จงกล้าหาญเหมือนยิระมะยา
จงกล้าหาญเหมือนยิระมะยา
“จงคอยท่าพระยะโฮวา: จงตั้งข้อให้แข็งและทำใจไว้ให้กล้าหาญ; จงคอยท่าพระยะโฮวาเถิด.”—บทเพลงสรรเสริญ 27:14.
1. พระพรอันอุดมอะไรที่พยานพระยะโฮวาได้รับ?
พยานพระยะโฮวาอาศัยอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. (ยะซายา 11:6-9) ท่ามกลางโลกที่มีปัญหามากมาย พวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมฝ่ายวิญญาณอันหาที่เปรียบมิได้ร่วมกันกับเพื่อนคริสเตียน ผู้ซึ่งต่างมีสันติสุขกับพระยะโฮวาพระเจ้าและระหว่างพวกเขาเอง. (บทเพลงสรรเสริญ 29:11; ยะซายา 54:13) และอุทยานฝ่ายวิญญาณของพวกเขามีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ. ทุกคนซึ่ง “กระทำตามชอบพระทัยพระเจ้าด้วยความเต็มใจ” มีส่วนในการแผ่ขยายอุทยานนี้ออกไป. (เอเฟโซ 6:6, ฉบับแปลใหม่) โดยวิธีใด? โดยการดำเนินชีวิตประสานกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลและสอนคนอื่น ๆ ให้ทำแบบเดียวกัน จึงเป็นการเชิญคนเหล่านั้นให้เข้ามาร่วมรับพระพรอันอุดมจากอุทยานดังกล่าว.—มัดธาย 28:19, 20; โยฮัน 15:8.
2, 3. คริสเตียนแท้ต้องอดทนกับสิ่งใด?
2 อย่างไรก็ตาม การอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องเผชิญความยากลำบากต่าง ๆ. เรายังเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์และประสบความทุกข์จากความเจ็บป่วย, การแก่ชรา, และในที่สุดก็ความตาย. นอกจากนี้ เรากำลังเป็นพยานถึงความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ในเรื่อง “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) สงคราม, อาชญากรรม, ความเจ็บป่วย, การขาดแคลนอาหาร, และความลำบากแสนสาหัสอื่น ๆ ก่อความทุกข์ยากแก่มวลมนุษย์ และพยานพระยะโฮวาก็ไม่ได้รับการยกเว้น.—มาระโก 13:3-10; ลูกา 21:10, 11.
3 นอกจากสิ่งที่กล่าวมานี้ เราตระหนักดีว่าขณะที่ปลอดภัยอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณนั้น เรายังคงประสบการต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนภายนอก. พระเยซูเตือนสาวกของพระองค์ว่า “เพราะเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก แต่เราได้เลือกเจ้าออกจากโลก ด้วยเหตุนี้โลกจึงเกลียดชังเจ้า. จงระลึกถึงคำที่เราได้กล่าวแก่เจ้าทั้งหลายว่า ทาสไม่ใหญ่กว่านายของตน. ถ้าเขาได้ข่มเหงเรา เขาก็จะข่มเหงเจ้าด้วย.” (โยฮัน 15:18-21, ล.ม.) ทุกวันนี้ก็ไม่ต่างกัน. ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้าใจหรือไม่เห็นค่ารูปแบบการนมัสการของเรา. บางคนกล่าวโจมตี, เยาะเย้ย, หรือแม้กระทั่งเกลียดชังเรา ดังที่พระเยซูเตือนไว้. (มัดธาย 10:22) บ่อยครั้ง เราตกเป็นเป้าของการใส่ร้ายด้วยการแพร่ข้อมูลที่ผิด ๆ อีกทั้งการโฆษณาชวนเชื่อที่มุ่งร้ายผ่านทางสื่อมวลชน. (บทเพลงสรรเสริญ 109:1-3) ใช่แล้ว เราทุกคนเผชิญสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ท้าทาย และพวกเราบางคนอาจเริ่มท้อใจ. เราจะอดทนได้อย่างไร?
