พระยะโฮวาทรงสำแดงสง่าราศีของพระองค์แก่ผู้ถ่อมใจ
พระยะโฮวาทรงสำแดงสง่าราศีของพระองค์แก่ผู้ถ่อมใจ
“บำเหน็จแห่งการถ่อมใจลงและความยำเกรงพระยะโฮวาก็เป็นทางนำมาถึงทรัพย์สมบัติ และเกียรติศักดิ์และชีวิต.”—สุภาษิต 22:4.
1, 2. (ก) พระธรรมกิจการแสดงอย่างไรว่าซะเตฟาโนเป็น “ผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์”? (ข) มีหลักฐานอะไรว่าซะเตฟาโนเป็นคนถ่อมใจ?
ซะเตฟาโนเป็น “ผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” ท่าน “ประกอบด้วยพระคุณและฤทธิ์เดช” ด้วย. ฐานะสาวกรุ่นแรกคนหนึ่งของพระเยซู ท่านทำการอัศจรรย์และหมายสำคัญใหญ่ท่ามกลางประชาชน. คราวหนึ่ง บางคนลุกขึ้นมาโต้แย้งกับท่าน แต่ “คนเหล่านั้นเถียงคำที่ท่านกล่าวอันประกอบด้วยสติปัญญาและพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้.” (กิจการ 6:5, 8-10) เห็นได้ชัดว่าซะเตฟาโนเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้าที่ขยันขันแข็ง และใช้พระคำของพระเจ้าตอบโต้กับพวกผู้นำศาสนาชาวยิวในสมัยของท่านอย่างมีพลัง. คำให้การของท่านโดยละเอียด ซึ่งบันทึกไว้ที่กิจการบท 7 ให้หลักฐานถึงความสนใจอย่างแรงกล้าที่ท่านมีต่อการเปิดเผยพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นขั้น ๆ.
2 ต่างจากพวกผู้นำศาสนาดังกล่าวที่ตำแหน่งและความรู้ของพวกเขาทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเหนือกว่าคนทั่วไป ซะเตฟาโนเป็นคนถ่อมใจ. (มัดธาย 23:2-7; โยฮัน 7:49) แม้ว่ารู้พระคัมภีร์ดี ท่านพึงพอใจอย่างมากกับงานมอบหมายให้ “แจกอาหาร” เพื่อว่าพวกอัครสาวกจะสามารถอุทิศตัวให้กับการ “อธิษฐานและ . . . พันธกิจด้านพระวจนะ.” ซะเตฟาโนมีชื่อเสียงดีท่ามกลางพี่น้อง ท่านจึงถูกเลือกเป็นคนหนึ่งในเจ็ดคนที่มีชื่อเสียงดีซึ่งจะดูแลการแจกจ่ายอาหารประจำวัน. ท่านรับงานนี้ด้วยความถ่อมใจ.—กิจการ 6:1-6, ฉบับแปลใหม่ 2002.
3. ซะเตฟาโนได้เห็นอะไรที่เป็นการสำแดงพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระเจ้าอย่างที่น่าทึ่ง?
3 ความถ่อมใจของซะเตฟาโน กับความสนใจสิ่งฝ่ายวิญญาณและความซื่อสัตย์มั่นคงของท่าน ไม่รอดพ้นการสังเกตของพระยะโฮวา. ขณะที่ซะเตฟาโนให้การต่อกลุ่มผู้นำชาวยิวที่เป็นปรปักษ์ในศาลซันเฮดรินนั้น พวกผู้ต่อต้าน “เห็นหน้าของท่านเหมือนหน้าทูตสวรรค์.” (กิจการ 6:15) สีหน้าของท่านเหมือนสีหน้าของผู้ส่งข่าวจากพระเจ้า ซึ่งมีใบหน้าประกอบด้วยสันติสุขที่มาจากพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงสง่าราศี. หลังจากให้การต่อสมาชิกศาลซันเฮดรินอย่างกล้าหาญ ซะเตฟาโนได้เห็นการสำแดงพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระเจ้าอย่างที่น่าทึ่ง. “ซะเตฟาโนประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เขม้นดูสวรรค์เห็นรัศมีของพระเจ้า, และพระเยซูทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์.” (กิจการ 7:55) นิมิตอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้ยืนยันแก่ซะเตฟาโนว่าพระเยซูมีฐานะเป็นพระบุตรของพระเจ้าและเป็นพระมาซีฮา. นิมิตนั้นเสริมกำลังซะเตฟาโนผู้ถ่อมใจ และให้ความมั่นใจแก่ท่านว่าท่านเป็นที่โปรดปรานของพระยะโฮวา.
