ชนพื้นเมืองของเม็กซิโกได้ยินข่าวดี
ชนพื้นเมืองของเม็กซิโกได้ยินข่าวดี
ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2002 กลุ่มชาวมีเก ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของเม็กซิโก ได้ชุมนุมกันในซาน มีเกล เคว็ตซาลเทเพก. นี่เป็นเมืองหนึ่งในรัฐโออาซากาที่สวยงามทางภาคใต้. ชนกลุ่มนี้เข้าร่วมการประชุมภาคของพยานพระยะโฮวา. จุดเด่นของระเบียบวาระในเช้าวันนั้นคือละครเกี่ยวกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล.
เมื่อได้ยินคำแรกของละครนี้ ผู้ฟังตื่นตะลึง. พวกเขาตอบสนองด้วยการปรบมือ หลายคนในพวกเขาน้ำตาซึม. ละครนี้แสดงในภาษามีเก! เมื่อละครจบแล้ว หลายคนแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อพระพรที่ได้รับโดยมิได้คาดหมายนี้. สตรีคนหนึ่งกล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่ดิฉันสามารถเข้าใจละคร. มันเข้าถึงหัวใจดิฉัน.” อีกคนหนึ่งบอกว่า “ตอนนี้ถึงจะตายฉันก็พอใจแล้วล่ะ เพราะพระยะโฮวาทรงให้ฉันได้ชมละครในภาษาของตัวเอง.”
สิ่งที่ได้เกิดขึ้นตอนเช้าวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งความพยายามอย่างสุดกำลังไม่นานมานี้โดยพยานพระยะโฮวาในเม็กซิโกเพื่อจะเข้าถึงชนพื้นเมืองพร้อมด้วยข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
พระยะโฮวาทรงฟังคำอธิษฐาน
มีชนพื้นเมืองมากกว่า 6,000,000 คนในเม็กซิโก—มากพอที่จะตั้งชาติของตนเองขึ้น ชาติที่มีหลากหลายวัฒนธรรมพร้อมกับภาษาต่าง ๆ 62 ภาษา. ในบรรดาภาษาเหล่านี้มีสิบห้าภาษาที่มีมากกว่า 100,000 คนพูดแต่ละภาษานี้. มีชนพื้นเมืองมากกว่า 1,000,000 คนไม่ได้พูดภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาทางการของเม็กซิโก. และในบรรดาคนเหล่านั้นที่พูดภาษาสเปนได้ หลายคนเรียนรู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลในภาษาของตนเองได้ง่ายกว่า. (กิจการ 2:6; 22:2) บางคนได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาหลายปี กระนั้น ความเข้าใจของเขามีจำกัด. ดังนั้น การมีข่าวสารแห่งความจริงในภาษาของตัวเองจึงเป็นหัวข้อในคำอธิษฐานของพวกเขามาชั่วระยะเวลาหนึ่ง.
เพื่อจะรับมือกับข้อท้าทายดังกล่าว สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในเม็กซิโกเริ่มการจัดเตรียมต่าง ๆ ในปี 1999 เพื่อจัดการประชุมประชาคมในภาษาพื้นเมือง. มีการตั้งทีมแปลขึ้นด้วย. พอถึงปี 2000 ละครในการประชุมภาคได้จัดแสดงในภาษามายา และต่อมาในภาษาอื่นอีกหลายภาษา.
