ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากคุกมืดสู่เทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์

จากคุกมืดสู่เทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

จาก​คุก​มืด​สู่​เทือก​เขา​แอลป์​ใน​สวิตเซอร์แลนด์

เล่า​โดย​โลทาร์ วัลเทอร์

หลัง​จาก​ติด​คุก​มืด​นาน​ถึง​สาม​ปี​ใน​เรือน​จำ​คอมมิวนิสต์​ทาง​เยอรมนี​ตะวัน​ออก​ผม​เกือบ​ทน​รอ​ไม่​ไหว​ที่​จะ​สูด​กลิ่นอาย​ของ​อิสรภาพ​ที่​ยัง​ความ​สดชื่น​อีก​ทั้ง​จะ​ได้​กลับ​ไป​อยู่​ร่วม​กับ​ครอบครัว​อย่าง​อบอุ่น.

อย่าง​ไร​ก็​ดี ผม​ไม่​ได้​เตรียม​ใจ​ให้​พร้อม​สำหรับ​สี​หน้า​ส่อ​ความ​ไม่​แน่​ใจ​ของ​โยฮันเนส​ลูก​ชาย​วัย​หก​ขวบ. เพราะ​สาม​ปี​หลัง​ใน​ชีวิต​ลูก​ชาย​ไม่​เคย​เห็น​หน้า​พ่อ. ผม​เป็น​คน​แปลก​หน้า​อย่าง​สิ้นเชิง​สำหรับ​ลูก.

ต่าง​กัน​กับ​ลูก​ชาย ตอน​เป็น​เด็ก ผม​มี​ความ​สุข​ได้​อยู่​ใกล้​ชิด​พ่อ​แม่​ผู้​เปี่ยม​ความ​รัก. บรรยากาศ​ภาย​ใน​บ้าน​ของ​เรา​ที่​เมือง​เคมนิตซ์ ประเทศ​เยอรมนี​มี​แต่​ความ​รัก ผม​เกิด​ที่​นั่น​ปี 1928. คุณ​พ่อ​เป็น​คน​โผง​ผาง​เมื่อ​แสดง​ออก​ถึง​ความ​ไม่​พอ​ใจ​ศาสนา. ท่าน​เล่า​ว่า​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 พวก​ทหาร​แต่​ละ​ฝ่าย​ซึ่ง​อ้าง​ตัว​เป็น “คริสเตียน” อวย​พร​ให้​อีก​ฝ่าย​ด้วย​คำ “เมอร์รี​คริสต์มาส” ใน​วัน​ที่ 25 ธันวาคม ครั้น​แล้ว วัน​ถัด​ไป​ก็​กลับ​ไป​เข่น​ฆ่า​กัน​อีก. สำหรับ​ท่าน ศาสนา​เป็น​สุด​ยอด​ของ​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด.

ความ​ผิด​หวัง​เปิด​ทาง​ให้​ความ​เชื่อ​เข้า​มา​แทน

น่า​ยินดี​ที่​ผม​ไม่​ประสบ​ความ​ผิด​หวัง​เช่น​นั้น. สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ยุติ​ลง​เมื่อ​ผม​อายุ 17 ปี และ​ผม​จึง​พ้น​การ​เกณฑ์​ทหาร​อย่าง​หวุดหวิด. กระนั้น​ก็​ดี ผม​เป็น​ทุกข์​เพราะ​หลาย​คำ​ถาม​คอย​รบกวน​จิตใจ อาทิ ‘ทำไม​จึง​ฆ่า​ฟัน​กัน? ผม​จะ​ไว้​ใจ​ใคร​ได้? จะ​หา​ความ​ปลอด​ภัย​ที่​แท้​จริง​จาก​ที่​ไหน?’ เยอรมนี​ตะวัน​ออก​ซึ่ง​เป็น​ที่​อยู่​อาศัย​ของ​เรา​ตก​อยู่​ใต้​อำนาจ​บังคับ​ของ​โซเวียต. อุดมการณ์​ของ​ระบอบ​คอมมิวนิสต์​ที่​ยึด​เอา​ความ​ยุติธรรม, ความ​เสมอ​ภาค, ความ​มั่นคง​เป็น​ปึก​แผ่น, และ​สันติ​ไมตรี​ได้​จูง​ใจ​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​เหนื่อย​ล้า​ระอา​ใจ​จาก​ผล​เสียหาย​ของ​สงคราม. ไม่​นาน​เท่า​ไร หลาย​คน​ท่ามกลาง​สุจริต​ชน​เหล่า​นี้​ก็​จะ​รู้สึก​ผิด​หวัง​อย่าง​แรง—คราว​นี้​ไม่​ใช่​โดย​ศาสนา แต่​โดย​การ​เมือง.

