ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชีวิตที่น่าพอใจ ถึงแม้ปวดร้าว

ชีวิตที่น่าพอใจ ถึงแม้ปวดร้าว

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ชีวิต​ที่​น่า​พอ​ใจ ถึง​แม้​ปวด​ร้าว

เล่า​โดย​ออเดรย์ ไฮด์

เมื่อ​หวน​คิด​ถึง​การ​รับใช้​เต็ม​เวลา​กว่า 63 ปี—59 ปี​ที่​สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา—พูด​ได้​ที​เดียว​ว่า​ฉัน​มี​ชีวิต​ที่​น่า​พอ​ใจ. ตาม​จริง​แล้ว การ​เฝ้า​ดู​สามี​คน​แรก​ตาย​อย่าง​ช้า ๆ ด้วย​โรค​มะเร็ง และ​สามี​คน​ที่​สอง​ก็​ทน​รับ​ผล​กระทบ​อัน​ร้ายกาจ​ของ​โรค​อัลไซเมอร์​นั้น​น่า​หดหู่. แต่​ขอ​เล่า​ให้​คุณ​ฟัง​ว่า​ฉัน​คง​ความ​ยินดี​ได้​อย่าง​ไร​ทั้ง ๆ ที่​มี​ความ​ทุกข์​ลำบาก.

ฉัน​เติบโต​ใน​ฟาร์ม​บน​ทุ่ง​หญ้า​ที่​ราบ​โล่ง​ใกล้​แฮกซ์​ทัน​เมือง​เล็ก ๆ ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​รัฐ​โคโลราโด ใกล้​กับ​เขต​แดน​รัฐ​เนแบรสกา. ฉัน​เป็น​ลูก​คน​ที่​ห้า​ใน​จำนวน​หก​คน​ของ​โอ​รีล​และ​นีนา ม็อค. พี่​ชาย​คือ​รัสเซลล์, เวย์น, พี่​สาว​คือ​คลารา​และ​อาร์ดิส ซึ่ง​เกิด​ใน​ช่วง​ระหว่าง​ปี 1913 ถึง​ปี 1920 และ​ฉัน​เกิด​ใน​ปี​ถัด​มา. เคอร์ติส น้อง​ชาย​เกิด​ปี 1925.

ปี 1913 แม่​ได้​เข้า​มา​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น. ต่อ​มา ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​เรา​ก็​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เช่น​เดียว​กัน.

วิถี​ชีวิต​ใน​ทุ่ง​กว้าง​ก่อ​ประโยชน์

พ่อ​เป็น​คน​หัว​สมัย​ใหม่. สิ่ง​ปลูก​สร้าง​ทุก​หลัง​ใน​ฟาร์ม​ของ​เรา​มี​ดวง​ไฟ​ให้​ความ​สว่าง ซึ่ง​สมัย​นั้น​ไม่​ค่อย​มี​ใช้​กัน. นอก​จาก​นั้น เรา​ได้​ผล​ผลิต​จาก​ฟาร์ม เช่น ได้​ไข่​จาก​แม่​ไก่​ของ​เรา​เอง, และ​น้ำ​นม, หัว​น้ำ​นม, เนย​สด​จาก​แม่​โค​ที่​เรา​เลี้ยง​เอง. เรา​เอา​คัน​ไถ​เทียม​ม้า​ลาก​พลิก​ฟื้น​ดิน​และ​ปลูก​สตรอเบอร์รี​และ​มันฝรั่ง อีก​ทั้ง​ข้าว​สาลี​และ​ข้าว​โพด.

พ่อ​เชื่อ​ว่า​ลูก ๆ ทุก​คน​ควร​รู้​จัก​ทำ​งาน​ให้​เป็น. ฉัน​ได้​รับ​การ​ฝึก​ให้​ทำ​งาน​ใน​ไร่​นา​ก่อน​เข้า​โรง​เรียน​ด้วย​ซ้ำ. ฉัน​จำ​วัน​แดด​จ้า​ใน​ฤดู​ร้อน​ได้ ฉัน​ใช้​จอบ​ถาง​หญ้า​เป็น​แนว​ยาว​ใน​สวนของ​เรา. ‘เรา​จะ​ทำ​ไป​จน​สุด​แนว​ไหม​หนอ?’ ฉัน​สงสัย. เหงื่อ​เปียก​ชุ่ม​ทั้ง​ตัว​แถม​โดน​ผึ้ง​ต่อย. บาง​ครั้ง​ฉัน​สงสาร​ตัว​เอง เพราะ​เด็ก​คน​อื่น ๆ ไม่​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก​เหมือน​พวก​เรา. แต่​จริง ๆ แล้ว เมื่อ​นึก​ย้อน​ไป​สมัย​ฉัน​เป็น​เด็ก ฉัน​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​เรา​ได้​รับ​การ​ฝึก​ให้​ทำ​งาน.

พวก​เรา​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน. อาร์ดิส​รีด​นม​เก่ง​กว่า​ฉัน ฉะนั้น ฉัน​มี​หน้า​ที่​ชำระ​ล้าง​คอก​ม้า ตัก​มูล​สัตว์​ออก​ไป​ทิ้ง. กระนั้น เรา​ก็​มี​เวลา​สนุกสนาน​และ​ได้​เล่น​กีฬา​ด้วย. ฉัน​กับ​อาร์ดิส​เล่น​ซอฟต์บอล​ใน​ทีม​ประจำ​ท้องถิ่น. ฉัน​เป็น​คน​ประจำ​เบส​ที่ 3 ส่วน​อาร์ดิส​ประจำ​เบส​ที่ 1.

