นักเทศน์ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองไหม?
นักเทศน์ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองไหม?
“การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองสามารถช่วยคนจนได้ อาร์ชบิชอปชาวแคนาดาคนหนึ่งได้บอกนักจาริกแสวงบุญไว้ดังกล่าว. . . . ถึงแม้ระบบการเมืองดูเหมือนไม่สอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าก็ตาม ‘เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อจะนำความยุติธรรมมาให้คนจน.’”—คาทอลิก นิวส์.
รายงานเรื่องผู้นำศาสนาที่พูดสนับสนุนการเข้าไปยุ่งกับการเมืองไม่ใช่เรื่องผิดปกติ; ทั้งหาได้ไม่ยากที่ผู้นำศาสนามีตำแหน่งทางการเมือง. บางคนได้พยายามปฏิรูปการเมือง. คนอื่น ๆ ได้รับการยกย่องชมเชยและการระลึกถึงเนื่องด้วยการรณรงค์ในประเด็นอย่างเช่น ความเสมอภาคด้านเชื้อชาติและการยกเลิกระบบทาส.
ถึงกระนั้น สมาชิกโบสถ์หลายคนรู้สึกไม่สบายใจเมื่อนักเทศน์ของตนเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในประเด็นทางการเมือง. บทความว่าด้วยเทววิทยาด้านการเมืองในวารสารคริสเตียน เซนจูรี กล่าวว่า “ผู้ไปโบสถ์อิแวนเจลิคัลนั่นแหละซึ่งได้สงสัยเป็นครั้งคราวในการดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของนักเทศน์ของพวกเขา.” หลายคนที่เคร่งศาสนารู้สึกว่าคริสตจักรเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าที่จะไปยุ่งกับการเมือง.
เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจบางอย่างขึ้นซึ่งทุกคนที่ประสงค์จะเห็นโลกที่ดีกว่าเป็นห่วงอยู่. นักเทศน์นักบวชของศาสนาคริสเตียนสามารถปฏิรูปการเมืองได้ไหม? * การเทศน์เรื่องการเมืองเป็นวิถีทางของพระเจ้าในการบรรลุรัฐบาลที่ดีกว่าและโลกที่ดีกว่าไหม? จุดมุ่งหมายดั้งเดิมของศาสนาคริสเตียนคือแนะนำแนวทางใหม่ที่จะดำเนินการทางการเมืองไหม?
วิธีที่ผู้นำศาสนาเริ่มเข้าไปยุ่งกับการเมือง
ในหนังสือคริสตจักรยุคแรก (ภาษาอังกฤษ) นักประวัติศาสตร์เฮนรี แชดวิกกล่าวว่า ประชาคมคริสเตียนยุคแรกเป็นที่รู้จักในด้าน “ความไม่สนใจไยดีต่อการมีอำนาจในโลกนี้.” ประชาคมนี้เป็น “ชุมชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง, ไม่ก่อความวุ่นวาย, และนิยมสันติ.” หนังสือประวัติของศาสนาคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “มีความเชื่อมั่นที่ยึดถือกันอย่างกว้างขวางในท่ามกลางคริสเตียนว่า พวกเขาไม่ควรรับตำแหน่งทางการเมือง . . . จนกระทั่งตอนเริ่มต้นศตวรรษที่สาม ฮิปโปลิทุสกล่าวว่า ธรรมเนียมคริสเตียนที่เลื่องลือในประวัติศาสตร์เรียกร้องให้ข้าราชการฝ่ายปกครองลาออกจากตำแหน่ง เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมกับคริสตจักร.” แต่ทีละเล็กทีละน้อย คนที่กระหายอำนาจเริ่มนำหน้าในหลายประชาคม ตั้งบรรดาศักดิ์ที่เลิศลอยให้ตัวเอง. (กิจการ 20:29, 30) บางคนต้องการเป็นทั้งผู้นำทางศาสนาและเป็นนักการเมือง. การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในการปกครองของโรมทำให้นักเทศน์นักบวชเช่นนั้นได้โอกาสที่ตัวเองต้องการ.
