ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวา ‘ป้อมของเราในยามยากลำบาก’

พระยะโฮวา ‘ป้อมของเราในยามยากลำบาก’

พระ​ยะโฮวา ‘ป้อม​ของ​เรา​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก’

“ความ​รอด​ของ​คน​สัตย์​ธรรม​มา​แต่​พระ​ยะโฮวา, พระองค์​เป็น​ป้อม​ของ​เขา​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก.”—บทเพลง​สรรเสริญ 37:39.

1, 2. (ก) พระ​เยซู​ทูล​อธิษฐาน​อะไร​เพื่อ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์? (ข) พระเจ้า​ทรง​ประสงค์​เช่น​ไร​สำหรับ​ประชาชน​ของ​พระองค์?

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ. พระองค์​มี​ฤทธิ์​อำนาจ​ที่​จะ​ปก​ป้อง​เหล่า​ผู้​นมัสการ​ที่​ซื่อ​สัตย์​ด้วย​วิธี​ใด​ก็​ได้​ที่​พระองค์​ทรง​ประสงค์. พระองค์​ทำ​ได้​แม้​กระทั่ง​ที่​จะ​กัน​ประชาชน​ของ​พระองค์​ให้​อยู่​ต่าง​หาก​จาก​คน​อื่น ๆ ใน​โลก​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​สงบ​สุข​และ​ปลอด​ภัย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​เยซู​อธิษฐาน​ถึง​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​สำหรับ​เหล่า​สาวก​ว่า “ข้าพเจ้า​ทูล​ขอ​พระองค์ มิ​ให้​นำ​พวก​เขา​ไป​จาก​โลก แต่​ขอ​ทรง​พิทักษ์​เขา​ไว้​เพราะ​ตัว​ชั่ว​ร้าย.”—โยฮัน 17:15, ล.ม.

2 พระ​ยะโฮวา​เลือก​ที่​จะ​ไม่​เอา​เรา “ไป​จาก​โลก.” แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พระองค์​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​ดำรง​ชีวิต​อยู่​ท่ามกลาง​คน​อื่น ๆ ใน​โลก​นี้​เพื่อ​จะ​ประกาศ​ข่าวสาร​ของ​พระองค์​ที่​ให้​ความ​หวัง​และ​การ​ปลอบโยน​แก่​พวก​เขา. (โรม 10:13-15) แต่​ดัง​ที่​บ่ง​ชี้​ใน​คำ​ทูล​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู เมื่อ​อยู่​ใน​โลก​นี้ เรา​ก็​ไม่​ปลอด​จาก​อิทธิพล​ของ “ตัว​ชั่ว​ร้าย.” มนุษยชาติ​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​และ​อำนาจ​วิญญาณ​ชั่ว​สามารถ​ก่อ​ความ​ทุกข์​ระทม​อย่าง​หนัก และ​คริสเตียน​ก็​ใช่​ว่า​จะ​พ้น​จาก​ความ​ทุกข์​ใจ.—1 เปโตร 5:9.

3. แม้​แต่​ผู้​นมัสการ​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ก็​ต้อง​เผชิญ​ความ​เป็น​จริง​อะไร แต่​เรา​พบ​คำ​ปลอบโยน​อะไร​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า?

3 เมื่อ​เผชิญ​การ​ทดลอง​เช่น​นั้น เป็น​ธรรมดา​ที่​บาง​ที​คน​เรา​จะ​รู้สึก​ท้อ​แท้​ใจ. (สุภาษิต 24:10) คัมภีร์​ไบเบิล​มี​บันทึก​เรื่อง​ราว​มาก​มาย​ของ​เหล่า​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ที่​ประสบ​ความ​ทุกข์. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​กล่าว​ว่า “เหตุ​อันตราย​มาก​หลาย​ย่อม​เกิด​แก่​ผู้​สัตย์​ธรรม; แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เขา​ให้​พ้น​จาก​เหตุ​ทั้ง​ปวง​เหล่า​นั้น.” (บทเพลง​สรรเสริญ 34:19) ใช่​แล้ว แม้​แต่ “ผู้​สัตย์​ธรรม” ก็​ยัง​ประสบ​เรื่อง​เลว​ร้าย. เช่น​เดียว​กับ​ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ บาง​ครั้ง​เรา​อาจ​ถึง​กับ “อ่อน​กำลัง​ฟก​ช้ำ​มาก.” (บทเพลง​สรรเสริญ 38:8) ถึง​กระนั้น เป็น​การ​ปลอบโยน​ที่​รู้​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​สถิต​อยู่​ใกล้​ผู้​ที่​มี​ใจ​ชอก​ช้ำ, และ . . . พระองค์​จะ​ทรง​ช่วย​ให้​รอด.”—บทเพลง​สรรเสริญ 34:18; 94:19.

