เหน็ดเหนื่อย แต่ไม่ท้อถอยเลื่อยล้า
เหน็ดเหนื่อย แต่ไม่ท้อถอยเลื่อยล้า
“พระยะโฮวา . . . ผู้ทรงสร้างกระทั่งสุดปลายแผ่นดินโลก . . . ทรงประทานแรงแก่ผู้ที่อิดโรย, ส่วนผู้ที่อ่อนเปลี้ย, พระองค์ทรงประทานกำลังให้.”—ยะซายา 40:28, 29.
1, 2. (ก) มีการแผ่คำเชิญชวนอันน่าดึงดูดใจอะไรไปยังทุกคนที่ประสงค์จะร่วมในการนมัสการอันบริสุทธิ์? (ข) อะไรอาจก่อผลร้ายแรงต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา?
ในฐานะสาวกของพระเยซู เราคุ้นเคยดีกับคำเชิญชวนอันน่าดึงดูดใจของพระองค์ที่ว่า “บรรดาผู้ลำบากเหน็ดเหนื่อยจงมาหาเรา, และเราจะให้ท่านทั้งหลายหายเหนื่อยเป็นสุข. . . . ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ, และภาระของเราก็เบา.” (มัดธาย 11:28-30) มีการเสนอ “เวลาชื่นใจยินดี . . . จากพระพักตร์พระเจ้า” เช่นกันสำหรับคริสเตียน. (กิจการ 3:19) ไม่มีข้อสงสัยว่าคุณเคยประสบด้วยตัวเองถึงความสดชื่นที่ได้จากการเรียนรู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิล, จากการมีความหวังอันสดใสสำหรับอนาคต, และจากการใช้หลักการของพระยะโฮวาในชีวิตของคุณ.
2 กระนั้น ผู้นมัสการพระยะโฮวาบางคนรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ในบางขณะ. บางกรณี ความท้อแท้นี้เกิดขึ้นแค่ช่วงสั้น ๆ แต่บางครั้ง ความรู้สึกอ่อนล้าก็อาจคงอยู่เป็นเวลานาน. ขณะที่เวลาผ่านไป บางคนอาจรู้สึกว่าหน้าที่รับผิดชอบของคริสเตียนกลายเป็นภาระหนักแทนที่จะเป็นภาระที่ทำให้สดชื่นอย่างที่พระเยซูสัญญาไว้. ความรู้สึกในแง่ลบอย่างนั้นอาจก่อผลร้ายแรงต่อสัมพันธภาพระหว่างคริสเตียนกับพระยะโฮวา.
3. ทำไมพระเยซูจึงให้คำแนะนำดังที่กล่าวไว้ในโยฮัน 14:1?
3 ไม่นานก่อนถูกจับกุมและประหาร พระเยซูบอกสาวกของพระองค์ว่า “อย่าให้ใจท่านทั้งหลายวิตกเลย ท่านวางใจในพระเจ้า. จงวางใจในเราด้วย.” (โยฮัน 14:1) พระเยซูตรัสถ้อยคำนี้เมื่อพวกอัครสาวกจวนจะเผชิญเหตุการณ์อันแสนเศร้า. จากนั้นจะมีการข่มเหงเกิดขึ้นตามมาอย่างฉับพลัน. พระเยซูทราบดีว่าความท้อแท้อย่างหนักอาจทำให้เหล่าอัครสาวกของพระองค์สะดุดได้. (โยฮัน 16:1) ถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ความเศร้าใจสามารถทำให้พวกเขาอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ และเป็นเหตุให้พวกเขาสูญเสียความวางใจพระยะโฮวา. สิ่งนี้เป็นจริงกับคริสเตียนทุกวันนี้เช่นกัน. ความท้อแท้เป็นเวลานานสามารถก่อความทุกข์ระทมอย่างมาก และอาจทำให้หัวใจของเราเพียบลง. (ยิระมะยา 8:18) บุคคลภายในของเราอาจอ่อนแอลง. เมื่ออยู่ภายใต้ความกดดันดังกล่าว เราอาจไม่อยากทำอะไรทั้งนั้นและไม่มีความสนใจใด ๆ ในสิ่งฝ่ายวิญญาณ แม้กระทั่งไม่อยากนมัสการพระยะโฮวาด้วยซ้ำ.
4. อะไรจะช่วยเราป้องกันรักษาหัวใจโดยนัยของเราไม่ให้ท้อถอยเลื่อยล้า?