ระหว่าง​ที่​ผม​สืบ​เสาะ​หา​คำ​ตอบ​ที่​มี​ความหมาย​ให้​ตัว​เอง คุณ​ป้า​ของ​ผม​ซึ่ง​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​พูด​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน. ท่าน​ให้​ผม​อ่าน​หนังสือ​ที่​ยึด​พระ​คัมภีร์​เป็น​หลัก ซึ่ง​กระตุ้น​ผม​ให้​อ่าน​มัดธาย​บท 24 ทั้ง​บท นับ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ชีวิต​ก็​ว่า​ได้. ผม​ประทับใจ​คำ​อธิบาย​ที่​มี​เหตุ​ผล​และ​น่า​เชื่อ​ใน​หนังสือ​เล่ม​นั้น ซึ่ง​ระบุ​สมัย​ของ​เรา​เป็น “ช่วง​อวสาน​ของ​ระบบ​นี้” และ​แจ้ง​มูลฐาน​ต้น​เหตุ​แห่ง​ปัญหา​ต่าง ๆ ของ​มนุษยชาติ.—มัดธาย 24:3, ล.ม.; วิวรณ์ 12:9.

หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน ผม​ได้​รับ​สิ่ง​พิมพ์​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขึ้น และ​ขณะ​อ่าน​หนังสือ​เหล่า​นั้น​อย่าง​จริงจัง ผม​ตระหนัก​ว่า​ผม​พบ​ความ​จริง​ตาม​ที่​ผม​แสวง​หา​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า. ผม​ตื่นเต้น​มาก​ที่​เรียน​รู้​ว่า​พระ​เยซู​คริสต์​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ใน​สวรรค์​ปี 1914 และ​อีก​ไม่​ช้า​พระองค์​จะ​ทรง​ปราบ​องค์กร​ต่าง ๆ ที่​ดูหมิ่น​พระเจ้า เพื่อ​นำ​พระ​พร​สู่​มนุษยชาติ​ที่​เชื่อ​ฟัง. การ​ค้น​พบ​ที่​สำคัญ​อีก​ประการ​หนึ่ง​สำหรับ​ผม​คือ​ความ​เข้าใจ​กระจ่าง​แจ้ง​เรื่อง​ค่า​ไถ่. เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​ผม​หัน​เข้า​หา​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​โดย​ทูล​อธิษฐาน​จาก​ใจ​จริง​เพื่อ​ขอ​อภัยโทษ. ผม​รู้สึก​จับ​ใจ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ใน​คำ​เชิญ​อัน​อ่อนโยน​ซึ่ง​ปรากฏ​อยู่​ที่​พระ​ธรรม​ยาโกโบ 4:8 (ล.ม.) ที่​ว่า “จง​เข้า​ใกล้​พระเจ้า แล้ว​พระองค์​จะ​ทรง​เข้า​ใกล้​ท่าน​ทั้ง​หลาย.”

ทั้ง ๆ ที่​ผม​กระตือรือร้น​มี​ใจ​แรง​กล้า​เนื่อง​จาก​ได้​พบ​ความ​เชื่อ​ใหม่ พ่อ​แม่​และ​พี่​สาว​ของ​ผม​ที​แรก​ก็​ยัง​ลังเล​ที่​จะ​ยอม​รับ​สิ่ง​ที่​ผม​บอก​ให้​เขา​ทราบ. อย่าง​ไร​ก็​ดี สิ่ง​นี้​ไม่​ได้​ระงับ​ความ​ปรารถนา​ของ​ผม​ที่​จะ​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​ซึ่ง​พยาน​ฯ กลุ่ม​เล็ก ๆ จัด​ขึ้น​ใกล้​เมือง​เคมนิตซ์. ผม​ประหลาด​ใจ​มาก เมื่อ​พ่อ​แม่​รวม​ทั้ง​พี่​สาว​ด้วย​ได้​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​ครั้ง​แรก​กับ​ผม! ตอน​นั้น​เป็น​ฤดู​หนาว​ช่วง​ปี 1945/1946. ต่อ​มา เมื่อ​มี​การ​ตั้ง​กลุ่ม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​เมือง​ฮาร์​เทา ซึ่ง​พวก​เรา​อยู่​ที่​นี่ ครอบครัว​ของ​ผม​ก็​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ศึกษา​เป็น​ประจำ.

