ถูกเกลียดชังโดยไม่มีเหตุ
ถูกเกลียดชังโดยไม่มีเหตุ
“เขาได้ชังเราโดยไม่มีเหตุ.”—โยฮัน 15:25.
1, 2. (ก) เหตุใดบางคนรู้สึกฉงนที่คริสเตียนถูกกล่าวร้าย แต่ทำไมคริสเตียนไม่ควรประหลาดใจกับคำพูดเช่นนั้น? (ข) คำว่า “ชัง” ในความหมายใดที่เราจะพิจารณากันในบทความนี้? (ดูเชิงอรรถ)
พยานพระยะโฮวาพยายามดำเนินชีวิตตามหลักการที่พบในพระคำของพระเจ้า. นั่นทำให้พวกเขามีชื่อเสียงที่ดีในหลาย ๆ ประเทศ. อย่างไรก็ตาม บางครั้งพวกเขาถูกทำให้เข้าใจผิด. ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนหนึ่งในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย จำได้ว่า “เคยมีการรายงานมายังเราว่าพยานพระยะโฮวาเป็นนิกายใต้ดินที่ประชุมกันอย่างลับ ๆ กับสังหารเด็ก ๆ และฆ่าตัวเอง.” แต่หลังจากได้ร่วมงานกับพยานพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับการประชุมนานาชาติครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่คนเดียวกันนี้กล่าวว่า “ตอนนี้ผมเห็นคนปกติธรรมดาที่มีหน้าตายิ้มแย้ม . . . พวกเขารักสันติ สงบเยือกเย็น และรักกันมากทีเดียว.” เขากล่าวเสริมอีกว่า “ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมจึงมีการพูดโกหกอย่างนั้นเกี่ยวกับพวกเขา.”—1 เปโตร 3:16.
2 ผู้รับใช้ของพระเจ้าไม่ได้มีความสุขที่ถูกใส่ความว่าเป็นทุรชน แต่ก็ไม่แปลกประหลาดใจที่ผู้คนใส่ร้ายพวกเขา. พระเยซูเตือนสาวกของพระองค์ไว้ล่วงหน้าว่า “ถ้าโลกนี้ชังท่านทั้งหลาย ๆ ก็รู้ว่าเขาได้ชังเราก่อน . . . การนั้นเกิดขึ้นเพื่อคำที่เขียนไว้ในพระบัญญัติของเขาจะสำเร็จซึ่งว่า, ‘เขาได้ชังเราโดยไม่มีเหตุ.’” * (โยฮัน 15:18-20, 25; บทเพลงสรรเสริญ 35:19; 69:4) ก่อนหน้านั้นพระองค์บอกเหล่าสาวกของพระองค์ไว้ว่า “ถ้าเขาได้เรียกเจ้าบ้านว่าเบละซะบูล ลูกบ้านของเขาจะถูกเรียกมากยิ่งกว่านั้นเท่าใด.” (มัดธาย 10:25) คริสเตียนเข้าใจว่าการอดทนต่อคำครหาเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “เสาทรมาน” ที่พวกเขาแบกรับเอาเมื่อเข้ามาเป็นผู้ติดตามพระคริสต์.—มัดธาย 16:24, ล.ม.
3. ผู้นมัสการแท้ถูกข่มเหงมายาวนานแค่ไหน?
3 การข่มเหงผู้นมัสการแท้มีประวัติมายาวนาน ย้อนไปจนถึงสมัยของ “เฮเบลผู้ชอบธรรม.” (มัดธาย 23:34, 35) การข่มเหงนี้ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ไม่กี่ครั้งโดยแต่ละครั้งไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน. พระเยซูตรัสว่า “คนทั้งปวง จะเกลียดชัง” สาวกของพระองค์ เนื่องมาจากนามของพระองค์. (มัดธาย 10:22) นอกจากนี้ อัครสาวกเปาโลเขียนว่าผู้รับใช้พระเจ้าทุกคน รวมถึงเราแต่ละคน ควรคาดหมายว่าจะถูกข่มเหง. (2 ติโมเธียว 3:12) ทำไมจึงมีการข่มเหงเช่นนี้?
