ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘พวกเขาได้แล่นเรือไปยังเกาะไซปรัส’

‘พวกเขาได้แล่นเรือไปยังเกาะไซปรัส’

‘พวก​เขา​ได้​แล่น​เรือ​ไป​ยัง​เกาะ​ไซปรัส’

ด้วย​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว พระ​ธรรม​กิจการ​เริ่ม​ต้น​เรื่อง​ราว​ด้วย​ประสบการณ์​ของ​เปาโล, บาระนาบา, และ​โยฮัน​มาระโก ซึ่ง​เป็น​เหล่า​มิชชันนารี​คริสเตียน เมื่อ​พวก​เขา​แวะ​เยี่ยม​ที่​เกาะ​กุบโร​หรือ​ไซปรัส​ประมาณ​ปี ส.ศ. 47. (กิจการ 13:4) ใน​ตอน​นั้น เช่น​เดียว​กับ​ใน​ปัจจุบัน ไซปรัส​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​แถบ​เมดิเตอร์เรเนียน​ทาง​ตะวัน​ออก.

ชาว​โรมัน​อยาก​ได้​เกาะ​นี้ และ​ไซปรัส​ได้​มา​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​ชาว​โรมัน​ใน​ปี 58 ก่อน ส.ศ. ก่อน​หน้า​นั้น ไซปรัส​มี​ประวัติ​อัน​เต็ม​ไป​ด้วย​เหตุ​การณ์​สำคัญ ๆ. ไซปรัส​ถูก​ยึด​ครอง​โดย​ชาว​ฟินิเซีย, ชาว​กรีก, ชาว​อัสซีเรีย, ชาว​เปอร์เซีย, และ​ชาว​อียิปต์. พวก​นับ​รบ​ครูเสด, ชาว​แฟรงก์, และ​ชาว​เวนิซ​ได้​เข้า​ยึด​ครอง​ใน​ช่วง​ยุค​กลาง ตาม​ด้วย​ชาว​ออตโตมาน. ใน​ปี 1914 ชาว​บริเตน​ได้​ยึด​เกาะ​นี้​และ​ปกครอง​จน​กระทั่ง​ไซปรัส​ได้​รับ​เอกราช​ใน​ปี 1960.

การ​ท่อง​เที่ยว​เป็น​แหล่ง​ราย​ได้​หลัก​ใน​ปัจจุบัน แต่​ใน​สมัย​ของ​เปาโล ไซปรัส​อุดม​ไป​ด้วย​ทรัพยากร​ธรรมชาติ ซึ่ง​ชาว​โรมัน​ฉวย​ประโยชน์​ไป​บำรุง​คลัง​ของ​โรม. มี​การ​ค้น​พบ​แร่​ทองแดง​ใน​ประวัติ​ช่วง​แรก ๆ ของ​เกาะ​นี้ และ​มี​การ​คาด​คะเน​ว่า พอ​ถึง​ปลาย​ยุค​โรมัน ได้​มี​การ​ถลุง​แร่​ทองแดง​ถึง 250,000 ตัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม อุตสาหกรรม​แร่​ทองแดง​ได้​ผลาญ​ป่า​ไม้​หนา​ทึบ​จำนวน​มาก​เพื่อ​วัตถุ​ประสงค์​ใน​การ​ถลุงแร่. ป่า​ไม้​จำนวน​มาก​บน​เกาะ​ได้​สูญ​ไป​แล้ว​ใน​ตอน​ที่​เปาโล​มา​ถึง.

ไซปรัส​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​โรม

ตาม​ที่​สารานุกรม​บริแทนนิกา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว จูเลียส ซีซาร์​และ​หลัง​จาก​นั้น​มาร์ก แอนโทนี ได้​มอบ​ไซปรัส​แก่​อียิปต์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​เอากุสตุส ไซปรัส​ได้​กลับ​ไป​เป็น​ของ​โรม​และ​ผู้​สำเร็จ​ราชการ ซึ่ง​รับผิดชอบ​โดย​ตรง​ต่อ​โรม ได้​ปกครอง​ไซปรัส เป็น​ดัง​ที่​ลูกา ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​กิจการ ได้​บันทึก​ไว้​อย่าง​แม่นยำ. เซระเฆียว​เปาโล​เป็น​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​เมื่อ​เปาโล​ไป​ประกาศ​ที่​นั่น.—กิจการ 13:7.