4, 5. (ก) ประสาน​กับ​สุภาษิต 18:10 เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​จะ​รับ​การ​ปก​ป้อง​จาก​พระเจ้า? (ข) มี​วิธี​อะไร​บ้าง​ที่​เรา​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระเจ้า?

4 ประสาน​กับ​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู พระ​ยะโฮวา​ทรง​พิทักษ์​เรา​ไว้​จริง ๆ. พระองค์​เป็น ‘ป้อม​ของ​เรา​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก.’ (บทเพลง​สรรเสริญ 37:39) พระ​ธรรม​สุภาษิตกล่าว​คล้าย ๆ กัน​ว่า “พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ป้อม​เข้มแข็ง, คน​ชอบธรรม​ทั้ง​ปวง​วิ่ง​เข้า​ไป​ก็​พ้น​ภัย.” (สุภาษิต 18:10) ข้อ​คัมภีร์​นี้​เผย​ความ​จริง​พื้น​ฐาน​เกี่ยว​กับ​ความ​ห่วงใย​รักใคร่​ที่​พระ​ยะโฮวา​มี​ต่อ​ประชาชน​ของ​พระองค์. พระเจ้า​ให้​การ​ปก​ป้อง​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​แก่​คน​ชอบธรรม​ที่​แสวง​หา​พระองค์​ด้วย​ความ​กระตือรือร้น เสมือน​เรา​กำลัง​วิ่ง​เข้า​ไป​หา​ที่​กำบัง​ใน​ป้อม​เข้มแข็ง.

5 เมื่อ​เผชิญ​กับ​ปัญหา​ที่​ก่อ​ความ​ทุกข์​ใจ เรา​จะ​วิ่ง​ไป​หา​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​รับ​การ​ปก​ป้อง​โดย​วิธี​ใด? ขอ​เรา​พิจารณา​สาม​วิธี​สำคัญ​ที่​เรา​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา. ประการ​แรก เรา​ต้อง​เข้า​เฝ้า​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ด้วย​การ​อธิษฐาน. ประการ​ที่​สอง เรา​ต้อง​ดำเนิน​ตาม​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์. และ​ประการ​ที่​สาม เรา​ต้อง​อ่อนน้อม​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​ของ​พระ​ยะโฮวา​โดย​คบหา​กับ​เพื่อน​คริสเตียน​ผู้​ซึ่ง​จะ​ช่วย​บรรเทา​ความ​ทุกข์​ใน​ใจ​ของ​เรา.

พลัง​ของ​คำ​อธิษฐาน

6. คริสเตียน​แท้​มอง​การ​อธิษฐาน​เช่น​ไร?

6 ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​สุขภาพ​บาง​คน​เสนอ​แนะ​ให้​ใช้​การ​อธิษฐาน​เป็น​วิธี​บำบัด​ความ​ซึมเศร้า​และ​ความ​เครียด. ใน​ขณะ​ที่​การ​คิด​รำพึง​เงียบ ๆ สัก​ครู่​หนึ่ง​อย่าง​เช่น​ที่​ทำ​ใน​การ​อธิษฐาน​นั้น​อาจ​ช่วย​บรรเทา​ความ​เครียด​ได้​จริง แต่​การ​ฟัง​เสียง​ธรรมชาติ​บาง​อย่าง​หรือ​แม้​แต่​การ​นวด​แผ่น​หลัง​ก็​ช่วย​ได้​เช่น​กัน. คริสเตียน​แท้​ไม่​ได้​ลด​ความ​สำคัญ​ของ​การ​อธิษฐาน​โดย​ถือ​ว่า​เป็น​เพียง​วิธี​บำบัด​สุขภาพ​จิต. เรา​ถือ​ว่า​การ​อธิษฐาน​เป็น​การ​สนทนา​กับ​พระ​ผู้​สร้าง​ด้วย​ความ​รู้สึก​เคารพ​ยำเกรง. การ​อธิษฐาน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​เลื่อมใส​และ​ความ​ไว้​วางใจ​พระเจ้า. ใช่​แล้ว การ​อธิษฐาน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​แห่ง​การ​นมัสการ​ของ​เรา.