แหล่งที่มาของความเกลียดชังโดยไม่มีเหตุ
4. คัมภีร์ไบเบิลเผยให้ทราบอย่างไรว่าใครคือแหล่งที่มาของความเกลียดชังโดยไม่มีเหตุทั้งปวง?
4 พระคำของพระเจ้าเผยให้ทราบว่า ตั้งแต่ตอนต้นประวัติศาสตร์มนุษย์ มีผู้หนึ่งที่ไม่ประจักษ์แก่ตาเป็นตัวการทำให้เกิดการข่มเหงดังกล่าว. ขอให้พิจารณากรณีของเฮเบล มนุษย์คนแรกที่มีความเชื่อ ซึ่งถูกฆ่าอย่างอำมหิต. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า คายิน พี่ชายเขาที่เป็นฆาตกรนั้น “มาจากมาร.” (1 โยฮัน 3:12) คายินรับเอาน้ำใจอย่างมาร และมารใช้เขาทำตามเป้าประสงค์อันชั่วร้ายของมัน. คัมภีร์ไบเบิลยังเผยให้ทราบด้วยถึงพฤติกรรมอันเหี้ยมโหดของซาตานพญามารในการโจมตีโยบและพระเยซูคริสต์. (โยบ 1:12; 2:6, 7; โยฮัน 8:37, 44; 13:27) พระธรรมวิวรณ์กล่าวอย่างชัดเจนถึงแหล่งที่มาของการข่มเหงเหล่าสาวกของพระเยซู โดยกล่าวว่า “พญามาร จะยังคงจับพวกเจ้าบางคนขังคุกต่อไปเพื่อพวกเจ้าจะถูกทดสอบเต็มที่.” (วิวรณ์ 2:10, ล.ม.) ถูกแล้ว ซาตานเป็นแหล่งที่มาของความเกลียดชังโดยไม่มีเหตุทั้งปวงที่เกิดกับประชาชนของพระเจ้า.
5. อะไรอยู่เบื้องหลังความเกลียดชังของซาตานต่อผู้นมัสการแท้?
1 ติโมเธียว 1:17; 3:6) มันอ้างว่าพระเจ้าปกครองมนุษย์เข้มงวดเกินไป และไม่มีใครรับใช้พระยะโฮวาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ คนเรารับใช้พระองค์เพียงเพราะหวังผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัว. ซาตานอ้างว่าถ้าพระเจ้ายอมให้มนุษย์ถูกทดลอง มันสามารถทำให้ทุกคนเลิกรับใช้พระเจ้า. (เยเนซิศ 3:1-6; โยบ 1:6-12; 2:1-7) ด้วยการใส่ร้ายพระยะโฮวาว่าเป็นผู้กดขี่, ผู้พูดโกหก, และผู้ล้มเหลว ซาตานพยายามตั้งตัวเองขึ้นเป็นองค์บรมมหิศรแข่งกับพระองค์. ด้วยเหตุนี้ ความเดือดดาลที่มันมีต่อผู้รับใช้พระเจ้าจึงเกิดจากการที่มันอยากได้รับการนมัสการนั่นเอง.—มัดธาย 4:8, 9.
