คุณจะยกมรดกอะไรให้ลูก ๆ ของคุณ?
คุณจะยกมรดกอะไรให้ลูก ๆ ของคุณ?
พัฟลอส ชายคนหนึ่งที่มีครอบครัวแล้วจากทางใต้ของยุโรป ไม่ค่อยได้ใช้เวลาอยู่บ้านกับภรรยาและลูก ๆ—ลูกสาวสองคนวัย 13 และ 11 ปี กับลูกชายวัย 7 ขวบ. ตลอดสัปดาห์พัฟลอสทำงานสองกะ วันละหลายชั่วโมง โดยพยายามจะได้เงินพอที่จะทำให้ฝันของเขาเป็นจริง. เขาต้องการจะซื้อห้องชุดให้ลูกสาวแต่ละคน และต้องการจะเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ ให้ลูกชายด้วย. ซอฟีอา ภรรยาของเขาทำงานหนักเพื่อสะสมผ้าปูที่นอน, ผ้าปูโต๊ะ, เครื่องใช้ในครัว, เครื่องเคลือบดินเผา, และเครื่องเงินสำหรับครอบครัวในอนาคตของลูก ๆ. เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงทำงานหนักเช่นนี้ ทั้งสองตอบพร้อมกันว่า “ก็เพื่อประโยชน์ของลูก ๆ น่ะสิ!”
เช่นเดียวกับพัฟลอสและซอฟีอา บิดามารดาหลายคนตลอดทั่วโลกพยายามสุดความสามารถที่จะทำให้บุตร
ของตนมีการเริ่มต้นที่ดีในชีวิต. บางคนเก็บออมเงินไว้เพื่อให้บุตรใช้สอยในวันข้างหน้า. คนอื่นทำให้แน่ใจว่าบุตรหลานของตนได้รับการศึกษาเพียงพอและเรียนรู้ทักษะที่จะเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้า. ถึงแม้บิดามารดาส่วนใหญ่ถือว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นมรดกที่ให้แก่บุตรด้วยความรักก็ตาม บ่อยครั้งการตระเตรียมเช่นนั้นทำให้บิดามารดาประสบความกดดันอย่างหนักที่จะทำให้สมตามความคาดหมายของญาติพี่น้อง, เพื่อนฝูง, และชุมชนที่ตนอยู่นั้น. เพราะฉะนั้น บิดามารดาที่มีความห่วงใยจึงถามอย่างเหมาะสมว่า ‘เราจะต้องเตรียมให้ลูกมากแค่ไหน?’การตระเตรียมสำหรับอนาคต
ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องธรรมดาเท่านั้น แต่ยังเป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ด้วยที่บิดามารดาคริสเตียนจะทำการตระเตรียมสำหรับบุตรของตน. อัครสาวกเปาโลได้บอกคริสเตียนในสมัยของท่านว่า “ที่ลูกจะสะสม [“ตระเตรียม,” เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล] ไว้สำหรับพ่อแม่ก็ไม่สมควร, แต่พ่อแม่ควรสะสม [ตระเตรียม] ไว้สำหรับลูก.” (2 โกรินโธ 12:14) เปาโลได้กล่าวต่อไปอีกว่า การที่บิดามารดาให้การเอาใจใส่ดูแลบุตรเป็นพันธะหน้าที่ที่สำคัญ. ท่านเขียนว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่เลี้ยงดูคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลหลายเรื่องแสดงให้เห็นว่า มรดกเป็นเรื่องสำคัญในท่ามกลางผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยคัมภีร์ไบเบิล.—ประวัตินางรูธ 2:19, 20; 3:9-13; 4:1-22; โยบ 42:15.
