เรามีชีวิตอยู่โดยอาศัยกำลังจากพระยะโฮวา
เรื่องราวชีวิตจริง
เรามีชีวิตอยู่โดยอาศัยกำลังจากพระยะโฮวา
เล่าโดยเออร์เซเบท ฮาฟฟ์เนอร์
“ผมจะไม่ยอมให้พวกเขาเนรเทศคุณ” ทีบอร์ ฮาฟฟ์เนอร์พูดเมื่อเขาได้ยินว่ามีคำสั่งขับฉันออกจากเชโกสโลวะเกีย. แล้วเขาพูดต่อ “ถ้าคุณตกลง เราจะแต่งงานกัน แล้วเราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป.”
ณ วันที่ 29 มกราคม 1938 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากถูกขอแต่งงานโดยไม่คาดคิด ฉันตกลงสมรสกับทีบอร์ ชายคริสเตียนซึ่งให้คำพยานครั้งแรกแก่ครอบครัวฉัน. การตัดสินใจแต่งงานไม่ใช่เรื่องง่าย. อายุฉันเพิ่งครบ 18 ปี และฐานะเป็นพยานพระยะโฮวารับใช้เต็มเวลา ฉันปรารถนาจะสละเวลาในวัยสาวเพื่องานรับใช้พระเจ้าโดยเฉพาะ. ฉันร้องไห้. ฉันอธิษฐาน. ครั้นสงบใจได้แล้ว ฉันถึงตระหนักว่าที่ทีบอร์ขอฉันแต่งงานนั้นไม่ได้เป็นการแสดงความกรุณาเท่านั้น และฉันมีความรู้สึกว่าต้องการอยู่กับชายคนนี้ที่รักฉันจริง ๆ.
แต่ทำไมฉันอยู่ในภาวะอันตรายที่ต้องถูกเนรเทศ? ถึงอย่างไร ฉันก็พำนักในประเทศซึ่งภูมิใจหนักหนาในระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพทางศาสนา. เอาละ มาถึงจุดนี้ฉันคิดว่า จำเป็นต้องเล่าภูมิหลังตัวเองให้คุณฟังมากขึ้น.
ฉันเกิดวันที่ 26 ธันวาคม 1919 พ่อแม่เป็นสมาชิกคริสตจักรกรีกคาทอลิกในหมู่บ้านซาโยเซนต์ปีเตอร์ ฮังการี ทางตะวันออกของกรุงบูดาเปสต์ประมาณ 160 กิโลเมตร. น่าเศร้า พ่อตายก่อนฉันเกิด. ต่อมาไม่นาน แม่แต่งงานกับพ่อม่ายลูกสี่ และพวกเราได้ย้ายไปลูเชนเยตซ์ เมืองสวยงามน่าอยู่ ในเชโกสโลวะเกียสมัยนั้น. ตอนนั้นไม่ง่ายที่จะอยู่รวมกันในครอบครัวซึ่งมีพ่อเลี้ยงและลูกของเขาด้วย. เนื่องจากฉันมีอายุน้อยกว่าเพื่อนในจำนวนเด็กห้าคน ฉันรู้สึกว่าตัวเป็นส่วนเกิน. สภาพการเงินก็ฝืดเคือง และฉันขาดแคลนไม่เพียงทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่ขาดความรักความใส่ใจตามปกติที่พึงได้จากพ่อแม่ด้วย.
ใครบ้างรู้คำตอบ?
ตอนฉันอายุ 16 ปีคำถามสำคัญหลายข้อคอยรบกวนใจฉัน. ฉันได้อ่านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยความสนใจยิ่ง และแปลกใจมากที่รู้ว่าการสังหารผลาญชีวิตกันนั้นเกิดขึ้นระหว่างชาติที่เจริญแล้ว และอ้างตัวเป็นคริสเตียน. นอกจากนั้น ฉันมองเห็นลัทธิแสนยนิยมผุดขึ้นในหลายดินแดน. ไม่มีสิ่งใดสอดคล้องลงรอยกับการรักเพื่อนบ้านตามที่ฉันได้เรียนในโบสถ์.
ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงไปหาบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกและถามว่า “คำสั่งข้อใดน่าจะเป็นข้อผูกมัดพวกเราชาวคริสเตียน—ให้ทำสงครามและฆ่าเพื่อนบ้านหรือว่าให้รักเพื่อนบ้านของเรา?” คำถามของฉันกวนโมโหเขา เขาตอบว่าอะไรก็ตามที่เขาสอน เขารับมาจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า. ฉันได้คำตอบทำนองเดียวกันเมื่อฉันไปหาคนหนึ่งซึ่งเป็นนักเทศน์คาลวินิสต์ แล้วก็รับบีชาวยิว. ฉันไม่ได้คำตอบเลย เพียงแต่เห็นพวกเขาแสดงความประหลาดใจเพราะคำถามของฉันไม่ธรรมดา. ในที่สุด ฉันไปพบนักเทศน์นิกายลูเทอรัน. เขาอารมณ์เสีย แต่ก่อนฉันจะลากลับ เขาบอกฉันว่า “ถ้าเธออยากรู้เรื่องนี้จริง ๆ ไปถามพยานพระยะโฮวาก็แล้วกัน.”
ฉันพยายามสืบหาพยานฯ แต่ไม่พบ. ต่อมาไม่กี่วันเมื่อฉันกลับถึงบ้านหลังเลิกงาน ฉันเห็นบานประตูเปิดอยู่ครึ่งหนึ่ง. ชายหนุ่มท่าทางดีคนหนึ่งกำลังอ่านพระคัมภีร์ให้แม่ฟัง. ฉันฉุกคิดขึ้นมาทันที ‘เห็นจะใช่แล้วละ เขาต้องเป็นพยานพระยะโฮวาแน่ ๆ!’ เราเชิญชายคนนี้ ซึ่งก็คือทีบอร์ ฮาฟฟ์เนอร์เข้าไปในบ้าน และฉันถามซ้ำคำถามเดิม ๆ อีก. แทนที่จะตอบตามแง่คิดของเขาเอง เขาชี้ให้ฉันดูจากพระคัมภีร์เครื่องหมายที่ระบุตัวคริสเตียนแท้ และเครื่องหมายแสดงสมัยปัจจุบันที่เรามีชีวิตอยู่.—โยฮัน 13:34, 35; 2 ติโมเธียว 3:1-5.
ภายในไม่กี่เดือน ก่อนอายุ 17 ปี ฉันก็รับบัพติสมา. ฉันคิดว่าทุกคนจะต้องได้ยินความจริงที่ล้ำค่าเหล่านี้ซึ่งฉันได้สืบค้นหามาด้วยความยากลำบาก. ฉันเริ่มงานเผยแพร่เต็มเวลาซึ่งถือว่าเป็นงานท้าทายมิใช่น้อยในเชโกสโลวะเกียในตอนปลายทศวรรษ 1930. ถึงแม้งานของเราได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่เราเผชิญการขัดขวางอย่างรุนแรงเนื่องจากการยุยงของนักเทศน์นักบวช.
ประสบการณ์ครั้งแรกเกี่ยวกับการข่มเหง
วันหนึ่งในช่วงปลายปี 1937 ขณะที่ฉันออกไปประกาศกับพี่น้องหญิงคริสเตียนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ลูเชนเยตส์. จากนั้นไม่นานเราก็ถูกจับเข้าคุก. ผู้คุมปิดประตูห้องขังเสียงดังโครมพร้อมกับพูดว่า “พวกแกจะตายในห้องนี้.”
ตกค่ำ มีผู้ต้องขังหญิงอีกสี่คนเข้ามาร่วมห้องขังกับเรา. เราสองคนเริ่มพูดปลอบโยนเขาและให้คำพยาน. พวกเขาสงบสติอารมณ์ได้ และเราไม่ว่างตลอดคืนเพราะได้ยกเอาความจริงในพระคัมภีร์ขึ้นมาพิจารณากับพวกเขา.