4 เหมาะทีเดียวที่คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำไว้ว่า “จงป้องกันรักษาหัวใจของเจ้าไว้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นที่ควรปกป้อง เพราะแหล่งแห่งชีวิตเกิดจากหัวใจ.” (สุภาษิต 4:23, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่นำไปใช้ได้จริง ซึ่งช่วยเราป้องกันรักษาหัวใจโดยนัยของเราไม่ให้ท้อถอยและป้องกันความอ่อนล้าฝ่ายวิญญาณ. แต่ก่อนอื่น เราต้องระบุว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เราอ่อนล้า.
แนวทางคริสเตียนไม่เป็นภาระหนัก
5. อะไรที่ดูเหมือนขัดแย้งกันในเรื่องการติดตามพระคริสต์?
5 เป็นความจริงที่ว่าการเป็นคริสเตียนเรียกร้องความบากบั่นอย่างแข็งขัน. (ลูกา 13:24) พระเยซูถึงกับตรัสว่า “ผู้ใดมิได้แบกกางเขน [“เสาทรมาน,” ล.ม.] ของตนตามเรามา, ผู้นั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้.” (ลูกา 14:27) ดูเผิน ๆ อาจดูเหมือนถ้อยคำเหล่านี้ขัดแย้งกับคำตรัสของพระเยซูในเรื่องภาระของพระองค์ที่เบาและให้ความสดชื่น แต่แท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน.
6, 7. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าแบบแห่งการนมัสการของเราไม่ทำให้อ่อนล้า?
6 การบากบั่นอย่างแข็งขันและการทุ่มเทกำลังในการท่านผู้ประกาศ 3:13, 22) และจะมีเป้าหมายอะไรที่ดีไปกว่าการแบ่งปันความจริงอันยอดเยี่ยมจากคัมภีร์ไบเบิลแก่เพื่อนบ้านของเรา? นอกจากนี้ ความบากบั่นพยายามที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐานศีลธรรมอันสูงส่งของพระเจ้ากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ. (สุภาษิต 2:10-20) แม้แต่เมื่อถูกข่มเหง เราก็ถือว่าเป็นเกียรติที่ได้ทนทุกข์เพราะเห็นแก่ราชอาณาจักรของพระเจ้า.—1 เปโตร 4:14.
งาน แม้ว่าจะทำให้เหน็ดเหนื่อย แต่ก็ทำให้อิ่มใจและชื่นใจได้ถ้าทำไปโดยมีเป้าหมายที่ดี. (7 ภาระของพระเยซูยังความสดชื่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับความมืดฝ่ายวิญญาณของบรรดาผู้ที่คงอยู่ใต้แอกของศาสนาเท็จ. พระเจ้ามีความรักใคร่อันอ่อนละมุนต่อเรา และไม่วางข้อเรียกร้องที่หนักเกินไปแก่เรา. ‘บัญญัติของพระยะโฮวาไม่เป็นภาระหนัก.’ (1 โยฮัน 5:3, ล.ม.) แนวทางคริสเตียนแท้ตามที่กำหนดในพระคัมภีร์ไม่เป็นภาระหนัก. เป็นที่ชัดเจนว่า แบบแห่งการนมัสการของเราไม่ทำให้อ่อนล้าและท้อใจ.
“ปลดของหนักทุกอย่าง”
8. บ่อยครั้ง อะไรเป็นสาเหตุของความอ่อนล้าฝ่ายวิญญาณ?
8 บ่อยครั้ง ความอ่อนล้าฝ่ายวิญญาณใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราเกิดจากภาระหนักที่โลกที่เสื่อมทรามนี้เพิ่มให้เรา. เนื่องจาก “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย” เราจึงถูกห้อมล้อมด้วยความกดดันที่สามารถบั่นทอนกำลังและทำให้เราค่อย ๆ สูญเสียความสมดุลฝ่ายคริสเตียน. (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) กิจกรรมที่ไม่จำเป็นอาจทำให้ชีวิตยุ่งยากและรบกวนกิจวัตรฝ่ายคริสเตียนของเรา. ภาระที่เพิ่มเข้ามานี้อาจทำให้เราเพียบลงและกระทั่งจิตใจห่อเหี่ยว. นับว่าเหมาะที่คัมภีร์ไบเบิลแนะเตือนเราให้ “ปลดของหนักทุกอย่าง.”—เฮ็บราย 12:1-3, ล.ม.
9. การแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุทำให้เราเพียบลงได้อย่างไร?
