนึ่ง​ที่​สนับสนุน​ให้​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​เช่น​นี้​เป็น​คน​ที่​มี​ตำแหน่ง​สูง​ใน​คริสตจักร​คาทอลิก.

คาร์ดินัล​ริเชอลิเยอ​กุม​อำนาจ

ตำแหน่ง​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ของ​อาร์​มองด์​ชอง ดู เปลสซิ​คือ​คาร์ดินัล เดอ ริ​เชอลิเยอ. ตั้ง​แต่​ปี 1624 ถึง 1642 เขา​ดำรง​ตำแหน่ง​นายก​รัฐมนตรี​ของ​ฝรั่งเศส​ด้วย. ริเชอลิเยอ​มี​เป้าหมาย​ให้​ฝรั่งเศส​กุม​อำนาจ​ส่วน​ใหญ่​ใน​ยุโรป. เพื่อ​จะ​ทำ​ตาม​เป้าหมาย​นั้น เขา​พยายาม​บ่อน​ทำลาย​อำนาจ​ของ​ราชวงศ์​ฮับสบูร์ก​ซึ่ง​เป็น​คาทอลิก​เช่น​เดียว​กับ​เขา. เขา​ทำ​อย่าง​ไร? โดย​ให้​การ​สนับสนุน​ด้าน​การ​เงิน​แก่​กองทัพ​โปรเตสแตนต์​ที่​อยู่​ใน​ดินแดน​ของ​เยอรมนี, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, และ​สวีเดน ซึ่ง​ทั้ง​หมด​ล้วน​ต่อ​สู้​กับ​ราชวงศ์​ฮับสบูร์ก.

ใน​ปี 1635 ริเชอลิเยอ​ส่ง​กองทัพ​ของ​ฝรั่งเศส​เข้า​ร่วม​ใน​สงคราม​เป็น​ครั้ง​แรก. หนังสือ​วีวัท พัค—เอส เลเบ เดอร์ ฟรี​เด! (สันติภาพ​จง​เจริญ!) อธิบาย​ว่า ใน​ช่วง​สุด​ท้าย “สงคราม​สาม​สิบ​ปี​ไม่​ได้​เป็น​การ​ต่อ​สู้​กัน​ระหว่าง​ฝ่าย​ต่าง ๆ ทาง​ศาสนา​อีก​ต่อ​ไป. . . . สงคราม​กลับ​กลาย​เป็น​การ​ช่วง​ชิง​ความ​เป็น​ใหญ่​ทาง​การ​เมือง​ใน​ยุโรป.” สิ่ง​ที่​เริ่ม​ต้น​เป็น​ความ​ขัด​แย้ง​ทาง​ศาสนา​ระหว่าง​คาทอลิก​กับ​โปรเตสแตนต์ จบ​ลง​ด้วย​การ​ที่​คาทอลิก​ร่วม​มือ​กับ​โปรเตสแตนต์​ต่อ​สู้​กับ​คาทอลิก​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง. สันนิบาต​คาทอลิก​ซึ่ง​อ่อนแอ​อยู่​แล้ว​ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1630 ได้​ถูก​ยุบ​ใน​ปี 1635.

การ​ประชุม​เพื่อ​สันติภาพ​ใน​เวสท์ฟาเลีย

ยุโรป​เสียหาย​ย่อยยับ​จาก​การ​ปล้น​สะดม, การ​เข่น​ฆ่า, การ​ข่มขืน, และ​โรค​ภัย. มี​ความ​ต้องการ​สันติภาพ​เพิ่ม​มาก​ขึ้น​ทุก​ที​เนื่อง​จาก​ตระหนัก​ว่า​ไม่​มี​ใคร​เป็น​ผู้​ชนะ​ใน​สงคราม. หนังสือ​วีวัท พัค—เอส เลเบ เดอร์ ฟรี​เด! ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ใน​ที่​สุด เมื่อ​ใกล้​จะ​สิ้น​ทศวรรษ 1630 ขุนนาง​ทั้ง​หลาย​ก็​ตระหนัก​ว่า​กำลัง​ทาง​ทหาร​ไม่​อาจ​ช่วย​พวก​เขา​บรรลุ​เป้าหมาย​ได้​อีก​ต่อ​ไป.” แต่​ถ้า​สันติภาพ​เป็น​สิ่ง​ที่​ทุก​คน​ปรารถนา​แล้ว จะ​มี​การ​บรรลุ​เรื่อง​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