ขั้นตอนต่อไปคือการลงมือแปลคู่มือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลของพยานพระยะโฮวา. ทีแรก จุลสารเพลิดเพลินกับชีวิตบนแผ่นดินโลกตลอดไป! ได้รับการแปลในภาษาวาเว, มายา, มาซาเทโก, โทโทนัก, ทเซลทัล, และทโซทซิล. ต่อจากนั้นมีการแปลสิ่งพิมพ์อีกหลายอย่าง รวมทั้งพระราชกิจของเราที่พิมพ์เป็นประจำในภาษามายา. มีการทำตลับเทปบันทึกเสียงเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์บางอย่างด้วย. เพื่อสอนชนพื้นเมืองให้อ่านและเขียนภาษาของตนเองได้ มีการดัดแปลงจุลสารที่มีชื่อว่า จงทุ่มเทตัวเพื่อการอ่านและการเขียน สำหรับใช้ในท้องถิ่น. ปัจจุบันมีการผลิตสรรพหนังสือเกี่ยวกับ
คัมภีร์ไบเบิลในภาษาพื้นเมือง 15 ภาษา และกำลังจะมีการผลิตสิ่งพิมพ์อีกหลายอย่าง.“ใช้ความพยายามทุกวิถีทาง”
งานแปลไม่ใช่เรื่องง่าย. เหตุผลประการหนึ่งคือ สรรพหนังสือทั่วไปที่จัดพิมพ์ในภาษาพื้นเมืองของเม็กซิโกมีน้อยจริง ๆ. ในหลายกรณี การหาพจนานุกรมเป็นเรื่องยาก. นอกจากนี้ บางภาษาก็มีภาษาถิ่นหลากหลาย. ตัวอย่างเช่น ในภาษาซาโปเทกภาษาเดียว มีการพูดภาษาถิ่นอย่างน้อยห้าภาษา. ภาษาถิ่นเหล่านี้แตกต่างกันมากจนชาวซาโปเทกจากเขตต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าใจกันและกันได้.
นอกจากนี้ เมื่อไม่มีมาตรฐานสำหรับภาษาที่ยอมรับกันอย่างเป็นทางการ ผู้แปลจึงต้องตั้งมาตรฐานบางอย่างขึ้นเอง. นี่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและการปรึกษาหารือกันอย่างมาก. ไม่น่าแปลกที่ตอนแรกพวกเขาหลายคนรู้สึกเช่นเดียวกับเอลิดา ผู้แปลจากทีมแปลภาษาวาเว! เธอเล่าว่า “เมื่อดิฉันได้รับเชิญมาสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในเม็กซิโกเพื่อทำงานแปล ดิฉันมีความรู้สึกสองอย่าง คือมีความยินดีและความหวั่นกลัว.”
ผู้แปลต้องเรียนรู้ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์, การจัดตารางเวลา, และเทคนิคการแปล. ที่จริง งานนี้เป็นเรื่องยากทีเดียวสำหรับพวกเขา. พวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับงานนี้? กโลรีอา สมาชิกคนหนึ่งในทีมแปลภาษามายาตอบว่า “เรามีความยินดีสุดจะพรรณนาที่ได้มีส่วนในการแปลสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษามายา ซึ่งเป็นภาษาของเราเอง.” และผู้ดูแลคนหนึ่งในแผนกแปลตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้แปลว่า “พวกเขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลในภาษาของตนจนถึงกับใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะความยุ่งยากนั้น.” นั่นเป็นสิ่งที่คุ้มค่าไหม?
“ขอบคุณพระยะโฮวา!”
พระพรของพระยะโฮวาปรากฏชัดเหนืองานในเขตที่ใช้ภาษาพื้นเมือง. จำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์และการประชุมใหญ่ฝ่ายคริสเตียนได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า. ตัวอย่างเช่น ในปี 2001 พยานฯ ที่พูดภาษามีเก 223 คนได้ประชุมกันเพื่อฉลองอนุสรณ์การวายพระชนม์ของพระคริสต์. แต่มีผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งหมด 1,674 คน—เจ็ดเท่าครึ่งของจำนวนพยานฯ!
บางคนซึ่งยอมรับความจริง ขณะนี้สามารถเข้าใจความจริงอย่างถูกต้องตั้งแต่ตอนเริ่มต้น. มีร์นาจำสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับเธอก่อนที่มีการจัดการประชุมในภาษามายา. เธอกล่าวว่า “ดิฉันได้รับบัพติสมาภายหลังการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลสามเดือน. ดิฉันรู้ว่าตัวเองควรจะรับบัพติสมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าดิฉันไม่ได้เข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลถึงขีดที่ตัวเองน่าจะเข้าใจ. ดิฉันคิดว่าสาเหตุก็คือภาษาของตัวเองคือภาษามายา และดิฉันไม่เข้าใจภาษาสเปนดีจริง ๆ. ดิฉันต้องใช้เวลาชั่วระยะหนึ่งเพื่อจะเข้าใจความจริงอย่างแท้จริง.” ปัจจุบัน เธอและสามียินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมแปลภาษามายา.
