ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงสรรเสริญพระเจ้า “เป็นเสียงเดียว”

จงสรรเสริญพระเจ้า “เป็นเสียงเดียว”

จง​สรรเสริญ​พระเจ้า “เป็น​เสียง​เดียว”

“พร้อม​ใจ​กัน​พูด​เป็น​เสียง​เดียว สรรเสริญ​พระเจ้า​และ​พระ​บิดา​แห่ง​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา.”—โรม 15:6, ล.ม.

1. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​แก่​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​เรื่อง​การ​จัด​การ​กับ​ความ​คิด​เห็น​ที่​ต่าง​กัน?

ไม่​ใช่​คริสเตียน​ทุก​คน​ตัดสิน​ใจ​เลือก​แบบ​เดียว​กัน​หรือ​ชอบ​อะไร​เหมือน ๆ กัน. แต่​กระนั้น คริสเตียน​ทุก​คน​ต้อง​เดิน​ด้วย​กัน​บน​เส้น​ทาง​สู่​ชีวิต​อย่าง​มี​เอกภาพ. เรื่อง​นี้​เป็น​ไป​ได้​ไหม? เป็น​ไป​ได้ หาก​เรา​ไม่​ทำ​ให้​ความ​คิด​เห็น​ที่​แตกต่าง​เล็ก ๆ น้อย ๆ กลาย​เป็น​เรื่อง​ใหญ่. นี่​เป็น​คำ​แนะ​นำ​เรื่อง​หนึ่ง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ให้​แก่​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​ศตวรรษ​แรก. ท่าน​อธิบาย​จุด​สำคัญ​นี้​อย่าง​ไร? และ​เรา​จะ​นำ​คำ​แนะ​นำ​ของ​ท่าน​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​มา​ใช้​ใน​ทุก​วัน​นี้​อย่าง​ไร?

ความ​สำคัญ​ใน​เรื่อง​เอกภาพ​ของ​คริสเตียน

2. เปาโล​เน้น​ความ​สำคัญ​เรื่อง​เอกภาพ​อย่าง​ไร?

2 เปาโล​รู้​ว่า​เอกภาพ​ของ​คริสเตียน​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก และ​ท่าน​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​เยี่ยม​เพื่อ​ช่วย​คริสเตียน​ให้​อด​ทน​ต่อ​กัน​ด้วย​ความ​รัก. (เอเฟโซ 4:1-3; โกโลซาย 3:12-14) กระนั้น หลัง​จาก​ก่อ​ตั้ง​หลาย​ประชาคม​และ​เยี่ยม​ประชาคม​อื่น ๆ ใน​ช่วง​เวลา​กว่า 20 ปี ท่าน​ตระหนัก​ว่า​การ​รักษา​เอกภาพ​ไว้​อาจ​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย. (1 โกรินโธ 1:11-13; ฆะลาเตีย 2:11-14) ด้วย​เหตุ​นี้ ท่าน​จึง​กระตุ้น​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​กรุง​โรม​ว่า “ขอ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​ประทาน​ความ​เพียร​อด​ทน​และ​การ​ชู​ใจ โปรด​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย . . . พร้อม​ใจ​กัน​พูด​เป็น​เสียง​เดียว สรรเสริญ​พระเจ้า​และ​พระ​บิดา​แห่ง​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา.” (โรม 15:5, 6, ล.ม.) ใน​ทุก​วัน​นี้​ก็​เช่น​กัน เรา​ต้อง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า “เป็น​เสียง​เดียว” ฐานะ​กลุ่ม​ชน​ที่​เป็น​เอกภาพ​ของ​พระองค์. เรา​กำลัง​ทำ​เช่น​นี้​อยู่​ถึง​ขนาด​ไหน?

3, 4. (ก) คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​มี​ภูมิหลัง​ต่าง​กัน​อย่าง​ไร​บ้าง? (ข) คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา “เป็น​เสียง​เดียว” ได้​อย่าง​ไร?