ท้องฟ้า​โปร่ง​เหนือ​ทุ่ง​หญ้า​ยาม​ราตรี​นั้น​สวย​เหลือ​เกิน. ดาว​นับ​หมื่น​นับ​แสน​ดวง​เตือน​ใจ​ฉัน​ให้​รำลึก​ถึง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า พระ​ผู้​สร้าง​ของ​ฉัน. แม้​เป็น​เด็ก ฉัน​จะ​นึก​ถึง​บทเพลง​สรรเสริญ 147:4 ที่​อ่าน​ว่า “พระองค์ [ยะโฮวา] ทรง​นับ​ดวง​ดาว; และ​ทรง​ตั้ง​ชื่อ​ให้​ดวง​ดาว​ทั้ง​ปวง.” ตอน​กลางคืน​ยาม​ฟ้า​โปร่ง หลาย​ครั้ง​จัดจ์ สุนัข​ของ​เรา​อยู่​เป็น​เพื่อน มัน​นอน​เอา​หัว​พาด​ตัก​ฉัน. ตอน​บ่าย ๆ ฉัน​มัก​จะ​นั่ง​เล่น​ที่​ระเบียง​และ​เพลิดเพลิน​กับ​การ​มอง​ทุ่ง​ข้าว​สาลี​เขียว​ชอุ่ม​สะบัด​เป็น​คลื่น​พลิ้ว​ไป​ตาม​ลม สะท้อน​แสง​ราว​กับ​สี​เงิน​กลาง​แดด​จ้า.

แม่​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี

แม่​เป็น​ภรรยา​ที่​รัก​และ​เชื่อ​ฟัง​สามี. ส่วน​พ่อ​วาง​ตัว​เป็น​หัวหน้า​ครอบครัว​เสมอ และ​แม่​สอน​พวก​เรา​ให้​เคารพ​พ่อ. ปี 1939 พ่อ​ได้​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เช่น​กัน. พวก​เรา​รู้​ว่า​พ่อ​รัก​เรา แม้​ท่าน​ให้​พวก​เรา​ทำ​งาน​หนัก​และ​ไม่​พะเน้าพะนอ. บ่อย​ครั้ง​ใน​ฤดู​หนาว พ่อ​ผูก​ม้า​สอง​ตัว​เทียม​เลื่อน​ให้​พวก​เรา​นั่ง​และ​ลาก​ไป​บน​พื้น​หิมะ. พวก​เรา​สนุก​เพลิดเพลิน​สัก​เพียง​ไร​ที่​ได้​เห็น​ประกาย​แสง​จาก​หิมะ!

อย่าง​ไร​ก็​ตาม แม่​เป็น​ผู้​ที่​ได้​อบรม​สั่ง​สอน​พวก​เรา​ให้​รัก​พระเจ้า​และ​นับถือ​คัมภีร์​ไบเบิล. พวก​เรา​ได้​เรียน​รู้​ว่า​พระ​นาม​พระเจ้า​คือ​ยะโฮวา​และ​เรียน​รู้​ว่า​พระองค์​เป็น​บ่อ​เกิด​ของ​ชีวิต. (บทเพลง​สรรเสริญ 36:9; 83:18) นอก​จาก​นั้น ยัง​ได้​เรียน​รู้​ว่า​พระองค์​ทรง​วาง​แนว​ทาง​ชี้​นำ​ที่​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เรา​ขาด​ความ​ยินดี แต่​เป็น​คุณประโยชน์​แก่​เรา. (ยะซายา 48:17) แม่​ย้ำ​เตือน​พวก​เรา​เสมอ​ถึง​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​เรา​มี​งาน​พิเศษ​ต้อง​ทำ. เรา​ได้​เรียน​รู้​ว่า​พระ​เยซู​ตรัส​สั่ง​เหล่า​สาวก​ดัง​นี้: “ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​นี้​จะ​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ทั่ว​ทั้ง​แผ่นดิน​โลก​ที่​มี​คน​อาศัย​อยู่ เพื่อ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ทุก​ชาติ; และ​ครั้น​แล้ว​อวสาน​จะ​มา​ถึง.”—มัดธาย 24:14, ล.ม.

สมัย​ฉัน​เป็น​เด็ก เมื่อ​กลับ​จาก​โรง​เรียน​เวลา​ใด​ก็​ตาม หาก​แม่​ไม่​อยู่​ใน​บ้าน ฉัน​ก็​จะ​ออก​ตาม​หา​แม่. คราว​หนึ่ง ตอน​อายุ​ราว ๆ หก​หรือ​เจ็ด​ขวบ ฉัน​เจอ​แม่​อยู่​ที่​โรง​นา. ครั้น​แล้ว ฝน​เริ่ม​ตก​หนัก​มาก. เรา​อยู่​ชั้น​บน​ที่​เก็บ​หญ้า​แห้ง และ​ฉัน​ถาม​แม่​ว่า​พระเจ้า​จะ​ให้​น้ำ​ท่วม​โลก​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​หรือ. แม่​พูด​ให้​ฉัน​มั่น​ใจ​ว่า​พระเจ้า​สัญญา​จะ​ไม่​ทำลาย​แผ่นดิน​โลก​โดย​น้ำ​ท่วม​อีก​เลย. ฉัน​ยัง​จำ​ได้​ว่า​เคย​วิ่ง​หลบ​ภัย​พายุ​ทอร์นาโด​เข้า​ไป​อยู่​ใน​ห้อง​ใต้​ดิน​บ่อย ๆ เนื่อง​จาก​พายุ​ทอร์นาโด​เป็น​เรื่อง​ปกติ.

แม่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​เผยแพร่​ก่อน​ฉัน​เกิด​ด้วย​ซ้ำ. มี​คน​กลุ่ม​หนึ่ง​มา​ประชุม​ที่​บ้าน​ของ​เรา แต่​ละ​คน​มี​ความ​หวัง​จะ​อยู่​กับ​พระ​คริสต์​ใน​สวรรค์. แม้​คุณ​แม่​รู้สึก​ว่า​การ​ออก​ไป​เผยแพร่​ตาม​บ้าน​เป็น​งาน​ท้าทาย ทว่า​ความ​รัก​ที่​แม่​มี​ต่อ​พระเจ้า​ได้​ช่วย​ท่าน​เอา​ชนะ​ความ​กลัว. แม่​ซื่อ​สัตย์​จน​กระทั่ง​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​วัน​ที่ 24 พฤศจิกายน 1969 เมื่อ​อายุ 84 ปี. ฉัน​กระซิบ​ข้าง​หู​แม่​ว่า “แม่​คะ แม่​กำลัง​จะ​ไป​สวรรค์ และ​จะ​อยู่​กับ​คน​ที่​แม่​รู้​จัก​ดี.” ฉัน​สุข​ใจ​เสีย​นี่​กระไร​ที่​ได้​อยู่​ใกล้​แม่ ณ โอกาส​นั้น และ​ให้​แม่​รู้​ว่า​ฉัน​มั่น​ใจ​ใน​ความ​หวัง​นั้น​ด้วย! แม่​พูด​แผ่ว​เบา​ว่า “คน​ดี​ของ​แม่.”