“ข้าพเจ้า​เป็น​เด็ก​อยู่”

การ​เรียน​รู้​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​ความ​สำคัญ และ​การ​คบหา​สมาคม​กับ​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ประจำ​กระตุ้น​ผม​ให้​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา และ​ผม​ได้​รับ​บัพติสมา ณ วัน​ที่ 25 พฤษภาคม 1946. ผม​มี​ความ​สุข​มาก​เมื่อ​สมาชิก​ครอบครัว​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​เช่น​เดียว​กัน และ​ใน​ที่​สุด​คน​ทั้ง​สาม​ก็​เข้า​มา​เป็น​พยาน​ฯ ที่​ซื่อ​สัตย์. พี่​สาว​ของ​ผม​ยัง​คง​เป็น​สมาชิก​ที่​ขยัน​ขันแข็ง​ของ​ประชาคม​หนึ่ง​ใน​เมือง​เคมนิตซ์. ทั้ง​แม่​และ​พ่อ​ต่าง​ก็​รับใช้​ด้วย​ความ​ภักดี​กระทั่ง​สิ้น​อายุ​ขัย​ใน​ปี 1965 และ​ปี 1986 ตาม​ลำดับ.

หก​เดือน​ภาย​หลัง​การ​รับ​บัพติสมา ผม​เริ่ม​งาน​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​พิเศษ. ตอน​นี้​แหละ​ที่​ผม​เริ่ม​งาน​รับใช้​ตลอด​ชีพ “ทั้ง​ใน​ยาม​เอื้ออำนวย​และ​ยาม​ยาก​ลำบาก.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) ต่อ​จาก​นั้น​ไม่​นาน มี​ช่อง​ทาง​ใหม่ ๆ เปิด​สู่​งาน​รับใช้. พื้น​ที่​ห่าง​ไกล​โดด​เดี่ยว​ใน​เยอรมนี​ตะวัน​ออก​ต้องการ​ผู้​รับใช้​เต็ม​เวลา​ไป​ทำ​งาน. ผม​กับ​เพื่อน​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​สมัคร​ไป​ยัง​เขต​มอบหมาย​นี้ แต่​ผม​รู้​ตัว​ว่า​ยัง​ขาด​ประสบการณ์​และ​วุฒิ​ภาวะ อาจ​ไม่​เหมาะ​สม​กับ​งาน​ที่​ต้อง​รับผิดชอบ. เพราะ​อายุ​ผม​ตอน​นั้น​แค่ 18 ปี ผม​มี​ความ​รู้สึก​เช่น​เดียว​กัน​กับ​ยิระมะยา​ที่​ว่า “โอ้​ยะโฮวา​พระเจ้า, ดู​เถิด, ข้าพเจ้า​พูด​ไม่​ได้, เพราะ​ข้าพเจ้า​เป็น​เด็ก​อยู่.” (ยิระมะยา 1:6) แม้​ผม​หวั่น​หวาด​อยู่​บ้าง แต่​ด้วย​ความ​กรุณา พี่​น้อง​ที่รับผิดชอบ​จึง​ได้​ตัดสิน​ใจ​ให้​เรา​ลอง​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ไป​พลาง ๆ ก่อน. ดัง​นั้น เบล​ซิก​เมือง​เล็ก ๆ ใน​รัฐ​บรันเดนบูร์ก จึง​เป็น​เขต​งาน​มอบหมาย​ของ​เรา.

การ​เผยแพร่​ใน​เขต​งาน​นั้น​ไม่​ง่าย​เสีย​ที​เดียว แต่​เป็น​การ​ฝึกฝน​ซึ่ง​เอื้อ​ประโยชน์​แก่​ผม. ต่อ​มา นัก​ธุรกิจ​หญิง​ที่​มี​ชื่อเสียง​หลาย​คน​ได้​ตอบรับ​ข่าว​ราชอาณาจักร​และ​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. แต่​สถานภาพ​ของ​พวก​เธอ​ฐานะ​พยาน​ฯ ขัด​ต่อ​ธรรมเนียม​ประเพณี​และ​ความ​หวาด​กลัว​ที่​ฝัง​ราก​ลึก​ของ​ชุมชน​เล็ก ๆ ใน​ชนบท​แถบ​นั้น​ด้วย. นัก​เทศน์​นิกาย​โปรเตสแตนต์​รวม​ทั้ง​บาทหลวง​คาทอลิก​ต่อ​ต้าน​พวก​เรา​อย่าง​รุนแรง และ​ตั้ง​ข้อ​กล่าวหา​อย่าง​ผิด ๆ เนื่อง​ด้วย​งาน​ประกาศ​เผยแพร่​ของ​เรา. แต่​ด้วย​การ​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​การ​ชี้​นำ​และ​คุ้มครอง เรา​จึง​สามารถ​ช่วย​ผู้​สนใจ​จำนวน​หนึ่ง​รับ​เอา​ความ​จริง.

