แม้ตาบอด แต่ก็มองเห็น!
เรื่องราวชีวิตจริง
แม้ตาบอด แต่ก็มองเห็น!
เล่าโดยเอกอน เฮาเซอร์
หลังจากตาผมบอดสนิทไปสองเดือน ผมมองเห็นความจริงในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งผมได้ละเลยเรื่อยมาตลอดชีวิต.
เมื่อผมใคร่ครวญย้อนไปกว่าเจ็ดสิบปี หลายช่วงในชีวิตของผมสมปรารถนาเป็นที่น่าพอใจ. แต่ถ้าผมสามารถเปลี่ยนอย่างหนึ่งในชีวิตได้ ผมคงต้องเลือกเอาการรู้จักพระยะโฮวาพระเจ้าตั้งแต่อายุยังน้อย.
ผมเกิดปี 1927 ที่ประเทศอุรุกวัย ลักษณะพื้นที่ยาวรี ตั้งอยู่ระหว่างอาร์เจนตินากับบราซิล ทิวทัศน์งดงามทอดยาวหลายกิโลเมตรตลอดแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก. ประชากรสืบเชื้อสายดั้งเดิมจากพวกอพยพชาวอิตาลีและสเปน. แต่พ่อแม่ของผมเป็นชาวฮังการีอพยพ และตอนที่ผมเป็นเด็กเล็ก เราอยู่อย่างคนสามัญรายได้น้อย กระนั้น ผู้คนในละแวกบ้านต่างก็ใกล้ชิดสนิทสนมกันดี. บ้านไม่ต้องใส่กุญแจ และหน้าต่างก็ไม่มีลูกกรงกั้น. ไม่มีอคติทางเชื้อชาติท่ามกลางพวกเรา. คนต่างถิ่นและคนพื้นบ้านไม่ว่าผิวดำหรือขาว ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนกัน.
พ่อแม่ของผมนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนผมพออายุสิบขวบก็เริ่มเป็นผู้ช่วยงานประกอบพิธี. เมื่อโตแล้ว ผมทำงานกับสภาตำบลและเป็นสมาชิกกลุ่มทำหน้าที่ให้คำปรึกษาบิชอปในแขวงปกครอง. เนื่องจากตัดสินใจเลือกอาชีพหมอ ผมได้รับเชิญให้ร่วมประชุมสัมมนาในเวเนซุเอลา ซึ่งคริสตจักรคาทอลิกจัดขึ้น. ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีแพทย์ กลุ่มของเราจึงถูกมอบหมายให้ศึกษาวิจัยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งเพิ่งออกสู่ตลาดในตอนนั้น.
ความประทับใจเมื่อแรกเป็นนักศึกษาแพทย์
ระหว่างที่ยังเป็นนักเรียนแพทย์ศึกษาเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ผมรู้สึกประทับใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับสติปัญญาซึ่งปรากฏชัดในการออกแบบ. ยกตัวอย่าง ผมรู้สึกทึ่งตรงที่ร่างกายสามารถรักษาตัวเองและหายเจ็บปวดได้ เช่น ตับหรือซี่โครงจะค่อย ๆ กลับคืนเป็นปกติอย่างเดิมหลังจากถูกตัดออกไปบางส่วน.
ในเวลาเดียวกัน ผมพบเห็นผู้คนมากมายประสบอุบัติเหตุร้ายแรง และผมรู้สึกเศร้าสลดเมื่อพวกเขาเสียชีวิตเพราะรับการถ่ายเลือด. ผมจำได้จนถึงทุกวันนี้ว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะบอกญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพราะความซับซ้อนอันเนื่องมาจากการถ่ายเลือด. ญาติส่วนใหญ่ไม่ได้รับแจ้งให้รู้ว่าบุคคลซึ่งเป็นที่รักของเขาเสียชีวิตเพราะการถ่ายเลือด. แทนที่จะบอกอย่างนั้น พวกญาติได้รับคำชี้แจงให้เข้าใจเป็นอย่างอื่น. แม้เวลาล่วงไปหลายปี ผมยังจำความรู้สึกไม่สบายใจในเรื่องการถ่ายเลือด และในที่สุดผมลงความเห็นว่าต้องมีอะไรบางอย่างผิดเกี่ยวกับการถ่ายเลือด. สภาพการณ์ครั้งนั้นจะดีกว่าสักเพียงใดถ้าผมได้รู้กฎหมายของพระยะโฮวาว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด! เพราะถ้ารู้ ผมคงเข้าใจเหตุผลที่ไม่สบายใจเมื่อเห็นกิจปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเลือด.—กิจการ 15:19, 20, ล.ม.