5 อะไรอยู่เบื้องหลังความเกลียดชังของซาตานต่อผู้นมัสการแท้? ในแผนการหนึ่งซึ่งบ่งชี้ถึงการหลงตัวเองอย่างเหลือเชื่อ ซาตานยกตัวขึ้นแข่งขันกับ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเจริญนิรันดร์” พระยะโฮวาพระเจ้า. (6. (ก) เราแต่ละคนเกี่ยวข้องอย่างไรกับประเด็นเรื่องพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา? (ข) ความเข้าใจในเรื่องนี้ช่วยเรารักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างไร? (ดูกรอบหน้า 16)
6 คุณมองออกไหมว่าประเด็นนี้ส่งผลกระทบเช่นไรต่อคุณ? ฐานะที่เป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาคนหนึ่ง คุณคงพบว่าขณะที่การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเรียกร้องความพยายามอย่างจริงจัง แต่ว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำเช่นนั้นก็มีมากมาย. แต่คุณจะทำอย่างไร หากสภาพการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายและหลักการต่าง ๆ ของพระยะโฮวาต่อไปเป็นเรื่องยากลำบากหรือกระทั่งเดือดร้อนสำหรับคุณ? แล้วถ้าดูเหมือนคุณไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยล่ะ? คุณจะลงความเห็นไหมว่าไม่คุ้มค่าที่จะรับใช้พระยะโฮวาอีกต่อไป? หรือว่า ความรักที่มีต่อพระยะโฮวาและความชื่นชมในคุณลักษณะอันสง่างามของพระองค์จะกระตุ้นคุณให้ดำเนินในทางทั้งปวงของพระองค์ต่อ ๆ ไป? (พระบัญญัติ 10:12, 13) โดยการยอมให้ซาตานก่อความยากลำบากบางอย่างแก่เรา พระยะโฮวาเปิดโอกาสให้เราแต่ละคนตอบข้อคัดค้านของซาตาน.—สุภาษิต 27:11.
“เมื่อเขาจะติเตียน . . . ท่านทั้งหลาย”
7. อะไรคือกลวิธีอย่างหนึ่งที่พญามารใช้เพื่อพยายามทำให้เราละทิ้งพระยะโฮวา?
7 ตอนนี้ให้เรามาพิจารณาละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการกระทำอันมีเล่ห์เหลี่ยมอย่างหนึ่งที่ซาตานใช้เพื่อพยายามพิสูจน์ข้อกล่าวหาของมัน นั่นคือการใช้คำติเตียนที่ไม่เป็นความจริง. พระเยซูเรียกซาตานว่า “พ่อของการมุสา.” (โยฮัน 8:44) พญามารเป็นตัวเอ้ที่ใส่ร้ายพระเจ้า, คำตรัสของพระองค์ที่วางใจได้, และพระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์. พญามารใช้การใส่ร้ายที่กล่าวเป็นนัย ๆ, การกล่าวหาเท็จ, และการโกหกซึ่ง ๆ หน้าในการท้าทายพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา และมันใช้กลวิธีอย่างเดียวกันเพื่อใส่ความผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์. โดยการให้คำติเตียนทับถมพยานเหล่านี้ มันสามารถทำการทดลองที่หนักอยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก.
8. ซาตานทำให้โยบได้รับคำติเตียนโดยวิธีใด และผลเป็นเช่นไร?
8 ขอพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับโยบ ซึ่งชื่อของท่านมีความหมายว่า “เป้าแห่งความเกลียดชัง.” นอกจากจะทำให้โยบสูญเสียปัจจัยหาเลี้ยงชีพ, ลูก ๆ, และประสบโรคร้ายแล้ว ซาตานยังทำให้โยบดูเหมือนเป็นคนบาปที่ถูกพระเจ้าลงโทษ. แม้ว่าก่อนหน้านั้นโยบเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง แต่แล้วก็กลับเป็นที่ดูหมิ่นแม้กระทั่งจากญาติและเพื่อนสนิท. (โยบ 19:13-19; 29:1, 2, 7-11) นอกจากนี้ โดยทางผู้ปลอบประโลมจอมปลอม ซาตานพยายาม ‘ทำให้โยบชอกช้ำเป็นชิ้น ๆ ด้วยถ้อยคำ’ โดยทีแรกกล่าวเป็นนัย ๆ ว่าโยบคงทำบาปอะไรบางอย่างที่ร้ายแรง แล้ว ภายหลังก็กล่าวหาท่านตรง ๆ เลยว่ากระทำผิด. (โยบ 4:6-9; 19:2; 22:5-10) นั่นคงทำให้โยบท้อแท้ใจสักเพียงไร!
9. พระเยซูถูกทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคนบาปอย่างไร?