มี​ข้อ​บ่ง​ชี้​มาก​ขึ้น​ถึง​ท่าที​ที่​ไม่​ยอม​ผ่อนปรน

ปี 1948 ผม​ประสบ​ทั้ง​พระ​พร​และ​ความ​ยาก​ลำบาก​หลาย​ประการ​โดย​ไม่​คาด​คิด. ที​แรก ผม​ได้​รับ​การ​มอบหมาย​ไป​ทำ​งาน​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ที่​เมือง​รูดอล์สตัดท์​ใน​รัฐ​ทูรินเงน. ที่​นั่น​ผม​ได้​มา​รู้​จัก​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​หลาย​คน​ที่​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​และ​ชื่นชม​ไมตรี​จิต​ของ​เขา. พระ​พร​สำคัญ​อีก​ประการ​หนึ่ง​ได้​เพิ่ม​เข้า​มา​ใน​เดือน​กรกฎาคม​ปี​นั้น. ผม​ได้​แต่งงาน​กับ​เอริคา อุลล์มันน์ คริสเตียน​สาว​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​กระตือรือร้น ซึ่ง​ผม​รู้​จัก​ตั้ง​แต่​ผม​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​กับ​ประชาคม​เคมนิตซ์. เรา​เริ่ม​ต้น​ทำ​งาน​รับใช้​ด้วย​กัน​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​ฮาร์​เทา บ้าน​เกิด​ของ​ผม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต่อ​มา เอริคา​ไม่​สามารถ​รับใช้​เต็ม​เวลา​เนื่อง​จาก​ปัญหา​สุขภาพ​และ​ด้วย​เหตุ​ผล​อื่น​บาง​อย่าง.

สมัย​นั้น​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ลำบาก. กรม​แรงงาน​ใน​เคมนิตซ์​ระงับ​การ​แจก​บัตร​ปัน​ส่วน​อาหาร​ให้​ผม พยายาม​บีบ​บังคับ​ผม​ให้​เลิก​งาน​เผยแพร่​และ​ทำ​งาน​อาชีพ​เต็ม​เวลา. พวก​พี่​น้อง​ที่​รับผิดชอบ​ได้​ใช้​กรณี​ของ​ผม​ร้อง​เรียน​รัฐ​ให้​การ​ยินยอม​ตาม​กฎหมาย. การ​ร้อง​เรียน​ไม่​เป็น​ผล และ​วัน​ที่ 23 มิถุนายน 1950 ผม​ถูก​พิพากษา​ให้​ชำระ​ค่า​ปรับ หรือ​ไม่​ก็​ติด​คุก 30 วัน. พวก​เรา​ยื่น​อุทธรณ์ แต่​ศาล​สูง​ปฏิเสธ ผม​จึง​ต้อง​ติด​คุก.

เหตุ​การณ์​ครั้ง​นั้น​เป็น​เพียง​แค่​การ​บ่ง​บอก​ถึง​พายุ​แห่ง​การ​ต่อ​ต้าน​และ​ความ​ทุกข์​ยาก​ที่​จะ​ทวี​ความ​รุนแรง​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ไม่​ถึง​หนึ่ง​เดือน​ต่อ​มา ใน​เดือน​กันยายน 1950 หลัง​จาก​เริ่ม​รณรงค์​ให้​ร้าย​ทาง​สื่อ​ต่าง ๆ แล้ว รัฐบาล​ระบอบ​คอมมิวนิสต์​ได้​ประกาศ​ห้าม​กิจกรรม​ของ​พวก​เรา. เนื่อง​จาก​การ​เจริญ​เติบโต​อย่าง​รวด​เร็ว​และ​การ​ยืนหยัด​เป็น​กลาง เรา​จึง​ถูก​ตรา​หน้า​เป็น​หน่วย​สืบ​ราชการ​ลับ​ของ​ประเทศ​ที่​ไม่​ฝักใฝ่​คอมมิวนิสต์ ทำ “กิจกรรม​ที่​น่า​สงสัย” โดย​อาศัย​ศาสนา​บัง​หน้า. ณ วัน​ที่​มี​การ​ประกาศ​ห้าม​นั่น​เอง ภรรยา​ผม​คลอด​ลูก​ชาย​คือ​โยฮันเนส​ที่​บ้าน ขณะ​ที่​ผม​อยู่​ใน​คุก. ทั้ง ๆ ที่​หญิง​ผดุง​ครรภ์​ทัด​ทาน แต่​เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ความ​มั่นคง​ได้​ใช้​อำนาจ​บุก​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​ชุด​ของ​เรา​โดย​พลการ​และ​ค้น​หา​หลักฐาน​ยืน​ยัน​ข้อ​หา. แน่​ละ เขา​ไม่​พบ​อะไร​เลย. กระนั้น​ก็​ดี พวก​เขา​ทำ​สำเร็จ​ใน​เวลา​ต่อ​มา โดย​ส่ง​คน​เข้า​มา​สืบ​ข้อมูล​ใน​ประชาคม​ของ​เรา. นั่น​นำ​ไป​สู่​การ​จับ​กุม​พี่​น้อง​ทั้ง​หมด​ที่​รับผิดชอบ รวม​ถึง​ผม​ด้วย เมื่อ​เดือน​ตุลาคม 1953.