4. เราจะแสวงหาความช่วยเหลือจากที่ไหนเพื่อจะอดทนได้?
4 พระยะโฮวาจะทรงช่วยเหลือเรา. ภายใต้การดลใจ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม; แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:19; 1 โกรินโธ 10:13) หลายคนในพวกเราเป็นพยานได้ว่าเมื่อเราวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มเปี่ยม พระองค์ทรงประทานกำลังเพื่อเราจะอดทนความยากลำบากใด ๆ ได้. ความรักที่เรามีต่อพระองค์และความยินดีที่มีอยู่ตรงหน้าจะช่วยเราให้เอาชนะความท้อใจและความกลัว. (เฮ็บราย 12:2) โดยวิธีนี้ เรายังคงยืนหยัดมั่นคงแม้จะเผชิญความยากลำบากต่าง ๆ.
พระคำของพระเจ้าเสริมกำลังยิระมะยา
5, 6. (ก) เรามีตัวอย่างอะไรบ้างของผู้นมัสการแท้ที่สามารถอดทนได้? (ข) ยิระมะยามีปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อถูกเรียกให้เป็นผู้พยากรณ์?
5 ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาประสบความยินดีทั้ง ๆ ที่เผชิญสภาพการณ์ยากลำบาก. บางคนมีชีวิตอยู่ในช่วงการพิพากษาลงโทษซึ่งพระยะโฮวาทรงสำแดงพระพิโรธต่อบรรดาผู้ไม่ซื่อสัตย์. ในหมู่ผู้นมัสการโรม 15:4) ขอให้พิจารณากรณีของยิระมะยาเป็นตัวอย่าง.
ที่ซื่อสัตย์เช่นนั้นก็มียิระมะยากับบางคนในสมัยเดียวกันกับท่าน รวมทั้งเหล่าคริสเตียนในสมัยศตวรรษแรก. ตัวอย่างเหล่านี้ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อหนุนกำลังใจเรา และเราเรียนรู้ได้มากจากการศึกษาเรื่องเหล่านั้น. (6 ขณะเป็นหนุ่ม ยิระมะยาถูกเรียกให้ทำหน้าที่เป็นผู้พยากรณ์ในอาณาจักรยูดาห์. นี่ไม่ใช่งานมอบหมายที่ง่าย. ผู้คนมากมายกำลังนมัสการพระเท็จ. แม้ว่าโยซียาผู้ซึ่งเป็นกษัตริย์เมื่อยิระมะยาเริ่มต้นงานรับใช้มีความซื่อสัตย์ แต่กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาต่างก็ไม่ซื่อสัตย์ และในบรรดาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการสอนประชาชน คือผู้พยากรณ์และปุโรหิต ส่วนใหญ่ก็ไม่อยู่ฝ่ายความจริง. (ยิระมะยา 1:1, 2; 6:13; 23:11) แล้วยิระมะยารู้สึกอย่างไรเมื่อพระยะโฮวาทรงเรียกท่านให้เป็นผู้พยากรณ์? ท่านรู้สึกหวั่นกลัว! (ยิระมะยา 1:8, 17) ยิระมะยานึกย้อนถึงปฏิกิริยาของท่านในตอนแรกว่า “ข้าพเจ้าได้ทูลตอบว่า, โอ้ยะโฮวาพระเจ้า, ดูเถิด, ข้าพเจ้าพูดไม่ได้, เพราะข้าพเจ้าเป็นเด็กอยู่.”—ยิระมะยา 1:6.
7. ยิระมะยาเจอกับปฏิกิริยาเช่นไรในเขตงานของท่าน และท่านรู้สึกอย่างไร?