9 ยกตัวอย่าง การที่โลกเน้นความสำคัญของการมีชื่อเสียง, ความมั่งมี, ความบันเทิง, การเดินทางท่องเที่ยว, และการแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุ อาจส่งผลต่อความคิดของเรา. (1 โยฮัน 2:15-17) คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกที่แสวงหาความมั่งมีทำให้ชีวิตของตนประสบความยุ่งยากอย่างหนัก. อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า “ฝ่ายคนเหล่านั้นที่อยากเป็นคนมั่งมีก็ย่อมตกในการทดลอง, และในบ่วงแร้ว, และในตัณหาหลายอย่างอันโฉดเขลาและเป็นภัยแก่ตัว, ซึ่งย่อมทำให้ตัวจมลงในความพินาศเสื่อมศูนย์ไป. ด้วยว่าการรักเงินทองนั้นก็เป็นรากแห่งความชั่วทุกอย่าง และบางคนที่ได้โลภเงินทองจึงได้หลงไปจากความเชื่อนั้น, และความทุกข์เป็นอันมากจึงทิ่มแทงตัวของเขาเองให้ทะลุ.”—1 ติโมเธียว 6:9, 10.
10. เราเรียนรู้อะไรได้เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติจากอุปมาของพระเยซูเรื่องผู้หว่าน?
10 หากเรารู้สึกเหนื่อยล้าและท้อถอยในการรับใช้พระเจ้า เป็นไปได้ไหมว่านั่นเป็นเพราะการแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุกำลังเบียดบังเข้ามาปกคลุมสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา? เรื่องนี้เป็นไปได้จริง ๆ ดังพระเยซูบ่งชี้ในอุปมาเรื่องผู้หว่าน. พระเยซูเปรียบ “ความปรารภปรารมภ์ด้วยโลกนี้และการล่อลวงแห่งทรัพย์สมบัติและความโลภในสิ่งอื่น ๆ” เป็นหนามที่รุกล้ำเข้ามา “ปกคลุม” เมล็ดแห่งพระคำของพระเจ้าในหัวใจเรา. (มาระโก 4:18, 19) คัมภีร์ไบเบิลจึงแนะนำเราว่า “ท่านจงพ้นจากการรักเงิน ท่านทั้งหลายจงอิ่มใจด้วยสิ่งของที่มีอยู่ เพราะว่าพระองค์เองได้ตรัสแล้วว่า, ‘เรา จะไม่ละท่านไว้เลย, หรือเราจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.’ ”—เฮ็บราย 13:5.
11. เราอาจกำจัดสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกเพียบลงได้อย่างไร?
11 บางครั้ง สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเรายุ่งยาก ไม่ใช่การแสวงหาสิ่งของใหม่ ๆ แต่อยู่ที่ว่าเราทำอะไรกับสิ่งของที่เรามีอยู่แล้ว. บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์เนื่องจากเผชิญปัญหาสุขภาพที่ยากแก่การรักษา, สูญเสียคนรักไป, หรือประสบปัญหาอื่น ๆ ที่ก่อความทุกข์ใจ. พวกเขาเห็นว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเป็นครั้งเป็นคราว. สามีภรรยาคู่หนึ่งได้ตัดสินใจที่จะตัดงานอดิเรกและโครงงานส่วนตัวที่ไม่จำเป็นบางอย่างออก. ทั้งคู่ตรวจดูสิ่งของที่เขามีอยู่ เก็บอุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับโครงงานเหล่านั้นลงกล่อง แล้วเก็บให้ลับตา. เป็นระยะ ๆ เราสามารถได้ประโยชน์จากการตรวจดูกิจวัตรส่วนตัวและสิ่งต่าง ๆ ที่เรามี ปลดของหนักทุกอย่างที่ไม่จำเป็นออก เพื่อเราจะไม่เหนื่อยล้าและหยุดกลางคัน.
ความมีเหตุผลและความเจียมตัวเป็นสิ่งสำคัญ
12. เราควรตระหนักอะไรเกี่ยวกับความผิดพลาดของเราเอง?
12 ความผิดพลาดของเราเอง แม้แต่ในเรื่องเล็กน้อย อาจค่อย ๆ ทำให้ชีวิตของเรายุ่งยากขึ้น. ถ้อยคำของดาวิดช่างเป็นความจริงที่ว่า “การผิดของข้าพเจ้าท่วมศีรษะข้าพเจ้า; ดุจภาระอันหนักเกินที่ข้าพเจ้าจะทนได้แล้ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 38:4) บ่อยครั้ง การปรับเปลี่ยนเล็กน้อยให้สอดคล้องกับความเป็นจริงจะช่วยผ่อนภาระที่หนักให้เบาขึ้นสำหรับเรา.