7. การ​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​หมายความ​เช่น​ไร และ​การ​อธิษฐาน​อย่าง​นั้น​ช่วย​เรา​รับมือ​ความ​ทุกข์​ใจ​ได้​อย่าง​ไร?

7 เรา​ต้อง​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​รู้สึก​มั่น​ใจ​หรือ​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา. อัครสาวก​โยฮัน​เขียน​ว่า “นี่​แหละ​เป็น​ความ​มั่น​ใจ​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระองค์ คือ สิ่ง​ใด​ก็​ตาม​ที่​เรา​ทูล​ขอ ถ้า​สอดคล้อง​กับ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์ พระองค์​จะ​ทรง​ฟัง​เรา.” (1 โยฮัน 5:14, ล.ม.) แท้​จริง พระ​ยะโฮวา​พระ​ผู้​สูง​สุด พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว​และ​ผู้​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ ให้​ความ​สน​พระทัย​เป็น​พิเศษ​ต่อ​คำ​อธิษฐาน​จาก​ใจ​จริง​ของ​ผู้​นมัสการ​พระองค์. เพียง​รู้​ว่า​พระเจ้า​ผู้​ทรง​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ของ​เรา​ทรง​ฟัง​ขณะ​ที่​เรา​เล่า​ความ​กังวล​ใจ​และ​ปัญหา​ของ​เรา​ก็​ให้​การ​ปลอบโยน​แล้ว.—ฟิลิปปอย 4:6.

8. ทำไม​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ไม่​ควร​รู้สึก​ไม่​กล้า​หรือ​ไม่​คู่​ควร​ที่​จะ​เข้า​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​อธิษฐาน?

8 คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ไม่​ควร​รู้สึก​ไม่​กล้า, ไม่​คู่​ควร, หรือ​ไม่​มั่น​ใจ​ที่​จะ​เข้า​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​อธิษฐาน. จริง​อยู่ เมื่อ​เรา​ผิด​หวัง​กับ​ตัว​เอง​หรือ​ท่วมท้น​ด้วย​ปัญหา เรา​อาจ​ไม่​รู้สึก​อยาก​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​เสีย​ทุก​ครั้ง​ไป. ใน​โอกาส​เช่น​นั้น เรา​ควร​ระลึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา “ทรง​เมตตา​แก่​ผู้​ที่​มี​ความ​ทุกข์​ยาก” และ “ทรง​หนุน​น้ำใจ​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ท้อ​ใจ.” (ยะซายา 49:13; 2 โกรินโธ 7:6) โดย​เฉพาะ​ใน​ยาม​ทุกข์​ระทม​นั้น เรา​จำเป็น​ต้อง​เข้า​เฝ้า​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​ทรง​สถิต​ใน​สวรรค์ ผู้​ทรง​เป็น​ป้อม​ของ​เรา ด้วย​ความ​มั่น​ใจ.

9. ความ​เชื่อ​มี​บทบาท​เช่น​ไร​เมื่อ​เรา​เข้า​เฝ้า​พระเจ้า​ด้วย​การ​อธิษฐาน?

9 เพื่อ​จะ​ได้​ประโยชน์​เต็ม​ที่​จาก​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​อธิษฐาน​นี้ เรา​ต้อง​มี​ความ​เชื่อ​อย่าง​แท้​จริง. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ผู้​ที่​มา​หา​พระเจ้า​ต้อง​เชื่อ​ว่า​พระองค์​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่, และ​ต้อง​เชื่อ​ว่า​พระองค์​เป็น​ผู้​ประทาน​บำเหน็จ​ให้​แก่​ทุก​คน​ที่​ปลง​ใจ​แสวง​หา​พระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) ความ​เชื่อ​เกี่ยว​ข้อง​มาก​กว่า​แค่​เชื่อ​ว่า​มี​พระเจ้า​หรือ​เชื่อ​ว่า “พระองค์​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่.” ความ​เชื่อ​แท้​รวม​ไป​ถึง​ความ​เชื่อ​มั่น​อย่าง​เต็ม​เปี่ยม​ว่า​พระเจ้า​มี​พระ​ปรีชา​สามารถ​และ​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ตอบ​แทน​แนว​ทาง​ชีวิต​ของ​เรา​ที่​เชื่อ​ฟัง​พระองค์. “พระ​เนตร​ของ​พระ​ยะโฮวา​เพ่ง​ดู​คน​ชอบธรรม และ​พระ​กรรณ​ของ​พระองค์​สดับ​คำ​วิงวอน​ของ​เขา​ทั้ง​หลาย.” (1 เปโตร 3:12, ล.ม.) การ​ที่​เรา​สำนึก​อยู่​เสมอ​ถึง​ความ​ห่วงใย​รักใคร่​ที่​พระ​ยะโฮวา​มี​ต่อ​เรา​ทำ​ให้​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​มี​ความหมาย​เป็น​พิเศษ.