อย่างไรก็ดี บางครั้งบิดามารดาหมกมุ่นอยู่กับการจัดหามรดกมากมายไว้ให้บุตร. เพราะเหตุใด? มานอลิส บิดาคนหนึ่งซึ่งย้ายจากทางใต้ของยุโรปไปสหรัฐ ชี้ถึงเหตุผลอย่างหนึ่งว่า “บิดามารดาซึ่งได้ประสบผลเสียหายยับเยินจากสงคราม
โลกครั้งที่ 2 จากการกันดารอาหารและความอัตคัดขัดสน ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้สภาพชีวิตบุตรของตนดีขึ้น.” เขากล่าวเสริมอีกว่า “เนื่องจากความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบเกินควรและความปรารถนาที่จะให้บุตรมีการเริ่มต้นดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในชีวิต บางครั้งบิดามารดาก่อผลเสียหายแก่ตัวเอง.” ที่จริง บิดามารดาบางคนตัดสิ่งจำเป็นบางอย่างในชีวิตออกไป หรือดำเนินชีวิตแบบสมถะเพื่อจะสะสมสมบัติวัตถุไว้ให้บุตรของตน. แต่การที่บิดามารดาติดตามแนวทางดังกล่าวนับว่าฉลาดสุขุมไหม?“อนิจจังและเป็นการชั่วช้าสามานย์”
กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณได้ให้คำเตือนเกี่ยวกับเรื่องมรดก. ท่านได้เขียนว่า “ข้าฯ ได้เกลียดชังการงานทั้งหลายของข้าฯ, ที่ข้าฯ ได้ออกแรงทำภายใต้ดวงอาทิตย์นั้น, ด้วยมาเห็นว่า, ข้าฯ จำต้องละการนั้นไว้ให้แก่คนที่จะมาภายหลังข้าฯ. แล้วใครจะไปรู้ว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนมีสติปัญญาหรือเป็นคนโฉดเขลาเล่า? ถึงกระนั้นเขายังจะครอบครองบรรดาการงานของข้าฯ ที่ข้าฯ ได้ออกแรงกระทำและที่ข้าฯ ออกหัวคิดกระทำภายใต้ดวงอาทิตย์. นี่อีกก็เป็นอนิจจังด้วย. . . . ด้วยว่ามีคนที่ออกแรง, ออกหัวคิดทำการงานโดยใช้ความรู้ใช้ความชำนาญ; แต่แล้วต้องมายกการนั้นให้แก่อีกคนที่หาได้ออกแรงทำการนั้นไม่. นี่อีกน่ะแหละเป็นอนิจจังและเป็นการชั่วช้าสามานย์.”—ท่านผู้ประกาศ 2:18-21.
ดังที่ซะโลโมอธิบาย คนเหล่านั้นที่ได้รับมรดกอาจไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าที่ครบถ้วนของมัน เพราะเขาเองไม่ได้ลงแรงเพื่อได้มรดกนั้น. ฉะนั้น ผู้รับมรดกอาจปฏิบัติอย่างโง่เขลากับสิ่งที่บิดามารดาได้อุตส่าห์พยายามสะสมไว้ให้เขา. เขาอาจถึงกับผลาญสมบัติที่หามาได้ด้วยความยากลำบากนั้น. (ลูกา 15:11-16) นับว่าเป็น “อนิจจังและเป็นการชั่วช้าสามานย์” อะไรเช่นนี้!
มรดกกับความโลภ
มีสิ่งอื่นที่บิดามารดาต้องพิจารณา. ในวัฒนธรรมที่การให้สินสอดเป็นเรื่องปกติ ครอบครัวของเจ้าสาวอาจละโมบโดยเรียกร้องสินสอดมากกว่าที่เจ้าบ่าวอาจจัดหาให้ได้. พ่อแม่บางคนไม่อยากให้ลูกสาวแต่งงานเพราะเขารอผู้ที่ให้สินสอดมากที่สุด.
ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวไว้ การแต่งงานบางรายได้เจรจาตกลงกัน “เพียงเห็นแก่ฝ่ายบิดาที่มักโลภต้องการตักตวงผลประโยชน์เท่านั้น.” * พวกเขาอาจเริ่มเปรียบเทียบกับสิ่งที่ครอบครัวอื่นอาจได้จากฝ่ายเขย. ลูก ๆ ของเขาเองก็อาจกลายเป็นคนที่มักโลภ โดยมองหาคนที่จะแต่งงานด้วยเฉพาะจากครอบครัวที่มั่งคั่ง.
คัมภีร์ไบเบิลเตือนให้ระวังความโลภทุกรูปแบบ. ซะโลโมได้เขียนว่า “ทรัพย์ที่เป็นมรดกในชั้นต้นจะได้รับโดยเร็ว [“ที่ได้มาโดยความโลภในตอนแรก,” ล.ม.] แต่ที่สุดปลายมรดกนั้นก็ไม่เป็นมงคล.” (สุภาษิต 20:21) อัครสาวกเปาโลเน้น ว่า “การรักเงินทองนั้นก็เป็นรากแห่งความชั่วทุกอย่าง.”—1 ติโมเธียว 6:10; เอเฟโซ 5:5.
“สติปัญญาประกอบกับมรดก”
จริงอยู่ มรดกเป็นสิ่งที่มีค่าในบางประการ แต่สติปัญญามีค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุมากนัก. กษัตริย์ซะโลโมได้เขียนว่า “สติปัญญาประกอบกับมรดกก็เป็นของดีเป็นประโยชน์ . . . เงินเป็นเครื่องป้องกันฉันใดสติปัญญาก็เป็นเครื่องป้องกันฉันนั้น และผลประโยชน์ของความรู้คือสติปัญญาย่อมรักษาชีวิตของผู้ที่มีสติปัญญานั้น.” (ท่านผู้ประกาศ 7:11, 12, ฉบับแปลใหม่; สุภาษิต 2:7; 3:21) ขณะที่เงินให้เครื่องป้องกันอยู่บ้าง ทำให้ผู้เป็นเจ้าของได้สิ่งที่ตนต้องการ แต่เงินก็ยังคงหมดไปได้. ในอีกด้านหนึ่ง สติปัญญา—ความสามารถที่จะใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาหรือในการบรรลุเป้าหมายบางอย่าง—สามารถปกป้องคนเราไว้จากการเสี่ยงทำอะไรแบบโง่เขลา. เมื่ออยู่บนพื้นฐานของความเกรงกลัวพระเจ้าอย่างเหมาะสม สติปัญญาอาจช่วยเขาให้ได้รับชีวิตถาวรในโลกใหม่ของพระเจ้าที่จะมาถึงในไม่ช้า—นี่เป็นมรดกที่ล้ำค่าจริง ๆ!—2 เปโตร 3:13.
