ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเสริมกำลังกันและกัน

จงเสริมกำลังกันและกัน

จง​เสริม​กำลัง​กัน​และ​กัน

“พวก​นี้​แหละ​เป็น​ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง​ข้าพเจ้า.”—โกโลซาย 4:11, ล.ม.

1, 2. ทั้ง ๆ ที่​เสี่ยง ทำไม​เพื่อน​ของ​เปาโล​จึง​เข้า​ไป​เยี่ยม​ท่าน​ใน​ที่​คุม​ขัง?

การ​เป็น​เพื่อน​กับ​ใคร​บาง​คน​ที่​ทน​ทุกข์​อยู่​ใน​ที่​คุม​ขัง​อาจ​เป็น​ภัย​แก่​คุณ แม้​แต่​กรณี​ที่​เพื่อน​ของ​คุณ​ถูก​คุม​ขัง​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม. ผู้​คุม​อาจ​มอง​คุณ​ด้วย​ความ​สงสัย จับตา​ดู​การ​เคลื่อน​ไหว​ของ​คุณ​ทุก​ฝี​ก้าว​เพื่อ​แน่​ใจ​ว่า​คุณ​จะ​ไม่​ก่อ​ความ​ผิด. ฉะนั้น ต้อง​มี​ความ​กล้า​เพื่อ​จะ​ติด​ต่อ​เป็น​ประจำ​กับ​เพื่อน​ของ​คุณ​และ​เยี่ยม​เขา​ใน​ที่​คุม​ขัง.

2 กระนั้น เพื่อน​บาง​คน​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ทำ​แบบ​นั้น​จริง ๆ เมื่อ​ราว ๆ 1,900 ปี​มา​แล้ว. พวก​เขา​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​เข้า​เยี่ยม​เปาโล​ใน​ที่​คุม​ขัง​เพื่อ​ปลอบ​ประโลม, หนุน​ใจ, และ​เสริม​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ท่าน​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ. ใคร​บ้าง​เป็นเพื่อน​ผู้​ภักดี​เหล่า​นี้? และ​เรา​จะ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ความ​กล้า, ความ​ภักดี, และ​มิตรภาพ​ของ​พวก​เขา?—สุภาษิต 17:17.

“ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง”

3, 4. (ก) ห้า​คน​ใน​บรรดา​เพื่อน ๆ ของ​เปาโล​คือ​ใคร และ​พวก​เขา​เป็น​เช่น​อะไร​แก่​ท่าน? (ข) คำ​ว่า “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง” หมายความ​เช่น​ไร?

3 ให้​เรา​ย้อน​ไป​ใน​ประมาณ​ปี ส.ศ. 60. อัครสาวก​เปาโล​ถูก​คุม​ขัง​อยู่​ใน​กรุง​โรม​ด้วย​ข้อ​กล่าวหา​เท็จ​ว่า​ปลุกปั่น​ให้​ขัด​ขืน​อำนาจ​ปกครอง. (กิจการ 24:5; 25:11, 12) เปาโล​กล่าว​เจาะจง​เป็น​พิเศษ​ถึง​ชื่อ​คริสเตียน​ห้า​คน​ที่​สนับสนุน​ท่าน​ด้วย​ความ​ภักดี​ดัง​นี้: ตุคิโก ตัว​แทน​ที่​มา​จาก​แคว้น​อาเซีย “เพื่อน​ทาส​ใน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า”; โอเนซิโม “พี่​น้อง​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​เป็น​ที่​รัก” จาก​เมือง​โกโลซาย; อะริศตาโค ชาว​มาซิโดเนีย​ใน​เมือง​เทสซาโลนีกา และ​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​เป็น “ผู้​ถูก​คุม​ขัง​ด้วย​กัน” กับ​เปาโล; มาระโก ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ของ​บาระนาบา​เพื่อน​ร่วม​เดิน​ทาง​กับ​เปาโล​ใน​งาน​มิชชันนารี และ​เป็น​ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ที่​ใช้​ชื่อ​ของ​เขา; และ​ยูซะโต หนึ่ง​ใน​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​อัครสาวก​เปาโล “เพื่อ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.” เปาโล​กล่าว​ถึง​ห้า​คน​นี้​ว่า “พวก​นี้​แหละ​เป็น​ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง​ข้าพเจ้า.”—โกโลซาย 4:7-11, ล.ม.