9 ฐานะผู้เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ พระบุตรของพระเจ้าตกเป็นเป้าสำคัญที่ซาตานเกลียดชัง. เมื่อพระเยซูเสด็จมายังโลก ซาตานพยายามทำลายภาพลักษณ์ของพระเยซู แบบเดียวกับที่มันทำกับโยบ ทำให้พระองค์ดูเหมือนเป็นคนบาป. (ยะซายา 53:2-4; โยฮัน 9:24) ประชาชนกล่าวว่าพระองค์เป็นคนดื่มจัดและตะกละ และว่าพระองค์ “มีผีสิงอยู่.” (มัดธาย 11:18, 19; โยฮัน 7:20; 8:48; 10:20) พระองค์ถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าพูดจาดูหมิ่น. (มัดธาย 9:2, 3; 26:63-66; โยฮัน 10:33-36) สิ่งนี้ทำให้พระเยซูทุกข์ร้อนพระทัย เนื่องจากพระองค์ทราบว่านั่นจะนำคำตำหนิมาสู่พระบิดาของพระองค์อย่างไม่สมควร. (ลูกา 22:41-44) ในที่สุด พระเยซูก็ถูกตรึงเยี่ยงอาชญากรที่ต่ำช้า. (มัดธาย 27:38-44) ในขณะที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างสมบูรณ์พร้อมนั้น พระเยซู “ทรงทนเอาการติเตียนนินทา” มากมายจาก “คนบาป” ทั้งหลาย.—เฮ็บราย 12:2, 3.
10. ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมตกเป็นเป้าของซาตานอย่างไรในสมัยปัจจุบัน?
10 สมัยปัจจุบัน สาวกผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่ของพระคริสต์ก็ตกเป็นเป้าความเกลียดชังของพญามารในลักษณะเดียวกัน. ซาตานถูกพรรณนาว่าเป็น “ผู้ที่กล่าวโทษพวกพี่น้องของ [พระคริสต์], ที่ได้กล่าวโทษเขาต่อพระพักตร์พระเจ้าทั้งกลางวันกลางคืน.” (วิวรณ์ 12:9, 10) ตั้งแต่ซาตานถูกขับออกจากสวรรค์และถูกจำกัดให้อยู่ที่บริเวณแผ่นดินโลก มันพยายามหนักขึ้นในการให้ภาพพวกพี่น้องของพระคริสต์ว่าเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ. (1 โกรินโธ 4:13) ในบางประเทศ พวกเขาถูกใส่ร้ายว่าเป็นลัทธิอันตราย เหมือนกับที่คริสเตียนศตวรรษแรกประสบ. (กิจการ 24:5, 14; 28:22) ดังที่กล่าวไปในตอนต้น พวกเขาถูกใส่ร้ายผ่านทางการโฆษณาชวนเชื่อด้วยเรื่องเท็จ. ถึงกระนั้น “โดยการได้รับเกียรติและการถูกดูหมิ่น โดยข่าวลือที่ไม่ดีและข่าวลือที่ดี” พี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “แกะอื่น” สหายของพวกเขา พยายาม “ประพฤติตามพระบัญญัติของพระเจ้า, และ . . . ยึดถือคำพยานของพระเยซู” ด้วยความถ่อมใจ.—2 โกรินโธ 6:8, ล.ม.; โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 12:17.
11, 12. (ก) คำติเตียนบางอย่างที่คริสเตียนประสบอาจเนื่องมาจากอะไร? (ข) คริสเตียนอาจทนทุกข์อย่างไม่เป็นธรรมเนื่องด้วยความเชื่อของตนในสภาพการณ์เช่นไรบ้าง?