4. พระยะโฮวาทรงสำแดงสง่าราศีของพระองค์แก่ผู้ใด?
4 ดังที่นิมิตที่ให้แก่ซะเตฟาโนแสดงให้เห็น พระยะโฮวาทรงสำแดงสง่าราศีและพระประสงค์ของพระองค์แก่ผู้ที่ยำเกรงพระเจ้าซึ่งถ่อมใจและหยั่งรู้ค่าสัมพันธภาพระหว่างพวกเขากับพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “บำเหน็จแห่งการถ่อมใจลงและความยำเกรงพระยะโฮวาก็เป็นทางนำมาถึงทรัพย์สมบัติและเกียรติศักดิ์และชีวิต.” (สุภาษิต 22:4) ฉะนั้น นับว่าสำคัญที่เราจะเข้าใจว่าความถ่อมใจที่แท้จริงคืออะไร, เราจะปลูกฝังคุณลักษณะที่สำคัญนี้ได้อย่างไร, และเราได้ประโยชน์อย่างไรจากการแสดงคุณลักษณะนี้ในทุกแง่มุมของชีวิต.
ความถ่อมใจ—คุณลักษณะที่พระเจ้าทรงสำแดง
5, 6. (ก) ความถ่อมใจคืออะไร? (ข) พระยะโฮวาสำแดงความถ่อมพระทัยอย่างไร? (ค) ความถ่อมพระทัยของพระยะโฮวาน่าจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร?
5 บางคนอาจประหลาดใจที่ว่าพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดและทรงสง่าราศีที่สุดในเอกภพ เป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมในด้านความถ่อมใจ. กษัตริย์ดาวิดกล่าวกับพระยะโฮวาว่า “พระองค์ได้ทรงประทานความรอดของพระองค์ให้เป็นโล่แก่ข้าพเจ้าด้วย; พระหัตถ์เบื้องขวาของพระองค์ทรงประคองข้าพเจ้าไว้, และซึ่งพระองค์ทรงน้อมพระทัยลงนั้นกระทำให้ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ขึ้นแล้ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 18:35) เมื่อกล่าวถึงความถ่อมพระทัยของพระยะโฮวานั้น ดาวิดใช้คำภาษาฮีบรูที่มีความหมายตามรากศัพท์ว่า “โน้มตัวลง.” คำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรากศัพท์เดียวกันนี้นอกจาก “ความถ่อมใจ” ก็มี “ความอ่อนน้อม,” “ความถ่อมตน,” และ “การลดตัวลง” ฉะนั้น พระยะโฮวาสำแดงความถ่อมพระทัยเมื่อทรงลดพระองค์ลงมาติดต่อเกี่ยวข้องกับดาวิดมนุษย์ไม่สมบูรณ์ และใช้ท่านเป็นกษัตริย์แทนพระองค์. ดังแสดงไว้ที่จ่าหน้าบทของเพลงสรรเสริญบท 18 (ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงคุ้มครองและค้ำจุนดาวิด “กู้ท่านให้พ้นจากเงื้อมมือศัตรูทั้งหลายของท่าน และจากเงื้อมมือพระหัตถ์ซาอูล.” ฝ่ายดาวิดก็สำนึกว่า ความยิ่งใหญ่หรือเกียรติใด ๆ ก็ตามที่ท่านอาจบรรลุในฐานะกษัตริย์นั้นก็สืบเนื่องมาจากการที่พระยะโฮวาดำเนินการด้วยความถ่อมพระทัยเพื่อท่าน. การตระหนักเรื่องนี้ได้ช่วยดาวิดให้ถ่อมใจอยู่เสมอ.