4 เปาโล​กล่าว​ถ้อย​คำ​ที่​มี​พลัง​เมื่อ​กล่าว​ถึง​ความ​ช่วยเหลือ​ที่​เพื่อน​ผู้​ภักดี​ทำ​เพื่อ​ท่าน. ท่าน​ใช้​คำ​ภาษา​กรีก (พาเรโกเรีย) ที่​ได้​รับ​การ​แปล​ว่า “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง” ซึ่ง​พบ​ครั้ง​เดียว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ข้อ​นี้. คำ​นี้​มี​ความหมาย​กว้าง และ​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เป็น​พิเศษ​ใน​ข้อ​ความ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เยียว​ยา. * คำ​นี้​แปล​ได้​ว่า ‘การ​ปลอบ​ประโลม, การ​ทำ​ให้​ทุเลา, หรือ​การ​บรรเทา.’ เปาโล​จำ​ต้อง​ได้​รับ​การ​เสริม​กำลัง​อย่าง​นั้น และ​ชาย​ห้า​คน​นี้​ให้​สิ่ง​นี้​แก่​ท่าน.

เหตุ​ที่​เปาโล​ต้องการ “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง”

5. แม้​ว่า​เป็น​อัครสาวก เปาโล​ต้องการ​อะไร และ​เรา​ทุก​คน​จำ​ต้อง​ได้​รับ​อะไร​ใน​บาง​ครั้ง?

5 บาง​คน​อาจ​ประหลาด​ใจ​ใน​ความ​คิด​ที่​ว่า เปาโล​ผู้​เป็น​อัครสาวก​ต้องการ​การ​เสริม​กำลัง. กระนั้น ท่าน​ต้องการ​การ​เสริม​กำลัง​จริง ๆ. จริง​อยู่​ที่​ว่า​เปาโล​มี​ความ​เชื่อ​เข้มแข็ง และ​ท่าน​รอด​ชีวิต​จาก​การ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​อย่าง​สาหัส, “ถูก​โบย​ตี​เกิน​ขนาด,” “หวิด​ตาย​บ่อย ๆ,” อีก​ทั้ง​ความ​เจ็บ​ปวด​อื่น ๆ มา​แล้ว. (2 โกรินโธ 11:23-27, ฉบับ​แปล​ใหม่) แต่​ท่าน​ก็​เป็น​แค่​มนุษย์ และ​มนุษย์​เรา​ทุก​คน​ไม่​คราว​ใด​ก็​คราว​หนึ่ง​ก็​จำ​ต้อง​ได้​รับ​การ​ปลอบ​ประโลม​และ​การ​เสริม​ความ​เชื่อ​ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​อื่น. ข้อ​นี้​เป็น​จริง​แม้​แต่​ใน​กรณี​ของ​พระ​เยซู. ใน​คืน​สุด​ท้าย​ของ​พระองค์ ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​มา​ปรากฏ​แก่​พระองค์​ใน​สวน​เกทเซมาเน และ “ชู​กำลัง​พระองค์.”—ลูกา 22:43, ล.ม.

6, 7. (ก) ใคร​ใน​กรุง​โรม​ที่​ทำ​ให้​เปาโล​ผิด​หวัง และ​ใคร​ที่​หนุน​กำลังใจ​ท่าน? (ข) พี่​น้อง​คริสเตียน​ของ​เปาโล​ใน​กรุง​โรม​ให้​การ​ช่วยเหลือ​แบบ​ใด​แก่​ท่าน ซึ่ง​เป็น​การ​พิสูจน์​ว่า​พวก​เขา​เป็น “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง”?