13. ความมีเหตุผลจะช่วยเราอย่างไรให้มีทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับงานรับใช้ของเรา?
13 คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราให้พัฒนา “สติปัญญาที่ใช้ได้จริงและความสามารถในการคิด.” (สุภาษิต 3:21, 22, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น . . . มีเหตุผล.” (ยาโกโบ 3:17, ล.ม.) บางคนรู้สึกว่าตนจะต้องทำงานรับใช้ของคริสเตียนให้เท่ากับคนอื่น ๆ. แต่คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราดังนี้: “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น. เพราะแต่ละคนจะแบกภาระของตนเอง.” (ฆะลาเตีย 6:4, 5, ล.ม.) จริงอยู่ที่ว่าตัวอย่างที่ดีของเพื่อนคริสเตียนอาจกระตุ้นหนุนใจเราให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างสิ้นสุดหัวใจ แต่สติปัญญาที่ใช้ได้จริงและความมีเหตุผลจะช่วยเราตั้งเป้าที่ทำได้จริงตามสภาพการณ์ของเราเอง.
14, 15. เราจะแสดงถึงสติปัญญาที่ใช้ได้จริงในการเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นด้านร่างกายและอารมณ์ของเราได้อย่างไร?
14 ความมีเหตุผลแม้แต่ในเรื่องที่อาจดูเหมือนเล็กน้อยก็ช่วยป้องกันไม่ให้อิดโรยได้. ตัวอย่างเช่น เราพัฒนานิสัยที่สมดุลซึ่งจะส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีไหม? ขอพิจารณาตัวอย่างของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่รับใช้ในสำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวา. ทั้งสองเห็นคุณค่าของสติปัญญาที่ใช้ได้จริงในการป้องกันความอ่อนล้า. ผู้เป็นภรรยากล่าวว่า “ไม่ว่าเราจะมีงานมากแค่ไหน เราพยายามเข้านอนในเวลาเดียวกันทุกคืน. เราออกกำลังกายเป็นประจำด้วย. การทำสิ่งเหล่านี้ช่วยเราได้มาก. เรารู้ขีดจำกัดของตัวเอง และไม่ทำอะไรเกินกำลังของเรา. เราไม่พยายามเปรียบ
เทียบตัวเราเองกับคนอื่นที่ดูเหมือนมีกำลังไม่จำกัด.” เรากินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำและพักผ่อนอย่างเพียงพอไหม? โดยทั่วไปแล้ว การเอาใจใส่อย่างสมควรในเรื่องสุขภาพจะช่วยลดความรู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์และวิญญาณได้.15 บางคนในพวกเรามีความจำเป็นต่างไปจากคนอื่น. ตัวอย่างเช่น สตรีคริสเตียนคนหนึ่งทำงานมอบหมายที่มีข้อท้าทายมาแล้วหลายอย่างในงานรับใช้เต็มเวลา. เธอมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงเรื่อยมา รวมถึงโรคมะเร็ง. อะไรช่วยเธอให้รับมือกับสภาพที่ก่อความเครียดได้? เธอกล่าวว่า “สำหรับดิฉันแล้ว การได้มีเวลาอยู่เงียบ ๆ คนเดียวเป็นสิ่งสำคัญ. ยิ่งรู้สึกเครียดและล้ามากเท่าไร ดิฉันก็ยิ่งต้องรีบหาเวลาอยู่เงียบ ๆ คนเดียวมากขึ้นเท่านั้น เพื่อจะอ่านหนังสือและพักผ่อนได้.” สติปัญญาที่ใช้ได้จริงและความสามารถในการคิดช่วยเราให้ตระหนักถึงและสนองความจำเป็นส่วนตัวของเรา และการทำเช่นนั้นช่วยป้องกันความอ่อนล้าฝ่ายวิญญาณ.
พระยะโฮวาพระเจ้าประทานกำลังแก่เรา
16, 17. (ก) เหตุใดการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพฝ่ายวิญญาณจึงสำคัญมาก? (ข) เราควรรวมอะไรเข้าไว้ในกิจวัตรประจำวันของเรา?