3 คริสเตียน​หลาย​คน​ใน​กรุง​โรม​เป็น​เพื่อน​ของ​เปาโล​ที่​ท่าน​รู้​จัก​ดี. (โรม 16:3-16) แม้​ว่า​พวก​เขา​มี​ภูมิหลัง​ต่าง​กัน เปาโล​ยอม​รับ​ว่า​พี่​น้อง​ทุก​คน​ของ​ท่าน​เป็น “ผู้​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​รัก.” ท่าน​เขียน​ว่า “ข้าพเจ้า​ขอ​ขอบพระคุณ​พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า​โดย​ทาง​พระ​เยซู​คริสต์​เหตุ​ด้วย​ท่าน​ทั้ง​หลาย เพราะ​ว่า​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​ท่าน​เลื่อง​ลือ​ไป​ทั่ว​โลก.” เป็น​ที่​ประจักษ์​ชัด​ว่า​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​เป็น​แบบ​อย่าง​ที่​ดี​ใน​หลาย​ทาง. (โรม 1:7, 8, ฉบับ​แปล​ใหม่; 15:14) ขณะ​เดียว​กัน สมาชิก​บาง​คน​ของ​ประชาคม​ก็​มี​ความ​คิด​เห็น​แตกต่าง​กัน​ใน​บาง​เรื่อง. เนื่อง​จาก​คริสเตียน​ใน​ทุก​วัน​นี้​มา​จาก​หลาก​หลาย​ภูมิหลัง​และ​วัฒนธรรม การ​พิจารณา​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ใน​เรื่อง​วิธี​จัด​การ​กับ​ทัศนะ​ที่​ต่าง​กัน​นั้น​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​พูด “เป็น​เสียง​เดียว.”

4 ใน​กรุง​โรม​มี​ทั้ง​ผู้​เชื่อถือ​ชาว​ยิว​และ​ชาว​ต่าง​ชาติ. (โรม 4:1; 11:13) ดู​เหมือน​คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​ไม่​ได้​เลิก​ปฏิบัติ​ธรรมเนียม​บาง​อย่าง​ที่​พวก​เขา​เคย​ถือ​รักษา​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ ทั้ง ๆ ที่​พวก​เขา​น่า​จะ​ตระหนัก​ว่า​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ปฏิบัติ​กิจ​เหล่า​นั้น​เพื่อ​จะ​ได้​ความ​รอด. อีก​ด้าน​หนึ่ง คริสเตียน​ชาว​ยิว​หลาย​คน​ยอม​รับ​ว่า​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​คริสต์​ปลด​เปลื้อง​พวก​เขา​แล้ว​จาก​ข้อ​ห้าม​ที่​พวก​เขา​เคย​ถือ​รักษา​ก่อน​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน. พวก​เขา​จึง​เปลี่ยน​แปลง​นิสัย​ส่วน​ตัว​และ​สิ่ง​ที่​เคย​ถือ​ปฏิบัติ​มา​บาง​อย่าง. (ฆะลาเตีย 4:8-11) กระนั้น ตาม​ที่​เปาโล​ชี้​ให้​เห็น คน​เหล่า​นั้น​ทุก​คน​เป็น “ผู้​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​รัก.” ทุก​คน​สามารถ​สรรเสริญ​พระเจ้า “เป็น​เสียง​เดียว” ได้ หาก​พวก​เขา​ธำรง​ไว้​ซึ่ง​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้องเหมาะ​สม​ต่อ​กัน​และ​กัน. พวก​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​ก็​อาจ​มี​ความ​คิด​เห็น​ต่าง​กัน​ใน​บาง​เรื่อง​เช่น​กัน เรา​จึง​น่า​จะ​พิจารณา​อย่าง​ละเอียด​ว่า​เปาโล​อธิบาย​หลักการ​สำคัญ​นั้น​อย่าง​ไร.—โรม 15:4.

“จง​ต้อนรับ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน”

5, 6. ทำไม​จึง​มี​ความ​คิด​เห็น​ที่​แตกต่าง​กัน​ใน​ประชาคม​ที่​กรุง​โรม?

5 ใน​จดหมาย​ของ​เปาโล​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม ท่าน​กล่าว​ถึง​ความ​คิด​เห็น​ที่​แตกต่าง​กัน​ใน​เรื่อง​หนึ่ง. ท่าน​เขียน​ว่า “คน​หนึ่ง​ถือ​ว่า​จะ​กิน​ของ​สารพัตร​ได้ แต่​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​ยัง​อ่อน​ใน​ความ​เชื่อ​ก็​กิน​ผัก​เท่า​นั้น.” ทำไม​จึง​มี​ความ​เห็น​แตกต่าง​กัน? ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ เนื้อ​หมู​ใช้​บริโภค​เป็น​อาหาร​ไม่​ได้. (โรม 14:2; เลวีติโก 11:7) อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​บัญญัติ​นั้น​ไม่​มี​ผล​บังคับ​ใช้​อีก​ต่อ​ไป​แล้ว​หลัง​จาก​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์. (เอเฟโซ 2:15) ครั้น​แล้ว​สาม​ปี​ครึ่ง​หลัง​จาก​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์ ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​บอก​อัครสาวก​เปโตร​ว่า จาก​ทัศนะ​ของ​พระเจ้า​ไม่​ควร​ถือ​ว่า​อาหาร​ใด​เป็น​มลทิน. (กิจการ 11:7-12) เมื่อ​คำนึง​ถึง​ปัจจัย​เหล่า​นี้ คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​อาจ​รู้สึก​ว่า​เขา​สามารถ​กิน​เนื้อ​หมู หรือ​อาหาร​อื่น ๆ ที่​เคย​ถูก​ห้าม​ตาม​พระ​บัญญัติ.