ภาย​ใน​คุก​มืด

หลัง​จาก​มี​คำ​ตัดสิน​จำ​คุก​ตั้ง​แต่​สาม​ปี​ถึง​หก​ปี​เป็น​ลำดับ พวก​เรา​สมทบ​กับ​กลุ่ม​พี่​น้อง​ของ​เรา​ใน​ห้อง​มืด​อัน​แสน​โสโครก​แห่ง​ปราสาท​โอสเทอร์สไตน์ เมือง​ชวิกเคา. แม้​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​นั่น​น่า​ขยะแขยง แต่​ก็​เป็น​ความ​ยินดี​อย่าง​แท้​จริง​ที่​ได้​คบหา​กับ​พี่​น้อง​อาวุโส. การ​ขาด​อิสรภาพ​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​เรา​ขาด​แคลน​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ. แม้​รัฐบาล​ดูถูก​ดูหมิ่น​และ​ประกาศ​ห้าม กระนั้น วารสาร​หอสังเกตการณ์ ก็​ยัง​เล็ดลอด​เข้า​ไป​ถึง​ใน​คุก​และ​ไป​ถึง​พวก​เรา​ที่​ถูก​ขัง​ใน​ห้อง​ใต้​ดิน! เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไร?

พี่​น้อง​ชาย​บาง​คน​ถูก​ส่ง​ไป​ทำ​งาน​ใน​เหมือง​ถ่าน​หิน ที่​นั่น​พวก​เขา​พบ​พยาน​ฯ ที่​ไม่​ติด​คุก​และ​ได้​รับ​วารสาร​จาก​พี่​น้อง​เหล่า​นั้น. ครั้น​แล้ว ด้วย​ไหว​พริบ​อัน​ชาญ​ฉลาด พวก​พี่​น้อง​แอบ​ซุก​ซ่อน​วารสาร​เข้า​ไป​ใน​คุก และ​จัด​การ​ให้​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ซึ่ง​เป็น​ที่​ต้องการ​อย่าง​ยิ่ง​ถึง​มือ​พวก​เรา​ทุก​คน. ผม​เป็น​สุข​และ​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​มาก​เหลือ​เกิน​เพราะ​ผม​ประสบ​การ​ใฝ่​พระทัย​และ​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​วิธี​นี้!

ปลาย​ปี 1954 พวก​เรา​โดน​ย้าย​ไป​อยู่​ใน​คุก​เมือง​ทอร์​เกา​ที่​ขึ้น​ชื่อ​ด้าน​ความ​ย่ำแย่​เหลือ​ทน. บรรดา​พยาน​ฯ ที่​นั่น​ดีใจ​ที่​ได้​ต้อนรับ​พวก​เรา. จน​ถึง​ตอน​นั้น พวก​เขา​คง​ไว้​ซึ่ง​ความ​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ​โดย​ท่อง​สิ่ง​ที่​เขา​ยัง​จำ​ได้​จาก​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​ก่อน ๆ. พวก​เขา​ใฝ่ฝัน​ที่​จะ​ได้​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ออก​มา​ใหม่ ๆ สัก​เพียง​ใด! ตอน​นี้​เป็น​หน้า​ที่​ของ​เรา​ที่​จะ​แบ่ง​ปัน​เนื้อหา​สาระ​ของ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​พวก​เขา​เท่า​ที่​เรา​ศึกษา​มา​แล้ว​ตอน​อยู่​ชวิกเคา. ทว่า​เรา​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร​ใน​เมื่อ​มี​กฎ​เคร่งครัด​ห้าม​พูด​คุย​กัน​ระหว่าง​ที่​เรา​เดิน​รอบ​ลาน​บริเวณ​เรือน​จำ​ใน​แต่​ละ​วัน? พวก​พี่​น้อง​ได้​ให้​ข้อ​แนะ​อัน​มี​ค่า​ใน​เรื่อง​วิธี​การ และ​พระ​หัตถ์​อัน​ทรง​ฤทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​พิทักษ์​และ​ชี้​นำ​พวก​เรา. เรื่อง​นี้​สอน​เรา​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​พากเพียร​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​และ​การ​คิด​รำพึง​ขณะ​ที่​เรา​มี​อิสระ​และ​โอกาส​ทำ​เช่น​นั้น.