10. เรา​ควร​ทูล​อธิษฐาน​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​การ​ค้ำจุน​ฝ่าย​วิญญาณ​จาก​พระ​ยะโฮวา?

10 พระ​ยะโฮวา​ทรง​สดับ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​หาก​เรา​ทูล​อธิษฐาน​อย่าง​ที่​มา​จาก​ใจ. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​เขียน​ดัง​นี้: “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, ข้าพเจ้า​ร้อง​ทูล​ด้วย​สุด​ใจ; ขอ​ทรง​ตอบ​ข้าพเจ้า.” (บทเพลง​สรรเสริญ 119:145) ต่าง​จาก​การ​อธิษฐาน​ตาม​แบบ​แผน​ใน​หลาย​ศาสนา การ​อธิษฐาน​ของ​เรา​ไม่​ใช่​ทำ​แบบ​พอ​เป็น​พิธี หรือ​ไม่​ได้​มา​จาก​ใจ​จริง. เมื่อ​เรา​ทูล​อธิษฐาน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย “สุด​ใจ” คำ​พูด​ของ​เรา​จะ​เปี่ยม​ด้วย​ความหมาย​และ​วัตถุ​ประสงค์. เมื่อ​เรา​ทูล​อธิษฐาน​จาก​ใจ​จริง​เช่น​นั้น​แล้ว เรา​จะ​ได้​การ​บรรเทา​ที่​มา​จาก​การ​ทอด ‘ภาระ​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา.’ ดัง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​สัญญา “พระองค์​เอง​จะ​ทรง​ค้ำจุน” เรา.—บทเพลง​สรรเสริญ 55:22, ล.ม.; 1 เปโตร 5:6, 7.

พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ผู้​ช่วย​สำหรับ​เรา

11. อะไร​คือ​วิธี​หนึ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​เมื่อ “ขอ” ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระองค์ “ต่อ ๆ ไป”?

11 พระ​ยะโฮวา​ไม่​เพียง​เป็น​ผู้​สดับ​คำ​อธิษฐาน แต่​เป็น​ผู้​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ด้วย. (บทเพลง​สรรเสริญ 65:2) ดาวิด​เขียน​ว่า “ใน​ยาม​ทุกข์​ยาก​ข้าพเจ้า​จะ​ร้อง​ทูล​พระองค์; เพราะ​พระองค์​คง​จะ​ทรง​โปรด​ตอบ​ข้าพเจ้า.” (บทเพลง​สรรเสริญ 86:7) ด้วย​เหตุ​นี้​เอง พระ​เยซู​จึง​สนับสนุน​สาวก​ของ​พระองค์​ให้ “ขอ” ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา “ต่อ ๆ ไป” เนื่อง​จาก “พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​จะ​ประทาน​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​แก่​ผู้​ที่​ขอ​จาก​พระองค์.” (ลูกา 11:9-13, ล.ม.) ใช่​แล้ว พลัง​ปฏิบัติการ​ของ​พระเจ้า​ดำเนิน​การ​เป็น​ผู้​ช่วย หรือ​ผู้​ปลอบโยน สำหรับ​ประชาชน​ของ​พระองค์.—โยฮัน 14:16.

12. พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​จะ​ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​ปัญหา​ดู​เหมือน​ว่า​หนัก​หนา?