11 แน่นอน ใช่ว่าคำติเตียนทุกอย่างที่ผู้รับใช้พระเจ้าแต่ละคนประสบจะเกิดขึ้นจากการเห็นแก่ “ความชอบธรรม” เสมอไป. (มัดธาย 5:10) ปัญหาบางอย่างอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของตัวเราเอง. เราจะไม่ได้มีคุณความดีอะไรเป็นพิเศษ หากเรา ‘ทนถูกเฆี่ยนด้วยอดกลั้นใจ เพราะการชั่ว’ ที่เรากระทำ. แต่หากคริสเตียน “มีใจเห็นแก่พระเจ้ายอมทนทุกข์เพราะการข่มเหงโดยไม่มีเหตุ, อย่างนี้แหละเป็นการชอบ” ในสายพระเนตรพระยะโฮวา. (1 เปโตร 2:19, 20) คริสเตียนอาจทนทุกข์ดังกล่าวในสภาพการณ์เช่นไรบ้าง?
12 บางคนถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายเนื่องจากไม่ยอมเข้าร่วมธรรมเนียมงานศพที่ขัดกับหลักพระคัมภีร์. (พระบัญญัติ 14:1) พยานฯ เยาวชนหลายคนกลายเป็นเป้าคำบริภาษไม่หยุดหย่อน เนื่องจากยึดมั่นมาตรฐานศีลธรรมของพระยะโฮวา. (1 เปโตร 4:4) บิดามารดาคริสเตียนบางคนถูกตราหน้าประณามว่า “ทอดทิ้งลูก” หรือ “ใจคอโหดร้าย” เนื่องจากแสวงหาการรักษาโดยไม่ใช่เลือดให้กับบุตรของตน. (กิจการ 15:29) คริสเตียนถูกญาติและเพื่อนบ้านตัดขาดเพียงเพราะเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา. (มัดธาย 10:34-37) คนเช่นนั้นกำลังดำเนินตามแบบอย่างที่พวกผู้พยากรณ์และพระเยซูวางไว้เรื่องการทนทุกข์อย่างไม่เป็นธรรม.—มัดธาย 5:11, 12; ยาโกโบ 5:10; 1 เปโตร 2:21.
อดทนเมื่อถูกติเตียน
13. อะไรจะช่วยเราให้ยืนมั่นฝ่ายวิญญาณอยู่ได้เมื่อเผชิญกับการติเตียนอย่างหนัก?
13 เมื่อเผชิญกับการติเตียนอย่างหนักเนื่องด้วยความเชื่อ เราอาจท้อใจเช่นเดียวกับผู้พยากรณ์ยิระมะยา และรู้สึกว่าไม่อาจรับใช้พระเจ้าได้อีกต่อไป. (ยิระมะยา 20:7-9) อะไรจะช่วยเราให้ยืนมั่นฝ่ายวิญญาณอยู่ได้? จงพยายามมองเรื่องนี้จากทัศนะของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงมองผู้ที่รักษาความภักดีเมื่อเผชิญการทดลองนั้นว่าเป็นผู้ชนะ ไม่ใช่ เหยื่อ. (โรม 8:37) ให้นึกภาพคนเหล่านั้น ทั้งชายและหญิง เช่น เฮเบล, โยบ, มาเรีย มารดาของพระเยซู, และผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ครั้งโบราณ กับเพื่อนผู้รับใช้ของเราสมัยปัจจุบัน ที่ได้เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา แม้จะได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามอะไรก็ตามที่พญามารอาจก่อให้พวกเขา. (เฮ็บราย 11:35-37; 12:1) จงใคร่ครวญแนวทางแห่งความซื่อสัตย์มั่นคงของพวกเขา. ผู้ภักดีหมู่ใหญ่เหล่านี้กวักมือเรียกเราไปยืนบนแท่นรับรางวัลร่วมกับพวกเขา อันเป็นแท่นที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่ชนะโลกโดยความเชื่อของตน.—1 โยฮัน 5:4.
14. การอธิษฐานอย่างจริงจังจะช่วยเสริมกำลังเราให้รักษาความซื่อสัตย์ได้อย่างไร?