พักซ์ โรมานา สันติภาพ​นานา​ชาติ​ที่​โรม​บังคับ​ใช้ ได้​สนับสนุน​การ​ขยาย​เหมือง​แร่​และ​อุตสาหกรรม​ใน​ไซปรัส ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เฟื่องฟู​ทาง​การ​ค้า. ราย​ได้​เสริม​ได้​มา​จาก​กอง​ทหาร​โรมัน​ซึ่ง​อยู่​ที่​นั่น​และ​จาก​ผู้​แสวง​บุญ​ที่​รวม​กลุ่ม​กัน​เพื่อ​นมัสการ​อัฟโรดิเต เทพ​ธิดา​ผู้​พิทักษ์​เกาะ. ผล​ก็​คือ มี​การ​สร้าง​ถนน​ใหม่, ท่า​เรือ​ใหม่, และ​อาคาร​สาธารณะ​อัน​หรูหรา. ภาษา​กรีก​ยัง​คง​ใช้​เป็น​ภาษา​ราชการ และ​มี​การ​นมัสการ​อัฟโรดิเต, อะพอลโล, และ​ซูส​อย่าง​กว้างขวาง พร้อม​กับ​การ​นมัสการ​จักรพรรดิ​โรมัน. ประชาชน​ชื่นชม​กับ​ความ​เจริญ​รุ่งเรือง รวม​ทั้ง​เพลิดเพลิน​กับ​ชีวิต​สังคม​และ​วัฒนธรรม​ที่​หลาก​หลาย.

นี่​เป็น​สภาพ​แวด​ล้อม​ซึ่ง​เปาโล​ประสบ​ขณะ​ที่​ท่าน​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​ไซปรัส​และ​สอน​ประชาชน​เรื่อง​พระ​คริสต์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​การ​นำ​ศาสนา​คริสเตียน​เข้า​ไป​ใน​ไซปรัส​ก่อน​ที่​เปาโล​มา​ถึง​ที่​นั่น. บันทึก​ใน​พระ​ธรรม​กิจการ​บอก​เรา​ว่า หลัง​จาก​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ซะเตฟาโน คริสเตียน​คน​แรก​ซึ่ง​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ คริสเตียน​บาง​คน​ใน​ยุค​แรก​ได้​หนี​ไป​ยัง​ไซปรัส. (กิจการ 11:19) บาระนาบา เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​เปาโล เป็น​ชาว​ไซปรัส และ​เพราะ​คุ้น​เคย​กับ​เกาะ​นี้​เป็น​อย่าง​ดี ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า ท่าน​เป็น​คน​นำ​ทาง​ที่​ดี​เยี่ยม​แก่​เปาโล​ใน​การ​เดิน​ทาง​เผยแพร่​ครั้ง​นี้.—กิจการ 4:36; 13:2.

ย้อน​รอย​การ​เดิน​ทาง​ของ​เปาโล

ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​ให้​ภาพ​อย่าง​ละเอียด​อีก​ครั้ง​เกี่ยว​กับ​การ​เดิน​ทาง​ของ​เปาโล​ใน​ไซปรัส. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นัก​โบราณคดี​มี​ความ​คิด​ที่​แจ่ม​ชัด​ที​เดียว​เกี่ยว​กับ​ระบบ​ถนน​ที่​ยอด​เยี่ยม​ใน​สมัย​โรมัน. เนื่อง​จาก​ภูมิ​ประเทศ​ของ​เกาะ ตาม​ธรรมดา​แล้ว แม้​แต่​ทาง​หลวง​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ก็​ต้อง​ใช้​เส้น​ทาง​เดิม​ซึ่ง​เหล่า​มิชชันนารี​ยุค​แรก​อาจ​เคย​ได้​ใช้.