12 แม้​เมื่อ​เรา​เผชิญ​การ​ทดลอง พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ก็​สามารถ​ประทาน “กำลัง​ที่​มาก​กว่า​ปกติ” ให้​แก่​เรา. (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) อัครสาวก​เปาโล​ผู้​ซึ่ง​เผชิญ​เหตุ​การณ์​ตึงเครียด​หลาย​อย่าง กล่าว​อย่าง​มั่น​ใจ​ว่า “ข้าพเจ้า​มี​กำลัง​สำหรับ​ทุก​สิ่ง​โดย​พระองค์​ผู้​ทรง​ประทาน​พลัง​ให้​ข้าพเจ้า.” (ฟิลิปปอย 4:13, ล.ม.) เช่น​เดียว​กัน คริสเตียน​หลาย​คน​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ได้​รับ​การ​ฟื้นฟู​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ได้​รับ​ความ​เข้มแข็ง​ทาง​จิตใจ​เป็น​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​วิงวอน​ของ​พวก​เขา. บ่อย​ครั้ง ปัญหา​ที่​ก่อ​ความ​หนัก​ใจ​นั้น​ดู​เหมือน​ไม่​หนัก​ถึง​ขนาด​นั้น​เมื่อ​เรา​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า. เนื่อง​จาก​กำลัง​ที่​พระเจ้า​ประทาน​ให้​นี้ เรา​จึง​กล่าว​ได้​เช่น​เดียว​กับ​ที่​ท่าน​อัครสาวก​กล่าว​ว่า “เรา​ถูก​ขนาบ​รอบ​ข้าง, แต่​ก็​ยัง​ไม่​ถึง​กะดิก​ไม่​ไหว. เรา​จน​ปัญญา, แต่​ก็​ยัง​ไม่​ถึง​กับ​หมด​มานะ เรา​ถูก​เขา​รุก​ไล่, แต่​ก็​ยัง​ไม่​ตก​อยู่​ใน​เงื้อม​มือ​เขา เรา​ถูก​ตี​ลง​แล้ว, แต่​ก็​ยัง​ไม่​ตาย.”—2 โกรินโธ 4:8, 9.

13, 14. (ก) พระ​ยะโฮวา​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​เป็น​ป้อม​ของ​เรา​โดย​ทาง​พระ​คำ​ของ​พระองค์? (ข) การ​นำ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ใช้​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ตัว​คุณ​เอง​อย่าง​ไร?

13 นอก​จาก​นี้ พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ยัง​ดล​ใจ​ให้​มี​การ​เขียน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​พิทักษ์​รักษา​ไว้​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​เรา. พระ​ยะโฮวา​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​เป็น​ป้อม​ของ​เรา​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก​โดย​ทาง​พระ​คำ​ของ​พระองค์? วิธี​หนึ่ง​คือ​โดย​ประทาน​สติ​ปัญญา​ที่​ใช้​ได้​จริง​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​แก่​เรา. (สุภาษิต 3:21-24, ล.ม.) คัมภีร์​ไบเบิล​ฝึกฝน​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​และ​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล​ของ​เรา. (โรม 12:1, ล.ม.) โดย​การ​อ่าน​และศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ประจำ​พร้อม​กับ​นำ​ไป​ใช้ เรา​สามารถ “ฝึกฝน​ความ​สามารถ​ใน​การ​สังเกต​เข้าใจ​เพื่อ​แยก​ออก​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด.” (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) คุณ​อาจ​เคย​ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​หลักการ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​คุณ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​สุขุม​อย่าง​ไร​เมื่อ​เผชิญ​ความ​ยุ่งยาก. คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ความ​ฉลาด​สุขุม​แก่​เรา​ซึ่ง​จะ​ช่วย​เรา​พบ​วิธี​ที่​ใช้​ได้​จริง​ใน​การ​จัด​การ​ปัญหา​ที่​ก่อ​ความ​ทุกข์​ใจ.—สุภาษิต 1:4.

14 พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จัด​เตรียม​อีก​แหล่ง​หนึ่ง​ที่​ให้​กำลัง​แก่​เรา นั่น​คือ​ความ​หวัง​เรื่อง​การ​ช่วย​ให้​รอด. (โรม 15:4) คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า​เรื่อง​เลว​ร้าย​จะ​ไม่​เกิด​ขึ้น​ตลอด​ไป. ความ​ทุกข์​ยาก​ใด ๆ ที่​เรา​ประสบ​อยู่​เป็น​เพียง​ชั่ว​คราว. (2 โกรินโธ 4:16-18) เรา​มี “ความ​หวัง​ว่า​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์, ซึ่ง​พระเจ้า​ผู้​ตรัส​มุสา​ไม่​ได้​ได้​ตรัส​สัญญา​ไว้​ตั้ง​แต่​ก่อน​ดึกดำบรรพ์.” (ติโต 1:2) ถ้า​เรา​ยินดี​ใน​ความ​หวัง​ดัง​กล่าว และ​ให้​อนาคต​อัน​สดใส​ที่​พระ​ยะโฮวา​สัญญา​ไว้​แจ่ม​ชัด​อยู่​ใน​ความ​คิด​เสมอ เรา​จะ​สามารถ​อด​ทน​ได้​เมื่อ​เผชิญ​ความ​ทุกข์​ยาก.—โรม 12:12; 1 เธซะโลนิเก 1:3.