14 ถ้า ‘เรามีความสาละวนในใจเป็นอันมาก’ เราสามารถเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานอย่างจริงจัง แล้วพระองค์จะประเล้าประโลมและเสริมกำลังเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 50:15; 94:19) พระองค์จะประทานสติปัญญาที่จำเป็นแก่เราเพื่อรับมือกับการทดลอง และช่วยให้ประเด็นสำคัญยิ่ง อันได้แก่เรื่องพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา ซึ่งอยู่เบื้องหลังความเกลียดชังโดยไม่มีเหตุซึ่งเกิดขึ้นกับผู้รับใช้ของพระองค์นั้น แจ่มชัดในความคิดเราอยู่เสมอ. (ยาโกโบ 1:5) นอกจากนี้ พระยะโฮวาสามารถประทาน “สันติสุขแห่งพระเจ้า, ซึ่งเหลือที่จะเข้าใจได้” แก่เรา. (ฟิลิปปอย 4:6, 7) สันติสุขที่พระเจ้าประทานให้นี้จะทำให้เราสามารถรักษาจิตใจให้สงบและยืนหยัดมั่นคงแม้เผชิญความกดดันที่หนักหน่วง และไม่จำนนต่อความแคลงใจหรือความหวาดกลัว. โดยใช้พระวิญญาณของพระองค์ พระยะโฮวาสามารถช่วยเหลือเราให้ผ่านพ้นสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ทรงยอมให้เกิดขึ้นกับเรา.—1 โกรินโธ 10:13.
15. อะไรจะช่วยเราไม่ให้รู้สึกแค้นเคืองเมื่อทนทุกข์?
15 อะไรจะช่วยเราไม่ให้รู้สึกแค้นเคืองคนที่เกลียดชังเราโดยไม่มีเหตุ? จงระลึกว่าศัตรูตัวเอ้ของเราคือซาตานและเหล่าผีปิศาจ. (เอเฟโซ 6:12) ขณะที่บางคนข่มเหงเราโดยเจตนาทั้ง ๆ ที่รู้ แต่หลายคนที่ต่อต้านประชาชนของพระเจ้าทำไปเพราะความไม่รู้หรือเพราะถูกผู้อื่นชักใย. (ดานิเอล 6:4-16; 1 ติโมเธียว 1:12, 13) พระยะโฮวาปรารถนาให้ “คนทุกชนิด” มีโอกาสได้รับ “ความรอดและบรรลุความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) ที่จริงแล้ว บางคนที่เคยต่อต้านเราตอนนี้เป็นพี่น้องคริสเตียนของเราเนื่องจากได้สังเกตเห็นความประพฤติของเราที่ปราศจากตำหนิ. (1 เปโตร 2:12) นอกจากนี้ เราสามารถได้บทเรียนจากตัวอย่างของโยเซฟบุตรชายยาโคบ. แม้ว่าโยเซฟทนทุกข์เป็นอันมากเนื่องจากพวกพี่ชายต่างมารดา แต่ท่านไม่ผูกใจเจ็บพวกเขา. เพราะเหตุใด? เนื่องจากท่านมองออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมาแต่พระยะโฮวา ผู้ทรงพลิกแพลงสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จผล. (เยเนซิศ 45:4-8) ในทำนองเดียวกัน พระยะโฮวาสามารถทำให้ความทุกข์ใด ๆ ที่เราอาจประสบอย่างไม่เป็นธรรมส่งผลกลับกลายเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระองค์.—1 เปโตร 4:16.
16, 17. ทำไมเราไม่ควรวิตกต่อความพยายามของผู้ต่อต้านในการขัดขวางงานประกาศ?