วาระ​สำหรับ​การ​ตัดสิน​ใจ​ครั้ง​สำคัญ

ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​ของ​พระ​ยะโฮวา พวก​เรา​จึง​ตั้ง​มั่นคง. พวก​เรา​ประหลาด​ใจ​มาก​ที​เดียว​เมื่อ​หลาย​คน​ได้​รับ​นิรโทษกรรม​ตอน​สิ้น​ปี 1956. ยาก​จะ​พรรณนา​ความ​สุข​ของ​พวก​เรา​เมื่อ​ประตู​คุก​เปิด​ออก! ตอน​นั้น ลูก​ชาย​ผม​อายุ​หก​ขวบ และ​สำหรับ​ผม​ถือ​เป็น​ความ​ปีติ​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ได้​กลับ​มา​อยู่​กับ​ภรรยา​และ​มี​ส่วน​ใน​การ​เลี้ยง​ลูก​ของ​เรา. ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง​โยฮันเนส​แสดง​ท่าที​ต่อ​ผม​อย่าง​คน​แปลก​หน้า แต่​ไม่​นาน ความ​ผูก​พัน​อบอุ่น​ฉัน​พ่อ​ลูก​ระหว่าง​เรา​สอง​คน​ก็​ผนึก​แน่น.

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​เยอรมนี​ตะวัน​ออก​เผชิญ​กาล​เวลา​อัน​ยาก​ลำบาก​ยิ่ง. การ​เป็น​ศัตรู​ต่อ​งาน​เผยแพร่​คริสเตียน​ของ​เรา​ได้​เพิ่ม​ทวี และ​การ​ยืนหยัด​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​หมาย​ถึง​การ​ที่​เรา​จำ​ต้อง​อยู่​ท่ามกลาง​การ​ข่มขู่​คุกคาม​อย่าง​ต่อ​เนื่อง ชีวิต​ห้อม​ล้อม​ด้วย​ภัย​อันตราย, วิตก​กังวล, และ​อิดโรย. ด้วย​เหตุ​นี้ ผม​กับ​เอริคา​จึง​ต้อง​พิจารณา​สภาพการณ์​ของ​เรา​อย่าง​รอบคอบ​ด้วย​การ​อธิษฐาน และ​เรา​รู้สึก​ว่า​จำ​ต้อง​ย้าย​ไป​ยัง​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เหมาะ​กว่า เพื่อ​ความ​วิตก​กังวล​จะ​ไม่​บ่อน​ทำลาย​เรา​กระทั่ง​ไม่​เหลือ​อะไร. เรา​ต้องการ​เป็น​อิสระ​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​และ​ติด​ตาม​เป้าหมาย​ฝ่าย​วิญญาณ.

ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ปี 1957 โอกาส​ก็​เปิด​ให้​เรา​ได้​ย้าย​ไป​ยัง​สตุตการ์ต เยอรมนี​ตะวัน​ตก. ที่​นั่น​ไม่​มี​การ​สั่ง​ห้าม​งาน​ประกาศ​เผยแพร่ และ​เรา​สามารถ​สมาคม​คบหา​กับ​พี่​น้อง​ของ​เรา​อย่าง​เป็น​อิสระ. การ​เกื้อ​หนุน​ด้วย​ความ​รัก​ของ​เขา​มี​มาก​เหลือ​ล้น. เรา​อยู่​กับ​ประชาคม​ใน​เฮเดลฟิงเกน​นาน​เจ็ด​ปี. ระหว่าง​ปี​เหล่า​นั้น ลูก​ชาย​ของ​เรา​ได้​เข้า​โรง​เรียน​และ​ก้าว​หน้า​เป็น​อย่าง​ดี​ใน​ทาง​ความ​จริง. เดือน​กันยายน 1962 ผม​มี​สิทธิ​พิเศษ​เข้า​รับ​การ​อบรม​ที่​โรง​เรียน​พระ​ราชกิจ​ใน​วีสบาเดิน. ที่​นั่น ผม​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​ย้าย​ครอบครัว​ไป​รับใช้​ใน​พื้น​ที่​ที่​ต้องการ​ผู้​สอน​พระ​คัมภีร์​ที่​พูด​ภาษา​เยอรมัน. ทั้ง​นี้​รวม​ถึง​พื้น​ที่​บาง​ส่วน​ใน​เยอรมนี​และ​สวิตเซอร์แลนด์.

ไป​ต่อ​จน​ถึง​เทือก​เขา​แอลป์​ของ​สวิตเซอร์แลนด์

ดัง​นั้น เรา​จึง​ย้าย​ไป​สวิตเซอร์แลนด์​ใน​ปี 1963. เรา​รับ​การ​ชี้​แนะ​ให้​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ประชาคม​เล็ก ๆ ใน​เมือง​บรุนเนน ติด​ทะเลสาบ​ลูเซิร์น​ที่​สวย​งาม ใน​ตอน​กลาง​เทือก​เขา​แอลป์​ของ​สวิส. สำหรับ​พวก​เรา​เหมือน​กับ​ว่า​เรา​กำลัง​อยู่​ใน​อุทยาน. เรา​ต้อง​ปรับ​ตัว​ให้​ชิน​กับ​ภาษา​ถิ่น​สวิส-เยอรมัน​ที่​คน​ใน​แถบ​นั้น​พูด​กัน และ​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​วิถี​ชีวิต​และ​เจตคติ​ของ​ผู้​คน​ใน​ท้องถิ่น. กระนั้น​ก็​ดี เรา​ชื่นชม​ที่​ได้​ทำ​งาน​เผยแพร่​ท่ามกลาง​ประชาชน​ที่​รัก​สันติ. เรา​อยู่​ใน​บรุนเนน​นาน​ถึง 14 ปี. ลูก​ชาย​ของ​เรา​เติบโต​ขึ้น​ที่​นั่น.