7 เขตงานของยิระมะยาไม่มีการตอบรับเสียเป็นส่วนใหญ่ และบ่อยครั้งท่านประสบการต่อต้านอย่างรุนแรง. ในโอกาสหนึ่ง ปุโรหิตปัศฮูรเฆี่ยนท่านและจับท่านใส่ขื่อ. ยิระมะยาบอกถึงความรู้สึกของท่านในตอนนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้บอกว่า, ข้าพเจ้าจะไม่พูดถึงพระองค์ [พระยะโฮวา] อีก, หรือจะไม่บอกในนามของพระองค์อีกแล้ว.” คุณอาจเคยรู้สึกอย่างเดียวกันนั้นในบางครั้ง คืออยากเลิกรา. ขอสังเกตสิ่งที่ได้ช่วยยิระมะยาให้อดทน. ท่านกล่าวว่า “คำของพระองค์อยู่ในใจข้าพเจ้าเหมือนอย่างไฟปิดไว้ในกะดูกทั้งปวงของตัวข้าพเจ้า, แลข้าพเจ้าจึงเหน็ดเหนื่อยด้วยการนิ่งอยู่, แลข้าพเจ้าจะนิ่งต่อไปมิได้.” (ยิระมะยา 20:9) คำของพระเจ้าส่งผลแบบเดียวกันนั้นต่อคุณไหม?
เพื่อน ๆ ของยิระมะยา
8, 9. (ก) ข้ออ่อนแออะไรที่ผู้พยากรณ์อุรียาแสดงออก และผลเป็นอย่างไร? (ข) ทำไมบารุคถึงท้อใจ และเขาได้รับความช่วยเหลืออย่างไร?
8 ยิระมะยาไม่ได้เป็นคนเดียวที่ทำงานพยากรณ์. ท่านมีเพื่อน ๆ และนั่นคงเป็นการหนุนกำลังใจท่าน. แม้ว่าบางครั้งพวกเขาอาจทำอะไรที่ไม่ฉลาดสุขุมก็ตาม. ตัวอย่างเช่น เพื่อนผู้พยากรณ์คนหนึ่งที่ชื่ออุรียาเอาการเอางานในการประกาศคำเตือนแก่เยรูซาเลมและยูดาห์ “ด้วยถ้อยคำของยิระมะยา.” อย่างไรก็ตาม เมื่อกษัตริย์ยะโฮยาคิมสั่งประหารอุรียา ผู้พยากรณ์คนนี้หนีไปยังอียิปต์ด้วยความกลัว. การทำอย่างนั้นไม่ได้ช่วยให้เขารอดชีวิต. คนของกษัตริย์ตามหาเขา จับกุมตัวกลับมายังกรุงเยรูซาเลม แล้วฆ่าเสีย. นั่นคงต้องทำให้ยิระมะยาตกตะลึงสักเพียงไร!—ยิระมะยา 26:20-23.
9 เพื่อนอีกคนของยิระมะยาคือบารุค เลขานุการของท่าน. บารุคเป็นผู้ช่วยที่ดีเยี่ยมของยิระมะยา แต่ครั้งหนึ่ง บารุคก็เช่นกันสูญเสียทัศนะฝ่ายวิญญาณไป. เขาเริ่มบ่นโดยกล่าวว่า “บัดนี้จะมีวิบากแก่ข้าพเจ้า, เพราะพระยะโฮวาได้เพิ่มเติมความเศร้าหมองแก่ความทุกข์ของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าได้สลบไปในความหายใจใหญ่ของข้าพเจ้า, แลข้าพเจ้าเสาะหาความสงบเงียบมิได้.” บารุครู้สึกท้อใจและเริ่มไม่เห็นค่าสิ่งฝ่ายวิญญาณ. กระนั้น พระยะโฮวาให้คำแนะนำอันฉลาดสุขุมแก่บารุคด้วยความกรุณา และเขาได้รับการปรับทัศนะ. เขาได้คำรับรองในโอกาสนั้นว่าเขาจะรอดชีวิตผ่านการทำลายกรุงเยรูซาเลม. (ยิระมะยา 45:1-5) คงเป็นการหนุนใจยิระมะยาสักเพียงไรที่บารุคกลับมามีทัศนะที่สมดุลฝ่ายวิญญาณ!
พระยะโฮวาทรงเกื้อหนุนผู้พยากรณ์ของพระองค์
10. พระยะโฮวาทรงให้คำสัญญาอะไรเรื่องการเกื้อหนุนแก่ยิระมะยา?