พอหกโมงเช้า ผู้คุมได้เรียกฉันออกจากห้องขัง. ฉันบอกเพื่อนร่วมงานของฉันว่า “เราจะพบกันอีกในราชอาณาจักรของพระเจ้า.” และขอเพื่อนช่วยแจ้งให้ครอบครัวฉันรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหากเธอรอดไปได้. แล้วฉันก็อธิษฐานในใจและตามผู้คุมไป. เขาพาฉันไปที่ห้องชุดภายในบริเวณเรือนจำ และพูดว่า “นี่แม่หนู ผมมีคำถามบางข้ออยากให้คุณตอบ. คืนที่แล้วคุณพูดว่าพระนามของพระเจ้าคือยะโฮวา. ช่วยชี้ข้อนั้นจากพระคัมภีร์ให้ผมดูหน่อยได้ไหม?” ฉันประหลาดใจและรู้สึกโล่งอกเสียจริง ๆ! ผู้คุมนำเอาพระคัมภีร์เล่มส่วนตัวของเขาออกมา ฉันก็ชี้ให้เขาพร้อมกับภรรยาดูชื่อพระยะโฮวา. เขามีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ฉันได้พิจารณาด้วยกันกับผู้หญิงสี่คนเมื่อคืนก่อน. เนื่องจากเขาได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจ เขาจึงสั่งภรรยาจัดเตรียมอาหารเช้าสำหรับฉันกับเพื่อนร่วมงาน.
สองวันถัดจากนั้น เราได้รับการปล่อยตัว แต่ผู้พิพากษาตัดสินให้ฉันออกไปจากเชโกสโลวะเกีย ด้วยสาเหตุที่ฉันมีสัญชาติฮังการี. หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ทีบอร์ ฮาฟฟ์เนอร์จึงได้ขอฉันเป็นภรรยาของเขา. เราแต่งงานกัน แล้วฉันย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านพ่อแม่สามี.
การกดขี่ข่มเหงทวีความรุนแรง
เรายังคงทำงานเผยแพร่ต่อไปในฐานะคู่สามีภรรยา ถึงแม้ทีบอร์มีงานขององค์การที่ต้องทำด้วย. เพียงไม่กี่วันก่อนทหารฮังการีเดินทัพเข้าเมืองของเราในเดือนพฤศจิกายน ปี 1938 ทีบอร์ จูเนียร์ ลูกชายของเราก็ถือกำเนิด. สงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งเค้าขึ้นแล้วในยุโรป. พื้นที่ส่วนใหญ่ในเชโกสโลวะเกียถูกทหารฮังการียึดครอง เพิ่มการข่มเหงอย่างรุนแรงแก่เหล่าพยานพระยะโฮวาที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ที่ฮังการียึดได้.
วันที่ 10 ตุลาคม 1942 ทีบอร์ได้เดินทางไปพบพี่น้องบางคนที่เมืองเดเบรเซน. อย่างไรก็ตาม คราวนี้เขาไม่ได้กลับมา. เขาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฉันฟังในเวลาต่อมา. แทนที่จะพบพี่น้อง กลับกลายเป็นว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่บนสะพานซึ่งเป็นจุดนัดพบ. พวกเขากำลังรอสามีฉันกับพอล นัจพอลซึ่งเป็นสองคนสุดท้ายที่จะไปถึงที่นั่น. ตำรวจจับคนทั้งสองคุมตัวไปที่สถานีตำรวจ และเอาไม้หวดเท้าเปล่าของเขา กระทั่งสลบไปเพราะทนเจ็บไม่ไหว.