ปี 1977 เมื่อ​อายุ​ผม​เกือบ 50 เรา​ได้​รับ​เชิญ​เข้า​ไป​รับใช้​ใน​สำนัก​เบเธล​สวิส​ที่​เมือง​ทูน. เรา​ถือ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​โดย​ไม่​นึก​ไม่​ฝัน และ​เรา​ก็​ตอบรับ​คำ​เชิญ​ด้วย​ความ​รู้สึกขอบคุณ​อย่าง​ลึกซึ้ง. ผม​กับ​ภรรยา​รับใช้​ใน​เบเธล​เก้า​ปี เรา​รำลึก​อยู่​เสมอ​ว่า​ช่วง​นี้​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่งยวด​ใน​ชีวิต​คริสเตียน และ​เป็น​พัฒนาการ​ฝ่าย​วิญญาณ​เฉพาะ​ตัว​ของ​เรา. นอก​จาก​นั้น เรา​ชื่นชม​ที่​ได้​ร่วม​ทำ​งาน​ประกาศ​เผยแพร่​กับ​ผู้​ประกาศ​ที่​มี​ภูมิลำเนา​ใน​เมือง​ทูน​และ​พื้น​ที่​ใกล้​เคียง ตลอด​เวลา​เรา​มอง​เห็น​ทิวทัศน์​เทือก​เขา​เบิร์น​ใน​สวิตเซอร์แลนด์​ที่​ปก​คลุม​ด้วย​หิมะ สิ่ง​หนึ่ง​ใน “การ​มหัศจรรย์​ต่าง ๆ” ของ​พระ​ยะโฮวา.—บทเพลง​สรรเสริญ 9:1.

ย้าย​อีก​ครั้ง​หนึ่ง

ถัด​จาก​นั้น ต้น​ปี 1986 เรา​ย้าย​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. เรา​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​ฐานะ​ไพโอเนียร์​พิเศษ​ที่​ประชาคม​บุคส์ ซึ่ง​เป็น​เขต​งาน​กว้าง​ใหญ่​มาก​ทาง​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​สวิตเซอร์แลนด์. เรา​ต้อง​ปรับ​ตัว​อีก​เพื่อ​ให้​ชิน​กับ​วิถี​ชีวิต​ที่​ต่าง​ออก​ไป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โดย​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ว่า​ที่​ไหน​ที่​เรา​สามารถ​ทำ​ประโยชน์​ได้​มาก​ที่​สุด เรา​ยอม​รับ​หน้า​ที่​มอบหมาย​ใหม่​คราว​นี้​และ​เรา​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระองค์. บาง​ครั้ง​ผม​ทำ​หน้า​ที่​แทน​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง โดย​การ​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ และ​ให้​การ​หนุน​ใจ. สิบ​แปด​ปี​ผ่าน​ไป​และ​เรา​มี​ประสบการณ์​ซึ่ง​ยัง​ความ​สุข​มาก​มาย​จาก​งาน​ประกาศ​ใน​ภูมิภาค​แถบ​นี้. ประชาคม​ใน​เมือง​บุคส์​เติบโต​ขึ้น​และ​เรา​ชื่น​ชอบ​การ​ประชุม​ใน​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ที่​สวย​งาม​ซึ่ง​ได้​มี​การ​อุทิศ​เมื่อ​ห้า​ปี​มา​แล้ว.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใฝ่​พระทัย​พวก​เรา​อย่าง​มาก​มาย. เรา​ได้​ใช้​เวลา​ส่วน​ใหญ่​ของ​ชีวิต​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา กระนั้น​เรา​ไม่​เคย​ขาด​สิ่ง​ใด. เรา​ชื่นชม​ยินดี​และ​พึง​พอ​ใจ​ที่​เห็น​ลูก​ชาย​ของ​เรา​พร้อม​กับ​ภรรยา​รวม​ทั้ง​ลูก​สาม​คน​ของ​เขา ทั้ง​ครอบครัว​ของ​หลาน ๆ ต่าง​ดำเนิน​อยู่​ใน​ทาง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์.

เมื่อ​มอง​ย้อน​หลัง ผม​รู้​แน่​แก่​ใจ​ว่า​เรา​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มา​ตลอด “ทั้ง​ใน​ยาม​เอื้ออำนวย​และ​ยาม​ยาก​ลำบาก.” การ​มุ่ง​ติด​ตาม​งาน​รับใช้​ฝ่าย​คริสเตียน​ได้​นำ​ผม​ออก​มา​จาก​คุก​มืด​คอมมิวนิสต์​สู่​เทือก​เขา​แอลป์​ที่​งดงาม​ใน​สวิตเซอร์แลนด์. ผม​กับ​ครอบครัว​ไม่​เคย​นึก​เสียใจ​เลย.