6 อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​คิด​ใน​เรื่อง​การ​กิน​อาหาร​ที่​แต่​ก่อน​ถือ​ว่า​ไม่​สะอาด​นั้น​ดู​เหมือน​จะ​เป็น​ที่​ขยะแขยง​สำหรับ​คริสเตียน​ชาว​ยิว​คน​อื่น ๆ. คน​ที่​มี​ความ​รู้สึก​ไว​เช่น​นั้น​อาจ​ไม่​สบาย​ใจ​ขึ้น​มา​ทันที​เมื่อ​เห็น​เพื่อน​คริสเตียน​ชาว​ยิว​กิน​อาหาร​แบบ​นั้น. นอก​จาก​นี้ คริสเตียน​ชาว​ต่าง​ชาติ​บาง​คน​ที่​มา​จาก​ศาสนา​อื่น​ซึ่ง​อาจ​ไม่​เคย​มี​ข้อ​ห้าม​เรื่อง​อาหาร อาจ​แปลก​ใจ​ที่​จะ​มี​ใคร​ก็​ตาม​ทำ​ให้​อาหาร​กลาย​เป็น​เรื่อง​ใหญ่. แน่​ละ ไม่​ผิด​ที่​คน​หนึ่ง​คน​ใด​จะ​ไม่​กิน​อาหาร​บาง​อย่าง ตราบ​ใด​ที่​เขา​ไม่​ยืนกราน​ว่า​การ​ละ​เว้น​อาหาร​นั้น​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด. กระนั้น ความ​คิด​เห็น​ที่​ต่าง​กัน​อาจ​เป็น​เชื้อ​ปะทุ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​ใน​ประชาคม​ได้​ง่าย. คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​จำเป็น​ต้อง​ระวัง​ไม่​ให้​ความ​คิด​เห็น​ที่​ต่าง​กัน​นี้​เป็น​เหตุ​ให้​พวก​เขา​ไม่​สรรเสริญ​พระเจ้า “เป็น​เสียง​เดียว.”

7. มี​ความ​คิด​เห็น​อะไร​ที่​แตกต่าง​กัน​ใน​เรื่อง​การ​ถือ​วัน​หนึ่ง​วัน​ใด​ใน​สัปดาห์​เป็น​วัน​พิเศษ?

7 เปาโล​ยก​ตัว​อย่าง​ที่​สอง​ขึ้น​มา​ดัง​นี้: “คน​หนึ่ง​ถือ​ว่า​วัน​หนึ่ง​ดี​กว่า​วัน​อื่น, แต่​คน​อื่น ๆ ถือ​ว่า​ทุก​วัน​เหมือน​กัน.” (โรม 14:5​ก) ภาย​ใต้​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ มี​ข้อ​ห้าม​การ​ทำ​งานใน​วัน​ซะบาโต. แม้​แต่​การ​เดิน​ทาง​ใน​วัน​นั้น​ก็​ถูก​จำกัด​มาก. (เอ็กโซโด 20:8-10; มัดธาย 24:20; กิจการ 1:12) แต่​เมื่อ​ยก​เลิก​พระ​บัญญัติ​แล้ว ข้อ​ห้าม​เหล่า​นั้น​ก็​ไม่​มี​ผล​บังคับ​ใช้​อีก​ต่อ​ไป. ถึง​กระนั้น คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​อาจ​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ​ที่​จะ​ทำ​งาน​ใด ๆ หรือ​เดิน​ทาง​ไกล​ใน​วัน​ซึ่ง​แต่​ก่อน​เขา​ถือ​ว่า​เป็น​วัน​ศักดิ์สิทธิ์. แม้​หลัง​จาก​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน​แล้ว พวก​เขา​อาจ​ยัง​คง​จัด​วัน​ที่​เจ็ด​ไว้​สำหรับ​วัตถุ​ประสงค์​ฝ่าย​วิญญาณ​โดย​เฉพาะ แม้​ว่า​จาก​ทัศนะ​ของ​พระเจ้า ไม่​ต้อง​ถือ​รักษา​วัน​ซะบาโต​แล้ว​ก็​ตาม. พวก​เขา​ผิด​ไหม​ที่​ทำ​เช่น​นั้น? ไม่​ผิด ตราบ​ใด​ที่​พวก​เขา​ไม่​ได้​ยืนกราน​ว่า​การ​ถือ​รักษา​วัน​ซะบาโต​เป็น​ข้อ​เรียก​ร้อง​จาก​พระเจ้า. ฉะนั้น เมื่อ​คำนึง​ถึง​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เพื่อน​คริสเตียน เปาโล​จึง​เขียน​ว่า “ให้​ทุก​คน​เชื่อ​ตาม​ความ​เห็น​แน่​ใน​ใจ​ของ​ตน​เอง.”—โรม 14:5​ข.