จักรพรรดิ​เฟอร์ดินันด์​ที่​สาม​แห่ง​จักรวรรดิ​โรมัน​อัน​ศักดิ์สิทธิ์, พระเจ้า​หลุยส์​ที่ 13 แห่ง​ฝรั่งเศส, และ​ราชินี​คริสตินา​แห่ง​สวีเดน​เห็น​พ้อง​กัน​ว่า​ควร​จัด​ให้​มี​การ​ประชุม​ขึ้น​ใน​สถาน​ที่​ที่​ทุก​ฝ่าย​ที่​ทำ​สงคราม​กัน​จะ​มา​ประชุม​และ​เจรจา​ข้อ​ตก​ลง​เรื่อง​สันติภาพ. สถาน​ที่​สอง​แห่ง​ที่​ถูก​เลือก​สำหรับ​การ​เจรจา​กัน​คือ เมือง​ออสนาบรึก​และ​มึนสเตอร์​ใน​แคว้น​เวสท์ฟาเลีย​ของ​เยอรมนี. มี​การ​เลือก​สอง​เมือง​นี้​เพราะ​อยู่​กึ่งกลาง​ระหว่าง​เมือง​หลวง​ของ​สวีเดน​และ​ฝรั่งเศส. เริ่ม​ใน​ปี 1643 คณะ​ผู้​แทน​ประมาณ 150 คณะ ซึ่ง​บาง​คณะ​มา​พร้อม​กับ​ที่​ปรึกษา​จำนวน​มาก ได้​มา​ถึง​เมือง​ทั้ง​สอง คณะ​ทูต​คาทอลิก​รวม​ตัว​กัน​ที่​เมือง​มึนสเตอร์ ตัว​แทน​โปรเตสแตนต์​อยู่​ใน​เมือง​ออสนาบรึก.

ใน​ตอน​แรก ได้​มี​การ​วาง​ระเบียบ​ปฏิบัติ​เพื่อ​กำหนด​เรื่อง​ต่าง ๆ เช่น ตำแหน่ง​และ​ระดับ​ชั้น​ของ​ทูต, ลำดับ​ที่​นั่ง, และ​ขั้น​ตอน​ดำเนิน​การ. ต่อ​มา เริ่ม​มี​การ​เจรจา​สันติภาพ​โดย​มี​การ​ยื่น​ข้อ​เสนอ​จาก​คณะ​ผู้​แทน​ฝ่าย​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​โดย​ผ่าน​คน​กลาง. หลัง​จาก​เกือบ​ห้า​ปี​ผ่าน​ไป​ใน​ขณะ​ที่​สงคราม​ยัง​คง​ดำเนิน​อยู่ ได้​มี​การ​ทำ​ข้อ​ตก​ลง​เรื่อง​สันติภาพ​ขึ้น. สนธิสัญญา​เวสท์ฟาเลีย​ประกอบ​ด้วย​เอกสาร​มาก​กว่า​หนึ่ง​ฉบับ. ข้อ​ตก​ลง​ฉบับ​หนึ่ง​มี​การ​ลง​นาม​ระหว่าง​จักรพรรดิ​เฟอร์ดินันด์​ที่​สาม​กับ​สวีเดน​ที่​เมือง​ออสนาบรึก อีก​ฉบับ​หนึ่ง​ระหว่าง​จักรพรรดิ​กับ​ฝรั่งเศส​ที่​เมือง​มึนสเตอร์.

เมื่อ​ข่าว​เรื่อง​สนธิสัญญา​แพร่​สะพัด​ออก​ไป ได้​เริ่ม​มี​การ​เฉลิม​ฉลอง​ขึ้น. สงคราม​ที่​เริ่ม​ต้น​ด้วย​การ​จุด​ชนวน​ที่​นำ​ไป​สู่​ความ​รุนแรง​จบ​ลง​ด้วย​การ​จุด​ดอกไม้​ไฟ​จริง ๆ. ท้องฟ้า​ของ​เมือง​ต่าง ๆ สว่างไสว​ด้วย​ดอกไม้​ไฟ. มี​การ​สั่น​ระฆัง​ใน​โบสถ์, ใช้​ปืน​ใหญ่​ยิง​สลุต, และ​ผู้​คน​พา​กัน​ร้อง​เพลง​ตาม​ถนน​หน​ทาง. ตอน​นี้​ยุโรป​สามารถ​คาด​หวัง​ใน​เรื่อง​สันติภาพ​ถาวร​ได้​แล้ว​ไหม?