ครั้นแล้ว เขาได้รับคำสั่งให้สวมรองเท้าลุกขึ้นยืน. แม้เจ็บปวด แต่เขาถูกบังคับให้ไปที่สถานีรถไฟ. ตำรวจได้นำชายคนหนึ่งมีผ้าพันแผลพันรอบศีรษะจนเขาแทบมองอะไรไม่เห็น. เขาคือบราเดอร์อันดราส พิลลิงก์ ซึ่งก็ได้มาเพื่อพบปะพวกพี่น้องเหมือนกัน. สามีฉันถูกพาตัวขึ้นรถไฟไปยังด่านกักขังเหล่าพยานฯ ในหมู่บ้านอาลัก ใกล้กรุงบูดาเปสต์. ผู้คุมคนหนึ่งมองเห็นเท้าทีบอร์เป็นแผลแตกยับเยินก็พูดเชิงเยาะเย้ยว่า “พวกนั้นช่างโหดเหี้ยมแท้! เอาเถอะ เราจะช่วยรักษาแผลให้.” ผู้คุมสองคนลงมือหวดเท้าทีบอร์ทั้งสองข้าง เลือดสาดกระเซ็นไปทั่ว. หลังจากนั้นไม่กี่นาที ทีบอร์ก็หมดสติ.
เดือนถัดมา ทีบอร์กับพี่น้องชายหญิงมากกว่า 60 คนถูกดำเนินคดี. บราเดอร์อันดราส บาร์ทา, บราเดอร์เดเนส ฟาลูเวจี, และบราเดอร์ยานอส คอนราด ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ. บราเดอร์อันดราส พิลลิงก์ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และสามีฉันถูกตัดสินจำคุก 12 ปี. ความผิดของพวกเขาน่ะหรือ? อัยการฟ้องเขาด้วยข้อหาว่าเป็นกบฏ, ปฏิเสธการเป็นทหาร, ทำจารกรรม, พูดให้ร้ายหมิ่นประมาทคริสตจักรศักดิ์สิทธิ์ที่สุด. ในเวลาต่อมาโทษประหารชีวิตได้เปลี่ยนเป็นการจำคุกตลอดชีวิต.
ฉันเป็นรายต่อไป
สองวันหลังจากทีบอร์ออกจากบ้านไปพบพี่น้องที่เมืองเดเบรเซน ฉันลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าก่อนหกนาฬิกา กำลังรีดเสื้อผ้าอยู่. ทันใดนั้นเอง เสียงเคาะประตูดังปัง ๆ. ฉันนึกว่า ‘พวกเขามาแล้ว.’ ตำรวจหกนายเดินอาด ๆ เข้ามาและแจ้งว่าเขามาพร้อมกับหมายค้น. ทุกคนในบ้านถูกจับและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจ รวมลูกชายวัยสามขวบของเราด้วย. วันเดียวกันเราถูกย้ายเข้าคุกที่เมืองปีเตอร์วาชารา ประเทศฮังการี.
หลังจากไปถึงที่นั่น ฉันเป็นไข้และถูกแยกอยู่ต่างหากจากนักโทษคนอื่น. ครั้นอาการทุเลาแล้ว ทหารสองนายได้มาที่ห้องขังและทะเลาะเถียงกันด้วยเรื่องของฉัน. คนหนึ่งพูดว่า “เราต้องยิง! ผมจะยิงเธอเอง!” แต่อีกคนหนึ่งอยากตรวจสุขภาพของฉันก่อนลงมือ. ฉันอ้อนวอนเขาขออย่าเอาชีวิตฉันเลย. ในที่สุดเขาก็ละจากห้องขังไป และฉันขอบคุณพระยะโฮวาที่ทรงโปรดช่วยชีวิตฉันไว้.
