“นักเดินทางเพื่อกิตติคุณ” ผู้ทรหด
“นักเดินทางเพื่อกิตติคุณ” ผู้ทรหด
ว่ากันว่า เมื่ออายุ 18 ปี จอร์จ บอร์โรว์รู้ถึง 12 ภาษา. สองปีต่อมา เขาสามารถแปลภาษาต่าง ๆ ถึง 20 ภาษาโดย “เข้าใจง่ายและสละสลวย.”
ในปี 1833 ชายผู้มีของประทานอันไม่ธรรมดานี้ได้รับเชิญให้มาพูดคุยกับสมาคมบริติช แอนด์ ฟอรีน ไบเบิลที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ. เนื่องจากไม่มีเงินค่าเดินทาง แต่ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะฉวยโอกาสทองที่เปิดออกนี้ บอร์โรว์ในวัย 30 ปีจึงเดินเป็นระยะทาง 180 กิโลเมตรจากบ้านของเขาในเมืองนอร์วิชโดยใช้เวลาเพียง 28 ชั่วโมง.
สมาคมคัมภีร์ไบเบิลเสนองานที่ท้าทายแก่เขาโดยให้เรียนภาษาแมนจูภายในหกเดือน ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในบางพื้นที่ของประเทศจีน. เขาขอหนังสือไวยากรณ์ แต่ทั้งหมดที่เขาได้รับคือกิตติคุณของมัดธายในภาษาแมนจูหนึ่งเล่ม และพจนานุกรมภาษาแมนจู-ฝรั่งเศส. กระนั้น ภายใน 19 สัปดาห์ เขาเขียนจดหมายไปยังลอนดอนแจ้งว่า “ผมเชี่ยวชาญภาษาแมนจูแล้ว” โดยที่เขากล่าวว่า “ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า.” ความสำเร็จของเขายิ่งน่าทึ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ว่ากันว่าเขากำลังทำการแก้ไขกิตติคุณของลูกาในภาษานาอัวเติล ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาพื้นเมืองของเม็กซิโก.
คัมภีร์ไบเบิลในภาษาแมนจู
ในศตวรรษที่ 17 ภาษาแมนจูเริ่มมีรูปแบบภาษาเขียนโดยใช้ตัวอักษรเขียนที่ยืมมาจากภาษามองโกเลียน วีกูร์ ซึ่งต่อมาเป็นภาษาที่ใช้ในราชการของจีน. แม้ในที่สุดจะมีการใช้ภาษานี้น้อยลงเรื่อย ๆ แต่สมาชิกของสมาคมบริติช แอนด์ ฟอรีน ไบเบิลก็กระตือรือร้นที่จะพิมพ์และแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลในภาษาแมนจู. ในปี 1822 พวกเขาได้รับเงินเพื่อที่จะพิมพ์กิตติคุณของมัดธายจำนวน 550 เล่ม ซึ่งแปลโดยสตีพัน วี. ลิโพฟท์ซอฟฟ์. เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียซึ่งเคยอาศัยอยู่ในประเทศจีนประมาณ 20 ปี. มีการพิมพ์กิตติคุณดังกล่าวนี้ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่มีการแจกจ่ายเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลือถูกน้ำท่วมทำลายจนหมด.
หลังจากนั้นไม่นานก็มีการแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกทั้งเล่ม. ในปี 1834 การค้นพบฉบับสำเนาส่วนใหญ่ของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูโบราณก็เพิ่มความสนใจในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น. ใครจะเป็นผู้ประสานงานปรับปรุงคัมภีร์ไบเบิลภาษาแมนจูฉบับที่มีอยู่ และแปลส่วนที่เหลือให้เสร็จ? สมาคมบริติช แอนด์ ฟอรีน ไบเบิลได้ส่งจอร์จ บอร์โรว์ไปทำงานนี้เพื่อพวกเขา.