6 เปาโล​จำ​ต้อง​ได้​รับ​การ​เสริม​กำลัง​เช่น​กัน. เมื่อ​มา​ถึง​กรุง​โรม​ฐานะ​ผู้​ต้อง​หา ท่าน​ไม่​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​ฉัน​มิตร​จาก​ประชาชน​ร่วม​ชาติ​ของ​ท่าน. ชาว​ยิว​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​ไม่​รับ​ฟัง​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร. หลัง​จาก​พวก​ผู้​ใหญ่​ใน​พวก​ยิว​มา​หา​เปาโล​ใน​ที่​คุม​ขัง เรื่อง​ราว​จาก​พระ​ธรรม​กิจการ​กล่าว​ว่า “คำ​ที่​ท่าน​กล่าว​นั้น บาง​คน​ก็​เชื่อ​บาง​คน​ก็​ไม่​เชื่อ. เมื่อ​เขา​ไม่​เห็น​พ้อง​ด้วย​เขา​ก็​จะ​ลา​ไป.” (กิจการ 28:17, 24, 25) การ​ที่​พวก​เขา​ขาด​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระ​ยะโฮวา​คง​ทำ​ให้​เปาโล​ปวด​ร้าว​สัก​เพียง​ไร! ความ​รู้สึก​แรง​กล้า​ที่​ท่าน​มี​ต่อ​เรื่อง​นี้​เห็น​ได้​ชัด​จาก​จดหมาย​ที่​ท่าน​เขียน​ไป​ถึง​ประชาคม​ใน​กรุง​โรม​ไม่​กี่​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น ที่​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​มี​ความ​ทุกข์​หนัก​และ​ความ​เจ็บ​ร้อน​ใน​ใจ​เสมอ​มิ​ได้​ขาด, จน​ข้าพเจ้า​ปรารถนา​ใคร่​จะ​ให้​ข้าพเจ้า​เอง​ถูก​สาป​ให้​ขาด​จาก​พระ​คริสต์​เพราะ​เห็น​แก่​พี่​น้อง​ของ​ข้าพเจ้า [ชาว​ยิว], คือ​ญาติ​ของ​ข้าพเจ้า​ตาม​เนื้อหนัง.” (โรม 9:2, 3) กระนั้น ท่าน​พบ​เพื่อน​แท้​ผู้​ภักดี​ใน​กรุง​โรม​จริง ๆ ซึ่ง​ความ​กล้า​และ​ความ​รัก​ของ​พวก​เขา​เล้าโลม​ใจ​ท่าน. พวก​เขา​เป็น​พี่​น้อง​ฝ่าย​วิญญาณ​แท้​ของ​ท่าน.

7 พี่​น้อง​ห้า​คน​นี้​พิสูจน์​โดย​วิธี​ใด​ว่า​เป็น​ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง? พวก​เขา​ไม่​ได้​ปล่อย​ให้​การ​ที่​เปาโล​ถูก​คุม​ขัง​มา​ทำ​ให้​พวก​เขา​เลี่ยง​ไม่​กล้า​พบ​ท่าน. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น พวก​เขา​คอย​ให้การ​ช่วยเหลือ​เป็น​ส่วน​ตัว​แก่​เปาโล​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​และ​ความ​รัก ทำ​ธุระ​ต่าง ๆ ที่​ท่าน​ไม่​สามารถ​ทำ​ได้​เอง​เนื่อง​จาก​ถูก​กัก​ขัง. ตัว​อย่าง​เช่น พวก​เขา​ทำ​หน้า​ที่​ส่ง​ข่าว นำ​ส่ง​จดหมาย​ต่าง ๆ ของ​เปาโล​และ​ถ่ายทอด​คำ​สั่ง​สอน​ของ​ท่าน​ทาง​วาจา​แก่​ประชาคม​ต่าง ๆ และ​นำ​ข่าว​คราว​ที่​หนุน​กำลังใจ​มา​บอก​เปาโล​ใน​เรื่อง​สวัสดิภาพ​ของ​พี่​น้อง​ใน​กรุง​โรม​และ​ที่​อื่น ๆ. พวก​เขา​คง​ได้​จัด​หา​สิ่ง​ของ​เครื่อง​ใช้​ที่​จำเป็น​แก่​ท่าน เช่น เสื้อ​กัน​หนาว, ม้วน​กระดาษ, และ​เครื่อง​เขียน. (เอเฟโซ 6:21, 22; 2 ติโมเธียว 4:11-13) การ​กระทำ​ที่​เป็น​ประโยชน์​เหล่า​นั้น​ทุก​อย่าง​เสริม​กำลัง​และ​หนุน​ใจ​อัครสาวก​ที่​ถูก​กัก​ขัง​จน​ท่าน​สามารถ​เป็น “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง” แก่​ผู้​อื่น รวม​ถึง​ทั้ง​ประชาคม.—โรม 1:11, 12.

วิธี​เป็น “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง”

8. เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​การ​ที่​เปาโล​ยอม​รับ​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ​ว่า​ท่าน​ต้องการ “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง”?