6 แล้วพวกเราล่ะ? พระยะโฮวาทรงเห็นควรที่จะสอนความจริงแก่เรา และพระองค์อาจประทานสิทธิพิเศษบางอย่างโดยเฉพาะในงานรับใช้แก่เราผ่านทางองค์การของพระองค์ หรืออาจใช้เราในทางหนึ่งทางใดเพื่อดำเนินการให้บรรลุผลตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. เราควรรู้สึกเช่นไรต่อสิทธิพิเศษเหล่านี้? เราควรถ่อมใจมิใช่หรือ? เราควรรู้สึกขอบคุณมิใช่หรือในความถ่อมพระทัยของพระยะโฮวา และหลีกเลี่ยงการยกตัวเองซึ่งย่อมจะนำไปสู่ความหายนะ?—สุภาษิต 16:18; 29:23.
7, 8. (ก) ความถ่อมพระทัยของพระยะโฮวาปรากฏชัดอย่างไรในการปฏิบัติของพระองค์กับมะนาเซ? (ข) ในทางใดที่ทั้งพระยะโฮวาและมะนาเซวางแบบอย่างแก่เราในการแสดงความถ่อมใจ?
7 นอกจากจะแสดงให้เห็นความถ่อมพระทัยอย่างมากโดยการติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แล้ว พระยะโฮวายังแสดงให้เห็นความเต็มพระทัยที่จะแสดงความเมตตาผู้มีใจถ่อม และถึงกับยกคนที่ถ่อมตนเหล่านั้นขึ้นด้วยซ้ำ. (บทเพลงสรรเสริญ 113:4-7) ขอพิจารณากรณีของกษัตริย์มะนาเซแห่งอาณาจักรยูดาห์เป็นตัวอย่าง. ท่านใช้ตำแหน่งอันมีเกียรติของท่านฐานะกษัตริย์อย่างผิด ๆ ในการสนับสนุนการนมัสการเท็จ และ “กระทำการชั่วมากต่อพระเนตรพระยะโฮวา, เป็นเหตุให้พระองค์ทรงพระพิโรธ.” (2 โครนิกา 33:6) ในที่สุด พระยะโฮวาลงโทษมะนาเซด้วย การปล่อยให้กษัตริย์อัสซีเรียถอดเขาออกจากการเป็นกษัตริย์. ในที่คุมขัง มะนาเซ “อธิษฐานทูลขอพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน, ด้วยใจอ่อนน้อมถ่อมลง” อย่างมาก ผลคือพระยะโฮวาทรงมอบบัลลังก์ที่กรุงเยรูซาเลมคืนแก่ท่าน และมะนาเซ “ทราบว่า, พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่เที่ยงแท้.” (2 โครนิกา 33:11-13) ใช่แล้ว ในที่สุด เจตคติที่ถ่อมใจของมะนาเซเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา ผู้ทรงถ่อมพระทัยลงเช่นกันโดยการให้อภัยแก่มะนาเซและยกท่านขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ดังเดิม.
8 ความเต็มพระทัยที่จะให้อภัยของพระยะโฮวาและเจตคติที่กลับใจของมะนาเซสอนบทเรียนสำคัญแก่เราในเรื่องความถ่อมใจ. เราควรจำไว้เสมอว่า วิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้ที่อาจสร้างความขุ่นเคืองให้เรา และเจตคติที่เราแสดงออกมาเมื่อได้กระทำบาป จะส่งผลกระทบต่อวิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติต่อเรา. ถ้าเราเต็มใจให้อภัยการทำผิดของคนอื่น และถ่อมใจยอมรับความผิดของเราเอง เราก็คาดหวังได้ว่าพระยะโฮวาจะเมตตาเรา.—มัดธาย 5:23, 24; 6:12.