10 ที่สำคัญที่สุด พระยะโฮวาไม่ทอดทิ้งยิระมะยา. พระองค์ทรงเข้าใจว่าผู้พยากรณ์ของพระองค์รู้สึกอย่างไร และทรงประทานกำลังและการเกื้อหนุนที่ท่านจำเป็นต้องได้รับ. ตัวอย่างเช่น ในตอนเริ่มต้นแห่งงานรับใช้ของยิระมะยาเมื่อท่านแสดงความสงสัยเกี่ยวกับคุณวุฒิของท่าน พระยะโฮวาบอกท่านว่า “อย่ากลัวหน้าเขา, เพราะเราอยู่ด้วยเจ้าเพื่อจะช่วยเจ้าให้พ้นได้, พระยะโฮวาได้ตรัสความนี้.” จากนั้น หลังจากที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานมอบหมายแก่ผู้พยากรณ์ของพระองค์ พระยะโฮวาตรัสว่า “เขาเหล่านั้นจะรบต่อสู้เจ้า, แต่เขาจะไม่ชนะแก่เจ้า, เพราะเราอยู่ด้วยเจ้าเพื่อจะให้เจ้ารอด, พระยะโฮวาได้ตรัส.” (ยิระมะยา 1:8, 19) นั่นช่างให้การชูใจสักเพียงไร! และพระยะโฮวาพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงทำตามสัญญา.
11. เราทราบได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทำตามคำสัญญาที่ว่าจะเกื้อหนุนยิระมะยา?
11 ด้วยเหตุนี้ หลังจากถูกจับใส่ขื่อและเป็นที่เยาะเย้ยของสาธารณชน ยิระมะยากล่าวด้วยความมั่นใจว่า “พระยะโฮวาได้อยู่ด้วยข้าพเจ้าเป็นเหมือนอย่างผู้มีฤทธิ์อันพิลึกพึงกลัว, เหตุฉะนี้จำพวกที่ข่มเหงข้าพเจ้าจะต้องสะดุดกะเดื่อง, แลเขาทั้งปวงจะไม่ชนะ. เขาจะต้องละอายนัก.” (ยิระมะยา 20:11) หลายปีต่อมาเมื่อมีความพยายามจะฆ่ายิระมะยา พระยะโฮวายังคงอยู่กับท่าน และเช่นเดียวกับบารุค ยิระมะยารอดชีวิตจากการทำลายกรุงเยรูซาเลมอย่างมีอิสระ ขณะที่บรรดาผู้ข่มเหงกับคนที่เพิกเฉยคำเตือนของท่านถูกฆ่าหรือไม่ก็ถูกจับตัวไปเป็นเชลยยังบาบิโลน.
12. แม้ว่ามีเหตุที่ทำให้ท้อใจ แต่เราควรจดจำอะไรไว้เสมอ?
12 เช่นเดียวกับยิระมะยา พยานพระยะโฮวาหลายคนในทุกวันนี้ทนรับความทุกข์ยากนานาประการ. ดังที่กล่าวไปในตอนต้น ความทุกข์ยากเหล่านี้บางอย่างเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของตัวเราเอง, บางอย่างเกิดจากความวุ่นวายในโลก, และบางอย่างเกิดจากผู้ที่ต่อต้านงานของเรา. ความทุกข์ยากเหล่านี้อาจทำให้ท้อใจได้. เช่นเดียวกับยิระมะยา เราอาจถึงจุดที่สงสัยว่าจะรับใช้ต่อไปอีกไหวหรือไม่. อันที่จริง เราคาดหมายได้ว่าจะท้อใจบ้างเป็นครั้งคราว. ความท้อใจทดสอบความลึกซึ้งแห่งความรักของเราที่มีต่อพระยะโฮวา. ฉะนั้น ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ไว้ว่าจะไม่ยอมให้ความท้อใจทำให้เราเลิกรับใช้พระยะโฮวาเหมือนอย่างที่อุรียาได้ทำ. แทนที่จะทำอย่างนั้น ขอให้เราเลียนแบบยิระมะยาและมั่นใจในการเกื้อหนุนจากพระยะโฮวา.