บิดามารดาคริสเตียนแสดงสติปัญญาดังกล่าวโดยการจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสมไว้สำหรับตัวเองและบุตรของตน. (ฟิลิปปอย 1:10) สิ่งฝ่ายวัตถุที่ได้สะสมไว้เพื่อให้บุตรใช้สอยไม่ควรมีความสำคัญมากกว่าเรื่องฝ่ายวิญญาณ. พระเยซูทรงสนับสนุนเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน, แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้.” (มัดธาย 6:33) บิดามารดาซึ่งตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณสำหรับครอบครัวคริสเตียนของตนสามารถคาดหมายได้ว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างอุดม. กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดได้เขียนไว้ว่า “บิดาของคนชอบธรรมจะชื่นใจยินดีมาก; และผู้ที่ให้กำเนิดบุตรที่มีปัญญาจะมีความชื่นชมยินดีในบุตรนั้น. จงทำให้บิดามารดาของเจ้ามีความยินดี, และจงทำให้มารดาที่คลอดเจ้ามานั้นมีใจชื่นบาน.”—สุภาษิต 23:24, 25.
มรดกที่ยั่งยืน
สำหรับชาวอิสราเอลสมัยโบราณ ทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกตกทอดเป็นเรื่องสำคัญมาก. (1 กษัตริย์ 21:2-6) อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาทรงตักเตือนพวกเขาว่า “ถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย; และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้, และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” (พระบัญญัติ 6:6, 7) บิดามารดาคริสเตียนได้รับคำสั่งคล้ายกันว่า “จงอบรมเลี้ยงดู [บุตรของคุณ] ต่อไปด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.”—เอเฟโซ 6:4, ล.ม.
บิดามารดาซึ่งมีทัศนะที่ฝักใฝ่ฝ่ายวิญญาณตระหนักว่าการจัดหาให้ครอบครัวของเขารวมไปถึงการให้คำแนะนำสั่งสอนจากคัมภีร์ไบเบิล. อันเดรียส บิดาที่มีบุตรสามคนออกความเห็นว่า “หากเด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะนำหลักการของพระเจ้าไปใช้ในชีวิตแล้ว พวกเขาก็จะเตรียมพร้อมดีขึ้นสำหรับอนาคต.” นอกจากนั้น มรดกดังกล่าวยังรวมจุดอยู่ที่การช่วยพวกเขาให้สร้างและพัฒนาสัมพันธภาพส่วนตัวกับพระผู้สร้าง.—1 ติโมเธียว 6:19.
คุณเคยคิดถึงการตระเตรียมสำหรับอนาคตทางฝ่ายวิญญาณของลูกไหม? ตัวอย่างเช่น บิดามารดาจะทำประการใดหากบุตรของตนกำลังทำงานรับใช้เต็มเวลาอยู่? ถึงแม้ผู้รับใช้เต็มเวลาไม่ควรเรียกร้องหรือคาดหมายการสนับสนุนทางการเงินก็ตาม บิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรักอาจตัดสินใจที่จะ ‘แบ่งให้แก่บุตรตามความจำเป็นของเขา’ เพื่อจะช่วยเขาให้คงอยู่ในการรับใช้เต็มเวลาต่อไป. (โรม 12:13, ล.ม.; 1 ซามูเอล 2:18, 19; ฟิลิปปอย 4:14-18) เจตคติที่เกื้อหนุนเช่นนั้นจะเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาอย่างแน่นอน.
ดังนั้นแล้ว บิดามารดาจะต้องจัดเตรียมอะไรไว้ให้บุตร? นอกจากการจัดหาสิ่งจำเป็นทางด้านวัตถุให้เขาแล้ว บิดามารดาคริสเตียนจะทำให้แน่ใจว่าบุตรของตนได้รับมรดกทางฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พวกเขาตลอดไป. โดยวิธีนั้น ถ้อยคำที่พบในบทเพลงสรรเสริญ 37:18 จะเป็นจริงที่ว่า “พระยะโฮวาทรงทราบวันทั้งหลายของคนที่ดีรอบคอบ; และมฤดกของเขาจะยั่งยืนอยู่เป็นนิตย์.”
[ภาพหน้า 26, 27]
อนาคตเช่นไรที่คุณคิดไว้สำหรับลูกของคุณ?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กันยายน 1998 หน้า 24.