สง่าราศีของพระเจ้าที่สำแดงแก่ผู้ถ่อมใจ
9. ความถ่อมใจบ่งชี้ถึงความอ่อนแอไหม? จงอธิบาย.
9 อย่างไรก็ตาม อย่าเข้าใจผิดว่าความถ่อมใจและคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความถ่อมใจนั้น บ่งชี้ถึงความอ่อนแอหรือแนวโน้มที่จะโอนอ่อนให้กับการทำผิด. ดังที่พระคัมภีร์บริสุทธิ์แสดงหลักฐาน แม้พระยะโฮวาทรงถ่อมพระทัย พระองค์ทรงแสดงความขุ่นเคืองอย่างชอบธรรมและแสดงอำนาจอันน่าเกรงขามเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องทำเช่นนั้น. เนื่องด้วยความถ่อมพระทัย พระยะโฮวาเอาพระทัยใส่ด้วยความโปรดปรานหรือคำนึงถึงเป็นพิเศษต่อผู้ถ่อมใจ ในขณะที่พระองค์ถอยห่างจากผู้ทะนงตน. (บทเพลงสรรเสริญ 138:6) พระยะโฮวาทรงแสดงการคำนึงถึงเป็นพิเศษต่อผู้รับใช้ที่ถ่อมใจของพระองค์โดยวิธีใด?
10. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยอะไรแก่คนถ่อมใจ ดังที่บ่งชี้ไว้ที่ 1 โกรินโธ 2:6-10?
10 ในเวลากำหนดของพระองค์และโดยผ่านช่องทางสื่อสารที่ทรงเลือกไว้ พระยะโฮวาทรงเปิดเผยให้ผู้ถ่อมใจทราบรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์จะดำเนินการให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. รายละเอียดเหล่านั้นยังคงถูกปิดซ่อนไว้สำหรับคนที่พึ่งอาศัยหรือยึดมั่นกับสติปัญญาหรือความคิดของมนุษย์อย่างอวดดื้อถือดี. (1 โกรินโธ 2:6-10) แต่คนถ่อมใจ ซึ่งได้รับความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา ถูกกระตุ้นใจให้สรรเสริญพระองค์เพราะพวกเขาชื่นชมสง่าราศีอันน่าประทับใจของพระองค์ยิ่งขึ้น.
11. ในศตวรรษแรก บางคนแสดงอย่างไรว่าขาดความถ่อมใจ และสิ่งนี้ปรากฏว่าเป็นผลเสียแก่พวกเขาอย่างไร?
11 ในศตวรรษแรก หลายคนซึ่งรวมถึงบางคนที่อ้างตัวเป็นคริสเตียน แสดงการขาดความถ่อมใจ และสะดุดสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเปิดเผยแก่พวกเขาเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า. เปาโลได้เป็น “อัครสาวกไปยังชาติต่าง ๆ” ไม่ใช่เนื่องจากเชื้อชาติ, การศึกษา, อายุ, หรือประวัติที่ดีเยี่ยมในงานรับใช้อันยาวนานของท่าน. (โรม 11:13, ล.ม.) บ่อยครั้ง ผู้ที่คิดไปในทางเนื้อหนังมองว่า คุณสมบัติเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กำหนดว่าใครควรถูกพระยะโฮวาใช้เป็นเครื่องมือของพระองค์. (1 โกรินโธ 1:26-29; 3:1; โกโลซาย 2:18) อย่างไรก็ตาม เปาโลเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงเลือก ซึ่งประสานกับพระกรุณารักใคร่และพระประสงค์อันชอบธรรมของพระองค์. (1 โกรินโธ 15:8-10) ผู้ที่เปาโลเรียกว่า “พวกอัครสาวกสุดวิเศษ” และผู้ต่อต้านคนอื่น ๆ นั้น ปฏิเสธไม่ยอมรับเปาโลและการอ้างเหตุผลของท่านจากพระคัมภีร์. การที่พวกเขาขาดความถ่อมใจขัดขวางพวกเขาไว้จากการได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีอันล้ำเลิศที่พระยะโฮวาจะดำเนินการให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. ขอเราอย่าประมาทหมิ่นหรือด่วนตัดสินผู้ที่พระยะโฮวาทรงเลือก ใช้เพื่อทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จ.—2 โกรินโธ 11:4-6, ล.ม.