พอใจยินดีที่ได้ช่วยเหลือผู้คน
ในเวลาต่อมา ผมได้ใบอนุญาตให้ดำเนินการฐานะศัลยแพทย์และผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือให้การรักษาในเมืองซานตาลูเซีย. นอกจากนั้น ผมยังทำงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางชีววิทยาแห่งชาติ. ผมพอใจมากที่ได้ทำงานด้านนี้. ผมช่วยด้านการรักษาผู้ป่วยเจ็บ, บรรเทาความเจ็บปวดด้านร่างกาย, ผมได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยหลายราย, และมีส่วนช่วยทำคลอดเพื่อนำชีวิตทารกออกมาสู่โลก. ด้วยเหตุที่ผมมีประสบการณ์กับการถ่ายเลือดมาก่อน ผมจึงหลีกเลี่ยงการถ่ายเลือดแก่คนไข้และทำการผ่าตัดผู้ป่วยหลายพันรายโดยไม่ใช้เลือด. ผมชี้แจงให้เหตุผลว่าการตกเลือดก็เหมือนน้ำไหลซึมจากถัง. การแก้ตรงจุดคือซ่อมหรืออุดรอยรั่ว ไม่ใช่คอยเติมน้ำอยู่เรื่อย ๆ.
ให้การรักษาผู้ป่วยที่เป็นพยานฯ
ผมเริ่มรู้จักพยานพระยะโฮวาในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อพวกเขาเริ่มเข้าโรงพยาบาลของเราเพื่อรับการผ่าตัดโดยไม่เติมเลือด. ผมไม่มีวันลืมคนไข้รายหนึ่งซึ่งเป็นไพโอเนียร์ (ผู้เผยแพร่เต็มเวลา) ชื่อเมอร์เซเดส กอนซาเลซ. เธอเป็นโรคโลหิตจางถึงขนาดแพทย์โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยไม่ยอมเสี่ยงทำการผ่าตัด เพราะรู้สึกแน่ใจว่าเธอจะไม่รอด. ถึงแม้เธอกำลังเสียเลือด แต่เราก็ทำการผ่าตัดให้เธอที่โรงพยาบาลของเรา. การผ่าตัดสำเร็จด้วยดี และเธอยังเป็นไพโอเนียร์อย่างต่อเนื่องนานกว่า 30 ปี กระทั่งเธอเสียชีวิตไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นับอายุได้ 86 ปี.
ผมรู้สึกประทับใจเสมอเมื่อเห็นพยานฯ แสดงความรักและเอาใจใส่ดูแลพี่น้องคริสเตียนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล. เมื่อผมตรวจเยี่ยมคนไข้ในโรงพยาบาล ผมชอบฟังพยานฯ พูดคุยถึงเรื่องความเชื่อของเขา และผมรับสิ่งพิมพ์ที่เขาเสนอให้ผม. ผมไม่นึกไม่ฝันเลยว่าอีกไม่นานผมจะไม่ได้เป็นแค่แพทย์ทำการรักษา แต่เป็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพวกเขาด้วย.
ผมเข้ามาข้องแวะใกล้ชิดกับพวกเขามากยิ่งขึ้นเมื่อผมแต่งงานกับเบียทริซ ลูกสาวคนไข้ชายรายหนึ่ง. คนในครอบครัวของเธอส่วนใหญ่สมาคมคบหากับพวกพยานฯ
อยู่ก่อนแล้ว และภายหลังการแต่งงาน เบียทริซได้มาเป็นพยานฯ ที่เอาการเอางานเช่นเดียวกัน. ส่วนผมมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับงานและยังคงใฝ่ฝันใคร่จะเป็นคนเด่นดังในวงการแพทย์. ดูเหมือนชีวิตผมประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ. ผมไม่นึกเลยว่าความทุกข์ลำบากจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผมอย่างสิ้นเชิง.เผชิญความทุกข์ลำบาก
สิ่งเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งอาจเกิดขึ้นกับศัลยแพทย์คือการเสียสายตา. สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผม. โดยกะทันหัน เยื่อภายในลูกตาทั้งสองข้างของผมฉีกขาด ผมกลายเป็นคนตาบอดไปแล้วและไม่มีทางรู้ได้ว่าสายตาผมจะกลับดีดังเดิมหรือไม่. หลังการผ่าตัดตา ผมนอนมีผ้าปิดตาทั้งสองข้างและจมอยู่ในภาวะซึมเศร้า. ผมคิดว่าตัวเองไร้ค่าและสิ้นหวังจึงตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย. โดยเหตุที่ผมอยู่บนชั้นที่สี่ของโรงพยาบาล ผมลงจากเตียงและเดินเลียบผนังคลำทางไปที่หน้าต่าง. ผมกำลังจะโดดตึกตาย. แต่ผมไพล่ออกทางประตูสู่ทางเดิน พยาบาลคนหนึ่งพาผมกลับไปที่เตียงตามเดิม.