16 เราไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไปหากมีบางช่วงที่ดูเหมือนว่าพวกผู้ต่อต้านประสบความสำเร็จในการขัดขวางความก้าวหน้าของงานเผยแพร่ข่าวดี. ขณะนี้พระยะโฮวากำลังเขย่าชาติต่าง ๆ โดยทางงานให้คำพยานทั่วโลกที่ทรงมอบไว้ให้เรา และสิ่งน่าปรารถนาต่าง ๆ กำลังหลั่งไหลเข้ามา. (ฮาฆี 2:7, ล.ม.) พระคริสต์เยซู ผู้เลี้ยงแกะที่ดี ตรัสว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักแกะนั้น, และแกะนั้นตามเรา. เราให้ชีวิตนิรันดร์แก่แกะนั้น, . . . และจะไม่มีผู้ใดชิงแกะนั้นไปจากมือของเราได้.” (โยฮัน 10:27-29) เหล่าทูตสวรรค์ที่บริสุทธิ์มีส่วนร่วมในงานเกี่ยวฝ่ายวิญญาณที่ใหญ่โตนี้ด้วย. (มัดธาย 13:39, 41; วิวรณ์ 14:6, 7) ด้วยเหตุนี้ ผู้ต่อต้านจึงไม่อาจพูดหรือทำสิ่งใดเพื่อขัดขวางพระประสงค์ของพระเจ้าได้.—ยะซายา 54:17; กิจการ 5:38, 39.
17 บ่อยครั้งที่ความพยายามของผู้ต่อต้านก่อผลในทางตรงข้าม. ในชุมชนแห่งหนึ่งในแอฟริกา มีการแพร่คำโกหกอันร้ายกาจหลายอย่างเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา รวมถึงที่ว่าพวกเขาเป็นผู้นมัสการพญามาร. ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งที่พยานพระยะโฮวามาที่บ้าน เกรสก็จะวิ่งไปหลบอยู่หลังบ้านและซ่อนตัวจนกว่าพยานฯ จะไป. วันหนึ่ง ศิษยาภิบาลของคริสตจักรที่เธอเป็นสมาชิกอยู่ชูหนังสือเล่มหนึ่งของพวกเรา และบอกทุกคนที่นั่นว่าอย่าอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะเดี๋ยวจะละทิ้งความเชื่อไป. การห้ามนี้กระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของเกรส. ครั้งต่อมาเมื่อพยานฯ มาประกาศ แทนที่จะซ่อนตัว เธอสนทนากับพวกเขาและรับหนังสือนั้นไว้อ่าน. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้เริ่มขึ้น และเธอรับบัพติสมาในปี 1996. ตอนนี้ เกรสใช้เวลาเสาะหาคนอื่น ๆ ที่อาจได้รับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา.
เสริมความเชื่อคุณเสียแต่บัดนี้
18. ทำไมต้องเสริมความเชื่อของเราก่อนจะเกิดการทดลองที่รุนแรง และเราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
18 เนื่องจากซาตานอาจจู่โจมด้วยความเกลียดชังโดยไม่มีเหตุเมื่อไรก็ได้ เราจึงต้องเสริมความเชื่อของเราเสียแต่บัดนี้. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? รายงานจากประเทศหนึ่งที่มีการกดขี่ข่มเหงประชาชนของพระยะโฮวาให้ข้อสังเกตว่า “สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากคือ ผู้ที่มีกิจวัตรที่ดีทางฝ่ายวิญญาณและมีความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิล ไม่มีปัญหาเรื่องการยืนหยัดมั่นคงเมื่อเกิดการทดลอง. แต่ผู้ที่ใน ‘ยามเอื้ออำนวย’ ขาดการประชุม, ไม่สม่ำเสมอในงานประกาศ, และอะลุ่มอล่วยในประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ มักจะล้มพลาดเมื่อมีการทดลองที่รุนแรงเหมือน ‘ไฟ.’ ” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) หากคุณเห็นว่าสิ่งใดที่คุณเองจำเป็นต้องแก้ไข ก็ให้รีบจัดการโดยด่วน.—บทเพลงสรรเสริญ 119:60.
19. ความซื่อสัตย์มั่นคงของเหล่าผู้รับใช้พระเจ้าเมื่อเผชิญความเกลียดชังโดยไม่มีเหตุทำให้อะไรบรรลุผล?
เฮ็บราย 11:16, 38, ล.ม.