สันติภาพ​ถาวร​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ไหม?

สนธิสัญญา​เวสท์ฟาเลีย​รับรอง​หลักการ​ใน​เรื่อง​อำนาจ​อธิปไตย. นั่น​หมายความ​ว่า​แต่​ละ​ฝ่าย​ของ​สนธิสัญญา​ตก​ลง​ที่​จะ​เคารพ​สิทธิ​ใน​เขต​แดน​ของ​ฝ่าย​อื่น​และ​ไม่​เข้า​ไป​แทรกแซง​กิจการ​ภาย​ใน​ประเทศ​นั้น ๆ. ด้วย​เหตุ​นี้ ยุโรป​ยุค​ใหม่​ใน​ฐานะ​ทวีป​แห่ง​รัฐ​เอกราช​ได้​ถือ​กำเนิด​ขึ้น. ใน​บรรดา​รัฐ​เหล่า​นี้ บาง​รัฐ​ได้​ประโยชน์​จาก​สนธิสัญญา​นี้​มาก​กว่า​รัฐ​อื่น ๆ.

ฝรั่งเศส​ผงาด​ขึ้น​มา​มี​อำนาจ รวม​ทั้ง​เนเธอร์แลนด์​และ​สวิตเซอร์แลนด์​ได้​รับ​เอกราช. สำหรับ​ดินแดน​ต่าง ๆ ของ​เยอรมนี​ซึ่ง​หลาย​ดินแดน​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​ย่อยยับ​จาก​สงคราม สนธิสัญญา​นี้​ทำ​ให้​มี​ข้อ​เสีย​เปรียบ. ชะตากรรม​ของ​เยอรมนี​ถูก​กำหนด​โดย​ชาติ​อื่น ๆ ใน​ระดับ​หนึ่ง. สารานุกรม​บริแทนนิกา​ฉบับ​ใหม่ รายงาน​ว่า “ส่วน​ได้​ส่วน​เสีย​ที่​ขุนนาง​เยอรมัน​ได้​รับ​ถูก​กำหนด​โดย​ผล​ประโยชน์​ของ​ประเทศ​ที่​มี​อิทธิพล​คือ ฝรั่งเศส, สวีเดน, และ​ออสเตรีย.” แทน​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​ชัก​นำ​เข้า​มา​รวม​กัน​เป็น​ชาติ​เดียว เขต​ปกครอง​ต่าง ๆ ของ​เยอรมนี​ถูก​แบ่ง​ออก​เหมือน​เมื่อ​ก่อน. ยิ่ง​กว่า​นั้น บาง​ส่วน​ของ​เยอรมนี​ถูก​ยก​ให้​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​ผู้​ปกครอง​จาก​ประเทศ​อื่น เช่น ส่วน​ต่าง ๆ ของ​แม่น้ำ​สาย​หลัก​ของ​เยอรมนี​อัน​ได้​แก่ แม่น้ำ​ไรน์, แม่น้ำ​เอลเบ, และ​แม่น้ำ​โอ​เดอร์.

นิกาย​คาทอลิก, ลูเทอรัน, และ​คาลวินิสต์​ได้​รับ​การ​รับรอง​ให้​มี​ฐานะ​เท่า​เทียม​กัน. แต่​ไม่​ใช่​ทุก​คน​จะ​พอ​ใจ​ใน​เรื่อง​นี้. โปป​อินโนเซนต์​ที่​สิบ​ต่อ​ต้าน​สนธิสัญญา​นี้​อย่าง​รุนแรง​โดย​ประกาศ​ให้​เป็น​โมฆะ. แต่​กระนั้น ขอบ​เขต​ทาง​ศาสนา​ที่​ได้​กำหนด​ขึ้น​นี้​ส่วน​ใหญ่​ยัง​คง​เหมือน​เดิม​ไม่​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​มาก​นัก​ตลอด​สาม​ศตวรรษ​ต่อ​มา. แม้​ว่า​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​สำหรับ​ปัจเจกบุคคล​ยัง​ไม่​เกิด​ขึ้น แต่​ก็​ใกล้​เข้า​มา​ขั้น​หนึ่ง​แล้ว.