วิธีต่อสู้ความท้อใจ
13. เราจะติดตามตัวอย่างของยิระมะยาและดาวิดได้อย่างไร?
13 ยิระมะยาสนทนากับพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นประจำ เผยความรู้สึกส่วนลึกที่สุดและทูลขอพระองค์ประทานกำลัง. นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่พึงติดตาม. ดาวิดผู้มีชีวิตในครั้งโบราณ ซึ่งหวังพึ่งแหล่งกำลังเดียวกันนั้น เขียนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงเอียงพระโสตสดับฟังคำทูลของข้าพเจ้า, ขอโปรดทรงใคร่ครวญการรำพึงของข้าพเจ้า. ข้าแต่พระบรมมหากษัตริย์, และพระเจ้าของข้าพเจ้า, ขอทรงสดับฟังเสียงร้องของข้าพเจ้า, ด้วยข้าพเจ้าอธิษฐานทูลพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 5:1, 2) บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับชีวิตของดาวิดแสดงว่า ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พระยะโฮวาทรงตอบคำทูลขอความช่วยเหลือของดาวิด. (บทเพลงสรรเสริญ 18:1, 2; 21:1-5) ในทำนองเดียวกัน เมื่อความกดดันหนักหนาสาหัส หรือปัญหาของเราดูเหมือนไม่มีทางแก้ นับว่าเป็นการชูใจอย่างมากที่จะหันเข้าหาพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานและระบายความรู้สึกในใจต่อพระองค์. (ฟิลิปปอย 4:6, 7; 1 เธซะโลนิเก 5:16-18) พระยะโฮวาไม่ปฏิเสธที่จะฟังเรา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์รับรองแก่เราว่า ‘พระองค์ทรงใฝ่พระทัยเรา.’ (1 เปโตร 5:6, 7, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม คงจะไม่สมเหตุสมผลใช่ไหมที่จะอธิษฐานถึงพระยะโฮวา แต่กลับไม่ฟังสิ่งที่พระองค์ตรัส?
14. พระคำของพระยะโฮวาส่งผลเช่นไรต่อยิระมะยา?
14 พระยะโฮวาตรัสกับเราในทางใด? ขอคิดถึงกรณีของยิระมะยาอีกครั้ง. เนื่องจากยิระมะยาเป็นผู้พยากรณ์ พระยะโฮวาจึงติดต่อกับท่านโดยตรง. ยิระมะยาพรรณนาผลแห่งพระคำของพระเจ้าที่มีต่อหัวใจท่านดังนี้: “คำโอวาทของพระองค์ข้าพเจ้าได้พบแล้ว, แลข้าพเจ้าได้กินคำนั้น, แลคำโอวาทของพระองค์เป็นที่ให้เกิดความอภิรมย์ยินดีในใจข้าพเจ้า, เพราะข้าพเจ้าเรียกชื่อด้วยนามของพระองค์, โอ้พระยะโฮวาพระเจ้าของพลโยธาทั้งหลาย.” (ยิระมะยา 15:16) ใช่แล้ว ยิระมะยายินดีในข้อเท็จจริงที่ว่าท่านถูกเรียกตามพระนามของพระเจ้า และพระคำของพระองค์มีค่ายิ่งสำหรับท่าน. ด้วยเหตุนั้น เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล ยิระมะยาจึงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะประกาศข่าวสารที่มอบไว้แก่ท่าน.—โรม 1:15, 16.
15. เราจะปลูกฝังพระคำของพระยะโฮวาไว้ในหัวใจของเราได้อย่างไร และการคิดคำนึงในเรื่องใดบ้างจะทำให้เราตั้งใจไม่นิ่งเงียบอยู่?