พวก​เรา​เริ่ม​เผยแพร่

ปี 1939 รัสเซลล์​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์ ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา. เขา​ทำ​งาน​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ใน​รัฐ​โอคลาโฮมา​และ​รัฐ​เนแบรสกา​กระทั่ง​ปี 1944 เมื่อ​ถูก​เรียก​ไป​รับใช้ ณ สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา (เบเธล) ใน​บรุกลิน นิวยอร์ก. ส่วน​ฉัน​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์​เมื่อ​วัน​ที่ 20 เดือน​กันยายน 1941 และ​ทำ​งาน​เผยแพร่​ใน​หลาย​ท้อง​ที่​ใน​รัฐ​โคโลราโด, แคนซัส, และ​เนแบรสกา. ช่วง​เวลา​ที่​เป็น​ไพโอเนียร์​นั้น​ฉัน​มี​ความ​สุข​มาก ไม่​เพียง​แต่​เพราะ​ได้​ช่วย​คน​อื่น ๆ ให้​มา​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา แต่​เพราะ​ฉัน​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​หมาย​พึ่ง​พระองค์​อีก​ด้วย.

ประมาณ​เวลา​เดียว​กัน​ที่​รัสเซลล์​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์ เวย์น​เรียน​ที่​มหาวิทยาลัย​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​สหรัฐ หลัง​จาก​ทำ​งาน​อาชีพ​ระยะ​หนึ่ง​พอ​มี​ราย​ได้​ช่วย​ตัว​เอง. ต่อ​มา เขา​ก็​ได้​รับ​คำ​เชิญ​เข้า​เบเธล. เขา​ทำ​งาน 11 ปี​ใน​ฟาร์ม​ของ​สมาคม​ใกล้​เมือง​อิทะกา รัฐ​นิวยอร์ก. ที่​ฟาร์ม​นั้น มี​การ​ปลูก​พืช​ผัก​เป็น​อาหาร​สำหรับ​พวก​ที่​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​ที่​นั่น​ประมาณ​สาม​สิบ​คน และ​สำหรับ​คณะ​ทำ​งาน​ที่​เบเธล​ใน​บรุกลิน​อีก​ประมาณ 200 คน. เวย์น​ใช้​ทักษะ​และ​ประสบการณ์​ของ​ตัว​เอง​ทำ​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​กระทั่ง​สิ้น​ชีวิต​ใน​ปี 1988.

พี่​สาว​ฉัน อาร์ดิส​แต่งงาน​กับ​เจมส์ คาร์น และ​สอง​คน​นี้​มี​บุตร​ชาย​หญิง​ห้า​คน. เธอ​เสีย​ชีวิต​ปี 1997. คลารา พี่​สาว​อีก​คน​หนึ่ง​ยัง​คง​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ตราบ​ทุก​วัน​นี้ และ​ใน​ช่วง​พัก​ร้อน ฉัน​ยัง​คง​แวะ​ไป​เยี่ยม​เธอ​ที่​บ้าน​ใน​รัฐ​โคโลราโด. เคอร์ติส น้อง​ชาย​คน​เล็ก​ของ​เรา​เข้า​มา​ทำ​งาน​ที่​เบเธล​บรุกลิน​ใน​ช่วง​กลาง​ทศวรรษ 1940. เขา​เป็น​คน​ขับ​รถ​บรรทุก​รับ​ส่ง​สิ่ง​ของ​เครื่อง​ใช้​ระหว่าง​ฟาร์ม​กับ​บรุกลิน​รวม​ทั้ง​ผล​ผลิต​ที่​ได้​จาก​ฟาร์ม. เขา​ไม่​เคย​แต่งงาน​และ​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1971.

ความ​ปรารถนา​ของ​ฉัน​คือ​การ​รับใช้​ที่​เบเธล

พวก​พี่​ชาย​เข้า​ทำ​งาน​ที่​เบเธล​ก่อน​ฉัน และ​เป็น​ความ​ปรารถนา​ของ​ฉัน​ที่​จะ​รับใช้​ที่​นั่น​เหมือน​กัน. ฉัน​แน่​ใจ​ว่า​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​พวก​พี่ ๆ เป็น​เหตุ​ผล​ข้อ​หนึ่ง​ที่​ฉัน​ได้​รับ​คำ​เชิญ. การ​ฟัง​แม่​เล่า​ประวัติ​องค์การ​ของ​พระเจ้า และ​เห็น​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​คำ​พยากรณ์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​กับ​สมัย​สุด​ท้าย​ได้​สำเร็จ​เป็น​จริง ล้วน​เป็น​การ​ปลูกฝัง​ความ​ปรารถนา​ไว้​ใน​ตัว ทำ​ให้​ฉัน​อยาก​รับใช้​ที่​เบเธล. ฉัน​อธิษฐาน​และ​ปฏิญาณ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ว่า​หาก​พระองค์​ทรง​ให้​ฉัน​รับใช้​ที่​เบเธล ฉัน​จะ​ไม่​ขอ​ลา​ออก​จาก​เบเธล นอก​เสีย​จาก​ว่า​ฉัน​มี​พันธะ​ที่​ต้อง​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ให้​สำเร็จ​ฐานะ​เป็น​คริสเตียน.

ฉัน​มา​ถึง​เบเธล​เมื่อ​วัน​ที่ 20 มิถุนายน 1945 และ​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​เป็น​แม่บ้าน. แต่​ละ​วัน ฉัน​ต้อง​ทำ​ความ​สะอาด 13 ห้อง​นอน และ​ปู​เตียง 26 เตียง รวม​ถึง​การ​ทำ​ความ​สะอาด​ทาง​เดิน​ใน​ตึก, บันได, และ​หน้าต่าง. งาน​หนัก​เอา​การ. ทุก​วัน​ขณะ​ทำ​งาน ฉัน​บอก​ตัว​เอง​เสมอ​ว่า ‘เรา​เหนื่อย​ก็​จริง แต่​เรา​อยู่​ที่​เบเธล นิเวศ​ของ​พระเจ้า​นะ!’