8. ขณะ​ที่​อาจ​จะ​ต้อง​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​คน​อื่น แต่​อะไร​ที่​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ไม่​ควร​ทำ?

8 อย่าง​ไร​ก็​ตาม ขณะ​ที่​เปาโล​กระตุ้น​พี่​น้อง​ของ​ท่าน​ด้วย​ความ​รัก​ให้​อด​ทน​ต่อ​คน​ที่​ยัง​มี​ปัญหา​เรื่อง​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ ท่าน​ก็​ตำหนิ​อย่าง​แรง​ต่อ​คน​ที่​พยายาม​เรียก​ร้อง​ให้​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ ฐานะ​เป็น​เงื่อนไข​ที่​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด. ตัว​อย่าง​เช่น ราว​ปี ส.ศ. 61 เปาโล​ได้​เขียน​พระ​ธรรม​เฮ็บราย จดหมาย​ที่​ทรง​พลัง​ถึง​คริสเตียน​ชาว​ยิว ซึ่ง​อธิบาย​ชัดเจน​มาก​ว่า การ​ยอม​อยู่​ใต้​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ไม่​เป็น​ประโยชน์​อะไร เพราะ​คริสเตียน​มี​ความ​หวัง​ที่​วิเศษ​กว่า​ซึ่ง​อาศัย​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู.—ฆะลาเตีย 5:1-12; ติโต 1:10, 11; เฮ็บราย 10:1-17.

9, 10. คริสเตียน​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​เช่น​ไร? จง​อธิบาย​ว่า​เพราะ​เหตุ​ใด.

9 ดัง​ที่​เรา​พิจารณา​ไป​แล้ว เปาโล​ชี้​แจง​ชัดเจน​ว่า​การ​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ที่​ต่าง​กัน​ใช่​ว่า​จะ​ต้อง​ส่ง​ผล​เสียหาย​ต่อ​เอกภาพ​เสมอ​ไป ตราบ​ใด​ที่​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ละเมิด​หลักการ​คริสเตียน​อย่าง​ชัดเจน. ฉะนั้น เปาโล​จึง​ถาม​คริสเตียน​ที่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​อ่อน​หรือ​ไว​กว่า​ว่า “เหตุ​ไฉน​ท่าน​จึง​พิพากษา​พี่​น้อง​ของ​ตัว?” และ​ท่าน​ถาม​คน​ที่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​เข้มแข็ง​กว่า (คง​เป็น​คน​ที่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เขา​ยอม​ให้​เขา​กิน​อาหาร​บาง​อย่าง​ที่​ห้าม​บริโภค​ตาม​พระ​บัญญัติ หรือ​ที่​จะ​ทำ​งาน​ใน​วัน​ซะบาโต) ว่า “ไฉน​ท่าน​จึง​ประมาท​พี่​น้อง​ของ​ตัว?” (โรม 14:10) ตาม​ที่​เปาโล​กล่าว​นี้ คริสเตียน​ที่​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​อ่อน​กว่า​ต้อง​ไม่​ตำหนิ​พี่​น้อง​ของ​ตน​ที่​มี​ทัศนะ​ที่​เปิด​กว้าง​กว่า. ใน​ขณะ​เดียว​กัน คริสเตียน​ที่​เข้มแข็ง​ก็​ต้อง​ไม่​ดูหมิ่น​คน​ที่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ยัง​อ่อน​อยู่​ใน​บาง​เรื่อง. ทุก​คน​ควร​นับถือ​เหตุ​ผล​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​คน​อื่น​ที่​มา​จาก​แรง​กระตุ้น​ที่​ถูก​ต้อง และ​ไม่ “คิด​ถึง​ตัว​เอง​เกิน​กว่า​ที่​จำเป็น​จะ​คิด​นั้น.”—โรม 12:3, 18, ล.ม.