15 ในทุกวันนี้ พระยะโฮวาไม่ได้ติดต่อกับมนุษย์คนใดโดยตรง. อย่างไรก็ตาม เรามีพระคำของพระเจ้าอยู่ในหน้าต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล. ฉะนั้น หากเรามีวิธีในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างเอาจริงเอาจัง และใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่เราได้เรียนรู้ พระคำของพระเจ้าจะก่อ “ความอภิรมย์ยินดี” ในหัวใจของเราเช่นกัน. และเราสามารถปีติยินดีที่เราถือพระนามของพระยะโฮวาเมื่อไปแบ่งปันพระคำของพระเจ้าแก่คนอื่น ๆ. ขอเราอย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวันนี้ไม่มีกลุ่มชนอื่นใดในโลกที่ประกาศพระนามของพระยะโฮวา. มีแต่พยานของพระองค์เท่านั้นที่ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรที่ได้รับการสถาปนาแล้วของพระเจ้า และสอนคนที่อ่อนน้อมยอมฟังให้เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์. (มัดธาย 28:19, 20) ช่างเป็นพระพรแก่เราสักเพียงไร! เมื่อคิดคำนึงถึงสิ่งที่พระยะโฮวาทรงมอบไว้แก่เราด้วยความรัก เราจะนิ่งเงียบอยู่ได้อย่างไรกัน?
ให้เราระวังการคบหาสมาคม
16, 17. ทัศนะของยิระมะยาในเรื่องการคบหาสมาคมเป็นเช่นไร และเราจะเลียนแบบท่านได้อย่างไร?
16 ยิระมะยาบอกให้ทราบถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่ได้ช่วยให้ท่านมีความกล้า. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าหาได้นั่งลงในที่ชุมนุมของจำพวกเยาะเย้ยไม่, แลข้าพเจ้าไม่ยินดีด้วยเขา. ข้าพเจ้าได้นั่งลงอยู่คนเดียวเพราะพระหัตถ์ของพระองค์, ด้วยว่าพระองค์ได้ให้ข้าพเจ้าเต็มด้วยความขัดเคือง.” (ยิระมะยา 15:17) ยิระมะยาชอบอยู่คนเดียวมากกว่าที่จะทำให้ตัวเองเสื่อมเสียด้วยการคบเพื่อนไม่ดี. พวกเราในทุกวันนี้มองเรื่องราวอย่างเดียวกันนั้น. เราไม่มีวันลืมคำเตือนของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป” แม้แต่นิสัยดี ๆ ที่เรามีมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว.—1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.
17 การคบหาสมาคมที่ไม่ดีอาจเปิดโอกาสให้วิญญาณหรือน้ำใจของโลกก่อผลเสียหายต่อความคิดของเรา. (1 โกรินโธ 2:12; เอเฟโซ 2:2; ยาโกโบ 4:4) ฉะนั้น ขอให้เราฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อจะระบุได้ว่าการคบหาสมาคมแบบใดที่ก่อความเสียหายและหลีกห่างจากสิ่งเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง. (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) ถ้าเปาโลมีชีวิตอยู่บนโลกทุกวันนี้ คุณคิดว่าท่านจะพูดอะไรกับคริสเตียนที่ชมภาพยนตร์ที่มีฉากรุนแรงหรือผิดศีลธรรมหรือกีฬาที่รุนแรง? ท่านจะให้คำแนะนำอย่างไรแก่พี่น้องที่เสาะหามิตรภาพกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนทางอินเทอร์เน็ต? ท่านจะคิดอย่างไรกับคริสเตียนที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงเล่นวิดีโอเกมหรือดูโทรทัศน์ แต่ไม่มีนิสัยที่ดีในการศึกษาส่วนตัว?—2 โกรินโธ 6:14ข; เอเฟโซ 5:3-5, 15, 16.
จงอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณเรื่อยไป
18. อะไรจะช่วยเราให้คงความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ?