สำหรับทุกคนในประชาคมต่าง ๆ นับว่าเป็นความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับสิ่งพิมพ์ในภาษาของเขาเอง. เมื่อมีการเสนอจุลสารเพลิดเพลินกับชีวิตบนแผ่นดินโลกตลอดไป! ในภาษาทโซทซิลซึ่งแปลไม่นานมานี้ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้เริ่มเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนได้กอดจุลสารนี้ไว้แนบอกแล้วอุทาน
ว่า “ขอบคุณพระยะโฮวา!” รายงานต่าง ๆ แสดงว่านักศึกษาพระคัมภีร์หลายรายได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้นจนถึงขั้นรับบัพติสมา, ผู้ที่เลิกประกาศก็ได้กลับมาประกาศอีก, และพี่น้องชายคริสเตียนหลายคนตอนนี้รู้สึกว่ามีคุณวุฒิที่จะรับเอาหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ในประชาคม. เจ้าของบ้านบางคนเต็มใจมากขึ้นที่จะรับสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลในภาษาของตนเองและศึกษาหนังสือนั้น.มีรายหนึ่ง พยานฯ คนหนึ่งไปเพื่อนำการศึกษาพระคัมภีร์ แต่นักศึกษาไม่อยู่บ้าน. เมื่อสามีของนักศึกษามาที่ประตูบ้าน เธอได้เสนอที่จะอ่านจากจุลสารให้เขาฟัง. เขาตอบว่า “ผมไม่ต้องการอะไร.” พี่น้องหญิงพูดกับเขาเป็นภาษาโทโทนักว่าจุลสารนี้เป็นภาษาของเขา. เมื่อได้ยินอย่างนั้น ชายคนนี้จึงลากม้านั่งมาแล้วก็นั่งลง. ขณะที่เธออ่านให้เขาฟัง เขาก็พูดเรื่อย ๆ ว่า “นี่เป็นความจริง. ใช่แล้ว นี่เป็นความจริง.” ตอนนี้เขาเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนรายการต่าง ๆ.
ในรัฐยูกาตัง สามีของพยานฯ คนหนึ่งต่อต้านความจริงและบางครั้งทุบตีภรรยาเมื่อกลับมาจากการประชุม. เมื่อเริ่มมีการจัดประชุมในภาษามายา เธอได้ตัดสินใจชวนเขา. เขามาและชอบการประชุมจริง ๆ. ตอนนี้เขาเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ, ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, และแน่นอนไม่ได้ทุบตีภรรยาอีกต่อไป.
ชายคนหนึ่งที่พูดภาษาโทโทนักได้บอกพยานฯ สองคนว่าเขาไม่เคยอธิษฐาน เพราะบาทหลวงคาทอลิกเคยบอกเขาว่าพระเจ้าฟังคำอธิษฐานเฉพาะแต่ในภาษาสเปนเท่านั้น. ที่จริง เขาต้องจ่ายเงินให้บาทหลวงเพื่ออธิษฐานแทน2 โครนิกา 6:32, 33; บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
คนที่พูดภาษาโทโทนัก. พยานฯ อธิบายว่าพระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานทุกภาษา และได้ให้จุลสารภาษาโทโทนักแก่เขา ซึ่งเขาก็ได้รับไว้ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง.—“คูอัลทซิน ทักโทอัว”
ด้วยความรู้สึกตื่นเต้นกับพัฒนาการเหล่านี้ ผู้ประกาศราชอาณาจักรหลายคนพยายามจะเรียนภาษาพื้นเมือง หรือไม่ก็ปรับปรุงความรู้ของเขาในภาษาหนึ่ง. นี่เป็นสิ่งที่ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งซึ่งรับใช้ห้าประชาคมที่พูดภาษานาอัวเติลในรัฐปวยบลาทางเหนือทำอยู่พอดี. เขาเล่าว่า “เด็ก ๆ ที่เคยนอนหลับระหว่างการประชุมตื่นตัวกันจริง ๆ และตั้งใจฟังเมื่อผมพูดในภาษานาอัวเติล. ในตอนจบการประชุมรายการหนึ่ง เด็กชายวัยสี่ขวบมาหาผมแล้วพูดว่า ‘คูอัลทซิน ทักโทอัว’ (คุณพูดได้ดีครับ). นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าคุ้มค่ากับความพยายามจริง ๆ.”