ผมไม่พยายามจะจบชีวิตอีก. แต่ผมรู้สึกรันทดท้อแท้และหงุดหงิดไม่วายภายในโลกมืดของผม. ในช่วงที่ตามองไม่เห็น ผมปฏิญาณต่อพระเจ้าว่าถ้าผมเห็นได้อีก ผมจะอ่านพระคัมภีร์ให้จบทั้งเล่ม. ในที่สุด สายตาผมดีขึ้นเป็นบางส่วน และผมสามารถอ่านหนังสือได้. แต่ผมจะเป็นศัลยแพทย์ต่อไปไม่ได้. กระนั้น ในอุรุกวัยนิยมใช้คำพูดที่ว่า “โนไฮมัลเกพอร์เบียนโนเวงกา” หมายความว่า “ไม่มีอะไรเลวร้ายเกินไปจนสิ่งดีไม่อาจเกิดขึ้นได้.” ผมจวนจะประสบความจริงของภาษิตข้อนั้น.
เริ่มต้นในทางลบ
ผมต้องการซื้อพระคัมภีร์ฉบับแปลเดอะเจรูซาเลมไบเบิล ที่พิมพ์ตัวโต ๆ แต่ผมได้มารู้ว่าพยานพระยะโฮวามีพระคัมภีร์ราคาย่อมเยา ซึ่งหนุ่มพยานฯ คนหนึ่งเสนอจะนำมาส่งให้ที่บ้าน. เช้าวันรุ่งขึ้น เขายืนอยู่ที่ประตูหน้าบ้านและนำพระคัมภีร์มาด้วย. ภรรยาของผมเปิดประตูออกไปพูดกับเขา. ผมตะโกนจากหลังบ้านบอกภรรยาว่าถ้าเธอจ่ายเงินค่าพระคัมภีร์ให้เขาแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะมาบ้านผมอีก และควรกลับไปเสีย. แน่นอน เขาออกไปทันที. ผมไม่คิดเลยว่าคนเดียวกันนี้จะมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผมในเวลาต่อมา.
วันหนึ่ง ผมไม่สามารถทำตามคำมั่นที่สัญญาไว้กับภรรยา. ดังนั้น เพื่อชดเชยและช่วยให้เธอสบายใจ ผมพูดว่าจะไปกับเธอยังการประชุมอนุสรณ์ประจำปีเพื่อร่วมระลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์. พอถึงวันนั้น ผมก็ไม่ลืมคำสัญญาและเข้าร่วมวาระสำคัญนั้นกับเธอ. ผมประทับใจบรรยากาศแห่งความกรุณาและการต้อนรับอย่างอบอุ่น. เมื่อเริ่มการบรรยาย ผมประหลาดใจเมื่อเห็นผู้พูดเป็นคนเดียวกันกับชายหนุ่มผู้ซึ่งผมเคยไล่ให้ออกจากบ้าน. คำบรรยายของเขากระทบหัวใจผมอย่างลึกซึ้ง และผมละอายใจมากที่ปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่กรุณา. ผมจะแก้ไขสภาพการณ์ได้อย่างไร?
ผมขอภรรยาให้เชิญเขามารับประทานอาหารมื้อเย็น แต่เธอแนะว่า “คงจะดีกว่าถ้าคุณ เป็นคนเชิญเขาเอง. ยืนอยู่ตรงนี้แหละ แล้วเขาจะเดินมาหาเรา.” เธอพูดถูก. เขาเข้ามาทักทายเราและตอบรับคำเชิญด้วยความยินดี.