ประชาคม—การ​จัด​เตรียม​ที่​แสดง​ถึง​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า

15. คริสเตียน​จะ​ช่วยเหลือ​กัน​และ​กัน​ได้​อย่าง​ไร?

15 การ​จัด​เตรียม​จาก​พระ​ยะโฮวา​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ช่วย​เรา​ได้​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก​คือ​มิตรภาพ​ที่​เรา​มี​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “มิตร​แท้​ย่อม​รัก​อยู่​ทุก​เวลา และ​เป็น​พี่​น้อง​ซึ่ง​เกิด​มา​เพื่อ​ยาม​ที่​มี​ความ​ทุกข์​ยาก.” (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​สนับสนุน​ทุก​คน​ใน​ประชาคม​ให้​เกียรติ​และ​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน. (โรม 12:10, ล.ม.) อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “อย่า​ให้​ผู้​ใด​กระทำ​อะไร​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ตน​เอง​เท่า​นั้น แต่​ให้​คิด​ถึง​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น​ด้วย.” (1 โกรินโธ 10:24) การ​มี​เจตคติ​เช่น​นั้น​จะ​ช่วย​เรา​มุ่ง​ความ​สนใจ​ไป​ที่​การ​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​อื่น​แทน​ที่​จะ​มัว​คิด​แต่​ความ​ยาก​ลำบาก​ของ​ตน​เอง. เมื่อ​เรา​ช่วยเหลือ​คน​อื่น ๆ พวก​เขา​ไม่​เพียง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ แต่​เรา​ยัง​ประสบ​ความ​สุข​และ​ความ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​ใน​ระดับ​หนึ่ง​ด้วย ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​รับมือ​กับ​ภาระ​ของ​ตน​เอง​ได้​ง่าย​ขึ้น.—กิจการ 20:35.

16. คริสเตียน​แต่​ละ​คน​จะ​หนุน​ใจ​คน​อื่น​ได้​อย่าง​ไร?

16 ชาย​หญิง​ที่​อาวุโส​ฝ่าย​วิญญาณ​จะ​มี​ส่วน​ช่วย​ได้​มาก​ใน​การ​เสริม​กำลัง​คน​อื่น ๆ. เพื่อ​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้ พวก​เขา​ควร​ทำ​ตัว​เอง​ให้​เป็น​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย​เสมอ. (2 โกรินโธ 6:11-13) ประชาคม​ได้​ประโยชน์​แน่ ๆ เมื่อ​แต่​ละ​คน​หา​โอกาส​ชมเชย​เยาวชน, เสริม​กำลัง​ผู้​เชื่อถือ​ใหม่, และ​หนุน​ใจ​ผู้​ที่​ท้อ​ใจ. (โรม 15:7) นอก​จาก​นี้ ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​จะ​ช่วย​ไม่​ให้​เรา​แคลง​ใจ​สงสัย​กัน​และ​กัน. เรา​ไม่​ควร​ด่วน​ตัดสิน​ว่า การ​ที่​คน​หนึ่ง​คน​ใด​มี​ความ​ทุกข์​ใจ​นั้น​แสดง​ว่า​เขา​อ่อนแอ​ฝ่าย​วิญญาณ. เปาโล​กระตุ้น​คริสเตียน​อย่าง​เหมาะ​สม​ให้ “หนุน​น้ำใจ​ผู้​ที่​ท้อ​ใจ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14) คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ว่า​แม้​แต่​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ก็​ประสบ​กับ​ความ​ทุกข์​ใจ.—กิจการ 14:15, ล.ม.

17. เรา​พึง​เสริม​ความ​ผูก​พัน​แห่ง​สังคม​พี่​น้อง​คริสเตียน​ใน​โอกาส​ใด​บ้าง?