เปาโล, บาระนาบา, และ​โยฮัน​มาระโก​ได้​แล่น​เรือ​จาก​เซลูเซีย (ซิลิเซีย) ไป​ยัง​ท่า​เรือ​ซะลามิ (ซาลามิส). เหตุ​ใด​จึง​แล่น​เรือ​ไป​ยัง​ซาลามิส ใน​เมื่อ​เมือง​หลวง​และ​เมือง​ท่า​สำคัญ​คือ​ปาโฟ (ปาโฟส)? เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ ซาลามิส​ตั้ง​อยู่​บน​ชายฝั่ง​ตะวัน​ออก เพียง 200 กิโลเมตร​จาก​ซิลิเซีย​ซึ่ง​อยู่​บน​แผ่นดิน​ใหญ่. แม้​ว่า​พวก​โรมัน​ตั้ง​ปาโฟส​เป็น​เมือง​หลวง​แทน​ซาลามิส แต่​ซาลามิส​ก็​ยัง​คง​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​เกาะ​ใน​ด้าน​วัฒนธรรม, การ​ศึกษา, และ​การ​ค้า. ซาลามิส​มี​ชุมชน​ชาว​ยิว​กลุ่ม​ใหญ่ และ​เหล่า​มิชชันนารี​เริ่ม “ประกาศ​คำ​ของ​พระเจ้า​ใน​ธรรมศาลา​ของ​พวก​ยูดาย.”—กิจการ 13:5.

ทุก​วัน​นี้ สิ่ง​ที่​หลง​เหลือ​จาก​ซาลามิส​คือ​ซาก​ปรัก​หัก​พัง. กระนั้น การ​ค้น​พบ​ทาง​โบราณคดี​ให้​หลักฐาน​ถึง​ชื่อเสียง​และ​ความ​มั่งคั่ง​ใน​อดีต​ของ​เมือง​นี้. ตลาด​ซึ่ง​เป็น​ศูนย์กลาง​ทาง​การ​เมือง​และ​กิจกรรม​ทาง​ศาสนา อาจ​จะ​เป็น​ตลาด​โรมัน​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​ขุด​ค้น​พบ​ใน​แถบ​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน. ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​ซาลามิส ซึ่ง​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​สมัย​ของ​ซีซาร์​เอากุสตุส ได้​แสดง​ให้​เห็น​พื้น​โมเสก​ที่​ออก​แบบ​อย่าง​ประณีต, โรง​พลศึกษา, ระบบ​โรง​อาบ​น้ำ​อัน​ยอด​เยี่ยม, สนาม​กีฬา​และ​โรง​มหรสพ, หลุม​ฝัง​ศพ​อัน​งดงาม, และ​โรง​ละคร​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​มี​ที่​นั่ง 15,000 ที่! ใกล้ ๆ กัน​นั้น​เป็น​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​วิหาร​อัน​สง่า​งาม​ของ​ซูส.

อย่าง​ไร​ก็​ดี ซูส​ไม่​สามารถ​ปก​ป้อง​เมือง​จาก​การ​ถูก​ทำลาย​ด้วย​แผ่นดิน​ไหว. แผ่นดิน​ไหว​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ปี 15 ก่อน ส.ศ. ได้​ทำลาย​เมือง​ซาลามิส​เกือบ​ทั้ง​หมด แม้​ภาย​หลัง​เอากุสตุส​ได้​สร้าง​เมือง​นี้​ขึ้น​ใหม่. แผ่นดิน​ไหว​ได้​ทำลาย​ซาลามิส​อีก​ใน​ปี ส.ศ. 77 และ​มี​การ​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​อีก​ครั้ง. ใน​ศตวรรษ​ที่​สี่ ซาลามิส​ถูก​ทำลาย​ด้วย​แผ่นดิน​ไหว​ติด​ต่อ​กัน​หลาย​ครั้ง และ​เมือง​นี้​จึง​ไม่​ได้​รับ​ความ​รุ่ง​โรจน์​อีก​ดัง​เช่น​ใน​อดีต. พอ​ถึง​ยุค​กลาง ท่า​เรือ​ของ​เมือง​นี้​ก็​เกิด​ตื้น​เขิน​และ​จึง​ได้​เลิก​ใช้.