[กรอบ​หน้า 28]

“เหยื่อ​สอง​ต่อ” ยืนหยัด​มั่นคง​เมื่อ​ถูก​กดขี่​ข่มเหง

ภาย​ใต้​ระบอบ​สาธารณรัฐ​ประชาธิปไตย​เยอรมัน (GDR) รู้​จัก​กัน​ทั่ว​ไป​ว่า​เยอรมนี​ตะวัน​ออก พยาน​พระ​ยะโฮวา​ถูก​เพ็ง​เล็ง​เป็น​พิเศษ​ที่​จะ​ถูก​ปราบ​ปราม​อย่าง​โหด​ร้าย. บันทึก​ต่าง ๆ บ่ง​ชี้​ว่า​พยาน​ฯ มาก​กว่า 5,000 คน​ถูก​ส่ง​เข้า​ค่าย​แรงงาน​บังคับ​ให้​ทำ​งาน​หนัก​และ​ใน​ศูนย์​กัก​ขัง​นัก​โทษ​เนื่อง​จาก​งาน​เผยแพร่​ฝ่าย​คริสเตียน​และ​การ​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​ของ​เขา.—ยะซายา 2:4.

มี​การ​พรรณนา​ถึง​บาง​คน​ใน​จำพวก​พยาน​ฯ เหล่า​นี้​ว่า “เหยื่อ​สอง​ต่อ.” พวก​เขา​ประมาณ 325 คน​ถูก​กัก​ขัง​ใน​ค่าย​กัก​กัน​และ​ใน​เรือน​จำ​ของ​พวก​นาซี. ครั้น​แล้ว ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1950 พวก​เขา​ถูก​หน่วย​สตาซี ฝ่าย​ดู​แล​ความ​มั่นคง​ปลอด​ภัย​ของ​รัฐ​แห่ง​สาธารณรัฐ​ประชาธิปไตย​เยอรมัน​ติด​ตาม​ไล่​ล่า​แล้ว​นำ​ตัว​ไป​กัก​ขัง. คุก​บาง​แห่ง​ถูก​พวก​นาซี​และ​เจ้าหน้าที่​หน่วย​สตาซี​ใช้​ให้​ทำ​หน้า​ที่​สอง​ต่อ​ด้วย​ซ้ำ คือ​ถูก​ใช้​เป็น​คุก​นาซี​ก่อน​แล้ว​จาก​นั้น​เป็น​คุก​สตาซี.

ระหว่าง​สิบ​ปี​แรก จาก​ปี 1950 ถึง​ปี 1961 ซึ่ง​การ​กดขี่​ข่มเหง​เป็น​ไป​อย่าง​รุนแรง ยอด​รวม​พยาน​ฯ ทั้ง​ชาย​และ​หญิง 60 คน​จบ​ชีวิต​ใน​คุก​เนื่อง​จาก​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​โหด​ร้าย​ต่อ​นัก​โทษ, ภาวะ​ทุโภชนาการ, การ​เจ็บ​ป่วย, และ​ชราภาพ. พยาน​ฯ สิบ​สอง​คน​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​ตลอด​ชีวิต และ​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ลด​โทษ​จำ​คุก​ให้​เหลือ 15 ปี.

เวลา​นี้ ณ สำนักงาน​กลาง​แห่ง​หน่วย​สตาซี​ครั้ง​อดีต​ที่​เบอร์ลิน​มี​การ​จัด​แสดง​นิทรรศการ​อย่าง​ถาวร​ซึ่ง​เน้น 40 ปี​แห่ง​การ​ข่มเหง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​เยอรมนี​ตะวัน​ออก. รูป​ภาพ​และ​ประวัติ​ส่วน​ตัว​ที่​แสดง​ที่​นั่น​ให้​หลักฐาน​โดย​ปราศจาก​คำ​พูด​ถึง​ความ​กล้า​หาญ​และ​ความ​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เหล่า​พยาน​ฯ ผู้​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ภาย​ใต้​การ​ข่มเหง​ที่​รุนแรง.

[แผนที่​หน้า 24, 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เยอรมนี​ตะวัน​ออก

รูดอลสตัดท์

เบล​ซิก

ทอร์​เกา

เคมนิตซ์

ชวิกเคา

[ภาพ​หน้า 25]

ปราสาท​โอสเทอร์สไตน์​ที่​ชวิกเคา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Fotosammlung des Stadtarchiv Zwickau, Deutschland

[ภาพ​หน้า 26]

กับ​เอริคา ภรรยา​ผม