พวกผู้คุมมีวิธีพิเศษในการซักถาม. เขาออกคำสั่งให้ฉันนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น, เอาถุงเท้ายัดปาก, มัดมือมัดเท้า, และเฆี่ยนฉันจนกระทั่งเลือดออก. เขาหยุดเฆี่ยนตอนที่ทหารคนหนึ่งบอกว่าเขาเหนื่อยหมดแรงแล้ว. เขาซักถามเรื่องสามีฉันไปพบใครในวันที่เขาถูกจับ. ฉันไม่ยอมบอก จึงเป็นอันว่าการเฆี่ยนยืดเยื้อต่อเนื่องถึงสามวัน. พอวันที่สี่ เขาอนุญาตให้ฉันนำลูกชายไปฝากไว้กับแม่. ฉันเอาลูกชาย
ขี่หลังที่เต็มด้วยรอยแผล และเดินฝ่าอากาศเย็นเยือกเป็นระยะทาง 13 กิโลเมตรกว่าจะถึงสถานีรถไฟ. จากที่นั่น ฉันขึ้นรถไฟไปบ้าน แต่ต้องกลับเข้าค่ายในวันเดียวกัน.ฉันถูกตัดสินจำคุกหกปีในกรุงบูดาเปสต์. พอมาถึง ฉันได้รับทราบว่าทีบอร์ติดคุกที่นั่นด้วย. เราดีใจมากเมื่อเขาอนุญาตให้พูดคุยกันผ่านลูกกรงเหล็ก แม้ให้เวลาเราเพียงไม่กี่นาที! เราสองคนต่างตระหนักถึงความรักของพระยะโฮวาและช่วงเวลาสั้น ๆ อันมีค่านี้ได้เสริมกำลังเราให้เข้มแข็งขึ้น. ก่อนเราจะเห็นหน้ากันอีก เราทั้งสองต้องผ่านการทดสอบที่ร้ายกาจน่ากลัวครั้งแล้วครั้งเล่า หลายครั้งรอดตายมาได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด.
จากคุกหนึ่งไปอีกคุกหนึ่ง
พวกเราพี่น้องหญิงประมาณ 80 คนอยู่รวมกันอย่างแออัดในห้องขังห้องเดียว. เราเฝ้ารออยากได้อาหารฝ่ายวิญญาณบ้าง แต่ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะนำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้ามาในเรือนจำ. เราจะได้อะไรบางอย่างจากในคุกแห่งนี้ไหม? ขอฉันเล่าว่าเราทำอย่างไร. ฉันอาสาชุนถุงเท้าให้เจ้าหน้าที่เรือนจำ. ฉันได้เขียนคำขอเพื่อจะได้หมายเลขตามแคตตาล็อกของพระคัมภีร์ที่มีอยู่ในห้องสมุดเรือนจำลงบนแผ่นกระดาษ และยัดลงในถุงเท้าข้างหนึ่ง. เพื่อจะไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ฉันเพิ่มชื่อหนังสือประเภทอื่นลงไปสองเล่ม.
วันรุ่งขึ้น ฉันได้รับถุงเท้าอีกตั้งหนึ่งจากเจ้าหน้าที่. มีคำตอบใส่ไว้ในถุงเท้าข้างหนึ่ง. แล้วฉันได้ให้หมายเลขแก่ผู้คุมและขอหนังสือเหล่านั้น. เราดีใจมากเมื่อได้หนังสือมาอ่าน รวมทั้งพระคัมภีร์! เราเวียนส่งคืนหนังสืออื่น ๆ ทุกสัปดาห์ ส่วนพระคัมภีร์นั้น เราไม่ได้ส่งคืน. เมื่อผู้คุมถาม เราก็ตอบเสมอว่า “เล่มมันใหญ่ ใคร ๆ ก็อยากอ่าน.” ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีพระคัมภีร์อ่าน.
วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเชิญฉันเข้าไปในห้องทำงานของเขา. ท่าทางเขาสุภาพต่างจากคนอื่น.
เขาพูดว่า “คุณฮาฟฟ์เนอร์ ผมมีข่าวดีแจ้งคุณ. คุณกลับบ้านได้แล้ว. อาจเป็นพรุ่งนี้หรือวันนี้ด้วยซ้ำถ้ามีรถไฟไป.”
“ถ้าเป็นอย่างที่ว่าก็วิเศษ” ฉันตอบ.
เขาพูดว่า “แน่นอน วิเศษจริง ๆ. คุณมีลูกและผมคิดว่าคุณก็ต้องการอบรมเลี้ยงดูลูกของคุณ.” แล้วเขาพูดเสริมว่า “เพียงแต่เซ็นชื่อตรงนี้นะ.”
“นี่จดหมายอะไร?” ฉันถาม.