10 เปาโล​อธิบาย​ถึง​ทัศนะ​ที่​สมดุล​โดย​กล่าว​อย่าง​นี้: “อย่า​ให้​คน​ที่​กิน​นั้น​ดูหมิ่น​คน​ที่​มิ​ได้​กิน และ​อย่า​ให้​คน​ที่​มิ​ได้​กิน​นั้น​กล่าว​โทษ​คน​ที่​ได้​กิน. เหตุ​ว่า​พระเจ้า​ได้​ทรง​โปรด​รับ​เขา​แล้ว.” และ​ท่าน​กล่าว​ต่อ​อีก​ว่า “พระ​คริสต์​ได้​ทรง​ต้อนรับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย เป็น​ที่​ถวาย​เกียรติยศ​แก่​พระเจ้า.” เนื่องจาก​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์​ทรง​โปรด​รับ​ทั้ง​คน​ที่​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​อ่อน​และ​เข้มแข็ง เรา​ก็​ควร​จะ​มี​ใจ​กว้าง​อย่าง​เดียว​กัน และ “ต้อนรับ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.” (โรม 14:3; 15:7) มี​ใคร​ไหม​ที่​จะ​ค้าน​ข้อ​สรุป​นี้​ได้​อย่าง​ที่​ฟัง​ขึ้น?

ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ทำ​ให้​เกิด​เอกภาพ​ใน​ทุก​วัน​นี้

11. สภาพการณ์​เฉพาะ​อย่าง​อะไร​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​สมัย​เปาโล?

11 ใน​จดหมาย​ที่​เปาโล​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม ท่าน​กล่าว​ถึง​สภาพการณ์​เฉพาะ​อย่าง​ที่​เกิด​ขึ้น. พระ​ยะโฮวา​เพิ่ง​ยก​เลิก​สัญญา​หนึ่ง​ไป​และ​ทำ​อีก​สัญญา​หนึ่ง​ขึ้น​ใหม่​แทน. บาง​คน​มี​ข้อ​ยุ่งยาก​ใน​การ​ปรับ​ตัว. สภาพการณ์​แบบ​เดียว​กัน​นี้​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​ใน​ปัจจุบัน แต่​บาง​ครั้ง​ก็​อาจ​เกิด​ปัญหา​คล้าย ๆ กัน.

12, 13. ใน​สภาพการณ์​อะไร​บ้าง​ที่​คริสเตียน​ใน​ปัจจุบัน​สามารถ​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​พี่​น้อง​ของ​ตน?

12 ตัว​อย่าง​เช่น สตรี​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​อาจ​เคย​เป็น​สมาชิก​ของ​ศาสนา​ที่​เน้น​เสื้อ​ผ้า​สี​พื้น ๆ และ​ไม่​ใส่​เครื่อง​ประดับ​หรือ​แต่ง​หน้า. ครั้น​เธอ​รับ​เอา​ความ​จริง เธอ​อาจ​รู้สึก​ยาก​ที่​จะ​ปรับ​ความ​คิด​ใหม่​ว่า ไม่​มี​ข้อ​ห้าม​ใน​การ​สวม​เสื้อ​ผ้า​ที่​มี​สี​สัน​และ​สุภาพ​เรียบร้อย​ที่​เหมาะ​กับ​กาลเทศะ หรือ​ที่​จะ​ใช้​เครื่อง​สำอาง​พอ​ประมาณ. เนื่อง​จาก​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล จึง​ไม่​สม​ควร​ที่​ใคร ๆ จะ​พยายาม​โน้ม​น้าว​สตรี​คริสเตียน​คน​นี้​ให้​ทำ​สิ่ง​ที่​ฝืน​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เธอ. ขณะ​เดียว​กัน เธอ​ก็​ตระหนัก​ว่า เธอ​ไม่​ควร​วิจารณ์​สตรี​คริสเตียน​คน​อื่น ๆ ที่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ยินยอม​ให้​สวม​เสื้อ​ผ้า​หรือ​แต่ง​กาย​อย่าง​นั้น​ได้.

13 ขอ​พิจารณา​อีก​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. ชาย​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​อาจ​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​ให้​เติบโต​ขึ้น​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ไม่​เห็น​ชอบ​กับ​การ​ใช้​เครื่อง​ดื่ม​ที่​มี​แอลกอฮอล์. หลัง​จาก​มา​รู้​จัก​ความ​จริง เขา​ได้​ทราบ​ถึง​ทัศนะ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​เหล้า​องุ่น​เป็น​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า​และ​อาจ​ดื่ม​ได้​ใน​ปริมาณ​ที่​พอ​เหมาะ. (บทเพลง​สรรเสริญ 104:15) เขา​ยอม​รับ​ทัศนะ​ดัง​กล่าว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพราะ​ถูก​ปลูกฝัง​มา​ตั้ง​แต่​เด็ก เขา​เลือก​ที่​จะ​ละ​เว้น​เครื่อง​ดื่ม​ประเภท​แอลกอฮอล์​อย่าง​สิ้นเชิง แต่​เขา​ก็​ไม่​วิจารณ์​คน​อื่น​ที่​ใช้​เครื่อง​ดื่ม​นั้น​อย่าง​พอ​ประมาณ. โดย​วิธี​นี้ เขา​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ที่​ว่า “ให้​เรา​ทั้ง​หลาย​ประพฤติ​ตาม​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สงบ​สุข​แก่​กัน​และ​กัน และ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​มี​ความ​เจริญ​แก่​กัน​และ​กัน.”—โรม 14:19.