แต่งงาน​กับ​นาทาน นอรร์

ตั้ง​แต่​ช่วง​ทศวรรษ 1920 สมาชิก​ครอบครัว​เบเธล​ที่​ประสงค์​จะ​แต่งงาน​ก็​ต้อง​ออก​จาก​เบเธล​และ​รับใช้​เพื่อ​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ใน​ที่​อื่น. แต่​พอ​มา​ใน​ต้น​ทศวรรษ 1950 มี​บาง​คู่​ซึ่ง​รับใช้​ที่​เบเธล​ไม่​ต่ำ​กว่า​สิบ​ปี​ได้​รับ​อนุมัติ​ให้​แต่งงาน​ได้​และ​อยู่​ใน​เบเธล​ต่อ​ไป. ดัง​นั้น เมื่อ​นาทาน เอช. นอรร์ ขณะ​นั้น​เป็น​ผู้​นำ​หน้า​กิจกรรม​ราชอาณาจักร​ทั่ว​โลก​แสดง​ความ​สนใจ​ฉัน ฉัน​จึง​คิด​ว่า ‘คน​นี้​จะ​อยู่​ใน​เบเธล​ต่อ​ไป​อย่าง​แน่นอน!’

นาทาน​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​หลาย​อย่าง​ใน​การ​ดู​แล​กิจการ​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก. ดัง​นั้น เขา​จึง​เปิด​เผย​ตรง​ไป​ตรง​มา​กับ​ฉัน​มาก ให้​เหตุ​ผล​ฉัน​หลาย​อย่าง​ที่​ว่า​เหตุ​ใด​ฉัน​ควร​ตรึกตรอง​ให้​ดี​ก่อน​ตก​ลง​รับปาก​จะ​แต่งงาน​กับ​เขา. สมัย​นั้น นาทาน​เดิน​ทาง​เยี่ยม​สาขา​ประเทศ​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก​บ่อย​มาก​และ​บาง​ครั้ง​เป็น​เวลา​หลาย​สัปดาห์. ด้วย​เหตุ​นี้ เขา​จึง​อธิบาย​ว่า​บาง​ช่วง​เรา​คง​จะ​อยู่​ห่าง​กัน​ค่อนข้าง​นาน.

ตอน​ที่​เป็น​เด็ก​สาว​วัยรุ่น ฉัน​วาด​มโนภาพ​วัน​แต่งงาน​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​และ​ดื่ม​น้ำ​ผึ้ง​พระ​จันทร์​บน​เกาะ​ฮาวาย​กลาง​มหาสมุทร​แปซิฟิก. ที่​แท้​แล้ว เรา​แต่งงาน​ใน​ฤดู​หนาว​เมื่อ​วัน​ที่ 31 มกราคม 1953 ใน​นิวยอร์ก​ซึ่ง​อากาศ​หนาว​มาก และ​เรา​ดื่ม​น้ำ​ผึ้ง​พระ​จันทร์​บ่าย​วัน​เสาร์​และ​วัน​อาทิตย์​ที่​นิวเจอร์ซี. พอ​ถึง​วัน​จันทร์​เรา​กลับ​มา​ทำ​งาน​ตาม​เดิม. แต่​หนึ่ง​สัปดาห์​ต่อ​มา เรา​ถึง​ได้​ไป​ดื่ม​น้ำ​ผึ้ง​พระ​จันทร์​นาน​หนึ่ง​สัปดาห์.

เพื่อน​ร่วม​งาน​ที่​ขยัน​ขันแข็ง

นาทาน​อายุ 18 ปี​เมื่อ​เขา​เริ่ม​รับใช้​ที่​เบเธล​ใน​ปี 1923. เขา​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​ที่​เป็น​ประโยชน์​จาก​โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ผู้​มาก​ด้วย​ประสบการณ์ และ​ผู้​นำ​หน้า​ใน​กิจการของ​เหล่า​พยาน​ฯ และ​โรเบิร์ต เจ. มาร์ติน ผู้​จัด​การ​ฝ่าย​การ​พิมพ์. เมื่อ​บราเดอร์​มาร์ติน​สิ้น​ชีวิต​ใน​เดือน​กันยายน 1932 นาทาน​ได้​รับ​เอา​หน้า​ที่​ผู้​จัด​การ​ฝ่าย​การ​พิมพ์​แทน. ปี​ถัด​มา เมื่อ​บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด​เดิน​ทาง​เยี่ยม​สาขา​ประเทศ​ต่าง ๆ ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ยุโรป​ก็​ได้​พา​นาทาน​ไป​ด้วย. ครั้น​บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด​เสีย​ชีวิต​ใน​เดือน​มกราคม 1942 นาทาน​ได้​รับ​เอา​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ดู​แล​กิจการ​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก.

นาทาน​เป็น​คน​หัว​ก้าว​หน้า วาง​แผน​ล่วง​หน้า​เสมอ​สำหรับ​การ​เติบโต​ใน​อนาคต. บาง​คน​คิด​ว่า​การ​เช่น​นี้​ไม่​เหมาะ​สม เนื่อง​จาก​เข้าใจ​กัน​ว่า​อวสาน​ของ​ระบบ​นี้​ใกล้​เข้า​มา​มาก​แล้ว. อัน​ที่​จริง คน​หนึ่ง​ที่​เห็น​ตาราง​กำหนด​งาน​พิมพ์​ของ​นาทาน​ได้​ถาม​ว่า “บราเดอร์​นอรร์ นี่​มัน​อะไร​กัน? คุณ​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​เสีย​แล้ว​หรือ?” นาทาน​ตอบ​ว่า “ผม​มี​ความ​เชื่อ แต่​ถ้า​อวสาน​ไม่​มา​เร็ว​อย่าง​ที่​เรา​คาด​หมาย เรา​ก็​ยัง​พร้อม​จะ​ทำ​งาน.”