8 เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​เรื่อง​ราว​ของ​เปาโล​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ห้า​คน​นี้? ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​บทเรียน​หนึ่ง​เป็น​พิเศษ กล่าว​คือ ต้อง​มี​ใจ​กล้า อีก​ทั้ง​น้ำใจ​เสีย​สละ เพื่อ​จะ​ช่วย​ผู้​ที่​อยู่​ใน​สภาพ​ยาก​ลำบาก. นอก​จาก​นี้ เรา​ต้อง​ถ่อม​ใจ​ยอม​รับ​ว่า​เรา​อาจ​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​เช่น​กัน​ใน​ยาม​ที่​เรา​ประสบ​ความ​ทุกข์​ยาก. เปาโล​ไม่​เพียง​แค่​ยอม​รับ​ว่า​ท่าน​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ แต่​ท่าน​อ่อนน้อม​ยอม​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​และ​ยกย่อง​ผู้​ให้​การ​ช่วยเหลือ​นั้น. ท่าน​ไม่​ได้​คิด​ว่า​การ​ยอม​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​คน​อื่น​แสดง​ถึง​ความ​อ่อนแอ​หรือ​ความ​น่า​อับอาย​ของ​ท่าน และ​เรา​ก็​ไม่​ควร​คิด​อย่าง​นั้น​เช่น​กัน. ที่​จะ​กล่าว​ว่า​ไม่​มี​วัน​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​เสริม​กำลัง​นั้น​ก็​คง​จะ​เท่า​กับ​กล่าว​ว่า​เรา​เป็น​ยอด​มนุษย์. อย่า​ลืม​ว่า ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​แสดง​ว่า​แม้​แต่​มนุษย์​สมบูรณ์​ใน​บาง​โอกาส​ก็​ยัง​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ร้อง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ.—เฮ็บราย 5:7.

9, 10. อาจ​เกิด​ผล​ดี​เช่น​ไร​เมื่อ​คน​เรา​ยอม​รับ​ว่า​เขา​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ และ​นั่น​อาจ​ส่ง​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​อื่น​ใน​ครอบครัว​และ​ใน​ประชาคม?

9 อาจ​เกิด​ผล​ดี​หลาย​ประการ​เมื่อ​ผู้​มี​ตำแหน่ง​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ยอม​รับ​ว่า​พวก​เขา​มี​ขีด​จำกัด​และ​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​อื่น. (ยาโกโบ 3:2) การ​ยอม​รับ​เช่น​นั้น​เสริม​ความ​ผูก​พัน​ระหว่าง​ผู้​มี​อำนาจ​หน้า​ที่​กับ​ผู้​อยู่​ใต้​อำนาจ​นั้น ส่ง​เสริม​ให้​เกิด​การ​สนทนา​กัน​ฉัน​เพื่อน​แบบ​เปิด​อก. ความ​ถ่อม​ใจ​ของ​ผู้​ที่​เต็ม​ใจ​ยอม​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จะ​เป็น​การ​วาง​ตัว​อย่าง​แก่​คน​อื่น ๆ ที่​อยู่​ใน​สภาพการณ์​คล้าย ๆ กัน. นี่​แสดง​ว่า​คน​เหล่า​นั้น​ที่​นำ​หน้า​เป็น​มนุษย์​ธรรมดา​และ​เข้า​หา​ได้​ง่าย.—ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:20.

10 ตัว​อย่าง​เช่น ลูก ๆ อาจ​รู้สึก​ง่าย​ขึ้น​ที่​จะ​ยอม​รับ​การ​ช่วยเหลือ​จาก​พ่อ​แม่​ใน​การ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​และ​การ​ล่อ​ใจ​เมื่อ​รู้​ว่า​พ่อ​แม่​ก็​เจอ​ปัญหา​คล้าย ๆ กัน​เมื่อ​เป็น​เด็ก. (โกโลซาย 3:21) นี่​จึง​เปิด​ทาง​ไว้​สำหรับ​การ​สนทนา​ระหว่าง​พ่อ​แม่​กับ​ลูก. การ​บอก​วิธี​แก้​ปัญหา​ที่​อาศัย​พระ​คัมภีร์​เป็น​หลัก​อาจ​ทำ​ได้​อย่าง​บังเกิด​ผล​มาก​กว่า และ​ลูก​อาจ​ยอม​รับ​ทาง​แก้​ปัญหา​นั้น​ได้​ง่าย​กว่า. (เอเฟโซ 6:4) เช่น​เดียว​กัน สมาชิก​ใน​ประชาคม​พร้อม​จะ​รับ​เอา​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​ปกครอง​มาก​ขึ้น​เมื่อ​รู้​ว่า​ผู้​ปกครอง​ก็​รับมือ​กับ​ปัญหา, ความ​หวั่น​กลัว, และ​ความ​ไม่​แน่​ใจ​เช่น​เดียว​กัน. (โรม 12:3; 1 เปโตร 5:3) อีก​ครั้ง​หนึ่ง การ​สนทนา​ที่​ดี​อาจ​ติด​ตาม​มา อาจ​มี​การ​ให้​คำ​แนะ​นำ​จาก​พระ​คัมภีร์ และ​นั่น​ทำ​ให้​ความ​เชื่อ​เข้มแข็ง​ขึ้น. ขอ​จำ​ไว้​ว่า ปัจจุบัน​นี้​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ของ​เรา​ต้องการ​การ​เสริม​กำลัง​ยิ่ง​กว่า​ที่​เคย​เป็น​มา.—2 ติโมเธียว 3:1.