12. ตัวอย่างของโมเซแสดงอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงโปรดปรานคนถ่อมใจ?
12 ในอีกด้านหนึ่ง มีตัวอย่างมากมายในพระคัมภีร์ที่เน้นให้เห็นชัดว่าคนถ่อมใจเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษให้เห็นสง่าราศีของพระเจ้าแวบหนึ่งอย่างไร. โมเซ “คนถ่อมใจมากยิ่งกว่าคนทั้งปวง” ได้เห็นสง่าราศีของพระเจ้าและมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระองค์. (อาฤธโม 12:3, ฉบับแปลใหม่) ชายที่ถ่อมใจคนนี้ ผู้ซึ่งคงใช้เวลา 40 ปีเป็นคนเลี้ยงแกะที่ต่ำต้อยในคาบสมุทรอาหรับเสียส่วนใหญ่ ได้รับความโปรดปรานจากพระผู้สร้างอย่างมากในหลายทาง. (เอ็กโซโด 6:12, 30) ด้วยการหนุนหลังจากพระยะโฮวา โมเซได้มาเป็นตัวแทนในการพูดของชาติอิสราเอลและเป็นผู้นำในการจัดระเบียบชาตินั้น. ท่านกับพระเจ้าสนทนากัน. โดยผ่านทางนิมิต ท่านได้เห็น “พระพักตร์พระยะโฮวา.” (อาฤธโม 12:7, 8; เอ็กโซโด 24:10, 11) คนที่ยอมรับผู้รับใช้และตัวแทนของพระเจ้าที่ถ่อมใจผู้นี้ก็ได้รับความโปรดปรานด้วย. คล้ายกัน เราจะได้รับความโปรดปรานเช่นกัน หากเรายอมรับและเชื่อฟังผู้พยากรณ์ที่ใหญ่กว่าโมเซ คือพระเยซู รวมทั้ง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง.—มัดธาย 24:45, 46, ล.ม.; กิจการ 3:22.
13. มีการสำแดงสง่าราศีของพระยะโฮวาแก่คนเลี้ยงแกะที่ถ่อมใจในศตวรรษแรกอย่างไร?
13 ใครที่ได้เห็นการสำแดง “รัศมีของพระเจ้า” และได้รับการแจ้งข่าวดีจากทูตสวรรค์เรื่องการประสูติของ “พระผู้ช่วยให้รอด . . . คือพระคริสต์เจ้า”? ไม่ใช่พวกผู้นำศาสนาที่เย่อหยิ่งหรือบุคคลสำคัญที่มีฐานะสูงทางสังคม แต่เป็นคนเลี้ยงแกะผู้ต่ำต้อยที่ “อยู่ในทุ่ง . . . เฝ้าฝูงแกะของเขาในเวลากลางคืน.” (ลูกา 2:8-11) คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ยกย่องนับถือเนื่องด้วยคุณวุฒิหรือการงานของพวกเขา. กระนั้น พวกเขาเป็นผู้ที่พระยะโฮวาให้ความสนพระทัย และเลือกจะแจ้งให้ทราบเป็นกลุ่มแรกถึงการประสูติของพระมาซีฮา. ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงสำแดงสง่าราศีของพระองค์แก่ผู้ถ่อมใจและยำเกรงพระองค์.
14. พระพรอะไรจากพระเจ้ามีแก่ผู้ที่ถ่อมใจ?