“อย่ากังวลไปเลย” เขายืนกราน. “แค่เซ็นชื่อ คุณก็กลับบ้านได้.” และเขาบอกว่า “ทันทีที่คุณกลับบ้าน คุณทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำ. แต่ตอนนี้คุณต้องเซ็นรับว่าฐานะการเป็นพยานพระยะโฮวาของคุณได้สิ้นสุดลง.”
ฉันก้าวถอยหลังและปฏิเสธอย่างหนักแน่น.
“ถ้าเช่นนั้น คุณจะตายที่นี่!” เขาตะโกนด้วยความโกรธและไล่ฉันออกจากห้อง.
เดือนพฤษภาคม 1943 ฉันถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำอีกแห่งหนึ่งในกรุงบูดาเปสต์ และต่อจากนั้นไปที่หมู่บ้านมาเรียนอซทรา ซึ่งที่นั่นเราอยู่รวมกับแม่ชีประมาณ 70 คนในอารามแห่งหนึ่ง. แม้อดอยากและประสบความยากลำบากอื่น ๆ แต่พวกเรากระตือรือร้นที่จะบอกเล่าให้พวกแม่ชีทราบเกี่ยวกับความหวังของเรา. แม่ชีคนหนึ่งสนใจข่าวสารของเรามาก และกล่าวว่า “คำสอนเหล่านี้งดงาม. ฉันไม่เคยได้ยินอะไรอย่างนี้มาก่อน. ช่วยเล่าให้ฉันรู้มาก ๆ เถอะ.” เราพูดเรื่องโลกใหม่และชีวิตที่แสนวิเศษเมื่อได้อยู่ที่นั่น. ในระหว่างการพูดคุยกัน แม่ชีอธิการก็มาถึงและสั่งแม่ชีที่สนใจออกไปจากที่นั่นทันที เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ถูกถอดออกและเธอถูกเฆี่ยนอย่างแรงด้วยแส้. เมื่อเราได้เจอเธออีก เธอขอร้องว่า “โปรดอธิษฐานทูลพระยะโฮวาขอพระองค์คุ้มครองฉันและนำฉันออกไปจากอารามแห่งนี้. ฉันอยากเป็นคนหนึ่งในพวกคุณ.”
ปลายทางที่เราจะไปต่อคือเรือนจำในเมืองโคมาโรม บนฝั่งแม่น้ำดานูบ ประมาณ 80 กิโลเมตรทางตะวันตกของกรุงบูดาเปสต์. สภาพความเป็นอยู่แย่มาก. เช่นเดียวกันกับพี่น้องหญิงหลายคน ฉันล้มป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ อาเจียนเป็นเลือดและอ่อนเพลีย. เราไม่มีหยูกยารักษาและคิดว่าจะตายแน่ ๆ. แต่พอดีเจ้าหน้าที่กำลังต้องการคนถนัดทำงานออฟฟิศ. พวกพี่น้องหญิงต่างก็เสนอชื่อฉัน. ดังนั้น ฉันจึงได้ยามากินและหายเป็นปกติ.
กลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัว
เนื่องจากกองทัพโซเวียตรุกไล่เข้ามาจากทางตะวันออก เราจำต้องร่นไปทางตะวันตก. ที่จะพรรณนาความน่าสะพรึงกลัวทุกอย่างที่เราได้พานพบก็คงต้องใช้เวลาเล่านาน. ฉันหวุดหวิดตายหลายครั้ง แต่รอดชีวิตมาได้โดยพระหัตถ์ของพระยะโฮวาที่ทรงปกป้องคุ้มครอง. ตอนที่สงครามยุติ เราอยู่ที่เมืองทาบอร์ในสาธารณรัฐเช็ก ห่างจากกรุงปรากประมาณ 80 กิโลเมตร. เราใช้เวลาเดินทางนานกว่าสามสัปดาห์กว่าฉันกับแมกดาเลนาน้องสาวสามีจะไปถึงบ้านของเราในเมืองลูเชนเยตซ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1945.