การสนทนาในเย็นวันที่เขามาเยี่ยมนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างสำหรับผม. เขาให้ผมดูหนังสือความจริงซึ่งนำไปสู่ชีวิตถาวร * และผมก็เอาหนังสืออย่างเดียวกันออกมาอวด รวมทั้งหมดหกเล่ม. พยานฯ ที่เคยเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลต่างก็ได้มอบหนังสือดังกล่าวให้ผม แต่ผมไม่เคยเปิดอ่านเลย. ระหว่างและภายหลังรับประทานอาหารมื้อนั้นผมถามเขาหลายอย่างจนกระทั่งดึกดื่น และเขาใช้คัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามทุกข้อ. การสนทนาโต้ตอบยืดเยื้อจนล่วงเข้าวันใหม่. ก่อนจากกัน ชายหนุ่มเสนอตัวจะนำการศึกษาพระคัมภีร์กับผมโดยใช้หนังสือความจริง. เราศึกษาหนังสือเล่มนั้นจบภายในสามเดือน แล้วศึกษาต่อโดยใช้หนังสือ “บาบูโลนใหญ่ล่มจมเสียแล้ว!” ราชอาณาจักรของพระเจ้าครอบครอง! * (ภาษาอังกฤษ) หลัง จากนั้น ผมได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาพระเจ้าแล้วรับบัพติสมา.
รู้สำนึกอีกทีว่า ตัวเองเป็นประโยชน์
เนื่องจากตาจริง ๆ ของผมบอดไป ‘ตาใจของผม’ กลับมองเห็นความจริงของคัมภีร์ไบเบิลซึ่งผมได้ละเลยมาจวบจนเวลานั้น! (เอเฟโซ 1:18) การมารู้จักพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์ที่เปี่ยมด้วยความรักได้เปลี่ยนชีวิตผมอย่างสิ้นเชิง. อีกครั้งหนึ่ง ผมรู้สำนึกว่าตัวเองมีประโยชน์และมีความสุข. ผมช่วยผู้คนทั้งด้านร่างกายและฝ่ายวิญญาณ และชี้แจงให้เขารู้วิธียืดชีวิตให้ยาวอีกสักสองสามปีในระบบนี้ และการจะมีชีวิตตลอดไปในระบบใหม่.
ผมทำตัวให้ทันความก้าวหน้าในวงการแพทย์ และเคยค้นคว้าวิจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับการถ่ายเลือด, การบำบัดด้วยทางเลือกอื่น, สิทธิของผู้ป่วย, และชีวจริยธรรม. ผมเคยมีโอกาสให้ข้อมูลนี้แก่เวชกรรมชุมชน เมื่อได้รับเชิญไปบรรยาย ณ การสัมมนาทางการแพทย์. ปี 1994 ผมร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการรักษาที่ไม่ใช้เลือดซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในนครริวเดจาเนโร ประเทศบราซิล และบรรยายเรื่องวิธีจัดการเมื่อเลือดออกมาก. ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้ชี้แจงไปนั้นมีบทความที่ผมเขียนขึ้นรวมอยู่ด้วย: “อูนา โปรปูเอสทา: เอสทราเทเกียซ์ ปารา เอล ทราทาเมียนโท เด ลาซ เฮโมร์ราเกียซ์.” (“แผนการที่เสนอเพื่อรักษาการตกเลือด”) ลงพิมพ์ในวารสารการแพทย์เฮโมเทราเปีย.
ซื่อสัตย์มั่นคงภายใต้แรงกดดัน
แรกเริ่มที่ผมประกอบอาชีพแพทย์ ความสงสัยของผมในเรื่องการถ่ายเลือดอาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่. อย่างไรก็ดี เมื่อผมเองเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาล ก็พบว่าไม่ง่ายที่จะปฏิเสธการถ่ายเลือด และยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อเมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากพวกแพทย์. ภายหลังพ้นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอย่างรุนแรง ผมต้องชี้แจงฐานะของผมต่อศัลยแพทย์นายหนึ่งนานกว่าสองชั่วโมง. เขาเป็นบุตรชายของเพื่อนสนิทและบอกว่าเขาจะไม่ปล่อยให้ผมตายถ้าเขาเห็นว่าการถ่ายเลือดสามารถช่วยชีวิตผมได้. ผมทูลอธิษฐานพระยะโฮวาในใจ ขอพระองค์ช่วยแพทย์คนนี้เข้าใจและนับถือจุดยืนของผม แม้เขาไม่เห็นด้วยก็ตาม. ในที่สุด แพทย์ก็ให้คำมั่นยอมตามความประสงค์ของผม.