นาทาน​มี​แนว​คิด​หนึ่ง​ซึ่ง​เขา​เชื่อ​มั่น​เต็ม​ที่​คือ​การ​ตั้ง​โรง​เรียน​ฝึก​อบรม​มิชชันนารี. ด้วย​เหตุ​นี้ วัน​ที่ 1 กุมภาพันธ์ 1943 โรง​เรียน​มิชชันนารี​จึง​เริ่ม​ขึ้น​ที่​ฟาร์ม​ใหญ่ ซึ่ง​ตอน​นั้น​เวย์น​พี่​ชาย​ของ​ฉัน​รับใช้​อยู่​ที่​นั่น. ถึง​แม้​โรง​เรียน​วาง​หลัก​สูตร​เข้มข้น​สำหรับ​การ​เรียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ประมาณ​ห้า​เดือน ทว่า นาทาน​จะ​คอย​ดู​แล​ให้​นัก​เรียน​มี​นันทนาการ​บ้าง. ช่วง​โรง​เรียน​ปี​แรก ๆ นาทาน​ร่วม​เล่น​ซอฟต์บอล แต่​ภาย​หลัง​ไม่​เล่น เพราะ​เกรง​ว่า​อาจ​ได้​รับ​บาดเจ็บ​แล้ว​จะ​ไม่​ได้​ร่วม​การ​ประชุม​ภาค​ช่วง​ฤดู​ร้อน. เขา​จึง​เลือก​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ผู้​ตัดสิน. พวก​นัก​เรียน​รู้สึก​สนุกสนาน​เมื่อ​นาทาน​ละเมิด​กติกา​โดย​ตัดสิน​เข้า​ข้าง​นัก​เรียน​จาก​ต่าง​ประเทศ.

เดิน​ทาง​กับ​นาทาน

ใน​ที่​สุด ฉัน​ก็​เริ่ม​เดิน​ทาง​ไป​ต่าง​ประเทศ​กับ​นาทาน. ฉัน​ชื่นชม​ประสบการณ์​ที่​อาสา​สมัคร​ของ​สาขา​ประเทศ​ต่าง ๆ นำ​มา​เล่า​สู่​กัน​ฟัง​และ​ที่​ได้​ฟัง​จาก​มิชชันนารี​ใน​ต่าง​แดน. ฉัน​สามารถ​มอง​เห็น​ความ​รัก​และ​การ​เสีย​สละ​ของ​พวก​เขา​ด้วย​ตัว​ฉัน​เอง และ​ได้​เรียน​รู้​กิจวัตร​และ​ความ​เป็น​อยู่​ของ​พวก​เขา​ใน​ประเทศ​ที่​เขา​รับ​มอบหมาย​ไป​ทำ​งาน​ที่​นั่น. ตลอด​เวลา​หลาย​ปี ฉัน​ได้​รับ​จดหมาย​มิ​ได้​ขาด​ซึ่ง​แสดง​ความ​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​การ​เยือน​ของ​เรา.

เมื่อ​มอง​ย้อน​หลัง​คิด​ใคร่ครวญ​การ​เดิน​ทาง​ของ​เรา​ใน​อดีต ฉัน​นึก​ถึง​ประสบการณ์​หลาย​เรื่อง. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​เรา​แวะ​เยือน​ประเทศ​โปแลนด์ พยาน​ฯ หญิง​สอง​คน​กระซุบกระซิบ​กัน​ต่อ​หน้า​ต่อ​ตา​ฉัน. ฉัน​จึง​ถาม​ว่า “ทำไม​คุณ​กระซิบ​กัน?” คน​ทั้ง​สอง​กล่าว​ขอ​โทษ แถม​อธิบาย​ว่า​เขา​กระซิบ​กัน​จน​ชิน​ใน​ช่วง​ที่​มี​การ​สั่ง​ห้าม​กิจกรรม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​โปแลนด์ และ​มี​การ​ติด​เครื่อง​ดัก​ฟัง​ที่​บ้าน​ของ​เขา.

ซิสเตอร์​อาดาห์​เป็น​หนึ่ง​ใน​หลาย​คน​ที่​เคย​ทำ​งาน​ใน​โปแลนด์​ภาย​ใต้​คำ​สั่ง​ห้าม. ผม​เธอ​หยิก​ปรก​หน้าผาก. ครั้ง​หนึ่ง​เธอ​เอา​มือ​ตลบ​ผม​ขึ้น​ให้​ฉัน​ดู​รอย​แผล​ลึก​เนื่อง​จาก​คน​ที่​ข่มเหง​ได้​ทุบ​ศีรษะ​เธอ. ฉัน​ตกใจ​มาก​ที่​เห็น​กับ​ตา​ตัว​เอง​ถึง​ผล​ของ​การ​กระทำ​ที่​โหด​ร้าย​ซึ่ง​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ของ​เรา​ต้อง​ประสบ.

รอง​จาก​เบเธล​ฉัน​ชอบ​ฮาวาย. ฉัน​จำ​การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​เมือง​ฮีโล​ปี 1957 ได้​ดี. มัน​มี​ความหมาย​พิเศษ​ซึ่ง​จะ​ลืม​เสีย​มิ​ได้ และ​จำนวน​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​มี​มาก​เกิน​จำนวน​รวม​ของ​พยาน​ฯ ใน​ท้องถิ่น. นายก​เทศมนตรี​ถึง​กับ​ได้​มอบ​กุญแจ​เมือง​แก่​นาทาน. หลาย​คน​เข้า​มา​ทักทาย​ต้อนรับ​และ​มอบ​พวงมาลัย​ให้​เรา.