ฉันสามารถมองเห็นแม่สามีและทีบอร์ลูกชายสุดที่รักในลานบ้านตั้งแต่ไกล. ฉันเรียกชื่อ “ทีบิก!” ด้วยน้ำตาคลอเบ้า. เขาวิ่งและกระโดดสู่อ้อมแขนฉัน. “แม่จะไม่จากผมไปไหนอีกใช่ไหม?” นั่นคือคำพูดแรกที่ลูกพูดกับฉัน และฉันจะไม่มีวันลืมถ้อยคำเหล่านั้น.
พระยะโฮวาทรงสำแดงความเมตตาต่อทีบอร์สามีของฉันเช่นกัน. เขาถูกย้ายจากเรือนจำในบูดาเปสต์ไปสู่ค่ายแรงงานที่เมืองบอร์ พร้อมกับพี่น้องชายอีก 160 คน. พวกเขาเฉียดตายหลายครั้ง แต่ฐานะเป็นกลุ่ม เขาได้รับการพิทักษ์ชีวิตไว้. ทีบอร์กลับบ้านเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1945 ก่อนหน้าฉันประมาณหนึ่งเดือน.
หลังสงคราม พวกเรายังคงต้องการได้รับกำลังจากพระยะโฮวาเพื่อจะผ่านพ้นความทุกข์ยากตลอดเวลาอีก 40 ปีในประเทศเชโกสโลวะเกียสมัยนั้น ภายใต้ระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์. อีกครั้งหนึ่ง ทีบอร์ถูกตัดสินจำคุกระยะยาว และฉันต้องดูแลลูกชายของเราโดยไม่มีทีบอร์ช่วย. ภายหลังเมื่อรับการปลดปล่อยแล้ว ทีบอร์ปฏิบัติงานฐานะผู้ดูแลเดินทาง. ในช่วง 40 ปีแห่งการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ พวกเราใช้ทุกโอกาสแบ่งปันความเชื่อของเรา. เราสามารถช่วยหลายคนเรียนความจริง. ด้วยเหตุนี้ คนที่เราช่วยจึงกลายมาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของเรา.
เราชื่นชมยินดีมากเพียงใดเมื่อเราได้รับเสรีภาพทางศาสนาในปี 1989! ปีต่อมา เราได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ครั้งแรกในประเทศของเราหลังจากว่างเว้นมานาน. เมื่อเห็นพี่น้องชายหญิงนับหมื่นคนที่ได้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของตนนานนับสิบ ๆ ปี เรารู้ว่าพระยะโฮวาเป็นแหล่งกำลังอันเข้มแข็งสำหรับพวกเขาทั้งมวล.
วันที่ 14 ตุลาคม 1993 ทีบอร์สามีที่รักของฉันได้ล่วงลับไปอย่างคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า. เวลานี้ฉันอยู่ใกล้ลูกชายในเมืองซิลีนา สโลวะเกีย. ฉันไม่ค่อยมีกำลังแข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ทว่า ทางฝ่ายวิญญาณของฉันเข้มแข็งโดยฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา. ฉันเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่าโดยการพึ่งกำลังจากพระยะโฮวา ฉันจะทนการทดสอบใด ๆ ในระบบเก่านี้ได้. ยิ่งกว่านั้น โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา ฉันรอเวลาที่ฉันจะมีชีวิตตลอดไป.
[ภาพหน้า 20]
ทีบอร์ ลูกชายของฉัน (อายุ 4 ขวบ) ซึ่งฉันจำพรากจากเขาไป
[ภาพหน้า 21]
ทีบอร์ ผู้เป็นพ่อ และพี่น้องพยานฯ อื่น ๆ ในเมืองบอร์
[ภาพหน้า 22]
กับทีบอร์และแมกดาเลนา น้องสามีถ่ายเมื่อปี 1947 ที่เมืองเบอร์โน
[ภาพหน้า 23]
ฉันหวุดหวิดตายหลายครั้ง แต่รอดชีวิตมาได้โดยพระหัตถ์ของพระยะโฮวาที่ทรงปกป้องคุ้มครอง