ประชาชน​ใน​เมือง​ซาลามิส​ตอบรับ​การ​ประกาศ​ของ​เปาโล​อย่าง​ไร​นั้น​ไม่​ได้​มี​การ​บอก​ไว้. แต่​เปาโล​ก็​ต้อง​ประกาศ​แก่​ชุมชน​อื่น​ด้วย​เช่น​กัน. เมื่อ​ออก​จาก​ซาลามิส เหล่า​มิชชันนารี​มี​ทาง​เลือก​สาม​เส้น​ทาง​หลัก​คือ เส้น​ทาง​แรก​ไป​ทาง​ชายฝั่ง​ตอน​เหนือ เดิน​ข้าม​เทือก​เขา​คิรีเนีย; อีก​เส้น​ทาง​หนึ่ง​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​ข้าม​ที่​ราบ​เม​เซา​รี​อา​ผ่าน​ส่วน​หลัก​ของ​เกาะ; และ​เส้น​ทาง​ที่​สาม​ไป​ตาม​ชายฝั่ง​ตอน​ใต้.

ตาม​ที่​เล่า​สืบ​กัน​มา เปาโล​ได้​ไป​ตาม​เส้น​ทาง​ที่​สาม. เส้น​ทาง​นี้​ผ่าน​ไร่​นา​อัน​อุดม​สมบูรณ์​ซึ่ง​มี​ดิน​สี​แดง​เป็น​ลักษณะ​พิเศษ. เส้น​ทาง​นี้​เฉียด​เข้า​ใกล้​เมือง​ลาร์​นา​คา​ประมาณ 50 กิโลเมตร​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้ ก่อน​จะ​หัก​เลี้ยว​ขึ้น​เหนือ​ไป​ทาง​ใจ​กลาง​เกาะ.

“ตลอด​เกาะ​นั้น”

ไม่​นาน ทาง​หลวง​ก็​ไป​ถึง​เมือง​ลีดรา​โบราณ. ทุก​วัน​นี้ เมือง​หลวง​ยุค​ปัจจุบัน​คือ​นิโคเซีย​ตั้ง​อยู่​บน​ตำแหน่ง​นี้. หลักฐาน​ใด ๆ ของ​อาณาจักร​เมือง​โบราณ​นี้​ได้​สูญ​หาย​ไป. ทว่า ภาย​ใน​กำแพง​แบบ​เวนิซ​จาก​ศตวรรษ​ที่ 16 ซึ่ง​ล้อม​รอบ​ใจ​กลาง​เมือง​นิโคเซีย​นั้น​เป็น​ถนน​ที่​แคบ​และ​พลุกพล่าน​ซึ่ง​ใช้​ชื่อ​ว่า​ถนน​ลีดรา. เรา​ไม่​ทราบ​ว่า เปาโล​เดิน​ทาง​ไป​ที่​เมือง​ลีดรา​หรือ​ไม่. คัมภีร์​ไบเบิล​เพียง​แต่​บอก​เรา​ว่า เปาโล​และ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​ท่าน​ได้​เดิน​ทาง “ตลอด​เกาะ​นั้น.” (กิจการ 13:6) ภูมิ​ประเทศ​ทาง​ประวัติศาสตร์​แห่ง​ดินแดน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​วิคลิฟฟ์ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “นี่​อาจหมาย​ถึง​การ​เดิน​ทาง​ค่อนข้าง​ทั่ว​ถึง​ตาม​ชุมชน​ต่าง ๆ ของ​ชาว​ยิว​บน​เกาะ​ไซปรัส.”

เปาโล​สนใจ​อย่าง​แน่นอน​ใน​การ​เข้า​ถึง​ประชาชน​มาก​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​ใน​ไซปรัส. ด้วย​เหตุ​นี้ ท่าน​อาจ​ได้​ไป​ตาม​เส้น​ทาง​ตอน​ใต้​จาก​ลีดรา​เข้า​สู่​อามาทัส​และ​คู​เรียน ซึ่ง​เป็น​เมือง​นานา​ชาติ​สอง​เมือง​ใหญ่​ที่​มี​ประชากร​เจริญ​มั่งคั่ง.