ใช่แล้ว เขตที่ใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นเหมือนทุ่งนาที่ “เหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว” อย่างแท้จริง และคนเหล่านั้นที่มีส่วนร่วมในการเก็บเกี่ยวนี้รู้สึกว่าได้กำลังใจอย่างมาก. (โยฮัน 4:35) โรเบอร์โตซึ่งทำงานเพื่อจัดระเบียบทีมงานแปลสรุปด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้: “เป็นประสบการณ์อันยากจะลืมเลือนที่เห็นพี่น้องชายหญิงของเราหลั่งน้ำตาด้วยความยินดีขณะที่พวกเขาฟังความจริงในภาษาของตนเองแล้วเข้าใจ. การคิดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกตื้นตันใจ.” ไม่ต้องสงสัย การช่วยสุจริตชนเหล่านี้ให้ยืนหยัดอยู่ฝ่ายราชอาณาจักรนำความยินดีมาสู่พระหฤทัยของพระยะโฮวาด้วย.—สุภาษิต 27:11.
[กรอบหน้า 10]
มารู้จักผู้แปลบางคน
● “คุณพ่อคุณแม่ได้สอนความจริงให้ดิฉันตั้งแต่ดิฉันจำความได้. น่าเศร้า ตอนที่ดิฉันอายุ 11 ปี คุณพ่อได้ออกจากประชาคมคริสเตียนไป. สองปีต่อมา คุณแม่ก็ทิ้งพวกเราไป. เนื่องจากเป็นพี่สาวคนโตในบรรดาพี่น้องห้าคน ดิฉันต้องแบกความรับผิดชอบของคุณแม่ ถึงแม้ดิฉันยังเรียนหนังสืออยู่.
“เราได้รับการเกื้อหนุนด้วยความรักจากพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณของเรา แต่ชีวิตลำเค็ญ. บางครั้งดิฉันสงสัยว่า ‘ทำไมเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉัน? ฉันยังเด็กมาก!’ ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเท่านั้นทำให้ดิฉันรับมือกับปัญหานี้ได้. หลังจากจบชั้นเรียนมัธยมปลาย ดิฉันได้มาเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลา และนั่นช่วยดิฉันอย่างมาก. เมื่อมีการตั้งทีมแปลภาษานาอัวเติล ดิฉันได้รับเชิญให้มาเป็นสมาชิกของทีมนี้.
“ตอนนี้คุณพ่อกลับเข้ามาสมทบกับประชาคมอีก และน้องชายกับน้องสาวของดิฉันรับใช้พระยะโฮวา. การรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาคุ้มค่ากับความพยายามจริง ๆ. พระองค์ทรงอวยพรครอบครัวดิฉันมากทีเดียว.”—อะลิเซีย.
● “เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งที่เป็นพยานฯ ได้บรรยายเรื่องต้นกำเนิดของชีวิตที่โรงเรียน. ตอนนั้นผมขาดเรียนจึงเป็นห่วงเรื่องการสอบซึ่งจะมีคำถามในเรื่องนั้น ดังนั้น ผมจึงขอเธออธิบายเรื่องนั้นให้ผมฟัง. ผมเคยสงสัยเสมอว่าทำไมคนเราจึงตาย. เมื่อเธอเสนอหนังสือมีผู้สร้าง *ให้ผม รวมทั้งชวนให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ผมได้ตอบตกลง. ผมรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งในพระประสงค์และความรักของพระผู้สร้าง.