ในปี ส.ศ. 312 คอนสแตนติน จักรพรรดิโรมันนอกรีตได้แสดงความเป็นมิตรต่อศาสนาคริสเตียนในนาม. น่าประหลาด พวกบิชอปของคริสตจักรเต็มใจที่จะประนีประนอมกับจักรพรรดินอกรีตเพื่อแลกกับสิทธิพิเศษที่เขามอบให้ตน. เฮนรี แชดวิกได้เขียนว่า “คริสตจักรได้เข้าไปพัวพันมากขึ้นทุกทีในการตัดสินใจที่สำคัญทางการเมือง.” การเข้าไปยุ่งกับการเมืองมีผลกระทบเช่นไรต่อนักเทศน์นักบวช?
วิธีที่การเมืองมีอิทธิพลต่อนักเทศน์
แนวคิดที่ว่าพระเจ้าจะทรงใช้นักเทศน์นักบวชในฐานะนักการเมืองได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษจากเอากุสติน นักเทววิทยาคาทอลิกที่มีอิทธิพลในศตวรรษที่ห้า. เขาได้วาดมโนภาพการปกครองของคริสตจักรเหนือนานาชาติและการนำสันติภาพมาสู่มนุษยชาติ. แต่นักประวัติศาสตร์ เอช. จี. เวลส์ได้เขียนว่า “ประวัติศาสตร์ของยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ห้าจนถึงศตวรรษที่สิบห้าส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับความล้มเหลวของการนำแนวคิดสำคัญเรื่องรัฐบาลโลกโดยพระเจ้ามาดำเนินการ.” คริสต์ศาสนจักรไม่ได้นำสันติภาพมาสู่ยุโรปด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่นำมาสู่โลกเลย. สิ่งที่เคยเข้าใจกันว่าเป็นศาสนาคริสเตียนได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปในสายตาของหลายคน. มีอะไรผิดพลาดไปหรือ?
หลายคนซึ่งอ้างว่าประกาศสั่งสอนศาสนาคริสเตียนถูกดึงดูดเข้าสู่การเมืองด้วยความมุ่งหมายที่ดี แต่ครั้นแล้วก็ได้เข้าไปพัวพันกับการกระทำที่ชั่วร้าย. มาร์ติน ลูเทอร์ นักเทศน์และผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล มีชื่อเสียงในการพยายามที่จะปฏิรูปคริสตจักรคาทอลิก. อย่างไรก็ดี จุดยืนที่กล้าหาญของเขาในการต่อต้านคำสอนของคริสตจักรได้ทำให้เขาเป็นที่นิยมชมชอบของคนเหล่านั้นซึ่งมีความมุ่งหมายทางการเมืองที่จะกบฏขัดขืน. หลายคนหมดความนับถือในตัวลูเทอร์ เมื่อเขาเริ่มแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมืองด้วยเช่นกัน. ทีแรก เขาเข้าข้างพวกชาวนาซึ่งกบฏต่อขุนนางที่กดขี่. ต่อจากนั้น เมื่อการกบฏกลายเป็นความรุนแรง เขาได้สนับสนุนพวกขุนนางให้ทำลายพวกกบฏให้ย่อยยับ พวกเขาได้ทำเช่นนั้น โดยสังหารคนนับแสน. ไม่น่าแปลก พวกชาวนาถือว่าเขาเป็นคนทรยศ. ลูเทอร์ยังได้สนับสนุนพวกขุนนางในการกบฏต่อจักรพรรดิคาทอลิกด้วย. ที่จริง ผู้ติดตามลูเทอร์ ซึ่งทีหลังเป็นที่รู้จักว่า พวกโปรเตสแตนต์ ได้ก่อตั้งขบวนการทางการเมืองตั้งแต่เริ่มการกบฏ. อำนาจมีผลกระทบอย่างไรต่อลูเทอร์? อำนาจทำให้เขาเสื่อมทราม. ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ตอนแรกเขาต่อต้านการบีบบังคับคนที่ไม่เห็นด้วยทางศาสนา ต่อมาเขาได้สนับสนุนมิตรสหายทางการเมืองของเขาให้ประหารชีวิตคนเหล่านั้นที่ต่อต้านการให้ทารกรับบัพติสมาด้วยการเผาไฟ.