14 ตัวอย่างเหล่านี้สอนอะไรแก่เรา? ตัวอย่างเหล่านี้สอนเราว่าพระยะโฮวาทรงโปรดปรานคนถ่อมใจและทรงเปิดเผยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระองค์แก่คนเหล่านี้. พระองค์ทรงเลือกคนที่อาจไม่มีคุณสมบัติตามอย่างที่มนุษย์บางคนคาดหมาย และทรงใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือของพระองค์ในการแจ้งพระประสงค์อันยอดเยี่ยมของพระองค์แก่คนอื่น. การรู้ในเรื่องนี้น่าจะกระตุ้นเราให้พึ่งความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา, คำพยากรณ์ของพระองค์, และองค์การของพระองค์ต่อ ๆ ไปเพื่อรับการชี้นำ. เราแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะให้ผู้รับใช้ที่ถ่อมใจได้ทราบต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับการเปิดเผยพระประสงค์อันยอดเยี่ยมของพระองค์. ผู้พยากรณ์อาโมศแถลงว่า “พระยะโฮวามิได้ทำสิ่งใดเว้นแต่พระองค์สำแดงแก่ผู้รับใช้ของพระองค์, คือผู้พยากรณ์ซึ่งพระองค์ได้ดำริไว้นั้น.”—อาโมศ 3:7.
จงพัฒนาความถ่อมใจและได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า
15. ทำไมเราต้องบากบั่นรักษาความถ่อมใจไว้ และมีการแสดงให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างไรในกรณีของซาอูลกษัตริย์ชาติอิสราเอล?
15 เพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าตลอดไป เราต้องถ่อมใจอยู่เรื่อยไป. การที่ครั้งหนึ่งเรามีความถ่อมใจก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความถ่อมใจตลอดไป. เป็นไปได้ที่คนเราจะสูญเสียความถ่อมใจแล้วปล่อยให้ความทะนงตนและการยกตัวเองเข้ามาแทนที่ ซึ่งจะนำไปสู่การทำเกินสิทธิ์และความหายนะ. ซาอูลซึ่งได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอลทำอย่างนั้นทีเดียว. ในตอนแรกที่ท่านถูกเลือกเป็นกษัตริย์นั้น ท่านมองตัวเองว่า “เป็นแต่ผู้น้อย.” (1 ซามูเอล 15:17) แต่หลังจากปกครองไปได้เพียงสองปี ท่านกระทำเกินสิทธิ์. ท่านเพิกเฉยการจัดเตรียมของพระยะโฮวาที่ให้ผู้พยากรณ์ซามูเอลเป็นผู้ถวายเครื่องบูชา และหาข้อแก้ตัวสำหรับการถวายเครื่องบูชาด้วยตนเอง. (1 ซามูเอล 13:1, 8-14) นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์อีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นตามมาซึ่งเผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่าท่านขาดความถ่อมใจ. ผลคือท่านสูญเสียพระวิญญาณของพระเจ้าและความพอพระทัยจากพระองค์ ซึ่งนำไปสู่ความตายอย่างน่าอัปยศในที่สุด. (1 ซามูเอล 15:3-19, 26; 28:6; 31:4) บทเรียนนั้นเห็นได้ชัด นั่นคือ เราต้อง บากบั่นรักษาความถ่อมใจและความอ่อนน้อมไว้ และระงับความรู้สึกที่ว่าตนเองสำคัญ ซึ่งโดยการทำเช่นนั้น เราจึงหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการทำเกินสิทธิ์ ซึ่งจะยังผลให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย.
16. การใคร่ครวญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระยะโฮวาและกับเพื่อนมนุษย์จะช่วยเราปลูกฝังความถ่อมใจได้อย่างไร?