“เมื่อเรียนจบแล้ว ผมมีโอกาสที่จะเป็นครูสอนสองภาษาคือสเปนและทโซทซิล. แต่จะต้องย้ายไปอยู่ไกล, มีชั้นเรียนพิเศษตอนสุดสัปดาห์, ทั้งต้องขาดการประชุมคริสเตียน. ผมจึงทำงานเป็นช่างก่ออิฐแทน. คุณพ่อของผมซึ่งไม่ได้เป็นพยานฯ ไม่ชอบการตัดสินใจของผมเลย. ต่อมา ขณะที่รับใช้ฐานะไพโอเนียร์ ได้มีการจัดตั้งทีมงานแปลสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลในภาษาทโซทซิล. ผมได้รับการกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในทีมงานนี้.
“ผมเห็นว่าการมีสรรพหนังสือในภาษาของตนเองทำให้พี่น้องชายหญิงของเรารู้สึกว่ามีคนเห็นคุณค่าและให้เกียรติเขา. นั่นทำให้อิ่มใจพอใจจริง ๆ. ผมรู้สึกว่าเป็นสิทธิพิเศษอย่างสูงส่งที่ได้ทำงานมอบหมายนี้.”—อูมเบอร์โท.
● “ตอนดิฉันอายุหกขวบ คุณแม่ได้ทิ้งเราไป. ช่วงที่ดิฉันอยู่ในวัยรุ่น คุณพ่อได้เริ่มศึกษากับพยานพระยะโฮวา. วันหนึ่งพี่น้องหญิงคนหนึ่งได้เสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแก่ดิฉันซึ่งรวมเอาคำแนะนำสำหรับคนหนุ่มสาวไว้ด้วย. ในฐานะเป็นวัยรุ่นที่ไม่มีแม่ ดิฉันรู้สึกว่าการศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดิฉันต้องการทีเดียว. ดิฉันได้รับบัพติสมาตอนอายุ 15 ปี.
“ในปี 1999 คุณพ่อถูกคนชั่วบางคนฆ่าเพราะต้องการที่ดินของท่าน. ดิฉันท้อแท้สิ้นหวัง. ดิฉันเป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงและรู้สึกว่าคงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้. แต่ดิฉันได้เฝ้าอธิษฐานขอกำลังจากพระยะโฮวาอยู่เสมอ ๆ. ผู้ดูแลเดินทางและภรรยาได้ให้กำลังใจดิฉันมาก. ไม่นานดิฉันก็ได้เป็นไพโอเนียร์ประจำ.
“ครั้งหนึ่งดิฉันได้สังเกตเห็นบางคนซึ่งเดินเป็นเวลาหกชั่วโมงเพียงเพื่อฟังคำบรรยาย 20 นาทีในภาษาโทโทนัก ถึงแม้ส่วนอื่นของการประชุมเป็นภาษาสเปนซึ่งพวกเขาไม่เข้าใจ. ดังนั้น ดิฉันจึงรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้รับเชิญให้ช่วยแปลสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาโทโทนัก.
“ดิฉันเคยบอกคุณพ่อว่าตัวเองใฝ่ฝันอยากรับใช้ที่สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวา. ท่านบอกดิฉันว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กสาวโสดอย่างดิฉันจะได้รับเชิญไปทำงานที่นั่น. ท่านคงจะตื่นเต้นสักเพียงไรเมื่อกลับเป็นขึ้นจากตายมาพบว่าดิฉันสามารถทำได้ คือแปลสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาของเราเอง!”—เอดิท.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 28 ชีวิต—เกิดขึ้นมาอย่างไร? โดยวิวัฒนาการหรือมีผู้สร้าง? จัดพิมพ์ในปี 1985 โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 9]
สมาชิกของทีมแปลภาษาทโซทซิลกำลังพิจารณาคำหนึ่งที่แปลยาก