การ​ประชุม​ใหญ่​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​คือ​ที่​นคร​นือเรมแบร์ก เยอรมนี ใน​ปี 1955 จัด​ขึ้น ณ ที่​ฮิตเลอร์​เคย​ใช้​เป็น​ที่​ตรวจ​พล​ดู​การ​สวน​สนาม. เป็น​ที่​ทราบ​กัน​ทั่ว​ไป​ว่า​ฮิตเลอร์​ได้​ปฏิญาณ​ไว้​ว่า​จะ​กำจัด​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ให้​หมด​ไป​จาก​เยอรมนี แต่​บัด​นี้​กลับ​มี​พยาน​พระ​ยะโฮวาอยู่​เต็ม​สนาม! ฉัน​ไม่​สามารถ​กลั้น​น้ำตา​ไว้​ได้. เวที​กว้าง​มาก​และ​มี​เสา​หิน​มหึมา 144 ต้น​ประกอบ​กัน​เป็น​ฉาก​หลัง​ที่​น่า​ทึ่ง. ฉัน​อยู่​บน​เวที​และ​สามารถ​มอง​เห็น​ฝูง​ชน​มหาศาล​กว่า 107,000 คน. ที่​นั่ง​ด้าน​หลัง​ไกล​ออก​ไป​มาก​จน​ฉัน​แทบ​มอง​ไม่​เห็น​แถว​สุด​ท้าย.

เรา​สามารถ​รับ​รู้​ถึง​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​พี่​น้อง​ชาว​เยอรมัน​และ​ความ​เข้มแข็ง​ที่​เขา​ได้​จาก​พระ​ยะโฮวา​ระหว่าง​การ​ข่มเหง​ภาย​ใต้​ระบอบ​นาซี. ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​พี่​น้อง​ช่วย​เสริม​การ​ตัดสิน​ใจ​แน่วแน่​ของ​เรา​ที่​จะ​ภักดี​และ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. นาทาน​ได้​บรรยาย​ปิด​การ​ประชุม​และ​เมื่อ​จบ​การ​บรรยาย​เขา​โบก​มือ​อำลา​หมู่​ผู้​ฟัง. พวก​เขา​โบก​ผ้า​เช็ด​หน้า​ตอบรับ​การ​อำลา​ทันที. มอง​ดู​คล้าย​ทุ่ง​ดอกไม้​ที่​งดงาม.

อีก​อย่าง​หนึ่ง​ซึ่ง​จะ​ลืม​เสีย​ไม่​ได้ คือ​การ​เยือน​โปรตุเกส​ใน​เดือน​ธันวาคม 1974. เรา​อยู่​ใน​หมู่​ผู้​ฟัง ณ การ​ประชุม​ของ​เหล่า​พยาน​ฯ ครั้ง​แรก​ใน​กรุง​ลิสบอน หลัง​จาก​งาน​ประกาศ​ของ​เรา​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ตาม​กฎหมาย. งาน​ของ​เรา​ถูก​สั่ง​ห้าม​นาน​ถึง 50 ปี! แม้​ตอน​นั้น​ใน​โปรตุเกส​มี​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​เพียง 14,000 คน กระนั้น การ​จัด​ประชุม​ทั้ง​สอง​แห่ง​มี​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​มาก​กว่า 46,000 คน. ฉัน​ถึง​กับ​น้ำตา​ซึม​เมื่อ​พี่​น้อง​พูด​ว่า “พวก​เรา​ไม่​ต้อง​แอบ​ประชุม​กัน​อีก​ต่อ​ไป. เรา​มี​อิสระ​แล้ว.”

จาก​สมัย​ที่​ฉัน​เคย​เดิน​ทาง​ร่วม​กับ​นาทาน​ตราบ​ทุก​วัน​นี้ ฉัน​ชอบ​การ​ให้​คำ​พยาน​อย่าง​ไม่​เป็น​ทาง​การ อาทิ บน​เครื่องบิน, ใน​ร้าน​อาหาร, และ​ข้าง​ทาง​สัญจร. ฉัน​มัก​จะ​มี​สรรพหนังสือ​ติด​ตัว เพื่อ​เตรียม​พร้อม​ให้​คำ​พยาน​เสมอ. ครั้ง​หนึ่ง​เมื่อ​เรา​รอ​เครื่องบิน​ที่​ล่า​ช้า สตรี​คน​หนึ่ง​ถาม​ฉัน​ทำ​งาน​ที่​ไหน. จาก​จุด​นั้น​นำ​สู่​การ​สนทนา​กับ​เธอ​และ​คน​ที่​นั่ง​อยู่​ใกล้ ๆ และ​ได้​ยิน​การ​สนทนา. งาน​รับใช้​ที่​เบเธล​และ​กิจกรรม​การ​ประกาศ​ทำ​ให้​ฉัน​ไม่​มี​เวลา​ว่าง​และ​รู้สึก​สบาย​ใจ.

การ​เจ็บ​ป่วย​และ​การ​หนุน​ใจ​ยาม​จาก​ไป

ปี 1976 นาทาน​ล้ม​ป่วย​ด้วย​โรค​มะเร็ง ฉัน​พร้อม​ทั้ง​สมาชิก​ครอบครัว​เบเธล​ต่าง​ก็​ช่วย​เขา​รับมือ​โรค​ร้าย​นี้. แม้​ว่า​อาการ​เขา​ทรุด​หนัก เรา​ก็​ได้​เชิญ​สมาชิก​จาก​สำนักงาน​สาขา​ทั่ว​โลก​เข้า​มา​เยี่ยม​ที่​ห้อง ซึ่ง​เวลา​นั้น​เข้า​มา​รับ​การ​ฝึก​อบรม​ใน​บรุกลิน. ฉัน​จำ​การ​เยี่ยม​ของ​ดอน​กับ​เอีย​ลิน ส​ตี​ล, ลอยด์​กับ​เมลบา แบร์รี, ดักลาส​กับ​แมรี เกสต์, มาร์ติน​กับ​เกอร์ทรูด เพิทซิงเกอร์, ไพรซ์ ฮิวส์, และ​อีก​หลาย​คน. คน​เหล่า​นี้​มัก​จะ​เล่า​ประสบการณ์​ต่าง ๆ จาก​ประเทศ​ที่​พวก​เขา​ประจำ​อยู่​ให้​พวก​เรา​ฟัง. โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ฉัน​รู้สึก​ประทับใจ​ประสบการณ์​ที่​เกี่ยว​กับ​ความ​มั่นคง​แน่วแน่​ของ​พี่​น้อง​ระหว่าง​ที่​งาน​ถูก​สั่ง​ห้าม.