17 การ​ประชุม​คริสเตียน​ให้​โอกาส​อัน​ดี​เยี่ยม​แก่​เรา​ที่​จะปลอบโยน​และ​หนุน​ใจ​กัน. (เฮ็บราย 10:24, 25) การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​กัน​นี้​ไม่​ได้​จำกัด​อยู่​แค่​ใน​การ​ประชุม​ต่าง ๆ เท่า​นั้น. ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ยัง​หา​โอกาส​ที่​จะ​คบหา​กัน​ใน​ทาง​ที่​ดี​งาม​ใน​โอกาส​อื่น ๆ ที่​ไม่​เป็น​ทาง​การ​ด้วย. เมื่อ​มี​เหตุ​การณ์​ที่​ทำ​ให้​ทุกข์​ใจ เรา​ก็​พร้อม​จะ​ช่วยเหลือ​กัน​เพราะ​ได้​สร้าง​มิตรภาพ​ที่​ผูก​พัน​กัน​ไว้​อย่าง​แน่นแฟ้น. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “ไม่​ให้ [“ไม่​ควร,” ล.ม.] มี​การ​แก่ง​แย่ง​กัน​ใน​ร่าง​กาย แต่​ให้​อวัยวะ​ทุก​ส่วน​พะวง​ซึ่ง​กัน​และ​กัน ถ้า​อวัยวะ​อัน​หนึ่ง​เจ็บ อวัยวะ​ทั้ง​หมด​ก็​พลอย​เจ็บ​ด้วย ถ้า​อวัยวะ​อัน​หนึ่ง​ได้​รับ​เกียรติ อวัยวะ​ทั้ง​หมด​ก็​พลอย​ชื่นชม​ยินดี​ด้วย.”—1 โกรินโธ 12:25, 26, ฉบับ​แปล​ใหม่.

18. เรา​ควร​หลีก​เลี่ยง​แนว​โน้ม​อะไร​เมื่อ​ท้อ​แท้​ใจ?

18 บาง​ครั้ง เรา​อาจ​ท้อ​แท้​ใจ​จน​ไม่​อยาก​จะ​พบ​ปะ​กับ​เพื่อน​คริสเตียน. เรา​ควร​ต่อ​สู้​กับ​ความ​รู้สึก​เช่น​นี้​เพื่อ​เรา​จะ​ไม่​กีด​กัน​ตัว​เอง​ไม่​ให้​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​และ​ความ​ช่วยเหลือ​ที่​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​อาจ​เสนอ​ให้. คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​เรา​ว่า “คน​ที่​ปลีก​ตัว​ออก​ไป​จาก​ผู้​อื่น​จงใจ​จะ​ทำ​ตาม​ตน​เอง, และ​ค้าน​คติ​แห่ง​ปัญญา​อัน​ถูก​ต้อง​ทั้ง​หลาย.” (สุภาษิต 18:1) พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ของ​เรา​เป็น​การ​จัด​เตรียม​ที่​แสดง​ถึง​ความ​ห่วงใย​รักใคร่​ที่​พระเจ้า​มี​ต่อ​เรา. ถ้า​เรา​ยอม​รับ​การ​จัด​เตรียม​ด้วย​ความ​รัก​นี้ เรา​จะ​ได้​รับ​ความ​บรรเทา​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก.

รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก

19, 20. พระ​คัมภีร์​ช่วย​เรา​ขจัด​ความ​คิด​ใน​แง่​ลบ​อย่าง​ไร?

19 เมื่อ​เกิด​ความ​ท้อ​แท้​และ​ความ​ทุกข์​โศก ง่าย​ที่​จะ​จม​อยู่​ใน​ความ​คิด​ใน​แง่​ลบ. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​ประสบ​ความ​ทุกข์​ยาก บาง​คน​อาจ​เริ่ม​สงสัย​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ตน​เอง ลง​ความ​เห็น​ว่า​ความ​ทุกข์​ยาก​ของ​ตน​เป็น​สิ่ง​บ่ง​ชี้​ถึง​ความ​ไม่​พอ​พระทัย​ของ​พระเจ้า. แต่​ขอ​อย่า​ลืม​ว่า พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทดลอง​ผู้​ใด​ด้วย “สิ่ง​ที่​ชั่ว.” (ยาโกโบ 1:13, ล.ม.) คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “[พระเจ้า] จะ​ได้​กระทำ​ให้​ใคร​เกิด​ทุกข์​หรือ​ให้​วงศ์วาน​แห่ง​มนุษย์​มี​โศก​ด้วย​ชอบ​พระทัย​ก็​หา​มิ​ได้.” (บทเพลง​ร้อง​ทุกข์​ของ​ยิระมะยา 3:33) ตรง​กัน​ข้าม พระ​ยะโฮวา​ทุกข์​พระทัย​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ทน​ทุกข์.—ยะซายา 63:8, 9; ซะคาระยา 2:8.