สนธิสัญญา​นี้​ทำ​ให้​สงคราม​สาม​สิบ​ปี​สิ้น​สุด​ลง และ​พร้อม​กัน​นั้น​ก็​ยุติ​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​กัน​ส่วน​ใหญ่. นี่​เป็น​สงคราม​ใหญ่​ทาง​ศาสนา​ครั้ง​สุด​ท้าย​ของ​ยุโรป. สงคราม​ไม่​ได้​หมด​ไป แต่​เปลี่ยน​จาก​สาเหตุ​พื้น​ฐาน​ใน​เรื่อง​ศาสนา​มา​เป็น​สงคราม​ที่​เกี่ยว​กับ​การ​เมือง​หรือ​การ​ค้า. นั่น​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​ศาสนา​สูญ​เสีย​อิทธิพล​ทั้ง​สิ้น​ที่​มี​ต่อ​ฝ่าย​ต่าง ๆ ที่​เป็น​ปฏิปักษ์​กัน​ใน​ยุโรป. ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง​และ​สอง เข็มขัด​ของ​ทหาร​เยอรมัน​มี​คำ​จารึก​ที่​หัว​เข็มขัด​ซึ่ง​ฟัง​คุ้น​หู​ที่​ว่า “พระเจ้า​สถิต​อยู่​กับ​เรา.” ระหว่าง​ที่​มี​การ​สู้​รบ​อัน​น่า​สยดสยอง​เหล่า​นั้น ทั้ง​คาทอลิก​และ​โปรเตสแตนต์​ต่าง​ก็​ร่วม​มือ​กัน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ต่อ​สู้​กับ​ฝ่าย​ตรง​ข้าม​ที่​เป็น​คาทอลิก​และ​โปรเตสแตนต์.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า สนธิสัญญา​แห่ง​เวสท์ฟาเลีย​ไม่​ได้​ก่อ​ให้​เกิด​สันติภาพ​ถาวร. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มนุษยชาติ​ที่​เชื่อ​ฟัง​จะ​ประสบ​กับ​สันติภาพ​เช่น​นั้น​ใน​ไม่​ช้า. พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​จะ​ทรง​นำ​สันติภาพ​ถาวร​มา​สู่​มนุษยชาติ​โดย​ทาง​ราชอาณาจักร​มาซีฮา​ของ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​คือ​พระ​เยซู​คริสต์. ภาย​ใต้​รัฐบาล​นี้ ศาสนา​แท้​เพียง​ศาสนา​เดียว​จะ​เป็น​แรง​ผลัก​ดัน​ให้​เกิด​เอกภาพ ไม่​ใช่​การ​แบ่ง​แยก. จะ​ไม่​มี​ใคร​ทำ​สงคราม ไม่​ว่า​จะ​ด้วย​เหตุ​ผล​ทาง​ศาสนา​หรือ​เหตุ​อื่น ๆ. ช่าง​จะ​เป็น​การ​ปลด​เปลื้อง​อย่าง​แท้​จริง​เมื่อ​ราชอาณาจักร​นี้​ปกครอง​เหนือ​แผ่นดิน​โลก​และ “สันติ​สุข​จะ​ไม่​รู้​สิ้น​สุด”!—ยะซายา 9:6, 7.

[คำ​โปรย​หน้า 21]

สิ่ง​ที่​เริ่ม​ต้น​เป็น​การ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​คาทอลิก​กับ​โปรเตสแตนต์​จบ​ลง​ด้วย​การ​ที่​คาทอลิก​ร่วม​มือ​กับ​โปรเตสแตนต์​ต่อ​สู้​กับ​คาทอลิก​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง

[คำ​โปรย​หน้า 22]

เหล่า​ทหาร​ที่​เข้า​ประจัญบาน​พา​กัน​ตะโกน​ว่า “ซานตา มาเรีย” หรือ​ไม่​ก็ “พระเจ้า​สถิต​อยู่​กับ​เรา”

[ภาพ​หน้า 21]

คาร์ดินัล​ริเชอลิเยอ

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​วาด​สมัย​ศตวรรษ​ที่​สิบ​หก​แสดง​ถึง​ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​ลูเทอร์, แคลวิน, และ​โปป

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 20]

From the book Spamers Illustrierte Weltgeschichte VI

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Religious leaders struggling: From the book Wider die Pfaffenherrschaft; map: The Complete Encyclopedia of Illustration/J. G. Heck