เมือง​คู​เรียน​ตั้ง​อยู่​ใน​ที่​สูง​เหนือ​ทะเล​บน​หน้าผา​สูง​ซึ่ง​ตั้ง​ตระหง่าน​ขึ้น​มา​จาก​ชาย​หาด​ข้าง​ล่าง. เมือง​กรีก-โรมัน​อัน​งดงาม​นี้​ถูก​โจมตี​ด้วย​แผ่นดิน​ไหว​ครั้ง​เดียว​กับ​ที่​ได้​ทำลาย​เมือง​ซาลามิส​ใน​ปี ส.ศ. 77. มี​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​วิหาร​ที่​อุทิศ​แด่​อะพอลโล​ซึ่ง​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ตั้ง​แต่​ปี ส.ศ. 100. สนาม​กีฬา​สามารถ​จุ​ผู้​ชม​ได้ 6,000 คน. รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​หรูหรา​ของ​ประชาชน​มาก​มาย​ใน​คู​เรียน​อาจ​เห็น​ได้​จาก​การ​ตกแต่ง​พื้น​โมเสก​อัน​งดงาม​ใน​บ้าน​พัก​ส่วน​ตัว.

การ​เดิน​ทาง​สู่​ปาโฟส

เส้น​ทาง​ที่​งดงาม​ออก​จาก​คู​เรียน​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​ผ่าน​แถบ​ที่​เป็น​แหล่ง​ผลิต​เหล้า​องุ่น แล้ว​ค่อย ๆ ไต่​ระดับ​สูง​ขึ้น​จน​กระทั่ง​จู่ ๆ ถนน​ก็​ลาด​ชัน​ลง​และ​คดเคี้ยว​เลียบ​หน้าผา​ลง​สู่​ชาย​ทะเล​ที่​มี​แต่​ก้อน​กรวด. ตาม​เทพนิยาย​กรีก ณ ตำแหน่ง​นี้​เอง​ที่​ทะเล​ได้​ให้​กำเนิด​เทพ​ธิดา​อัฟโรดิเต.

อัฟโรดิเต​เป็น​เทพ​ธิดา​กรีก​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​ชม​ชอบ​มาก​ที่​สุด​ใน​ไซปรัส​และ​ได้​รับ​การ​นมัสการ​อย่าง​แรง​กล้า​จน​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สอง​สากล​ศักราช. ศูนย์กลาง​การ​นมัสการ​อัฟโรดิเต​อยู่​ใน​ปาโฟส. มี​การ​จัด​เทศกาล​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​นั่น​ทุก ๆ ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​เพื่อ​เป็น​เกียรติ​แก่​อัฟโรดิเต. ผู้​แสวง​บุญ​จาก​เอเชีย​น้อย, อียิปต์, กรีซ, และ​ไกล​ถึง​เปอร์เซีย จะ​มา​ที่​ปาโฟส​เพื่อ​การ​ฉลอง​เทศกาล​ต่าง ๆ. เมื่อ​ไซปรัส​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​ปโตเลมี ชาว​ไซปรัส​ได้​มา​คุ้น​เคย​กับ​การ​นมัสการ​พวก​ฟาโรห์.