เมื่อ​นาทาน​รู้​ว่า​ความ​ตาย​คืบ​ใกล้​เข้า​มา​ทุก​ที เขา​ให้​คำ​แนะ​นำ​ดี ๆ บาง​อย่าง​เพื่อ​ฉัน​จะ​รับมือ​กับ​การ​เป็น​ม่าย​ได้. เขา​พูด​ว่า “ใน​ชีวิต​สมรส เรา​มี​ความ​สุข. หลาย​คน​ไม่​เคย​ประสบ​แบบ​นี้.” สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​สุข​ใน​ชีวิต​สมรส​คือ​นาทาน​เป็น​คน​รอบคอบ คิด​ถึง​คน​อื่น. ยก​ตัว​อย่าง เมื่อ​เรา​เจอ​ผู้​คน​หลาก​หลาย​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง นาทาน​จะ​พูด​กับ​ฉัน​ว่า “ออเดรย์, ถ้า​บาง​ครั้ง​ผม​ไม่​ได้​แนะ​นำ​เขา​ให้​รู้​จัก​คุณ เพราะ​ผม​จำ​ชื่อ​เขา​ไม่​ได้.” ฉัน​ดีใจ​ที่​เขา​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า.

นาทาน​เตือน​ใจ​ฉัน​ว่า “ภาย​หลัง​การ​ตาย ความ​หวัง​ของ​เรา​แน่นอน และ​เรา​จะ​ไม่​ต้อง​ทน​ทุกข์​อีก.” แล้ว​เขา​กระตุ้น​เตือน​ฉัน​ดัง​นี้: “มอง​ไป​ข้าง​หน้า เพราะ​คุณ​จะ​รับ​บำเหน็จ​ใน​อนาคต. อย่า​จม​อยู่​กับ​อดีต—แม้​ว่า​ความ​ทรง​จำ​ของ​คุณ​จะ​ยัง​คง​มี​อยู่. กาล​เวลา​จะ​ช่วย​เยียว​ยา. อย่า​รู้สึก​ขมขื่น​และ​เวทนา​ตัว​เอง. จง​ชื่น​ใจ​ยินดี​ที่​คุณ​มี​ความ​สุข​สนุกสนาน​และ​พระ​พร​นานา​ประการ. ต่อ​ไป​อีก​สัก​ระยะ​หนึ่ง​คุณ​จะ​พบ​ว่า​ความ​ทรง​จำ​ทำ​ให้​คุณ​ชื่นชม​ยินดี. ความ​ทรง​จำ​คือ​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า.” เขา​เสริม​อีก​ว่า “จง​ยุ่ง​อยู่​กับ​งาน ใช้​ชีวิต​ทำ​ประโยชน์​แก่​ผู้​อื่น. นี่​แหละ​จะ​ช่วย​คุณ​ประสบ​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ใน​ชีวิต.” ใน​ที่​สุด พอ​วัน​ที่ 8 มิถุนายน 1977 นาทาน​ก็​ลับ​ไป​จาก​ฉาก​ทาง​แผ่นดิน​โลก.

สมรส​กับ​เกล็นน์ ไฮด์

นาทาน​เคย​บอก​ว่า​ฉัน​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​กับ​ความ​ทรง​จำ​ใน​อดีต หรือ​อาจ​สร้าง​ชีวิต​ใหม่​ก็​ได้. ดัง​นั้น ใน​ปี 1978 หลังจาก​ย้าย​ไป​ทำ​งาน​ที่​ฟาร์ม​ว็อชเทาเวอร์​ใน​วอลล์คิลล์ รัฐ​นิวยอร์ก ฉัน​ได้​แต่งงาน​กับ​เกล็นน์ ไฮด์ เขา​เป็น​ชาย​หน้า​ตา​ดี, นิสัย​เงียบ​ขรึม, และ​สุภาพ​อ่อนโยน. ก่อน​เป็น​พยาน​ฯ เขา​รับ​ราชการ​ใน​กองทัพ​เรือ​สมัย​สหรัฐ​ประกาศ​สงคราม​กับ​ญี่ปุ่น.

เกล็นน์​เคย​ประจำการ​บน​เรือ​ตอร์ปิโด​ขนาด​เล็ก​และ​มี​หน้า​ที่​ควบคุม​เครื่อง​ยนต์. เนื่อง​จาก​เสียง​ดัง​ของ​เครื่อง​ยนต์ ความ​สามารถ​ใน​การ​ได้​ยิน​จึง​ถูก​ทำลาย​ไป​บาง​ส่วน. หลัง​สงคราม เขา​หัน​ไป​ทำ​งาน​เป็น​เจ้าหน้าที่​ดับ​เพลิง. เนื่อง​จาก​ประสบการณ์​สมัย​สงคราม เขา​ฝัน​ร้าย​อยู่​นาน​หลาย​ปี. เขา​เรียน​รู้​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​เลขานุการ​ซึ่ง​ให้​คำ​พยาน​แก่​เขา​อย่าง​ไม่​เป็น​ทาง​การ.

ต่อ​มา ใน​ปี 1968 เกล็นน์​ได้​รับ​เชิญ​มา​ทำ​งาน​ที่​แผนก​ดับ​เพลิง​เบเธล​บรุกลิน. ครั้น​แล้ว เมื่อ​ฟาร์ม​ว็อชเทาเวอร์​ซื้อ​รถ​ดับ​เพลิง​ไว้​ใช้​เอง เขา​จึง​ถูก​ย้าย​ไป​ที่​นั่น​ใน​ปี 1975. ต่อ​มา​เขา​ล้ม​ป่วย​ด้วย​โรค​สมอง​ฝ่อ. หลัง​จาก​สิบ​ปี​ของ​ชีวิต​สมรส เกล็นน์​ก็​เสีย​ชีวิต.