18 เราถือว่าอุทยานฝ่ายวิญญาณของเรามีค่ายิ่ง. ไม่มีอะไรในโลกทุกวันนี้จะเสมอเหมือนได้เลย. แม้แต่คนไม่มีความเชื่อก็ยังแสดงความเห็นในทางดีเกี่ยวกับความรัก, ความเอื้ออาทร, และความกรุณาที่คริสเตียนมีต่อกัน. (เอเฟโซ 4:31, 32) ถึงกระนั้น ทุกวันนี้เราต้องต่อสู้กับความรู้สึกท้อใจยิ่งกว่าแต่ก่อน. การคบหาสมาคมที่ดี, การอธิษฐาน, และนิสัยการศึกษาที่ดีสามารถช่วยเราให้คงความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. สิ่งเหล่านี้จะเสริมกำลังเราให้เผชิญความยากลำบากใด ๆ ด้วยความวางใจอย่างเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวา.—2 โกรินโธ 4:7, 8.
19, 20. (ก) อะไรจะช่วยเราให้อดทน? (ข) บทความถัดไปมุ่งไปยังคนกลุ่มใด และเป็นที่น่าสนใจสำหรับใครด้วย?
19 เราไม่ควรให้ผู้เกลียดชังข่าวสารของเราในคัมภีร์ไบเบิลมาทำให้เรากลัวและมีความเชื่ออ่อนลง. เช่นเดียวกับศัตรูที่ข่มเหงยิระมะยา ผู้ที่ต่อสู้เรากำลังต่อสู้พระเจ้า. พวกเขาจะไม่ชนะ. พระยะโฮวา ผู้ซึ่งมีกำลังมากกว่าฝ่ายที่ต่อต้านขัดขวางเรามากมาย บอกแก่เราดังนี้: “จงคอยท่าพระยะโฮวา: จงตั้งข้อให้แข็งและทำใจไว้ให้กล้าหาญ; จงคอยท่าพระยะโฮวาเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:14) ด้วยความหวังในพระยะโฮวาที่หยั่งลึกในหัวใจของเรา ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่เลิกราในการทำสิ่งที่ดี. ขอให้เรามั่นใจว่า เช่นเดียวกับยิระมะยาและบารุค เราจะเก็บเกี่ยวผลหากเราไม่ท้อถอยเลื่อยล้า.—ฆะลาเตีย 6:9.
20 การต่อสู้กับความท้อใจเป็นการปล้ำสู้อย่างไม่หยุดหย่อนสำหรับคริสเตียนหลายคน. สำหรับคนหนุ่มสาวแล้ว แม้ว่าเผชิญข้อท้าทายต่าง ๆ เป็นพิเศษ แต่ก็มีโอกาสอันยอดเยี่ยมเช่นกันสำหรับพวกเขา. บทความถัดไปจะมุ่งไปยังคนหนุ่มสาวท่ามกลางพวกเราโดยตรง. บทความดังกล่าวจะเป็นที่น่าสนใจเช่นกันสำหรับบิดามารดาและผู้ใหญ่ที่อุทิศตัวแล้วทุกคนในประชาคม ซึ่งโดยทางคำพูด, การวางตัวอย่าง, และการเกื้อหนุนโดยตรง พวกเขาสามารถช่วยผู้ที่อ่อนวัยกว่าในประชาคม.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุใดเราคาดหมายได้ว่าจะเผชิญสภาพการณ์ที่ทำให้ท้อใจ และเราควรแสวงหาความช่วยเหลือจากใคร?
• ยิระมะยาเอาชนะความท้อใจโดยวิธีใดทั้ง ๆ ที่ได้รับงานมอบหมายที่ยาก?
• อะไรจะก่อ “ความอภิรมย์ยินดี” ในหัวใจของเราแม้ว่าถูกรุมล้อมด้วยปัญหาต่าง ๆ?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
ยิระมะยาคิดว่าท่านอายุน้อยเกินไปและไม่มีประสบการณ์ที่จะเป็นผู้พยากรณ์
[ภาพหน้า 10]
แม้ขณะถูกข่มเหง ยิระมะยารู้ว่าพระยะโฮวาอยู่กับท่าน “เหมือนอย่างผู้มีฤทธิ์อันพิลึกพึงกลัว”