ปาโฟส​เป็น​นคร​หลวง​แห่ง​ไซปรัส​ของ​ชาว​โรมัน​และ​ทำเนียบ​ของ​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​อยู่​ที่​นั่น และ​ปาโฟส​ได้​รับ​มอบ​อำนาจ​ให้​ทำ​เหรียญ​ทองแดง​ขึ้น. ปาโฟส​ถูก​ทำลาย​ด้วย​แผ่นดิน​ไหว​ใน​ปี 15 ก่อน ส.ศ. เช่น​กัน และ​เช่น​เดียว​กับ​กรณี​ของ​เมือง​ซาลามิส เอากุสตุส​ได้​มอบ​เงิน​ให้​เพื่อ​สร้าง​เมือง​ขึ้น​ใหม่. การ​ขุด​ค้น​ได้​เผย​ให้​เห็น​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​หรูหรา​ของ​คน​ที่​มั่งคั่ง​แห่ง​ปาโฟส​ใน​ศตวรรษ​แรก ซึ่ง​ได้​แก่​ถนน​ที่​กว้าง​ใหญ่​ใน​เมือง, บ้าน​พัก​ส่วน​ตัว​ที่​ตกแต่ง​อย่าง​หรูหรา, โรง​เรียน​สอน​ดนตรี, โรง​พลศึกษา, และ​โรง​มหรสพ.

นี่​คือ​เมือง​ปาโฟส​ที่​เปาโล, บาระนาบา, และ​โยฮัน​มาระโก ได้​แวะ​เยี่ยม และ​เมือง​นี้​เอง​ที่​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​เซระเฆียว​เปาโล—“ผู้​มี​ความ​รู้”—“ปรารถนา​จะ​ฟัง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า” แม้​เอลุมา​คน​ทำ​เล่ห์​กล​ได้​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง. ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ก็ “อัศจรรย์​ใจ​ด้วย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.”—กิจการ 13:6-12.

หลัง​จาก​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ประกาศ​ที่​ไซปรัส เหล่า​มิชชันนารี​ได้​ทำ​งาน​ต่อ​ไป​ใน​เอเชีย​น้อย. การ​เดิน​ทาง​เผยแพร่​รอบ​แรก​ของ​เปาโล​นั้น​เป็น​เหตุ​การณ์​สำคัญ​ใน​การ​แพร่​ศาสนา​คริสเตียน​แท้​ออก​ไป. หนังสือ​การ​เดิน​ทาง​ของ​นัก​บุญ​เปาโล​ใน​แถบ​ตะวัน​ออก​ของ​กรีก (ภาษา​อังกฤษ) เรียก​การ​เดิน​ทาง​เผยแพร่​นั้น​ว่า “การ​เริ่ม​ต้น​อัน​แท้​จริง​แห่ง​งาน​มอบหมาย​คริสเตียน​และ​แห่ง . . . งาน​มิชชันนารี​ของ​เปาโล.” หนังสือ​นั้น​กล่าว​เสริม​ว่า “การ​ตั้ง​อยู่ ณ ที่​ชุมนุม​กัน​แห่ง​เส้น​ทาง​เลียบ​ทะเล​ไป​สู่​ซีเรีย, เอเชีย​น้อย, และ​กรีซ ไซปรัส​ดู​เหมือน​เป็น​สถาน​ที่​แห่ง​แรก​ของ​การ​ผจญ​ภัย​ใน​งาน​มิชชันนารี​อย่าง​เลี่ยง​ไม่​ได้.” ทว่า นั่น​เป็น​เพียง​สถาน​ที่​เริ่ม​ต้น​เท่า​นั้น. เกือบ​สอง​พัน​ปี​ต่อ​มา งาน​มิชชันนารี​ของ​คริสเตียน​ดำเนิน​ต่อ​ไป และ​อาจ​กล่าว​ได้​จริง ๆ ว่า ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระ​ยะโฮวา​นั้น​ได้​ไป​ถึง “ที่​สุด​ปลาย​แผ่นดิน​โลก” แล้ว​อย่าง​แท้​จริง.—กิจการ 1:8.

[แผนที่​หน้า 20]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ไซปรัส

นิโคเซีย (ลีดรา)

ปาโฟส

คู​เรียน

อามาทัส

ลาร์​นา​คา

ซาลามิส

เทือก​เขา​คิรีเนีย

ที่​ราบ​เม​เซา​รี​อา

เทือก​เขา​ทรูโด​ส

[ภาพ​หน้า 21]

เปาโล​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ ได้​ทำ​ให้​เอลุมา​คน​ทำ​เล่ห์​กล​นั้น​ตา​บอด​ขณะ​อยู่​ที่​ปาโฟส