16 แน่นอน การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพฝ่ายวิญญาณของเรามีความสำคัญมาก. เมื่อเรามีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระเจ้า เราอาจจะเหนื่อยอ่อนทางกาย แต่เราไม่มีวันเหนื่อยล้าในการนมัสการพระองค์. พระยะโฮวาเป็นผู้ “ประทานแรงแก่ผู้ที่อิดโรย, ส่วนผู้ที่อ่อนเปลี้ย, พระองค์ทรงประทานกำลังให้.” (ยะซายา 40:28, 29) อัครสาวกเปาโลซึ่งประสบความสัตย์จริงของถ้อยคำดังกล่าวด้วยตนเอง เขียนว่า “เรา . . . ไม่ย่อท้อ, ถึงแม้ว่ากายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป, ใจภายในนั้นก็ยังจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน ๆ.”—2 โกรินโธ 4:16.
17 ขอสังเกตคำ “ทุกวัน ๆ.” ข้อนี้บ่งนัยถึงการที่เราใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พระยะโฮวาประทานให้ทุก ๆ วันเป็นประจำ. มิชชันนารีคนหนึ่งซึ่งรับใช้อย่างซื่อสัตย์มานาน 43 ปี เคยต้องประสบกับช่วงเวลาที่เหนื่อยอ่อนและท้อ. แต่เธอไม่หมดกำลัง. เธอบอกว่า “ฉันทำเป็นนิสัยที่จะลุกขึ้นแต่เช้าเพื่อฉันจะสามารถใช้เวลาอธิษฐานถึงพระยะโฮวาและอ่านพระคำของพระองค์ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมอื่นใด. การทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรทุกวันช่วยฉันให้อดทนมาถึงทุกวันนี้.” เราสามารถหมายพึ่งกำลังค้ำจุนจากพระยะโฮวาได้อย่างแท้จริง หากเราอธิษฐานและใคร่ครวญถึงคุณลักษณะอันเลอเลิศและคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์ “ทุกวัน ๆ.”
18. คัมภีร์ไบเบิลให้กำลังใจเช่นไรแก่ผู้ซื่อสัตย์ที่สูงอายุหรือเจ็บป่วย?
18 การทำอย่างนั้นเป็นประโยชน์โดยเฉพาะกับผู้ที่ท้อเนื่องจากความแก่ชราและสุขภาพไม่แข็งแรง. คนเช่นนั้นอาจท้อ ไม่ใช่เนื่องจากเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่เนื่องจากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเองเคยทำได้ในอดีต. ช่างได้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่าพระยะโฮวายกย่องผู้สูงอายุ! คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผมหงอกบนศีรษะเป็นเหมือนมงกุฎแห่งสง่าราศีถ้าใจอยู่ในที่ชอบธรรม.” (สุภาษิต 16:31) พระยะโฮวาทราบขีดจำกัดของเราดี และถือว่าการนมัสการอย่างสิ้นสุดหัวใจของเรามีค่ามาก แม้จะทำได้อย่างจำกัด. และการงานอันดีที่เราได้ทำไปเก็บบันทึกอยู่ในความทรงจำของพระเจ้าอย่างไม่มีวันลืมเลือน. พระคัมภีร์ให้คำรับรองแก่เราว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์, ในการที่ท่านได้ปรนนิบัติสิทธชนนั้น, และยังกำลังปรนนิบัติอยู่.” (เฮ็บราย 6:10) เราทุกคนปลื้มปีติสักเพียงไรที่มีผู้พิสูจน์ตัวภักดีต่อพระยะโฮวามานานหลายสิบปีอยู่ท่ามกลางพวกเรา!
อย่าเลิกรา
19. เราได้ประโยชน์อย่างไรจากการหมั่นกระทำการดีต่อ ๆ ไป?
19 หลายคนเชื่อว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยทำให้ไม่อ่อนล้าได้ง่าย. ในทำนองเดียวกัน การทำกิจกรรมฝ่ายวิญญาณเป็นประจำสามารถช่วยลดความเหนื่อยล้าใด ๆ ทางอารมณ์และวิญญาณ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “อย่าให้เราเลื่อยล้า [“เลิกรา,” ล.ม.] ในการกระทำดี, เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อถอยเลื่อยล้า, เราจะเกี่ยวเก็บผลในเวลาอันควร. เหตุฉะนั้น, ตามที่เรามีโอกาสอยู่, ให้ฆะลาเตีย 6:9, 10) ขอสังเกตถ้อยคำที่ว่า “การกระทำดี” กับ “กระทำการดี.” ถ้อยคำเหล่านี้แสดงถึงการที่เราเป็นฝ่ายลงมือกระทำ. การกระทำการดีต่อคนอื่นจะช่วยป้องกันอย่างแท้จริงไม่ให้เราท้อถอยเลื่อยล้าในการรับใช้พระยะโฮวา.