16 แม้ว่าความถ่อมใจไม่ได้จัดเป็นหนึ่งในผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า แต่ก็เป็นคุณลักษณะอย่างพระเจ้าที่เราพึงปลูกฝัง. (ฆะลาเตีย 5:22, 23; โกโลซาย 3:10, 12) เนื่องจากความถ่อมใจเกี่ยวข้องกับเจตคติ ซึ่งก็คือวิธีที่เรามองตัวเองและมองผู้อื่น การพัฒนาความถ่อมใจจึงต้องอาศัยความบากบั่นอย่างจริงจัง. การไตร่ตรองและใคร่ครวญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระยะโฮวาและเพื่อนมนุษย์จะช่วยเรารักษาความถ่อมใจไว้. ในสายพระเนตรของพระเจ้า มนุษย์ไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้นเปรียบดั่งต้นหญ้าเขียวสดที่งอกงามอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็เหี่ยวเฉาไป. มนุษย์เป็นเหมือนแค่ตั๊กแตนกระจ้อยร่อยในท้องทุ่ง. (ยะซายา 40:6, 7, 22) ใบหญ้าใบหนึ่งมีเหตุจะทะนงตนไหมที่มันมีขนาดยาวกว่าหญ้าใบอื่น ๆ อยู่สักนิด? ตั๊กแตนตัวหนึ่งมีเหตุที่จะโอ้อวดความสามารถของมันไหมเพียงเพราะมันกระโดดได้ไกลกว่าตั๊กแตนตัวอื่น ๆ อยู่สักหน่อย? แม้แต่จะคิดอย่างนั้นก็เป็นเรื่องน่าขัน. ด้วยเหตุนี้ อัครสาวกเปาโลจึงเตือนใจเพื่อนคริสเตียนของท่านว่า “ผู้ใดเล่ากระทำให้ท่านวิเศษผิดกันกับคนอื่น? มีอะไรบ้างที่ท่านมิได้รับเล่า? ถ้าท่านได้รับแล้ว, เหตุไฉนท่านจึงอวดเหมือนมิได้รับเลย?” (1 โกรินโธ 4:7) การใคร่ครวญข้อคัมภีร์อย่างเช่นที่กล่าวไปนี้จะช่วยเราปลูกฝังและแสดงความถ่อมใจ.
17. อะไรได้ช่วยผู้พยากรณ์ดานิเอลปลูกฝังความถ่อมใจ และอะไรจะช่วยเราทำอย่างเดียวกันนั้น?
17 ดานิเอลผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูได้รับการประกาศว่าเป็น “คนที่ทรงโปรดปรานยิ่งนัก” ในสายพระเนตรพระเจ้าด้วยเหตุที่ท่าน “ถ่อมกายลง” หรือมีความถ่อมใจ. (ดานิเอล 10:11, 12) อะไรช่วยดานิเอลปลูกฝังความถ่อมใจ? ประการแรก ท่านวางใจพระยะโฮวาเต็มเปี่ยม หมายพึ่งพระองค์เสมอด้วยการอธิษฐาน. (ดานิเอล 6:10, 11) นอกจากนั้น ดานิเอลศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็งด้วยเจตนาที่ถูกต้อง ซึ่งช่วยท่านให้มีพระประสงค์อันยอดเยี่ยม ของพระเจ้าแจ่มชัดอยู่ในความคิดเสมอ. ท่านยังเต็มใจยอมรับข้อบกพร่องของตัวท่านเองด้วย ไม่ใช่แค่ของเพื่อนร่วมชาติเท่านั้น. และท่านสนใจอย่างแท้จริงในการสนับสนุนความชอบธรรมของพระเจ้า ไม่ใช่ของตัวท่านเอง. (ดานิเอล 9:2, 5, 7) เราจะเรียนรู้จากตัวอย่างอันโดดเด่นของดานิเอล พร้อมกับพยายามปลูกฝังและแสดงความถ่อมใจในทุกแง่มุมของชีวิตได้ไหม?
18. เกียรติศักดิ์อะไรที่คอยท่าคนถ่อมใจในทุกวันนี้?