ฉัน​จะ​รับมือ​อย่าง​ไร? สติ​ปัญญา​ที่​นาทาน​ให้​ฉัน​เมื่อ​เขา​รู้​ตัว​ว่า​ใกล้​จะ​ตาย​กลาย​เป็น​คำ​ปลอบโยน​ฉัน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. ฉัน​มัก​จะ​เอา​ข้อ​ความ​เรื่อง​การ​จัด​การ​กับ​ภาวะ​เป็น​ม่าย​ที่​นาทาน​เขียน​มอบ​ให้​ฉัน​ขึ้น​มา​อ่าน​เสมอ. ฉัน​ยัง​ให้​ข้อ​คิด​เหล่า​นั้น​แก่​บุคคล​ที่​เพิ่ง​สูญ​เสีย​คู่​ครอง และ​พวก​เขา​ต่าง​ได้​รับ​การ​ปลอบ​ประโลม​โดย​คำ​แนะ​นำ​ของ​นาทาน​เช่น​กัน. แน่นอน นับ​ว่า​เป็น​คุณประโยชน์​ที่​จะ​มอง​ไป​ข้าง​หน้า​อย่าง​ที่​เขา​สนับสนุน​ให้​ฉัน​ทำ.

ภราดรภาพ​ที่​ดี​เลิศ

สิ่ง​ที่​เติม​ชีวิต​ฉัน​ให้​มี​ความ​สุข​น่า​พอ​ใจ​ได้​แก่​มิตร​สหาย​ที่​รัก โดย​เฉพาะ​ใน​ครอบครัว​เบเธล. คน​หนึ่ง​เป็น​พิเศษ​คือ​เอสเทอร์ โลเปซ เธอ​จบ​หลัก​สูตร​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด​รุ่น​ที่​สาม​ใน​ปี 1944. เธอ​หวน​กลับ​สู่​บรุกลิน​ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ 1950 เพื่อ​ปฏิบัติ​งาน​ฐานะ​ผู้​แปล​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​สเปน. บ่อย​ครั้ง​เมื่อ​นาทาน​ต้อง​เดิน​ทาง​ไป​ไกล เอสเทอร์​ก็​เข้า​มา​เป็น​เพื่อน​คน​สนิท​ของ​ฉัน. เธอ​อยู่​ที่​ว็อชเทาเวอร์​ฟาร์ม​เหมือน​กัน. ปัจจุบัน​อายุ 90 เศษ สุขภาพ​ไม่​แข็งแรง และ​รับ​การ​ดู​แล​ใน​ห้อง​พยาบาล​ของ​เรา.

ว่า​กัน​ถึง​พี่ ๆ น้อง​ใน​ครอบครัว​ฉัน รัสเซลล์​และ​คลารา​เท่า​นั้น​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่. รัสเซลล์​อายุ 90 กว่า​และ​ยัง​รับใช้​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​อยู่​ที่​เบเธล​บรุกลิน. เขา​เป็น​หนึ่ง​ใน​จำนวน​ผู้​ได้​รับ​อนุมัติ​ให้​อยู่​ใน​เบเธล​ภาย​หลัง​แต่งงาน. เขา​แต่งงาน​ปี 1952 กับ​จีน ลาร์สัน​เพื่อน​ร่วม​งาน​ที่​เบเธล. แมกซ์ น้อง​ชาย​จีน​เข้า​มา​อยู่​ใน​เบเธล​ปี 1939 และ​รับ​ช่วง​งาน​ดู​แล​ฝ่าย​การ​พิมพ์​ต่อ​จาก​นาทาน​เมื่อ​ปี 1942. แมกซ์ ปฏิบัติ​ภารกิจ​ซึ่ง​ต้อง​รับผิดชอบ​อย่าง​มาก​ที่​เบเธล​ต่อ​ไป รวม​ทั้ง​การ​ช่วย​ดู​แล​เฮเลน​ภรรยา​ที่​รัก​ซึ่ง​รับมือ​กับ​โรค​ปลอก​ประสาท​เสื่อม​แข็ง​ด้วย.

เมื่อ​มอง​ย้อน​หลัง​ไป​นาน​กว่า 63 ปี​ที่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​เวลา ฉัน​สามารถ​กล่าว​ได้​ว่า​ชีวิต​ของ​ฉัน​เป็น​ชีวิต​ที่​น่า​พอ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง. เบเธล​กลาย​เป็น​บ้าน​ของ​ฉัน และ​ฉัน​ยัง​คง​รับใช้​ที่​นี่​ต่อ ๆ ไป​ด้วย​ความ​ปีติ​ยินดี. คำ​สรรเสริญ​ตก​อยู่​กับ​พ่อ​แม่​ที่​ท่าน​ได้​อบรม​บ่ม​นิสัย​พวก​เรา​ให้​รัก​การ​ทำ​งาน​ที่​ดี​และ​ความ​ปรารถนา​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา. แต่​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ชีวิต​น่า​พอ​ใจ​จริง ๆ คือ​ภราดรภาพ​อัน​แสน​วิเศษ​และ​ความ​หวัง​จะ​ดำรง​ชีวิต​ร่วม​กับ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ของ​เรา​บน​แผ่นดิน​โลก​ที่​เป็น​อุทยาน รับใช้​พระ​ยะโฮวา​พระ​ผู้​สร้าง​องค์​ใหญ่​ยิ่ง พระเจ้า​เที่ยง​แท้​พระองค์​เดียว​ตลอด​ชั่ว​กาล​นาน.

[ภาพ​หน้า 24]

พ่อ​กับ​แม่​ใน​วัน​แต่งงาน มิถุนายน 1912

[ภาพ​หน้า 24]

จาก​ซ้าย​ไป​ขวา: รัสเซลล์, เวย์น, คลารา, อาร์ดิส, ฉัน, และ​เคอร์ติส ใน​ปี 1927

[ภาพ​หน้า 25]

ฉัน​ยืน​ระหว่าง​ฟรังเซส​และ​บาร์บารา แมคนอทต์ ช่วง​ทำ​งาน​เป็น​ไพโอเนียร์​ใน​ปี 1944

[ภาพ​หน้า 25]

ที่​เบเธล ปี 1951. จาก​ซ้าย​ไป​ขวา: ฉัน, เอสเทอร์ โลเปซ, และ​จีน พี่​สะใภ้

[ภาพ​หน้า 26]

กับ​นาทาน​และ​พ่อ​แม่​ของ​เขา

[ภาพ​หน้า 26]

กับ​นาทาน ปี 1955

[ภาพ​หน้า 27]

กับ​นาทาน​ที่​ฮาวาย

[ภาพ​หน้า 29]

กับ​เกล็นน์ สามี​คน​ที่​สอง