ไปรัสเซีย
หลังจากมาถึงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บอร์โรว์ใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาภาษาแมนจูให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อจะทำให้เขาสามารถทำงานพิสูจน์อักษรและแก้ไขข้อความในคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น. แม้จะเป็นอย่างนั้น งาน
มอบหมายนี้ก็เป็นงานที่ยากลำบากมาก และเขาทำงานถึง 13 ชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อช่วยเรียงตัวพิมพ์สำหรับคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่งในที่สุดได้รับการพรรณนาว่าเป็น “ผลงานการพิมพ์ที่งดงามของประเทศทางตะวันออก.” ในปี 1835 มีการพิมพ์ออกมาหนึ่งพันเล่ม. แต่แผนการซึ่งเป็นความปรารถนาของบอร์โรว์ที่จะนำคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้ไปยังประเทศจีนและแจกจ่ายนั้นถูกขัดขวาง. รัฐบาลรัสเซียกลัวว่า การทำเช่นนี้อาจถูกมองว่าเป็นแผนการของมิชชันนารี ซึ่งคงจะทำให้ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่พวกเขามีต่อประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันตราย จึงปฏิเสธคำขอของบอร์โรว์ที่จะเดินทางข้ามพรมแดนประเทศจีนหากเขานำ “คัมภีร์ไบเบิลภาษาแมนจูแม้แต่เล่มเดียว” ไปด้วย.มีการแจกจ่ายไม่กี่ฉบับในอีกประมาณสิบปีต่อมา และการแปลกิตติคุณของมัดธายและมาระโกภาษาแมนจูและภาษาจีนเป็นสองคอลัมน์เทียบเคียงกันออกมาในปี 1859. อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น คนส่วนใหญ่ที่สามารถอ่านภาษาแมนจูได้จะชอบอ่านภาษาจีนมากกว่า และความหวังที่จะให้มีคัมภีร์ไบเบิลภาษาแมนจูครบชุดก็เริ่มจะเลือนลาง. ที่จริง แมนจูเป็นภาษาที่กำลังตาย และได้ถูกแทนที่โดยภาษาจีนในเวลาไม่นาน. การเปลี่ยนแปลงเสร็จสิ้นในปี 1912 เมื่อประเทศจีนกลายเป็นสาธารณรัฐ.
คาบสมุทรไอบีเรีย
ประสบการณ์ต่าง ๆ ทำให้จอร์จ บอร์โรว์เข้มแข็งขึ้น เขาจึงกลับไปยังลอนดอน. ในปี 1835 เขาได้รับมอบหมายอีกครั้งให้ไปที่โปรตุเกสและสเปน ด้วยจุดมุ่งหมายดังที่เขาได้กล่าวในเวลาต่อมาว่า “เพื่อสืบค้นดูให้รู้แน่ว่า ผู้คนได้เตรียมจิตใจขนาดไหนแล้วที่จะรับเอาความจริงของหลักการคริสเตียน.” ในตอนนั้น สมาคมบริติช แอนด์ ฟอรีน ไบเบิลยังไม่ได้เข้าไปมีผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งสองประเทศ เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองและสังคมที่แผ่ลามไปทั่ว. บอร์โรว์ยินดีที่จะสนทนาเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับผู้คนในชุมชนแถบชนบทของโปรตุเกส แต่ในเวลาไม่นาน ความเฉยเมยทางศาสนาที่เขาประสบที่นั่นก็กระตุ้นเขาให้ข้ามไปยังสเปน.
ที่สเปนมีข้อท้าทายที่ต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยิปซีที่บอร์โรว์พัฒนาความผูกพันฉันพี่น้องกับพวกเขาโดยใช้เวลาไม่นานเนื่องจากเขาพูดภาษาชาวยิปซีได้. ไม่นานหลังจากที่มาถึง เขาเริ่มแปล “คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่” เป็นภาษากีตาโนของยิปซีสเปน. สำหรับส่วนหนึ่งของงานมอบหมายนี้ เขาได้เชิญผู้หญิงชาวยิปซีสองคนให้ช่วยเขา. เขาจะอ่านฉบับภาษาสเปนให้ผู้หญิงเหล่านั้นฟังและขอให้พวกเธอแปล. โดยวิธีนี้ เขาจึงสามารถเรียนการใช้สำนวนภาษายิปซีได้อย่างถูกต้อง. ผลของความพยายามนี้ก็คือ ได้มีการตีพิมพ์กิตติคุณของลูกาในฤดูใบไม้ผลิปี 1838 กระตุ้นให้บิชอปคนหนึ่งร้องออกมาว่า “เขาจะเปลี่ยนความเชื่อของชาวสเปนทุกคนด้วยภาษายิปซี.”
จอร์จ บอร์โรว์ได้รับอนุญาตให้เสาะหา “ผู้มีความสามารถที่จะแปลพระคัมภีร์ในภาษาบาสก์.” มีการมอบงานนี้ให้แก่ ดร. โอเทซา ซึ่งเป็นแพทย์ที่บอร์โรว์เขียนว่า “ชำนาญมากในภาษาท้องถิ่นนั้น ซึ่งข้าพเจ้าเองมีความรู้อยู่บ้าง.” ในปี 1838 กิตติคุณของลูกากลายเป็นพระธรรมเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลภาษาสเปนบาสก์.
โดยถูกกระตุ้นจากความปรารถนาที่จะฉายความสว่างให้สามัญชน บอร์โรว์จึงเดินทางไกลซึ่งบ่อยครั้งเสี่ยงอันตราย เพื่อแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลแก่คนจนตามชุมชนชนบท. เขาคิดที่จะปลดปล่อยผู้คนให้พ้นจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทางศาสนาและการเชื่อถือโชคลาง. ตัวอย่างเช่น ในการเปิดโปงความเปล่าประโยชน์ของการล้างบาปที่ผู้คนกำลังซื้อกันอยู่ เขาจะหาเหตุผลดังนี้: “เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าผู้ทรงคุณความดีจะพอพระทัยกับการค้าขายบาป?” แต่สมาคมคัมภีร์ไบเบิลกลัวว่า งานที่โจมตีความเชื่อซึ่งตกทอดกันมานี้อาจนำไปสู่การจำกัดห้ามงานของสมาคม จึงมีการแนะนำให้เขาตั้งใจแจกจ่ายพระคัมภีร์เพียงอย่างเดียว.
บอร์โรว์ได้รับอนุญาตโดยวาจาให้พิมพ์ เอล นูโว เทสทาเมนโต ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ภาษาสเปนที่ไม่มีหมายเหตุด้านหลักคำสอนของโรมันคาทอลิก. เขาได้รับอนุญาตแม้ในตอนแรกจะมีการต่อต้านจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวว่างานแปลนี้เป็นอันตรายและเป็น “หนังสือที่ไม่เหมาะสม.” ต่อมา บอร์โรว์ได้เปิดร้านในเมืองมาดริดเพื่อจำหน่ายคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ภาษาสเปนฉบับนี้ ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งที่ทำให้เขาขัดแย้งกับทั้งพวกหัวหน้าศาสนาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ. เขาถูกจำคุก 12 วัน. เมื่อบอร์โรว์ประท้วง เขาจึงถูกขอร้องให้ไปอย่างเงียบ ๆ. เนื่องจากเห็นชัดเจนแล้วว่า เขาถูกจำคุกอย่างผิดกฎหมาย เขาจึงยกตัวอย่างของอัครสาวกเปาโลและเลือกที่จะอยู่ต่อไปจนกว่าเขาจะได้รับการประกาศอย่างเหมาะสมว่าเขาพ้นจากมลทิน โดยที่ชื่อเสียงของเขาจะต้องไม่เสื่อมเสีย.—กิจการ 16:37.
เมื่อถึงคราวที่ตัวแทนผู้มีใจแรงกล้าของพวกเขาออกจากสเปนในปี 1840 สมาคมคัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า “มีการแจกจ่ายพระคัมภีร์เกือบ 14,000 เล่มในสเปนในช่วงห้าปีสุดท้าย.” โดยการที่บอร์โรว์มีบทบาทสำคัญยิ่งในเรื่องนี้ เขาจึงสรุปประสบการณ์ในสเปนว่าเป็น “ช่วงปีที่ข้าพเจ้ามีความสุขที่สุดในชีวิต.”
หนังสือคัมภีร์ไบเบิลในสเปน (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ครั้งแรกในปี 1842 และยังคงพิมพ์อยู่ในขณะนี้ เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นของจอร์จ บอร์โรว์เอง. ในหนังสือเล่มนี้ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จในทันที เขาเรียกตัวเขาเองว่า “นักเดินทางเพื่อกิตติคุณ.” เขาเขียนว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจจะไปตามเขตแดนที่ลึกลับและอยู่อย่างสันโดษท่ามกลางเนินเขาและภูเขาที่สลับซับซ้อน และจะพูดคุยกับผู้คนในแนวทางของข้าพเจ้าเรื่องพระคริสต์.”
โดยการแจกจ่ายและการแปลพระคัมภีร์ด้วยความกระตือรือร้นเช่นนี้ จอร์จ บอร์โรว์ได้วางพื้นฐานแก่คนอื่น ๆ ที่จะทำอย่างเดียวกัน—นับว่าเป็นสิทธิพิเศษอันล้ำค่าจริง ๆ.
[แผนที่หน้า 29]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ความพยายามของจอร์จ บอร์โรว์ที่จะแปล และแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลนำเขาจาก (1) อังกฤษ ไปยัง (2) รัสเซีย, (3) โปรตุเกส, และ (4) สเปน
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 28]
ถ้อยคำเริ่มต้นของกิตติคุณของโยฮันในภาษาแมนจู พิมพ์ในปี 1835 อ่านจากบนลงล่างและจากซ้ายไปขวา
[ที่มาของภาพ]
From the book The Bible of Every Land, 1860
[ที่มาของภาพหน้า 27]
From the book The Life of George Borrow by Clement K. Shorter, 1919