18 สุภาษิต 22:4 กล่าวว่า “บำเหน็จแห่งการถ่อมใจลงและความยำเกรงพระยะโฮวาก็เป็นทางนำมาถึงทรัพย์สมบัติและเกียรติศักดิ์และชีวิต.” ถูกแล้ว พระยะโฮวาโปรดปรานผู้ที่ถ่อมใจ และผลก็คือเกียรติศักดิ์และชีวิต. อาซาฟผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญผู้ซึ่งเกือบจะละทิ้งงานรับใช้พระเจ้าไปแล้ว แต่แล้วก็ได้ให้พระยะโฮวาปรับความคิดของท่าน ได้ยอมรับอย่างถ่อมใจว่า “พระองค์จะทรงนำข้าพเจ้าด้วยคำแนะนำของพระองค์ และภายหลังจะทรงพาข้าพเจ้าไปสู่เกียรติศักดิ์เสียด้วยซ้ำ.” (บทเพลงสรรเสริญ 73:24, ล.ม.) แล้วทุกวันนี้ล่ะ? เกียรติศักดิ์อะไรที่คอยท่าคนถ่อมใจอยู่? นอกจากจะมีสัมพันธภาพอันน่าพอใจกับพระยะโฮวาแล้ว พวกเขายังสามารถคอยท่าที่จะเห็นความสำเร็จเป็นจริงของถ้อยคำของดาวิดที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.” นั่นเป็นอนาคตอันรุ่งโรจน์อย่างแท้จริง!—บทเพลงสรรเสริญ 37:11.
คุณจำได้ไหม?
• ซะเตฟาโนเป็นตัวอย่างเช่นไรในการเป็นคนถ่อมใจ ซึ่งพระยะโฮวาทรงสำแดงให้เห็นสง่าราศีของพระองค์?
• พระยะโฮวาพระเจ้าสำแดงความถ่อมพระทัยในทางใดบ้าง?
• ตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงว่าพระยะโฮวาสำแดงสง่าราศีของพระองค์แก่ผู้ถ่อมใจ?
• ตัวอย่างของดานิเอลจะช่วยเราปลูกฝังความถ่อมใจได้อย่างไร?
[คำถาม]
[กรอบหน้า 12]
มีความเชื่อมั่นสูงทว่าถ่อมใจ
ในปี 1919 ณ การประชุมใหญ่ของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล (เป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ว่าพยานพระยะโฮวา) ที่เมืองซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด วัย 50 ปี ซึ่งเป็นผู้ดูแลงานขององค์การในตอนนั้น ยินดีอาสาเป็นคนหิ้วกระเป๋าเดินทางและพาผู้เข้าร่วมประชุมไปส่งที่ห้องพัก. ในวันสุดท้ายของการประชุม ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียงอันทรงพลังเร้าความรู้สึกของผู้ฟังร่วม 7,000 คนด้วยถ้อยคำที่ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นราชทูตของพระมหากษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลาย ประกาศแก่ผู้คนเรื่อง . . . ราชอาณาจักรอันรุ่งโรจน์แห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” แม้บราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ดเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นสูง เป็นที่รู้จักเนื่องด้วยการพูดจาตรงไปตรงมาอย่างมีพลังและไม่อะลุ่มอล่วยต่อสิ่งที่ท่านเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ท่านก็เป็นที่รู้จักด้วยว่ามีความถ่อมใจอย่างแท้จริงจำเพาะพระเจ้า ซึ่งบ่อยครั้งเห็นได้จากคำอธิษฐานของท่าน ณ การนมัสการตอนเช้าที่เบเธล.
[ภาพหน้า 9]
ซะเตฟาโน ผู้ซึ่งรู้พระคัมภีร์ดี แจกจ่ายอาหารด้วยความถ่อมใจ
[ภาพหน้า 10]
เจตคติที่ถ่อมใจของมะนาเซเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 12]
อะไรทำให้ดานิเอลเป็น “คนที่ทรงโปรดปรานยิ่งนัก”?