เรากระทำการดีแก่คนทั้งปวง, และที่สำคัญนั้นจงกระทำแก่ครอบครัวของความเชื่อ.” (20. เพื่อป้องกันไม่ให้ท้อ เราควรหลีกเลี่ยงการคบหากับใคร?
20 ในทางตรงข้าม การคบหาและร่วมกิจกรรมกับคนที่ไม่ใส่ใจกฎหมายของพระเจ้าอาจกลายเป็นภาระหนักที่ก่อความอ่อนล้า. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราดังนี้: “ก้อนหินนั้นเป็นของหนัก, และทรายเป็นของหนักด้วย, แต่ความรำคาญที่เกิดมาจากคนโฉดก็หนักกว่าทั้งสองสิ่งนั้น.” (สุภาษิต 27:3) เพื่อป้องกันความรู้สึกท้อใจและความเหนื่อยล้า เราควรหลีกเลี่ยงการคบหากับคนที่มักจะมีทัศนะในแง่ลบและชอบจับผิดและวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ๆ.
21. เราจะเป็นที่หนุนกำลังใจคนอื่น ๆ ได้อย่างไร ณ การประชุมคริสเตียน?
21 การประชุมคริสเตียนเป็นการจัดเตรียมอย่างหนึ่งจากพระยะโฮวาที่สามารถให้พลังฝ่ายวิญญาณแก่เรา. ในการประชุมเหล่านั้น เรามีโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะหนุนกำลังใจกันด้วยคำแนะนำและการคบหาที่ทำให้สดชื่น. (เฮ็บราย 10:25) ทุกคนในประชาคมควรพยายามให้คำพูดของตนเป็นที่เสริมสร้างเมื่อออกความเห็น หรือเมื่อมีส่วนบนเวทีในการประชุมรายการต่าง ๆ. คนที่นำหน้าในฐานะผู้สอนมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษที่จะหนุนกำลังใจคนอื่น ๆ. (ยะซายา 32:1, 2) แม้แต่เมื่อจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนหรือว่ากล่าวแก้ไข การให้คำแนะนำก็ควรเป็นไปในลักษณะที่ก่อความสดชื่น. (ฆะลาเตีย 6:1, 2) ความรักที่เราแสดงต่อคนอื่นจะช่วยเราอย่างแท้จริงให้รับใช้พระยะโฮวาโดยไม่ท้อถอยเลื่อยล้า.—บทเพลงสรรเสริญ 133:1; โยฮัน 13:35.
22. ทำไมเราจึงมีใจกล้าได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์?
22 การนมัสการพระยะโฮวาในสมัยสุดท้ายนี้เกี่ยวข้องกับการงาน. และคริสเตียนก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ, ความปวดร้าวทางอารมณ์, และสภาพการณ์ที่ก่อความเครียด. ลักษณะของมนุษย์ไม่สมบูรณ์อย่างเราก็คือเปราะบาง เช่นเดียวกับภาชนะดิน. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เรามีทรัพย์นั้นในภาชนะดิน เพื่อกำลังที่มากกว่าปกติจะมาจากพระเจ้าและมิใช่มาจากตัวเราเอง.” (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) ถูกแล้ว เราย่อมจะเหนื่อย แต่ขอเราอย่าท้อถอยเลื่อยล้าหรือเลิกรา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ขอให้เรา “มีใจกล้าและกล่าวว่า ‘พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยข้าพเจ้า.’ ”—เฮ็บราย 13:6, ล.ม.
การทบทวนสั้น ๆ
• อะไรคือของหนักบางอย่างที่เป็นภาระซึ่งเราอาจปลดทิ้งไปได้?
• เราจะทำ “การดี” ต่อเพื่อนคริสเตียนของเราได้อย่างไร?
• พระยะโฮวาทรงหนุนกำลังเราโดยวิธีใดเมื่อเรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือท้อแท้?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 23]
พระเยซูทราบว่าความท้อแท้เป็นเวลานานอาจก่อปัญหาแก่พวกอัครสาวก
[ภาพหน้า 24]
บางคนได้ตัดงานอดิเรกและโครงงานส่วนตัวบางอย่างที่ไม่จำเป็นออก
[ภาพหน้า 26]
แม้ทำได้จำกัด พระยะโฮวาทรงถือว่าการนมัสการอย่างสิ้นสุดหัวใจของเรามีค่ามาก