20 พระ​ยะโฮวา​เป็น “พระ​บิดา​ผู้​ทรง​ความ​เมตตา​และ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​ชู​ใจ​ทุก​อย่าง.” (2 โกรินโธ 1:3) พระองค์​ทรง​ห่วงใย​เรา และ​จะ​ยก​เรา​ขึ้น​ใน​เวลา​อัน​ควร. (1 เปโตร 5:6, 7) การ​สำนึก​อยู่​เสมอ​ถึง​ความ​ห่วงใย​รักใคร่​ที่​พระเจ้า​มี​ต่อ​เรา​จะ​ช่วย​ให้​เรา​รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก แม้​กระทั่ง​มี​ความ​ยินดี. ยาโกโบ​เขียน​ดัง​นี้: “ดู​ก่อน​พี่​น้อง​ของ​ข้าพเจ้า, เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ตก​อยู่​ใน​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ ก็​จง​มี​ความ​ยินดี​เถิด.” (ยาโกโบ 1:2) เพราะ​เหตุ​ใด? ท่าน​ตอบ​ว่า “เพราะ​เมื่อ​ปรากฏ​ว่า​ผู้​นั้น​ทน​ได้​แล้ว, เขา​จะ​ได้​รับ​มงกุฎ​แห่ง​ชีวิต, ซึ่ง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ได้​ทรง​สัญญา​ไว้​แล้ว​ว่า​จะ​ทรง​ประทาน​ให้​แก่​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​รัก​พระองค์.”—ยาโกโบ 1:12.

21. ไม่​ว่า​เรา​จะ​เผชิญ​ความ​ทุกข์​ยาก​ใด ๆ พระเจ้า​ทรง​รับรอง​อะไร​แก่​ผู้​ที่​พิสูจน์​ตัว​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระองค์?

21 ดัง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เตือน​ไว้ เรา​จะ​มี​ความ​ทุกข์​ยาก​ใน​โลก​นี้. (โยฮัน 16:33) แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​สัญญา​ว่า ไม่​มี “การ​ยาก​ลำบาก, หรือ​ความ​ทุกข์​ใน​ใจ, หรือ​การ​เคี่ยวเข็ญ, หรือ​การ​กันดาร​อาหาร, หรือ​การ​เปลือย​กาย, หรือ​การ​ถูก​โพย​ภัย” จะ​พราก​เรา​ไป​จาก​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ของ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์. (โรม 8:35, 39) ช่าง​เป็น​การ​ปลอบโยน​เสีย​จริง ๆ ที่​รู้​ว่า​ความ​ทุกข์​ใด ๆ ที่​เรา​ประสบ​อยู่​เป็น​แค่​ชั่ว​คราว! ระหว่าง​นี้ ขณะ​ที่​เรา​กำลัง​คอย​ท่า​อวสาน​แห่ง​ความ​ทุกข์​ของ​มนุษย์ พระ​ยะโฮวา พระ​บิดา​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ทรง​พิทักษ์​เรา. ถ้า​เรา​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​การ​ปก​ป้อง พระองค์​จะ​เป็น “ป้อม​อัน​สูง​สำหรับ​ผู้​ที่​ถูก​ข่มเหง . . . เป็น​ป้อม​อัน​สูง​ใน​เวลา​ยาก​ลำบาก.”—บทเพลง​สรรเสริญ 9:9.

คุณ​ได้​เรียน​รู้​อะไร?

• คริสเตียน​ควร​คาด​หมาย​ว่า​จะ​ประสบ​สิ่ง​ใด​ขณะ​ดำรง​ชีวิต​ใน​โลก​ชั่ว​นี้?

• คำ​อธิษฐาน​อย่าง​แรง​กล้า​จาก​ใจ​จริง​จะ​เสริม​กำลัง​เรา​ให้​เข้มแข็ง​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​เผชิญ​การ​ทดลอง?

• พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ผู้​ช่วย​อย่าง​ไร?

• เรา​สามารถ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ช่วยเหลือ​กัน​และ​กัน?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 18]

เรา​ต้อง​แสวง​หา​พระ​ยะโฮวา​เสมือน​กำลัง​วิ่ง​เข้า​ไป​ใน​ป้อม​เข้มแข็ง

[ภาพ​หน้า 20]

ผู้​ที่​อาวุโส​ฝ่าย​วิญญาณ​ใช้​ทุก​โอกาส​เพื่อ​ชมเชย​และ​หนุน​ใจ​คน​อื่น