14. ใน​กรณี​ใด​อีก​ที่​คริสเตียน​สามารถ​ทำ​ตาม​เจตนารมณ์​ของ​คำ​แนะ​นำ​ที่​เปาโล​ให้​แก่​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม?

14 มี​กรณี​อื่น ๆ ที่​เกิด​ขึ้น​ซึ่ง​ต้อง​ทำ​ตาม​เจตนารมณ์​ของ​คำ​แนะ​นำ​ที่​เปาโล​ให้​แก่​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม. ประชาคม​คริสเตียน​ประกอบ​ด้วย​คน​หลาย​คน และ​ต่าง​ก็​มี​ความ​ชอบ​แตกต่าง​กัน​ไป. ด้วย​เหตุ​นี้ พวก​เขา​จึง​อาจ​ตัดสิน​ใจ​เลือก​แตกต่าง​กัน เช่น ใน​เรื่อง​เสื้อ​ผ้า​และ​การ​แต่ง​กาย. แน่นอน คัมภีร์​ไบเบิล​กำหนด​หลักการ​ชัดเจน​ให้​คริสเตียน​ที่​จริง​ใจ​ทุก​คน​ดำเนิน​ตาม. ไม่​ควร​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​สวม​เสื้อ​ผ้า​หรือ​ทำ​ผม​ใน​แบบ​ที่​แปลก​ประหลาด​หรือ​ไม่​สุภาพ หรือ​ที่​ทำ​ให้​เข้าใจ​ว่า​เรา​เป็น​พวก​เดียว​กัน​กับ​ผู้​คน​ที่​ไม่​พึง​ปรารถนา​ของ​โลก. (1 โยฮัน 2:15-17) คริสเตียน​จำ​ไว้​เสมอ​ว่า ตลอด​เวลา แม้​ใน​ยาม​พักผ่อน​หย่อนใจ พวก​เขา​คือ​ผู้​รับใช้​ที่​เป็น​ตัว​แทน​องค์​บรม​มหิศร​แห่ง​เอกภพ. (ยะซายา 43:10; โยฮัน 17:16; 1 ติโมเธียว 2:9, 10) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​หลาย​เรื่อง มี​มาก​มาย​หลาย​ทาง​เลือก​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ได้​สำหรับ​คริสเตียน. *

หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​ให้​คน​อื่น​สะดุด

15. เมื่อ​ไร​ที่​คริสเตียน​อาจ​ละ​เว้น​ไม่​ใช้​สิทธิ​ของ​เขา เพื่อ​เห็น​แก่​พี่​น้อง​ของ​ตน?

15 มี​หลักการ​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เรา​ได้​จาก​คำ​แนะ​นำ​ที่​เปาโล​ให้​แก่​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม. บาง​ครั้ง คริสเตียน​ที่​ฝึกฝน​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​มา​อย่าง​ดี​อาจ​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ที่​จะ​ไม่​ทำ​บาง​สิ่ง​ที่​ไม่​ผิด. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​เขา​ตระหนัก​ว่า การ​ติด​ตาม​แนว​ทาง​บาง​อย่าง​ของ​เขา​อาจ​ส่ง​ผล​เสียหาย​ต่อ​คน​อื่น. ใน​กรณี​เช่น​นี้ เรา​ควร​ทำ​อย่าง​ไร? เปาโล​กล่าว​ว่า “ซึ่ง​จะ​ไม่​กิน​เนื้อ​สัตว์​หรือ​เหล้า​องุ่น​หรือ​ทำ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​เป็น​เหตุ​ให้​พี่​น้อง​สะดุด​กะดาก​ใจ​ก็​เป็น​การ​ดี​อยู่.” (โรม 14:14, 20, 21) ด้วย​เหตุ​นี้ “เรา​ทั้ง​หลาย​ที่​มี​กำลัง​มาก​ควร​จะ​อด​ใจ​ทน​ใน​ความ​เชื่อ​เคร่ง​ใน​ข้อ​หยุม ๆ หยิม ๆ ของ​คน​ที่​มี​กำลัง​น้อย, และ​ไม่​ควร​กระทำ​ตาม​ชอบ​ใจ​ของ​ตัว​เอง. ให้​เรา​ทั้งหลาย​ทุก​คน​กระทำ​ให้​เพื่อน​บ้าน​ชอบ​ใจ​ใน​ข้อ​ที่​จะ​นำ​ความ​ดี​และ​ความ​เจริญ​มา​สู่​เขา.” (โรม 15:1, 2) หาก​ว่า​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​อาจ​รบกวน​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เพื่อน​คริสเตียน ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​และ​ไม่​ทำ​สิ่ง​ที่​อาจ​ทำ​ให้​คน​อื่น​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ. ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ใน​เรื่อง​นี้​อาจ​เป็น​เรื่อง​การ​ใช้​เครื่อง​ดื่ม​ที่​มี​แอลกอฮอล์. ไม่​มี​ข้อ​ห้าม​ที่​คริสเตียน​จะ​ดื่ม​เหล้า​องุ่น​พอ​ประมาณ. แต่​ถ้า​การ​ดื่ม​นั้น​ทำ​ให้​เพื่อน​ของ​เขา​สะดุด เขา​ก็​จะ​ไม่​ยืนกราน​สิทธิ​ของ​เขา.