อีกคราวหนึ่ง ผมต้องรับการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกจากต่อมลูกหมาก แล้วมีเลือดออกมาก. อีกครั้งผมมีโอกาสชี้แจงเหตุผลที่ผมปฏิเสธการเติมเลือด และถึงแม้ผมเสียเลือดไปถึงสองในสามส่วน คณะแพทย์แสดงความนับถือการตัดสินใจของผม.
เปลี่ยนทัศนคติ
ในฐานะเป็นสมาชิกสมาคมชีวจริยธรรมนานาชาติ ผมพึงพอใจที่เห็นบุคคลทั้งในวงการแพทย์และนักกฎหมายเปลี่ยนทัศนคติอันพึงมีต่อสิทธิของผู้ป่วย. ทัศนคติที่อาศัยหลักจริยธรรมการปกครองแบบพ่อลูกถูกแทนที่ด้วยการนับถือความยินยอมโดยได้รับการชี้แจง. ตอนนี้ พวกแพทย์ยินยอมให้ผู้ป่วยมีทางเลือกการรักษา. พยานพระยะโฮวาไม่ถูกมองเป็นพวกคลั่งศาสนาอีกต่อไปซึ่งไม่สมควรได้รับการรักษาโดยวิธีทางการแพทย์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกพยานฯ ได้รับความนับถือฐานะผู้ป่วยที่มีความรู้กว้างขวางซึ่งสมควรเคารพสิทธิของเขา. ณ การสัมมนาแลกเปลี่ยนความเห็นด้านเวชกรรมและการออกรายการโทรทัศน์ ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านกล่าวดังนี้: “เราขอบคุณในความบากบั่นพยายามของพยานพระยะโฮวา บัดนี้ เราเข้าใจแล้ว . . . ” “พวกเราได้เรียนรู้จากพยานพระยะโฮวา . . . ” และ “พยานฯ สอนพวกเราให้ปรับปรุงแก้ไข.”
มีคำกล่าวที่ว่าชีวิตสำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น เพราะอิสรภาพ, สิทธิเสรีภาพ, และศักดิ์ศรีคงไร้ความหมายหากคนเราไม่มีชีวิต. ตอนนี้หลายคนรับเอาแง่คิดด้านกฎหมายที่เหนือกว่า โดยยอมรับว่าแต่ละคนเป็นผู้ครองสิทธิส่วนบุคคลและเป็นผู้เดียวที่ตัดสินใจได้ว่าสิทธิใดของตนควรมาเป็นอันดับแรกภายใต้สภาพการณ์เฉพาะอย่าง. โดยวิธีนี้ ศักดิ์ศรี, เสรีภาพในการเลือก, และความเชื่อทางศาสนาจึงเป็นอันดับแรก. ผู้ป่วยมีอิสระจะตัดสินใจด้วยตัวเอง. ฝ่ายบริการข้อมูลแก่โรงพยาบาลที่พยานพระยะโฮวาจัดตั้งขึ้นได้ช่วยแพทย์หลายนายให้มีความก้าวหน้าด้านความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้.
การเกื้อหนุนจากครอบครัวอย่างต่อเนื่องทำให้ผมมีโอกาสทำตนเป็นประโยชน์ต่องานรับใช้พระยะโฮวา และปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนอีกด้วย. ดังได้กล่าวมาแล้ว ผมเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาเร็วกว่านี้. กระนั้น ผมขอบคุณพระองค์เป็นล้นพ้นที่ทรงโปรดให้ผมตระหนักถึงความหวังอันวิเศษในเรื่องการมีชีวิตภายใต้การจัดเตรียมแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่ง “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’ ”—ยะซายา 33:24. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 24 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 24 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 34 ขณะที่บทความนี้กำลังจัดเตรียมอยู่ บราเดอร์เอกอน เฮาเซอร์ได้จากไป. ท่านเสียชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ และเรายินดีร่วมกับท่านว่า ความหวังของท่านเป็นสิ่งแน่นอน.
[ภาพหน้า 24]
ในวัย 30 เศษ ๆ ผมทำงานที่โรงพยาบาลในเมืองซานตาลูเซีย
[ภาพหน้า 26]
กับเบียทริซ ภรรยาของผมในปี 1995