11. เหตุ​ใด​หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​จึง​ต้องการ “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง”?

11 ไม่​ว่า​เรา​อยู่​ที่​ไหน, เป็น​ใคร, หรือ​อายุ​เท่า​ไร เรา​ทุก​คน​ย่อม​จะ​ประสบ​ความ​เครียด​เป็น​ครั้ง​คราว​ใน​ชีวิต. เหตุ​การณ์​แบบ​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้. (วิวรณ์ 12:12) สภาพ​อ่อน​ล้า​ทาง​กาย​หรือ​อารมณ์​เช่น​นั้น​ทดสอบ​คุณภาพ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา. สภาพการณ์​ยุ่งยาก​อาจ​เกิด​ขึ้น​ที่​ทำ​งาน, ที่​โรง​เรียน, ใน​ครอบครัว, หรือ​ใน​ประชาคม. ความ​เจ็บ​ป่วย​ร้ายแรง​หรือ​เหตุ​การณ์​สะเทือน​ใจ​ใน​อดีต​อาจ​เป็น​เหตุ​ของ​ความ​เครียด. หาก​คู่​สมรส, ผู้​ปกครอง, หรือ​เพื่อน​ให้​การ​หนุน​ใจ​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​คิด​อย่าง​รอบคอบ​และ​เสนอ​การ​ช่วยเหลือ​ด้วย​ความ​กรุณา นั่น​จะ​นำ​ความ​บรรเทา​มา​ให้​สัก​เพียง​ไร! การ​ทำ​เช่น​นั้น​เปรียบ​ได้​กับ​ยา​ที่​ทา​ลง​บน​ผิว​ที่​ปวด​แสบ​อย่าง​แท้​จริง! ด้วย​เหตุ​นี้ ถ้า​คุณ​สังเกต​เห็น​พี่​น้อง​ของ​คุณ​คนหนึ่ง​อยู่​ใน​สภาพ​อ่อน​ล้า​เช่น​นั้น จง​เป็น​ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง​แก่​เขา! หรือ​ถ้า​มี​ปัญหา​ยุ่งยาก​เป็น​พิเศษ​ที่​ทำ​ให้​คุณ​หนัก​ใจ จง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​มี​คุณวุฒิ​ฝ่าย​วิญญาณ.—ยาโกโบ 5:14, 15.

วิธี​ที่​ประชาคม​ช่วย​ได้

12. แต่​ละ​คน​ใน​ประชาคม​สามารถ​ทำ​อะไร​เพื่อ​เสริม​กำลัง​พี่​น้อง​ของ​ตน?

12 ทุก​คน​ใน​ประชาคม รวม​ทั้ง​เยาวชน สามารถ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ได้​เพื่อ​เสริม​กำลัง​ผู้​อื่น. ตัว​อย่าง​เช่น การ​ที่​คุณ​เข้า​ร่วม​ประชุม​และ​ทำ​งาน​เผยแพร่​เป็น​ประจำ​ก็​มี​ส่วน​ช่วย​อย่าง​มาก​ใน​การ​เสริม​ความ​เชื่อ​แก่​คน​อื่น ๆ. (เฮ็บราย 10:24, 25) ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​คุณ​ใน​งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​เป็น​หลักฐาน​แสดง​ถึง​ความ​ภักดี​ของ​คุณ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา และ​แสดง​ว่า​คุณ​ตื่น​ตัว​ฝ่าย​วิญญาณ​เสมอ แม้​ว่า​อาจ​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก. (เอเฟโซ 6:18) ความ​ซื่อ​สัตย์​เช่น​นั้น​สามารถ​เสริม​กำลัง​แก่​ผู้​อื่น.—ยาโกโบ 2:18.

13. อะไร​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​บาง​คน​เลิก​ประกาศ และ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ช่วย​พวก​เขา?

13 บาง​ครั้ง ความ​กดดัน​ใน​ชีวิต​หรือ​ปัญหา​ยุ่งยาก​อื่น ๆ อาจ​ทำ​ให้​บาง​คน​เฉื่อย​ช้า​ลง​หรือ​เลิก​ประกาศ. (มาระโก 4:18, 19) เรา​อาจ​ไม่​พบ​คน​ที่​เลิก​ประกาศ​เหล่า​นั้น ณ การ​ประชุม​ต่าง ๆ ของ​ประชาคม. กระนั้น ใน​หัวใจ​ของ​พวก​เขา​คง​ยัง​มี​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า. จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​เสริม​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา? พวก​ผู้​ปกครอง​สามารถ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​อย่าง​กรุณา​โดย​การ​ไป​เยี่ยม​คน​เหล่า​นี้. (กิจการ 20:35) คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​อาจ​ถูก​ขอ​ให้​ช่วย​เช่น​กัน. การ​เยี่ยม​เยียน​ด้วย​ความ​รัก​เช่น​นี้​เปรียบ​เหมือน​ยา​ที่​มา​ใน​เวลา​ที่​พอ​เหมาะ​พอ​ดี​เพื่อ​ทำ​ให้​คน​ที่​อ่อน​กำลัง​ด้าน​ความ​เชื่อ​กลับ​มา​เข้มแข็ง​อีก​ครั้ง.

14, 15. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​ใน​เรื่อง​การ​เสริม​กำลัง​ผู้​อื่น? จง​ยก​ตัว​อย่าง​ของ​ประชาคม​หนึ่ง​ที่​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​ท่าน.

14 คัมภีร์​ไบเบิล​กระตุ้น​เรา​ดัง​นี้: “ให้​หนุน​น้ำใจ​ผู้​ที่​ท้อ​ใจ, ให้​ชู​กำลัง​คน​ที่​อ่อน​กำลัง.” (1 เธซะโลนิเก 5:14) “ผู้​ที่​ท้อ​ใจ” อาจ​พบ​ว่า​พวก​เขา​ย่อท้อ และ​เขา​ไม่​สามารถ​เอา​ชนะ​อุปสรรค​ที่​พวก​เขา​เผชิญ​หาก​ไม่​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ. คุณ​จะ​เป็น​ผู้​ให้​การ​ช่วยเหลือ​ดัง​กล่าว​ได้​ไหม? ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “ชู​กำลัง​คน​ที่​อ่อน​กำลัง” เคย​มี​การ​แปล​ว่า “จับ​ให้​แน่น” หรือ “เกาะ​ติด” ผู้​อ่อน​กำลัง. พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​และ​ทะนุถนอม​แกะ​ทุก​ตัว​ของ​พระองค์. พระองค์​ไม่​ถือ​ว่า​พวก​เขา​มี​ค่า​เล็ก​น้อย และ​พระองค์​ไม่​ปรารถนา​ให้​ใคร​สัก​คน​ลอย​ห่าง​ไป. คุณ​จะ​ช่วย​ประชาคม​ให้ “จับ​ให้​แน่น” ผู้​ที่​อ่อน​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ จน​กว่า​พวก​เขา​จะ​แข็งแรง​ขึ้น​ได้​ไหม?—เฮ็บราย 2:1.

15 ผู้​ปกครอง​คน​หนึ่ง​ไป​เยี่ยม​คู่​สมรส​คู่​หนึ่ง​ที่​เลิก​ประกาศ​มา​นาน​หก​ปี. ผู้​ปกครอง​คน​นี้​เขียน​ว่า “ความ​กรุณา​และ​ความ​ห่วงใย​รักใคร่​ที่​ทั้ง​ประชาคม แสดง​ออก​ต่อ​พวก​เขา​ก่อ​ผล​กระทบ​ที่​ทรง​พลัง​มาก​จน​กระตุ้น​ให้​ทั้ง​สอง​กลับ​คืน​สู่​ฝูง​แกะ.” พี่​น้อง​หญิง​ที่​เคย​เลิก​ประกาศ​คน​นี้​รู้สึก​เช่น​ไร​จาก​การ​ที่​สมาชิก​ของ​ประชาคม​ไป​เยี่ยม? ตอน​นี้​เธอ​กล่าว​ว่า “สิ่ง​ที่​ช่วย​เรา​ให้​กลับ​มา​รับใช้​อีก​ครั้ง​คือ พี่​น้อง​ชาย​ที่​ไป​เยี่ยม​เรา หรือ​พี่​น้อง​หญิง​ที่​ไป​ด้วย​กัน​กับ​เขา ไม่​มี​ใคร​แสดง​ท่าที​ที่​ตำหนิ​หรือ​วิจารณ์​เรา. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น พวก​เขา​แสดง​ความ​เข้าใจ​และ​ให้​การ​หนุน​ใจ​จาก​พระ​คัมภีร์.”

16. ใคร​ที่​อยู่​พร้อม​เสมอ​เพื่อ​ช่วย​คน​ที่​จำ​ต้อง​ได้​รับ​การ​เสริม​กำลัง?

16 ใช่​แล้ว คริสเตียน​ที่​มี​น้ำ​ใส​ใจ​จริง​ยินดี​จะ​เป็น​ผู้​ช่วยเสริม​กำลัง​แก่​คน​อื่น ๆ. และ​เมื่อ​สภาพการณ์​ใน​ชีวิต​ของ​เรา​เปลี่ยน​ไป เรา​เอง​ก็​อาจ​เป็น​ผู้​รับ​การ​เสริม​กำลัง​จาก​พี่​น้อง​ของ​เรา. แต่​ตาม​ความ​เป็น​จริง​แล้ว เป็น​ไป​ได้​ที่​อาจ​ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​จะ​อยู่​พร้อม​ให้​การ​ช่วยเหลือ​ใน​เวลา​ที่​เรา​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​แหล่ง​แห่ง​กำลัง​แหล่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​อยู่​พร้อม​จะ​ช่วย​เรา​เสมอ นั่น​คือ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.—บทเพลง​สรรเสริญ 27:10.

พระ​ยะโฮวา—แหล่ง​แห่ง​กำลัง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด

17, 18. พระ​ยะโฮวา​เสริม​กำลัง​พระ​เยซู​คริสต์​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​โดย​วิธี​ใด​บ้าง?

17 ขณะ​ถูก​ตรึง​อยู่​บน​หลัก พระ​เยซู​ทรง​ร้อง​เสียง​ดัง​ว่า “พระ​บิดา​เจ้าข้า ข้าพเจ้า​ฝาก​วิญญาณ​ข้าพเจ้า​ไว้​ใน​พระ​หัตถ์​พระองค์.” (ลูกา 23:46, ล.ม.) จาก​นั้น พระองค์​ก็​สิ้น​พระ​ชนม์. ไม่​กี่​ชั่วโมง​ก่อน​หน้า​นั้น พระองค์​ถูก​จับ​กุม และ​เพื่อน ๆ ที่​ใกล้​ชิด​ที่​สุด​ทอดทิ้ง​พระองค์​และ​หนี​ไป​ด้วย​ความ​กลัว. (มัดธาย 26:56) พระ​เยซู​ถูก​ทิ้ง​ให้​อยู่​ลำพัง​กับ​แหล่ง​แห่ง​กำลัง​แหล่ง​เดียว​เท่า​นั้น คือ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์. กระนั้น การ​วางใจ​ของ​พระองค์​ใน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​สูญ​เปล่า. ความ​ภักดี​ที่​พระ​เยซู​มี​ต่อ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ได้​รับ​การ​ตอบ​แทน​ด้วย​การ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เกื้อ​หนุน​พระองค์​ด้วย​ความ​ภักดี.—บทเพลง​สรรเสริญ 18:25, ล.ม.; เฮ็บราย 7:26, ล.ม.

18 ตลอด​ช่วง​การ​รับใช้​ของ​พระ​เยซู​บน​แผ่นดิน​โลก พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ได้​รับ​สิ่ง​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​จน​กระทั่ง​ลม​หายใจ​สุด​ท้าย. ตัว​อย่าง​เช่น ทันที​หลัง​จาก​พระ​เยซู​รับ​บัพติสมา ซึ่ง​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์ พระองค์​ได้​ยิน​พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​บิดา​ตรัส​แสดง​ความ​โปรดปราน​และ​ยืน​ยัน​ถึง​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระองค์. เมื่อ​พระ​เยซู​ต้องการ​การ​เสริม​กำลัง พระ​ยะโฮวา​ทรง​ส่ง​ทูตสวรรค์​มา​ชู​กำลัง. เมื่อ​พระ​เยซู​เผชิญ​การ​ทดสอบ​ที่​หนัก​หน่วง​ที่​สุด​ใน​ช่วง​ปลาย​ชีวิต​ของ​พระองค์​ทาง​แผ่นดิน​โลก พระ​ยะโฮวา​ทรง​สดับ​คำ​วิงวอน​และ​คำ​ทูล​ขอ​ของ​พระองค์. แน่นอน​ว่า​สิ่ง​เหล่า​นี้​ล้วน​ช่วย​เสริม​กำลัง​พระ​เยซู.—มาระโก 1:11, 13; ลูกา 22:43.

19, 20. เรา​แน่​ใจ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​เสริม​กำลัง​เรา​ใน​ยาม​ที่​ต้องการ?

19 พระ​ยะโฮวา​ประสงค์​จะ​เป็น​แหล่ง​แห่ง​กำลัง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​เรา​ด้วย. (2 โครนิกา 16:9) ผู้​เป็น​แหล่ง​ที่​แท้​จริง​แห่ง​พลัง​อัน​ล้น​เหลือ​และ​กำลัง​แข็งขัน​ทั้ง​ปวง​นี้​สามารถ​เป็น​ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง​ใน​ยาม​ที่​เรา​ต้องการ. (ยะซายา 40:26, ล.ม.) สงคราม, ความ​ยาก​จน, ความ​เจ็บ​ป่วย, ความ​ตาย, หรือ​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​ตัว​เอง​อาจ​ก่อ​ความ​เครียด​มาก​แก่​เรา. ขณะ​ที่​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต​ดู​เหมือน​รุนแรง​ราว​กับ “ศัตรู​อัน​มี​กำลัง” พระ​ยะโฮวา​สามารถ​เป็น​กำลัง​และ​ความ​เข้มแข็ง​ของ​เรา. (บทเพลง​สรรเสริญ 18:17; เอ็กโซโด 15:2, ล.ม.) พระองค์​มี​สิ่ง​ช่วย​สำหรับ​เรา​ที่​มี​พลัง​มาก นั่น​คือ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์. โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์ พระ​ยะโฮวา​สามารถ​ประทาน “แรง​แก่​ผู้​ที่​อิดโรย” เพื่อ​เขา​จะ​สามารถ “กาง​ปีก​บิน​ขึ้น​ไป​ดุจ​นก​อินทรี.”—ยะซายา 40:29, 31.

20 พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​เป็น​พลัง​ที่​ทรง​อานุภาพ​ที่​สุด​ใน​เอกภพ. เปาโล​กล่าว​ดัง​นี้: “ข้าพเจ้า​มี​กำลัง​สำหรับ​ทุก​สิ่ง​โดย​พระองค์​ผู้​ทรง​ประทาน​พลัง​ให้​ข้าพเจ้า.” ใช่​แล้ว พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ผู้​ทรง​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ของ​เรา​สามารถ​ประทาน “กำลัง​ที่​มาก​กว่า​ปกติ” แก่​เรา เพื่อ​เรา​จะ​อด​ทน​ต่อ​ปัญหา​ที่​ก่อ​ความ​เจ็บ​ปวด​ทั้ง​ปวง​จน​กระทั่ง​พระองค์​ทรง​สร้าง “สิ่ง​สารพัตร​ขึ้น​ใหม่” ใน​อุทยาน​ที่​ทรง​สัญญา​ไว้​ซึ่ง​ใกล้​เข้า​มา​เต็ม​ที.—ฟิลิปปอย 4:13, ล.ม.; 2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.; วิวรณ์ 21:4, 5.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 พจนานุกรม​อธิบาย​ศัพท์​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​เดิม​และ​ใหม่​ฉบับ​สมบูรณ์​ของ​ไวน์ (ภาษา​อังกฤษ) โดย​ดับเบิลยู. อี. ไวน์ กล่าว​ว่า “รูป​กริยา​ของ​คำ​นี้ [พาเรโกเรีย] บ่ง​นัย​ถึง​ยา​บรรเทา​อาการ​ปวด​แสบ​ระคาย​เคือง (ภาษา​อังกฤษ ‘พาเรกอริค’).”

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• พี่​น้อง​ใน​กรุง​โรม​พิสูจน์​อย่าง​ไร​ว่า​เป็น “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง” แก่​เปาโล?

• เรา​สามารถ​เป็น “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง” ใน​ประชาคม​โดย​ทาง​ใด​บ้าง?

• พระ​ยะโฮวา​เป็น​แหล่ง​แห่ง​กำลัง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 18]

พวก​พี่​น้อง​พิสูจน์​ว่า​เป็น “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง” แก่​เปาโล​โดย​สนับสนุน​ท่าน​ด้วย​ความ​ภักดี, หนุน​กำลังใจ, และ​ช่วยเหลือ​เป็น​ส่วน​ตัว

[ภาพ​หน้า 21]

ผู้​ปกครอง​นำ​หน้า​ใน​การ​เสริม​กำลัง​ฝูง​แกะ