16. เรา​อาจ​จะ​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​ผู้​คน​ใน​ท้องถิ่น​ที่​เรา​อาศัย​อยู่​ได้​โดย​วิธี​ใด?

16 หลักการ​นี้​ใช้​ได้​เช่น​กัน​เมื่อ​เรา​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​คน​ภาย​นอก​ประชาคม​คริสเตียน. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​อาจ​อาศัย​อยู่​ใน​ท้องถิ่น​ที่​ศาสนา​ของ​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​สอน​ศาสนิกชน​ให้​ถือ​วัน​หนึ่ง​ใน​สัปดาห์​เป็น​วัน​หยุด​พัก. ด้วย​เหตุ​ผล​ดัง​กล่าว เรา​จะ​พยายาม​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ไม่​ทำ​อะไร​ใน​วัน​นั้น​ที่​เป็น​เหตุ​ให้​เพื่อน​บ้าน​ขุ่นเคือง เพื่อ​ไม่​ทำ​ให้​เพื่อน​บ้าน​สะดุด​และ​สร้าง​อุปสรรค​ต่อ​งาน​ประกาศ. อีก​สถานการณ์​หนึ่ง คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ที่​ร่ำรวย​อาจ​ย้าย​ไป​รับใช้​ใน​เขต​ที่​มี​ความ​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​มาก​กว่า ที่​ซึ่ง​ผู้​คน​มี​ราย​ได้​ไม่​มาก​นัก. เขา​อาจ​เลือก​ที่​จะ​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​เพื่อน​บ้าน​โดย​แต่ง​กาย​แบบ​ธรรมดา ๆ หรือ​โดย​ใช้​ชีวิต​แบบ​เรียบ​ง่าย​แม้​สามารถ​จะ​มี​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​สุข​สบาย​กว่า​ก็​ตาม.

17. ทำไม​จึง​เป็น​การ​ถูก​ต้อง​สม​ควร​ที่​จะ​คำนึง​ถึง​คน​อื่น ๆ เมื่อ​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ?

17 เป็น​การ​ถูก​ต้อง​สม​ควร​ไหม​ที่​จะ​คาด​หมาย​ให้​ผู้ “ที่​มี​กำลัง​มาก” เป็น​ฝ่าย​ปรับ​เปลี่ยน​เช่น​นั้น? ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ต่อ​ไป​นี้: ขณะ​ที่​ขับ​รถ​อยู่​บน​ทาง​หลวง เรา​มอง​ไป​ข้าง​หน้า​เห็น​เด็ก​กลุ่ม​หนึ่ง​เดิน​อยู่​ริม​ถนน​ซึ่ง​อาจ​จะ​เกิด​อันตราย​ได้. เรา​จะ​ยัง​คง​ขับ​รถ​ต่อ​ไป​ด้วย​อัตรา​เร็ว​สูง​สุด​ตาม​ที่​กฎหมาย​อนุญาต​ไหม เพียง​เพราะ​ว่า​เรา​มี​สิทธิ​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น? ไม่​เลย เรา​จะ​ผ่อน​คัน​เร่ง​ชะลอ​ความ​เร็ว​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​อันตราย​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​กับ​เด็ก ๆ. บาง​ครั้ง การ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ผ่อน​คล้าย ๆ กัน​นั้น​หรือ​โอน​อ่อน​ผ่อน​ตาม​นับ​ว่า​จำเป็น​เพื่อ​เห็น​แก่​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​เรา​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​หรือ​คน​อื่น ๆ. เรา​อาจ​ทำ​ใน​สิ่ง​ที่​เรา​มี​สิทธิ​เต็ม​ที่​ที่​จะ​ทำ. ไม่​ได้​ละเมิด​หลักการ​ใด ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. แต่​หาก​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​อาจ​ทำ​ให้​คน​อื่น​ไม่​สบาย​ใจ หรือ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​คน​ที่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​อ่อน​กว่า ความ​รัก​แบบ​คริสเตียน​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ อย่าง​สุขุม. (โรม 14:13, 15) การ​ธำรง​รักษา​เอกภาพ​และ​การ​ส่ง​เสริม​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​มี​ความ​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​การ​ใช้​สิทธิ​ส่วน​บุคคล​ของ​เรา.

18, 19. (ก) ใน​การ​แสดง​ว่า​เรา​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​นั้น เรา​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​อย่าง​ไร? (ข) เรา​ทุก​คน​เห็น​พ้อง​ลง​รอย​กัน​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​เรื่อง​ใด และ​เรา​จะ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

18 เมื่อ​เรา​ปฏิบัติ​ใน​วิธี​ดัง​กล่าว เรา​กำลัง​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​ยอด​เยี่ยม​ที่​สุด. เปาโล​กล่าว​ว่า “แม้​แต่​พระ​คริสต์​ก็​มิ​ได้​กระทำ​ตาม​ชอบ​พระทัย​ของ​พระองค์ แต่​ดัง​ที่​เขียน​ไว้​ว่า ‘คำ​ตำหนิ​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ตำหนิ​พระองค์​ได้​ตก​อยู่​บน​ข้าพเจ้า.’ ” พระ​เยซู​เต็ม​พระทัย​สละ​ชีวิต​ของ​พระองค์​เพื่อ​เรา. แน่นอน เรา​เต็ม​ใจ​จะ​สละ​สิทธิ​ส่วน​ตัว​บาง​อย่าง หาก​การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​ช่วย​ให้ “คน​ที่​มี​กำลัง​น้อย” สรรเสริญ​พระเจ้า​เป็น​เอกภาพ​ร่วม​กัน​กับ​เรา​ได้. แท้​จริง การ​โอน​อ่อน​ผ่อน​ตาม​และ​การ​เปิด​ใจ​กว้าง​ต่อ​คริสเตียน​ที่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​อ่อน​กว่า—หรือ​สมัคร​ใจ​จำกัด​การ​เลือก​ของ​เรา​เอง​และ​ไม่​ยืนกราน​ใช้​สิทธิ​ที่​เรา​มี—เป็น​การ​แสดง ‘เจตคติ​เหมือน​ที่​พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​มี.’—โรม 15:1-5, ล.ม.

19 แม้​ว่า​ความ​คิด​เห็น​ของ​เรา​ใน​เรื่อง​ที่​ไม่​มี​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย​อาจ​ต่าง​กัน​ไป​บ้าง แต่​ใน​เรื่อง​การ​นมัสการ เรา​เห็น​พ้อง​ลง​รอย​กัน​อย่าง​เต็ม​ที่. (1 โกรินโธ 1:10) ตัว​อย่าง​เช่น เอกภาพ​เช่น​นั้น​ปรากฏ​ให้​เห็น​ใน​วิธี​ที่​พวก​เรา​ปฏิบัติ​กับ​พวก​ที่​ต่อ​ต้าน​การ​นมัสการ​แท้. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เรียก​ผู้​ต่อ​ต้าน​เหล่า​นั้น​ว่า​คน​แปลก​หน้า และ​เตือน​เรา​ให้​ระวัง “เสียง​ของ​คน​แปลก​หน้า.” (โยฮัน 10:5, ล.ม.) เรา​จะ​ระบุ​ตัว​คน​แปลก​หน้า​นี้​ได้​อย่าง​ไร? เรา​ควร​ปฏิบัติ​กับ​พวก​เขา​เช่น​ไร? จะ​มี​การ​พิจารณา​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 14 ผู้​เยาว์​ควร​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​บิดา​มารดา​ใน​เรื่อง​การ​แต่ง​กาย.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• ทำไม​การ​มี​ความ​คิด​เห็น​ที่​ต่าง​กัน​ใน​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ไม่​ส่ง​ผล​เสียหาย​ต่อ​เอกภาพ?

• ทำไม​เรา​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​ควร​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​กัน​และ​กัน​ด้วย​ความ​รัก?

• พวก​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​สามารถ​นำ​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ใน​เรื่อง​เอกภาพ​มา​ใช้​ใน​ทาง​ใด​ได้​บ้าง และ​อะไร​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​เช่น​นั้น?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 9]

คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ใน​เรื่อง​เอกภาพ​จำเป็น​มาก​สำหรับ​ประชาคม

[ภาพ​หน้า 10]

คริสเตียน​เป็น​เอกภาพ​แม้​ว่า​มี​ภูมิหลัง​ต่าง​กัน

[ภาพ​หน้า 12]

คน​ขับ​ควร​ทำ​อะไร​ใน​ตอน​นี้?