จอห์น แคลวินเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงในกรุงเจนีวา แต่ในที่สุดเขาได้มีอิทธิพลทางการเมืองมากมายเช่นกัน. เมื่อไมเคิล เซอร์เวตุสได้ชี้แจงว่าตรีเอกานุภาพไม่มีพื้นฐานในพระคัมภีร์ แคลวินใช้อิทธิพลทางการเมืองของตนสนับสนุนการสังหารเซอร์เวตุส ผู้ซึ่งถูกเผาบนหลัก. ช่างเป็นการหันเหไปจากคำสอนของพระเยซูอย่างน่าตกตะลึงอะไรเช่นนี้!
บางทีคนเหล่านี้ได้ลืมสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ที่ 1 โยฮัน 5:19 (ล.ม.) ที่ว่า “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” พวกเขามีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะปฏิรูปการเมืองในสมัยของตน หรือว่าโอกาสในการได้มาซึ่งอำนาจหรือมีมิตรสหายในตำแหน่งสูงนั่นเองที่ดึงดูดใจพวกเขา? ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พวกเขาน่าจะได้ระลึกถึงถ้อยคำของยาโกโบ สาวกของพระเยซูที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “ท่านไม่รู้หรือว่า การเป็นมิตรกับโลกก็คือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า? เพราะเหตุนี้ ใครก็ตามที่อยากเป็นมิตรของโลกก็ตั้งตัวเป็นศัตรูของพระเจ้า.” (ยาโกโบ 4:4, ล.ม.) ยาโกโบทราบว่าพระเยซูได้ตรัสเกี่ยวกับสาวกของพระองค์ว่า “เขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.”—โยฮัน 17:14, ล.ม.
แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ขณะที่ยอมรับว่าคริสเตียนไม่ควรเป็นส่วนแห่งความเลวร้ายของโลก หลายคนคัดค้านการเป็นกลางทางด้านการเมือง คือ “ไม่เป็นส่วนของโลก” อย่างแท้จริง. พวกเขาอ้างว่าความเป็นกลางดังกล่าวยับยั้งคริสเตียนไว้จากการแสดงความรักต่อคนอื่นอย่างแข็งขัน. พวกเขาเชื่อว่าผู้นำคริสตจักรควรพูดอย่างชัดเจนและมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการทุจริตและความอยุติธรรม. แต่ความเป็นกลางที่พระเยซูทรงสอนนั้นขัดกันจริง ๆ กับความห่วงใยอย่างแข็งขันต่อคนอื่นไหม? คริสเตียนสามารถแยกตัวจากประเด็นทางการเมืองที่ทำให้แตกแยกและเวลาเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือที่ใช้ได้จริงแก่คนอื่นได้ไหม? บทความถัดไปจะวิเคราะห์คำถามเหล่านี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 การเมืองได้รับคำจำกัดความว่าเป็น “กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศหรืออาณาเขตหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการถกเถียงหรือความขัดแย้งกันระหว่างปัจเจกบุคคลหรือพรรคการเมืองเพื่อจะมีหรือหวังจะได้มาซึ่งอำนาจ.”—พจนานุกรม เดอะ นิว ออกซฟอร์ด ออฟ อิงลิช.
[ภาพหน้า 4]
ผู้นำคริสตจักรได้ประนีประนอมกับผู้ปกครอง เช่น จักรพรรดิคอนสแตนติน เพื่อจะมีอำนาจทางการเมือง
[ที่มาของภาพ]
Musée du Louvre, Paris
[ภาพหน้า 5]
เหตุใดผู้นำศาสนาที่มีชื่อเสียงถูกดึงดูดให้เข้าสู่การเมือง?
เอากุสติน
ลูเทอร์
แคลวิน
[ที่มาของภาพ]
Augustine: ICCD Photo; Calvin: Portrait by Holbein, from the book The History of Protestantism (Vol. II)