19 ความซื่อสัตย์มั่นคงของเหล่าผู้นมัสการแท้เมื่อประสบความเดือดร้อนเนื่องจากความเกลียดชังของซาตานเป็นพยานหลักฐานที่มีชีวิตซึ่งพิสูจน์ว่า พระยะโฮวาเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมและคู่ควรที่จะเป็นองค์บรมมหิศร. ความซื่อสัตย์ของพวกเขาทำให้พระทัยของพระเจ้าปีติยินดี. แม้ว่าพวกเขาอาจถูกติเตียนจากมนุษย์มากมาย แต่พระองค์ผู้มีฐานะสูงส่งกว่าใครทั้งสิ้นในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก “มิทรงละอายที่จะให้เขาเรียกพระองค์เป็นพระเจ้าของเขา.” ที่จริงแล้ว กล่าวได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับผู้ภักดีเหล่านี้ทุกคนว่า “โลกไม่คู่ควรกับพวกเขา.”—[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 ในพระคัมภีร์ มีการใช้คำว่า “ชัง” ในความหมายที่ต่างกันไปหลายความหมาย. ในบางบริบท คำนี้หมายถึงแค่ว่ารักน้อยกว่า. (พระบัญญัติ 21:15, 16) “ชัง” ยังอาจหมายถึงไม่ชอบอย่างมาก ทว่าไม่ได้คิดร้ายอะไรกับผู้นั้น แต่พยายามจะอยู่ห่าง ๆ ไว้เพราะรังเกียจ. อย่างไรก็ตาม คำ “ชัง” ยังอาจใช้หมายถึงจงเกลียดจงชัง เป็นศัตรูอยู่ร่ำไป บ่อยครั้งมีการปองร้ายร่วมด้วย. คำว่า “ชัง” ในความหมายหลังนี้แหละที่เราจะพิจารณาในบทความนี้.
คุณอธิบายได้ไหม?
• อะไรอยู่เบื้องหลังความเกลียดชังโดยไม่มีเหตุต่อเหล่าผู้นมัสการแท้?
• ซาตานใช้คำติเตียนอย่างไรเพื่อพยายามทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบและพระเยซู?
• พระยะโฮวาเสริมกำลังเราอย่างไรให้ยืนหยัดมั่นคงเมื่อเผชิญความเกลียดชังของซาตาน?
[คำถาม]
[กรอบ/ภาพหน้า 16]
พวกเขาเข้าใจว่าอะไรคือประเด็นที่แท้จริง
พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งในยูเครนที่เมื่อก่อนมีการห้ามงานประกาศราชอาณาจักรนานกว่า 50 ปี ให้ข้อสังเกตว่า “ไม่ควรมองสิ่งที่เกิดขึ้นกับพยานพระยะโฮวาว่าเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น. . . . เจ้าหน้าที่รัฐบาลส่วนใหญ่เพียงแต่ปฏิบัติตามหน้าที่. เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน พวกเขาก็แปรความจงรักภักดีไป แต่พวกเรายังเหมือนเดิม. เราตระหนักว่าสาเหตุแท้จริงของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับเรานั้นมีเผยไว้ในคัมภีร์ไบเบิล.
“เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นแค่เหยื่อผู้บริสุทธิ์ของพวกผู้ข่มเหง. สิ่งที่ช่วยให้เราอดทนคือความเข้าใจที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นในสวนเอเดน นั่นคือประเด็นเรื่องสิทธิในการปกครองของพระเจ้า. . . . เรายืนหยัดไม่ใช่เฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของมนุษย์เองเท่านั้น แต่รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ขององค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. เราเข้าใจถึงประเด็นแท้จริงที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่านัก. ความเข้าใจในเรื่องนี้ทำให้เราเข้มแข็งและสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงแม้อยู่ในสภาพการณ์เลวร้ายที่สุด.”
[รูปภาพ]
วิกเตอร์ โปโปวิช ถูกจับกุมในปี 1970
[ภาพหน้า 13]
ใครเป็นตัวการที่ทำให้พระเยซูได้รับคำติเตียน?
[ภาพหน้า 15]
โยบ, มาเรีย, และผู้รับใช้พระเจ้าในสมัยปัจจุบัน เช่น สแตนลีย์ โจนส์ ได้เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา